เมนู

บทว่า เอตฺ ภยํ ได้แก่ ภัยคือการทำประโยชน์ให้เสื่อมไปนี้ คำนี้
พระราชาตรัสหมายเอาความเสื่อมสมาบัติของพระองค์.
บทว่า สนฺถเว ความว่า สันถวะมี 3 อย่าง คือตัณหาสันถวะ
ทิฏฐิสันถวะ และมิตตสันถวะ ในสันถวะ 3 อย่างนั้น ตัณหาทั้ง 108
ประเภท ชื่อว่า ตัณหาสันถวะ ทิฏฐิทั้ง 62 ชนิด ชื่อว่า ทิฏฐิสันถวะ
การอนุเคราะห์มิตรด้วยความเป็นผู้มีจิตผูกพัน ชื่อว่า มิตตสันถวะ. บรรดา
สันถวะ 3 เหล่านั้น ในที่นี้ประสงค์เอามิตตสันถวะนั้น. จริงอยู่ สมาบัติ
ของพระราชานั้นเสื่อม เพราะมิตตสันถวะนั้น. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
เราเห็นภัยนี้ในความสนิทสนม จึงได้บรรลุแล้ว. คำที่เหลือเช่นกับที่
กล่าวแล้วแล.
จบพรรณนามิตตสุหัชชคาถา

พรรณนาวังสกฬีรคาถา


คาถาว่า วํโส วิสาโล ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร ?
ได้ยินว่า ในปางก่อน พระปัจเจกโพธิสัตว์ 3 องค์ บวชใน
ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรสิ้นสองหมื่น
ปี แล้วเกิดขึ้นในเทวโลก. จุติจากเทวโลกนั้น บรรดาปัจเจกโพธิสัตว์
เหล่านั้น พระปัจเจกโพธิสัตว์องค์ใหญ่ บังเกิดในราชสกุลของพระเจ้า
พาราณสี พระปัจเจกโพธิสัตว์ 2 องค์นี้ บังเกิดในราชสกุลชายแดน.
พระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งสองนั้น เรียนกรรมฐานแล้ว สละราชสมบัติออก

บวช ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยลำดับ อยู่ที่เงื้อมนันทมูลกะ วันหนึ่ง
ออกจากสมาบัติแล้วรำพึงว่า เราทั้งหลายทำกรรมอะไรไว้ จึงได้บรรลุ
โลกุตรสุขนี้โดยลำดับ พิจารณาอยู่ก็ได้เห็นจริยาของตน ๆ ในกาลแห่ง
พระกัสสปพุทธเจ้า. แต่นั้น จึงรำพึงว่า องค์ที่ 3 อยู่ที่ไหน ก็ได้เห็น
ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี ระลึกถึงคุณทั้งหลายของพระ-
ปัจเจกโพธิสัตว์องค์นั้น คิดว่า พระปัจเจกโพธิสัตว์นั้น เป็นผู้ประกอบ
ด้วยคุณมีความมักน้อยเป็นต้นตามปกติทีเดียว เป็นผู้โอวาทกล่าวสอน
เฉพาะพวกเรา อดทนต่อถ้อยคำ มีปกติติเตียนบาป เอาเถอะ เราจะ
แสดงอารมณ์นั้นแล้วจึงจะบอก จึงหาโอกาสอยู่ วันหนึ่ง เห็นพระราชา
นั้นทรงประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เสด็จไปยังอุทยาน จึงมาทาง
อากาศแล้วได้ยืนอยู่ที่ควงพุ่มไม้ไผ่ใกล้ประตูอุทยาน. มหาชนไม่อิ่ม แหงน
ดูพระราชา โดยการมองดูพระราชา. ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า
มีไหมหนอ ใคร ๆ ไม่กระทำความขวนขวายในการดูเรา จึงตรวจดูอยู่
ก็ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งสอง ก็ความเสน่หาในพระปัจเจกพุทธเจ้า
ทั้งสองนั้น เกิดขึ้นแก่พระองค์ พร้อมกับการเห็นทีเดียว. พระองค์จึง
เสด็จลงจากคอช้าง เสด็จเข้าไปหาด้วยมารยาทอันเรียบร้อย แล้วตรัส
ถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายชื่ออะไร ? พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งสอง
ทูลว่า มหาบพิตร อาตมภาพทั้งสองชื่ออสัชชมานะ. พระราชาตรัสถามว่า
ท่านผู้เจริญ ชื่อว่า อสัชชมานะ นี้ มีความหมายอย่างไร ? พระปัจเจก-
พุทธเจ้าทูลว่า มีความหมายว่า ไม่ข้อง ถวายพระพร.
ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงชี้ที่กอไม้ไผ่แล้วทูลว่า มหาบพิตร
กอไม้ไผ่นี้เอารากลำต้น กิ่งใหญ่ และกิ่งน้อยเกี่ยวก่ายกันอยู่โดยประการ

