เมนู

อรรถกถาปุพพันตานุทิฏฐินิเทศ


เจ้าทิฏฐิชื่อว่า สัสสตวาทะ เพราะกล่าวถึงความเที่ยงใน ปุพพัน-
ตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นขันธ์ในส่วนอดีต) และอปรันตานุทิฏฐิ (ความตาม
เห็นขันธ์ส่วนอนาคต). อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วาทะ เป็นเหตุกล่าว. บทนี้
เป็นชื่อของเจ้าทิฏฐิ. แม้วาทะว่าเที่ยง ก็ชื่อว่า สสัสตะ เพราะประกอบด้วย
สัสสตทิฏฐิ. ชื่อว่า สัสสตวาทะ เพราะมีวาทะว่าเที่ยง. อนึ่ง วาทะว่า
เที่ยงเป็นบางอย่างชื่อว่า เอกัจจสัสสตะ ชื่อว่า เอกัจจสัสสติกา เพราะ
มีทิฏฐิว่า เที่ยงเป็นบางอย่างนั้น. อนึ่ง วาทะเป็นไปว่า โลกมีที่สุด ไม่มีที่สุด
ทั้งมีที่สุดทั้งไม่มีที่สุด มีที่สุดก็หามิได้ ไม่มีที่สุดก็หามิได้ ชื่อว่า อันตานันตะ
ชื่อว่า อันตานันติกา เพราะมีทิฏฐิว่าโลกมีที่สุดและไม่มีที่สุด. ชื่อว่า อมรา
เพราะไม่ตาย. อะไรไม่ตาย. ทิฏฐิและวาจาของเจ้าทิฏฐิผู้ปราศจากที่สุดโดยนัย
มีอาทิว่า แม้อย่างนี้ก็ไม่มีแก่เรา. ความซัดส่ายไปมี 2 อย่าง คือ ซัดส่ายไป
ด้วยทิฏฐิหรือวาจาอันไม่ตายตัว ชื่อว่า อมราวิกเขปะ. ชื่อว่า อมราวิกเข-
ปิกา
เพราะมีทิฏฐิซัดส่ายไม่ตายตัว.
บทว่า อธิจฺจสมุปปนฺโน เกิดขึ้นลอย ๆ คือความเห็นว่า ตนและ
โลกเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนะ ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนิกา
เพราะมีทิฏฐิว่า ตนและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ.
จบอรรถกถาปุพพันตานุทิฏฐินิเทศ

อรรถกถาอปรันตานุทิฏฐินิเทศ


เจ้าทิฏฐิชื่อว่า สัญญีวาทะ เพราะกล่าวตนเมื่อตายแล้วมีสัญญา.
ชื่อว่า อสัญญีวาทะ เพราะกล่าวว่าตนเมื่อตายแล้วไม่มีสัญญา. ชื่อว่า
เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ เพราะกล่าวว่าตนเมื่อตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ไม่มี
สัญญาก็ไม่ใช่.
อีกอย่างหนึ่ง วาทะอันเป็นไปว่ามีสัญญา ชื่อว่า สัญญีวาทะ เจ้าทิฏฐิ
เท่านั้นชื่อว่า สัญญีวาทะ เพราะมีวาทะว่ามีสัญญา. อสัญญีวาทะและ
เนวสัญญีนาสัญญีวาทะก็เหมือนอย่างนั้น.
เจ้าทิฏฐิชื่อว่า อุจเฉทวาทะ เพราะกล่าวว่าสูญ. บทว่า ทิฏฺฐธมฺโม
คือ ธรรมที่เห็นประจักษ์หมายถึงธรรมเป็นปัจจุบัน. บทนี้เป็นชื่อของอัตภาพ
ที่ได้ในปัจจุบันนั้น ๆ. นิพพานในปัจจุบันชื่อว่าทิฏฐิธรรมนิพพาน. ความว่า
การเข้าไปสงบทุกข์ในอัตภาพนี้แล. ชื่อว่า ทิฏฐิธรรมนิพพานวาทะ เพราะ
กล่าวถึงนิพพานเป็นปัจจุบันธรรมนั้น.
อนึ่ง เมื่อบทนี้พิสดารในนิเทศนี้ จึงควรกล่าวถึงพรหมชาลสูตร
ทั้งสิ้นพร้อมด้วยอรรถกถา. ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ย่อมช้าเกินไป เพราะฉะนั้นจึง
ไม่ให้พิสดาร. ผู้มีความต้องการสูตรนั้น ควรค้นคว้าหาดูเอาเอง.
จบอรรถกถาอปรันตานุทิฏฐินิเทศ