เมนู

อุปาลีเถราปทานที่ 8 (6)


ว่าด้วยผลแห่งการสร้างสังฆาราม


[8] ในพระนครหังสวดี มีพราหมณ์ชื่อว่า สุชาต สั่งสมทรัพย์
ไว้ประมาณ 80 โกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย.
เป็นผู้สอน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท ถึงที่สุดในคัมภีร์
ทำนายลักษณะ คัมภีร์อิติหาสะ และคัมภีร์พราหมณ์.
ในกาลนั้นปริพาชกผู้มุ่นผมเป็นชฎา สาวกของพระพุทธ-
เจ้าพระนามว่าโคดม ผู้เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ และดาบส
ผู้ท่องเที่ยว พากันท่องเที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน.
แม้พวกเขาก็ห้อมล้อมข้าพระองค์ด้วยคิดว่า เป็นพราหมณ์
มีชื่อเสียง ชนเป็นอันมากบูชาข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ไม่
บูชาใคร ๆ.
เพราะข้าพระองค์ไม่เห็นคนที่ควรจะบูชา เวลานั้น ข้า-
พระองค์มีมานะจัด คำว่า พุทโธ ยังไม่มี ตลอดเวลาที่พระ-
ชินเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น.
โดยกาลล่วงวันและคืนไป พระพุทธเจ้าพระนามว่า
ปทุมุตตระผู้เป็นนายก ทรงบรรเทาความมืดทั้งปวงแล้ว เสด็จ
อุบัติขึ้นในโลก.
ในศาสนาของพระองค์ มีหมู่ชนแพร่หลายมากมาย
หนาแน่น เวลานั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปสู่พระนคร-
หังสวดี.

พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์
แก่พระพุทธบิดา ในกาลนั้นบริษัทโดยรอบมีประมาณโยชน์
หนึ่ง.
ในกาลนั้น ดาบสชื่อว่าสุนันทะ อันหมู่มนุษย์สมมติแล้ว
ว่าเลิศ ได้เอาดอกไม้ทำร่มบังแดดให้ทั่วพุทธบริษัท.
พระพุทธเจ้าทรงประกาศสัจจะ 4 ภายใต้มณฑปดอกไม้
อันประเสริฐ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ประมาณแสนโกฏิ.
พระพุทธเจ้าทรงยังฝนคือธรรมให้ตกตลอด 7 คืน 7 วัน
เมื่อถึงวันที่ 8 พระชินเจ้าทรงพยากรณ์สุนันทดาบสว่า ท่าน
ผู้นี้เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกหรือมนุษยโลก จักเป็นผู้
ประเสริฐกว่าเขาทั้งหมด ท่องเที่ยวไปในภพ.
ในแสนกัป พระศาสดามีพระนามว่าโคดม ผู้สมภพใน
วงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก.
บุตรของนางมันตานีชื่อว่าปุณณะ จักเป็นสาวกของพระ-
ศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสผู้รับมรดกในธรรมทั้งหลาย
อันธรรมนิรมิตแล้ว.
เวลานั้น พระสัมพุทธเจ้าทรงยังชนทั้งปวงให้ร่าเริง ทรง
แสดงพระกำลังของพระองค์ ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสด้วย
ประการอย่างนี้.
ชนทั้งหลายประนมอัญชลีนมัสการสุนันทดาบสในครั้งนั้น
ครั้นสุนันทดาบสกระทำสักการะในพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ทำ
คติของตนให้หมดจด.

เพราะข้าพระองค์ได้ฟังพระดำรัสของพระมุนี จึงได้มี
ความดำริ ณ ที่นั้นว่า เราจักก่อสร้างบุญสมภาร ด้วยประการ
ที่จะได้เห็นพระโคดม.
ครั้นข้าพระองค์คิดอย่างนี้แล้ว จึงคิดถึงบุญกิริยาของ
ข้าพระองค์ว่า จะประพฤติกรรมอะไร ในบุญเขตอัน
ยอดเยี่ยม.
ก็ภิกษุนี้ชำนาญบาลีทั้งปวงในศาสนา พระศาสดาทรงตั้ง
ไว้ในตำแหน่งอันเลิศฝ่ายพระวินัย ข้าพระองค์จึงได้ปรารถนา
ตำแหน่งนั้น.
โภคสมบัติของข้าพระองค์ประมาณมิได้ เปรียบดังสาคร
อันอะไรให้กระเพื่อมไม่ได้.
ข้าพระองค์ได้สร้างอารามถวายแด่พระพุทะเจ้า ด้วย
โภคสมบัตินั้น.
ได้ซื้ออารามนามว่าโสภณ ณ เบื้องหน้าพระนคร ด้วย
ทรัพย์แสนหนึ่ง ถวายให้เป็นสังฆาราม
ข้าพระองค์ได้สร้างเรือนยอด ปราสาท มณฑป เรือนโล้น
และถ้ำอย่างสวยงามไว้ ในที่จงกรมใกล้สังฆาราม.
ได้สร้างเรือนไฟ โรงไฟ และห้องอาบน้ำ แล้วได้ถวาย
แก่ภิกษุสงฆ์.
ได้ถวายเก้าอี้นอน ตั่ง ภาชนะเครื่องใช้สอย คนเฝ้า
อารามและเภสัชทุกอย่างนั้น.
ได้ตั้งอารักขาไว้ แล้วให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง ด้วย

