เมนู

เจ้าของเรือ ทิ้งเรือลำเก่าชำรุด รั่วน้ำไป ไม่เยื่อใย
ไม่ต้องการ ฉันใด.
เราก็ทอดทิ้งกายนี้ ที่มี 9 ช่อง เป็นที่ไหลออก
ของสิ่งโสโครกอยู่เป็นนิตย์ไป เหมือนเจ้าของเรือสละ
ทิ้งเรือลำเก่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
บุรุษพกพาของมีค่าไปกับพวกโจร แลเห็นภัย
จากการเสียหายของๆ มีค่า จึงละทิ้งโจรไป ฉันใด.
กายนี้ก็เปรียบเสมอด้วยมหาโจร เพราะกลัวการ
เสียหายแห่งกุศล เราจึงจำต้องละกายนี้ไป ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน.

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถาปิ กุณปํ ปุริโส ความว่า บุรุษ
วัยรุ่น ผู้รักสวยรักงาม อึดอัดระอา เกลียด ด้วยซากงู ซากสุนัข หรือซาก
มนุษย์ ที่ถูกผูกคอไว้ จึงปลดซากศพนั้นออกไปเสีย แม้ฉันใด. บทว่า สุขี
ได้แก่ ประสบสุข. บทว่า เสรี ได้แก่ อยู่ตามอำเภอใจ. บทว่า นานากุณปสญฺจยํ
ได้แก่ เป็นกองซากศพต่างๆ มากหลาย. ปาฐะว่า นานากุณปปูริตํ ดังนี้
ก็มี.
บทว่า อุจฺจารฏฺฐานมฺหิ ความว่า คนทั้งหลายย่อมอุจจาระ คือถ่าย
อุจจาระในประเทศนั้น เหตุนั้นประเทศนั้น จึงชื่อว่า เป็นที่ถ่ายอุจจาระ.
ประเทศที่ถ่ายอุจจาระนั้นด้วย เป็นฐานด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่าฐานเป็นประเทศ
ถ่ายอุจจาระ อีกอย่างหนึ่ง ประเทศอันเขาถ่ายอุจจาระ เหตุนั้นจึงชื่อว่าประเทศ
ที่ถ่ายอุจจาระ คำนี้เป็นชื่อของอุจจาระ. ที่ของอุจจาระนั้น ชื่อว่าที่ของอุจจาระ

ในฐานแห่งอุจจาระ อธิบายว่า ในฐานที่เปื้อนด้วยของสกปรก. บทว่า วจฺจํ
กตฺวา ยถา กุฏึ
ความว่า เหมือนบุรุษสตรี ละทิ้งกุฏิที่ถ่ายอุจจาระ คือส้วม
ฉะนั้น.
บทว่า ชชฺชรํ ได้แก่ เก่า. บทว่า ปุลคฺคํ ได้แก่ ชำรุด อธิบายว่า
กระจัดกระจาย. บทว่า อุทคาหินึ ได้แก่ ถือเอาน้ำ. บทว่า สามี ได้แก่
เจ้าของเรือ. บทว่า นวจฺฉิทฺทํ ได้แก่ ชื่อว่ามี 9 ช่อง เพราะประกอบด้วย
ปากแผล 9 แผล มีตา หู เป็นต้น ทั้งช่องเล็กช่องน้อย. บทว่า ธุวสฺสวํ
ได้แก่ เป็นที่ไหลออกเป็นประจำ. อธิบายว่า มีสิ่งไม่สะอาดไหลออกเป็นนิตย์.
บทว่า ภณฺฑมาทิย ได้แก่ ถือเอาทรัพย์สินมีรัตนะเป็นต้นอย่างใด
อย่างหนึ่ง. บทว่า ภณฺฑจฺเฉทภยํ ทิสฺวา ความว่า เห็นภัยแก่การชิง
ทรัพย์สิน. บทว่า เอวเมว ความว่า เหมือนบุรุษพกพาทรัพย์สินเดินไปฉะนั้น.
บทว่า อยํ กาโย ความว่า สภาพนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งสิ่งที่เขาเกลียดแล้วที่
น่าเกลียดอย่างยิ่ง เหตุนั้น จึงชื่อว่ากาย. คำว่า อายะ ได้แก่ ที่เกิด. อาการ
ทั้งหลายย่อมมาแต่สภาพนั้น เหตุนั้น สภาพนั้น จึงชื่อว่า อายะ เป็นแดน
มา. อาการทั้งหลายมีผมเป็นต้น อันเขาเกลียดแล้ว. สภาพเป็นแดนมาแห่ง
อาการทั้งหลายมีผมเป็นต้นอันเขาเกลียดแล้ว ด้วยประการฉะนั้น เหตุนั้น
สภาพนั้น จึงชื่อว่า กาย. บทว่า มหาโจรสโม วิย ความว่า กายชื่อว่า
มหาโจรสมะ เพราะเป็นโจรมีปาณาติบาตและอทินนาทานเป็นต้นคอยปล้น
กุศลทุกอย่าง โดยอำนาจความยินดีเป็นต้นในปิยรูปทั้งหลาย มีรูปารมณ์เป็นต้น
ด้วยจักษุเป็นอาทิ เพราะฉะนั้น จึงควรทราบการเชื่อมความว่า บุรุษผู้ถือ
ทรัพย์สินที่เป็นรัตนะ ไปกับหมู่โจรนั้นจำต้องละโจรเหล่านั้นไปเสีย ฉันใด

