เมนู

อัพภันตรนิทาน



พรรณนารัตนจังกมนกัณฑ์


ก็บัดนี้ จะพรรณนาความแห่งอัพภันตรนิทาน ที่เป็นไปโดยนัยเป็น
ต้นว่า
ท้าวสหัมบดีพรหม เจ้าโลก ประคองอัญชลีทูล
ขอพรอันยอดเยี่ยมว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสดุจธุลีใน
ดวงตาน้อย มีอยู่ในโลกนี้ ขอพระองค์ทรงเอ็นดูหมู่-
สัตว์นี้แสดงธรรมโปรดเถิด.

ในข้อนี้ ผู้ทักท้วงกล่าวว่า เหตุไรท่านไม่กล่าวนิทานโดยนัยเป็นต้นว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้น
สักกะ. ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงพุทธวงศ์ดังนี้ แต่กล่าวนิทานโดยนัยเป็นต้นว่า ท้าว-
สหัมบดีพรหม เจ้าโลก ประคองอัญชลีทูลขอพรอันยอดเยี่ยม ดังนี้. ขอชี้แจง
ดังนี้ว่า ท่านกล่าวดังนั้น ก็เพื่อชี้ถึงการทูลขอให้ทรงแสดงธรรมของพรหม
อันเป็นเหตุแห่งการแสดงธรรมทั้งปวงของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอชี้แจงปัญหา
นี้ที่ว่า
พระชินพุทธเจ้านี้ถูกพรหมอาราธนา เพื่อทรง
แสดงธรรมเมื่อไร ก็คาถานี้ ใครยกขึ้นกล่าว กล่าว
เมื่อไร และที่ไหน.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า เข้าสัปดาห์ที่ 8 พระศาสดา
ก็ถูกพรหมทูลอาราธนาอ้อนวอน เพื่อทรงแสดงธรรม.
ในเรื่องนั้น กล่าวความตามลำดับ ดังนี้.
ได้ยินว่า ในวันเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ พระมหาบุรุษทรงเห็น
นางรำ นักสนมนอนผ้าผ่อนเปิดน่าเกลียด ทรงสังเวชพระหฤทัยยิ่งนัก เรียก
นายฉันทะ ผู้ปิดกายด้วยผ้าส่วนหนึ่งตรัสว่า เจ้าจงนำม้าฝีเท้าดี ชื่อ กัณฐกะ
ที่ข่มข้าศึกตัวยงได้ ให้นำม้ากัณฐกะมาแล้ว ทรงมีนายฉันนะเป็นสหาย เสด็จ
ขึ้นทรงม้า เมื่อเทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ ประตูพระนคร เปิดประตูพระนครแล้ว
ก็ออกจากพระนครไป ผ่าน 3 ราชอาณาจักร โดยส่วนที่เหลือจากสมบัติที่
พระราชาพระองค์นั้นทรงยินดีแล้ว ทรงเป็นสัตว์ที่ไม่ต่ำทราม ประทับยืน
ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ตรัสกะนายฉันนะเท่านั้นว่า ฉันนะ เจ้าจงพาเครื่อง
อาภรณ์ที่ไม่ทั่วไปกับคนอื่น ๆ เหล่านี้ และกัณฐกะม้าฝีเท้าดีของเรากลับไป
กรุงกบิลพัสดุ์นะ ทรงปล่อยนายฉันนะแล้ว ก็ทรงตัดมกุฏผ้าโพกพร้อมกับ
พระเกศา ด้วยดาบคือพระขรรค์อันคมกริบ เสมือนกลีบบัวขาบ แล้วเหวี่ยง
ไปในอากาศ ทรงถือบาตรจีวรที่เทวดาถวาย ทรงผนวชด้วยพระองค์เองเสด็จ
จาริกไปโดยลำดับ ทรงข้ามแม่น้ำคงคา ที่มีคลื่นหักโหมปั่นป่วนเพราะแรงลม
ได้ไม่ติดขัด เสด็จเข้าสู่พระนครชื่อว่าราชคฤห์ ที่มีราชนิเวศน์โชติช่วงด้วย
ข่ายรัศมีแห่งหมู่แก้วมณี ทรงไม่ติดขัดด้วยการเสด็จดำเนิน มีพระอินทรีย์
สงบ มีพระมนัสสงบ ทรงแลดูชั่วแอก ประหนึ่งทรงปลอบชนผู้มัวเมาเพราะ
ความเมาในความเป็นใหญ่ แห่งกรุงราชคฤห์นั้น ประหนึ่งทรงทำให้เกิดความ
ละอาย แก่ชนผู้มีเพศอันฟุ้งเฟ้อแล้ว ประหนึ่งทรงผูกหัวใจของชนชาวกรุงไว้
ในพระองค์ ด้วยความรักในวัย ประหนึ่งทรงแย่งดวงตาของชนทุกคนด้วย
พระสิริรูป ที่ส่องประกายด้วยพระมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ ประหนึ่ง