ทั้งปวง บุรุษผู้มีดาบในมือเมื่อตัดรากแล้วดึงออกอยู่ ก็ไม่อาจถอนออก
มาได้ แม้ฉันใด พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกชัฏภายในและภายนอก
ทำให้พันกันนุง พัวพันติดข้องอยู่ในอารมณ์นั้น ก็หรือว่า หน่อไม้ไผ่นี้
แม้จะอยู่ท่ามกลางกอไผ่นั้น ตั้งอยู่อันอะไร ๆ ไม่รัดติด เพราะยังไม่เกิดกิ่ง
ก็แต่ว่า ใคร ๆ ไม่อาจจะตัดยอดหรือโคนต้นแล้วดึงออกมา แม้ฉันใด
อาตมภาพทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ข้องอยู่ในอะไร ๆ ไปได้ทั่วทุก
ทิศ ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ทันใดนั้นจึงเข้าจตุตถฌาน เมื่อพระราชา
ทอดพระเนตรดูอยู่นั่นแล ได้ไปยังเงื้อมเขาชื่อว่า นันทมูลกะ ทางอากาศ.
ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เมื่อไรหนอ แม้เราก็จะเป็นผู้ไม่
ข้องอย่างนี้ ทั้งที่ประทับยืนอยู่ในที่นั้นนั่นเอง ทรงเห็นแจ้งอยู่ ได้
กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว. ท่านถูกถามกรรมฐานโดยนัยอัน
มีในก่อนนั่นแหละ จึงได้กล่าวคาถานี้.
ไม้ไผ่ ชื่อว่า วังสะ ในคาถานั้น. บทว่า วิสาโล ได้แก่ แผ่
ออกไป. ว อักษร มีอรรถว่าห้ามเนื้อความอื่น อีกอย่างหนึ่ง อักษร
นี้ คือ เอว อักษร. ในที่นี้ เอ อักษรหายไป ด้วยอำนาจสนธิการต่อ
เอ อักษรนั้น เชื่อมเข้ากับบทเบื้องปลาย. เราจักกล่าวข้อนั้นภายหลัง.
บทว่า ยถา ใช้ในการเปรียบ. บทว่า วิสตฺโต ได้แก่ ติด นุงนัง
เกี่ยวพัน. บทว่า ปุตฺเตสุ ทาเรสุ จ ได้แก่ ในบุตร ธิดา และภรรยา.
บทว่า ยา เปกฺขา ได้แก่ ความอยากใด คือ ความเสน่หาอันใด. บทว่า
วํสกฺกฬีโรว อสชฺชมาโน ความว่า ไม่ติดอยู่ ดังหน่อไม้ไผ่. ท่าน
อธิบายไว้อย่างไร ? (ท่านอธิบายไว้ว่า) ไม้ไผ่แผ่กว้างย่อมเป็นของเกี่ยวพัน
กันแท้ ฉันใด ความห่วงใยในบุตรธิดาและภรรยาแม้นั้น ก็ฉันนั้น ชื่อว่า

ติดข้องวัตถุเหล่านั้น เพราะเป็นสิ่งรึงรัดไว้. เรานั้นมีความห่วงใย ด้วย
ความห่วงใยนั้น จึงติดข้องอยู่ เหมือนไม้ไผ่ซึ่งแผ่กว้างไปฉะนั้น เพราะ
เหตุนั้น เราเห็นโทษในความห่วงใยอย่างนี้ จึงตัดความห่วงใยนั้นด้วย
มรรคญาณ ไม่ข้องอยู่ด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ในอารมณ์มีรูปเป็นต้น
ในอิฐผลมีลาภเป็นต้น หรือในภพมีกามภพเป็นต้น เหมือนหน่อไม้ไผ่นี้
จึงได้บรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ. คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแหละ.
จบพรรณนาวังสกฬีรคาถา

พรรณนามิโคอรัญญคาถา


คาถาว่า มิโค อรญฺญมฺหิ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร ?
ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระโยคาวจรในศาสนาของพระผู้มี-
พระภาคเจ้า กัสสป กระทำกาละแล้ว เกิดขึ้นในสกุลเศรษฐีในเมือง
พาราณสี ซึ่งมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เขาได้เป็นผู้ถึงความงาม
แต่นั้นได้เป็นผู้ผิดภรรยาของคนอื่น กระทำกาละแล้วบังเกิดในนรก ไหม้
อยู่ในนรกนั้น ด้วยวิบากของกรรมที่เหลือ จึงถือปฏิสนธิเป็นหญิงในท้อง
ของภรรยาเศรษฐี. สัตว์ทั้งหลายที่มาจากนรก ย่อมมีความร้อนอยู่ด้วย.
ด้วยเหตุนั้น ภรรยาของเศรษฐี มีครรภ์ร้อน ทรงครรภ์นั้นโดยยาก
ลำบาก คลอดทาริกาตามเวลา. ทาริกานั้นจำเดิมแต่วันที่เกิดมาแล้ว เป็น
ที่เกลียดชังของบิดามารดา และของพวกพ้องกับปริชนที่เหลือ และพอ
เจริญวัยแล้ว บิดามารดายกให้ในตระกูลใด ได้เป็นที่เกลียดชังของสามี