เมนู

อรรถกถาอุจเฉททิฏฐินิเทศ


บทว่า สกฺกายวตฺถุกาย อุจเฉททิฏฺฐิยา อุจเฉททิฏฐิมิสักกายะ
เป็นวัตถุ คือทิฏฐิที่เหลือ 4 อย่าง แสดงย่อไว้เป็นอย่างเดียวกันว่า เห็นรูป
โดยความเป็นตน ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถาอุจเฉททิฏฐินิเทศ

อรรถกถาอันตคาหิกทิฏฐิ


บทว่า อนฺตคาหิกาย ทิฏฺฐิยา ทิฏฐิอันถือเอาที่สุด เป็นการถาม
ตามอาการในวาระที่หนึ่ง ถือเอาตามอาการในวาระที่สอง กล่าวแก้อาการ
ในวาระที่สาม.
ในบทเหล่านั้น บทว่า โลโก คือ ตัวตน. บทว่า โส อนฺโต
โลกนั้น มีที่สุด คือ ในที่สุดของความเที่ยงและความสูญอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ที่สุดของความเที่ยง ในการถือว่าเที่ยงที่สุดของความสูญในการถือว่าไม่เที่ยง.
บทว่า ปริตฺตํ โอกาสํ สู่โอกาสนิดหน่อย คือ สู่ที่เล็กน้อยเพียงกระด้งหรือ
ชาม. บทว่า นีลกโต ผรติ ทำสีเขียวแผ่ไป คือ เป็นอารมณ์ว่า สีเขียว.
บทว่า อยํ โลโก โลกนี้ ท่านกล่าวหมายถึงตน. บทว่า ปริวฏุโม
โลกกลม คือ มีกำหนดไว้โดยรอบ. บทว่า อนฺตสญฺญี คือ มีความสำคัญ
ว่ามีที่สุด.

บทว่า ยํ ผรติ คือ กสิณรูปแผ่ไป. บทว่า ตํวตฺถุ เจว โลโก จ
วัตถุและโลก คือกสิณรูปนั้นเป็นอารมณ์และโลกด้วยอรรถว่าพึงแลดู. บทว่า
เยน ผรติ คือแผ่ไปด้วยจิต. บทว่า โส อตฺตา เจว โลโก จ ได้แก่
ตนและโลกทำให้เป็นปุงลิงค์เพราะเพ่งตน. ท่านอธิบายว่า ตนนั่นแล คือ
จิตและชื่อว่าโลก เพราะอรรถว่า พึงมองดู.
บทว่า อนฺตวา คือ มีที่สุด. บทว่า โอภาสกโต ผรติ ทำ
แสงสว่างแผ่ไป คือ แสงสว่างด้วยอาโลกกสิณ เตโชกสิณ หรือโอทาตกสิณ
แผ่ไป. เพราะยึดกสิณมีแสงสว่าง 5 ชนิด มีนีลกสิณเป็นต้น จึงควรถือว่า
ไม่มีการถือผิดตนด้วยอำนาจปฐวีกสิณ อาโปกสิณและวาโยกสิณ. บทว่า วิปุลํ
โอภาสํ
สู่โอภาสอันกว้าง คือสู่ที่ใหญ่โดยมีประมาณบริเวณลานเป็นต้น.
บทว่า อนนฺตวา ไม่มีที่สุด คือไม่มีที่สุดกว้างขวาง. บทว่า อปริยนฺโต
หาที่สุดมิได้ คือหาที่สุดอันกว้างขวางมิได้. บทว่า อนนฺตสญฺญี คือมีความ
สำคัญว่าโลกไม่มีที่สุด.
บทว่า ตํ ชีวํ คือชีพอันนั้น. อนึ่ง บทว่า ชีโว คือตัวตนนั้นเอง.
แม้ขันธ์ 5 มีรูปขันธ์เป็นต้น ก็ชื่อว่าสรีระ เพราะอรรถว่ามีความหมุนไป. บทว่า
ชีวํ น สรีรํ ชีพไม่ใช่สรีระ คือ ชีพได้แก่ตน ไม่ใช่สรีระอันได้แก่รูป.
ในเวทนาเป็นต้นก็มีนัยนี้.
บทว่า ตถาคโต คือ สัตว์. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า พระอรหันต์.
บทว่า ปรมฺมรณา เบื้องหน้าแต่ตาย คือในโลกอื่น. บทว่า รูปํ อิเธว
มรณธมฺมํ
รูปมีความตายเป็นธรรมดาในโลกนี้แหละ คือการถือเบญจขันธ์
โดยหัวข้อของขันธ์ที่ปรากฏแก่ตน. อธิบายว่า รูปนั้นปกติสูญหายไปใน
โลกนี้แหละ. แม้ในขันธ์ที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
บทว่า กายสฺส เภทา แต่กายแตก คือเบื้องหน้าแต่กายคือขันธ์ 5
แตก. ท่านกล่าวความของอุเทศนี้ว่า ปรมฺมรณา เบื้องหน้าแต่ตายด้วยคำนี้.