กองบุญ และประหนึ่งบรรพตที่เดินได้ด้วยพระบาทที่มีรูปงาม เสด็จเที่ยว
บิณฑบาตไปยังกรุงราชคฤห์ ทรงรับอาหารเพียงยังอัตภาพให้พอเป็นไปได้
เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ ประทับนั่ง ณ โอกาสสงัดน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง เป็น
ภูมิภาคสะอาด พรั่งพร้อมด้วยร่มเงาและน้ำ ข้างปัณฑวบรรพต เสวยอาหาร
ที่คลุกกัน อันพระเจ้าพิมพิสารมหาราช แห่งอาณาจักรมคธ เสด็จไปหาพระ-
มหาบุรุษ ตรัสถามพระนามและพระโคตรแล้ว มีพระราชหฤทัยบันเทิงกับ
พระองค์ ทรงเชื้อเชิญด้วยราชสมบัติว่า ขอทรงโปรดรับราชสมบัติส่วนหนึ่ง
ของหม่อมฉันเถิด. ด้วยพระสุรเสียงไพเราะดังบัณเฑาะว์ตรัสตอบว่า อย่าเลย
พระมหาราชเจ้า หม่อมฉันไม่ประสงค์ด้วยราชสมบัติดอก หม่อมฉันละราช-
สมบัติมาประกอบความเพียร เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก แล้วจักเป็นพระ-
พุทธเจ้า ผู้มีกิเลสดุจหลังคาอันเปิดแล้วในโลก ดังนี้แล้วเสด็จออกไป อัน
พระเจ้าพิมพิสารพระองค์นั้นตรัสวอนว่า พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
โปรดเสด็จมายังแคว้นของหม่อมฉันก่อนแคว้นอื่นทั้งหมด ทรงถวายปฏิญญา
คำรับรองแด่พระเจ้าพิมพิสารนั้นว่า สาธุ แล้วเสด็จเข้าไปหาอาฬารดาบสและ
อุทกดาบส ไม่ทรงพบสาระแห่งธรรมเทศนาของดาบสทั้งสองท่านนั้น ก็ทรง
หลีกออกจากที่นั้น แม้ทรงทำทุกกรกิริยาถึง 6 ปี ณ ตำบลอุรุเวลา ก็ไม่อาจ
บรรลุอมตธรรมได้ ทรงทำพระสรีระให้อิ่มหนำสำราญด้วยการเสวยพระกระยา-
หารอย่างหยาบ.
ครั้งนั้น หญิงรุ่นชื่อ สุชาดา ธิดาของกุฎุมพีเสนานิคม ในตำบล
อุรุเวลา เสนานิคม โตเป็นสาวแล้วทำความปรารถนา ณ ต้นไทรต้นหนึ่งว่า
ถ้าดิฉันไปเรือนสกุลที่มีชาติสมกัน [มีสามี] ได้ลูกชายในท้องแรกก็จักทำ
พลีกรรมสังเวย. ความปรารถนาของนางสำเร็จแล้ว ในวันเพ็ญเดือน 6 นาง

