เมนู

ว่าโดยนัยอรรถกถาปุตตกะ



บัดนี้ ในการที่อารมณ์มาสู่คลองด้วยสามารถแห่งรูปที่เคยเห็นแล้ว
เป็นต้นตามปกติ มีอีกนัยหนึ่ง คือ อรรถกถามุตตกะ (นอกจากอรรถกถา)
อนึ่ง เบื้องต้นบัณฑิตพึงทราบรูปทั้งหลายที่เห็นแล้วเป็นต้นเหล่านี้ว่า ทิฏฺฐํ สุตํ
เป็นความเกี่ยวข้องกันทั้ง 2 บท.
ในคำว่า ทิฏฺฐํ สุตํ เหล่านั้น รูปที่เคยถือเอาด้วยสามารถแห่ง
ทวาร 5 ชื่อว่า ทิฏฺฐํ และรูปเป็นต้นที่บุคคลไม่เห็นโดยประจักษ์ แต่ถือ
เอาโดยการได้ฟังมา ชื่อว่า สุตํ. การเกี่ยวเนื่องกันด้วยบทว่า ทิฏฺฐํ สุตํ
เหล่านี้แม้ทั้ง 2 ชื่อว่า อุภยสัมพันธะ บัณฑิตพึงทราบว่า อารมณ์เหล่านี้
ย่อมมาสู่คลองในมโนทวารด้วยสามารถแห่งรูปที่เห็นแล้วเป็นต้น แม้เหล่านี้
อย่างนี้ การมาสู่คลองด้วยสามารถแห่งรูปที่เห็นแล้วในคำว่า ทิฏฺฐํ สุตํ
นั้นเท่านั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วโดยนัยทั้งหลาย 5 นัย นั่นแหละ.
ก็คนบางคนได้ยินว่า รูป ชื่อเห็นปานนี้ เกิดด้วยบุญอันประเสริฐยิ่ง
ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระสุรเสียงก็ไพเราะยิ่ง กลิ่นดอกไม้ทั้งหลายในที่
บางแห่ง หอมชื่นใจยิ่งแก่คนบางคน รสของผลไม้ทั้งหลายก็อร่อยยิ่งแก่คน
บางคน สัมผัสของผ้านุ่งห่มเป็นต้นก็เป็นสุขยิ่งแก่คนบางคน ดังนี้ รูปเป็นต้น
เหล่านั้นสักว่าฟังมาเท่านั้น มิได้กระทบกับประสาทมีจักขุประสาทเป็นต้นของ
บุคคลนั้นเลยย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร ลำดับนั้น จิตนั้นของบุคคลนั้นย่อม
เป็นไปด้วยอำนาจความเลื่อมใสในรูปหรือในเสียง หรือว่าย่อมเป็นไปในกลิ่น
เป็นต้นด้วยอำนาจความปรารถนาถวายทานแก่พระอริยะทั้งหลาย หรือว่าด้วย
สามารถแห่งการอนุโมทนา ในทานทั้งหลายอันบุคคลเหล่าอื่นถวายแล้ว รูป
เป็นต้นเหล่านี้ ย่อมมาสู่คลองในมโนทวารด้วยสามารถแห่งการได้ฟังมาแล้ว
ด้วยประการฉะนี้.

โดยประการอื่นอีก รูปเป็นต้นที่เห็นมาแล้ว เคยฟังมาแล้ว ตามที่กล่าว
ยังมีอยู่ คือ อารมณ์เหล่านั้นย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร โดยความเนื่องกัน
รูปที่เห็นแล้วและเสียงที่ฟังแล้ว โดยไม่กระทบกับจักขุประสาทเป็นต้นนั่นแหละ
โดยนัยมีอาทิว่า รูปเช่นนี้ของพระพุทธเจ้านั้นจักมีแก่พระพุทธเจ้าผู้ทรงอุบัติ
ขึ้นในกาลต่อไป ดังนี้ ทีนั้น มหาจิตนี้ก็มีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดา
อารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นนั้น ของบุคคลนั้นก็จะเป็นไปโดยนัยที่กล่าวไว้ใน
หนหลังนั่นแหละ อารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเหล่านี้ย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร
ด้วยสามารถความเกี่ยวข้องแห่งรูปที่เห็นแล้ว และเสียงที่เคยฟังแล้วทั้งสองด้วย
ประการฉะนี้.
ก็คำที่กล่าวแม้นี้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ส่วนโดยพิสดาร บัณฑิต
พึงทราบการมาสู่คลองในมโนทวารของอารมณ์เหล่านั้นนั่นแหละ ด้วยอำนาจ
แห่งศรัทธา ความพอใจ อาการปริวิตก ทิฏฐิ การเข้าไปเพ่ง และขันติ
เป็นต้น ก็อารมณ์ที่มาสู่คลองเหล่านี้ด้วยอาการอย่างนี้เป็นจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
เพราะฉะนั้น นัยนี้ พระอรรถกถาจารย์จึงไม่ถือเอาในอรรถกถา ด้วยคำ
ตามที่กล่าวมานี้ ชวนะมีอารมณ์อย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเกิดใน
ทวารทั้งหลายทั้งสอง จริงอยู่ ชวนจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ย่อมเกิดขึ้นในจักขุ-
ทวารบ้าง ในมโนทวารบ้าง แม้ในสัททารมณ์เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
ในทวารทั้ง 2 เหล่านั้น ชวนจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในมโนทวาร
มี 3 อย่างเท่านั้น คือ
1. ทานมัย (ชวนจิตเกิดแต่การให้ทาน)
2. สีลมัย (ชวนจิตเกิดแต่การรักษาศีล)
3. ภาวนามัย (ชวนจิตเกิดแต่ภาวนา)

