เมนู

พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ ด้วยสามารถแห่งโอวาทแต่
พระราชา แล้วทรงประชุมชาดกว่าพระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์
นางนกกุณฑลินี
ได้มาเป็นนางอุบลวรรณา นกเวสสันดร ได้มาเป็น
พระสารีบุตร ราชอำมาตย์ได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนนกชัมพุกะ ได้มาเป็น
เราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาเตสกุณชาดก

2. สรภังคชาดก



ว่าด้วยสรภังคดาบสเฉลยปัญหา



[2446]

(อนุสิสสดาบส ถามว่า) ท่านทั้งหลาย
ผู้ประดับแล้ว สอดใส่กุณฑล นุ่งห่มผ้างดงาม เหน็บ
พระขรรค์มีด้ามประดับด้วยแก้วไพฑูรย์ และแก้ว
มุกดา เป็นจอมพลรถยืนอยู่ เป็นใครกันหนอ ชน
ทั้งหลายในมนุษยโลก จะรู้จักท่านทั้งหลายอย่างไร ?

[2447] (พระเจ้าอัฏฐกราช ตรัสว่า) ข้าพเจ้าเป็น
กษัตริย์ชื่ออัฏฐกะ ท่านผู้นี้คือพระเจ้าภีมรถะ ส่วน-
ท่านผู้นี้คือพระเจ้ากาลิงคราช มีพระเดชฟุ้งเฟื่อง
ข้าพเจ้าทั้งหลายมาในที่นี้ เพื่อเยี่ยมท่านฤๅษีทั้งหลาย
ผู้สำรวมด้วยดี และเพื่อจะขอถามปัญหา.


[2448] (อนุสิสสดาบส กล่าวว่า) ท่านเหาะลอย
อยู่ในอากาศเวหา ดังพระจันทร์ลอยเด่นอยู่ท่ามกลาง
ท้องฟ้า ในวันเพ็ญ 15 ค่ำ ฉะนั้น ดูก่อนเทพยเจ้า
อาตมภาพขอถามท่านผู้มีอานุภาพมาก ชนทั้งหลายใน
มนุษยโลก จะรู้จักท่านได้อย่างไร ?

[2449] (ท้าวสักกเทวราช ตรัสว่า) ในเทวโลก
เขาเรียกข้าพเจ้าว่า สุชัมบดี ในมนุษยโลก เขาเรียก
ข้าพเจ้าว่า ท้าวมฆวา ข้าพเจ้านั้น คือท้าวเทวราช
วันนี้มาถึงที่นี่ เพื่อขอเยี่ยมท่านฤๅษีทั้งหลาย ผู้สำรวม
แล้วด้วยดี.
[2450] พระฤๅษีทั้งหลายของข้าพเจ้า ผู้มีฤทธิ์
มาก เข้าถึงซึ่งอิทธิคุณ มาประชุมพร้อมกันแล้วปรากฏ
ในที่ไกล ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ขอไหว้พระคุณเจ้า
ทั้งหลาย ผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ ในชีวโลกนี้.

[2451] (อนุสิสสดาบส ทูลว่า) กลิ่นแห่งฤๅษี
ทั้งหลาย ผู้บวชมานาน ย่อมออกจากกายฟุ้งไปตาม
ลมได้ ดูก่อนท้าวสหัสสเนตร เชิญมหาบพิตร ถอยไป
เสียจากที่นี่ ดูก่อนท้าวเทวราช กลิ่นของฤๅษีทั้งหลาย
ไม่สะอาด.

[2452] (ท้าวสักกเทวราช ตรัสว่า) กลิ่นแห่ง
ฤๅษีทั้งหลายผู้บวชมานาน จงออกจากกายฟุ้งไปตาม
ลมเถิด ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย

ย่อมมุ่งหวังกลิ่นนั้น ดังพวงบุปผชาติอันวิจิตรมีกลิ่น-
หอม เพราะว่าเทวดาทั้งหลาย มิได้มีความสำคัญใน
กลิ่นนี้ ว่าเป็นปฏิกูล.