ดำริว่า วันนี้จักทำพลีกรรม พอเช้าตรู่จึงให้จัดข้าวปายาสที่ไม่แข้นแข็ง มี
รสอร่อยอย่างยิ่ง. ในวันนั้นนั่นเอง แม้พระโพธิสัตว์ทรงทำสรีรกิจแล้ว คอย
เวลาภิกษาจาร เช้าตรู่ก็เสด็จไปประทับนั่ง ณ โคนต้นไทรนั้น. ครั้งนั้น ทาสี
ชื่อ ปุณณา แม่นมของนางสุชาดาเดินไปหมายจะทำความสะอาดที่โคนต้นไทร
ก็พบพระโพธิสัตว์ประทับนั่งสำรวจโสกธาตุด้านทิศตะวันออกอยู่ ผู้มีพระสรีระ
งาม เสมือนยอดภูเขาทองซึ่งเรื่องรองด้วยแสงสนธยา ผู้เป็นดวงอาทิตย์แห่ง
มุนี ผู้เข้าไปสู่ต้นไม้อันประเสริฐ เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ผู้ทำการฝังตัวลง
ในกลุ่มมืด [กำจัดมืด] ผู้ทำความแย้มผลิแห่งดงบัว ผู้สอดเข้าสู่หลืบเมฆ.
เพราะเห็นต้นไม้นั้นมีสีเหมือนสีทองหมดทั้งต้น โดยรัศมีที่แล่นออกจากพระ-
สรีระของพระโพธิสัตว์นั้น นางปุณณาทาสีจึงคิดว่า วันนี้เทวดาของเราลงจาก
ต้นไม้ คงอยากจะรับเครื่องพลีกรรมด้วยมือตนเอง จึงมานั่งคอย. นางจึงรีบ
ไปบอกความเรื่องนั้นแก่นางสุชาดา.
จากนั้น นางสุชาดาเกิดศรัทธาขึ้นมาเอง ก็แต่งตัวด้วยเครื่องประดับ
ทุกอย่าง บรรจุถาดทองมีค่านับแสนเต็มด้วยข้าวมธุปายาสมีรสอร่อยอย่างยิ่ง
ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง เทินศีรษะ เดินมุ่งหน้าตรงต้นไทร. นางกำลัง
เดินไป เห็นพระโพธิสัตว์นั้นแต่ไกล ประทับนั่งงดงามเหมือนกองบุญ ทำ
ต้นไม้นั้นทั้งต้น มีสีเหมือนสีทองด้วยรัศมีแห่งพระสรีระ ประหนึ่งรุกขเทวดา
ก็เกิดปีติปราโมทย์ เดินน้อมตัวลงตั้งแต่ที่เห็นด้วยเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา
ปลงถาดทองนั้นลงจากศีรษะ ประคองวางไว้ในพระหัตถ์ของพระมหาสัตว์ แล้ว
ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์กล่าวว่า มโนรถ ความปรารถนาของดิฉันสำเร็จ
แล้ว ฉันใด มโนรถแม้ของพระองค์ก็จงสำเร็จฉันนั้นเถิด แล้วก็กลับไป.
ครั้งนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงถือถาดทอง เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำ
เนรัญชรา ทรงวางถาดทองไว้ที่ริมฝั่งใกล้ท่าน้ำชื่อสุปปติฏฐิตะ สรงสนานแล้ว