แม้เราก็จำต้องละกายอันเสมอด้วยมหาโจรนี้ไปเพื่อแสวงหาทางที่ทำความสวัสดี
ให้แก่ตน ฉันนั้นเหมือนกัน. บทว่า กุสลจฺเฉทนาภยา ความว่า เพราะ
กลัวแต่การปล้นกุศลธรรม.
ครั้งนั้น สุเมธบัณฑิตครั้นครุ่นคิดถึงเหตุแห่งเนกขัมมะการออกบวช
ด้วยอุปมานานาประการอย่างนี้แล้ว จึงคิดอีกว่า บิดาและปู่เป็นต้นของเรารวบ
รวมกองทรัพย์ใหญ่นี้ไว้ เมื่อไปปรโลกก็พาเอาแม้แต่กหาปณะเดียวไปไม่ได้.
ส่วนเราควรจะถือเอาเพื่อทำเหตุไปปรโลก ดังนี้แล้วก็ไปกราบทูลพระราชาว่า
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระบาทมีหัวใจถูกชาติชราเป็นต้นรบกวน จำจักออก
จากเรือนบวชไม่มีเรือน ข้าพระบาทมีทรัพย์อยู่หลายแสนโกฏิ ขอพระองค์
ผู้สมมติเทพโปรดทรงดำเนินการกะทรัพย์นั้นเถิด พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า
เราไม่ต้องการทรัพย์ของท่านดอก ท่านนั้นเองจงทำตามปรารถนาเถิด.
สุเมธบัณฑิตนั้นทูลรับว่า ดีละพระเจ้าข้า แล้วให้ตีกลองร้องป่าวไปใน
พระนคร ให้ทานแก่มหาชน ละวัตถุกามและกิเลสกามแล้ว ก็ออกจากอมรนคร
ซึ่งเสมือนเทพนครอันประเสริฐไปแต่ลำพังผู้เดียว อาศัยธัมมิกบรรพต ในป่า
หิมวันตประเทศที่มีฝูงเนื้อนานาชนิด ทำอาศรม สร้างบรรณศาลาลงในที่นั้น
สร้างที่จงกรมที่เว้นโทษ 5 ประการ ละทิ้งผ้าอันประกอบด้วยโทษ 9 ประการ
แล้ว นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ที่ประกอบด้วยคุณ 12 ประการ เพื่อรวบรวมกำลัง
แห่งอภิญญาที่ประกอบด้วยคุณ 8 ประการ บวชแล้ว.
เขาบวชอย่างนี้แล้ว ก็ละบรรณศาลาที่เกลื่อนด้วยโทษ 8 ประการ
เข้าอาศัยโคนไม้ ที่ประกอบด้วยคุณ 10 ประการ ละธัญชาติหลากชนิดทุก
อย่าง บริโภคแต่ผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ตั้งความเพียร โดยการนั่งยืน
และเดิน ก็ได้สมาบัติ 8 และอภิญญา 5 ภายใน 7 วันเท่านั้น. ด้วยเหตุนั้น
จึงตรัสว่า