ในชวนจิตที่เกิดแต่ทานมัยเป็นต้นเหล่านั้น แต่ละอย่างก็มีถึง 3 อย่าง
คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แม้ในสัทธารมณ์ คันธารมณ์
รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน ใน
บรรดาชวนจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์เหล่านั้น มหากุสลจิตดวงหนึ่ง เมื่อทำรูปให้
เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ย่อมทำสี กล่าวคือ สุภนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งในดอกไม้
ผ้า และธาตุทั้งหลายที่มีสีเขียว สีเหลือง สีแดงและขาวที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ น่ายินดีให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น.
ถามว่า ก็อิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) เป็นที่ตั้งแห่งโลภะ
มิใช่หรือ ไฉนจิตนี้จึงเกิดมีชื่อว่า กุศลเล่า.
ตอบว่า ที่มีชื่อว่า กุศล ด้วยสามารถแห่งการกำหนด (นิยมิต)
ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน (ปริณามิต) ด้วยสามารถแห่งความประพฤติดี
(สมุทาจาร) ด้วยสามารถแห่งการผูกใจ (อาภุชิต).
จริงอยู่ ของบุคคลใด ชื่อว่า กำหนด ในเพราะการทำกุศลว่า
กุศลเท่านั้นเราควรกระทำ ดังนี้. ที่ชื่อว่า เปลี่ยนไป ให้เพราะการยังอกุศล
ที่เป็นไปให้กลับแล้วทำกุศล. ที่ชื่อว่า ประพฤติดี ด้วยการประพฤติกุศล
นั่นแหละโดยการการทำบ่อย ๆ และความคำนึงเป็นไปแล้ว โดยแยบคายด้วย
อุปนิสสัยทั้งหลาย มีการอยู่ในประเทศอันสมควร 1 การคบสัตบุรุษ 1 การ
ฟังพระสัทธรรม 1 ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำไว้ในกาลก่อน 1 ชื่อว่า การ
ผูกใจ
. ธรรมดาว่า กุศลย่อมเกิดแก่จิตนั้น ด้วยสามารถแห่งการกำหนด ด้วย
สามารถแห่งการเปลี่ยน ด้วยสามารถการประพฤติดี และด้วยสามารถแห่งการ
ผูกใจนี้.

ก็ความที่มหากุศลเป็นโสมนัสสสหคตะในจิตนี้ พึงทราบด้วยสามารถ
แห่งอารมณ์. จริงอยู่ จิตนี้ชื่อว่าเกิดเป็นโสมนัสเพราะความเกิดขึ้นในอารมณ์
ที่น่าปรารถนา และเหตุทั้งหลายมีความเป็นผู้มากด้วยศรัทธาเป็นต้นก็เกิดขึ้น
ในจิตที่มีโสมนัสสสหคตะนี้เหมือนกัน เพราะว่าโสมนัสย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ผู้ไม่มี
ศรัทธา และเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย เพราะเห็นแม้รูปของพระตถาคตซึ่งเป็น
อิฏฐารมณ์โดยส่วนเดียว และบุคคลเหล่าใดไม่เห็นอานิสงส์ในการสร้างกุศล
โสมนัสก็ไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลเหล่านั้น แม้บุคคลอื่นให้อุตสาหะสร้างกุศล
เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตเป็นโสมนัสสสหคตะในที่นี้อย่างนี้
คือ ความเป็นมากด้วยศรัทธา ความเป็นผู้มีทิฏฐิบริสุทธิ์ และความเป็นผู้มี
ปกติเห็นอานิสงส์.
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 11 อย่าง ย่อมเป็นไปเพราะอาศัยปีติสัมโพชฌงค์
คือ
1. พุทธานุสติ
2. ธรรมานุสติ
3. สังฆานุสติ
4. สีลานุสติ
5. จาคานุสติ
6. เทวตานุสติ
7. อุปสมานุสติ
8. การเว้นบุคคลที่เศร้าหมอง
9. การคบบุคคลผู้น่ารัก
10. การพิจารณาพระสูตรเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
11. ความเป็นผู้น้อมไปในปีติสัมโพชฌงค์นั้น.

เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตเป็นโสมนัสสสหคตะใน
ที่นี้ ด้วยเหตุทั้งหลายแม้เหล่านี้. ส่วนความพิสดารของธรรมที่เป็นเหตุเหล่านี้
จักแจ่มแจ้งในโพชฌงค์วิภังค์.
อนึ่ง บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตที่เป็นโสมนัสสสหคตะเป็นธรรม
สัมปยุตด้วยญาณในที่นี้ด้วยเหตุเหล่านั้น คือ โดยกรรม โดยความเกิดขึ้น
โดยความแก่รอบแห่งอินทรีย์ และความเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส
.
จริงอยู่ บุคคลใดแนะนำธรรมแก่ชนเหล่าอื่น คือให้ศึกษาสิปปายตนะ
(คือวิชาขี่ช้าง ขี่ม้า และขับรถเป็นต้น) กัมมายตนะ (คือวิชากสิกรรม
พาณิชยกรรม และหัตถกรรมเป็นต้น) และวิชชัฏฐาน (คือ ดาราศาสตร์
โหราศาสตร์ แพทยศาสตร์ และไสยศาสตร์) อันไม่มีโทษ ถวายเครื่องสักการะ
อาราธนาพระธรรมกถึกให้แสดงธรรม ดังความปรารถนาว่าในกาลต่อไป
ข้าพเจ้าจักเป็นผู้มีปัญญาดังนี้ แล้วถวายทานมีประการต่าง ๆ กุศลที่เป็นญาณ
สัมปยุต เมื่อเกิดแก่บุคคลนั้นเข้าไปอาศัยกรรมเห็นปานนี้ แล้วย่อมเกิดขึ้น
อีกอย่างหนึ่ง ถ้าบุคคลนั้นเกิดในโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน บทแห่งธรรมที่
ง่ายย่อมปรากฏแก่เขาในที่นั้น.
กุศลจิตญาณสัมปยุต เมื่อเกิดก็อาศัยความเกิดขึ้น โดยนัยนี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้นแห่งสติช้า แต่ว่า สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วน
แห่งคุณวิเศษเร็วพลัน ดังนี้.
อนึ่ง กุศลญาณสัมปยุตจิตเมื่อเกิดแม้เพราะอาศัยความแก่รอบแห่ง
อินทรีย์ของบุคคลผู้ประกอบ คือการแก่รอบแห่งอินทรีย์ของบุคคลผู้บรรลุ
หมวด 10 แห่งปัญญา (วิปัสสนาญาณ 10) เกิดขึ้น.

ก็กิเลสทั้งหลายอันบุคคลใดข่มไว้แล้ว กุศลญาณสัมปยุตจิตของบุคคล
นั้น เมื่อเกิดก็อาศัยความที่คนเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลสเกิดขึ้น. สมดังที่พระผู้มี
พระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
โยคา เว ชายเต ภูริ อาโยคา ภูริ สงฺขโย
เอตํ ทฺวิธา ปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ
ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.
ภูริปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบ
แล ความเสื่อมสิ้นไปแห่งภูริปัญญาย่อม
เกิดเพราะการไม่ประกอบ บัณฑิตรู้ทาง
สองแพร่ง แห่งความเจริญและความเสื่อม
นี้แล้ว พึงตั้งตนไว้โดยอาการที่ปัญญาเพียง
ดังแผ่นดิน (ภูริปัญญา) จะเจริญขึ้นเถิด.

บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตเป็นญาณสัมปยุตโดยเหตุเหล่านี้ คือ
โดยกรรม โดยความเกิดขึ้น โดยความแก่รอบแห่งอินทรีย์ และโดยความ
เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ด้วยประการนี้.
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 7 อย่าง ย่อมเป็นไปเพราะอาศัยธรรมวิจย-
สัมโพชฌงค์ คือ
1. ความสอบถาม (ปริปุจฺฉกตา)
2. การทำวัตถุภายในและภายนอกให้สะอาด (วตฺถุวิสทกิริยา)
3. การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน (อินฺทฺริยสมตฺตปฏิปาทนตา)
4. การเว้นบุคคลผู้ทรามปัญญา (ทุปฺปญฺญปุคฺคลปริวชฺชนตา)
5. การคบผู้มีปัญญา (ปญฺญวนฺตปุคฺคลเสวนตา)

6. การพิจารณาจริยาด้วยญาณอันลึกซึ้ง (คมฺภิรญาณจริยปจฺจ-
เวกฺขณตา)

