เมนู

[255] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า :-
มุนีทราบโทษนั้น ในความเป็นฆราวาสอื่นแต่ความ
เป็นสมณะก่อนในธรรมวินัยนี้ พึงทำความประพฤติผู้เดียว
ให้มั่น ไม่พึงเสพเมถุนธรรม.


ว่าด้วยปฏิปทาของมุนี



[256] คำว่า มุนีทราบโทษนั้น ในความเป็นฆราวาสอื่น
แต่ความเป็นสมณะก่อน ในธรรมวินัยนี้
มีความว่า คำว่า นั้น
ได้แก่ มุนี ทราบ รู้ เทียบเคียง ทำให้แจ่มแจ้ง ทำให้เป็นแจ้ง ซึ่ง
สมบัติและวิบัตินั้น คือ ยศและเกียรติในกาลก่อน คือ ในคราวเป็น
สมณะ ย่อมกลายเป็นความเสื่อมยศและเสื่อมเกียรติ ของภิกษุผู้บอกคืน
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิกขาแล้วเวียนมาเป็นคฤหัสถ์ใน
ภายหลัง.
คำว่า มุนี ความว่า ญาณ เรียกว่า โมนะ ได้แก่ ปัญญา
ความรู้ทั่ว ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหาเพียงดังข่าย ดำรง
อยู่ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่า มุนี.
คำว่า ในธรรมวินัยนี้ ได้แก่ ในทิฏฐิ ในความควร ในความ
ชอบใจ ในเขตแดน ในธรรม ในวินัย ในธรรมวินัย ในปาพจน์ ใน
พรหมจรรย์ ในสัตถุศาสน์ ในอัตภาพ ในมนุษยโลกนี้ เพราะเหตุนั้น
จึงชื่อว่า มุนีทราบโทษนั้น ในความเป็นฆราวาสอื่นแต่ความเป็น
สมณะก่อน ในธรรมวินัยนี้
.

[257] คำว่า พึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง มีความ
ว่าพึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ด้วยส่วน
บรรพชา 1, ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่ 1.
พึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง ด้วยส่วนบรรพชาอย่างไร ?
มุนีตัดกังวลในฆราวาสทั้งหมด ตัดกังวลในบุตรและภรรยา ตัดกังวลใน
ญาติ ตัดกังวลในมิตรและอมาตย์ ตัดกังวลในความสั่งสมแล้ว ปลงผม
และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว เข้าถึง
ความเป็นผู้ไม่มีกังวล พึงเป็นผู้เดียวประพฤติ คือ อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ
ประพฤติ รักษา เป็นไป ยิ่งอัตภาพให้เป็นไป มุนีพึงทำความประพฤติ
ผู้เดียวให้มั่นคง ด้วยส่วนบรรพชาอย่างนี้.
พึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่
อย่างไร ? มุนีนั้นบวชแล้วอย่างนั้น พึงเป็นผู้เดียวซ่องเสพเสนาสนะอัน
เป็นป่าละเมาะและป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย ปราศจากเสียงกึกก้อง
ปราศจากชนผู้สัญจรไปมา เป็นที่ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่
การหลีกเร้น มุนีนั้นพึงเดินผู้เดียว พึงยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว
เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐาน
จงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียวประพฤติ คือ อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ
รักษา เป็นไป มุนีพึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง ด้วยการละความ
คลุกคลีด้วยหมู่อย่างนี้ มุนีพึงทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคงถาวร มี
การสมาทานมั่นคง มีการสมาทานตั้งลงในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะ
ฉะนั้นจึงชื่อว่า พึงกระทำความประพฤติผู้เดียวให้มั่นคง.

[258] คำว่า ไม่พึงเสพเมถุนธรรม มีความว่า ชื่อว่าเมถุน-
ธรรม ได้แก่ธรรมของอสัตบุรุษ ฯลฯ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าเมถุนธรรม
มุนีไม่พึงเสพ ไม่พึงซ่องเสพ ไม่พึงร่วม ไม่พึงเสพเฉพาะ ซึ่งเมฤุนธรรม
เพาะฉะนั้นจึงชื่อว่า ไม่พึงเสพเมถุนธรรม เพราะเหตุนั้น พระผู้มี
พระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-
มุนีทราบโทษนั้น ในความเป็นฆราวาสอื่นแต่ความ
เป็นสมณะก่อน ในธรรมวินัยนี้ พึงทำความประพฤติ
ผู้เดียวให้มั่น ไม่พึงเสพเมถุนธรรม.

[259] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า :-
บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นเทียว เพราะความประพฤติ
วิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย บุคคล
ไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐด้วยความประพฤติวิเวก
นั้น บุคคลนั้นแลย่อมเข้าไปใกล้พระนิพพาน.