เราคิดอย่างนี้แล้ว ก็ให้ทรัพย์หลายร้อยโกฏิเป็น
ทาน แก่คนที่มี่ที่พึ่งและไม่มีที่พึ่ง แล้วก็เข้าไปยัง
หิมวันตประเทศ.
ไม่ไกลหิมวันตประเทศ มีภูเขาชื่อว่าธัมมิกะ
เราก็ทำอาศรม สร้างบรรณศาลา.
ณ ที่นั้น เราก็สร้างที่จงกรม อันเว้นโทษ 5
ประการ รวบรวมกำลังแห่งอภิญญา อันประกอบด้วย
คุณ 8 ประการ.
เราสละผ้า อันมีโทษ 9 ประการไว้ ณ ที่นั้น
นุ่งผ้าเปลือกไม้ อันมีคุณ 12 ประการ.
เราสละบรรณศาลา อันเกลื่อนด้วยโทษ 8 ประ-
การ เข้าอาศัยโคนไม้ อันประกอบด้วยคุณ 10 ประการ
เราสละธัญชาติ ที่หว่านที่ปลูก โดยมิได้เหลือ
เลย บริโภคแต่ผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อันพรั่ง
พร้อมด้วยคุณเป็นอันมาก.
เราตั้งความเพียรในที่นั้น ด้วยการนั่งยืนและเดิน
ก็ได้บรรลุกำลังแห่งอภิญญาภายใน 7 วัน เท่านั้น.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวาหํ ตัดบทว่า เอวํ อหํ ความว่า
เราคิดโดยประการที่กล่าวมาแล้วในหนหลัง. บทว่า นาถานาถามํ ความว่า
เราให้แก่คนที่มีที่พึ่งและคนที่ไม่มีที่พึ่ง คือทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน พร้อม

ทั้งซุ้มประตูและเรือน ด้วยกล่าวว่า ผู้ต้องการก็จงรับเอา. บทว่า หิมวนฺตสฺสา-
วิทูเร
ได้แก่ ในที่ไม่ไกล คือใกล้ขุนเขาหิมวันต์. บทว่า ธมฺมิโก นาม
ปพฺพโต
ได้แก่ ภูเขามีชื่ออย่างนี้. ถามว่า เพราะเหตุไร ภูเขาลูกนี้จึงมีชื่อว่า
ธัมมิกะ. ตอบว่า ก็พระโพธิสัตว์ทั้งหลายโดยมาก บวชเป็นฤาษี เข้าอาศัย
ภูเขาลูกนั้นทำอภิญญาให้เกิดแล้วทำสมณธรรม เพราะฉะนั้นภูเขาลูกนั้นจึงได้
ปรากฏชื่อว่า ธัมมิกะ เพราะเป็นที่อาศัยแห่งบุคคลผู้มีสมณธรรม. ด้วยคำว่า
อสฺสโม สุกโต มยฺหํ เป็นต้น ตรัสไว้เหมือนว่าสุเมธบัณฑิต สร้างอาศรม
บรรณศาลาที่จงกรมด้วยฝีมือตนเอง แต่แท้จริง หาได้สร้างด้วยฝีมือตนเองไม่
ท้าวสักกเทวราชทรงส่งวิสสุกรรมเทพบุตรไปสร้าง มิใช่หรือ. แต่พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าทรงหมายถึงผลสำเร็จนั้น ซึ่งเกิดด้วยบุญญานุภาพของพระองค์ในครั้งนั้น
จึงตรัสเป็นต้นว่า ดูก่อนสารีบุตร ณ ภูเขานั้น
เราทำอาศรม สร้างบรรณศาลา สร้างที่จงกรม
อันเว้นโทษ 5 ประการ ไว้ ณ ที่นั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺณสาลา ได้แก่ ศาลามุงบังด้วย
ใบไม้. บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ณ อาศรมบทนั้น. บทว่า ปญฺจโทสวิวชฺชิตํ
ได้แก่ เว้นห่างไกลจากโทษแห่งที่จงกรม 5 ประการ. ชื่อว่า โทษแห่งที่จงกรม
5 ประการ อะไรบ้าง อันเว้นจากโทษ 5 ประการเหล่านี้ คือ เป็นที่แข็ง
ขรุขระ 1 อยู่ในต้นไม้ 1 มีที่รกกำบัง 1 แคบเกินไป 1 กว้างเกินไป 1
ด้วยการกำหนดอย่างสูง ท่านกล่าวว่า ที่จงกรมยาว 60 ศอก กว้างศอกครึ่ง.
อีกนัยหนึ่ง บทว่า ปญฺจโทสวิวชฺชิตํ ได้แก่เว้นห่างไกลจากโทษ
คือนิวรณ์ 5 ประการ พึงเห็นว่า เชื่อมความกับบทหลังนี้ว่า อภิญฺญาพลมา-
หริ
ดังนี้. บทว่า อฏฺฐคุณสมุเปตํ ความว่า ชักนำกำลังเเห่งอภิญญา

