เมนู

อรรถกถากุมภชาดก



พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ
หญิง นักดื่มสุรา 500 คน ผู้เป็นสหายของนางวิสาขามหาอุบาสิกา ตรัส
พระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โก ปาตุราสิ ดังนี้.
ได้ยินว่า เมื่อเขาประกาศเรื่องมหรสพสุรา ในพระนครสาวัตถี
หญิง 500 คนเหล่านั้น จัดเตรียมสุรามีรสเข้มไว้ เพื่อสามีที่ไปเล่นมหรสพ
แล้วปรึกษากันว่า เราทั้งหลายก็จะเล่นมหรสพ ดังนี้แล้ว ทุกคนจึงพากันไป
ยังสำนักของนางวิสาขากล่าวชักชวนว่า สหายรัก พวกเราไปเล่นมหรสพกันเถิด
เมื่อนางวิสาขาปฏิเสธว่า มหรสพนี้เป็นมหรสพสุรา เราจักไม่ดื่มสุราเลย
จึงพากันกล่าวว่า ท่านจงถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด พวกเราจักเล่น
มหรสพกัน. นางวิสาขารับคำว่าดีแล้ว จึงส่งคนไปทูลเชิญพระบรมศาสดา
ถวายมหาทานแล้วถือเอาของหอมและระเบียบเป็นอันมาก ห้อมล้อมด้วยหญิง
เหล่านั้น ไปยังพระเชตวันมหาวิหาร เพื่อสดับพระธรรมกถา ในเวลาเย็น.
ก็หญิงเหล่านั้นดื่มสุราไปพลาง เดินทางร่วมไปกับนางวิสาขา ยืนดื่มสุราที่ซุ้ม
ประตู แล้วจึงได้เข้าไปยังสำนักพระศาสดาพร้อมกับนางวิสาขา. นางวิสาขา
ถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่งลง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. บรรดาหญิงเหล่านั้น
บางพวกก็ฟ้อนรำ บางพวกก็คะนองมือคะนองเท้า จนทะเลาะวิวาทกัน ใน
สำนักของพระศาสดานั่นเอง พระบรมศาสดาจึงทรงเปล่งพระรัศมี ออกจาก
ขนพระโขนงโดยพระประสงค์จะให้หญิงเหล่านั้นเกิดความสังเวช หญิงเหล่านั้น
ตกใจกลัว ถูกมรณภัยคุกคาม ด้วยเหตุนั้น หญิงเหล่านั้นจึงสร่างเมา. พระ-
ศาสดาทรงอันตรธานหายไปจากบัลลังก์ที่ประทับ ทรงยืนอยู่ ณ ยอดสิเนรุ-

บรรพต เปล่งพระรัศมีออกจากพระอุณาโลม เป็นประหนึ่งว่าได้มีพระจันทร์
และพระอาทิตย์อุทัยขึ้นถึงพันดวง. พระศาสดาประทับยืน ณ ยอดสิเนรุบรรพต
นั่นเอง โดยพระประสงค์จะให้หญิงเหล่านั้นเกิดความสังเวช จึงตรัสพระคาถานี้
ความว่า
ท่านทั้งหลายจะมัวร่าเริง บันเทิงกันอยู่ทำไม
ในเมื่อโลกกำลังลุกเป็นไฟอยู่เนืองนิตย์ ท่านทั้งหลาย
อันความมืดมิดหุ้มห่อแล้ว ยังไม่พากันแสวงหาประทีป
คือที่พึ่ง (อีกหรือ ?).

