เมนู

มหาวรรค วิปัลลาสกถา


นิทานบริบูรณ์


ว่าด้วยวิปลาส 4


[525] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส
นี้มี 4 ประการ 4 ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสำคัญผิด
(แปรปรวน) ความคิดผิด ความเห็นผิด ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสภาพ
ที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสภาพที่มิใช่ตัวตนว่าตัวตน ในสภาพที่ไม่งามว่างาม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส 4 ประการนี้แล.
[526] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิ
ไม่วิปลาสนี้มี 4 ประการ 4 ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความ
สำคัญไม่ผิด ความคิดไม่ผิด ความเห็นไม่ผิด ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง
ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสภาพที่มิใช่ตัวตนว่ามิใช่ตัวตน ในสภาพ
ที่ไม่งามว่าไม่งาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิ
ไม่วิปลาส 4 ประการนี้แล.
สัตว์ทั้งหลายมีความสำคัญในสภาพที่ไม่เที่ยงว่า
เที่ยง มีความสำคัญในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข มี
ความสำคัญในสภาพที่มิใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน มีความ
สำคัญในสภาพที่ไม่งามว่างาม ถูกความเห็นผิดนำไป
มีจิตกวัดแกว่ง มีสัญญาผิด สัตว์เหล่านั้นติดอยู่ในบ่วง
ของมาร เป็นสัตว์ไม่มีความปลอดโปร่งจากกิเลส ต้อง

ไปสู่สงสาร เป็นผู้ถึงชาติและมรณะเมื่อใด พระพุทธ
เจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงส่องแสงสว่าง
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงประกาศธรรมนี้ อันให้ถึง
ความสงบระงับทุกข์ เมื่อนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญา
ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น แล้วกลับได้
ความคิดชอบ เห็นสภาพที่ไม่เที่ยงโดยความเป็นสภาพ
ไม่เที่ยง เห็นสภาพที่เป็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์ เห็น
สภาพที่มิใช่ตัวตน โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตนและ
เห็นสภาพที่ไม่งามว่าไม่งาม เป็นผู้ถือมั่นสัมมาทิฏฐิ
ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวง ฉะนี้แล.

วิปลาส 4 ประการนี้ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิละได้แล้ว ละทั่วแล้ว
วิปลาสเหล่าใดละได้แล้ว เหล่าใดละทั่วแล้ว ความสำคัญผิด ความคิดผิด
ความเห็นผิด ในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยงละได้แล้ว ความสำคัญ ความคิดใน
สภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุขเกิดขึ้น ทิฏฐิวิปลาสละได้แล้ว ความสำคัญผิด
ความคิดผิด ความเห็นผิด ในสภาพที่มิใช่ตัวตนว่าตัวตน ละได้แล้ว ความ
สำคัญ ความคิดในสภาพที่ไม่งามว่างามเกิดขึ้น ทิฏฐิวิปลาสละได้แล้ว วิปลาส
6 ในวัตถุ 2 ละได้แล้ว วิปลาส 2 ในวัตถุ 2 ละได้แล้ว วิปลาส 4
ละทั่วแล้ว และวิปลาส 8 ในวัตถุ 4 ละได้แล้ว วิปลาส 4 ละทั่วแล้ว.
จบวิปัลลาสกถา

อรรถกถาวิปัลลาสกถา


บัดนี้ จะพรรณนาตามลำดับความที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งวิปัลลาส-
กถา อันมีพระสูตรเป็นบทนำ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในวิปัลลาสะ
อันเป็นปัจจัยของกรรมนั้นกล่าวแล้ว. พึงทราบความในพระสูตรก่อน. บทว่า
สญฺญาวิปลฺลาสา คือมีความสำคัญคลาดเคลื่อนเป็นสภาวะ อธิบายว่ามี
สัญญาวิปริต. แม้ในสองบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. สัญญาวิปลาสย่อม
ปรากฏในกาลแห่งกิจของตนมีกำลัง ด้วยอกุศลสัญญาปราศจากทิฏฐิในฐานะ
แห่งกิจของจิตมีกำลังอ่อน.
จิตวิปลาส ย่อมเป็นไปในกาลแห่งกิจของตนเป็นอกุศลจิตปราศจาก
ทิฏฐิมีกำลัง. ทิฏฐิวิปลาสย่อมเป็นไปในจิตอันสัมปยุตด้วยทิฏฐิ.
เพราะฉะนั้น สัญญาวิปลาสมีกำลังอ่อนกว่าทั้งหมด. จิตวิปลาสมี
กำลังมากกว่าสัญญาวิปลาสนั้น. ทิฏฐิวิปลาสมีกำลังมากกว่าทั้งหมด. จริงอยู่
ชื่อว่าความสำคัญเพราะถือเอาเพียงอาการปรากฏแห่งอารมณ์ ดุจการเห็นกหา-
ปณะของทารกที่ยังไม่รู้เดียงสา. ชื่อว่าความคิดเพราะถึงแม้การรู้แจ้งลักษณะ
ดุจการเห็นกหาปณะของคนชาวบ้าน. ชื่อว่าความเห็นเพราะถึงแม้การรู้แจ้งลักษณะ
ดุจการจับเหล็กด้วยคีมใหญ่ของช่างเหล็ก.
บทว่า อนิจฺเจ นิจฺจนฺติ สญฺญาวิปลฺลาโส ความสำคัญผิดใน
สภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง คือความสำคัญอันเกิดขึ้น เพราะถือเอาในวัตถุไม่เที่ยง
ว่านี้เที่ยง ชื่อว่า สัญญาวิปลาส. พึงทราบความในบททั้งปวงโดยนัยนี้.