เมนู

[929] คำว่า นั้น ในคำว่า เราจักกล่าว...นั้น แก่ท่าน ตาม
ที่รู้
ความว่า ธรรมอันสมควรแก่โพธิ. คำว่า เราจักกล่าว ความว่า
จักบอกกล่าว ชี้แจง แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น
ประกาศ. คำว่า ตามที่รู้ คือเรารู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด
อย่างไร จักกล่าวซึ่งธรรมที่ประจักษ์แก่ตน อันตนรู้ยิ่งเอง มิใช่โดยต้อง
เชื่อต่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้ มิใช่โดยอ้างตำรา
มิใช่โดยนึกเดาเอาเอง มิใช่โดยคาดคะเนเอาเอง มิใช่โดยตรึกตามอาการ
มิใช่โดยเห็นว่าควรแก่ลัทธิของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เราจักกล่าว
... นั้นแก่ท่าน ตามที่รู้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสตอบว่า
(พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบดังนี้ว่า ดูก่อนสารีบุตร)
เราจักกล่าวซึ่งความผาสุก และธรรมตามสมควรนั้น ของ
ภิกษุผู้เกลียด ผู้ซ่องเสพที่นั่งและที่นอนอันสงัด ผู้
ปรารถนาสัมโพธิแก่ท่าน ตามที่รู้.

[930] ภิกษุผู้เป็นธีรชน มีสติ ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุด
รอบ ไม่พึงกลัวต่อภัย 5 ประการ คือตัวเหลือบ สัตว์
ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน สัมผัสแต่มนุษย์ และภัยแต่
สัตว์สี่เท้า.


ว่าด้วยภิกษุเป็นธีรชน


[931] คำว่า ผู้เป็นธีรชน ในคำว่า ผู้เป็นธีรชน...ไม่พึงกลัว
ต่อภัย 5 ประการ
ความว่า ผู้เป็นธีรชน เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญา-

ตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทำลายกิเลส ไม่พึงกลัว
ไม่พึงสะดุ้ง ไม่พึงหวาดเสียว ไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงถึงความสยดสยอง
ต่อภัย 5 ประการ คือเป็นผู้ไม่ขลาด ไม่ครั้นคร้าม ไม่หวาดเสียว ไม่หนี
เป็นผู้ละความกลัว ความขลาดเสียแล้ว ปราศจากความเป็นผู้มีขนลุกอยู่
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้เป็นธีรชน...ไม่พึงกลัวต่อภัย 5 ประการ.
[932] คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ...มีสติ ประพฤติธรรมเป็น
ส่วนสุดรอบ
คือภิกษุที่เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุที่เป็นพระเสขะ.
คำว่า มีสติ ความว่า มีสติด้วยเหตุ 4 ประการ คือเมื่อเจริญสติปัฏฐาน
คือพิจารณาเห็นกายในกาย ก็ชื่อว่ามีสติ. เมื่อเจริญสติปัฏฐานคือพิจารณา
เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ก็ชื่อว่ามีสติ. เมื่อเจริญสติปัฏฐานคือ
พิจารณาเห็นจิตในจิต ก็ชื่อว่ามีสติ. เมื่อเจริญสติปัฏฐานคือพิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลาย ก็ชื่อว่ามีสติ. ภิกษุนั้นท่านเรียกว่า เป็นผู้มีสติ.
ธรรมเป็นส่วนสุดรอบ ในคำว่า ประพฤติธรรมเป็นส่วนสุดรอบ มี 4
ประการ
คือธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือศีลสังวร 1 ธรรมเป็นส่วนสุดรอบ
คืออินทรียสังวร 1 ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา 1 ธรรม
เป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค 1.
ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือศีลสังวรเป็นไฉน ? ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีศีล สำรวมอยู่ในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร
เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลาย พิจารณาถึงความเสีย ณ ภายใน ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วน
สุดรอบคือศีลสังวร ณ ภายใน มิได้ทำลายศีลอันเป็นเขตแดน นี้ชื่อว่า
ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือศีลสังวร.

ธรรมเห็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวรเป็นไฉน ? ภิกษุในธรรม
วินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรม
อันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึง
ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถือ
อนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึง
เป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อม
รักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ พิจารณาอาทิตตปริยาย-
เทศนา ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบ คืออินทรียสังวรในภายใน
มิได้ทำลายอินทรีสังวรอันเป็นเขตแดน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุดรอบ
คืออินทรียสังวร.

ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตาเป็นไฉน ? ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อ
เล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อ
ความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความลำบากแห่ง
กายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนา
เก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และความดำเนินของเรา ความที่เรา
ไม่มีโทษ ความอยู่สบายของเราจักมี ดังนี้ อย่างเดียวเท่านั้น พิจารณา
อาหารเปรียบด้วยน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียน ผ้าสำหรับปิดแผลและ
เนื้อบุตร (ของคนที่เดินทางกันดาร) ชื่อว่า ประพฤติในธรรมเป็นส่วน
สุดรอบ คือโภชเนมัตตัญญุตา
ย่อมไม่ทำลายโภชเนมัตตัญญุตาอันเป็น

เขตแดนในภายใน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญ-
ญุตา.

ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยคเป็นไฉน ? ภิกษุในธรรม
วินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลาย อันเป็นเครื่องกั้นกาง
ด้วยการเดินการนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลาย
อันเป็นเครื่องกั้นกาง ด้วยการเดินการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อม
สำเร็จสีหไสยา (นอนอย่างราชสีห์) โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อม
เท้า มีสติสัมปชัญญะ ใส่ใจถึงสัญญาในความลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยาม
แห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมทั้งหลายอันเป็น
เครื่องกั้นกาง ด้วยการเดิน การนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี พิจารณา
ถึงความอยู่แห่งบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ ชื่อว่า ประพฤติในธรรมเป็น
ส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค
ในภายใน ย่อมไม่ทำลายชาคริยานุโยคอัน
เป็นเขตแดน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค เพราะเหตุ
นั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ...มีสติ ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบ.

ลักษณะตัวเหลือบเป็นต้น


[933] แมลงมีตาเหลือง เรียกว่า เหลือบ ในคำว่า ตัวเหลือบ
สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน แมลงวันแม้ทั้งปวง
เรียกว่าสัตว์ไต่ตอม
เหตุไรแมลงวันแม้ทั้งปวง จึงเรียกว่าสัตว์ไต่ตอม สัตว์เหล่านั้น ย่อมบิน
ตอม กัดกิน เหตุนั้น จึงเรียกว่า สัตว์ไต่ตอม งูทั้งหลาย เรียกว่า สัตว์
เลื้อยคลาน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ตัวเหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อย
คลาน.