หวังว่า ใคร ๆ อย่าเบียดเบียนสังฆารามของท่านผู้มีจิตสงบ
ผู้คงที่.
ได้ให้สร้างกุฎีที่อยู่แสนหลังไว้ในสังฆาราม ครั้นให้สร้าง
สำเร็จพร้อมไพบูลย์แล้ว จึงน้อมถวายแด่พระสันพุทธเจ้าว่า
ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์สร้างอารามสำเร็จแล้ว ขอ
พระองค์โปรดทรงรับเถิด ข้าแต่พระธีรเจ้า ข้าพระองค์ขอ
มอบถวายแด่พระองค์ ขอได้โปรดรับไว้เถิดพระเจ้าข้า.
พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้เเจ้งโลก เป็น
นายกของโลก ผู้ควรแก่การรับเครื่องบูชา ทรงทราบความ
ดำริของข้าพระองค์แล้ว ได้ทรงรับสังฆาราม.
ข้าพระองค์ทราบว่า พระสัพพัญญูผู้แสวงหาคุณอันยิ่ง
ใหญ่ทรงรับแล้ว จึงให้ตระเตรียมโภชนะเสร็จแล้วกราบทูล
เวลาเสวย.
เมื่อข้าพระองค์กราบทูลเวลาเสวยแล้ว พระปทุมุตตระผู้
นายกของโลก เสด็จมาสู่อารามของข้าพระองค์พร้อมด้วย
พระขีณาสพพันหนึ่ง.
ข้าพระองค์ทราบเวลาว่า พระองค์ประทับนั่งแล้ว ได้
เลี้ยงดูให้อิ่มหนําด้วยข้าวน้ำ ครั้นได้ทราบเวลาเสวยเสร็จแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์ซื้ออารามชื่อ
โสภณ ด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง ได้สร้างจนเสร็จด้วยทรัพย์
เท่านั้นเหมือนกัน ขอได้โปรดทรงรับเถิด.
ด้วยการถวายอารามนี้ และด้วยการตั้งเจตนาไว้ เมื่อ

ข้าพระองค์เกิดอยู่ในภพ ย่อมได้สิ่งที่ปรารถนา.
พระสัมพุทธเจ้าทรงรับสังฆาราม ที่ข้าพระองค์สร้างเสร็จ
แล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
ผู้ใดได้ถวายสังฆารามที่สร้างสำเร็จแล้ว แด่พระพุทธเจ้า
เราจะพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว.
จตุรงคเสนา คือพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า
จะแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม.
ดนตรีหกหมื่น และกลองอันประดับสวยงาม จะแวดล้อม
ผู้นี้เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม.
นารีแปดหมื่นหกพันนาง ตกแต่งงดงาม มีผ้าและอาภรณ์
อันวิจิตร สวมสอดแก้วมณีและกุณฑล มีหน้าแฉล้ม
ยิ้มแย้ม ตะโพกผึ่งผาย เอวเล็กเอวบาง จะแวดล้อมผู้นี้อยู่
เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม.
ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ตลอดสามหมื่นกัป จักเป็น
จอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลกพันครั้ง จักได้ของทุก
อย่างที่ท้าวเทวราชจะพึงได้ จักเป็นผู้มีโภคสมบัติไม่รู้จักพร่อง
เสวยเทวราชสมบัติอยู่.
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในแว่นแคว้นพันครั้ง จักเป็น
พระราชาอันไพบูลย์ในแผ่นดิน โดยคณนานับไม่ถ้วน
ในแสนกัป พระศาสดาพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร
ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก
ผู้นี้จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น.