[2453] (อนุสิสสดาบส กล่าวว่า) ท้าวมฆวาฬ
สุชัมบดี เทวราช องค์ปุรินททะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูต
มีพระยศ เป็นจอมแห่งทวยเทพ ทรงย่ำยีหมู่อสูร
ทรงรอคอยโอกาส เพื่อตรัสถามปัญหา.
บรรดาหมู่ฤๅษีผู้เป็นบัณฑิตเหล่านี้ ณ ที่นี้ ใคร
เล่าหนอถูกถามแล้ว จักพยากรณ์ปัญหาอันสุขุม ของ
พระราขาทั้ง 3 พระองค์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์
และของท้าววาสวะ ผู้เป็นจอมแห่งทวยเทพได้.

[2454] (หมู่ฤาษี กล่าวว่า) ท่านสรภังคฤๅษี
ผู้เรืองตบะนี้ เว้นจากเมถุนธรรม ตั้งแต่เกิดมา เป็น
บุตรของปุโรหิตาจารย์ ได้รับฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
ท่านจะพยากรณ์ปัญหา ของพระราชาเหล่านั้นได้.

[2455] (อนุสิสสดาบส กล่าวว่า) ข้าแต่ท่าน
โกณฑัญญะ ขอท่านได้โปรดพยากรณ์ปัญหา ฤๅษีทั้ง
หลายผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ พากันขอร้องท่าน ข้า-
แต่ท่านโกณฑัญญะ ภาระนี้ย่อมมาถึงท่านผู้เจริญด้วย
ปัญญา ข้อนี้เป็นธรรมดาในหมู่มนุษย์.

[2456] (สรภังคดาบส ทูลว่า) มหาบพิตรผู้
เจริญทั้งหลาย อาตมาภาพให้โอกาสแล้ว เชิญตรัส

ถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามพระหฤทัยปรารถนา
เถิด ก็อาตมาภาพรู้โลกนี้ และโลกหน้า ด้วยตนเอง
แล้วจักพยากรณ์ปัญหานั้น ๆ แก่มหาบพิตรทั้งหลาย.
[2457] ลำดับนั้น ท้าวมฆวาฬสักกเทวราช
ปุรินททะ ทรงเห็นประโยชน์ ได้ตรัสถามปัญหาอัน
เป็นปฐม ดังที่พระทัยปรารถนาว่า
บุคคลฆ่าซึ่งอะไรสิ จึงจะไม่เศร้าโศกในกาล
ไหนๆ ฤๅษีทั้งหลายย่อมสรรเสริญการละอะไร บุคคล
พึงอดทนคำหยาบ ที่ใคร ๆ ในโลกนี้กล่าวแล้ว ข้า
แต่ท่านโกณฑัญญะ ขอท่านได้โปรดบอกความข้อนี้
แก่โยมเถิด.

[2458] (สรภังคดาบส ทูลว่า) บุคคลฆ่าความ
โกรธได้แล้ว จึงจะไม่เศร้าโศกในกาลไหน ๆ ฤๅษี
ทั้งหลายย่อมสรรเสริญการละความลบหลู่ บุคคลควร
อดทนคำหยาบ ที่ชนทั้งปวงกล่าว สัตบุรุษทั้งหลาย
กล่าวความอดทนนี้ว่า สูงสุด.

[2459] (ท้าวสักกเทวราช ตรัสว่า) บุคคลอาจจะ
อดทนถ้อยคำของคนทั้งสองจำพวกได้ คือคนที่เสมอ
กัน 1 คนที่ประเสริฐกว่าตน 1 จะอดทนถ้อยคำของ
คนเลวกว่า ได้อย่างไรหนอ ข้าแต่ท่านโกณฑัญญะ
ขอท่านได้โปรดบอกความข้อนี้แก่โยมเถิด.