อันประกอบด้วยคุณ 8 ประการ คือ เมื่อจิตตั้งมั่นอย่างนี้ หมดจด สะอาด
ไม่มีมลทิน ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่งาน มั่นคง ไม่หวั่นไหว.
แต่อาจารย์บางพวก กล่าวเชื่อมความกับอาศรมว่า เราสร้างอาศรม
อันประกอบด้วยสมณสุข 8 ประการ คือ ประกอบพรักพร้อมด้วยสมณสุข 8
ประการเหล่านี้ คือ ชื่อว่าสมณสุข 8 ประการเหล่านี้คือ ไม่หวงทรัพย์และ
ข้าวเปลือก แสวงแต่บิณฑบาตที่ไม่มีโทษ บริโภคแต่ก้อนข้าวเย็นแล้ว ไม่มี
กิเลสเครื่องเบียดเบียนรัฐในเมื่อพวกราชบุรุษเอาแต่เบียดเบียนรัฐ ถือเอาทรัพย์
และข้าวเปลือกเป็นต้น ปราศจากฉันทราคะในเครื่องอุปกรณ์ทั้งหลาย ไม่มีภัย
เพราะการปล้นของโจร ไม่คลุกคลีกับพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา
ไม่ถูกกระทบกระทั่งใน 4 ทิศ คำนั้นไม่สมกับบาลี.
บทว่า สาฏกํ แปลว่า ผ้า. บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในอาศรมนั้น. ด้วย
บทว่า นวโทสมุปาคตํ ทรงแสดงว่า ดูก่อนสารีบุตร เราเมื่ออยู่ในที่นั้น
ก็เสียสละผ้าที่มีค่ามากที่ตนนุ่งห่มเสีย ก็เมื่อจะละผ้า ได้เห็นโทษ 9 ประการ
ในผ้านั้นจึงละเสีย. ความจริงประกาศโทษ 9 ประการในผ้า แก่ผู้บวชเป็น
ดาบสทั้งหลาย. โทษ 9 ประการคืออะไร ทรงแสดงว่า เราละผ้าที่ประกอบ
ด้วยโทษ 9 ประการเหล่านี้คือ ผ้าเป็นของมีค่า ชีวิตนักบวชอยู่ได้ด้วยผู้อื่น
ผ้าหมองไปทีละน้อยด้วยการใช้ ผ้าที่หมองแล้วจำต้องซักต้องย้อม ผ้าเก่า
ไปด้วยการใช้ ผ้าที่เก่าแล้วจำต้องทำการชุน ทำการปะ ผ้าเกิดได้ยากในการ
แสวงหาใหม่ ไม่เหมาะแก่การบวชเป็นดาบส เป็นของสาธารณะทั่วไปแก่พวก
โจร ต้องคุ้มครองโดยที่พวกโจรลักไปไม่ได้ เป็นฐานการแต่งตัวของผู้นุ่งห่ม
ผู้ที่พาเที่ยวไปกลายเป็นคนมักมาก แล้วจึงนุ่งผ้าเปลือกไม้. บทว่า วากจีรํ
ความว่า เราถือเอาผ้าที่สำเร็จด้วยเปลือกไม้ ซึ่งกรองด้วยหญ้ามุงกระต่ายเป็นเส้น ๆ