เป็นโอรสผู้รับมรดกในธรรม อันธรรมเนรมิต มีนามชื่อว่า
อุบาลี.
จักถึงที่สุดในพระวินัย ฉลาดในฐานะและมิใช่ฐานะ
ดำรงพระศาสนาของพระชินเจ้า ไม่มีอาสวะอยู่.
พระโคดมศากยะผู้ประเสริฐ ได้ทรงทราบข้อนี้ทั้งสิ้น แล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์จักทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะ.
ข้าพระองค์อาศัยบุญกุศลอันหาประมาณมิได้ ย่อม
ปรารถนาศาสนาของพระองค์ ประโยชน์คือธรรมเครื่องสิ้น
แห่งสังโยชน์ทั้งปวงนั้น ข้าพระองค์บรรลุแล้ว.
อุปมาเหมือนคนอันพระราชอาญาคุกคาม ถูกเสียบด้วย
หลาว ไม่ได้ความสุขที่หลาว ปรารถนาจะพ้นไปอย่างเดียว
ฉันใด.
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้น อันอาญาคือ
ภพคุกคาม ถูกเสียบด้วยหลาวคือกรรม ถูกเวทนาคือความ
กระหายบีบคน.
ไม่ได้ความสุขในภพ ถูกไฟ 3 กองแผดเผาอยู่ ย่อม
แสวงหาอุบายเครื่องพ้น ดังคนแสวงหาอุบายเพื่อฆ่ายาพิษ.
พึงแสวงหายา เมื่อแสวงหาอยู่ พึงพบยาสำหรับฆ่ายาพิษ
ดื่มยานั้นแล้วพึงมีความสุข เพราะพ้นจากพิษ ฉันใด.
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ก็เหมือนคนอันถูกยาพิษ
บีบคั้น ฉันนั้น ถูกอวิชชาบีบคั้นแล้ว พึงแสวงหายาคือ
พระสัทธรรม.

เมื่อแสวงหายาคือพระสัทธรรมอยู่ ได้พบศาสนาของ
พระองค์ผู้ศากยบุตร อันเป็นของจริงอย่างเลิศสุดยอดของ
โอสถ เป็นเครื่องบรรเทาลูกศรทั้งปวง.
ข้าพระองค์ดื่มยาคือธรรมแล้ว ถอนยาพิษคือสังสารทุกข์
ได้หมดแล้ว ข้าพระองค์ได้พบนิพพานอันไม่แก่ไม่ตาย เป็น
ธรรมชาติเย็นสนิท.
อุปมาเหมือนคนถูกผีคุกคาม ได้รับทุกข์เพราะผีสิง พึง
แสวงหาหมอผีเพื่อจะพ้นจากผี เมื่อแสวงหาไป ก็พึงพบ
หมอผู้ฉลาดในวิชาไล่ผี หมอนั้นพึงขับผีให้แก่คนนั้น และพึง
ให้ผีพินาศไปพร้อมทั้งต้นเหตุ ฉันใด.
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้น ได้รับทุกข์
เพราะความมืดเข้าจับ จึงต้องแสวงหาแสงสว่างคือญาณ เพื่อ
จะพ้นจากความมืด ทีนั้น ได้พบพระศากยมุนีผู้ชำระความ
มืดคือกิเลสให้หมดจด. ได้ทรงบรรเทาความมืดให้ข้าพระองค์
แล้ว ดังหมอผีขับผีไปฉะนั้น.
ข้าพระองค์ตัดกระแสสงสารได้แล้ว ห้ามกระแสตัณหา
ได้แล้ว ถอนภพได้สิ้นเชิง เหมือนหมอผีขับผีพร้อมทั้งถอน
รากฉะนั้น.
อุปมาเหมือนพญาครุฑ โฉบลงเพื่อจับนาคอันเป็นเหยื่อ
ของตน ย่อมทำน้ำในสระใหญ่ให้กระเพื่อมตลอดร้อยโยชน์
โดยรอบ ครั้นจับนาคได้แล้ว ห้อยหัวนาคไว้เบื้องต่ำทำให้
ลำบาก ครุฑนั้นพาเอานาคไปได้ตามปรารถนา ฉันใด.

ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้น แสวงหา
อสังขตธรรม เหมือนครุฑมีกำลัง บินแสวงหานาคฉะนั้น
ข้าพระองค์ได้คายโทษทั้งหลายแล้ว ข้าพระองค์เห็นธรรมอัน
ประเสริฐ เป็นสันติบท ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ข้าพระองค์ถือ
ธรรมนี้อยู่ เหมือนครุฑจับนาคบินไปฉะนั้น.
เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี เกิดในสวนจิตรลดา ต่อเมื่อล่วงไป
พันปี จึงเผล็ดผลหนึ่งผล. เหล่าเทวดาเข้าไปนั่งใกล้เถาวัลย์
ชื่ออาสาวดีนั้น ซึ่งมีผลคราวหนึ่งนานเพียงนั้น เถาวัลย์
อาสาวดีนั้น เป็นเลิศแห่งไม้เถา1 เป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย
อย่างนี้.
ข้าพระองค์อาศัยเวลาเป็นแสนปี จึงได้เที่ยวมาใกล้พระ-
องค์ผู้เป็นมุนี ได้นมัสการทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า เหมือน
เทวดาเชยชมผลอาสาวดีฉะนั้น.
การบำเรอพระพุทธเจ้าไม่เป็นหมัน และการนมัสการไม่
เป็นโมฆะ แม้ข้าพระองค์จะมาแต่ที่ไกล ขณะก็ไม่ล่วงเลย
ข้าพระองค์ไป ข้าพระองค์ค้นหาปฏิสนธิในภพ ก็ไม่เห็น
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่มีอุปธิ พ้นวิเศษแล้ว สงบ
ระงับเที่ยวไป.
ธรรมดาดอกปทุม ย่อมบานเพราะแสงอาทิตย์ แม้ฉันใด
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บานแล้ว
เพราะรัศมีของพระพุทธเจ้า.


