เมนู

ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมได้โอกาสในมหาปกรณ์ โดยความเป็นอันเดียวกัน
นั่นแหละ.

ว่าด้วยพระฉัพพรรณรังสี



เมื่อพระศาสดา ทรงพิจารณาธรรมอันละเอียดสุขุมตามความสบาย
ด้วยพระสัพพัญญุตญาณซึ่งมีโอกาส (ช่อง) อันได้แล้วอย่างนี้ พระฉัพพรรณ-
รังสี (รัศมี 6 ประการ) คือ นีละ (เขียวเหมือนดอกอัญชัน ) ปีตะ (เหลือง
เหมือนหรดาล) โลหิตะ (แดงเหมือนตะวันอ่อน) โอทาตะ ( ขาวเหมือน
แผ่นเงิน) มัญเชฏฐะ (สีหงสบาท เหมือนดอกหงอนไก่) ประภัสสร (เลื่อมพราย
เหมือนแก้วผลึก) ก็ซ่านออกจากพระสรีระ พื้นแห่งท้องฟ้า ได้เป็นราวกะว่า
เต็มด้วยดอกอัญชันกระจายอยู่ทั่วไป เหมือนดารดาษด้วยดอกสามหาวหรือกลีบ
อุบลเขียว เหมือนขั้วตาลประดับด้วยแก้วมณีที่แกว่งไปมา และเหมือนแผ่น
วัตถุสีเขียวเข้มที่ขึงออก ด้วยสามารถแห่งรัศมีสีเขียวเหล่าใด พระรัศมีสีเขียว
เหล่านี้ ออกไปแล้วจากพระเกศา แลพระมัสสุทั้งหลาย และจากที่สีเขียว
แห่งพระเนตรทั้งสอง.
ทศาภาคทั้งหลายย่อมรุ่งโรจน์ เหมือนโสรจสรง (ชำระ) ด้วยน้ำทองคำ
เหมือนแผ่แผ่นทองคำออกไป เหมือนย้อมด้วยจุณแห่งนกกดไฟ (น่าจะเป็น
ผงขมิ้น) และเหมือนเรียงรายด้วยดอกกรรณิการ์ ด้วยอำนาจแห่งรัศมีสีเหลือง
เหล่าใด รัศมีสีเหลืองเหล่านั้น ท่านออกแล้วจากพระฉวีวรรณ และจากที่
สีเหลืองแห่งพระเนตรทั้งสอง.
ทิศาภาคทั้งหลายรุ่งโรจน์แล้ว เหมือนย้อมด้วยจุณแห่งชาด เหมือน
รดด้วยน้ำครั่งที่สุกดีแล้ว เหมือนคลุมด้วยผ้ากัมพลแดง เหมือนเรียงรายด้วย
ดอกชัยพฤกษ์ ดอกทองกวาว และดอกชบา ด้วยสามารถแห่งรัศมีสีแดง