ทำแล้ว เพื่อใช้นุ่งห่ม. บทว่า ทฺวาทสคุณมุปาคตํ ได้แก่ ประกอบด้วย
อานิสงส์ 12 ประการ. ในบทนี้ คุณ ศัพท์มีอรรถว่า อานิสงส์ เหมือนใน
ประโยคเป็นต้นว่า สตคุณา ทกฺขิณา ปาฏิกงฺขิตพฺพา พึงหวังได้ทักษิ-
ณามีอานิสงส์ร้อยหนึ่ง. อักษรทำการต่อบท ถึงพร้อมด้วยคุณ 12 ประการ
เหล่านี้ คือ ผ้าเปลือกไม้มีอานิสงส์ 12 ประการคือ มีค่าน้อย 1 ไม่เนื่อง
ด้วยผู้อื่น 1 อาจทำได้ด้วยมือตนเอง 1 แม้เมื่อเก่าเพราะการใช้ก็ไม่ต้องเย็บ 1
ไม่มีโจรภัย 1 ผู้แสวงหาก็ทำได้ง่าย 1 เหมาะแก่การบวชเป็นดาบส 1 ไม่
เป็นฐานการแต่งตัวของผู้ใช้ 1 มีความมักน้อยในปัจจัยคือจีวร 1 ใช้สะดวก 1
เปลือกไม้ที่เกิดก็หาได้ง่าย 1 แม้เมื่อผ้าเปลือกไม้สูญหายก็ไม่เสียดาย 1.
ครั้งนั้น สุเมธบัณฑิต อยู่ ณ บรรณศาลาอาศรมนั้น ตอนใกล้รุ่ง
ก็ลุกขึ้นพิจารณาถึงเหตุออกบวชของตน คิดอย่างนี้ว่า เราละบ้านเรือนซึ่งมี
อาการประหนึ่งที่อยู่อันประเสริฐของเทพยดา อันงดงามด้วยสมบัติอันโอฬาร
น่ารื่นรมย์ของคฤหัสถ์ชนด้วยการสัมผัสกำไลมือกำไลเท้าทองใหม่เป็นต้นระคน
ด้วยเสียงและการหัวเราะการพูดที่ไพเราะเหมือนละก้อนเขฬะ เข้าไปยังป่าตโป-
วัน บำเพ็ญตบะเครื่องลอยบาปของชนทั้งปวง เพราะเป็นผู้เพลินด้วยวิเวก
แต่การอยู่ที่บรรณศาลา ณ อาศรมนี้ของเรา ก็เป็นเหมือนการครองเรือนครั้ง
ที่สอง เอาเถิด เราจะอยู่เสียที่โคนไม้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
เราละบรรณศาลา อันเกลื่อนด้วยโทษ 8 ประ-
การ.

แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฐโทสสมากิณฺณํ ความว่า เกลื่อน
คือประกอบพร้อมด้วยโทษ 8 ประการ. โทษ 8 ประการอะไรบ้าง. พระมหา

สัตว์เห็นโทษ 8 เหล่านี้คือ การที่สร้างให้สำเร็จจำต้องใช้เครื่องสัมภาระมาก 1
จำต้องบำรุงอยู่เป็นนิตย์ด้วยหญ้าใบไม้และดินเหนียวเป็นต้น 1 จำต้องออกไป
โดยเข้าใจว่า ไม่มีเอกัคคตาจิตสำหรับผู้จำต้องออกไปในเวลาไม่สมควร ด้วย
คิดว่า ขึ้นชื่อว่าเสนาสนะ จักทรุดโทรมไป 1 ต้องทนุถนอมกาย เพราะกระ-
ทบเย็นร้อน 1 ต้องปกปิดคำครหาที่ว่า ผู้เข้าไปบ้านเรือนอาจทำชั่วอย่างใดอย่าง
หนึ่งได้ 1 ต้องหวงแหนว่านี้ของเรา 1 ต้องนึกอยู่เสมอว่า นี้บ้านเรือน มีอยู่
อย่างผู้มีเพื่อน 1 ต้องเป็นของทั่วไปเป็นอันมาก เพราะต้องทั่วไปแก่สัตว์ทั้ง
หลายมีเล็น เลือด จิ้งจกเป็นต้น 1 ดังนี้แล้วจึงละบรรณศาลาเสีย.
บทว่า คุเณหิ ทสหุปาคตํ ความว่า เราปฏิเสธที่กำบัง เข้าไปยัง
โคนไม้อันประกอบด้วยคุณ 10 ประการ คุณ 10 ประการอะไรบ้าง. ตรัสว่า
เราเห็นคุณ 10 เหล่านี้ คือ มีความริเริ่มขวนขวายน้อย 1 ได้ความไม่มีโทษ
โดยง่ายว่าเพียงเข้าไปโคนไม้นั้นเท่านั้น 1 ทำอนิจจสัญญาให้ตั้งขั้นด้วยการเห็น
ความแปรปรวนของต้นไม้และใบไม้ 1 ไม่ตระหนี่เสนาสนะ 1 เมื่อจะทำ
ชั่ว ณ โคนไม้นั้นย่อมละอาย เพราะฉะนั้น จึงไม่มีที่ลับทำชั่ว 1 ไม่ทำความ
หวงแหน 1 อยู่กับเทวดาทั้งหลาย 1 ปฏิเสธที่กำบัง 1 ใช้สอยสะดวก 1 ไม่
ห่วงใยเพราะเสนาสนะคือโคนไม้ หาได้ง่าย ในทุกสถานที่ไป 1 แล้วจึงเข้า
ไปยังโคนไม้ และตรัสว่า
โคนไม้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสรรเสริญแล้ว
และตรัสว่า เป็นนิสสัย ที่อาศัย ที่อยู่ของผู้สงัด เสมอ
ด้วยโคนไม้ จะมีแต่ไหน.
แท้จริง ผู้อยู่โคนไม้อันสงัด อันกำจัดความ
ตระหนี่ที่อยู่ อันเทวดารักษาแล้ว ชื่อว่าผู้มีวัตรดี.