ในเวลาจบพระคาถา หญิงทั้ง 500 เหล่านั้น ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
พระศาสดาเสด็จมาประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ ใต้ร่มเงาพระคันธกุฎี ลำดับนั้น
นางวิสาขา ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
น้ำดื่มที่ชื่อว่าสุราอันเป็นเครื่องทำลายหิริโอตตัปปะนี้ เกิดแล้วแต่ครั้งไร
พระเจ้าข้า. เมื่อพระศาสดาจะตรัสบอกแก่นาง จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัส
ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติใน พระนคร-
พาราณสี
มีนายพรานป่าผู้หนึ่งชื่อว่า สุระ เป็นชาวแคว้นกาสี ได้ไปสู่ป่า
หิมพานต์ เพื่อต้องการแสวงหาสิ่งของ ในป่าหิมพานต์นั้น มีต้นไม้ต้นหนึ่ง
ลำต้นตั้งตรง ที่ฐานสูงประมาณชั่วบุรุษหนึ่งได้แตกออกเป็นสามค่าคบ ระหว่าง
ค่าคบ 3 แห่งของต้นไม้นั้น ได้มีโพรงใหญ่ขนาดเท่าตุ่ม เมื่อฝนตกก็เต็มไปด้วย
น้ำ ได้มีตนเสมอ มะขามป้อม และเถาพริกไท ขึ้นล้อมรอบต้นไม้นั้น. ผลแห่ง
ต้นไม้นั้น ๆ สุกแล้วก็หลุดออกจากขั้ว ตกลงไปในโพรงนั้น. ใกล้ๆ ต้นไม้นั้น
มีข้าวสาลีเกิดขึ้นเอง และนกแขกเต้าทั้งหลายมาคาบเอารวงข้าวสาลีจากที่นั้น

แล้วก็บินไปจับกินอยู่บนต้นไม้นั้น เมื่อนกแขกเต้าพากันจิกกินอยู่ เมล็ดข้าว-
เปลือกก็ดี เมล็ดข้าวสารก็ดี หลุดหล่นลงไปในโพรงนั้น น้ำในโพรงนั้นถูก
แสงแดดแผดเผา ก็เกิดมีรส มีสีแดง ๆ ด้วยประการฉะนี้. ในฤดูร้อนฝูงนก
ทั้งหลายที่กระหายน้ำ บินมากินน้ำนั้น ก็มึนเมาพลัดตกลงไปที่โคนต้นไม้ ม่อย
ไปหน่อยหนึ่งแล้วส่งเสียงคูขันบินไป. ถึงสุนัขป่าและลิงเป็นต้น ก็มีนัยอย่าง
เดียวกันนี้. พรานป่าเห็นดังนั้นก็หลากใจคิดว่า ถ้าน้ำนี้เป็นพิษ สัตว์เหล่านี้
คงตาย แต่นี่มันม่อยไปหน่อยหนึ่งแล้วก็บินไปได้ตามสบาย น้ำนี้คงไม่มีพิษ.
เขาจึงลองดื่มเอง ก็เกิดมึนเมา และอยากจะกินเนื้อสัตว์ ลำดับนั้นเขาจึงก่อไฟ
ให้โชนขึ้น แล้วฆ่านกที่พลัดตกไปที่โคนไม้ มีนกกระทาและไก่เป็นต้นตาย
ย่างเนื้อที่ถ่านเพลิง มือหนึ่งฟ้อนรำ มือหนึ่งถือเนื้อกัดกิน อยู่ในที่นั้นวันหนึ่ง
ถึงสองวัน ก็ ณ ที่ใกล้บริเวณนั้น มีดาบสรูปหนึ่งชื่อ วรุณะ นายพรานป่า
เดินไปยังสำนักพระดาบสนั้น โดยธุระอย่างอื่น. เขาได้เกิดความคิดว่า เราจัก
ดื่มน้ำนี้ร่วมกับพระดาบส เขาจึงตักน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่อันหนึ่งจนเต็ม หิ้วไป
กับเนื้อย่าง ถึงบรรณศาลาแล้วกล่าวชวนว่า ท่านขอรับ จงลองดื่มน้ำนี้ดูเถิด
แล้วทั้งสองก็บริโภคเนื้อดื่มน้ำด้วยกัน. ด้วยประการฉะนี้ น้ำดื่มนั้นเลยเกิดมี
ชื่อว่า สุราบ้าง วรุณีบ้าง เพราะนายพรานสุระและพระวรุณดาบส พบ
เห็นเข้า.
ฝ่าย สุรพราน กับวรุณดาบส ทั้งสองคนคิดได้ว่า มีอุบายทำมาหา
กินได้อยู่ จึงตักสุราใส่กระบอกไม้ไผ่จนเต็ม แล้วพากันหาบไป จนถึงปัจจันต-
นคร ให้คนกราบทูลพระราชาว่า มีคนทำน้ำดื่มมาเฝ้า พระราชาจึงตรัสสั่งให้
คนทั้งสองเข้าเฝ้า เขาจึงนำน้ำดื่มเข้าไปถวาย พระราชาทรงเสวยได้ สอง
-สามครั้งก็ทรงมึนเมา แต่น้ำเมานั้น พอเสวยได้เพียงวัน สองวัน เท่านั้น
ต่อมาพระราชาตรัสถามคนทั้งสองว่า น้ำชนิดนี้ มีอยู่ที่อื่นบ้างไหม ? เขาพา

