เมนู

อรรกถามหาโพธิชาดก


พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรง
พระปรารภพระปัญญาบารมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กินฺนุ
ทณฺฑํ กิมาชินํ
ดังนี้.
เนื้อเรื่องนี้ จักมีแจ่มแจ้งในมหาอุมมังคชาดกข้างหน้า.
ก็ในกาลนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาล
บัดนี้เท่านั้น ถึงในกาลก่อน ตถาคตก็เป็นผู้มีปัญญาสามารถย่ำยีวาทะของคนอื่น
ได้เหมือนกัน ดังนี้ จึงทรงนำเอาอดีตนิทานมาตรัสดังนี้ว่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงเสวยราชสมบัติ ในเมือง
พาราณสี
พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลผู้สูงสุด มีทรัพย์
สมบัติประมาณได้ 80 โกฏิ ในแคว้นกาสี. มารดาบิดาทำการตั้งชื่อพระโพธิสัตว์
นั้นว่า โพธิกุมาร. โพธิกุหารนั้นเมื่อเจริญวัยเติบโต ได้ศึกษาเล่าเรียน
ศิลปศาสตร์ในเมืองตักกศิลาจนจบ แล้วกลับมาตรอบครองเรือนอยู่ ในกาล
ต่อมา ได้ละความสุขอันเกิดแต่กามเสียแล้วเข้าไปยังหิมวันตประเทศ บวช
เป็นปริพาชก มีเหง้าไม้และผลไม้ในป่านั้นนั่นเองเป็นอาหาร อยู่ได้เป็นเวลานาน
พอถึงเวลาฤดูฝน จึงออกจากป่าหิมพานต์แล้ว เที่ยวจาริกไปจนได้ถึงกรุง
พาราณสีโดยลำดับ เข้าไปอยู่ในพระราชอุทยาน ในวันรุ่งขึ้นเที่ยวไปภิกขาจาร
ในพระนคร โดยความเหมาะสมแก่ปริพาชก จนถึงประตูพระราชนิเวศน์.
พระราชาประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์นั้น ทรง
เลื่อมใสในกิริยาอันสงบเสงี่ยมของท่านรูปนั้น จึงตรัสสั่งให้ราชบุรุษไปนิมนต์
ท่านเข้ามายังที่ประทับของพระองค์ ทรงกระทำปฏิสันถาร ได้ทรงสดับ

ธรรมกถาเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว ทรงถวายโภชนะมีรสชาติอันเลิศต่าง ๆ แล้ว.
พระมหาสัตว์รับภัตตาหารมาแล้ว คำนึงว่า ขึ้นชื่อว่า ราชสกุลนี้ มีความผิดมาก
(ที่จะเกิดแก่ตัวเรา) ทั้งหมู่ปัจจามิตรก็มีมากมาย ใครหนอจักช่วยบำบัดทุกข์ภัย
ที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวเราได้. พระโพธิสัตว์นั้นได้มองเห็นสุนัขสีเหลืองตัวหนึ่ง
ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระราชา อยู่ในที่ใกล้ ๆ จึงหยิบข้าวสุกก้อนใหญ่
แสดงที่ท่าล่อจะให้สุนัขนั้น. พระราชาทรงทราบอาการนั้น จึงให้คนนำเอา
ภาชนะมาใส่ภัตรแล้วให้แก่สุนัขนั้น. แม้พระมหาสัตว์ก็ทำภัตกิจของพระราชา
พระองค์นั้น ให้สำเร็จลงแล้ว. แม้พระราชาทรงรับปฏิญญาของพระมหาสัตว์
นั้นเรียบร้อยแล้ว ให้ช่างสร้างบรรณศาลาไว้ในพระราชอุทยาน ภายใน
พระนครแล้ว ทรงถวายเครื่องบริขารสำหรับบรรพชิต นิมนต์ให้พระมหาสัตว์
นั้นอยู่ประจำในที่นั้น. ก็พระราชาได้เสด็จไปยังที่บำรุงของพระมหาสัตว์นั้น
วันละ 2-3 ครั้งทุก ๆ วัน. ก็พอถึงเวลาฉัน พระมหาสัตว์ขึ้นนั่งบนพระแท่น
สำหรับพระราชาแล้วฉันโภชนะของพระราชาอยู่เป็นประจำทีเดียว ทำอย่างนี้
จนเวลาล่วงไปได้ 12 ปี จนพระราชาพระองค์นั้น มีอำมาตย์ 5 คน ทำการ
สั่งสอนอรรถและธรรม.
บรรดาอำมาตย์ทั้ง 5 คนนั้น คนหนึ่งเป็นอเหตุกวาที คนหนึ่ง
เป็นอิสรกรณวาที คนหนึ่งเป็นปุพเพกตวาที คนหนึ่งเป็นอุจเฉทวาที
และคนหนึ่งเป็นขัตตวิชชวาที. ในบรรดาอำมาตย์ทั้ง 5 คนนั้น อำมาตย์ผู้เป็น
อเหตุกวาทีสั่งสอนมหาชนให้ถือเอาอย่างว่า สัตว์เหล่านี้เป็นผู้หมดจดในสงสาร.
อำมาตย์ผู้เป็นอิสรกรณวาที สั่งสอนมหาชนให้ถือเอาอย่างว่า โลกนี้ พระเจ้า
เป็นผู้สร้าง. อำมาตย์ผู้เป็นปุพเพกตวาที สั่งสอนให้มหาชนเอาอย่างว่า ความสุข
หรือความทุกข์ของสัตว์เหล่านี้ เนื้อจะเกิดขึ้นมา ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุที่ตนทำ
ไว้ในปางก่อนนั่นแหละ. อำมาตย์ผู้เป็นอุจเฉทวาที สั่งสอนให้มหาชนเอาอย่าง
ว่า ขึ้นชื่อว่า บุคคลผู้จากโลกนี้ไปยังโลกหน้า ย่อมไม่มี โลกนี้ย่อมขาดสูญ

อำมาตย์ผู้เป็นขัตตวิชชวาที สั่งสอนให้มหาชนเอาอย่างว่า บุคคลควรฆ่ามารดา
บิดาแล้ว มุ่งทำประโยชน์ของตนเองถ่ายเดียวเถิด. อำมาตย์ทั้ง 5 คนนั้น
ดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษาอรรถคดีแทนพระราชา แต่กลับพากันกินสินบน
ตัดสินความทำคนที่มิได้เป็นเจ้าของให้ได้เป็นเจ้าของ และทำคนที่เป็นเจ้าของ
ไม่ให้ได้เป็นเจ้าของ.
ครั้นวันหนึ่ง บุรุษคนหนึ่ง เป็นผู้แพ้คดีความ เพราะถูกโกง เห็น
พระมหาสัตว์เที่ยวภิกขาจารเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ จึงไหว้พลางรำพันว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านมาฉันในพระราชนิเวศน์ เพราะเหตุไรจึงได้แต่แลดู
พวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดี รับสินบนทำชาวโลกให้ฉิบหายอยู่เล่า บัดนี้ ข้าพเจ้า
เป็นเจ้าของแท้ ๆ แต่กลับถูกพวกอำมาตย์ 5 คน รับสินบนจากมือลูกความ
โกงแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นเจ้าของ. ด้วยอำนาจความสงสารในบุรุษคน
นั้น พระมหาสัตว์นั้นจึงไปยังโรงวินิจฉัยแล้ว ตัดสินความโดยชอบธรรม
ได้ทำคนที่เป็นเจ้าของให้กลับได้เป็นเจ้าของอีกเหมือนเดิม. มหาชนได้ให้
สาธุการด้วยเสียงอันดังขึ้นพร้อมกันทีเดียว. พระราชาได้ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว
จึงตรัสถามว่า นี่เสียงอะไรกันนะ พอได้สดับข้อความนั้นแล้ว จึงเสด็จเข้าไป
นั่งใกล้พระมหาสัตว์ผู้ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ทราบว่า
วันนี้ พระคุณเจ้าตัดสินคดีความเองหรือ ? พระมหาสัตว์ทูลว่า ขอถวายพระพร
มหาบพิตร. พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ เนื้อพระคุณเจ้าทำการตัดสิน
คดีความเป็นประจำต่อไป ความเจริญจักมีแก่มหาชน จำเดิมแต่วันนี้ไป ขอ
พระคุณเจ้าจงช่วยตัดสินคดีให้ด้วยเถิด. พระมหาสัตว์ทูลว่า มหาบพิตร
อาตมภาพเป็นบรรพชิต การวินิจฉัยอรรถคดีนี้ มิใช่กิจของอาตมภาพเลย.
พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ พระคุณท่านควรทำความกรุณาในมหาชนเถิด

พระคุณเจ้าไม่ต้องวินิจฉัยตลอดทั้งวันก็ได้ คือ ในเวลาเช้าออกจากอุทยาน
ผ่านมาในที่นี้ กรุณาแวะเข้าไปยังโรงวินิจฉัยคดีแล้ว ทำการวินิจฉัยตัดสินความ
สัก 4 เรื่อง พอฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จะกลับไปยังอุทยาน กรุณาช่วยทำ
การวินิจฉัยตัดสินความให้อีก 4 เรื่อง ถ้าทำได้อย่างนี้ ความเจริญจักมีแก่
มหาชน. พระมหาสัตว์นั้น ถูกพระราชานั้นอ้อนวอนอยู่บ่อย ๆ เข้า จึงยอม
รับว่า สาธุ ดังนี้. ตั้งแต่วันนั้นมา ก็ได้ทำอย่างนั้น. พวกลูกความโกงทั้งหลาย
ไม่ได้แล้วซึ่งโอกาส.
ฝ่ายพวกอำมาตย์ 5 คนนั้นเล่า เมื่อไม่ได้สินบนก็กลับกลายเป็นผู้
ขัดสน จึงพากันปรึกษาว่า ตั้งแต่เวลาที่โพธิปริพาชกนาตัดสินความ พวก
เราไม่ได้อะไร ๆ เลย เอาเถอะ พวกเราจักหาเรื่องปริพาชกนั้นแล้ว ยุยง
พระราชาให้ตัดสิน ฆ่าปริพาชกนั้นให้ได้. พวกอำมาตย์นั้น พากันเข้าไปเฝ้า
พระราชาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า (บัดนี้) โพธิปริพาชก
ปรารถนาจักทำความพินาศต่อพระองค์ เมื่อพระราชาไม่ทรงเชื่อ ตรัสว่า
โพธิปริพาชกนั้น เป็นผู้มีศีลมบูรณ์ด้วยความรู้ จักไม่ทำกรรมเห็นปานนั้น
เด็ดขาด จึงพากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ประชาชนชาวเมือง
ทั้งสิ้น ถูกโพธิปริพาชกนั้น ทำให้อยู่ในเงื้อมมือของตนเสียแล้ว แต่ยังไม่อาจ
ที่จะทำพวกข้าพระองค์ทั้ง 5 คนนี้ได้เท่านั้น ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อถ้อยคำ
ของพวกข้าพระองค์ไซร้ ในเวลาที่โพธิปริพาชกนั้นมาในที่นี้ พระองค์พึง
ทอดพระเนตรดูบริษัทเถิด. พระราชาทรงรับว่า ดีละ ดังนี้แล้ว ประทับยืน
อยู่ที่สีหบัญชรทอดพระเนตรดูปริพาชกนั้นกำลังเดินมา ทรงเห็นบริวาร เพราะ
ค่าที่พระองค์ไม่รู้เท่าทัน จึงทรงเจ้าใจพวกมนุษย์ที่มาฟ้องคดีความว่า เป็น
บริวารของพระมหาสัตว์นั้น ทรงเชื่อแล้ว ตรัสสั่งให้พวกอำมาตย์นั้นเข้ามาเฝ้า
แล้ว ตรัสถามว่า พวกเราจะทำอย่างไรกัน ? พวกอำมาตย์เหล่านั้น กราบทูล