เสด็จขึ้น ทรงทำเป็นก้อนได้ 49 ก้อน เสวยข้าวปายาสนั้นแล้วทรงลอยถาด
ทองนั้นลงไป พร้อมทรงอธิษฐานว่า ถ้าวันนี้เราจักเป็นพระพุทธเจ้าไซร้ ขอ
ถาดทองนี้ จงลอยทวนน้ำ ถาดนั้นก็ลอยทวนน้ำ เข้าไปยังภพของพระยานาค
ชื่อว่า กาฬนาคราช ยกถาดของพระพุทธเจ้าสามพระองค์ขึ้นแล้วตั้งอยู่ข้าง
ใต้ถาดเหล่านั้น.
พระมหาสัตว์ประทับพักกลางวัน ณ ราวป่านั้นนั่นแล เวลาเย็น ทรง
รับหญ้า 8 กำ ที่คนหาบหญ้าชื่อ โสตถิยะ ทราบอาการของพระมหาบุรุษ
ถวายแล้ว เสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถาน ประทับยืน ณ ทิศทักษิณ. ประเทศนั้น
ก็ไหวเหมือนหยาดน้ำบนใบบัว. พระมหาบุรุษทรงทราบว่า ประเทศตรงนี้
ไม่อาจทรงคุณของเราได้ ก็เสด็จไปทิศปัศจิม. แม้ประเทศตรงนั้นก็ไหวเหมือน
กัน จึงเสด็จไปทิศอุดรอีก แม้ประเทศตรงนั้นก็ไหวเหมือนกัน จึงเสด็จไป
ทิศบูรพาอีก ในทิศนั้น สถานที่ขนาดบัลลังก์ มิได้ไหวเลย พระมหาบุรุษ
ทรงสันนิษฐานว่า ที่นี้เป็นสถานที่กำจัดกิเลสแน่จึงทรงจับปลายหญ้าเหล่านั้น
สะบัด. หญ้าเหล่านั้น ได้เรียงเรียบเหมือนถูกกำหนดด้วยปลายแปรงทาสี
พระโพธิสัตว์ก็ทรงอธิษฐานความเพียรมีองค์ 4 ว่า เราไม่บรรลุโพธิญาณแล้ว
จักไม่ทำลายบัลลังก์ แล้วทรงคู้บัลลังก์นั่งขัดสมาธิ ประทับนั่งให้ต้นโพธิ์อยู่
เบื้องพระปฤษฏางค์ หันพระพักตร์ออกสู่ทิศบูรพา.
ทันใดนั้นเอง มารผู้รังควานโลกทั้งปวง ก็เนรมิตแขนพันแขนขึ้น
ขี่พระยาช้าง ผู้กำจัดศัตรูตัวยง ชื่อ คิริเมขละ ขนาด 150 โยชน์ เสมือน
ยอดเขาหิมวันตคิรี ถูกห้อมล้อมด้วยพลมารหนาแน่นยิ่งนัก มีพลธนู พลดาบ
พลขวาน พลศร พลหอกเป็นกำลัง ครอบทะมึนโดยรอบดุจภูเขา ยาตร-
เบื้องเข้าหาพระมหาสัตว์ผู้เป็นประดุจศัตรูใหญ่ พระมหาบุรุษ เมื่อดวงอาทิตย์

ตั้งอยู่นั่นแล ก็ทรงกำจัดพลมารจำนวนมากมายได้ ถูกบูชาด้วยอดอ่อนโพธิที่
งดงามน่าดูเสมือนหน่อแก้วประพาฬสีแดง ซึ่งร่วงตกลงบนจีวรที่มีสีเสมือนดอก
ชะบาแย้ม ประหนึ่งแทนปีติทีเดียว ปฐมยาม ก็ทรงได้บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
มัชฌิมยาม ก็ทรงชำระทิพยจักษุญาณ ปัจฉิมยาม ก็ทรงหยั่งพระญาณลง
ในปฏิจจสมุปบาท ทรงพิจารณาวัฏฏะและวิวัฏฏะ พออรุณอุทัยก็ทรงเป็นพระ-
พุทธเจ้า ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ว่า
เราแสวงหาช่างผู้สร้างเรือนคืออัตภาพ เมื่อไม่
พบ ก็ท่องเที่ยวไปสิ้นสงสารนับด้วยชาติมิใช่น้อย
ความเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์. ดูก่อนช่างผู้สร้างเรือนคือ
อัตภาพ เราพบท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือนคืออัตภาพ
อีกไม่ได้ โครงเรือนของท่านเราหักเสียหมดแล้ว ยอด
เรือนคืออวิชชา เราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึง
พระนิพพานแล้ว เพราะเราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้น
ตัณหาทั้งหลายแล้ว.

ทรงยับยั้งอยู่ด้วยการเสวยวิมุตติสุข 7 วัน วันที่ 8 ทรงออกจากสมา-
บัติ ทรงทราบความสงสัยของเทวดาทั้งหลายทรงเหาะไปในอากาศ เพื่อกำจัด
ความสงสัยของเทวดาเหล่านั้น ครั้นทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์กำจัดความสงสัย
ของเทวดาเหล่านั้นแล้ว ประทับยืน ณ เบื้องทิศอุดร เยื้องทิศบูรพาจากบัลลังก์
ไปนิดหน่อย ทรงจ้องดูบัลลังก์และต้นโพธิ สถานที่บรรลุผลแห่งพระบารมี
ทั้งหลายที่ทรงบำเพ็ญมาถึงสี่อสงไขยแสนกัป ด้วยดวงพระเนตรที่ไม่กระพริบว่า
เราแทงตลอดสัพพัญญุตญาณ เหนือบัลลังก์นี้ ทรงยับยั้งอยู่ 7 วัน สถานที่นั้น
จึงชื่อว่า อนิมิสเจดีย์.

