เมนู

มีการยกขึ้นซึ่งแผ่นผ้าเป็นต้น สัมผัปปลาปะนั้น ย่อมเป็นสุขเวทนา. ครั้นเมื่อ
บุคคลคนหนึ่งให้สินจ้างไว้ก่อน แต่มาภายหลังคนอื่นพูดว่า ขอท่านจงกล่าว
เรื่องตั้งแต่ต้น ดังนี้ ในเวลาที่กำลังเล่าเรื่อง โทมนัสเกิดขึ้น ด้วยคิดว่า เรา
จักกล่าวกถาเบ็ดเตล็ดไม่สืบต่อกันหรือไม่หนอ ดังนี้ ย่อมเป็นทุกขเวทนา.
เมื่อเขากล่าวกถาเฉย ๆ ย่อมเป็นอทุกขมสุขเวทนา. อภิชฌา มีเวทนา 2
ด้วยสามารถแห่งสุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา. มิจฉาทิฏฐิ ก็มี 2 เหมือน
อภิชฌา. พยาบาท เป็นทุกขเวทนา.
คำว่า โดยมูล คือ ปาณาติบาตมี 2 มูล ด้วยสามารถแห่งโทสมูล
และโมหมูล. อทินนาทาน ก็มี2 มูล คือด้วยอำนาจแห่งโทสะ กับ โมหะ
หรือว่าด้วยอำนาจแห่งโลภะกับโมหะ มิจฉาจาร ก็มีมูล 2 คือด้วยอำนาจ
แห่งโลภะและโมหะนั่นแหละ มุสาวาท มี 2 มูล ด้วยสามารถแห่งโทสะกับ
โมหะ หรือโลภะกับโมหะ ปิสุณาวาจา และสัมผัปปลาปะก็มี 2 เหมือนกัน
ผรุสวาจา มี 2 มูล ด้วยสามารถแห่งโทสะและโมหะ. อภิชฌามีมูลเดียว
ด้วยสามารถแห่งโมหะ พยาบาทก็มีมูลเดียวเหมือนกัน มิจฉาทิฏฐิมี 2 มูล
ด้วยอำนาจแห่งโลภมูลและโมหมูลแล.
จบกถาว่าด้วยอกุศลบถ

กถาว่าด้วยกุศลกรรมบถ 10



ธรรม 10 อย่างเหล่านี้ คือ การงดเว้นจากปณาติบาตเป็นต้น (มี
7 อย่าง) อนภิชฌา อัพยาบาท และสัมมาทิฏฐิ ชื่อว่า กุศลกรรมบถ.
บรรดากุศลกรรมบถ 10 เหล่านั้น ปาณาติบาตเป็นต้นมีเนื้อความตามที่กล่าว

ไว้แล้วนั่นแหละ ธรรมที่ชื่อว่า วิรัติ (วิรติ) เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องงดเว้น
จากปาณาติบาตเป็นต้นด้วยธรรมนี้ หรือว่าเป็นตัวงดเว้น หรือว่า ธรรมนี้
เป็นเพียงการงดเว้นเท่านั้น. การงดเว้นของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
สัมปยุตด้วยกุศลจิต ตามที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า การงดการเว้นจากปาณาติบาต
อันใด มีในสมัยนั้น ดังนี้ วิรัติ (การงดเว้น) นั้น มี 3 ประเภท คือ
สัมปัตตวิรัติ
สมาทานวิรัติ
สมุจเฉทวิรัติ
บรรดาวิรัติ 3 ประเภทนั้น วิรัตเมื่อเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ได้สมาทาน
สิกขาบททั้งหลาย ซึ่งพิจารณาถึงความเกิด (ชาติ) ความเสื่อม (วย) และ
พาหุสัจจะเป็นต้นของตนแล้ว ไม่ก้าวล่วงวัตถุที่ถึงพร้อมด้วยคิดว่า การกระทำ
เห็นปานนี้ไม่สมควรแก่พวกเรา ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นสัมปัตตวิรัติ. สัมปัตต-
วิรัตินั้น มีเรื่องเป็นอุทาหรณ์ เหมือนวิรัติของอุบาสก ชื่อ จักกนะ ในเกาะ
สีหลดังต่อไปนี้.
ได้ยินว่า โรคเกิดขึ้นแก่มารดาของนายจักกนะนั้น ในเวลาที่เขายัง
เป็นเด็กทีเดียว. หมอบอกว่า ควรได้เนื้อกระต่ายสด ลำดับนั้น พี่ชายของ
นายจักกนะจึงส่งให้นายจักกนะได้ด้วยคำว่า พ่อจักกนะจงไปเที่ยวหาที่ไร่นา
นายจักกนะนั้นก็ไปในที่นั้น ก็ในสมัยนั้น มีกระต่ายตัวหนึ่งมาเพื่อจะเคี้ยวกิน
ข้าวกล้าอ่อน มันเห็นนายจักกนะนั้นก็แล่นไปโดยเร็ว ได้ถูกเถาวัลย์พันไว้
จึงส่งเสียงกิริ กิริ ดังนี้. นายจักกนะไปตามเสียงนั้น จับมันแล้วคิดว่า เราจัก
ปรุงยาให้มารดา แล้วคิดอีกว่า เราฆ่าสัตว์อื่นเพราะชีวิตมารดาเป็นเหตุ นี้ไม่
สมควรแก่เรา ลำดับนั้น จึงปล่อยไปโดยกล่าวว่า เจ้าจงไปกินหญ้าและน้ำ