[2460] (สรภังคดาบส ทูลว่า) บุคคลพึงอดทน
ถ้อยคำของคน ผู้ประเสริฐกว่าได้เพราะความกลัว พึง
อดทนถ้อยคำของคนที่เสมอกันได้ เพราะการแข่งขัน
เป็นเหตุ ส่วนผู้ใดในโลกนี้ พึงอดทนถ้อยคำของคน
ที่เลวกว่าได้ สัตบุรุษทั้งหลาย กล่าวความอดทนของ
ผู้นั้นว่า สูงสุด.
[2461] ไฉนจึงจะรู้จักคนประเสริฐกว่า คน
เสมอกัน หรือคนที่เลวกว่า ซึ่งมีสภาพอันอิริยาบถ 4
ปกปิดไว้ เพราะว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมเที่ยวไปด้วย
สภาพของคนชั่วได้ เพราะเหตุนั้นแล จึงควรอดทน
ถ้อยคำของคนทั้งปวง.
[2462] สัตบุรุษผู้มีความอดทน พึงได้ผลคือ
แม้มาก พร้อมด้วยพระราชา เมื่อรบอยู่จะพึงได้ผล
นั้น ก็หามิได้ เวรทั้งหลาย ย่อมระงับด้วยกำลังแห่ง
ขันติ.

[2463] (ท้าวสักกเทวราช ตรัสว่า) ข้าพเจ้าขอ
อนุโมทนาคำสุภาษิตของท่าน แต่จะขอถามปัญหา
อื่น ๆ กะท่าน ขอเชิญท่านกล่าวแก้ปัญญานั้น โดยมี
พระราชา 4 พระองค์ คือ พระเจ้าทัณฑกี 1 พระ-
เจ้านาลิกีระ 1 พระเจ้าอัชชุนะ 1 พระเจ้ากลาพุ 1
ขอท่านได้โปรดบอกคติของพระราชาเหล่านั้น ผู้มี

บาปกรรมอันหนัก พระราชาทั้ง 4 องค์นั้น เบียด
เบียนพระฤๅษีทั้งหลาย พากันไปบังเกิด ณ ที่ไหน ?

[2464] (สรภังคดาบส ทูลว่า) ก็พระเจ้า
ทัณฑกี ได้เรี่ยรายโทษลง ในท่านกีสวัจฉดาบสแล้ว
เป็นผู้ขาดสูญมูลราก พร้อมทั้งอาณาประชาราษฎร์
พร้อมทั้งรัฐมณฑล หมกไหม้อยู่ในนรก ชื่อกุกกุละ
ถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ย่อมตกต้องกายของพระ-
ราชานั้น.
พระเจ้านาลิกีระ พระองค์ใด ได้เบียดเบียน
บรรพชิตทั้งหลาย ผู้สำรวมแล้ว ผู้กล่าวธรรม สงบ
ระงับ ไม่ประทุษร้ายใคร สุนัขทั้งหลายในโลกหน้า
ย่อมรุมกัดกินพระเจ้านาลิกีระนั้น ผู้ดิ้นรนอยู่.
อนึ่ง พระเจ้าอัชชุนะ เป็นผู้มีพระเศียรห้อยลง
เบื้องต่ำ มีพระบาทชี้ขึ้นเบื้องสูง ตกลงในสัตติสูลนรก
เพราะเบียดเบียนอังคิรสฤๅษีผู้โดดม ผู้มีความอดทน
ตบะ ประพฤติพรหมจรรย์มานาน.
พระราชาทรงพระนามว่า กลาพุ พระองค์ใด
ได้เชือดเฉือนพระฤๅษี ชื่อ ขันติวาที ผู้สงบระงับ
ไม่ประทุษร้าย ทำให้เป็นท่อนๆ พระราชาพระนามว่า
กลาพุพระองค์นั้น ได้บังเกิดหมกไหม้อยู่ในอเวจีนรก
อันร้อนใหญ่ มีเวทนาเผ็ดร้อน น่ากลัว.