ต่อจากนั้น เสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรม ต่อจากทิศบูรพาและทิศปัศจิม
ระหว่างบัลลังก์และสถานที่ประทับยืน ทรงยับยั้งอยู่ 7 วัน สถานที่นั้นจึงชื่อ
ว่ารัตนจังกมเจดีย์.
เทวดาทั้งหลาย ช่วยกันเนรมิตเรือนแก้วถวายในส่วนทิศปัศจิม ต่อ
จากนั้น ก็ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ ที่นั้นทรงพิจารณาเฟ้นพระอภิธรรม โดย
เฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์สมันตปัฏฐาน ที่มีนัยไม่มีที่สุด ณ ที่นั้น ทรงยับยั้งอยู่
7 วัน สถานที่นั้น จึงชื่อว่า รัตนฆรเจดีย์.
พระพุทธเจ้าทรงยับยั้งอยู่ ใกล้ ๆ ต้นโพธิ 4 สัปดาห์อย่างนี้แล้ว ใน
สัปดาห์ที่ 5 จึงออกจากโคนต้นโพธิ์ เสด็จเข้าไปยังต้นอชปาลนิโครธ. แม้ใน
ที้นั้นก็ทรงพิจารณาเฟ้นธรรม และเสวยวิมุตติสุข ทรงยับยั้งอยู่ ณ อชปาล-
นิโครธ 7 วัน.

ประทับนั่ง ณ มุจลินท์ ต้นจิกด้วยอาการอย่างนี้อีก 7 วัน พระผู้มี
พระภาคเจ้า พอประทับนั่งในที่นั้นเท่านั้น มหาเมฆซึ่งมิใช่ฤดูกาลก็เกิดขึ้นเต็ม
ทั่วห้องจักรวาล เมื่อมหาเมฆเกิดขึ้นแล้ว พระยานาคชื่อมุจลินท์ก็คิดว่า เมื่อพระ
ศาสดาพอเสด็จเข้าสู่ภพของเรา มหาเมฆนี่ก็เกิดขึ้น ควรได้อาคารที่ประทับอยู่
สำหรับพระศาสดานั้น พระยานาคนั้นแม้จะสามารถเนรมิตวิมานทิพย์ได้เหมือน
วิมานเทพ อันสำเร็จด้วยรัตนะ 7 ประการ ก็คิดว่า เมื่อเราสร้างวิมานอย่างนี้
จักไม่มีผลมากแก่เรา จำเราจักขวนขวายด้วยกายตนเองเพื่อพระทศพล จึงทำ
อัตภาพให้ใหญ่ยิ่งล้อมพระศาสดาไว้ด้วยขนด 7 ชั้น แผ่พังพานไว้ข้างบน.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ บัลลังก์มีด่ายิ่ง ที่สำเร็จด้วยรัตนะ
7 ประการ เพดานมีพวงดอกไม้หอมต่างชนิดห้อยอยู่เบื้องบน อบด้วยกลิ่น
หอมต่างชนิด ในโอกาสใหญ่ภายในขนดล้อม เหมือนประทับอยู่ในพระคันธ-