7. ความน้อมจิตเพื่อให้ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้น (ตทธิ-
มุตฺตตา)
.
บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตเป็นญาณสัมปยุตในที่นี้ ด้วยเหตุทั้ง-
หลายเหล่านี้ ส่วนความพิสดารแห่งเหตุทั้ง 7 เหล่านี้ จักแจ่มแจ้งในอรรถกถา
แห่งโพชฌงค์วิภังค์.
ก็กุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นญาณสัมปยุตด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า อสังขาริก
เพราะความที่จิตนั้นเป็นสภาพเกิดขึ้นโดยอสังขาร (คือไม่มีการปรุงแต่ง หรือ
ไม่มีการชักชวน) โดยไม่มีปโยคะ (การประกอบ) โดยไม่คิดด้วยอุบาย
กุศลจิตที่ชื่อว่า อสังขาริกนี้นั้น มีสีที่น่าปรารถนาเป็นอารมณ์จึงเกิดขึ้นโดยแท้
ย่อมเกิดขึ้นโดยกำหนด 3 อย่าง คือ ทานมัย สีลมัย และภาวนามัย.
ถามว่า กุศลญาณสัมปยุตจิตที่ชื่อว่า อสังขาริกในทานมัยเป็นต้นนั้น
เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ตอบว่า ก็เมื่อใด บุคคลได้ดอกไม้อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาดอกไม้
ที่มีสีเขียว เหลือง แดง และขาวเป็นต้น แล้วรำพึงถึงสีดอกไม้นั้น แล้วบูชา
พระพุทธรัตนะเป็นต้น ด้วยคิดว่า เราถวายสีเป็นทาน ดังนี้ เมื่อนั้นบุญ
ย่อมสำเร็จด้วยทาน. ในทานมัยนั้น มีเรื่องเล่าไว้ดังนี้.
ได้ยินว่า ผู้รักษาเรือนคลัง ชื่อว่า สังฆมิต ได้ผ้าลายทอง (ขจิต
ด้วยทอง) ผืนหนึ่ง จึงคิดว่า ผ้าแม้นี้มีสีเหมือนทอง แม้พระสัมมาสัมพุทธะ
ก็มีพระฉวีวรรณเหมือนทอง ผ้ามีสีเหมือนทองสมควรแก่ผู้ที่มีผิวพรรณดังทอง
เท่านั้น และการให้สีจักมีแก่พวกเรา ดังนี้ จึงให้เอาขึ้นไปห่มพระมหาเจดีย์

กุศลญาณสัมปยุตจิตในกาลแม้เห็นปานนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็น
ทานมัย.
ก็เมื่อใด บุคคลได้ไทยธรรม (วัตถุที่ควรให้) เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ
แล้วบูชาพระรัตนตรัยมีพุทธรัตนะเป็นต้น ด้วยการคิดว่า นั่นเป็นวงศ์ตระกูล
เป็นแบบแผนตระกูล เป็นประเพณีตระกูล เป็นวัตรของเรา ดังนี้ เมื่อนั้น
ย่อมเป็นสีลมัย.
ก็เมื่อใด บุคคลทำการบูชาพระไตรรัตน์ด้วยวัตถุเช่นนั้น แล้วเริ่ม
ตั้งความสิ้นไป เสื่อมไป ด้วยมนสิการว่า สี (วรรณะ) นี้ จักถึงความสิ้นไป
จักถึงความเสื่อมไป ดังนี้ เมื่อนั้น ย่อมเป็นภาวนามัย.
อนึ่ง กุศลญาณสัมปยุตจิตเป็นทานมัยยังเป็นไปอยู่ ในกาลใด
ความเป็นไปของบุคคลผู้บูชาพระไตรรัตน์ด้วยมือของตน ในกาลนั้น เป็น
กายกรรม. ในกาลใด เมื่อบุคคลจะบูชาพระไตรรัตน์จึงสั่งบุตร ภรรยา ทาส
กรรมกร และบุรุษเป็นต้นให้บูชา ในกาลนั้น เป็นวจีกรรม. ในกาลใด
บุคคลปรารภวัตถุวัตถุทานที่มีอยู่ มีประการตามที่กล่าวแล้วนั้นนั่นแหละ แล้วคิดว่า
เราจักให้สีเป็นทาน (วณฺณทานํ) ดังนี้ ในกาลนั้น เป็นมโนกรรม.
อีกอย่างหนึ่ง เพ่งถึงสำนวนพระวินัยแล้ว กุศลจิตนั้น ชื่อว่า เป็นทาน
โดยลักษณะนี้ว่า การเปล่งวาจาว่าเราจักถวาย จักกระทำดังนี้ แต่ถ้าเพ่งถึง
สำนวนพระอภิธรรมแล้ว จิตนั้นย่อมเป็นกุศลจำเดิมแต่เวลาที่ใจคิดปรารภถึง
วัตถุที่มีอยู่ว่า เราจักให้ ดังนี้. ท่านอธิบายไว้ว่า ในกาลอื่นอีก บุคคลนั้น
จักกระทำกิจที่ควรกระทำด้วยกายหรือด้วยวาจา. ทานมัยตามที่กล่าวมานี้ จึง
มี 3 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม.