เหล่าใด พระรัศมีสีแดงเหล่านั้น ซ่านออกแล้วจากพระมังสะ พระโลหิต
และที่สีแดงแห่งพระเนตรทั้งสอง.
ทิศาภาคทั้งหลายรุ่งโรจน์แล้ว เหมือนเกลื่อนกล่นด้วยขีรธาราที่เท
ออกจากหม้อเงิน เหมือนเพดานแผ่นเงินที่เขาขึงไว้ เหมือนขั้วตาลเงินที่แกว่ง
ไปมา เหมือนดาดาษด้วยดอกคล้า ดอกโกมุท ดอกย่างทราย ดอกมะลิวัลย์
ดอกมะลิซ้อนเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งรัศมีสีขาวเหล่าใด รัศมีสีขาวเหล่านั้น
ซ่านออกแล้วจากพระอัฐิทั้งหลาย จากพระทนต์ทั้งหลาย และจากที่
สีขาวแห่งพระเนตรทั้งสอง.
ส่วนพระรัศมีสีหงสบาทและเลื่อมประภัสสร ก็ซ่านออกจากส่วนแห่ง
พระสรีระนั้น ๆ พระฉัพพรรณรังสีเหล่านั้นออกแล้วจับมหาปฐพีใหญ่อัน
หนาทึบ ด้วยประการฉะนี้ มหาปฐพีอันหนาถึง 240,000 โยชน์ ได้เป็น
เหมือนก้อนทองคำที่เขาขจัดมลทินแล้ว พระรัศมีทั้งหลายเจาะทะลุแผ่นดิน
ลงไปจับน้ำในภายใต้ น้ำซึ่งรองแผ่นดินหนาถึง 480,000 โยชน์ ได้เป็น
เหมือนทองคำที่ไหลคว้างออกจากเบ้าทอง พระรัศมีเหล่านั้นเจาะน้ำลงไปจับ
ลม ลมหนา 960,000 โยชน์ ได้เป็นเหมือนแท่งทองคำที่ยกขึ้นแล้ว พระ-
รัศมีทั้งหลายเจาะลมแล้วแล่นไปสู่อัชชฎากาศ (อากาศเวิ้งว้าง) ภายใต้.
ว่าด้วยส่วนเบื้องบน พระรัศมีทั้งหลาย แม้พุ่งขึ้นไปแล้วจับอยู่ที่จาตุ-
มหาราชิกา เจาะแทงตลอดจาตุมหาราชิกาไปจับชั้นดาวดึงส์ จากนั้นก็ไปยามา
ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี จากนั้นก็ไปพรหมโลก 9 ชั้น จากนั้นก็
ไปเวหัปผลา จากนั้นก็ไปปัญจสุทธาวาส จับอรูปทั้ง 4 เจาะ (แทงตลอด)
อรูปทั้ง 4 แล้วแล่นไปสู่อัชชฎากาศ (อากาศเวิ้งว้าง).

โดยส่วนเบื้องขวางทั้งหลาย พระรัศมีแล่นไปสู่โลกา ทั้งหลายอันหา
ที่สุดมิได้ ในที่ทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ ไม่มีรัศมีพระจันทร์ในพระจันทร์
ไม่มีรัศมีพระอาทิตย์ในพระอาทิตย์ ไม่มีรัศมีดวงดาวในดวงดาวทั้งหลาย ไม่มี
รัศมีของเทวดาทั้งหลายในที่ทั้งปวง คือ ที่อุทยาน วิมาน ต้นกัลปพฤษ์
ทั้งหลาย ที่สรีระทั้งหลาย ที่อาภรณ์ทั้งหลาย ถึงหาพรหมผู้สามารถแผ่
แสงสว่างไปสู่โลกธาตุติสหัสสี และมหาสหัสสี ก็ได้เป็นเหมือนหิ่งห้อยในเวลา
พระอาทิตย์ขึ้น พระจันทร์ พระอาทิตย์ ดวงดาว อุทยานวิมาน ต้นไม้
กัลปพฤกษ์ของเทพ ก็ปรากฏเพียงเป็นการกำหนดเท่านั้น.
จริงอยู่ สถานที่มีประมาณเท่านี้ ได้เป็นที่ท่วมทับ (ปกคลุม) แล้ว
ด้วยรัศมีของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น พระฤทธิ์แม้นี้มิใช่ฤทธิ์เกิดจากการอธิษฐาน
มิใช่ฤทธิ์เกิดจากภาวนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่เมื่อพระโลกนารถ
ทรงพิจารณาธรรมอันละเอียดสุขุม พระโลหิตก็ผ่องใส วัตถุรูปก็ผ่อง
ใส พระฉวีวรรณก็ผ่องใส
วรรณธาตุมีจิตเป็นสมุฏฐาน ตั้งอยู่ไม่หวั่นไหว
ในประเทศประมาณ 80 ศอกโดยรอบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาธรรม
โดยลักษณะนี้ ตลอด 7 วัน.
มีคำถามว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาตลอด 7 คืน
7 วัน ได้มีประมาณเท่าไร ?
ตอบว่า หาประมาณมิได้.
นี้ชื่อว่า เทศนาด้วยพระหฤทัยก่อน ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น
ใคร ๆ ก็ไม่พึงกล่าวได้ว่า ก็พระศาสดาเมื่อทรงเปล่งพระวาจาแสดงธรรมอัน
พระองค์คิดด้วยพระทัยตลอด 7 วันอย่างนี้ โดยล่วงไปร้อยปีก็ดี พันปีก็ดี
แสนปีก็ดี ก็ไม่สามารถเพื่อให้ถึงที่สุดได้ ดังนี้.