ว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงมีรับสั่งให้จับปริพาชกนั้นเถิด พระเจ้าข้า. พระราชา
ตรัสว่า เมื่อเรายังมองไม่เห็นความผิดอันยิ่งใหญ่ จักสั่งให้จับเขาได้อย่างไร.
พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงมีรับสั่งให้ลดการอุปัฏฐาก
ที่เคยทำตามปกติแก่ปริพาชกนั้นลงเสียบ้าง ปริพาชกเป็นบัณฑิต พอเห็นการ
บำรุงนั้นค่อย ๆ ลดลง คงจักไม่ยอมบอกใคร ๆ แล้วแอบหนีไปเอง.
พระราชาตรัสว่า ดีละ แล้วตรัสสั่งให้ลดการบำรุงพระมหาสัตว์นั้นลง
โดยลำดับ. ในวันแรก เจ้าหน้าที่จัด ให้พระมหาสัตว์นั้นนั่งบนบัลลังก์เปล่าเป็น
ลำดับแรก. ท่านพอเห็นบัลลังก์เปล่าก็รู้ว่า พระราชาเสื่อมศรัทธาเราเสียแล้ว
ครั้นกลับไปยังอุทยานแล้ว แม้เป็นผู้มีความต้องการจะหลีกไปเสีย ในวันนั้น
ทีเดียว แต่ก็ (หักใจ) ไม่หลีกไปด้วยคิดว่า เราจักรู้ให้ถ่องแท้เสียก่อนแล้ว
จึงจักหลีกไป. ครั้น ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระมหาสัตว์นั้นนั่งบนบัลลังก์เปล่า
เจ้าหน้าที่ได้ถือเอาภัตตาหารธรรมดาและสิ่งอื่นมาแล้ว ได้ถวายภัตตาหารที่
คลุกปนกัน . ในวันที่ 3 เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เข้าไปสู่ห้องใหญ่ ให้พักอยู่ตรง
เชิงบันไดเท่านั้นแล้ว ได้ถวายภัตตาหารที่คลุกปนกัน. พระมหาสัตว์นั้น ถือ
เอาภัตตาหารนั้นไปยังอุทยานแล้ว ได้กระทำภัตกิจ. ในวันที่ 4 เจ้าหน้าที่
ให้ยืนอยู่ที่ปราสาทชั้นล่างแล้ว ได้ถวายภัตที่หุงด้วยปลายข้าว. พระมหาสัตว์
นั้นรับภัตแม้นั้น กลับไปยังอุทยาน ได้กระทำภัตกิจแล้ว. พระราชาตรัส
ถามพวกอำมาตย์ว่า มหาโพธิปริพาชก แม้เมื่อสักการะเสื่อมสิ้นลงแล้ว
ก็ยังไม่ยอมหลีกไป พวกเราจะทำอย่างไรกันดี. พวกอำมาตย์กราบทูลแนะ
อุบายว่า ข้าแต่สมมุติเทพ เธอประพฤติเพื่อต้องการภัตก็หามิได้ แต่เธอ
ประพฤติเพื่อต้องการเศวตฉัตร หากเธอประพฤติเพื่อต้องการภัตจริง เธอ
ก็พึงหนีไปเสียแต่ในวันแรกนั่นแล. พระราชาตรัสถามว่า บัดนี้ เราจะทำ

อย่างไรกันดี ? พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พรุ่งนี้
ขอพระองค์จะตรัสสั่งให้ฆ่าเขาเสียเถิด. ท้าวเธอรับว่า ดีละ แล้วทรงมอบดาบ
ไว้ในมือของอำมาตย์ทั้ง 5 คนเหล่านั้น แล้วตรัสสั่งว่า พรุ่งนี้ พวกท่านจง
มายืนซุ้มอยู่ที่ระหว่างประตู พอปริพาชกนั้นเดินเข้ามา จงฟันศีรษะแล้วช่วย
กันสับให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อย่าให้ใครรู้เรื่องอะไรแล้ว เอาไปทิ้งไว้ในหลุม
คูถ อาบน้ำแล้วพึงกลับมาเสีย. อำมาตย์เหล่านั้นรับว่าดีละ แล้วจึงนัดหมาย
กันและกันว่า วันพรุ่งนี้ พวกเราจึงจักทำการอย่างนั้น แล้วต่างก็พากันไปสู่
ที่อยู่ของตน. เวลาเย็น แม้พระราชาทรงเสวยโภชนะเสร็จแล้ว ทรงบรรทม
เหนือที่บรรทมอันประกอบด้วยสิริ ได้ทรงระลึกถึงคุณงามความดีของพระ-
มหาสัตว์. ในขณะนั้นนั่นเอง ความเศร้าโศกได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์.
พระเสโทหลั่งไหลออกจากพระสรีระ พระองค์ไม่ได้รับความเบิกบานสำราญ
พระหทัย ทรงกระสับกระส่ายไปมาบนพระที่บรรทม. ลำดับนั้น พระอัครมเหสี
ของพระองค์ บรรทมอยู่ใกล้ ๆ. ท้าวเธอไม่ยอมทำแม้เพียงการเจรจาปราศรัย
กับพระนางเลย. ลำดับนั้น พระนางจึงทูลถามท้าวเธอว่า ข้าแต่พระมหาราช
เพค่ะ ทำไมหนอ พระองค์จึงไม่ทรงทำแม้เหตุเพียงการสนทนาปราศรัย หรือว่า
หม่อมฉันมีความผิดอะไร ? พระราชาตรัสว่า ดูก่อนเทวี เธอไม่มีความผิด
อะไรดอก แต่ทราบข่าวว่า โพธิปริพาชกกลายเป็นศัตรูต่อพวกเราไป ดังนั้น
เราจึงสั่งให้อำมาตย์ 5 คน จัดการเพื่อฆ่าเธอในวันพรุ่งนี้ อำมาตย์เหล่านั้น
จักฆ่าเธอฟันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วทิ้งในหลุมคูถ ก็โพธิปริพาชกนั้น ได้
แสดงธรรมเป็นอันมากแก่พวกเราตลอดเวลา 12 ปี แม้โทษสักนิดของเธอ
เราก็ไม่เคยเห็นประจักษ์ เป็นแต่เพียงได้รับคำบอกเล่าจากคนอื่น เราก็สั่งให้
ฆ่าเธอเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงเศร้าโศก.

ลำดับนั้น พระนางจึงปลอบพระทัยพระราชาว่า ข้าแต่สมมุติเทพ
หากว่าโพธิปริพาชกนั้นกลายเป็นศัตรูจริง เมื่อพระองค์รับสั่งให้ฆ่าเธอเสีย
ทำไม พระองค์จึงทรงเศร้าโศกเล่า ขึ้นชื่อว่า ศัตรูถึงจะเป็นลูกก็ต้องฆ่า เพื่อ
ความสวัสดิภาพแก่ตน พระองค์อย่าได้เศร้าโศกไปเลย. เพราะถ้อยคำของ
พระนาง ท้าวเธอจึงได้รับความเบาพระทัย บรรทมหลับไป. ในขณะนั้น สุนัข
ตัวสีเหลืองชื่อว่า โกไลยกะ ได้พึงถ้อยคำนั้น แล้ว จึงคิดว่า พรุ่งนี้เราควร
จะช่วยชีวิตโพธิปริพาชกนั้น ด้วยกำลังของตน ดังนี้ พอถึงวันรุ่งขึ้น จึงลง
จากปราสาทแต่เช้าตรู่แล้ว มายังพระทวารใหญ่ นอนเอาหัวพาดบนธรณีประตู
คอยมองดูหนทางที่พระมหาสัตว์จะเดินผ่านมา. ฝ่ายพวกอำมาตย์เหล่านั้นแล
ทุกคนต่างถือดาบเดินมายืนแอบอยู่ตรงที่ซอกประตูแต่เช้าตรู่. แม้พระโพธิสัตว์
กะว่าได้เวลาแล้ว จึงออกจากอุทยานมายังประตูวัง.
ลำดับนั้น สุนัขโกไลยกะพอเห็นพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว จึงอ้าปาก
แยกเขี้ยวทั้งสี่ ร้องขึ้นด้วยเสียงดังว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ได้ภิกษาที่
อื่นในพื้นชมพูทวีปแล้วหรือ พระเจ้าแผ่นดินของพวกเรา ทรงให้อำมาตย์
5 คน ทุกคนมีดาบอยู่ในมือ ซุ่มตรงซอกประตู เพื่อต้องการจะฆ่า
ท่านเสีย ท่านอย่ามารับเอาความตายไว้ที่หน้าผากเลย จงรีบกลับไปเสีย
โดยเร็วเถิด. พระมหาสัตว์ รู้เนื้อความนั้นได้ เพราะคนเป็นผู้รู้สำเนียง
เสียงร้องของสัตว์ทุกชนิด จึงกลับจากที่ตรงนั้น ไปยังอุทยานถือเอาบริก-
ขาร เพื่อเตรียมตัวจะหลีกไปเสีย. ฝ่ายพระราชา ประทับยืนอยู่ที่
สีหบัญชร ทอดพระเนตรดูพระมหาสัตว์ทั้งเวลามาและเวลากลับไป จึงทรง
พระดำริว่า ถ้าโพธิปริพาชกนี้ พึงเป็นศัตรูต่อเราไซร้ เมื่อกลับไปยังสวน
ก็จักให้ประชุมหมู่พลตระเตรียมการงาน หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็คงจักเก็บเอา
บริกขารของตนแล้วเตรียมตัวจะเดินทางไป ขั้นแรก เราจักรู้กิริยาของโพธิ-
ปริพาชกนั้น ดังนี้ จึงเสด็จไปสู่อุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพระมหาสัตว์เดิน

ออกจากบรรณศาลา ถึงท้ายที่จงกรมด้วยคิดว่า เราจักถือเอาบริกขารของตน
แล้ว จักไป จึงนมัสการ ประทับยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ตรัสคาถาว่า
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึง
รีบร้อนถือเอาไม้เท้า หนังเสือ ร่ม รองเท้า ไม้ขอ
บาตรและผ้าพาด ท่านปรารถนาจะไปยังทิศไหนหนอ.