ก็ในกาลใด บุคคลได้วัตถุมีประการตามที่กล่าวแล้ว ย่อมบูชาพระ-
ไตรรัตน์ด้วยมือของตน ด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้น ในกาลนั้น กุศลจิต
นั้น ก็เป็นสีลมัย หรือเป็นกายกรรม. ในกาลใด สั่งให้บุตรและภรรยาเป็นต้น
ด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้นบูชา ในกาลนั้น กุศลจิตนั้น เป็นวจีกรรม
ในกาลใด บุคคลคิดว่า เราจักถวายสีเป็นทาน (วณฺณทานํ) ดังนี้ เพราะ
ปรารภวัตถุที่มีอยู่ว่า วงศ์ตระกูลของเรา แบบแผนตระกูล ประเพณีตระกูล
วัตรนั้นของเรา ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตนั้น ก็เป็นมโนกรรม. กุศลจิต
ที่เป็นสีลมัยมี 3 อย่าง ด้วยสามารถแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
ด้วยประการฉะนี้.
ส่วนในกาลใด บุคคลได้วัตถุมีประการดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเดินบูชา
พระไตรรัตน์ ก็เริ่มตั้งความสิ้นไปเสื่อมไป ในกาลนั้น กุศลญาณสัมปยุตจิต
ที่เป็นภาวนามัย ย่อมเป็นกายกรรม เมื่อบุคคลเริ่มรู้ตลอดเพราะวาจา ก็เป็น
วจีกรรม เมื่อบุคคลไม่ให้ส่วนแห่งกายและวาจาเคลื่อนไหว เริ่มตั้งการรู้ตลอด
ด้วยใจเท่านั้น ก็เป็นมโนกรรมอย่างเดียว กุศลญาณสัมปยุตจิตที่เป็นภาวนามัย
มี 3 อย่าง ด้วยอำนาจกาย วาจา และใจ ด้วยประการฉะนี้ ในอธิการนี้
พระธรรมราชา ทรงจำแนกแสดงกุศลที่มีรูปเป็นอารมณ์ไว้ด้วยกรรม ทวาร
9 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งบุญกิริยาวัตถุ 3 ด้วยประการฉะนี้ แม้ในสัททารมณ์
เป็นต้น ก็นัยนี้แหละ.
ความจริง กุศลจิตนี้กระทำเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีในเสียง
กลองเป็นต้นให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นด้วยการกำหนด 3 อย่างโดยนัยที่กล่าวมา
แล้วนั่นแหละ. ในบรรดากุศลจิตที่เป็นทานมัยเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่า เสียง
ใคร ๆ ไม่อาจเพื่อหยิบมาวางไว้ในมือแล้วให้ เหมือนถอนเหง้าบัวขึ้น หรือ

เหมือนวางกำดอกอุบลเขียวไว้ในมือได้ แต่เมื่อบุคคลทำเสียงพร้อมด้วยวัตถุ
ให้อยู่ ชื่อว่า ย่อมให้เสียงเป็นทาน เพราะฉะนั้น ในกาลใด บุคคลคิดว่า
เราจักถวายเสียงให้เป็นทานดังนี้ จึงทำการบูชาพระไตรรัตน์ ด้วยเครื่องดนตรี
อย่างใดอย่างหนึ่ง มีกลองและตะโพนเป็นต้น แล้วให้หยุดเครื่องดนตรีมีกลอง
เป็นต้น ด้วยคิดว่า เราจักถวายทานด้วยเสียงของเรา จึงถวายเภสัช น้ำมัน
น้ำอ้อยเป็นต้นด้วยเปล่งเสียงถวายภิกษุผู้เป็นธรรมกถา ย่อมโฆษณาการฟังธรรม
ย่อมสวดสรภัญญะ ย่อมกล่าวธรรมกถา ย่อมกล่าวอุปนิสินนกถา อนุโมทนา-
กถา ในกาลนั้น กุศลจิตนั้น ย่อมเป็นทานมัย. ในกาลใด บุคคลกระทำวิธี
อย่างนี้นั่นแหละ ด้วยสามารถแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งวัตร
ในกาลนั้น กุศลจิตนั้น ย่อมเป็นสีลมัย. ในกาลใด บุคคลกระทำวิธีนั้นทั้งหมด
แล้วเริ่มพิจารณาว่า เสียงนี้มีประมาณเท่านี้ แม้มีประมาณเท่าพรหมโลกก็จักถึง
ความสิ้นไป จักถึงความเสื่อมไป ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตนั้น ย่อมเป็น
ภาวนามัย.
บรรดาบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น จะกล่าวกุศลจิตที่เป็นทานมัยก่อน
ในกาลใด บุคคลถือเอาเครื่องดนตรีมีกลองเป็นต้นกระทำการบูชา
พระไตรรัตน์ด้วยมือของตน แม้จะตั้งไว้เพื่อต้องการบูชาประจำก็วางไว้ด้วยมือ
ของตน ย่อมเดินโฆษณาการฟังธรรม ย่อมไปกล่าวธรรมกถา สวดสรภัญญะ
ด้วยคิดว่า เราจักให้เสียงของเราเป็นทานดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตนั้นก็เป็น
กายกรรม. ในกาลใด สั่งบุคคลอื่นว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย พ่อจงไป จงทำ
เสียงของพวกเราให้เป็นทานบูชาพระไตรรัตน์ ดังนี้ คิดว่า เราจักให้เสียง
ของเราเป็นทาน จึงสั่งบุคคลอื่นว่า พวกท่านจงวางกลองนี้ ตะโพนนี้ ที่ลาน
พระเจดีย์ ย่อมโฆษณาธรรมสวนะเองทีเดียว ย่อมกล่าวธรรมกถา ย่อมสวด