1. บาลีเป็น ผลุตฺตมา, ม. ยุ. เป็นลตุตฺตมา.

นกยางตัวผู้ ย่อมไม่มีในกำเนิดนกยางทุกเมื่อ เมื่อเมฆ
ร้องกระหึ่ม นกยางย่อมมีครรภ์ทุกเมื่อ พวกมันย่อมทรงครรภ์
อยู่แม้นานตลอดเวลาที่สายฝนยังไม่ตก พวกมันย่อมพ้นจาก
การทรงครรภ์ เมื่อเวลาที่สายฝนตก ฉันใด.
ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่า
ปทุมุตตระ ทรงประกาศกึกก้องด้วยเมฆฝนคือธรรม ได้ถือเอา
ครรภ์คือธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆฝนคือธรรม ข้าพระองค์
อาศัยแสนกัป ทรงครรภ์คือบุญอยู่ ยังไม่พ้นจากภาระคือ
สงสารตลอดเวลาที่สายฝนคือธรรมยังไม่ตก.
ข้าแต่พระศากยมุนี เมื่อเวลาที่พระองค์ทรงประกาศ
กึกก้องด้วยสายฝนคือธรรม ในนครกบิลพัสดุ์อันน่ารื่นรมย์
ข้าพระองค์จึงได้พ้นจากภาระคือสงสาร.
ข้าพระองค์สะสาง (ชำระ) ธรรมคือสุญญตวิโมกข์ อนิ-
มิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และผล 4 ทั้งหมดแม้นั้น
ให้สะอาดได้แล้ว.
จบทุติยภาณวาร
ข้าพระองค์ปรารถนาคำสอนของพระองค์ ตั้งต้นแต่กัป
อันหาประมาณมิได้ ประโยชน์อันนั้น ข้าพระองค์ได้ถึงแล้ว
สันติบทอันยอดเยี่ยม ข้าพระองค์บรรลุแล้ว.
ข้าพระองค์ถึงความยอดเยี่ยมในพระวินัย เหมือนภิกษุ
ผู้ชำนาญพระบาลีฉะนั้น ไม่มีใครเสมอเหมือนข้าพระองค์
ข้าพระองค์ทรงคำสอนไว้.

ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในวินัย (คืออุภโตวิภังค์)
ขันธกะ (คือมหาวรรคและจุลวรรค) ในติกเฉท (คือติก-
สังฆาทิเสส และติกปาจตตีย์) และในคัมภีร์ที่ 5 (คือปริวาร)
เหล่านี้ ทั้งในอักขระหรือแม้พยัญชนะ.
ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในนิคคหกรรม การลงโทษ ใน
ปฏิกรรม การทำคืนอาบัติ ในฐานะและไม่ใช่ฐานะ ในการ
ชักเข้าหมู่ และในการให้ออกจากอาบัติ ถึงความยอดเยี่ยม
ในวินัยกรรมทั้งปวง.
ข้าพระองค์ตั้งบทไว้ในวินัย ขันธกะ และอุภโตวิภังค์
แล้วพึงชักเข้าหมู่ตามกิจ.
ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในนิรุตติ และเฉียบแหลมใน
ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ สิ่งที่ข้าพระองค์ไม่รู้ ย่อมไม่มี
ข้าพระองค์ผู้เดียวเป็นเลิศแห่งพระวินัยธรในพระพุทธศาสนา.
วันนี้ข้าพระองค์บรรเทาความเคลือบแคลงได้ทั้งสิ้น ตัด
ความสงสัยได้ทั้งหมด ในคราวตัดสินวินัย ในศาสนาของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ศากยบุตร.
ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในฐานะทั้งปวง คือบัญญัติ อนุ-
บัญญัติ อักขระ พยัญชนะ นิทาน และปริโยสาน.
เปรียบเหมือนพระราชาผู้ทรงพระกำลัง ทรงกำจัดเสนา
ของพระราชาอื่นแล้วพึงทำให้เดือดร้อน ชนะสงครามแล้วจึง
ให้สร้างนครไว้ในที่นั้น.