ความแห่งบาทคาถานั้นว่า พระราชาตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ แต่ก่อน
ท่านมาสู่วังของเรา มิได้ถือไม้เท้าเป็นต้นมาเลย แต่ในวันนี้ เพราะเหตุไร
ท่านจึงได้รีบด่วนถือเอาเครื่องบริกขารเหล่านี้แม้ทั้งหมด คือ ไม้เท้า หนังเสือ
ร่ม รองเท้า หม้อดิน ย่าม ขอสำหรับสอยผลไม้ บาตรดินและผ้าพาดมาด้วยเล่า
ท่านปรารถนาทิศไหนหนอ คือ ท่านปรารถนาจะไปในที่ไหน.
พระมหาสัตว์ ได้ฟังคำนั้นแล้ว ก็เข้าใจว่า พระราชาองค์นี้ ยังไม่
รู้สึกถึงกรรมที่ตนเองได้ทำไว้ จึงคิดว่า เราจักให้ท้าวเธอรับรู้ จึงได้กล่าว
คาถา 2 คาถาว่า
ตลอดเวลา 12 ปี ที่อาตมภาพอยู่ในสำนักของ
มหาบพิตรนี้ อาตมภาพไม่เคยรู้จักเสียงที่สุนัขสีเหลือง
มันคำราม ด้วยหูเลย สุนัขมันแยกเขี้ยวขาวเห่าอยู่
คล้ายกับว่าไม่เคยรู้จักกัน เพราะมันได้ยินถ้อยคำของ
มหาบพิตรกับพระชายาผู้สิ้นศรัทธา จึงกล่าวกะอาตม-
ภาพอย่างนี้.

ความแห่งบาทคาถานั้นว่า พระมหาสัตว์กล่าวว่า บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า อภิกุชฺชิตํ ความว่า เราไม่เคยได้ยินเสียงที่สุนัขของพระองค์นี้ร้อง
ด้วยเสียงอันดังอย่างนี้เลย. บทว่า ทตฺโตว แปลว่า คล้ายไม่เคยรู้จักกัน.

บทว่า สภริยสฺส ความว่า เพราะมันได้ยินถ้อยคำของมหาบพิตรกับพระชายา
ตรัสบังคับให้อำมาตย์ 5 คน เตรียมการเพื่อฆ่าอาตมภาพ จึงส่งเสียงเห่าอย่าง
เอ็ดอึง คล้ายกับว่าไม่เคยรู้จักกันว่า ท่านไม่ได้ภิกษาในที่อื่นหรือ พระราชา
ตรัสสั่งให้อำมาตย์ฆ่าท่าน ท่านอย่ามาในที่นี้เลย. บทว่า วีตสทฺธสฺส มํ ปติ
ความว่า สุนัขนั้น ได้ฟังถ้อยคำของมหาบพิตร ผู้หมดศรัทธาในระหว่างตัวเรา
จึงกล่าวอย่างนี้.
ในลำดับนั้น พระราชาทรงยอมพระองค์รับผิด เมื่อจะทรงให้พระ-
มหาสัตว์นั้นยกโทษ จึงตรัสคาถาที่ 4 ว่า
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ โทษที่ข้าพเจ้าทำแล้วนั้น
จริงตามที่ท่านกล่าว ข้าพเจ้านี้ ย่อมเลื่อมใสยิ่งนัก
ขอท่านจงอยู่เถิด อย่าเพิงไปเสียเลย ท่านพราหมณ์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิยฺโย ความว่า ข้าพเจ้าได้สั่งบังคับไว้
อย่างนี้เป็นความจริง นี้เป็นความผิดของข้าพเจ้า ก็ข้าพเจ้านี้ เลื่อมใสท่าน
เป็นอย่างยิ่งในบัดนี้ ขอท่านจงอยู่ในที่นี้เหมือนเดิมเถิด อย่าไปในที่อื่นเลย
นะพราหมณ์.
พระมหาสัตว์ ได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงทูลว่า ขอถวายพระพร ธรรมดาว่า
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่อยู่ร่วมกับข้าศึกผู้ทำการงานโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ
เช่นอย่างพระองค์ ดังนี้ เมื่อจะประกาศอนาจารแด่พระราชานั้น จึงกล่าวเป็น
คาถาว่า
เมื่อก่อนข้าวสุกขาวล้วนภายหลังก็มีสิ่งอื่นเจือปน
บัดนี้แดงแล้ว เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่อาตมภาพจะ
หลีกไป อนึ่ง เมื่อก่อนอาสนะมีในภายใน ต่อมามีใน

ท่ามกลาง ต่อมามีข้างนอก ต่อมาก็จะถูกขับไล่ออกจาก
พระราชนิเวศน์ อาตมภาพของดเสียเองละ บุคคล
ไม่ควรคบหาคนที่ปราศจากศรัทธา เหมือนบ่อที่ไม่มี
นำ ฉะนั้น ถ้าแม้บุคคลจะพึงขุดบ่อน้ำนั้น บ่อนั้นก็
จะมีน้ำที่มีกลิ่นโคลนตม บุคคลควรคบคนที่เลื่อมใส
เท่านั้น ควรเว้นคนที่ไม่เลื่อมใส ควรเข้าไปนั่งใกล้
คนที่เลื่อมใส เหมือนคนผู้ต้องการน้ำ เข้าไปหาห้วงน้ำ
ฉะนั้น ควรคบคนผู้คบด้วย ไม่ควรคบคนผู้ไม่คบด้วย
ผู้ใดไม่คบคนผู้คบด้วย ผู้นั้นชื่อว่ามีธรรมของอสัต-
บุรุษ ผู้ใดไม่คบคนผู้คบด้วย ไม่ซ่องเสพคนผู้ซ่องเสพ
ด้วย ผู้นั้นแลเป็นมนุษย์ชั่วช้าที่สุด เหมือนเนื้ออาศัย
กิ่งไม้ (ลิง) ฉะนั้น มิตรทั้งหลายย่อมแหนงหน่ายกัน
ด้วยเหตุ 3 ประการนี้ คือ ด้วยการคลุกคลีกันเกินไป
ด้วยการไม่ไปมาหากัน ด้วยการขอในเวลาไม่สมควร
1 เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรไปมาหากันให้พร่ำ-
เพรื่อนัก ไม่ควรเหินห่างไปให้เนิ่นนาน และควรขอ
สิ่งที่ควรขอตามเหตุกาลที่สมควร ด้วยอาการอย่างนี้
มิตรทั้งหลาย จึงจะไม่แหนงหน่ายกัน คนที่รักกัน
ย่อมไม่เป็นที่รักกันได้ เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกิน-
ควร อาตมภาพนี้ได้เป็นที่รักของมหาบพิตรมาแต่ก่อน
เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงขอลาไปก่อนละ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพเสโต ความว่า ขอถวายพระพร
เฉพาะในวันก่อน ๆ ข้าวสุกของอาตมภาพในนิเวศน์ของพระองค์มีสีขาวล้วน
พระองค์เสวยข้าวสุกชนิดใด ก็พระราชทานข้าวสุกชนิดนั้น (แก่อาตมภาพ).
บทว่า ตโต ความว่า ภายหลังจากนั้น คือ แม้ในกาลที่พระองค์ทรงหน่าย
แหนงในอาตมภาพ เพราะทรงเชื่อถ้อยคำของคนที่ยุยง ข้าวสุกจึงมีสิ่งอื่นคลุก
ระคนปนอยู่ด้วย. บทว่า อิทานิ คือ บัดนี้ ข้าวสุกเกิดกลายเป็นสีแดงล้วน.
บทว่า กาโล ได้แก่ คราวนี้เป็นเวลาที่อาตมภาพจะต้องไปจากสำนักของ
พระองค์ผู้โง่เขลา. บทว่า อพฺภนฺตรํ ความว่า ในครั้งแรก อาสนะของ
อาตมภาพมีอยู่ในภายใน คือ พวกเจ้าหน้าที่นิมนต์ให้อาตมภาพนั่งบนพระราช
บัลลังก์ ที่มีพื้นใหญ่อันประดับแล้ว มีเศวตฉัตรอันยกขึ้นแล้ว. บทว่า มชฺเฌ
คือ ที่เชิงบันได. บทว่า ปุรา นิทฺธมนา โหติ ความว่า จับคอเสือกไส
ออกไป. บทว่า อนุขเน ความว่า ถ้าบุรุษไปถึงหนองที่ไม่มีน้ำ เมื่อไม่
เห็นน้ำ จึงคุ้ยเปือกตมขุดขึ้น แม้จะทำถึงขนาดนั้น หนองนั้น ก็คงยังมีแต่
กลิ่นตมของน้ำ ดื่มกินไม่ได้ เพราะไม่เป็นที่ชอบใจ ฉันใด แม้ปัจจัยที่บุคคล
เข้าไปหาผู้ปราศจากศรัทธาแล้วได้มา จึงเป็นของน้อยและเศร้าหมอง ไม่เป็น
ที่น่าชอบใจ ไม่สมควรที่จะบริโภค. บทว่า ปสนฺนํ คือ มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว.
บทว่า. รหทํ คือ ห้วงน้ำใหญ่ที่ลึก. บทว่า ภชนฺตํ ความว่า บุคคลควร
คบผู้ที่คบตนเท่านั้น. บทว่า อภชนฺตํ คือ ผู้เป็นข้าศึก. บทว่า น ภชฺชเย
แปลว่า ไม่พึงคบหา. บทว่า น ภชฺชติ ความว่า บุรุษใดไม่คบหาบุคคล
ผู้คบตนซึ่งมีจิตคิดหวังประโยชน์ บุรุษนั้น ชื่อว่ามีธรรมของอสัตบุรุษ. บทว่า
มนุสฺสปาปิฏฺโฐ ได้แก่ มนุษย์ลามก มนุษย์ขี้ทูด คือ มนุษย์ชั้นต่ำ.
บทว่า สาขสฺสิโต คือ ลิง. บทว่า อจฺจาภิกฺขณสํสคฺคา คือ ด้วยความ