สรภัญญะ ในกาลนั้น กุศลจิตนั้น ย่อมเป็นวจีกรรม. ในกาลใด บุคคลไม่
ให้ส่วนแห่งกาย แห่งวาจาไหว สละวัตถุอันมีอยู่ด้วยใจว่า เราจักให้เสียง
เป็นทาน ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นมโนกรรม.
กุศลจิตแม้ที่เป็นภาวนามัย ในกาลใด บุคคลกำลังเดิน เริ่มตั้งความ
สิ้นไป เสื่อมไปในเสียง ในกาลนั้น กุศลจิตนั้นก็เป็น กายกรรม. ก็หรือว่า
เมื่อบุคคลไม่ยังส่วนแห่งกายให้ไหวพิจารณาอยู่ตามวาจา กุศลจิตที่เป็นภาวนา-
มัยก็เป็นวจีกรรม. เมื่อบุคคลไม่ให้กายและวาจาไหว พิจารณาอยู่ซึ่งสัททาย-
ตนะด้วยใจเท่านั้น กุศลจิตที่เป็นภาวนามัยนั้นก็เป็น มโนกรรม. พระธรรม-
ราชาทรงจำแนกแสดงแล้วซึ่งกุศลจิตแม้มีเสียงเป็นอารมณ์ ด้วยกรรมและทวาร
9 ด้วยสามารถแห่งบุญกิริวัตถุ 3 อย่าง ดังพรรณนามาฉะนี้.
กุศลจิตนี้กระทำกลิ่นอันน่าชอบใจแม้ในกลิ่นที่เกิดแต่รากไม้เป็นต้น
ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นโดยการกำหนด 3 อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วหนหลัง
นั่นแหละ ในกาลใด บุคคลได้กลิ่นหอมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในกลิ่นทั้งหลาย
มีกลิ่นที่เกิดแต่รากไม้เป็นต้นแล้วคำนึงถึงด้วยอำนาจแห่งกลิ่น คิดว่า เราจัก
ถวายกลิ่นของเราให้เป็นทาน ดังนี้ จึงบูชาพระพุทธรัตนะเป็นต้น ในกาลนั้น
กุศลจิตก็เป็นทานมัย. บัณฑิตพึงทราบคำทั้งหมดโดยพิสดาร โดยนัยที่กล่าว
ไว้ในการให้สีเป็นทานนั่นแหละ พระธรรมราชา ทรงจำแนกแสดงซึ่งกุศลจิต
แม้มีกลิ่นเป็นอารมณ์ ด้วยกรรมและทวาร 9 ด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุ
3 อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
ก็กุศลจิตที่ทำรสอันน่าชอบใจในรสทั้งหลายมีรสเกิดจากรากเป็นต้น
ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเกิดขึ้นด้วยการกำหนด 3 อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วใน
หนหลังนั่นแหละ ในกาลใด บุคคลได้รสที่น่ายินดีอย่างใดอย่างหนึ่งในรส