จริงอยู่ ในกาลอันเป็นส่วนอื่น พระตถาคตเจ้าประทับนั่งท่ามกลาง
เหล่าเทพหมื่นจักรวาลเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ควงไม้ปาริชาต ใน
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อทรงแสดงธรรมทรงทำพระพุทธมารดาให้เป็นกายสักขี
ก็ทรงย่อแล้ว ๆ ซึ่งลำดับธรรมจากระหว่างธรรมแล้วแสดงโดยส่วนแห่งร้อย
โดยส่วนแห่งพัน โดยส่วนแห่งแสน เทศนาที่พระองค์ให้เป็นไป ติดต่อกัน
สามเดือน เป็นอนันตเทศนาประมาณมิได้ ประดุจคงคาในอากาศที่ไหลลงมา
อย่างเร็ว และประดุจสายน้ำที่ไหลออกจากหม้อน้ำที่คว่ำปาก ฉะนั้น.
จริงอยู่ แม้ในกาลเป็นที่อนุโมทนาภัตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรง
อนุโมทนาอยู่ขยายออกหน่อยหนึ่ง ก็จะได้ประมาณเท่ากับทีฆนิกายและมัชฌิม-
นิกาย. อนึ่ง เมื่อทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกันภายหลังแห่งภัต เทศนา
ก็มีประมาณเท่านิกายใหญ่ทั้งสอง คือ สังยุตตนิกาย และอังคุตตรนิกาย.
เพราะเหตุไร ? เพราะภวังคปริวาส (การอยู่อาศัยภวังคจิต) ของพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายเร็ว ริมพระโอษฐ์เรียบสนิทดี พระชิวหาอ่อนคล่องพระโอษฐ์
พระสุรเสียงไพเราะ พระวาจาเปล่งได้เร็ว เพราะฉะนั้น แม้ธรรมอันพระองค์
แสดงแล้วเพียงครู่หนึ่งนั้น จึงได้มีประมาณเท่านี้ ธรรมที่พระองค์ทรงแสดง
แล้วตลอดไตรมาสจึงประมาณไม่ได้เลย.
จริงอยู่ พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎกยืนอยู่แล้ว
โดยท่าที่ยืนนั่นแหละ ย่อมเรียน ย่อมบอก ย่อมแสดงคาถา 15,000 คาถา
บทธรรม 60,000 บท เหมือนชนผู้ดึงดอกไม้ทั้งกิ่ง ธรรมมีประมาณเท่านี้
ชื่อว่าเป็นอุเทศมรรค (ทางแห่งอุเทศ) หนึ่งของพระเถระ เพราะว่า บุคคล
อื่นเมื่อให้อุเทศตามลำดับบทแก่พระเถระ ย่อมไม่อาจเพื่อจะให้ คือบอกให้
ไม่ทัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น พึงให้สมบูรณ์ พระสาวกผู้มีสติมากยิ่ง