คลุกคลีกันมากเกินไป. บทว่า อกาเล ความว่า มิตรทั้งหลาย ชื่อว่าย่อม
หน่ายแหนงกัน ด้วยการขอของรักของคนอื่น ในกาลที่ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร
เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินไป ถึงพระองค์ก็ยังหมดความเมตตาในอาตมภาพ.
บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะมิตรทั้งหลาย ย่อมแตกแยกกันด้วยการคลุกคลี
กันเกินไป และด้วยการเหินห่างกัน ไป. คำว่า จิราจรํ ความว่า ไม่ปล่อย
เวลาให้ล่วงเลยไปเสียจนนานแล้ว จึงไปหากัน. บทว่า ยาจํ ความว่า ไม่ควรขอ
สิ่งที่สมควรขอ ในเวลาอันไม่สมควร. บทว่า น ชีรเร ความว่า มิตรทั้งหลาย
ย่อมไม่แตกแยกกัน ด้วยอาการอย่างนี้. บทว่า ปุรา เต โหม ความว่า
ตลอดเวลาที่เรามาแล้ว ยังไม่เป็นที่รักของท่าน เราก็จะขอไปอย่างนี้.
พระราชา ตรัสว่า
ถ้าพระคุณเจ้าได้รับทราบอัญชลี ของสัตว์ผู้เป็น
บริวารมานวอนอยู่อย่างนี้ ไม่กระทำตามคำขอร้อง
ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวิงวอนพระคุณเจ้าถึงเพียงนี้ ขอ
พระคุณเจ้า โปรดกลับมาเยี่ยมอีก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาวพุาชฺฌสิ ความว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ถ้าท่านไม่ยอมรับรู้ คือ ไม่ยอมรับอัญชลีที่ข้าพเจ้าวิงวอนกระทำอยู่แล้วอย่างนี้.
บทว่า ปริยายํ ความว่า พระราชา ตรัสวิงวอนว่า ขอท่านพึงหาโอกาสว่าง
สักครั้งหนึ่ง เพื่อมาเยี่ยมในที่นี้อีก.
พระโพธิสัตว์ ทูลว่า
ดูก่อนมหาบพิตรผู้ผดุงรัฐ ถ้าเมื่อเราทั้งหลายอยู่
อย่างนี้ อันตรายจักไม่มี แม้ไฉนเราทั้งหลาย พึงเห็น
การล่วงไปแห่งวันและคืนของมหาบพิตร และของ
อาตมภาพ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวญฺเจ โน ความว่า พระโพธิสัตว์
แสดงว่า ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าว่าอันตรายจักไม่มีแก่เราทั้งสองผู้แยกกันอยู่
อย่างนี้ ชีวิตของพระองค์หรือของอาตมภาพก็จักยืนยาว. บทว่า ปสฺเสม
ความว่า พวกเราพึงเห็นโดยแท้.
พระมหาสัตว์ พอกล่าวอย่างนี้เสร็จแล้ว แสดงธรรมแก่พระราชาแล้ว
จึงทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร ขอพระองค์จงอย่าทรงประมาทเลย ดังนี้แล้ว
ออกจากอุทยานเที่ยวภิกขาจารไปในสถานที่อันมีส่วนเสมอกันแห่งหนึ่ง ออกจาก
เมืองพาราณสีแล้ว ถึงหิมวันตประเทศโดยลำดับ พักอยู่สิ้นกาลเล็กน้อยแล้ว
กลับมาอยู่ในป่าอาศัยบ้านปัจจันตคามแห่งหนึ่ง. นับแต่เวลาที่พระมหาสัตว์นั้น
ไปแล้ว พวกอำมาตย์เหล่านั้น ก็ได้พากันนั่ง ณ ที่โรงวินิจฉัยอีก กระทำการ
เบียดเบียน พากันคิดว่า ถ้ามหาโพธิปริพาชกจักกลับมาอีก ชีวิตของพวกเรา
คงไม่มีแน่ พวกเราควรทำเหตุที่จะให้ปริพาชกนั้นไม่กลับมาอีกอย่างไรดีหนอ.
ลำดับนั้น พวกเขาจึงปรึกษากันว่า ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมไม่
สามารถจะละถิ่นฐานที่ตนติดอยู่ได้ ถิ่นฐานที่มหาโพธิปริพาชกนั้น คิดอยู่ใน
ที่นี้คืออะไรหนอ. ต่อจากนั้น พวกอำมาตย์ก็ทราบได้ว่า คงเป็นพระอัคร-
มเหสีของพระราชาเป็นแน่ จึงปรึกษากันว่า ข้อที่มหาโพธิปริพาชกนั้น พึงมา
เพราะอาศัยพระอัครมเหสี นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ พวกเราจักรีบฆ่าพระอัครมเหสี
นั้นเสียโดยเร็ว. พวกอำมาตย์เหล่านั้น จึงพากันกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระ-
ราชาว่า หลายวันมานี้ พวกข้าพระองค์ได้ยินเรื่องเรื่องหนึ่ง. พระราชาตรัส
ถามว่า เรื่องอะไรกัน ? พวกอำมาตย์ กราบทูลเท็จว่า เล่าลือกันว่า มหา-
โพธิปริพาชกและพระราชเทวี ส่งข่าวสาสน์โต้ตอบกันไปมาเสมอ. พระราชา
ตรัสถามว่า ข่าวสาสน์นั้นสั่งให้ทำอะไร ? พวกอำมาตย์ กราบทูลว่า ทราบว่า

มหาโพธิปริพาชกนั้น ส่งข่าวสาสน์มาถึงพระราชเทวีว่า เธออาจที่จะปลง
พระชนม์พระราชาให้ตายด้วยกำลังของตนแล้วยกเศวตฉัตรใให้แก่เราได้หรือไม่
ส่วนพระเทวีนั้นเล่า ก็ส่งข่าวสาสน์ตอบไปถึงมหาโพธิปริพาชกนั้นว่า การปลง
พระชนม์พระราชาเป็นภาระของฉัน ขอให้มหาโพธิปริพาชกรีบมาเร็วเถิด.
เมื่อพวกอำมาตย์เหล่านั้น กราบทูลอยู่บ่อย ๆ พระราชา ก็ทรงเชื่อ จึงตรัสสั่ง
ถามว่า บัดนี้ พวกเราจะพึงทำอย่างไรกันดี พวกอำมาตย์จึงกราบทูลว่าควร
ตรัสสั่งให้ปลงพระชนม์พระเทวีเสียดังนี้ ไม่ทันได้ทรงใคร่ครวญ ตรัสสั่งเวน
ว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงฆ่าเธอเสีย แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โยน
มันลงไปในหลุมคูถ. พวกอำมาตย์เหล่านั้น ทำการตามรับสั่งแล้ว. ความที่
พระราชเทวีถูกปลงพระชนม์ ได้ปรากฏเลื่องลือไปในพระนครทั้งสิ้น.
ครั้งนั้น พระราชโอรส 4 พระองค์ของพระราชเทวีนั้น ทรงทราบว่า
พระบิดา มีรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระมารดาของพวกเราผู้หาความผิดมิได้เสีย
ดังนี้ จึงได้เป็นศัตรูต่อพระราชา. พระราชาได้เป็นผู้ประสบภัยอย่างใหญ่หลวง.
พระมหาสัตว์ ได้ทราบเรื่องราวนั้น โดยเล่ากัน เป็นทอด ๆ มา จึงดำริว่า
เว้นจากเราเสียแล้ว คนอื่นชื่อว่าสามารถที่จะให้พระกุมารเหล่านั้นยินยอมให้
พระบิดาทรงอดโทษให้ ไม่มีเลย เราจักช่วยชีวิตพระราชา และจักเปลื้อง
พระกุมารให้พ้นจากบาป. ในวันรุ่งขึ้น ท่านจึงเข้าไปยังปัจจันตคาม ฉันเนื้อ
วานรที่พวกมนุษย์นำมาถวายแล้ว ขอหนังวานรนั้น นำเอามาตากแห้งไว้ที่
อาศรม ทำจนหมดกลิ่นแล้ว ใช้นุ่งบ้าง ห่มบ้าง พาดบ่าบ้าง. ถามว่า
การที่พระมหาสัตว์ทำดังนั้น เพราะเหตุไร ? ตอบว่า การที่ทำดังนั้น ก็เพราะ
เพื่อประสงค์จะตอบผู้คนว่า วานรตัวนี้ มีอุปการะมากแก่เรา. พระมหาสัตว์
ถือเอาหนังวานรนั้น ไปยังเมืองพาราณสีโดยลำดับ แล้วเข้าไปหาพระกุมาร

ทั้งหลาย ทูลตักเตือนว่า ขึ้นชื่อว่า กรรมคือการฆ่าพระบิดา เป็นกรรมที่
ร้ายแรงทารุณ พวกท่านไม่สมควรกระทำกรรมนั้นเลย ธรรมดาว่าสัตว์ที่จะ
ไม่แก่ไม่ตายเป็นไม่มี เรามาแล้ว (ในที่นี้) ก็ด้วยความหวังว่า จักไกล่เกลี่ย
ให้พวกท่านมีความสามัคคีกันและกันไว้ พอเราส่งข่าวสาสน์ไป พวกท่านพึง
พากันมา พอสอนพระกุมารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปสู่พระราชอุทยาน ภายใน
พระนคร ลาดหนังวานรลงแล้ว นั่งบนแผ่นหิน. ในขณะนั้น คนเฝ้าสวน
พอเห็นท่านก็รีบไปกราบทูลแด่พระราชา. พระราชา ทรงสดับข่าวนั้นแล้ว
ก็ทรงบังเกิดความโสมนัส จึงพาอำมาตย์ทั้ง 5 คนนั้นไปในที่นั้น ทรงนมัสการ
พระมหาสัตว์แล้วประทับนั่ง ปรารภจะทำปฏิสันถาร. ส่วนพระมหาสัตว์ มิได้
รื่นเริงกับพระราชานั้น ลูบคลำหนังวานรเฉยเสีย. ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัส
กะพระมหาสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ยอมพูดจากับข้าพเจ้า มัว
ลูบคลำหนังวานรอยู่ได้ หนังวานรของท่านมีอุปการะมากกว่าข้าพเจ้าหรือ.
พระมหาสัตว์ ทูลว่า เป็นเช่นนั้น มหาบพิตร วานรนี้มีอุปการะมากแก่เรา
เรานั่งบนหลังของมันเที่ยวไป วานรนี้นำหม้อน้ำมาให้แก่เรา กวาดที่อยู่ให้เรา
ได้ทำอภิสมาจาริกวัตรปฏิบัติแก่เรา แต่เรากลับกินเนื้อของมันเสียแล้ว เอา
หนังตากให้แห้งไว้ปูนั่งบ้าง ปูนอนบ้าง เพราะว่าตนมีใจทุรพล วานรนี้มี
อุปการะมากแก่เราอย่างนี้. พระมหาสัตว์ ยกหนังวานรและวานรขึ้นกล่าวเป็น
โวหาร เพื่อต้องการจะทำลายวาทะของอำมาตย์เหล่านั้น อาศัยปริยายนั้น ๆ
จึงกล่าวถ้อยคำนี้ ด้วยประการฉะนี้. จริงอยู่ พระมหาสัตว์นั้นกล่าวว่า เรา
นั่งบนหลังมันเที่ยวไป เพราะท่านเคยนุ่งห่มหนังของมัน . ท่านกล่าวว่า มันนำ
หม้อน้ำมาให้ เพราะท่านเอาหนังของมันพาดบนบ่าแล้วแบกหม้อน้ำมา. ท่าน
กล่าวว่า มันกวาดที่อยู่ให้ เพราะท่านเคยเอาหนังนั้นปัดพื้น. ท่านกล่าวว่า