บัณฑิตได้ฟังนรกเหล่านี้ และนรกเหล่าอื่น อัน
ชั่วช้ากว่านี้ ในที่นี้แล้วคงประพฤติธรรม ในสมณ-
พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้กระทำอย่างนี้ ย่อมเข้าถึงแดน
สวรรค์.

[2465] (ท้าวสักกเทวราช ตรัสว่า) ข้าพเจ้าขอ
อนุโมทนาคำสุภาษิตของท่าน ขอถามปัญหาข้ออื่น
กะท่าน ขอเชิญท่านกล่าวแก้ปัญหานั้นด้วย.
บัณฑิตเรียกคนเช่นไรว่า มีศีล เรียกคนเช่นไรว่า
มีปัญญา เรียกคนเช่นไรว่า สัตบุรุษ สิริย่อมไม่ละ
คนเช่นไรหนอ ?

[2466] (สรภังคดาบส ทูลว่า) บุคคลใดในโลก
นี้ เป็นผู้สำรวมด้วย กาย วาจา และใจ ไม่ทำบาป
กรรมอะไร ๆ ไม่พูดพล่อย ๆ เพราะเหตุแห่งตน
บัณฑิตเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า เป็นผู้มีศีล.
บุคคลใดคิดปัญหาอันลึกซึ้ง ได้ด้วยใจ ไม่ทำ
กรรมอันหยาบช้า อันหาประโยชน์มิได้ ไม่ปิดทาง
แห่งประโยชน์อันมาถึงตามกาล บัณฑิตเรียกบุคคล
เช่นนั้น ว่ามีปัญญา.
บุคคลใดแลเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที มีปัญญา
มีกัลยาณมิตรและมีความภักดี มั่นคง ช่วยทำกิจของ
มิตรผู้ตกยาก โดยเต็มใจ บัณฑิตเรียกบุคคลเช่นนั้น
ว่า สัตบุรุษ.

บุคคลใด ประกอบด้วยคุณสมบัติทั้งปวงเหล่านี้
คือเป็นผู้มีศรัทธา อ่อนโยน แจกทานด้วยดี รู้ความ
ประสงค์ สิริย่อมไม่ละบุคคลเช่นนั้น ผู้สงเคราะห์
มีวาจาอ่อนหวาน สละสลวย.

[2467] (ท้าวสักกเทวราช ตรัสว่า) ข้าพเจ้าขอ
อนุโมทนาคำสุภาษิตของท่าน ขอถามปัญหาข้ออื่น
กะท่าน ขอเชิญท่านกล่าวแก้ปัญหานั้นด้วย นักปราชญ์
ย่อมกล่าว ศีล สิริ ธรรมของสัตบุรุษและปัญญา ว่า
ข้อไหนประเสริฐกว่ากัน ?

[2468] (พระมหาสัตว์ ทูลว่า) แท้จริง ท่านผู้
ฉลาดทั้งหลาย ย่อมกล่าวว่า ปัญญานั่นแหละประเสริฐ
สุด ดุจพระจันทร์ประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลายฉะนั้น
ศีล สิริ และธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเป็นไปตามบุคคล
ผู้มีปัญญา.

[2469] (ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า) ข้าพเจ้าขออนุ-
โมทนาคำสุภาษิตของท่าน ขอถามปัญหาข้ออื่นกะ
ท่าน ขอเชิญท่านกล่าวแก้ปัญหานั้น บุคคลในโลกนี้
ทำอย่างไร ทำด้วยอุบายอย่างไร ประพฤติอะไร เสพ
อะไรจึงจะได้ปัญญา ขอท่านได้โปรดบอกปฏิปทาแห่ง
ปัญญา ณ บัดนี้ว่า นรชนทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้มี
ปัญญา.