[260] คำว่า บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั้นเทียว มีความว่า คำว่า
วิเวก ได้แก่ วิเวก 3 อย่างคือ กายวิเวก 1 จิตตวิเวก 1 อุปธิวิเวก 1
กายวิเวกเป็นไฉน ? ฯลฯ นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก ก็กายวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้
มีกายหลีกออกแล้ว ยินดียิ่งในเนกขัมมะ จิตตวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิต
บริสุทธิ์ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง อุปธิวิเวกย่อมมีแก่บุคคล
ผู้หมดอุปธิ ถึงซึ่งพระนิพพานอันเป็นวิสังขาร.
คำว่า ศึกษา ได้แก่ สิกขา 3 อย่าง คืออธิศีลสิกขา 1 อธิจิตต-
สิกขา 1 อธิปัญญาสิกขา 1 ฯลฯ นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา.

คำว่า บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นเทียว ความว่าพึงศึกษา พึง
ประพฤติเอื้อเฟื้อ พึงประพฤติด้วยดี พึงสมาทานประพฤติวิเวกนั่นเทียว
เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นเทียว.
[261] คำว่า ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุด
ของพระอริยะทั้งหลาย
มีความว่า พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า เรียกว่า พระอริยะ ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจ
อันเลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นใหญ่ สูงสุด บวร ของพระอริยะทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ความประพฤติวิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุดของ
พระอริยะทั้งหลาย
.
[262] คำว่า บุคคลไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐด้วย
ความประพฤติวิเวกนั้น
มีความว่าบุคคลไม่พึงทำความกำเริบขึ้น ไม่พึง
ทำความยกตน ไม่พึงทำความถือตัว ไม่พึงทำความกระด้างด้วยความ
ประพฤติวิเวกนั้น คือ ไม่พึงยังความถือตัวให้เกิด ไม่พึงทำความผูกพัน
ด้วยความประพฤติวิเวกนั้น ไม่พึงเป็นผู้กระด้าง เย่อหยิ่ง หัวสูง ด้วย
ความประพฤติวิเวกนั้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า บุคคลไม่พึงสำคัญว่า เรา
เป็นผู้ประเสริฐด้วยความประพฤติวิเวกนั้น
.
[263] คำว่า บุคคลนั้นแลย่อมเข้าไปใกล้พระนิพพาน มี
ความว่า บุคคลนั้นย่อมเข้าไปในที่ใกล้ ในที่ใกล้รอบ ในที่ใกล้เคียง ไม่
ห่างไกล ใกล้ชิดต่อพระนิพพาน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า บุคคลนั้นแล
ย่อมเข้าไปใกล้พระนิพพาน
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึง
ตรัสว่า :-

บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นเทียว เพราะความประพฤติ
วิเวกนั้น เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย บุคคล
ไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐด้วยความประพฤติวิเวก
นั้น บุคคลนั้นแลย่อมเข้าไปใกล้พระนิพพาน.

[264] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า :-
หมู่สัตว์ผู้ยินดีในถามทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อมุนี
ผู้ประพฤติว่าง ไม่มีอาลัยในกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะ
ได้แล้ว.

[265] คำว่า ต่อมุนีผู้ประพฤติว่าง มีความว่า คำว่า ว่าง
คือ ผู้ว่าง ผู้เปล่า ผู้สงัด จากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ราคะ
โทสะ โนหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ
ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความ
แข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่นท่าน ความเมา ความประมาท กิเลส
ทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง
ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง.
คำว่า มุนี ความว่า ญาณเรียกว่าโมนะ ได้แก่ปัญญา ความรู้
ทั่ว ฯลฯ ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องต้องและตัณหาเพียงดังข่าย ดำรงอยู่
และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้วบุคคลนั้นชื่อว่ามุนี คำว่า ผู้ประพฤติ
ความว่า ผู้เที่ยวไป อยู่ เปลี่ยนอิริยาบถ ประพฤติ รักษา เป็นไป
ยังอัตภาพให้เป็นไป เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ต่อมุนีผู้ประพฤติว่าง.