มันทำวัตรปฏิบัติแก่เรา เพราะหลังถูกหนังนั้นในเวลานอน และถูกเท้าในเวลา
เหยียบ. ท่านกล่าวว่า แต่เรากลับกินเนื้อของมันเสีย เพราะตนมีใจทุรพล
เพราะท่านได้เนื้อของมันมาแล้วบริโภคในเวลาหิว.
พวกอำมาตย์เหล่านั้น ได้ฟังคำนั้นแล้ว มีความสำคัญว่าท่านกระทำ
ปาณาติบาตแล้ว จึงพากันปรบมือทำการหัวเราะเยาะว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ
พวกท่านจงดูกรรมของบรรพชิตเถิด ได้ยินแล้วใช่ไหมว่า บรรพชิตนี้ ฆ่าลิง
กินแล้ว ยังถือเอาหนังเที่ยวไป (อีก). พระมหาสัตว์ เห็นพวกอำมาตย์เหล่านั้น
กระทำการเช่นนั้น จึงคิดว่า พวกอำมาตย์เหล่านั้นยังไม่รู้ว่า เราเอาหนังวานรมา
เพื่อต้องการจะทำลายวาทะของตน เราจักให้พวกเขารู้เสียบ้าง ขั้นแรกจึงเรียก
อำมาตย์อเหตุกวาทีมาแล้ว ถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านหัวเราะเยาะเรา
เพราะเหตุไร. เขาตอบว่า เพราะท่านการทำกรรมคือการประทุษร้ายต่อมิตร
และยังกระทำปาณาติบาตด้วย.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า บุคคลใดเชื่อถืออำมาตย์เหล่านั้น
ด้วยคติและด้วยทิฏฐิแล้วทำตามอย่างนั้น จะมีอะไรที่จะพึงกล่าวว่า บุคคลนั้น
การทำความชั่ว ดังนี้ เมื่อจะทำลายวาทะของอเหตุกวาทีของอำมาตย์นั้น จึง
กล่าวเป็นคาถาว่า
ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นไปตามคติที่ดี และตาม
สภาพ สัตว์กระทำกรรม ที่ไม่ควรทำบ้าง ที่ควรทำบ้าง
เพราะความไม่ได้ใคร่ในกรรมที่สัตว์กระทำ สัตว์อะไร
ในโลกนี้ จะเปื้อนด้วยบาปเล่า ถ้าเนื้อความแห่งภาษิต
ของท่านนั้นเป็นอรรถเป็นธรรม และเป็นถ้อยคำงาม
ไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นความจริง ลิงก็เป็น

อันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิดแห่งวาทะของตน
ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่าวาทะของท่านเป็น
เช่นนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทีรณา แปลว่า ถ้อยคำ. บทว่า
สงฺคตฺยา ได้แก่ ทางไปที่ดี คือด้วยการเข้าถึงอภิชาตินั้น ๆ ในบรรดาอภิชาติ
ทั้ง 6 อย่าง. บทว่า ภาวายมนุวตฺตติ ความว่า ย่อมเป็นไปตามภาวะ
เป็นสัมปทานะ ใช้ในอรรถแห่งกรณะ. บทว่า อกามา คือ ไม่มีความปรารถนา
ไม่มีความอยากได้. บทว่า อกรณียํ วา ได้แก่ ความชั่วเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ.
บทว่า กรณียํ วา ได้แก่ กุศลเป็นสิ่งที่ควรทำ. บทว่า กุพฺพติ แปลว่า
ย่อมกระทำ. คำว่า กฺวิธ ตัดบทเป็น โก อิธ แปลว่า ใครในโลกนี้.
มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ท่านเป็นอเหตุวาที เป็นผู้มีความเห็นเป็นต้นว่า
ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ จึงกล่าวว่า
โลกนี้ ย่อมเปลี่ยนไป คือ ย่อมแปรไปตามคติที่ดี และตามสภาพ เสวยสุข
และทุกข์ในที่นั้น ๆ และสัตว์ผู้ไม่มีความใคร่ ย่อมทำบาปบ้าง บุญบ้าง ด้วยว่า
คำของท่านนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เมื่อบาปที่สัตว์ทำด้วยไม่มีความใคร่ (ในบาป)
มีอยู่ หากเป็นไปอยู่ตามธรรมดาของตน สัตว์อะไร ในโลกนี้ ย่อมเปื้อน
ด้วยบาป. ก็ถ้าสัตว์ ย่อมเปื้อนด้วยบาปที่ตนมิได้กระทำแล้ว ใคร ๆ ไม่พึง
เปื้อนด้วยบาปไม่มีเลย. บทว่า โส เจ อธิบายว่า เนื้อความแห่งภาษิต
ของท่าน คือวาทะที่ว่าไม่มีเหตุนั้น ถ้าเป็นเนื้อความที่มีประโยชน์ ส่องถึง
ประโยชน์ เป็นธรรมเป็นเนื้อความที่ดีไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านผู้เจริญที่ว่า
สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเศร้าหมองเอง ย่อมเสวยสุขและทุกข์เอง
นี้เป็นความจริง วานรก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว โทษอะไรในข้อนี้จะพึงมีแก่เรา.

บทว่า วิชานิย ความว่า ดูก่อนสหาย ก็ถ้าท่านพึงรู้ถึงความผิดแห่งวาทะ
ของตนไซร้ ท่านก็ไม่พึงติเตียนเรา. ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะว่า
วาทะของท่านผู้เจริญเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ท่านพึงสรรเสริญเราว่า ผู้นี้
ทำคามวาทะของเรา แต่เมื่อไม่รู้วาทะของตน ก็ย่อมติเตียนเรา.
พระมหาสัตว์ ข่มปราบอำมาตย์นั้น ได้ทำให้เป็นคนหมดปฏิภาณ
ด้วยประการฉะนี้. แม้พระราชาพระองค์นั้น ก็ทรงเก้อเขินในท่ามกลางบริษัท
ประทับนั่งพระศอตกอยู่. แม้พระมหาสัตว์ พอทำลายวาทะแห่งอเหตุวาทีอำมาตย์
นั้นแล้ว จึงเรียกอิสรกรณวาทีอำมาตย์มาแล้ว ซักถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ
ท่านหัวเราะเยาะเรา เพราะเหตุไร ถ้าว่าท่านแสดงวาทะว่า สิ่งทั้งปวง พระ-
เป็นเจ้าสร้างให้โดยความเป็นสาระ ดังนี้แล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
ถ้าว่าพระเป็นเจ้าสร้างชีวิต สร้างฤทธิ์ สร้างความ
พินาศ สร้างกรรมดี และกรรมชั่ว ให้แก่ชาวโลก
ทั้งหมดไซร้ บุรุษผู้กระทำตามคำสั่งของพระเป็นเจ้า
ย่อมทำบาปได้ พระเป็นเจ้าย่อมเปื้อนด้วยบาปนั้นเอง
ถ้าเนื้อควานแห่งภาษิต ของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม
และเป็นถ้อยคำงาม ไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็น
ความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิด
แห่งวาทะของตน ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่า
วาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กปฺเปติ ชีวิตํ ความว่า ถ้าว่าพระพรหม
หรือพระเป็นเจ้าองค์อื่น จะจัดแจงตรวจตราชีวิตให้แก่ชาวโลกทั้งหมดอย่างนี้ว่า
ท่านจงเลี้ยงชีพด้วยการไถนา ท่านจงเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงโค ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า อิทฺธึ พฺยสนภาวญฺจ อธิบายว่า ถ้าพระเป็นเจ้าสร้าง คือทำฤทธิ์
ต่างประเภท มีความเป็นใหญ่เป็นต้น สร้างความพินาศ มีความพินาศแห่ง
หมู่ญาติเป็นต้น และสร้างกรรมดีกรรมชั่วที่เหลือทั้งหมด. บทว่า นิทฺเทสการี
ความว่า ถ้าว่าบุรุษคนใดคนหนึ่งที่เหลือ กระทำตามคำสั่ง คือ คำบังคับ
ของพระเป็นเจ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ใคร ๆ ก็ย่อมทำบาปได้ พระเป็นเจ้า
เท่านั้น ย่อมรับบาปนั้นเสียเอง เพราะพระเป็นเจ้ากระทำบาปนั้น . คำที่เหลือ
พึงทราบโดยนัยก่อน. อนึ่ง พึงทราบข้อความในที่ทั้งหมดเหมือนในที่นี้เถิด.
พระมหาสัตว์ ครั้นทำลายอิสรกรณวาทะ ได้ด้วยอิสรกรณะนั้น
นั่นแล ดุจบุคคลเอากิ่งมะม่วงขว้างผลมะม่วงให้หล่นลงมาจากต้น ด้วยประการ
ฉะนั้นแล้ว จึงเรียกหาให้ปุพเพกตวาทีอำมาตย์เข้ามาแล้วกล่าวว่า ดูก่อนท่าน
ผู้มีอายุ ท่านหัวเราะเยาะเรา เพราะเหตุไร ถ้าท่านสำคัญว่า ปุพเพกตวาทะ
เป็นความจริง ดังนี้แล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
ถ้าสัตว์ย่อมเข้าถึงความสุขและความทุกข์ เพราะ
เหตุแห่งกรรมที่กระทำไว้แล้วในปางก่อน กรรมเก่าที่
กระทำไว้แล้ว เขาย่อมเปลื้องหนี้นั้นได้ ทางพ้นจาก
หนี้เก่ามีอยู่ ใครเล่าในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป ถ้า
เนื้อความแห่งภาษิตของท่าน เป็นอรรถเป็นธรรม
และเป็นถ้อยคำงาม ไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็น
ความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิด
แห่งวาทะของตน ก็จะได้พึงติเตียนเราเลย เพราะว่า
วาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพกตเหตุ ได้แก่ เพราะเหตุที่ได้
กระทำกรรมไว้ในปางก่อน คือ เพราะการกระทำกรรมที่ตนได้การทำไว้แล้ว
ในภพก่อนแน่นอน. บทว่า ตเมโส มุญฺจเต อิณํ ความว่า ผู้ใดย่อมถึง
ความทุกข์ โดยการถูกฆ่าและถูกจองจำเป็นต้น ถ้าผู้นั้น ย่อมเปลื้องหนี้ คือ
บาปเก่าที่เขาได้ทำไว้แล้วนั้นในบัดนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เราก็มีทางพ้นจากหนี้
เก่านั้น ใครเล่า ในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป เปรียบเหมือนเราเป็นลิง ถูกลิง
ตัวนั้นซึ่งเป็นปริพาชกมาก่อนฆ่ากินเสีย ปริพาชกนั้นกลับมาเป็นลิงในอัตภาพ
นี้ ก็จักถูกเราผู้กลับมาเป็นปริพาชกฆ่ากินเสียเหมือนกัน ฉะนั้น.
พระมหาสัตว์ ครั้นทำลายวาทะของปุพเพกตวาทีอำมาตย์ แม้นั้น
ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงเรียกอุจเฉทวาทีอำมาตย์มาตรงหน้าแล้ว กล่าวขู่ว่า
ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านกล่าวคำเป็นต้นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ดังนี้
และยังสำคัญอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมขาดสูญในโลกนี้เท่านั้น ขึ้นชื่อว่า
สัตว์ผู้ไปสู่ปรโลกไม่มีเลย ท่านหัวเราะเยาะเรา เพราะเหตุไร ดังนี้แล้ว จึง
กล่าวเป็นคาถาว่า
รูปของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นอยู่ได้เพราะ
อาศัยธาตุ 4 เท่านั้น ก็รูปเกิดจากสิ่งใด ย่อมเข้าถึง
ในสิ่งนั้นอย่างเดิม ชีพย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น
ละไปแล้ว ย่อมพินาศในโลกหน้า โลกนี้ขาดสูญ เมื่อ
โลกขาดสูญอยู่อย่างนี้ ชนเหล่าใด ทั้งที่เป็นพาล ทั้งที่
เป็นบัณฑิต ชนเหล่านั้น ย่อมขาดสูญทั้งหมด ใครเล่า
ในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป ถ้าเนื้อความแห่งภาษิต
ของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม และเป็นถ้อยคำงาม ไม่

ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นความจริง ลิงก็เป็นอัน
เราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านระความผิดแห่งวาทะของตน ก็จะ
ไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่าวาทะของท่านเป็น
เช่นนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุนฺนํ ได้แก่ ภูตรูปทั้ง 4 มีปฐวีธาตุ
เป็นต้น. บทว่า รูปํ ได้แก่ รูปขันธ์. บทว่า ตตฺเถว ความว่า รูปนั้น
ย่อมเกิดขึ้นจากสิ่งใด แม้ในเวลาดับ ก็ย่อมกลับไปเป็นสิ่งนั้นอย่างเดิมแล.
พระมหาสัตว์ทำความเห็นของอุจเฉทวาทีอำมาตย์นั้น ให้ตั้งขึ้นอย่างนี้ว่า บุรุษ
ผู้ประกอบด้วยมหาภูตทั้ง 4 นี้ กระทำกาละลงในเวลาใด ร่างกายที่เป็นส่วนดิน
ก็กลับกลายเป็นดินไป ส่วนที่เป็นน้ำก็กลายเป็นน้ำไป ส่วนที่เป็นไฟก็กลาย
เป็นไฟไป และร่างกายที่เป็นส่วนลมก็กลับกลายเป็นลมไป บุรุษทั้งหลายผู้มี
เก้าอี้ยาวเป็นที่ 5 ย่อมถือเอาซากที่ตายแล้วล่วงอินทรีย์ทั้งหลาย กลับกลาย
เป็นอากาศหมด ตราบใดที่รองเท้าในป่าช้าปรากฏอยู่ กระดุกนกพิราบมีอยู่
ทานของชนเหล่านั้นมีเถ้าเป็นเครื่องบูชา อันพวกคนเซอะบัญญัติไว้ บุคคล
ที่กล่าววาทะว่า มี ชื่อว่าเป็นคนเปล่าแลกล่าวเท็จ จะเป็นพาลหรือเป็นบัณฑิต
ก็ตาม เมื่อกายแตกตายทำลายไป ก็ย่อมขาดสูญ คือ พินาศ ได้แก่ ไม่ปรากฏ
ตราบนั้น. บทว่า อิเธว ความว่า. ชีพย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น. บทว่า
เปจฺจ เปจฺจ วินสฺสติ ความว่า สัตว์ที่บังเกิดในปรโลก ก็มิได้กลับมา
ในโลกนี้อีกด้วยอำนาจแห่งคติ ย่อมพินาศขาดสูญไปในโลกนั้นทีเดียว เมื่อ
โลกขาดสูญอยู่อย่างนี้ ใครเล่าจะเปื้อนด้วยบาปในโลกนี้.
พระมหาสัตว์ ครั้นทำลายวาทะแม้แห่งอุจเฉทวาทีอำมาตย์นั้น ด้วย
ประการฉะนี้แล้ว จึงเรียกขัตตวิชชวาทีอำมาตย์เข้ามาแล้ว กล่าวว่า ดูก่อน

ท่านผู้มีอายุ ท่านเที่ยวยกลัทธินี้ว่า บุคคลควรฆ่าแม้มารดาบิดาแล้ว ทำ
ประโยชน์แก่ตน ดังนี้ ท่านหัวเราะเยาะเรา เพราะเหตุไร ดังนี้แล้ว จึงกล่าว
เป็นคาถาว่า
อาจารย์ทั้งหลายผู้มีวาทะว่า การฆ่ามารดาบิดา
เป็นกิจที่ควรทำ ได้กล่าวไว้แล้วในโลก พวกคนพาล
สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต พึงฆ่ามารดา บิดา พึงฆ่าพี่
ฆ่าน้อง ฆ่าบุตรและภรรยา ถ้าว่าประโยชน์เช่นนั้น
พึงมี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตฺตวิธา ได้แก่ ผู้มีความรู้ว่าการฆ่า
มารดาบิดาเป็นสิ่งที่ควรทำ. อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน. คำว่า
ขตฺตวิชฺชา นี้ เป็นชื่อของอาจารย์ผู้มีความรู้ว่า การฆ่ามารดาบิดาเป็นสิ่งที่
ควรทำ. บทว่า พาลา ปณฺฑิตมานิโน ความว่า ชนทั้งหลายที่เป็นคนพาล
สำคัญอยู่ว่า พวกเราเป็นบัณฑิต จักประกาศว่าตนเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีความ
สำคัญว่าเป็นบัณฑิต จึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า อตฺโถ เจ ความว่า อาจารย์
กล่าวว่า ถ้าประโยชน์สักนิดหนึ่งมีรูปเห็นปานนั้น จะพึงมีแก่ตนไซร้ บุคคล
ไม่พึงเว้นอะไร ๆ ไว้เลย พึงฆ่าเสียทั้งหมด ดังนี้ แม้ท่านก็เป็นคนใดคนหนึ่ง
ในบรรดาอาจารย์ผู้มีวาทะเช่นนั้น .
พระมหาสัตว์ แสดงลัทธิของขัตตวิชชวาทีอำมาตย์นั้นอย่างนี้แล้ว
เมื่อจะประกาศลัทธิของตน จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มไม่ใด ไม่ควรหักกิ่งไม่
นั้น เพราะว่าผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม ถ้า
เมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น ก็ควรถอนไปแม้ทั้งราก

แม้ประโยชน์ที่จะมีต่อเรามาก วานรเป็นอันเราฆ่าดี
แล้ว ถ้าเนื้อความแห่งภาษิตของท่านเป็นอรรถเป็น
ธรรม และเป็นถ้อยคำงาม ไม่ชั่วช้า ถ้าถอยคำของท่าน.
เป็นความจริง วานรเป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้
ความผิดแห่งวาทะของตน ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย
เพราะว่าวาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.

ในคาถานั้น มีอธิบายว่า ดูก่อนขัตติวิชชวาทีอำมาตย์ผู้เจริญ ก็อาจารย์
ของพวกเราพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า บุคคลไม่ควรหักกิ่งหรือใบของต้นไม้ที่ตน
ได้อาศัยร่มเงา. ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะบุคคลผู้ประทุษร้าย
ต่อมิตรเป็นคนเลว แต่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น ก็
ให้ถอนไปแม้กระทั่งราก ก็เราได้มีความต้องการเสบียง เพราะฉะนั้น ถึง
แม้ว่าเราฆ่าวานรนี้แล้ว ประโยชน์พึงมีแก่เรามากจริงอย่างนั้น วานรก็เป็น
อันเราฆ่าแล้วด้วยดี.
พระมหาสัตว์นั้น ได้ทำลายวาทะของขัตตวิชชวาทีอำมาตย์ แม้นั้น
อย่างนี้แล้ว เมื่ออำมาตย์ทั้ง 5 คนเหล่านั้น หมดปฏิภาณนั่งนิ่งเฉยอยู่ จึง
เรียกพระราชามาแล้ว ทูลให้ทราบว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ย่อมพาเอา
มหาโจรผู้ปล้นแว่นแคว้นทั้ง 5 คนเหล่านี้ ตามเสด็จไป น่าอนาถใจจริง
พระองค์เป็นคนโง่เขลา ด้วยว่า บุรุษพึงถึงความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ทั้งใน
ภพนี้และภพหน้า เพราะการคลุกคลีกับพวกคนพาลเห็นปานนี้ ดังนี้แล้ว เมื่อ
จะแสดงธรรมแก่พระราชา จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
บุรุษผู้มีวาทะว่าหาเหตุมิได้ 1 ผู้มีวาทะว่า
พระเจ้าสร้างโลก 1 ผู้มีวาทะว่าสุขและทุกข์เกิดเพราะ


กรรมที่ทำมาก่อน 1 ผู้มีวาทะว่าขาดสูญ 1 คนที่มี
วาทะว่าฆ่ามารดาบิดาเป็นกิจที่ควรทำ 1 คนทั้ง 5
คนนี้ เป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความสำคัญ
ว่าตนเป็นบัณฑิตในโลก คนเช่นนั้นพึงกระทำบาป
เองก็ได้ พึงชักชวนผู้อื่นให้กระทำก็ได้ ความคลุกคลี
อสัตบุรุษเป็นความชั่วร้าย มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาทิโส ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร
บุรุษผู้เช่นเดียวกันกับบุรุษผู้มีทิฏฐิและคติทั้ง 5 คนเหล่านี้ พึงกระทำบาป
แม้ด้วยตนเองก็ได้ พึงทำการชักชวนคนอื่น ที่เชื่อฟังถ้อยคำของเขาให้ทำบาป
ก็ได้. บทว่า ทุกฺกโฏ ความว่า ความคลุกคลีกับอสัตบุรุษทั้งหลายเห็นปานนี้
ย่อมเป็นความชั่วร้าย และมีความเดือดร้อนเป็นกำไร ทั้งในโลกนี้ ทั้งใน
โลกหน้า. เพื่อจะประกาศเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้ง พึงนำพระสูตรเป็นต้นว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมเกิดขึ้น ภัยเหล่านั้น
ทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นจากคนพาล ดังนี้มาแสดง หรือพึงนำข้อความ เรื่อง
โคธชาดก สัญชีวชาดก และอกิตติชาดกเป็นต้นมาแสดงก็ได้.
บัดนี้ พระมหาสัตว์เมื่อจะเพิ่มพูนพระธรรมเทศนาให้เจริญ ด้วยมุ่ง
แสดงถึงข้ออุปมา จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
ในปางก่อน มีนกยางตัวหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายแกะ
พวกและไม่รังเกียจ เข้าไปยังฝูงแกะ ฆ่าแกะทั้งตัว
เมียตัวผู้ ครั้นฆ่าแล้ว ก็บนหนีไปด้วยอาการอย่างใด
สมณพราหมณ์บางพวก ก็มีอาการเหมือนอย่างนั้น
กระทำการปิดบังตัว เที่ยวหลอกลวงพวกมนุษย์

บางพวกประพฤติไม่กินอาหาร บางพวกนอนบน
แผ่นดิน บางพวกทำกิริยาขัดถูธุลีในตัว บางพวกตั้ง
ความเพียรเดินกระโหย่งเท้า บางพวกงดการกินอาหาร
ชั่วคราว บางพวกไม่ดื่มน้ำเป็นผู้มีอาจาระอันเลวทราม
เที่ยวพูดอวดว่า เป็นพระอรหันต์.

คนเหล่านี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความ
สำคัญว่า ตนเป็นบัณฑิต คนเช่นนั้นพึงกระทำบาป
เองก็ได้ พึงชักชวนผู้อื่นให้กระทำบางก็ได้ ความ
คลุกคลีด้วยอสัตบุรุษเป็นความชั้วร้าย มีผลเผ็ดร้อน
เป็นกำไร.

พวกคนที่กล่าวว่า ความเพียรไม่มี และพวกที่
กล่าวหาเหตุติเตียนการกระทำของผู้อื่นบ้าง กล่าว
สรรเสริญการกระทำของตนบ้าง และพูดเปล่า ๆ บ้าง
คนเหล่านี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความ
สำคัญตนว่า เป็นบัณฑิต คนเช่นนั้นพึงกระทำบาป
เองก็ได้ พึงชักชวนให้ผู้อื่นกระทำบาปก็ได้ ความ
คลุกคลีด้วยอสัตบุรุษเป็นความชั่วร้าย มีผลเผ็ดร้อน
เป็นกำไร.