กันกราบทูลว่า ขอเดชะมีอยู่ พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า มีอยู่ที่ไหน ?
เขาทูลว่า ที่ป่าหิมพานต์ พระเจ้าข้า พระราชาตรัสสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นท่านทั้ง
สองจงไปเอามา ชนทั้งสองไปนำเอามาคราว สองคราว แล้วปรึกษากันว่า
พวกเราไม่อาจเอามาบ่อย ๆ ได้ จึงกำหนดจดจำเครื่องปรุงทั้งปวงไว้ แล้ว
เอาเปลือกเป็นต้น ของต้นไม้นั้นมาใส่ปนลงในเครื่องปรุงทุกอย่าง ปรุงสุราขึ้น
ในพระนคร ชาวพระนครพากันดื่มสุราจนถึงความประมาทมัวเมา เลยยากจน
เข็ญใจไปตาม ๆ กัน พระนครก็ได้เป็นเหมือนเมืองร้าง ด้วยเหตุนั้น คนทำ
น้ำดื่มทั้งสอง จึงหลบหนีออกจากพระนครนั้น ไปยังเมืองพาราณสี ให้กราบ
ทูลพระราชาว่า คนทำน้ำดื่มมาเฝ้า พระเจ้าพาราณสีตรัสสั่งให้คนทั้งสองเข้าเฝ้า
แล้วพระราชทานเสบียงแก่คนทั้งสอง เขาช่วยกันจัดการปรุงสุราขึ้น แม้ใน
พระนครพาราณสีนั้น ถึงพระนครนั้น ก็พินาศไปเช่นนั้นอีก เขาทั้งสองจึง
หนีออกจากเมืองนั้นไปเมืองสาเกต หนีออกจากเมืองสาเกตไปยังเมืองสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าสัพพมิตต์ ได้เป็นกษัตริย์ พระนครสาวัตถี ท้าวเธอทำการ
สงเคราะห์แก่คนทั้งสองนั้น แล้วตรัสถามว่า พวกเจ้าต้องการสิ่งใดบ้าง เมื่อ
เขากราบทูลว่า ต้องการรากไม้สำหรับปรุง แป้งข้าวสาลี และตุ่ม ห้าร้อย
ดังนี้ ก็ตรัสสั่งให้ประทานครบทุกอย่าง. พรานสุระ และวรุณดาบสทั้งสอง
ปรุงสุราใส่ตุ่ม 500 ใบตั้งไว้แล้ว ประสงค์จะป้องกันโดยเกรงว่าหนูจะรบกวน
จึงผูกแมวไว้ข้าง ๆ ตุ่มใบละตัว แมวเหล่านั้น พากันดื่มสุราที่ไหลลงก้นตุ่ม
ในเวลาที่ต้มแล้วตักใส่ตุ่ม จนมึนเมาหลับไป พวกหนูมาแทะ หู จมูก
หนวด และหางแมว แล้วพากันวิ่งหนีไป พวกอายุตตกบุรุษ (คนสอดแนม)
คิดว่า แมวดื่มสุราพากันตายหมด จึงไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระ
เจ้าสัพพมิตต์ ทรงเห็นว่า ชนทั้งสองนี้ จักทำยาพิษ จึงตรัสสั่งให้ตัดศีรษะ
คนทั้งสองเสีย คนทั้งสอง พร่ำทูลขอร้องว่า ขอเดชะ ดื่มสุรามีรสอร่อย