บทว่า โหติ ในบทมีอาทิว่า โหติปิ เป็นอยู่บ้าง เป็นบทหลัก.
อปิ ศัพท์ แม้ในบททั้ง 4 เป็นสมุจจยัตถะมีความรวม. บทว่า ติฏฺฐติ คือ
คงอยู่ เพราะเป็นของเที่ยง อธิบายว่า ไม่จุติ. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า
ท่านกล่าวบทว่า ติฏฺฐติ เพื่อความต่างแห่งความของบทว่า โหติ. บทว่า
อุปฺปชฺชติ อุบัติขึ้นคือ อุบัติขึ้นด้วยเข้าไปสู่กำเนิดที่เป็นอัณฑชะ (เกิดแต่ไข่)
และชลาพุชะ (เกิดแต่น้ำ). บทว่า นิพฺพตฺติ เกิด คือเกิดด้วยเข้าไปสู่
กำเนิดที่เป็นสังเสทชะ (เกิดแต่เหงื่อไคล) โอปปาติกะ (ผุดเกิดขึ้น). พึง
ทราบการประกอบความดังนี้แล. บทว่า อุจฺฉิชฺชติ ย่อมขาดสูญ คือด้วย
ไม่มีการเกี่ยวเนื่องกัน. บทว่า วินสฺสติ ย่อมพินาศไป คือด้วยการแตก
ทำลายไป. บทว่า น โหติ ปรมฺมรณา เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก
เป็นการขยายความของบทก่อน. อธิบายว่า เบื้องหน้าแต่จุติแล้ว ย่อมไม่
เป็นอีก.
บทว่า โหติ จ น จ โหติ สัตว์เบื้องหน้าแต้ตายแล้ว ย่อมเป็น
อีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มี เป็นทิฏฐิของพวกถือว่า เที่ยงบางอย่าง ความย่อมเป็น
โดยปริยายเดียว ไม่เป็นโดยปริยายเดียว. ท่านอธิบายว่า ย่อมเป็นเพราะความ
เป็นชีพ ไม่เป็นเพราะไม่มีชีพมาก่อน.
บทว่า เนว โหติ น น โหติ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อม
เป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ เป็นทิฏฐิของพวกอมราวิกเขปิกา
(ทิฏฐิซัดส่ายไม่ตายตัว). อธิบายว่า มีก็หามิได้ ไม่มีก็หามิได้ ย่อมทำเพียง
ปฏิเสธนัยที่ท่านกล่าวไว้ก่อน เพราะกลัวถูกติเตียนและเพราะกลัวพูดเท็จ
เพราะความมีปัญญาอ่อนและเพราะความงมงาย.
บทว่า อิเมหิ ปญฺญาสาย อากาเรหิ ด้วยอาการ 50 เหล่านี้
คือด้วยอาการ 50 ด้วยสามารถแห่งหมวด 5 หมวดละ 10 ตามที่กล่าวแล้ว.
จบอรรถกถาอันตคหาหิกทิฏฐินิเทศ

อรรถกถาปุพพันตานุทิฏฐินิเทศ


เจ้าทิฏฐิชื่อว่า สัสสตวาทะ เพราะกล่าวถึงความเที่ยงใน ปุพพัน-
ตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นขันธ์ในส่วนอดีต) และอปรันตานุทิฏฐิ (ความตาม
เห็นขันธ์ส่วนอนาคต). อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วาทะ เป็นเหตุกล่าว. บทนี้
เป็นชื่อของเจ้าทิฏฐิ. แม้วาทะว่าเที่ยง ก็ชื่อว่า สสัสตะ เพราะประกอบด้วย
สัสสตทิฏฐิ. ชื่อว่า สัสสตวาทะ เพราะมีวาทะว่าเที่ยง. อนึ่ง วาทะว่า
เที่ยงเป็นบางอย่างชื่อว่า เอกัจจสัสสตะ ชื่อว่า เอกัจจสัสสติกา เพราะ
มีทิฏฐิว่า เที่ยงเป็นบางอย่างนั้น. อนึ่ง วาทะเป็นไปว่า โลกมีที่สุด ไม่มีที่สุด
ทั้งมีที่สุดทั้งไม่มีที่สุด มีที่สุดก็หามิได้ ไม่มีที่สุดก็หามิได้ ชื่อว่า อันตานันตะ
ชื่อว่า อันตานันติกา เพราะมีทิฏฐิว่าโลกมีที่สุดและไม่มีที่สุด. ชื่อว่า อมรา
เพราะไม่ตาย. อะไรไม่ตาย. ทิฏฐิและวาจาของเจ้าทิฏฐิผู้ปราศจากที่สุดโดยนัย
มีอาทิว่า แม้อย่างนี้ก็ไม่มีแก่เรา. ความซัดส่ายไปมี 2 อย่าง คือ ซัดส่ายไป
ด้วยทิฏฐิหรือวาจาอันไม่ตายตัว ชื่อว่า อมราวิกเขปะ. ชื่อว่า อมราวิกเข-
ปิกา
เพราะมีทิฏฐิซัดส่ายไม่ตายตัว.
บทว่า อธิจฺจสมุปปนฺโน เกิดขึ้นลอย ๆ คือความเห็นว่า ตนและ
โลกเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนะ ชื่อว่า อธิจจสมุปปันนิกา
เพราะมีทิฏฐิว่า ตนและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ.
จบอรรถกถาปุพพันตานุทิฏฐินิเทศ