กุฎี. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ที่ต้นมุจลินท์นั้นตลอด 7 วันนั้นอย่างนี้
ต่อจากนั้น ก็ประทับนั่ง ณ ราชายตนะต้นเกดอีก 7 วัน เสวยวิมุตติสุขอยู่
ในที่นั้นนั่นแล ด้วยอาการดังกล่าวมานี้ ก็ครบ 7 สัปดาห์บริบูรณ์ ในระหว่างนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงยับยั้งอยู่ด้วยสุขในฌานและสุขในผล.
ครั้นล่วงไป 7 สัปดาห์ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ก็เกิดจิตคิดจะบ้วน
พระโอษฐ์ ท้าวสักกะจอมทวยเทพก็นำผลสมอที่เป็นยาถวาย ครั้งนั้น ท้าว
สักกะได้ถวายไม้สีฟันชื่อนาคลดา และน้ำบ้วนพระโอษฐ์แด่พระองค์ ต่อแต่นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเคี้ยวไม้สีฟัน ทรงบ้วนพระโอษฐ์ด้วยน้ำในสระอโนดาต
ประทับนั่ง ณ โคนต้นราชายตนะ สมัยนั้น เมื่อท้าวจตุโลกบาล น้อมบาตร
ศิลามีค่ายิ่งเข้าไปถวาย ทรงรับข้าวสัตตูผงและสัตตูก้อนของพาณิชชื่อตปุสสะ
และ ภัลลิกะ [ด้วยบาตรนั้น] เสวยเสร็จแล้วเสด็จกลับมาประทับนั่ง ณ โคน
ต้นอชปาลนิโครธ. ลำดับนั้น พระองค์พอประทับนั่ง ณ ทีนั้นเท่านั้น ทรง
พิจารณาทบทวนถึงภาวะแห่งธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุเป็นธรรมลุ่มลึก ก็ทรง
เกิดปริวิตกที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงประพฤติมา ถึงอาการคือความที่มี
พระพุทธประสงค์จะไม่ทรงแสดงธรรมโปรดผู้อื่นว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้
ลึกซึ้ง เห็นยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ตรึกคาดคิดเอาไม่ได้ ละเอียด
บัณฑิตพึงรู้.
ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมล่วงรู้ถึงจิตปริวิตกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยใจตนแล้ว ก็เปล่งวาจาว่า น่าที่โลกจะพินาศละสิหนอ น่าที่โลกจะพินาศ
ละสิหนอ อันหมู่พรหมในหมื่นจักรวาลแวดล้อมแล้ว อันท้าวสักกะ ท้าว
สุยามะ ท้าวสันดุสิต ท้าวนิมมิต ท้าวปรนิมมิตวสวัตดีติดตามเสด็จมา ปรากฏ
อยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท้าวสหัมบดีพรหมนั้น ทรงเนรมิต

ผืนแผ่นดิน เพื่อเป็นที่ประทับยืนของพระองค์เอง จึงทรงคุกชาณุมณฑล [เข่า]
เบื้องขวาลงที่แผ่นดิน ทรงทำอัญชลี ประนมกรที่รุ่งเรืองด้วยทศนขสโมธาน
เสมือนบัวตูมเกิดในน้ำไร้มลทินไม่วิกลขึ้นเหนือเศียร ทูลวอนพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงธรรม ด้วยนัยมิใช่น้อยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรม ขอพระสุคตเจ้าจงทรงแสดง
ธรรมโปรดเถิด หมู่สัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย ยังมีอยู่ เพราะไม่ได้
สดับธรรม ก็ย่อมเสื่อมเสียประโยชน์ไปเปล่า หมู่สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม คงจักมี
แน่แท้ ดังนี้
แต่ก่อนในแคว้นมคธ ปรากฏมีแต่ธรรมที่ไม่
บริสุทธิ์ อันมีผู้มีมลทินคิดแล้ว ประตูแห่งอมตนคร
ก็ยังมิได้เปิด ขอหมู่สัตว์จงสดับธรรมที่พระผู้ไร้มลทิน
ตรัสรู้แล้วเถิด ชนผู้ยืนอยู่เหนือยอดภูผาหิน จะพึง
เห็นหมู่ชนได้โดยรอบแม้ฉันใด ข้าแต่พระผู้มีปัญญา
ดี มีพระสมันตจักษุ พระองค์ปราศจากโศกแล้วจง
เสด็จขึ้นสู่ปราสาท ที่สำเร็จด้วยธรรม โปรดพิจารณาดู
หมู่ชน ผู้ระงมด้วยโศก ถูกชาติชราครอบงำแล้ว ก็
อุปมาฉันนั้น ข้าแต่พระผู้แกล้วกล้า ผู้ชนะสงคราม
แล้ว ผู้ประดุจนายกองเกวียน ไม่เป็นหนี้ โปรดลุก
ขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจง
ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์เถิด หมู่สัตว์ที่รู้ทั่วถึงธรรม
คงจักมีเป็นแน่ ดังนี้.

พระองค์ตรัสรู้ธรรมที่ควรตรัสรู้แล้ว ทรงข้ามโอฆะที่พระองค์ควร
ข้ามแล้ว ทรงหลุดพ้นทุกข์ที่พระองค์ควรหลุดพ้นแล้ว มิใช่หรือ ดังนี้.
ทรงทำความปรารถนาไว้ว่า
ประโยชน์อะไรของเรา ด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จัก
ด้วยการทำให้แจ้งธรรม ในโลกนี้ เราบรรลุสัพพัญพุต-
ญาณแล้ว จักยังโลกนี้กับทั้งเทวโลกให้ข้ามโอฆสงสาร
ดังนี้.

ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายแล้วทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว.
และว่า เมื่อพระองค์ไม่ทรงแสดงธรรม คนอื่นใครเล่า จักแสดงธรรม,
สิ่งอื่นอะไรเล่า จะเป็นสรณะของโลก จะเป็นเครื่องช่วย เครื่องเร้น
เครื่องนำไปเบื้องหน้า. ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นพระพุทธเจ้าเข้าสัปดาห์ที่ 8 พระศาสดาก็ถูกพรหมทูลอ้อนวอน เพื่อทรง
แสดงธรรม.
บัดนี้ ถึงโอกาสตอบปัญหาเหล่านี้ที่ว่า คาถานี้ใครยกขึ้นกล่าวเมื่อไร
และที่ไหน ในปัญหานั้นถามว่า คาถานี้ท่านกล่าวเมื่อไร ตอบว่า กล่าวครั้ง
ทำสังคายนาใหญ่ครั้งแรก การสังคายนาใหญ่ครั้งแรกนี้ พึงทราบตามนัยที่
กล่าวไว้แล้วในสังคีติขันธกะ. ถามว่า ใครกล่าวที่ไหน. ตอบว่า ได้ยินว่า เมื่อ
พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว คาถานี้ว่า พฺรหฺมา จ โลกาธิปติ เป็นต้น
พึงทราบว่า ท่านพระอานนท์เถระ ผู้นั่งอยู่ ณ ธรรมาสน์ในมณฑปสารมัณฑะ
สถานที่ควรเห็นคล้ายดวงจันทร์เต็มดวง ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ชนะ
ศัตรูทุกคน มหาราชแห่งแคว้นมคธ ทรงให้สร้างไว้ใกล้ประตูสัตตบรรณคูหา
ข้างภูเขาเวภาระ พระนครราชคฤห์ เพื่อสังคายนาธรรม กล่าวไว้แล้ว ความ
สัมพันธ์แห่งคาถา ในเรื่องนี้ มีดังนี้

แม้คาถานี้ว่า
พระชินพุทธเจ้านี้ อันพรหมอาราธนาเพื่อทรง
แสดงธรรมเมื่อไร ก็คาถานี้ใครยกขึ้นกล่าว กล่าวเมื่อ
ไร กล่าวที่ไหน

มีเนื้อความที่กล่าวไว้แล้ว แต่ข้าพเจ้าจักทำการพรรณนาบทที่ยาก
แห่งคาถานี้ที่กล่าวแล้ว โดยความสัมพันธ์นี้ ดังต่อไปนี้
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺรหฺมา ความว่า ชื่อว่าพรหม เพราะ
เป็นผู้เจริญแล้วด้วยคุณวิเศษนั้น ๆ ก็

พรหม

ศัพท์นี้ ปรากฏอยู่ในอรรถทั้งหลาย
มีมหาพรหม พราหมณ์ พระตถาคต มารดาบิดา และผู้ประเสริฐสุดเป็นต้น.
จริงอย่างนั้น พรหมศัพท์ ท่านหมายว่ามหาพรหม ในประโยคเป็นต้นว่า
ทฺวิสหสฺโส พฺรหฺมา มหาพรหมสองพัน. ท่านหมายว่าพราหมณ์ในคาถานี้ว่า
ตโมนุโท พุทฺโธ สมนฺตจกฺขุ
โลกนฺตคู สพฺพภวาติวตฺโต
อนาสโว สพฺพทุกฺขปฺปหีโน
สจฺจวฺหโย พฺรหฺเม อุปาสิโต เม.

ดูก่อนพราหมณ์ พระพุทธเจ้า ผู้บรรเทาความ
มืด ผู้มีพระจักษุโดยรอบ ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วง
ภพทั้งปวง ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ได้หมด เรียก
กันว่า พระสัจจะ เราก็เข้าเฝ้าใกล้ชิด.
ท่านหมายว่า พระตถาคต ในบาลีนี้ว่า พฺรหฺมาติ โข ภิกฺขเว
ตถาคตสฺเสตํ อธิวจนํ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายว่า พรหม นี้แลเป็นชื่อของ
ตถาคต.