พระเจ้าข้า ดังนี้ จนขาดใจตาย ครั้นพระราชาตรัสสั่งให้ประหารชีวิตคนทั้งสอง
แล้ว มีพระราชโองการให้ทำลายตุ่มเลีย ฝ่ายแมวทั้งหลาย เมื่อฤทธิ์สุราสร่าง
จางไป ก็ลุกขึ้นวิ่งเล่นได้ พวกราชบุรุษเห็นดังนั้น จึงกราบทูลให้พระราชา
ทรงทราบ พระราชาทรงพระดำริว่า ถ้าน้ำสุราเป็นพิษ แมวคงตาย ชะรอย
จะมีรสอร่อย เราจะลองดื่มดู แล้วตรัสสั่งให้ประดับตกแต่งพระนคร ให้สร้าง
มณฑปขึ้นที่หน้าพระลาน เสร็จแล้วประทับนั่งบนราชบัลลังก์ ซึ่งยกเศวตฉัตร
ขึ้นไว้บนมณฑปที่ประดับตบแต่งแล้ว แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ มุขมนตรี
เริ่มจะเสวยสุรา.
ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราช ทรงตรวจดูสัตวโลกว่า ชนเหล่าไหนบ้าง
หนอ ไม่ประมาทในการบำรุงมารดาบิดาเป็นต้น บำเพ็ญสุจริต 3 ให้เต็ม
บริบูรณ์ ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าสัพพมิตต์นั้น ประทับนั่ง เพื่อจะดื่มสุรา
จึงทรงพระดำริว่า ถ้าพระเจ้าสัพพมิตต์นี้จะดื่มสุราไซร้ สกลชมพูทวีป จัก
พินาศฉิบหาย เราจักต้องแก้ไข โดยวิธีที่จะให้ท้าวเธองดดื่ม แล้วทรงวางหม้อ
ที่เต็มไปด้วยสุราใบหนึ่งไว้ที่พระหัตถ์ จำแลงเพศเป็นพราหมณ์ เสด็จมายืน
อยู่ในอากาศ ณ ที่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าสัพพมิตต์ แล้วตรัสว่า ท่านทั้ง
หลายจงซื้อหม้อใบนี้ พระเจ้าสัพพมิตตราช ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์จำ
แลง ยืนพูดอยู่บนอากาศอย่างนั้น ทรงสงสัยว่า พราหมณ์นี้มาจากไหนกัน
หนอ เมื่อจะทรงสนทนากับพราหมณ์นั้น ได้ตรัสพระคาถา 3 คาถา ความว่า
ท่านเป็นใคร มาจากไตรทิพย์หรือ จึงเปล่งรัศมี
สว่างไสวอยู่ในนภากาศ เหมือนพระจันทร์ส่องสว่าง
ในยามรัตติกาลฉะนั้น รัศมีแผ่ซ่านออกจากตัวท่าน
ดุจสายฟ้าแลบในเวหาสฉะนั้น.