[266] คำว่า ไม่มีอาลัยในกามทั้งหลาย มีความว่า คำว่า
กาม ได้แก่ กาม 2 อย่างโดยหัวข้อ คือ วัตถุกาม 1. กิเลสกาม ฯลฯ
นี้เรียกว่าวัตถุกาม ฯลฯ นี้เรียกว่ากิเลสกาม มุนีกำหนดรู้วัตถุกาม ละเว้น
บรรเทา ทำให้สิ้นให้ถึงความไม่มีซึ่งกิเลสกาม ชื่อว่าไม่มีอาลัยในกาม
ทั้งหลาย คือ สละ สำรอก ปล่อย ละ สละคืนกามเสียแล้ว ปราศจาก
ราคะ คือ สละ สำรอก ปล่อย ละ สละคืนราคะเสียแล้ว เป็นผู้หมด
ตัณหา ดับแล้ว เย็นแล้ว เสวยความสุข มีตนเป็นผู้ประเสริฐอยู่ เพราะ
ฉะนั้นจึงชื่อว่า ไม่มีอาลัยในกามทั้งหลาย.
[267] คำว่า หมู่สัตว์ผู้ยินดีในกามทั้งหลายย่อมรักใคร่....
ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
มีความว่า คำว่า ปชา เป็นชื่อของสัตว์ หมู่สัตว์
ผู้กำหนัด ปรารถนา ยินดี ติดใจ ลุ่มหลง ข้อง เกี่ยว พัวพัน ในกาม
ทั้งหลาย หมู่สัตว์เหล่านั้นย่อมอยากได้ ยินดี ปรารถนา รักใคร่ ชอบใจ
ต่อมุนีผู้ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย เป็นไปล่วงซึ่ง
กามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ และทางแห่งสงสารทั้งปวง
ผู้ไปสู่ฝั่งถึงฝั่งแล้ว ไปสู่ส่วนสุดถึงส่วนสุดแล้ว ไปสู่ที่สุดถึงที่สุดแล้ว ไปสู่
ส่วนสุดรอบถึงส่วนสุดรอบแล้ว ไปสู่ที่จบถึงที่จบแล้ว ไปสู่ที่ต้านทานถึง
ที่ต้านทานแล้ว ไปสู่ที่ลี้ลับถึงที่ลี้ลับแล้ว ไปสู่ที่พึ่งถึงที่พึ่งแล้ว ไปสู่ที่ไม่มี
ภัยถึงที่ไม่มีภัยแล้ว ไปสู่ที่ไม่เคลื่อนถึงที่ไม่เคลื่อนแล้ว ไปสู่อมตะถึงอมตะ
แล้ว ไปสู่นิพพานถึงนิพพานแล้ว พวกลูกหนี้ย่อมปรารถนารักใคร่ความ
เป็นผู้หมดหนี้ ฉันใด พวกป่วยไข้ย่อมปรารถนารักใคร่ความเป็นผู้หายโรค
ฉันใด พวกติดอยู่ในเรือนจำย่อมปรารถนารักใคร่ความพ้นจากเรือนจำ

ฉันใด พวกเป็นทาสย่อมปรารถนารักใคร่ความเป็นไท ฉันใด พวกเดิน
ทางกันดารย่อมปรารถนารักใคร่ภาคพื้นที่เกษม ฉันใด หมู่สัตว์ผู้กำหนัด
ปรารถนา ยินดี ติดใจ ลุ่มหลง ข้อง เกี่ยว พัวพันในกามทั้งหลาย
หมู่สัตว์เหล่านั้นย่อมอยากได้ ยินดี ปรารถนา รักใคร่ ชอบใจ ต่อมุนี
ผู้ข้ามคือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย เป็นไปล่วงซึ่งกามโอฆะ
ภวโอฆะ ฯลฯ ไปสู่นิพพานถึงนิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า หมู่สัตว์ผู้ยินดีในกามทั้งหลาย ย่อมรักใคร่....
ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-
หมู่สัตว์ ผู้ยินดีในกามทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อมุนี
ผู้ประพฤติว่าง ไม่มีอาลัยในกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะ
ได้แล้ว ดังนี้.


จบ ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทสที่ 7

อรรถกถาติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส


ในติสสเมตเตยยสูตรที่ 7 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เมถุนมนุยุตฺตสฺส ความว่า ผู้ประกอบเนือง ๆ ในเมถุน-
ธรรม.
บทว่า อิติ ความว่า ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลอย่างนี้.
บทว่า อายสฺมา เป็นคำแสดงความรัก.
บทว่า ติสฺโส เป็นชื่อของพระเถระนั้น พระเถระแม้นั้นก็ปรากฏ
โดยชื่อว่า ติสสะ พระเถระนี้ได้ปรากฏด้วยสามารถแห่งโคตรนั่นแลว่า
เมตเตยยะ เพราะฉะนั้น ในอัตถุปปัตติกถาท่านจึงกล่าวว่า มีสหาย 2 คน
ชื่อติสสเมตเตยะ.
บทว่า วิฆาตํ ได้แก่ ความเข้าไปกระทบ.
บทว่า พฺรูหิ แปลว่า โปรดบอก.
บทว่า มาริส เป็นคำแสดงความรัก ท่านอธิบายว่า ท่านผู้นิรทุกข์.
บทว่า สุตฺวาน ตว สาสนํ ความว่า ฟังพระดำรัสของพระองค์
แล้ว. ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมปรารภ
สหาย ก็พระเถระนั้นเป็นผู้มีการศึกษาดีทีเดียว.
บทว่า เมถุนธมฺโม นาม นี้เป็นบทอุทเทสเมถุนธรรมที่พึงชี้แจง.
บทว่า อสทฺธมฺโม ได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษคือชนชั้นต่ำ.
บทว่า คามธมฺโม ได้แก่ ธรรมที่พวกชาวบ้านประพฤติ.