[2470] (สรภังคดาบส ทูลว่า) บุคคลควรคบ
หาท่านผู้รู้ทั้งหลาย ละเอียดลออ เป็นพหูสูต ควร
เป็นนักเรียน นักสอบถาม พึงตั้งใจฟังคำสุภาษิตโดย
เคารพ นรชนทำอย่างนี้ จึงจะเป็นผู้มีปัญญา.
ผู้มีปัญญานั้น ย่อมพิจารณาเห็นกามคุณทั้งหลาย
โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ และ
โดยความเป็นโรค ผู้เห็นแจ้งอย่างนี้ย่อมละความพอ
ใจ ในกามทั้งหลาย อันเป็นทุกข์ มีภัยใหญ่หลวง
เสียได้.
ผู้นั้นปราศจากราคะแล้ว กำจัดโทสะได้ พึง
เจริญเมตตาจิต อันหาประมาณมิได้ งดอาชญาในสัตว์
ทุกจำพวกแล้ว ไม่ถูกนินทา ย่อมเข้าถึงพรหมสถาน.
[2471] การเสด็จมาของมหาบพิตร ผู้มีพระ-
นามว่า อัฏฐกะ ภีมรถะและกาลิงคราช ผู้มีพระเดชา-
นุภาพฟุ้งเฟื่องไป เป็นการมาอย่างมีมหิทธิฤทธิ์ทุก ๆ
พระองค์ทรงละกามราคะได้แล้ว.

[2472] (พระราชาทั้งหลาย ตรัสว่า) ท่านเป็นผู้
รู้จิตผู้อื่น ข้อนั้น ก็เป็นอย่างนั้นแหละ ข้าพเจ้าทุกคน
ละกามราคะได้แล้ว ขอท่านจงให้โอกาส เพื่อความ
อนุเคราะห์ ตามที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะรู้ถึงคติของท่าน
ได้.

[2473] (สรภังคดาบส ทูลว่า) อาตมาให้
โอกาส เพื่อความอนุเคราะห์ เพราะมหาบพิตรทั้ง
หลาย ละกามราคะได้แล้วอย่างนั้น จงยังกายให้ซาบ
ซ่าน ด้วยปีติอันไพบูลย์ ตามที่มหาบพิตรทั้งหลาย
จะทรงทราบถึงคติ ของอาตมา.

[2474] (พระราชาทั้งหลาย ตรัสว่า) ข้าแต่ท่าน
ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ข้าพเจ้าทั้งหลาย จักทำตามคำ
สั่งสอนที่ท่านกล่าวทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะยัง
กายให้ซาบซ่าน ด้วยปีติอันไพบูลย์ ตามที่ข้าพเจ้า
ทั้งหลาย จะรู้ถึงคติของท่าน.

[2475] (สรภังคดาบส กล่าวว่า) ดูก่อนท่านผู้
เจริญทั้งหลาย ฤๅษีทั้งหลายผู้มีคุณความดี ทำการบูชา
นี้ แก่กีสวัจฉดาบสแล้ว จงพากันไปยังที่อยู่ของตน ๆ
เถิด ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ยินดีในฌาน มีจิตตั้งมั่น
ทุกเมื่อเถิด ความยินดีนี้ เป็นคุณชาติประเสริฐสุด
ของบรรพชิต.

[2476] (พระบรมศาสดา ตรัสว่า) ชนเหล่านั้น
ได้ฟังคาถา อันประกอบไปด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง ที่
ฤาษีผู้เป็นบัณฑิตกล่าวดีแล้ว เกิดปีติโสมนัส พากัน
อนุโมทนาอยู่ เทวดาทั้งหลายผู้มียศ ต่างก็พากันกลับ
ไปสู่เทพบุรี.