ผู้เห็นต้นไม้และใบไม้ ที่มีสีแดง เขียว เหลือง
อันหล่นแล้ว ย่อมบรรเทานิจจสัญญาเข้าใจว่าเที่ยงเสีย
ได้.
เพราะฉะนั้นแล ผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ ไม่
ควรดูหมิ่นโคนไม้อันสงัด ที่เป็นทรัพย์มรดกของ
พระพุทธเจ้า เป็นที่อยู่ของผู้ยินดียิ่งในภาวนา.

ครั้งนั้น สุเมธบัณฑิต เป็นผู้เห็นโทษของบรรณศาลา ได้อานิสงส์
ในเสนาสนะคือโคนไม้อยู่ จึงคิดยิ่งขึ้นไปว่า การที่เราเข้าไปยังหมู่บ้านเพื่อ
แสวงหาอาหาร เป็นทุกข์ในการแสวงหาอาหาร เรามิใช่เพราะสิ้นไร้อย่างไรจึง
ออกบวชด้วยความต้องการเพื่ออาหาร แต่ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลไม่มี
ประมาณ ถ้ากระไรเราจะยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
แต่เมื่อจะทรงแสดงความที่วิเศษของประโยชน์นี้จึงตรัสคาถาเป็นต้นว่า
เราสละธัญชาติที่หว่านแล้ว ที่ปลูกแล้วโดยไม่
เหลือเลย บริโภคแต่ผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติอัน
พรั่งพร้อมด้วยคุณเป็นอันมาก.


แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาปิตํ ได้แก่ ที่หว่านเสร็จแล้ว. บทว่า
โรปิตํ ได้แก่ ที่ปลูกเสร็จแล้ว ข้าวกล้าจะสำเร็จผล มี 2 วิธี คือ ด้วยการหว่าน
และการปลูก. เราก็ละเสียทั้ง 2 วิธี ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยผลไม้ที่มีอยู่ตาม
ธรรมชาติ เพราะตัวเรามักน้อย. บทว่า ปวตฺตผลํ ได้แก่ ผลไม้ที่หล่นเอง.
บทว่า อาทิยึ ได้แก่ บริโภค.

บุคคลผู้สันโดษด้วยผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
เลี้ยงชีพไม่เนื่องด้วยผู้อื่น ละความละโมบในอาหารเสีย
ย่อมเป็นมุนีใน 4 ทิศ.
มุนีย่อมละความอยากในรส การเลี้ยงชีพของ
ท่านจึงบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นแล จึงไม่ควรดูหมิ่นการ
บริโภคผลที่ไม้มีอยู่ตามธรรมชาติ.

