เมนู

แม้ในอรรถกถาที่มาทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่
กรรมฐานทั้งปวง จริยา อภิญญา และ
วิปัสสนาทั้งหมดเหล่านี้ ข้าพเจ้าประกาศ
ไว้ในวิสุทธิมรรคแล้ว ฉะนั้น จะไม่ถือเอา
กรรมฐานเป็นต้นตามแบบแม้ทั้งหมด จัก
ทำการพรรณนาความตามลำดับบททั้งหลาย
เท่านั้น เมื่อข้าพเจ้ากล่าวอยู่ซึ่งพระอภิธรรม-
กถานี้ด้วยประการฉะนี้ ขอสาธุชนทั้งหลาย
อย่ามีจิตฟุ้งซ่าน จงตั้งใจสดับฟัง เพราะว่า
กถานี้หาฟังได้โดยยากแล.

จบอารัมภกถา

นิทานกถา



บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อภิธรรม ถามว่า ชื่อว่า อภิธรรม
เพราะอรรถ (ความหมาย) อย่างไร ? ตอบว่า เพราะอรรถว่า เป็นธรรม
อันยิ่ง และวิเศษ
จริงอยู่ อภิศัพท์ ในคำว่าอภิธรรมนี้ แสดงถึงเนื้อความ
ว่ายิ่งและวิเศษ เช่นในประโยคมีอาทิว่า พาฬฺหา เม อาวุโส ทุกฺขา เวทนา
อภิกฺกมนฺติ โน ปฏิกฺกมนฺติ อภิกฺกนฺตวณฺเณน
แปลว่า ดูก่อนอาวุโส
ทุกขเวทนาแรงกล้าของข้าพเจ้าย่อมเจริญยิ่ง ไม่ลดลงเลย และเหมือนคำเป็นต้น
ว่า มีวรรณะงามยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า เปรียบเหมือนเมื่อฉัตรและ

ธงเป็นอันมากถูกยกขึ้นแล้ว ฉัตรใดมีประมาณยิ่ง มีวรรณะและสัณฐานอัน
พิเศษกว่าฉัตรอื่น ฉัตรนั้นชื่อว่า อติฉัตร (ฉัตรอันยิ่ง) ธงใดมีประมาณยิ่ง
สมบูรณ์ด้วยความวิเศษแห่งสีที่ย้อมแล้วต่าง ๆ นั่นแหละ ธงนั่นเรียกว่า อติธโช
(ธงอันยิ่ง) และเปรียบเหมือนเมื่อพวกราชกุมารและพวกเทพร่วมประชุมกัน
แล้ว ราชกุมารใดยิ่งกว่าโดยสมบัติ มีชาติ โภคะ ยศ และความเป็นใหญ่
เป็นต้น และมีฉวีวรรณวิเศษกว่า พระราชกุมารนั้นเรียกว่า อติราชกุมาร
(ราชกุมารผู้ยิ่ง) เทพใดยิ่งกว่าด้วยอายุ วรรณะ อิสริยะ ยศ และสมบัติเป็นต้น
และมีฉวีวรรณวิเศษกว่า เทพนั้นเรียกว่า อติเทพ แม้พระพรหมที่มีลักษณะ
เช่นนั้น เขาก็เรียกว่า อติพรหม (พรหมผู้ยิ่งใหญ่) ฉันใด ธรรมแม้นี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรียกว่า อภิธรรม เพราะอรรถว่าเป็นธรรมอันยิ่งและ
วิเศษ.

จริงอยู่ เพ่งถึงพระสูตรแล้ว พระพุทธองค์ทรงจำแนกขันธ์ 5 ไว้
โดยเอกเทศ (บางส่วน) เท่านั้น มิได้ทรงจำแนกโดยสิ้นเชิง (นิปปเทส)
แต่เพ่งถึงพระอภิธรรมแล้ว พระองค์ทรงจำแนกไว้โดยสิ้นเชิงด้วยอำนาจแห่ง
สุตตันตภาชนียนัย อภิธรรมภาชนียนัย และปัญหาปุจฉกนัย ถึงอายตนะ 12
ธาตุ 18 สัจจะ 4 อินทรีย์ 22 และปัจจยาการอันแสดงถึงองค์ 12 ก็ตรัส
ไว้โดยสิ้นเชิงเหมือนกัน ที่จริงนัยที่เป็นสุตตันตภาชนีย์ในอินทรีย์วิภังค์ และ
ปัญหาปุจฉกนัยในปัจจยาการเท่านั้นไม่มี จริงอย่างนั้น เพ่งถึงพระสูตรแล้ว
สติปัฎฐาน 4 พระองค์ทรงจำแนกไว้โดยเอกเทศเหมือนกัน มิได้จำแนกไว้
โดยสิ้นเชิง แต่เพ่งถึงพระอภิธรรมแล้ว ทรงจำแนกไว้โดยสิ้นเชิงด้วยอำนาจ
แห่งนัยแม้ทั้งสาม แม้สัมมัปปธาน อิทธิบาท 4 สัมโพชฌงค์ 7 อริยมรรค
มีองค์ 8 ฌาน 4 อัปปมัญญา 4 สิกขาบท 5 ปฏิสัมภิทา 4 ก็ทรงจำแนก

ไว้โดยสิ้นเชิงด้วยอำนาจแห่งนัยแม้ทั้งสามเหมือนกัน ก็ในธรรมเหล่านี้ นัยที่
เป็นสุตตันตภาชนีย์ในสิกขาบทวิภังค์อย่างเดียวไม่มี ถ้าเพ่งถึงพระสูตรแล้ว
ญาณ พระองค์ก็ทรงจำแนกไว้โดยเอกเทศเหมือนกัน ไม่จำแนกโดยสิ้นเชิง
กิเลสทั้งหลายก็เหมือนกัน แต่เพ่งถึงพระอภิธรรมแล้ว ทรงตั้งมาติกาโดยนัย
มีอาทิว่า ญาณวัตถุมีหมวด 1 เป็นต้น แล้วจำแนกไว้โดยสิ้นเชิง กิเลสทั้งหลาย
ก็เหมือนกัน ทรงจำแนกไว้โดยนัยมิใช่น้อย ตั้งแต่เป็นธรรมหมวด 1 เป็นต้น
ก็แต่เพ่งถึงพระสูตร การกำหนดภูมิอื่น ก็ทรงจำแนกไว้โดยเอกเทศนั่นแหละ
ไม่จำแนกไว้โดยสิ้นเชิง เพ่งถึงพระอภิธรรมแล้ว ทรงกำหนดภูมิอื่นไว้ด้วย
นัยทั้งสาม และทรงบัญญัติไว้โดยสิ้นเชิง ชื่อว่า อภิธรรม เพราะอรรถว่า
เป็นธรรมยิ่งและวิเศษด้วยประการฉะนี้.

ว่าโดยปกรณ์ 7



ว่าโดยการกำหนดปกรณ์ พระอภิธรรมนี้ทรงตั้งไว้ด้วยอำนาจปกรณ์
7 คือ
1. ธรรมสังคณีปกรณ์
2. วิภังคปกรณ์
3. ธาตุกถาปกรณ์
4. ปุคคลบัญญัติปกรณ์
5. กถาวัตถุปกรณ์
6. ยมกปกรณ์
7. ปัฏฐานปกรณ์