ทั้งหลายมีรสเกิดแต่รากเป็นต้นนั้น แล้วรำพึงด้วยสามารถแห่งรส ย่อมให้
ย่อมสละด้วยคิดว่า เราจักให้รสของเราเป็นทาน ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิต
เป็นทานมัย ดังนี้. พึงทราบข้อความทั้งปวง โดยพิสดารตามนัยที่กล่าวไว้
ในการให้สีเป็นทาน. ก็ในกุศลจิตที่มีสีลมัยนี้ มีเรื่องทั้งหลายมาในมหาอรรถ-
กถา ตั้งแต่เรื่องพระเจ้าทุฏฐคามนิอภัย ทรงพระดำริว่า ธรรมดาว่า การไม่
ถวายสังฆทานแล้วบริโภค เราไม่เคยประพฤติ ดังนี้ จึงให้ถวายทานแก่ภิกษุ
ประมาณ 1,200 รูป แล้วจึงเสวยพระกระยาหารมีรสดี. ข้อความที่แตกต่าง
กันมีเพียงเท่านี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ธรรมราชา ทรงจำแนกแสดงกุศลจิต
แม้มีรสเป็นอารมณ์ ด้วยกรรมและทวาร. โดยบุญกิริยาวัตถุ 3 นั่นแหละ.
แม้ในโผฏฐัพพารมณ์ มหาภูตรูป 3 คือ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ
วาโยธาตุ ชื่อว่า โผฏฐัพพารมณ์. ในฐานะนี้ บัณฑิตไม่ทำการประกอบ
ด้วยอำนาจแห่งธาตุทั้ง 3 เหล่านั้น พึงทำการประกอบด้วยสามารถแห่งเตียงและ
ตั่งเป็นต้น. จริงอยู่ ในกาลใด บุคคลได้วัตถุอันควรถูกต้องน่าปรารถนา
อย่างใดอย่างหนึ่ง ในวัตถุทั้งหลายมีเตียงและตั่งเป็นต้น แล้วคำนึงถึงด้วย
อำนาจแห่งการถูกต้อง ย่อมให้ ย่อมบริจาค ด้วยคิดว่า เราจักให้โผฏฐัพพะ
เป็นทานของเรา ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตก็ย่อมเป็นทานมัย ดังนี้. บัณฑิต
พึงทราบข้อความทั้งปวง โดยพิสดารตามนัยที่กล่าวไว้ในการให้สีเป็นทาน
นั่นแหละ พระธรรมราชา ทรงจำแนกแสดงกุศลจิตแม้มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์
ด้วยกรรมและทวาร 9 ด้วยบุญกิริยาวัตถุ 3 อย่างดังพรรณนานามาฉะนี้.
แต่ว่า ในธรรมารมณ์ ได้แก่ ธรรมทั้งหลายที่เป็นปริยาปันนะและ
อปริยปันนะในธรรมายตนะเหล่านี้ คือ อายตนภายใน 6 ลักษณะ 3 อรูปขันธ์ 3
สุขุมรูป 15 นิพพาน และบัญญัติ ชื่อว่า ธรรมารมณ์ แต่ในฐานะนี้ บัณฑิต

ไม่ทำการประกอบไว้ด้วยอำนาจแห่งธรรมเหล่านี้ พึงประกอบไว้ด้วยการให้
โอชะ การให้ปานะ และการให้ชีวิตเป็นทาน. จริงอยู่ กุศลจิตนี้ กระทำ
ธรรมารมณ์อันน่ายินดีในโอชะเป็นต้น ให้เป็นอารมณ์ เกิดขึ้นด้วยการกำหนด
3 อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ. ในธรรมารมณ์นั้น เมื่อใด
บุคคลย่อมถวายเนยใสเนยขึ้นเป็นต้น โดยคิดว่า เราถวายโอชะเป็นทาน ย่อม
ถวายน้ำปานะ 8 อย่าง โดยคิดว่า เราถวายน้ำปานะให้เป็นทาน ดังนี้ ย่อมถวาย
สลากภัต ปักขิยภัต สังฆภัตเป็นต้น โดยคิดว่า เราถวายชีวิตเป็นทาน ดังนี้
ย่อมถวายเภสัชแก่ภิกษุผู้ไม่ผาสุกทั้งหลาย ให้หมอมารักษา ให้เผาตาข่าย ให้
รื้อรอบ ให้ทำลายกรงนก ให้พ้นจากเรือนจำ ให้ตีกลองห้ามฆ่าสัตว์ กระทำ
เห็นปานนี้แม้อื่น ๆ เพื่อป้องกันชีวิต ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นทานมัย อนึ่ง
ในกาลใด บุคคลคิดว่า การให้โอชะเป็นทาน ให้น้ำปานะเป็นทาน ให้ชีวิต
เป็นทาน เป็นวงศ์ตระกูลวงศ์ของเรา เป็นแบบแผนของตระกูล เป็นประเพณี
ของตระกูล ดังนี้ จึงยังทานมีโอชะเป็นต้น ให้เป็นไปด้วยวัตรเป็นประธาน
ในกาลนั้น กุศลจิตย่อมเป็นสีลมัย. ในกาลใด เริ่มตั้งความสิ้นไปเสื่อมไปใน
ธรรมารมณ์ ในกาลนั้น กุศลจิตย่อมเป็นภาวนามัย. อนึ่ง กุศลจิตที่เป็น
ทานมัยแม้กำลังเป็นไป คือ ในกาลใด บุคคลย่อมถวายโอชะเป็นทาน น้ำปานะ
เป็นทาน ชีวิตเป็นทานด้วยมือของตน ในกาลนั้น ย่อมเป็นกายกรรม ในกาลใด
ใช้ให้บุตรและภรรยาเป็นต้นให้ถวายทาน ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นวจีกรรม
ในกาลใด ไม่ยังส่วนแห่งกายและวาจาให้เคลื่อนไหว ย่อมคิดด้วยใจว่า เราจัก
ถวายวัตถุที่มีอยู่ด้วยอำนาจแห่งการให้โอชะเป็นทาน ให้น้ำปานะเป็นทาน ให้
ชีวิตเป็นทาน ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นมโนกรรม.