ถ้าความเพียรไม่พึงมี กรรมดีกรรมชั่วไม่มี
ไซร้ พระราชาก็จะไม่ทรงชุบเลี้ยงพวกช่างไม่ แม้
นายช่าง ก็ไม่พึงกระทำยนต์ทั้งหลายให้สำเร็จได้ แต่

เพราะความเพียรมีอยู่ กรรมดีกรรมชั่วมีอยู่ เพราะ
ฉะนั้น นายช่างทำยนต์ทั้งหลายให้สำเร็จ พระราชา
จึงทรงชุบเลี้ยงนายช่างไม้ไว้.

ถ้าฝนไม่พึงตก น้ำค้างไม่พึงตกตลอดร้อยปี
โลกนี้ก็พึงขาดสูญ หมู่สัตว์ก็พึงพินาศ แต่เพราะฝน
ก็ตก และน้ำค้างก็ยังโปรยอยู่ เพราะฉะนั้น ข้าวกล้า
จึงสุก และเลี้ยงชาวเมืองให้ดำรงอยู่ได้นาน.

ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงเดินไปคด
เมื่อมีโคผู้นำฝูงเดินไปคด โคเหล่านั้นทั้งหมด ก็ย่อม
เดินไปคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าผู้นั้น
ประพฤติไม่เป็นธรรม จะป่วยกล่าวไปไยถึงประชาชน
นอกนี้เล่า ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าพระ-
ราชาไม่ทรงดำรงอยู่ในธรรม.

ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงเดินไปตรง
เมื่อมีโคผู้นำฝูงเดินไปตรง โคเหล่านั้นทั้งหมด ก็ย่อม
เดินไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ผู้ใดได้รับสมมุติว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าแม้ผู้นั้น
ประพฤติเป็นธรรม ไม่จำต้องกล่าวถึงประชาชนนอกนี้
ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระราชาทรงดำรง
อยู่ในธรรม.

เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลดิบมา ผู้นั้น
ย่อมไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้น
ก็ย่อมพินาศไป รัฐเปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชา
พระองค์ใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม พระราชา
พระองค์นั้น ย่อมไม่รู้จักรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของ
พระราชาพระองค์นั้น ก็ย่อมพินาศไป.

เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บเอาผลสุก ๆ มา
ผู้นั้นย่อมรู้รสแห่งผลไม้นั้น และพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้น
ก็ไม่พินาศไป รัฐเปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชา
พระองค์ใดปกครองโดยธรรม พระราชาพระองค์นั้น
ย่อมทรงทราบรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชา
พระองค์นั้น ก็ไม่พินาศไป.

อนึ่ง ขัตติยราชพระองค์ใด ทรงปกครองชนบท
โดยไม่เป็นธรรม ขัตติยราชพระองค์นั้น ย่อมทรง
คลาดจากพระโอสถทั้งปวง.

อนึ่ง พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียนชาว
นิคมผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการขวายโอชะและ
พลีกรรม พระราชาพระองค์นั้น ย่อมคลาดจากส่วน
พระราชทรัพย์ พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียน
นายพรานผู้รู้เขตแห่งการประหารอย่างดี และเบียด-
เบียนทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม เบียดเบียน
อำมาตย์ผู้รุ่งเรือง พระราชาพระองค์นั้น ย่อมคลาด
จากพลนิกาย.

อนึ่ง กษัตริย์ผู้ไม่ประพฤติธรรม เบียดเบียน
บรรพชิตผู้แสวงหาคุณ ผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์
กษัตริย์พระองค์นั้น ย่อมคลาดจากสวรรค์ อนึ่ง
พระราชาผู้ไม่ดำรงอยู่ในธรรม ฆ่าพระชายาผู้ไม่
ประทุษร้าย ย่อมได้ประสบบาปอย่างหนัก และย่อม
ผิดพลาดด้วยพระราชบุตรทั้งหลาย.

พระราชาพึงประพฤติธรรมในชาวชนบท ชาว-
นิคม พลนิกาย ไม่พึงเบียดเบียนบรรพชิต พึง
ประพฤติสม่ำเสมอในพระโอรส และพระชายา
พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเช่นนั้น เป็นผู้ปกครอง
บ้านเมือง ไม่ทรงพิโรธ ย่อมทรงทำให้ผู้อยู่ใกล้เคียง
หวั่นไหว เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งอสูร ฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พกาสุ ปุพฺเพ ได้แก่ ในปางก่อน
นกยาง. คำว่า อสุ นี้เป็นเพียงนิบาต. พระมหาโพธิปริพาชกกล่าวคำอธิบาย
ไว้ว่า ดูก่อนมหาบพิตร ในกาลก่อน มีนกยางตัวหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายแกะ
หางของมันยาวมาก และมันเอาหางนั้นซุกซ่อนไว้ในระหว่างขา เข้าไปต่อสู้กับ
ฝูงแกะด้วย รูปร่างคล้ายแกะ ไล่ฆ่าแกะทั้งตัวผู้และตัวเมียในที่นั้นแล้ว ก็บิน
หนีไปด้วยอาการอย่างใด. บทว่า ตถาวิเธเก ความว่า สมณะและพราหมณ์
ทั้งหลายบางพวก ก็มีอาการอย่างนั้น ทำการปกปิดคือปิดบังตัวเองด้วยเพศ
บรรพชิต ทำเป็นทีเหมือนหวังประโยชน์ เที่ยวหลอกลวงชาวโลกด้วยวาจาอัน
อ่อนหวานเป็นต้น. บทว่า อนาสกา เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ เพื่อจะแสดง
กิริยาอาการปกปิดของพวกสมณพราหมณ์เหล่านั้น. จริงอยู่ สมณพราหมณ์
บางพวกย่อมพากันหลอกลวงพวกมนุษย์ว่า พวกเราถือการไม่กินอาหารเป็นวัตร

จึงไม่ต้องให้พวกท่านไปนำอาหารอะไร ๆ มาเลย. บางพวกก็หลอกลวงว่า
พวกเราถือการนอนบนแผ่นดินเป็นวัตร. แต่สำหรับบางพวกก็ถือเอาการขัดฟอก
ธุลีเป็นเครื่องปิดบัง. บางพวกก็ถือการตั้งความเพียรด้วยการเดินกระโหย่งเท้า
เป็นวัตร, อธิบายว่า พวกเขาเหล่านั้น เมื่อเวลาเดินไปก็เขย่งตัวขึ้นแล้ว
กระโหย่งเท้าเดินไป. บางพวกปิดบังตัวด้วยการงดกินอาหารโดยปริยาย คือ
อดไป 7 วันบ้าง 10 วันบ้าง จึงบริโภคสักครั้งหนึ่งเป็นต้น. บางพวกเป็นผู้
ไม่ยอมดื่มน้ำ พากันกล่าวว่า พวกเราไม่ดื่มน้ำดอก. บทว่า อรหนฺโต วทานา
ความว่า บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้มีความประพฤติเลวทราม พากันเที่ยวพูดอยู่ว่า
พวกเราเป็นพระอรหันต์. บทว่า เอเต ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร ชนทั้ง
5 คนเหล่านั้น หรือชนเหล่าอื่นที่ชื่อว่ามีทิฏฐิและคติเหมือนอย่างนี้ ชนเหล่านี้
แม้ทั้งหมด ชื่อว่า เป็นอสัตบุรุษ. บทว่า ยมาหุ ตัดบทเป็น เย อาหุ
แปลว่า พวกคนที่กล่าวว่า. บทว่า สเจ หิ วิริยํ นาสฺส ความว่า
ดูก่อนมหาบพิตร หากว่าความเพียรที่เป็นไปทางกายและทางใจ อันสัมประยุต
ด้วยญาณไม่พึงมีไซร้ บทว่า กมฺมํ ความว่า ถ้าแม้กรรมดีและกรรมชั่ว
ไม่พึงมีไซร้. บทว่า น ภเร ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระราชา ไม่ควร
ทรงชุบเลี้ยงนายช่างไม้ หรือว่าพวกข้าราชการเหล่าอื่นไว้เลย. บทว่า นปิ
ยนฺตานิ
ความว่า แม้นายช่างไม้ ก็ไม่พึงทำยนต์ทั้งหลายมีปราสาท 7 ชั้น
เป็นต้น. ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะไม่มีความเพียรและการงาน.
บทว่า อุจฺฉิชฺเชยฺย ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าว่าฝนไม่ตก น้ำค้าง
ก็ไม่ตกตลอดกาลเพียงเท่านี้ ถัดจากนั้น โลกนี้ก็พึงขาดสูญ ดุจกาลเป็นที่ตั้ง
แห่งกัป แต่ขึ้นชื่อว่า ความขาดสูญย่อมไม่มี โดยทำนองที่อุจเฉทวาทีอำมาตย์
กล่าวแล้ว. บทว่า ปาลยเต แปลว่า ย่อมเลี้ยง. พระมหาสัตว์กล่าวคาถา 4

คาถามีคำเริ่มต้นว่า ควญฺเจ ตรมานานํ ดังนี้ ก็เพื่อจะแสดงธรรมแก่
พระราชาเท่านั้น. พระมหาสัตว์ กล่าวคาถามีคำเริ่มต้นว่า มหารุกฺขสฺส
ดังนี้เป็นอาทิ ก็เพื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชาเหมือนกัน. บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า มหารุกฺขสฺส ได้แก่ ต้นมะม่วงที่มีรสอร่อย. บทว่า อธมฺเมน
ได้แก่ โดยตั้งอยู่ในอคติ. บทว่า รสญฺจสฺส น ชานาติ ความว่า พระ-
ราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่รู้จักรส คือ โอชะแห่งรัฐ ได้แก่ ย่อมไม่
ได้ความสมบูรณ์ด้วยความเจริญ. บทว่า วินสฺสติ แปลว่า ย่อมขาดสูญไป.
มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมพากันทั้งบ้านและนิคมแล้วไปอาศัยสถานที่อันไม่ราบเรียบ
คือ ภูเขาอันตั้งอยู่ในที่สุดแดน. ทางแห่งความเจริญทั้งหมด ก็ย่อมขาดสูญไป.
บทว่า สพฺโพสธีภิ ความว่า พระราชา ย่อมทรงคลาดจากพระโอสถทั้งหมด
มีรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้เป็นต้น และพระโอสถมี
เนยใส และเนยข้นเป็นต้น ได้แก่ พระโอสถเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงพร้อม.
ด้วยว่า แผ่นดินของพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมเป็นแผ่นดินที่ปราศจาก
โอชะ. เพราะแผ่นดินนั้น ปราศจากโอชะเสียแล้ว โอชะแห่งโอสถทั้งหลาย
จึงไม่มี ได้แก่ โอสถเหล่านั้น ไม่อาจจะรักษาโรคให้หายได้. พระราชา
พระองค์นั้น ชื่อว่าเป็นผู้คลาดจากพระโอสถเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้. บทว่า
เนคเม ความว่า พระราชา ทรงเบียดเบียน คือ ทรงบีบคั้นพวกกุฏุมพีผู้อยู่
ในนิคม. บทว่า เย ยุตฺตา ความว่า อนึ่ง ทรงเบียดเบียนพวกพ่อค้า
ทางบก และพวกพ่อค้าทางน้ำ ผู้ประกอบการค้าขาย มุ่งหน้าสู่ความเจริญ
งอกงาม. บทว่า โอชทานพลีกาเร ความว่า ผู้กระทำการถวายโอชะด้วย
อำนาจการนำภัณฑะมา และการถวายส่วย แต่ชนบทนั้น ๆ และกระทำพลีกรรม
อันต่างชนิดเป็นต้นว่าแบ่งเป็น 6 ส่วน และ 10 ส่วน. บทว่า ส โกเสน