ทรงให้สร้างกำแพง คู เสาระเนียด ซุ้มประตูและป้อม
ต่าง ๆ ไว้ในนครเป็นอันมาก ทรงให้สร้างถนน วงเวียน
ร้านตลาด อันจัดไว้เป็นระเบียบ และสภาไว้ในนครนั้น เพื่อ
วินิจฉัยคดีและมิใช่คดี.
เพื่อจะป้องกันพวกศัตรู เพื่อจะรู้จักโทษและมิใช่โทษ
และเพื่อจะรักษาพลกาย พระองค์จึงโปรดตั้งเสนาบดีไว้.
เพื่อประสงค์จะทรงรักษาสิ่งของ จึงโปรดตั้งขุนคลังไว้
ในหน้าที่รักษาสิ่งของ ด้วยทรงหวังว่า สิ่งของของเราอย่า
ฉิบหายเสียเลย.
ผู้ใดเป็นผูสมัครสมานกับพระราชา ปรารถนาความเจริญ
แก่พระราชานั้น ๆ ย่อมประทานการตัดสินอธิกรณ์แก่ผู้นั้น
เพื่อปฏิบัติต่อมิตร.
พระราชานั้นโปรดตั้งคนผู้ฉลาดในลางดีลางร้าย ในนิมิต
และในตำราทำนานลักษณะ ผู้สั่งสอนมนต์ ทรงจำมนต์ ไว้ใน
ตำแหน่งปุโรหิต.
พระราชานั้นทรงสมบูรณ์ด้วยองค์เหล่านี้ มหาชนย่อม
เรียกว่ากษัตริย์.
เสนาบดีเป็นต้นเหล่านี้ ย่อมรักษาพระราชาอยู่ทุกเมื่อ
ดังนกจากพรากรักษาญาติของตนผู้มีทุกข์ ฉันใด.
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น มหาชนย่อมกล่าว
ว่า เป็นพระธรรมราชาของโลกพร้อมทั้งเทวโลก เช่นพระ-
ราชาทรงกำจัดศัตรูได้แล้ว มหาชนเรียกว่ากษัตริย์ฉะนั้น.

พระองค์ทรงปราบพวกเดียรถีย์ ทรงกำจัดมารพร้อมทั้ง
เสนามาร และความมืดมนอนธการแล้ว ได้ทรงสร้างนคร
ธรรมไว้.
ข้าแต่พระธีรเจ้า ในนครธรรมนั้น มีศีลเป็นดังกำแพง
พระญาณของพระองค์เป็นดังซุ้มประตู ศรัทธาของพระองค์
เป็นดังเสาระเนียด และสังวรของพระองค์เป็นดังนายประตู.
ข้าแต่พระมุนี สติปัฏฐานของพระองค์เป็นดังป้อม ปัญญา
ของพระองค์เป็นดังทางสี่แพร่ง อิทธิบาทเป็นดังทางสาน
แพร่ง.
ธรรมวิถีพระองค์ทรงสร้างไว้สวยงาม พระวินัย พระสูตร
พระอภิธรรม และพระพุทธพจน์อันมีองค์ 9 ทั้งสิ้นนี้ เป็น
ดังธรรมสภาในนครธรรมของพระองค์.
วิหารธรรม คือสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิต-
วิโมกข์ อเนญชสมาบัติ และนิโรธนี้ เป็นดังธรรมกุฎีในนคร
ธรรมของพระองค์.
พระธรรมเสนาบดีของพระองค์มีนามว่า สารีบุตร ทรงตั้ง
ไว้ว่า เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา และว่าเป็นผู้ฉลาดในปฏิภาณ.
ข้าแต่พระมุนี ปุโรหิตของพระองค์มีนามว่า โกลิตะ ผู้ฉลาด
ในจุติและอุปบัติ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์.
ข้าแต่พระมุนี พระมหากัสสปเถระผู้ดำรงวงศ์โบราณ
มีเดชรุ่งเรือง หาผู้เทียบถึงได้ยาก เลิศในธุดงคคุณ เป็นผู้
พิพากษาของพระองค์.