สุเมธบัณฑิต เมื่อประพฤติอยู่อย่างนี้ ไม่นานนักก็บรรลุสมาบัติ 8
และอภิญญา 5 ภายใน 7 วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงประกาศความข้อ
นี้ จึงตรัสว่า ตตฺถปฺปธานํ ปทหึ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า
ตตฺถ ได้แก่ ในอาศรมนั้น. บทว่า ปธานํ ได้แก่ความเพียร. จริงอยู่ความ
เพียรท่านเรียกว่า ปธานะ เพราะเป็นคุณควรตั้งไว้ หรือเพราะทำภาวะคือการ
ตั้งไว้. บทว่า ปทหึ ได้แก่ เริ่มความเพียร บทว่า นิสชฺชฏฺฐานจงฺกเม
แปลว่า ด้วยการนั่ง การยืน และการเดิน.
แต่สุเมธบัณฑิต ปฏิเสธการนอน ยังคืนและวันให้ล่วงไปด้วยการนั่ง
ยืนและเดินเท่านั้น จึงบรรลุกำลังแห่งอภิญญาได้ภายใน 7 วันเท่านั้น. ก็แล
เมื่อสุเมธดาบสครั้นบรรลุกำลังแห่งอภิญญาอย่างนี้แล้ว ก็ยับยั้งอยู่ด้วยสุขใน
สมาบัติ. ครั้งนั้น พระศาสดาพระนามว่าทีปังกรผู้ทรงทำการสงเคราะห์ชนทั้ง
ปวงผู้ทรงทำภัยแก่พลแห่งมาร ทรงทำประทีปคือพระญาณเสด็จอุบัติในโลก.
เมื่อว่าโดยสังเขปเท่านั้น การกล่าวลำดับเรื่องพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มีดังนี้ ได้ยินว่า พระมหาสัตว์พระนามว่าทีปังกรพระองค์นี้ ทรงบำเพ็ญ
พระบารมี 30 ทัศ ทรงดำรงอยู่ ในอัตภาพเสมือนอัตภาพของพระเวสสันดร

ทรงให้มหาทาน เป็นเหตุให้แผ่นดินไหวเป็นต้น เมื่อสุดสิ้นพระชนมายุ ก็บัง-
เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงดำรงอยู่ ณ ที่นั้น จนตลอดพระชนมายุ เมื่อเทวดา
ในหมื่นจักวาลประชุมกันทูลว่า
กาโลยํ1 เต มหาวีร อุปฺปชฺช มาตุกุจฺฉิยํ
สเทวกํ ตารยนฺโต พุชฺฌสฺสุ อมตํ ปทํ.
ข้าแต่พระมหาวีระ นี้เป็นกาลอันสมควรสำหรับ
พระองค์ โปรดเสด็จอุบัติในครรภ์พระมารดาเถิด
พระองค์เมื่อทรงยังโลกพร้อมทั้งเทวโลก ให้ข้ามโอฆ-
สงสาร ก็โปรดตรัสรู้อมตบทเถิด.

ดังนี้แล้ว แต่นั้น ทรงสดับคำของเทวดาทั้งหลายแล้วทรงพิจารณามหาวิโลก-
นะ 5 ทรงจุติจากดุสิตสวรรค์นั้นแล้วทรงถือปฏิสนธิ โดยดาวนักษัตรในเดือน
อาสาฬหะหลัง เพ็ญเดือนอาสาฬหะ ในพระครรภ์ของ พระนางสุเมธาเทวี
ในสกุลของพระราชาพระนามว่า สุเทวะ ผู้เป็นเทพแห่งนรชน ดังท้าววาสุเทพ
ผู้พิชิตด้วยความเจริญแห่งพระยศของพระองค์ ณ กรุงรัมมวดี มีราชบริพาร
หมู่ใหญ่คอยบริหาร ไม่ทรงแปดเปื้อนด้วยของไม่สะอาดไรๆ ในพระครรภ์
ของพระมหาเทวี เหมือนก้อนแก้วมณี อยู่ตลอดทศมาส ก็ประสูติจากพระ
ครรภ์ของพระนาง เหมือนดวงจันทร์ในฤดูสารทโคจรไปในหลืบเมฆ.

บุพนิมิต 32



ก็บุพนิมิต 32 ประการ ปรากฏเป็นปาฏิหาริย์ของพระทีปังกรราชกุมาร
พระองค์นั้น ทั้งขณะปฏิสนธิ ทั้งขณะประสูติ ปาฏิหาริย์ 32 ประการ เป็น
ไปในฐานะ เหล่านี้คือ เมื่อพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทุกพระองค์ เสด็จสู่

1. ในที่บางแห่งเป็นกาโล โข