ความว่า พระราชาพระองค์นั้น ทรงเบียดเบียนประชาชนเหล่านั้นอยู่ จึงชื่อว่า
เป็นพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชื่อว่า ย่อมเสื่อมจากทรัพย์และธัญญาหาร
คลาดจากส่วนแห่งพระราชทรัพย์. บทว่า ปหารวรเขตฺตญฺญู ความว่า
นายขมังธนูผู้รู้เขตแห่งการประหารอย่างดีอย่างนี้ว่า ควรจะยิงไปในที่ตรงนี้
ดังนี้. บทว่า สงฺคาเม กตนิสฺสเม คือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย
ผู้เสร็จจากการรบในยุทธภูมิ. บทว่า อุสฺสิเต คือ มหาอำมาตย์ผู้เลิศลอย
คือมีชื่อเสียงโด่งดัง. บทว่า หึสยํ ได้แก่ ทรงเบียดเบียนเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่น
เบียดเบียนก็ดี ซึ่งคนทั้งหลายเห็นปานนี้. บทว่า พเลน ได้แก่ หมู่แห่ง
กำลัง. จริงอยู่ เหล่าทหารแม้ที่เหลือก็ย่อมละทิ้งพระราชาผู้ทรงประพฤติอย่างนั้น
ด้วยคิดว่า พระราชาพระองค์นี้ ทรงเบียดเบียน แม้กระทั่งประชาชนผู้มอบ
ราชสมบัติให้แก่พระองค์ ซึ่งเป็นผู้มีอุปการะมากมาย ไฉนจะไม่ทรงเบียดเบียน
พวกเราเล่า. พระราชาพระองค์นั้น ชื่อว่า ย่อมผิดพลาดจากหมู่พลด้วยประการ
ฉะนี้. บทว่า ตเถว อิสโย หึสํ ความว่า พระราชาผ้ไม่ประพฤติธรรม ทรง
เบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณงามความดี ด้วยการด่าและการประหาร
เป็นต้น เหมือนทรงเบียดเบียนชาวบ้านเป็นต้น ฉะนั้น เมื่อกายแตกตายไป
ย่อมเข้าถึงอบายแน่นอน คือ ไม่อาจจะไปบังเกิดในสวรรค์ได้ ดังนั้น พระราชา
พระองค์นั้นจึงชื่อว่า ย่อมคลาดจากสวรรค์ ด้วยประการฉะนี้. บทว่า ภริยํ
หนฺติ อทูสกํ
ความว่า พระราชา ทรงเชื่อถ้อยคำของพวกโจรผู้เป็นมิตรเทียม
แล้วให้ฆ่าพระชายาผู้มีศีล ผู้เจริญพร้อมด้วยบุตรและธิดา ซึ่งเจริญแล้วใน
ร่มเงาแขนของตน. บทว่า ลุทฺทํ ปสวเต ปาปํ ความว่า พระราชา
พระองค์นั้นย่อมประสบ คือ ย่อมสำเร็จผลซึ่งการเข้าถึงนรกของตนเอง.
บทว่า ปุตฺเตหิ จ ความว่า พระราชาพระองค์นั้น ย่อมผิดพลาดจากพระโอรส
ทั้งหลายของพระองค์ในอัตภาพนี้ทีเดียว.

พระมหาสัตว์นั้น กล่าวถึงเรื่องที่พระราชาพระองค์นั้นทรงเชื่อถือ
ถ้อยคำของชนทั้ง 5 คนเหล่านั้น แล้วจึงให้ฆ่าพระเทวีเสีย และกล่าวถึงเรื่อง
ที่พระราชาพระองค์นั้น ทรงผิดพระทัยกับพระโอรสทั้งหลาย ในที่เฉพาะ
พระพักตร์ของพระราชาพระองค์นั้นอย่างนี้ เหมือนจับโจรที่มวยผม ฉะนั้น.
จริงอยู่ พระมหาสัตว์ หวังจะข่มขี่พวกอำมาตย์เหล่านั้น หวังจะแสดงธรรม
และหวังจะเปิดเผยเรื่องที่พระเทวีถูกพวกอำมาตย์เหล่านั้นฆ่าตาย จึงได้นำเอา
ถ้อยคำมาถือโอกาสกล่าวเป็นเนื้อความนี้ไว้โดยลำดับ. พระราชา ทรงได้สดับ
คำของพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงทราบชัดถึงความผิดของพระองค์. ลำดับนั้น
พระมหาสัตว์ จึงได้ทูลพระราชาให้ทรงทราบว่า ดูก่อนมหาบพิตร ตั้งแต่
วันนี้ไป พระองค์อย่าได้ทรงเชื่อถ้อยคำของพวกคนชั่วพวกนี้แล้วกระทำอย่างนี้
อีกเลย ดังนี้ เมื่อจะกล่าวสอนพระราชา จึงกล่าวคาถาเป็นต้นว่า ธมฺมญฺจเร
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมญฺจเร ความว่า ธรรมดาว่า
พระราชาไม่ควรเบียดเบียนชาวชนบทด้วยพลีกรรมอันไม่เป็นธรรม แต่ควร
ประพฤติธรรมในชาวชนบท ไม่ควรทำเจ้าของทรัพย์ ให้กลายเป็นคนไม่ใช่
เจ้าของทรัพย์ แต่พึงประพฤติธรรมในชาวบ้านทั้งหลาย ไม่ควรลำบากในที่
มิใช่ฐานะ แต่พึงประพฤติธรรมในหมู่พลทั้งหลาย ควรหลีกเว้นการฆ่า การ
จองจำ การด่า และการเสียดสี และให้แต่ปัจจัยแก่บรรพชิตเหล่านั้น ไม่ควร
เบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณธรรม ควรสถาปนาพระธิดาไว้ในตำแหน่ง
ที่สมควร มุ่งให้พระโอรสทั้งหมดศึกษาเล่าเรียนสรรพศิลปะ ทรงอุปการะเลี้ยง
ดูโดยชอบธรรม ทรงอนุเคราะห์พระชายาด้วยการทรงมอบความเป็นใหญ่ให้
หาเครื่องประดับตกแต่งให้ และทรงยกย่องให้ทัดเทียมเป็นต้น พึงประพฤติ

ให้สม่ำเสมอ ทั้งในพระโอรสและในพระชายา. บทว่า ส ตาทิโส ความว่า
พระราชาผู้เป็นเช่นนั้น ไม่ยอมทำลายพระราชประเพณี เสวยพระราชสมบัติ
โดยธรรม ย่อมทำประชาชนผู้อยู่ใกล้เคียงให้หวั่นไหว ให้สะดุ้ง ให้สะเทือน
ด้วยพระราชอาชญา และพระเดชานุภาพของพระองค์. คำว่า อินฺโทว นี้
ท่านกล่าวไว้เพื่อเป็นคำอุปมา, อธิบายว่า พระราชาพระองค์นั้น ย่อมทำ
ประชาชนผู้อยู่ใกล้เคียงให้หวั่นไหวเหมือนพระอินทร์ผู้ถึงการนับว่า เป็นเจ้า
แห่งอสูรตั้งแต่เวลาที่ทรงรบชนะแล้วครอบครองพวกอสูรอยู่ ย่อมทำพวกอสูร
ผู้เป็นข้าศึกของพระองค์ให้หวั่นไหวอยู่ ฉะนั้น.
พระมหาสัตว์ ครั้นแสดงธรรมแก่พระราชาอย่างนั้นแล้ว จึงไปทูล
เชิญพระกุมารทั้ง 4 พระองค์มาสั่งสอนแล้ว ประกาศถึงกรรมที่ทรงการทำแล้ว
แด่พระราชา ให้พระราชาทรงยกโทษให้แล้ว ถวายโอวาทแก่ชนทั้งหมดว่า
ดูก่อนมหาบพิตร จำเดิมแต่นี้ไป พระองค์ยังไม่ทันพิจารณาก่อนแล้ว อย่าได้
ทรงถือเอาถ้อยคำของพวกคนผู้มุ่งทำลาย แล้วทำกรรมอันสาหัสเห็นปานนี้
อีกเลย ดูก่อนพระกุมารทั้งหลาย แม้พวกท่านก็อย่าได้ประทุษร้ายต่อพระราชา
เลย. ลำดับนั้น พระราชา จึงตรัสกะพระมหาสัตว์ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า
ผิดในพวกพระโอรส และพระเทวี เพราะได้อาศัยอำมาตย์เหล่านี้ มัวแต่เชื่อฟัง
ถ้อยคำของพวกมัน จึงได้กระทำบาปกรรมถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าจะฆ่าอำมาตย์
ทั้ง 5 คนเหล่านั้นเสีย. พระมหาสัตว์ ชี้แจงถวายว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์
อย่าได้กระทำถึงอย่างนั้นเลย. พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะให้
ตัดมือและเท้าของพวกมันเสีย. พระมหาสัตว์ทูลว่า แม้กรรมอย่างนี้ก็ไม่ควร
กระทำอีก. พระราชา ทรงรับว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ทรงรับสั่ง
ให้ริบทรัพย์สมบัติทั้งหมดเหล่านั้น แล้วทรงให้โกนผมเอาไว้แหยม 5 แหยม

จองจำด้วยขื่อคาและลาดด้วยโคมัยแล้ว ให้ขับไล่ออกไปจากแว่นแคว้น. แม้
พระโพธิสัตว์พักอยู่ในที่นั้นสองสามวันแล้ว ถวายโอวาทแด่พระราชาว่า
ขอพระองค์ จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ดังนี้แล้ว ก็กลับไปยังหิมวันต์ตามเดิม
ทำฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว เจริญพรหมวิหารอยู่จนตลอดชีวิต พอสิ้นชีพ
ก็ได้เข้าถึงพรหมโลก.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อน ตถาคตก็เป็นผู้มีปัญญา
ย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคำข่มขี่ของผู้อื่นเสียได้เหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
อำมาตย์เจ้าความเห็นทั้ง 5 คน ในกาลนั้น ได้เป็นปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ
ปกุธกัจจานะ อชิตเกสกัมพล และนิครนถ์นาฏบุตรในกาลนี้ สุนัขสีเหลือง
ได้เป็นพระอานนท์, ส่วนพระมหาโพธิปริพาชก ก็คือเราตถาคตนั้นเอง
ฉะนี้แล.
จบอรรถกถามหาโพธิชาดก
จบอรรถกถาปัญญาสนิบาต ด้วยประการฉะนี้

รวมชาดกในปัญญาสนิบาตนั้นมี 3 ชาดก คือ


1. นฬินิกาชาดก 2. อุมมาทันตีชาดก 3. มหาโพธิชาดก
สุภกถาพระชินเจ้าตรัสแล้วเป็น 3 ชาดก และอรรถกถา.