ข้าแต่พระมุนี พระเถระขุนคลังธรรมของพระองค์ มีนาม
ว่าพระอานนท์ เป็นพหูสูต ทรงธรรม และชำนาญพระบาลี
ทั้งปวง ในพระศาสนา.
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่แก่ข้าพระองค์ ทรง
ละเว้นพระเถระเหล่านี้ทั้งหมดเสีย แล้วทรงประทานการ
วินิจฉัยวินัย อันผู้รู้แจ้งแสดงแล้ว แก่ข้าพระองค์.
ภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้าบางรูป ถามปัญหาในวินัย
ในปัญหานั้น ข้าพระองค์ไม่ต้องคิด ย่อมแก้เนื้อความนั้นได้
ทันที.
ในกำหนดพุทธเขต เว้นพระมหามุนีเสีย ไม่มีใครเสมอ
กับข้าพระองค์ในเรื่องพระวินัย จักมีใครยิ่งกว่ามาแต่ไหน.
พระโคดมประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ แล้วทรง
ประกาศอย่างนี้ว่า ไม่ใครจะเสมอกับพระอุบาลี ในวินัยและ
ขันธกะ.
นวังคสัตถุศาสน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ มีกำหนดเพียง
ใด ทั้งหมดนั้นเรากล่าวไว้แล้วในวินัย แก่บุคคลผู้เห็นว่า
มีวินัยเป็นมูลราก.
พระโคดมศากยบุตรผู้ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของ
เรา ประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์ ทรงตั้งเราไว้ในตำแหน่ง
เอตทัคคะ.
เราได้ปรารถนาตำแหน่งนี้ไว้ ตั้งต้นแต่แสนกัป ประโยชน์
นั้นเราได้ถึงแล้ว เราถึงที่สุดในพระวินัย.

เมื่อก่อนเราเป็นช่างกัลบก ผู้ยังความยินดีให้เกิดแก่เจ้า-
ศากยะทั้งหลาย เราละชาตินั้นแล้วเกิดเป็นบุตรของพระผู้
แสวงหาคุณใหญ่.
ในกัปที่สองแต่ภัทรกัปนี้ พระมหากษัตริย์เจ้าแผ่นดิน
พระนามว่าอัญชสะ มีพระเดชานุภาพสูงสุด มีบริวารประมาณ
มิได้ มีทรัพย์มากมาย.
เราเป็นกษัตริย์นามว่าจันทนะ เป็นโอรสของพระราชา
องค์นั้น เป็นคนกระด้างเพราะความเมาในชาติ และเพราะ
ความเมาในยศและโภคะ.
ช้างแสนหนึ่งประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง เป็นช้าง
ตกมันโดยฐานะสาม เกดในตระกูลช้างมาตังคะ ห้อมล้อมเรา
อยู่ทุกเมื่อ.
เราห้อมล้อมด้วยพลของตน ประสงค์จะประพาสอุทยาน
จึงขึ้นช้างชื่อว่าสิริ แล้วออกจากพระนครในกาลนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านามว่าเทวละ สมบูรณ์ด้วยจรณะ
คุ้มครองทวาร และสำรวมเป็นอันดี เดินมาข้างหน้าเรา.
เวลานั้นเราได้ไสช้างสิรินาคไปให้ทำร้ายพระปัจเจกพุทธ-
เจ้า. เพราะการบังคับไสไปนั้น ช้างเกิดความโกรธ (ในเรา)
จึงไม่ยกเท้าขึ้น.
เราเห็นช้างร้องไห้ จึงได้กระทำความโกรธในพระ-
ปัจเจกพุทธเจ้า เราเบียดเบียนพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วไปยัง
อุทยาน.

ณ ที่นั้น เราไม่ได้ความสุขเสียเลย เหมือนไฟลุกโพลง
อยู่บนศีรษะ ย่อมร้อนด้วยความเร่าร้อน เหมือนปลาติดเบ็ด.
แผ่นดินมีสมุทรสาครเป็นที่สุด ปรากฏแก่เราเหมือนไฟ
ติดทั่วแล้ว เราเข้าไปเฝ้าพระชนกแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า
หม่อมฉันได้ทำพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์ใดผู้เป็นสยัมภู
ผู้เดินมา เหมือนอสรพิษโกรธ ดุจกองฟางไหม้โพลง
ประหนึ่งช้างกุญชรตัวฝึกแล้วซึ่งตกมันให้ขัดเคือง พระ-
ปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นั้น หม่อมฉันให้ขัดเคืองแล้ว เป็นผู้
พึงกลัวมีเดชกล้า เป็นพระชินเจ้า.
(พระชนกตรัสว่า) พวกเราชาวบุรีทั้งหมดจักพินาศ เรา
จักขอขมาพระมุนีนั้น ถ้าเราจะไม่ขอขมาท่านผู้มีตนอันฝึกแล้ว
มีจิตตั้งมั่น ภายใน 7 วัน แว่นแคว้นของเราจักพินาศ.
สุเมขลราชา โกสิยราชา สิคควราชา และสัตตกราชา
ได้รุกรานฤๅษีทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นพร้อมทั้งเสนาเป็นผู้ตก
ยากแล้ว.
ฤๅษีทั้งหลายผู้สำรวมแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ โกรธ
เคืองเมื่อใด เมื่อนั้นท่านย่อมยังมนุษยโลกพร้อมด้วยเทวโลก
ทั้งสาครและภูเขาให้พินาศ.
เราจึงสั่งให้บุรุษทั้งหลายประชุมกัน ในประเทศประมาณ
สามพันโยชน์ เพื่อต้องการแสดงโทษ จึงได้เข้าไปหาพระ-
ปัจเจกสัมพุทธเจ้า.