พร้อมกับกระต่ายทั้งหลายในป่าเถิด. เขาถูกพี่ชายถามว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าได้
กระต่ายแล้วหรือ เขาบอกเรื่องนั้นทั้งหมด ลำดับนั้น จึงถูกพี่ชายด่าเอา
นายจักกนะนั้นไปสู่สำนักมารดาแล้ว กล่าวอธิษฐานสัจจะว่า ตั้งแต่เกิดแล้ว
ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักการแกล้งฆ่าสัตว์มีชีวิตเลย ดังนี้ ทันใดนั้น มารดาของเขา
ก็หายจากโรค.
ก็วิรัติเมื่อเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้สมาทานสิกขาบททั้งหลาย ในเวลา
สมาทานสิกขาบทนั่นแหละ และในกาลต่อไปถึงสละชีวิตของคนก็ไม่ก้าวล่วง
วัตถุ พึงทราบว่า เป็นสมาทานวิรัติ. เหมือนวิรัติของอุบาสกผู้อาศัยอยู่ที่ภูเขา
ชื่อว่า ทันตรวัฑฒมานะ.
ได้ยินว่า อุบาสกนั้นรับสิกขาบททั้งหลายในสำนักของพระเถระปิงคล
พุทธรักขิตตะ ผู้อยู่ในอัมพรวิหารแล้วไปไถนา. ครั้งนั้น โคของเขาหายไป
เขาตามหาโคนั้น จึงขึ้นไปยังภูเขาชื่อว่า ทันตรวัฑฒมานะ งูใหญ่ได้รัดเขา
ในที่นั้น เขาคิดว่า เราจักตัดศีรษะงูนั้นด้วยมีอันคมนี้ แล้วคิดอีกว่า เรารับ
สิกขาบททั้งหลายในสำนักครูที่ควรแก่การยกย่องแล้วพึงทำลายเสีย ข้อนั้นไม่
สมควรแก่เราเลย ดังนี้. เขาคิดอย่างนี้จนถึง 3 ครั้ง แล้วตัดสินใจว่า เราจัก
สละชีวิต จักไม่สละสิกขาบท ดังนี้ จึงทิ้งมีดอันคมที่วางบนบ่า ทันทีนั้นแหละ
งูใหญ่ก็ปล่อยเขาได้เลื้อยไปแล้ว.
วิรัติ ที่สัมปยุตด้วยอริยมรรค พึงทราบว่าเป็นสมุจเฉทวิรัติ จำเดิม
แต่สมุจเฉทวิรัติเกิดขึ้นแล้ว แม้จิตของพระอริยบุคคลทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้นว่า
เราจักฆ่าสัตว์ ดังนี้.

ว่าด้วยกุศลกรรม 5 ประเภท



บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยกุศลกรรมบถเหล่านี้ โดยอาการ 5 อย่าง
เหมือนอกุศลกรรมบถ คือ โดยธรรม โดยโกฏฐาส โดยอารมณ์ โดย
เวทนา โดยมูล.
บรรดากุศลกรรม 5 ประเภทนั้น คำว่า โดยธรรม ความว่า
จริงอยู่ บรรดากรรมบถ. เหล่านั้น กรรมบถ 7 โดยลำดับ (กายสุจริต 3
วจีสุจริต 4) ย่อมเป็นเจตนาและเป็นทั้งวิรัติ กรรมบถ 3 เบื้องปลายเป็น
ธรรมสัมปยุตด้วยเจตนาเท่านั้น.
คำว่า โดยโกฏฐาส ความว่า กรรมบถ 7 โดยลำดับเป็นกรรมบถ
อย่างเดียวไม่เป็นมูล. กรรมบถ 3 เบื้องปลายเป็นกรรมบถด้วย เป็นมูลด้วย.
จริงอยู่ อนภิชฌา คือ อโลภะเพ่งถึงมูลแล้วก็เป็นกุศลมูล อัพยาบาท คือ
อโทสะเป็นกุศลมูล สัมมาทิฏฐิ คือ อโมหะเป็นกุศลมูล.
คำว่า โดยอารมณ์ ความว่า อารมณ์ทั้งหลายของปาณาติบาตเป็นต้น
นั่นแหละก็เป็นอารมณ์ของกุศลกรรมเหล่านั้น. จริงอยู่ การงดเว้น (วิรัติ)
จากวัตถุที่พึงก้าวล่วงนั่นแหละ ชื่อว่า เวรมณี. เหมือนอย่างว่า อริยมรรคมี
นิพพานเป็นอารมณ์ ย่อมละกิเลสทั้งหลาย ฉันใด ก็กรรมบถเหล่านี้มีชีวิตินทรีย์
เป็นต้นเป็นอารมณ์ พึงทราบว่า ย่อมละความเป็นผู้ทุศีลทั้งหลายมีปาณาติบาต
เป็นต้น ฉันนั้น.
คำว่า โดยเวทนา ความว่า กุศลกรรมบถทั้งหมดเป็นสุขเวทนา
หรืออุเบกขาเวทนา. จริงอยู่ เพ่งถึงกุศลแล้ว ชื่อว่า ทุกขเวทนาย่อมไม่มี.
คำว่า โดยมูล ความว่า กรรมบถ 7 โดยลำดับ ย่อมมี 3 มูล คือ
อโลภะ อโทสะ อโมหะ ของบุคคลผู้งดเว้นด้วยจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ
มี 2 มูลของบุคคลผู้งดเว้นด้วยจิตไม่ประกอบด้วยญาณ. และมี 2 มูล ของ