ท่านเหยียบลมหนาวในอากาศได้ เดินและยืน
ในอากาศได้ ฤทธิ์ของเทวดาทั้งหลาย ผู้ไม่ต้องเดิน
ไกล ท่านทำให้เป็นที่ตั้ง และให้เจริญดีแล้วเป็นไฉน ?
ท่านเป็นใครมายืนอยู่ในอากาศ ร้องขายหม้อ
อยู่ หรือว่าหม้อของท่านนี้ ใช้ประโยชน์อะไรได้ ดู
ก่อนพราหมณ์ ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า
เถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก ปาตุราสิ ความว่า ท่านเป็นใคร
มาจากไหน จึงมาปรากฏ อธิบายว่า ท่านมาจากไหน ? บทว่า ติทิวา
นภมฺหิ
ความว่า พระเจ้าสัพพมิตต์ ตรัสถามว่า ท่านมาจากดาวดึงสพิภพ
หรือ จึงปรากฏในนภากาศนี้. บทว่า สํวรึ แปลว่า ในรัตติกาล. บทว่า
สเตริตา ได้แก่ พระจันทร์ซึ่งมีชื่ออย่างนี้. บทว่า โส ได้แก่ ท่านนั้น.
บทว่า ฉินฺนวาตํ ความว่า วลาหกเทพ ย่อมก้าวเดินตามลม อันมีกระแส
พัดเยือกเย็นไปได้ ก็แม้ลมนั้นไม่มีแก่ท่านเลย ด้วยเหตุนั้น พระเจ้าสัพพมิตต์
จึงตรัสอย่างนี้. บทว่า กมสิ แปลว่า ล่องลอยไป. บทว่า อฆมฺหิ ได้แก่
ในอากาศ อันไม่มีอะไรกระทบ. บทว่า วตฺถุกตา ความว่า (ฤทธิ์ของท่าน)
เป็นสิ่งที่ทำแล้ว เหมือนวัตถุ เหมือนที่ตั้งฉะนั้น. บทว่า อนทฺธคูนมสิ
เทวตานํ
ความว่า พระเจ้าสัพพมิตต์ ตรัสถามว่า ฤทธิ์ของท่านที่อบรมดี
แล้ว คล้ายฤทธิ์ของทวยเทพ ผู้ชื่อว่า ไม่ต้องเดินทางไกล เพราะไม่ต้องใช้
เท้าเดินไปในทางไกล. บทว่า เวหาสยํ กมฺมาคมฺม ความว่า ท่านเป็น
ใครหรือ จึงอาศัยการย่างเท้า เข้าไปยืนบนอากาศได้. บัณฑิตพึงเชื่อมความ
ของบาทคาถานั้น เข้าด้วยบทว่า โก วา ตุวํ ท่านเป็นใครหรือ ? อธิบาย

ว่า ท่านมายืนอยู่อย่างนี้ชื่อไรเล่า. บทว่า ยเมตมตฺถํ ความว่า ท่านพูดคำ
นี้ใด ต้องเชื่อมความของบาทคาถานี้ เข้ากับบทว่า อิมสฺส กิสฺส วตายํ
จึงได้ความว่า ท่านพูดคำว่า จงซื้อหม้อใบนี้ ดังนี้. อธิบายว่า ท่านพูดว่า
จงซื้อหม้อใบนี้ดังนี้ หม้อใบนี้ของท่านใช้ประโยชน์อะไรหรือ ?
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง เมื่อจะทรง
แสดงโทษของสุรา จึงตรัสว่า
หม้อใบนี้มิใช่หม้อเนยใส มิใช่หม้อน้ำมัน มิใช่
หม้อน้ำผึ้ง โทษของหม้อใบนี้มีอยู่มิใช่น้อย ท่านจง
ฟังโทษเป็นอันมากที่มีอยู่ในหม้อใบนี้.
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้ว เดินโซเซตกลงไปยัง
บ่อ ถ้ำ หลุมน้ำครำและหลุมโสโครก พึงบริโภคของ
ที่ไม่ควรบริโภคแม้มากได้ ท่านจงซื้อหม้อนี้ ซึ่งเต็ม
ไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้ว ไม่มีกฎเกณฑ์ในใจ
เที่ยวหยำเปไป เหมือนโคกินกากสุรา ฉะนั้น เป็น
เหมือนขาดที่พักพิง ย่อมฟ้อนรำได้ ขับร้องได้ ท่าน
จงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้ว แก้ผ้าเปลือยกาย เที่ยว
ไปตามตรอก ตามถนน ในบ้านเหมือนชีเปลือย มีจิต
ลุ่มหลง นอนตื่นสาย ท่านจงซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไป
ด้วยน้ำชนิดนั้น.

บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้ว ลุกขึ้นโซเซโคลงศีรษะ
และยกแขนขึ้นร่ายรำ เหมือนรูปหุ่นไม้ ฉะนั้น ท่าน
จงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้ว นอนจนถูกไฟไหม้
และกินอาหารที่เหลือเดนสุนัขได้ ย่อมถึงการถูกจองจำ
ถูกฆ่า และความเสื่อมแห่งโภคะ ท่านจงซื้อหม้อใบนี้
ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้ว พูดคำพูดที่ไม่ควรพูด
นั่งพร่ำในที่ประชุม ปราศจากผ้าผ่อน เลอะเทอะ
นอนจมอยู่ในอาเจียนของตน มีแต่เรื่องฉิบหาย ท่าน
จงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้ว วางมาดเป็นคนสำคัญ
นัยน์ตาขุ่นขวาง เข้าใจว่าบ้านเมืองเป็นของเราคนเดียว
พระราชาแม้มีมหาสมุทร 4 เป็นขอบขัณฑสีมา ก็ไม่
เสมอเรา ท่านจงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิด
นั้น.
บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้ว ถือตัวจัด ก่อการ
ทะเลาะวิวาท ยุยงส่อเสียด มีผิวพรรณน่าเกลียด
เปลือยกายวิ่งไป อยู่อย่างนักเลงเก่า ท่านจงซื้อหม้อ
ใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
น้ำชนิดนี้ ทำตระกูลทั้งหลายในโลกนี้ อันมั่งคั่ง
บริบูรณ์ มีเงินทองตั้งหลายพันให้ขาดทายาทได้ ท่าน
จงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.

ข้าวเปลือก ทรัพย์สิน เงินทอง ไร่ นา โค
กระบือ ในสกุลใดย่อมพินาศไป ตระกูลที่มั่งมี
ทั้งหลายขาดสูญไป เพราะดื่มน้ำชนิดใด ท่านจงซื้อ
หม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
บุรุษดื่มน้ำชนิดใดแล้ว เป็นคนหยาบช้า ด่า
มารดาบิดาได้ แม้ถึงเป็นพ่อผัวก็พึงหยอกลูกสะใภ้ได้
ท่านจงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
นารีดื่มน้ำชนิดใดแล้ว กลายเป็นคนกักขฬะ
หยาบช้า ด่าพ่อผัว แม่ผัว และสามีได้ แม้เป็นทาส
เป็นคนใช้ พึงรับเป็นสามีของตนได้ ท่านจงซื้อหม้อ
ใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยนำชนิดนั้น.
บุรุษดื่มน้ำชนิดใดแล้ว ฆ่าสมณะ หรือพราหมณ์
ผู้ตั้งอยู่ในธรรมได้ พึงไปสู่อบาย เพราะกรรมนั้น
เป็นเหตุ ท่านจงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิด
นั้น.
ชนทั้งหลายดื่มน้ำชนิดใดแล้ว ประพฤติทุจริต
ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจได้ ย่อมไปสู่นรก
เพราะประพฤติทุจริต ท่านจงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไป
ด้วยน้ำชนิดนั้น.
ชนทั้งหลายแม้จะยอมสละเงินเป็นอันมาก มา
อ้อนวอนบุรุษใด ซึ่งไม่เคยดื่มสุรา ให้พูดเท็จ ย่อม
ไม่ได้ บุรุษนั้นครั้นดื่มสุราแล้วย่อมพูดเหลาะแหละ

เหลวไหลได้ ท่านจงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำ
ชนิดนั้น.
คนรับใช้ดื่มน้ำชนิดใดแล้ว เมื่อถูกเขาใช้ไปใน
กรณียกิจรีบด่วน ถูกซักถามก็ไม่รู้เนื้อความ ท่านจง
ซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
ชนทั้งหลายดื่มน้ำชนิดใดแล้ว ถึงจะเคยมีความ
ละอายใจอยู่ ก็ย่อมจะทำความไม่ละอายให้ปรากฏได้
ถึงแม้จะเป็นคนมีปัญญาก็อดพูดมากไม่ได้ ท่านจงซื้อ
หม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
ชนทั้งหลายดื่มน้ำชนิดใดแล้ว นอนคนเดียว
ไม่มีเพื่อน คล้ายลูกสุกรนอนเดียวดาย ด้วยชาติกำเนิด
อันต่ำฉะนั้น อดข้าวปลาอาหาร ย่อมเข้าถึงการนอน
เป็นทุกข์อยู่กับแผ่นดิน สิ้นสง่าราศรี และต้องครหา
นินทา ท่านจงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
ชนทั้งหลายดื่มน้ำชนิดใดแล้ว ย่อมนอนคอตก
หาเป็นเหมือนโคที่ถูกปฏักฉะนั้นไม่ ฤทธิ์สุราย่อม
ทำให้คนอดทนได้ (ไม่กินข้าวกินน้ำ) ท่านจงซื้อหม้อ
ใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.
มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเว้นดื่มน้ำชนิดใด อันเปรียบ
ด้วยงูมีพิษร้าย นรชนคนใดเล่า ควรจะดื่มน้ำชนิดนั้น
อันเป็นเช่นยาพิษมีในโลก ท่านจงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่ง
เต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้น.