เราทั้งหมดมีผ้าเปียก มีศีรษะเปียก ประนมอัญชลี พา
กันหมอบลงแทบเท้า ของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า แล้วได้
เรียนท่านดังนี้ว่า
ข้าแต่พระมหาวีระ ขอเจ้าประคุณได้อดโทษเถิด มหา-
ชนอ้อนวอนเจ้าประคุณ ขอเจ้าประคุณได้โปรดบรรเทาความ
เร่าร้อน และขออย่าให้แว่นแคว้นพินาศเลย มนุษย์พร้อม
ทั้งเทวดา อสูรและผีเสื้อน้ำทั้งหมด พึงต่อยศีรษะของกระผม
ด้วยค้อนเหล็กทุกเมื่อ.
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า) ไฟไม่ตั้งอยู่ในน้ำ พืช
ไม่งอกบนหินล้วน ๆ กิมิชาติไม่ดำรงอยู่ในยาพิษ ฉันใด
ความโกรธย่อมไม่เกิดในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ฉันนั้น.
อนึ่ง พื้นดินไม่หวั่นไหว สมุทรสาครประมาณไม่ได้ และ
อากาศไม่มีที่สุด ฉันใด พระพุทธะอันใคร ๆให้กำเริบไม่ได้
ฉันนั้น.
พระมหาวีรเจ้าทั้งหลายมีตนฝึกแล้ว อดทน และมีตบะ
เจ้าประคุณทั้งหลายผู้อดทน ประกอบด้วยความอดทน ย่อม
ไม่มีการลุแก่อคติ.
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ได้บรรเทา
ความเร่าร้อนให้หมดไป ในกาลนั้นเราได้เหาะขึ้นสู่อากาศ
ข้างหน้ามหาชน กล่าวว่า
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์ได้เข้าถึง
ความเลวทราม พ้นจากชาตินั้นแล้ว จึงได้เข้าสู่บุรีอันไม่มีภัย.

ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า แม้ในกาลนั้น พระองค์ก็ได้บรรเทา
ความเร่าร้อนอันตั้งอยู่ดี ให้แก่ข้าพระองค์ผู้เดือดร้อนอยู่ และ
ข้าพระองค์ก็ได้ขอขมาพระสยัมภูเจ้าแล้ว.
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า แม้วันนี้พระองค์ได้ดับไฟ 3 กอง
ให้แก่ข้าพระองค์ ผู้ถูกไฟ 3 กองเผาอยู่ และข้าพระองค์
ได้ถึงความเย็นแล้ว.
ท่านเหล่าใดมีการเงี่ยโสตลงฟัง ขอท่านเหล่านั้นจงฟัง
เรากล่าว เราจักบอกเนื้อความแก่ท่าน ตามบทที่เราเห็นแล้ว.
เราดูหมิ่นพระสยัมภูผู้เป็นเอง ผู้มีจิตสงบ มีใจมั่นคง
นั้นแล้ว เพราะกรรมนั้น วันนี้เราจึงเกิดในกำเนิดต่ำทราม.
ขณะอย่าพลาดท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะผู้ที่ล่วงขณะ
ย่อมเศร้าโศก ท่านทั้งหลายจงพยายามในประโยชน์ของตน
ท่านทั้งหลายจงยังขณะให้สำเร็จ.
ยาสำรอกของบุคคลบางพวก เป็นยาถ่ายของบุคคลบาง
พวก ยาพิษร้ายของบุคคลบางพวก เป็นยาของบุคคลบาง
พวก.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสบอกการเปลื้องสงสารแก่ผู้
ปฏิบัติ ตรัสบอกการออกจากสงสารแก่ผู้ตั้งอยู่ในผล ตรัส
บอกโอสถแก่ผู้ได้ผล ตรัสบอกบุญเขตแก่ผู้แสวงหา ตรัสบอก
ยาพิษอันร้ายแรงแก่บุคคลผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา ยาพิษ
อันร้ายแรงย่อมเผานระนั้น เหมือนอสรพิษมีพิษร้ายฉะนั้น.