คาถาเหล่านี้ มีอรรถพยัญชนะดี อันฤๅษีผู้เป็น
บัณฑิตกล่าวดีแล้ว คนใดคนหนึ่ง ฟังคาถาเหล่านี้
ให้มีประโยชน์พึงได้คุณพิเศษ ทั้งเบื้องต้นและเบื้อง
ปลาย ครั้นแล้ว พึงบรรลุถึงสถานที่ อันมัจจุราช
มองไม่เห็น.
[2477] สาลิสสระดาบส ในครั้งนั้นได้มาเป็น
พระสารีบุตร เมณฑิสสรดาบส ได้มาเป็นพระกัสสปะ
ปัพพตดาบส ได้มาเป็นพระอนุรุทธะ เทวลดาบสได้
มาเป็นพระกัจจายนะ อนุสิสสดาบส ได้มาเป็นพระ
อานนท์ กีสวัจฉดาบส ได้มาเป็นพระโกลิตะ คือพระ
โมคคัลลานะ พระนารทดาบส ได้มาเป็นพระปุณณ-
มันตานีบุตร บริษัทที่เหลือ ได้มาเป็นพุทธบริษัท
สรภังคดาบสโพธิสัตว์ ได้มาเป็นเราตถาคต เธอทั้ง
ลายจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้.

จบสรภังคชาดกที่ 2

อรรถกถาสรภังคชาดก



พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระ
ปรารภการปรินิพพาน ของพระมหาโมคคัลลานะ ตรัสพระธรรมเทศนา
นี้มีคำเริ่มต้นว่า อลงฺกตา กุณฺฑลิโน สุวตฺถา ดังนี้.
ได้ยินว่า พระสารีบุตรเถระกราบทูลให้พระตถาคตเจ้า ซึ่งประทับ
อยู่ในพระเชตวัน ทรงอนุญาตการปรินิพพานแล้ว เดินทางไปปรินิพพาน ณ
ห้องที่ตนเกิด ในนาลันทคาม. พระศาสดาทรงสดับข่าวว่า พระสารีบุตร
ปรินิพพานแล้ว จึงเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร.
คราวนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระ อยู่ที่กาฬศิลาประเทศ ข้างภูเขาอิสิคิลิ.
ก็ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั้น เที่ยวไปยังเทวโลกบ้าง อุสสทนรกบ้าง ด้วย
ความเป็นผู้ถึงที่สุดด้วยกำลังฤทธิ์. ท่านเห็นอิสริยยศใหญ่ของพุทธสาวกใน
เทวโลก เห็นทุกข์ใหญ่หลวงของติตถิยสาวกในอุสสทนรก แล้วกลับมายัง
มนุษยโลก แจ้งแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า อุบาสกคนโน้น และอุบาสิกาคนโน้น
บังเกิดเสวยมหาสมบัติในเทวโลกชื่อโน้น สาวกของเดียรถีย์คนโน้นกับคนโน้น
บังเกิดที่นรกเป็นต้น ในอบายชื่อโน้น. มนุษย์ทั้งหลายพากันเลื่อมใสใน
พระศาสนา ละเลยพวกเดียรถีย์เสีย. ลาภสักการะใหญ่หลวงได้มีแก่สาวกของ
พระพุทธเจ้า. ลาภสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมลง. พวกเดียรถีย์เหล่านั้น
จึงพากันผูกอาฆาตในพระเถระ ว่า เมื่อพระเถระนี้ยังมีชีวิตอยู่ อุปัฏฐากของ
พวกเราก็แตกแยก ทั้งลาภสักการะก็เสื่อมลง พวกเราจักฆ่าพระเถระให้ตาย.
พวกเดียรถีย์ทั้งหลาย จึงจ้างโจรชื่อสมณกุตต์ เป็นเงินพันหนึ่ง เพื่อให้ฆ่า
พระเถระ. โจรสมณกุตต์คิดว่า เราจักฆ่าพระเถระให้ตาย จึงไปยังถ้ำกาฬศิลา