มีคติมากยิ่ง มีธิติมากยิ่งอย่างนี้ แม้เรียนเทศนาที่พระศาสดาแสดงแล้วตลอด
ไตรมาส โดยทำนองนี้ สิ้นพันปีก็ไม่อาจให้ถึงที่สุดได้.
ถามว่า ก็อุปาทินนกสรีระ (ร่างกายที่มีใจครอง) เนื่องด้วยยกวฬิง-
การาหาร ของพระตถาคตเจ้าผู้ทรงแสดงธรรมติดต่อกันตลอดไตรมาสเช่นนี้
เป็นไปได้อย่างไร ?
ตอบว่า ด้วยการบำรุงนั่นแหละ.
จริงอยู่ กาลนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงวิเคราะห์ดีแล้ว ทรง
กำหนดดีแล้ว ทรงพิจารณาดีแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อ
ทรงแสดงธรรม จึงทรงตรวจดูเวลาในมนุษยโลก พระองค์ทรงกำหนดเวลา
ภิกษาจารแล้ว เนรมิตพุทธนิมิตแล้วอธิษฐานว่า การห่มจีวร การถือบาตร
การเปล่งเสียง กิริยาอาการของพุทธนิมิตนี้ จงมีอย่างนี้ จงแสดงธรรม ชื่อ
มีประมาณเท่านี้ ดังนี้ แล้วทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปสระอโนดาต เทวดา
ถวายไม้ชำระพระทนต์ ชื่อ นาคลดา พระองค์ทรงเคี้ยวไม้นาคลดานั้น ปฏิบัติ
สรีระในสระอโนดาตแล้วประทับยืนที่พื้นมีโนศิลา ทรงครองสบงสองชั้นที่ทรง
ย้อมดีแล้ว ทรงห่มจีวร แล้วถือบาตรศิลาที่มหาราชถวายเสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป
ทรงนำบิณฑบาตมาจากที่นั้น ประทับนั่งที่ฝั่งสระอโนดาต ทรงเสวยแล้วเสด็จ
ไปป่าไม้จันทน์ เพื่อทรงพักผ่อนกลางวัน.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระก็ไปในที่นั้น กระทำวัตรต่อ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระ-
ศาสดาจะทรงประทานนัยแก่พระเถระ จึงตรัสบอกว่า ดูก่อนสารีบุตร ธรรม
ที่ตถาคตแสดงแล้วมีประมาณเท่านี้. เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทาน
นัยอย่างนี้ การประทานนัยแก่พระอัครสาวกผู้ถึงปฏิสัมภิทาแล้ว เป็นเช่น

บุคคลผู้ยืนอยู่ที่สุดฝั่งแล้วเหยียดมือชี้ให้ดูมหาสมุทร ฉะนั้น ธรรมที่พระผู้มี
พระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ย่อมปรากฏชัดแม้แก่พระเถระโดยร้อยนัย พันนัย
แสนนัย.
ถามว่า พระศาสดาทรงนั่งพักกลางวันแล้ว เสด็จไปแสดงธรรมเวลา
ไหน ?
ตอบว่า ธรรมดาว่า เวลาสำหรับแสดงธรรมแก่ชาวเมืองสาวัตถีที่
ประชุมกันแล้วมีอยู่ ก็เสด็จไปเวลานั้น.
ถามว่า ใครเล่าย่อมทราบ ใครเล่าไม่ทราบว่า พระศาสดาเสด็จไป
แสดงธรรม หรือว่า เสด็จมาแสดงธรรม.
ตอบว่า เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ย่อมทราบ เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยย่อมไม่ทราบ.
ถามว่า เพราะเหตุไร เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยจึงไม่ทราบ.
ตอบว่า เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพุทธนิมิต ไม่มีความต่าง
กับสิ่งทั้งหลายมีพระรัศมีเป็นต้น ความจริง ความต่างกันของพระพุทธเจ้าแม้
ทั้งสองพระองค์นั้น ในพระรัศมี หรือพระสุรเสียง หรือพระดำรัสมิได้มี.
ฝ่ายพระสารีบุตรเถระก็นำธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้ว ๆ มา
แสดงแก่ภิกษุ 500 ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของตน บัณฑิตพึงทราบบุรพโยคะ
(การประกอบกรรมในกาลก่อน) ของภิกษุ 500 เหล่านั้น ดังนี้.

บุรพโยคะของภิกษุ 500



ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระทศพล พระนามว่า กัสสป ภิกษุเหล่านั้น
เกิดในกำเนิดค้างคาวลูกหนู ห้อยโหนอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรม
2 รูป สาธยายพระอภิธรรมอยู่ ก็ถือเอานิมิตในเสียง แม้ไม่รู้ว่าเป็นธรรม