ยาพิษอันกล้าแข็งที่บุคคลดื่มแล้ว ย่อมยังชีวิตให้พินาศ
ได้ครั้งเดียว แต่คนที่ผิดในพระศาสนาแล้ว ย่อมถูกเผาใน
โกฏิกัป.
พระศาสนานั้นย่อมข้ามโลกพร้อมทั้งเทวโลกได้ เพราะ
ขันติ อวิหิงสา และเพราะมีจิตเมตตา เพราะฉะนั้น พระ-
พุทธะเหล่านั้นอันใคร ๆ ให้พิโรธไม่ได้.
พระมุนี มีจิตเสมอในสรรพสัตว์ คือในพระเทวทัต
นายขมังธนู องคุลิมาลโจร พระราหุล และในช้างธนบาล.
พระพุทธเจ้าเหล่านี้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความกำหนัด
เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงมีจิตเสมอในชนทั้งปวง คือ
ในผู้ฆ่าและพระโอรส.
ใคร ๆ เห็นผ้ากาสาวะอันเขาทิ้งไว้ที่หนทาง เปื้อนของ
ไม่สะอาด เป็นธงชัยของฤาษี พึงยกกรอัญชลีบนเศียรเกล้า
ไหว้.
พระพุทธเจ้าเหล่าใดในอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี อนาคตก็ดี
ย่อมบริสุทธิ์ด้วยธงชัยนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่า
นั้น ควรนมัสการ.
เราย่อมทรงพระวินัยอันงาม เช่นกับพระศาสดา ไว้ด้วย
หทัย เราจักนมัสการพระวินัยในกาลทุกเมื่อ.
พระวินัยเป็นที่อาศัยของเรา พระวินัยเป็นที่ยืนเดินของ
เรา เราจะสำเร็จการอยู่ในพระวินัย พระวินัยเป็นโคจรของ
เรา.

ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระอุบาลีผู้ถึงที่สุดในพระวินัย
และฉลาดในสมถะ ขอถวายบังคมที่พระบาทของพระองค์
ผู้เป็นพระศาสดา.
ข้าพระองค์นั้นจะไปจากบ้านนี้สู่บ้านโน้น จากบุรีนี้สู่บุรี
โน้น เที่ยวนมัสการพระสัมพุทธเจ้า และพระธรรม อัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว.
ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมด
แล้ว อาสวะทั้งปวงสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี ข้าพระองค์
ได้ดีแล้วหนอ ในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.
วิชชา 3 ข้าพระองค์ได้บรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า
ข้าพระองค์กระทำเสร็จแล้ว.
คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และ
อภิญญา 6 ข้าพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสอนของพระ-
พุทธเจ้า ข้าพระองค์ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.

ทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระได้กล่าวคาถาเหล่านั้น ด้วยประการ
ฉะนี้แล.
จบอุปาลีเถราปทาน

6. พรรณนาอุปาลีเถราปทาน


คำมีอาทิว่า นคเร หํสวติยา ดังนี้ เป็นอปทานของท่าน
พระอุบาลีเถระ.
แม้พระเถระนี้ ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปาง
ก่อนทั้งหลาย ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะคือพระ-
นิพพานไว้ในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า
ปทุมุตตระ ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ใน
นครหังสวดี. วันหนึ่ง ฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา ได้
เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศแห่งพระวินัยธร
ทั้งหลาย จึงกระทำกรรม คือการการทำอันยิ่งแด่พระศาสดา แล้ว
ปรารถนาฐานันดรนั้น.
เขาทำกุศลจนตลอดชีวิต แล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย ครั้นในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนของช่างกัลบก ญาติ
ทั้งหลายตั้งชื่อเขาว่า อุบาลี. อุบาลีนั้นเจริญวัยแล้วได้เป็นสหายรักแห่ง
กษัตริย์ 6 พระองค์ มีเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น เมื่อพระตถาคตประทับอยู่
ในอนุปิยอัมพวัน ได้ออกบวชพร้อมกับกษัตริย์ทั้ง 6 องค์ผู้เสด็จออก
ทรงผนวช. วิธีการบรรพชาของพระอุบาลีนั้น มาในพระบาลีทีเดียว.
พระอุบาลีนั้น บรรพชาอุปสมบทแล้ว เรียนพระกรรมฐาน
ในสำนักของพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ. ขอพระ-
องค์จงทรงอนุญาตการอยู่ป่าแก่ข้าพระองค์. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อน
ภิกษุ เมื่ออยู่ป่า ธุระอย่างเดียวเท่านั้น จักเจริญงอกงาม แต่เมื่อ
อยู่ในสำนักของเรา วิปัสสนาธุระและคันถธุระจักบริบูรณ์.