อนึ่ง ในกาลใด บุคคลย่อมให้วัตถุอันมีอยู่มีประการตามที่กล่าวแล้ว
ด้วยมือของตน ด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้น ในกาลนั้น กุศลจิตที่เป็น
สีลมัย ย่อมเป็นกายกรรม. ในกาลใด ใช้ให้บุตรและภรรยาเป็นต้นให้ถวาย
ด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลนั่นแหละ ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นวจีกรรม. ใน
กาลใด ย่อมคิดด้วยใจว่า เราจักถวายวัตถุอันมีอยู่มีประการตามที่กล่าวแล้ว
ด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้นนั่นแหละ ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นมโนกรรม.
อนึ่ง บุคคลเดินไปแล้ว เริ่มตั้งความสิ้นไปเสื่อมไปในธรรมารมณ์
กุศลจิตที่เป็นภาวนามัย ย่อมเป็นกายกรรม. เมื่อบุคคลไม่ยังส่วนแห่งกายให้
ไหวแล้ว เริ่มตั้งความสิ้นไปเสื่อมไปด้วยวาจา กุศลจิต ย่อมเป็นวจีกรรม.
บุคคลไม่ยังส่วนแห่งกายและวาจาให้ไหว เริ่มตั้งซึ่งความสิ้นไปเสื่อมไปด้วยใจ
เท่านั้น กุศลจิตย่อมเป็นมโนกรรม. กุศลจิตที่เป็นภาวนามัย 3 อย่าง ย่อมมี
ด้วยอำนาจ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ด้วยประการฉะนี้. พระธรรม-
ราชาทรงจำแนกแสดงกุศลจิตที่เป็นธรรมารมณ์ ในที่นี้ด้วยกรรมและทวาร 9
ด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุ 3 อย่าง ดังพรรณนามาฉะนี้.
จิตนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วอย่างนี้ ด้วยอำนาจแห่งวัตถุ
ต่างกัน และอารมณ์ต่างกัน. แต่จิตนี้ บัณฑิตย่อมได้ในวัตถุเดียวกัน ด้วย
อำนาจแห่งอารมณ์ที่ต่างกัน. ถามว่า ได้อย่างไร ตอบว่า เพราะในปัจจัย
4 อย่าง เฉพาะในจีวร (เอกวัตถุ) บัณฑิตย่อมได้อารมณ์ 6 อย่าง. จริงอยู่
สีแห่งจีวรที่ย้อมใหม่ เป็นสีที่ชอบใจ น่าดู นี้ เรียกว่า มีสีเป็นอารมณ์. อนึ่ง
ในเวลาใช้สอยย่อมส่งเสียงดังปฏะปฏะ นี้เป็นสัททารมณ์. ในผ้านั้น มีกลิ่น
เปลือกไม้ไทรดำเป็นต้น นี้เป็นคันธารมณ์. อนึ่ง รสารมณ์ ท่านกล่าวไว้
ด้วยสามารถแห่งรสคือการใช้สอย. ในผ้านั้นมีสัมผัสเป็นสุข นี้เป็นโผฏฐัพพา-

รมณ์. สุขเวทนาเกิดขึ้นเพราะอาศัยจีวร นี้เป็นธรรมารมณ์. รสารมณ์ บัณฑิต
ย่อมได้ในบิณฑิตโดยนิปปริยาย (โดยตรง) ทีเดียว. บัณฑิตทำการประกอบ
จิตในปัจจัย ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ต่าง ๆ อย่างนี้แล้วพึงทราบความต่างกัน
แห่งจิตที่เป็นทานมัยเป็นต้น. อนึ่ง อารมณ์เป็นสภาวะผูกพันจิตนี้ เป็น
อารมณ์แล้ว จิตก็ไม่เกิดขึ้น ส่วนทวารไม่ผูกพันจิตไว้ ถามว่า เพราะเหตุไร
ตอบว่า เพราะกรรมเป็นสภาพไม่ผูกพัน. จริงอยู่ เมื่อกรรมไม่ผูกพันจิตไว้
แม้ทวาร ก็ชื่อว่าไม่ผูกพันเหมือนกัน.

กามาวจรกุศลและทวารกถา



ว่าด้วยกายกรรมและทวาร



ก็เพื่อประกาศเนื้อความนี้ ในมหาอรรถกถาท่านกล่าวทวารกถาไว้ใน
ฐานะนี้. ในทวารกถานั้น ชื่อการตั้งมาติกาในทวารกถานี้มีประมาณเท่านี้ คือ
กรรม 3
ทวารแห่งกรรม 3
วิญญาณ 5
ทวารวิญญาณ 5
ผัสสะ 6
ทวารผัสสะ 6
อสังวร 8
ทวารแห่งอสังวร 8