เมนู

มหาบพิตร ปริณายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และ
ไม่เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าจักรพรรดิว่า สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่พระราชา
สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งเหล่านั้นเป็นอุปการะ สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอุปการะ
ดังนี้ จากนั้นก็จะบันเทา (กำจัด ) สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคอง
สิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติฉันนั้นเหมือนกันแล
เมื่อเกิดขึ้น ย่อมใคร่ครวญสติทั้งหลายแห่งธรรมที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็น
ประโยชน์ว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์
ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ดังนี้ จากนั้นย่อมบันเทา
(กำจัด) ธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์
มหาบพิตร สติมีการประคับประคองเป็นลักษณะอย่างนี้แล.
ก็อีกนัยหนึ่ง สติมีการระลึกเป็นลักษณะ มีการไม่หลงลืมเป็นรส
มีการอารักขา (การรักษาอารมณ์) เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีการมุ่งต่ออารมณ์
เป็นปทัฏฐาน มีการจำได้อันมั่นคงเป็นปทัฏฐาน หรือว่ามีกายคตาสติปัฏฐาน
เป็นต้นเป็นปทัฏฐาน ก็บัณฑิตพึงเห็นสติเหมือนเสาเขื่อน เพราะตั้งอยู่มั่นคง
ในอารมณ์ และเหมือนนายทวารผู้รักษาประตู เพราะรักษาทวารทั้งหลาย
มีจักขุทวารเป็นต้น.

ความหมายของสมาธินทรีย์



ธรรมที่ชื่อว่า สมาธิ เพราะตั้งมั่น คือวางจิตไว้ในอารมณ์โดยชอบ
ก็สมาธินั้น ชื่อว่า อินทรีย์ ด้วยอรรถว่าเป็นอธิบดี เพราะครอบงำความ
ฟุ้งซ่าน อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่น
ในลักษณะแห่งความไม่ฟุ้งซ่าน. สมาธินั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่า สมาธินทรีย์