เมนู

อธิบายคำว่ากามาวจร



บทว่า กามาวจรํ ได้แก่ จิตที่นับเนื่องในกามาวจรธรรมทั้งหลาย
ที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ธรรมเป็นกามาวจร เป็นไฉน ? คือ เบื้องต่ำมี
อเวจีนรกเป็นที่สุด เบื้องบนมีสวรรคชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเป็นที่สุด.
ในกามาวจรนั้น มีวจนัตถะ (ความหมายของถ้อยคำ) ดังต่อไปนี้
ว่าโดยอุทาน กามมี 2 คือ วัตถุกาม และกิเลสกาม. บรรดากาม
ทั้ง 2 นั้น ว่าโดยอรรถ กิเลสกามได้แก่ฉันทราคะ วัตถุกามได้แก่วัฏฏะอันเป็น
ไปในภูมิ 3 อนึ่ง กิเลสกามชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า ย่อมใคร่ วัตถุกาม
ชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า วัตถุอันเขาใคร่. ก็กามทั้ง 2 อย่างนั้น ย่อม
ท่องเที่ยวไปในประเทศใดด้วยสามารถแห่งความเป็นไป ประเทศนั้นมี 11 คือ
อบายภูมิ 4 มนุษยภูมิ 1 เทวโลก 6 ชั้น. กามย่อมท่องเที่ยวไปในที่นี้
เพราะฉะนั้น ที่นี้จึงชื่อว่า กามาวจร ดุจการท่องเที่ยวไปกับพวกเกวียน.
เหมือนอย่างว่า พ่อค้าเกวียน ย่อมท่องเที่ยวไปในประเทศใด ประเทศนั้น
ท่านเรียกว่า บุรุษผู้เที่ยวไปกับพ่อค้าเกวียน ถึงจะมีสัตว์ 2 เท้า 4 เท้า
เหล่าอื่นท่องเที่ยวไปด้วย แม้มีอยู่ ท่านก็กำหนดเฉพาะชนผู้เที่ยวไปเหล่านั้น
ฉันใด ประเทศนี้ ท่านก็เรียกว่า กามาวจรเท่านั้น เพราะแม้เมื่อรูปาวจร
เป็นต้นเหล่าอื่นท่องเที่ยวไปในประเทศนั้น ท่านก็กำหนดเอาเฉพาะกามาวจร
เหล่านี้เท่านั้น ฉันนั้น. กามนี้ท่านเรียกว่า กามเท่านั้น เพราะลบบทหลัง
เสีย เหมือนรูปภพ ท่านเรียกว่า รูป ฉันใด จิตนี้ ย่อมท่องเที่ยวไปในกาม
กล่าวคือ 11 ประเทศนี้ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า กามาวจร.
จิตนี้ย่อมท่องเที่ยวไปแม้ในรูปภพและอรูปภพแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น
ช้างใหญ่มีชื่ออันได้แล้วว่า เข้าสู่สงคราม เพราะการหยั่งลงสู่สงคราม แม้จะ

เที่ยวไปในเมือง เขาก็เรียกว่า ช้างสงครามนั่นแหละ สัตว์จำนวนมากที่เที่ยว
ไปบนบกและในน้ำ แม้ยืนอยู่ในที่มิใช่บกและมิใช่น้ำ เขาก็เรียกว่า สัตว์เที่ยว
ไปบนบกและเที่ยวไปในน้ำ ฉันใด จิตนี้ แม้เที่ยวไปในที่อื่น ๆ ก็พึงทราบว่า
กามาวจร (ท่องเที่ยวไปในกาม) ฉันนั้นเหมือนกัน. อีกอย่างหนึ่ง กามย่อม
ท่องเที่ยวไปในจิตนี้ ด้วยสามารถทำให้เป็นอารมณ์ แม้เพราะเหตุนั้น จิตนี้
ก็เรียกว่า กามาวจร. กามนั้นย่อมท่องเที่ยวไปแม้ในรูปภพและอรูปภพแม้ก็จริง
ถึงอย่างนั้นก็พึงทราบอุปมานี้ เหมือนเขากล่าวว่า สัตว์ที่ชื่อว่า ลูกโค เพราะ
มันส่งเสียงร้อง ที่ชื่อว่า กระบือ เพราะมันนอนแผ่นดิน สัตว์มีจำนวน
เท่าใด ก็ตามจะส่งเสียงร้องหรือนอนบนแผ่นดินก็ตาม สัตว์ทั้งหมดเหล่านั้น
หามีชื่ออย่างนั้นไม่. ก็อีกอย่างหนึ่ง จิตใด ย่อมท่องเที่ยวไปสู่ปฏิสนธิในกาม
กล่าวคือกามภพ เพราะเหตุนั้น จิตนั้น จึงชื่อว่า กามาวจร.

อธิบายคำว่ากุศล



พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า กุศล ต่อไป ธรรมที่ชื่อว่า กุศล ด้วย
อรรถทั้งหลายมีการตัดบาปทั้งหลายเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า กุศล
ด้วยอรรถว่า ความไม่มีโรค ด้วยอรรถว่าไม่มีโทษ และด้วยอรรถว่าเกิดแต่
ความฉลาด.
บัณฑิตพึงทราบธรรมที่ชื่อว่า กุศล ด้วยอรรถว่าไม่มีโรค เพราะ
ความไม่มีความกระสับกระส่ายด้วยกิเลส ไม่มีความป่วยไข้คือกิเลส ไม่มีพยาธิ
คือกิเลสในอรูปธรรมเลย เหมือนคำที่ท่านกล่าวว่า ชื่อว่า กุศล ด้วยอรรถว่า
ไม่มีโรค เพราะไม่มีความกระสับกระส่ายในร่างกาย เพราะไม่มีความป่วยไข้
ในร่างกาย เพราะไม่มีพยาธิในร่างกาย ดุจในคำว่า ความไม่มีโรคมีแก่ท่าน
ผู้เจริญบ้างแลหรือ. ก็ธรรมที่ชื่อว่า กุศล ด้วยอรรถว่า ไม่มีโทษ เพราะความ