โอรสทั้งหลายของท้าวอันธกเวณฑะ ดื่มสุรา
แล้ว พาหญิงไปบำเรออยู่ที่ริมฝั่งสมุทร ประหารกัน
และกันด้วยสาก ท่านจงซื้อหม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วย
น้ำชนิดนั้น.
บุรพเทพ คืออสูรทั้งหลาย ดื่มน้ำชนิดใดแล้ว
เมามาย จนจุติจากไตรทิพย์ คือดาวดึงสเทวโลก ยัง
สำคัญตนว่าเที่ยง เป็นไปกับด้วยอสุรมายา ดูก่อน
มหาราชเจ้า บุรุษผู้ฉลาดเช่นกับพระองค์ เมื่อทราบ
ว่าน้ำดื่มชนิดนี้เป็นน้ำเมา หาประโยชน์มิได้ จะดื่ม
ทำไม ?
ในหม้อใบนี้ ไม่มีเนยข้น หรือน้ำผึ้ง พระองค์
รู้อย่างนี้แล้ว จงซื้อเสีย ดูก่อนท่านสัพพมิตต์ สิ่ง
ที่อยู่ในหม้อนี้ ข้าพเจ้าบอกแก่ท่านแล้วตามความเป็น
จริงอย่างนี้แหละ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วชฺชานิ ได้แก่ โทษทั้งหลาย. บทว่า
คเลยฺย ความว่า เมื่อจะเดินก็เดินโซเซไปทุกย่างก้าว. บทว่า ยํ ปิตฺวา ปเต
ความว่า บุคคลดื่มน้ำชนิดใดแล้วพึงตกลงไป. บทว่า โสพภํ ได้แก่ หลุม-
บ่อ. บทว่า จนฺทนิโยฬิคลฺลํ ได้แก่ หลุมเทขยะ และหลุมโสโครก.
บทว่า อโภชเนยฺยํ ได้แก่ ของไม่ควรเพื่อจะบริโภค. บทว่า
อเนสมาโน แปลว่า ไม่เป็นอิสระ. บทว่า โคริว ความว่า อุปมาเหมือนโค.
บทว่า ภกฺขสานี ความว่า เหมือนโคกินกากสุรา เที่ยวแสวงหาของกินใน
ที่ต่างๆ ฉันใด ไม่มีกฎเกณฑ์ในใจ ท่องเที่ยวไปฉันนั้น. บทว่า อนาถมาโน

ความว่า เป็นเหมือนคนขาดที่พักพิงไร้ที่พึ่ง. บทว่า อุปคายติ ความว่า
เห็นคนอื่นเขาขับเขารำ ก็เข้าไปขับบ้าง ฟ้อนรำบ้างได้. บทว่า อเจลโกว
ความว่า เปลือยกายได้เหมือนอเจลก. บทว่า วิสิขนฺตรานิ ความว่า (เที่ยว
ซอกแซกไป) ตามตรอก ตามถนน. บทว่า อติเวลสายี ความว่า เป็นผู้มี
ปกตินอนเกินเวลา ปาฐะว่า อติเวลาจารี ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า นอนหลับ
ไปได้นาน ๆ. บทว่า ทารุกฏลฺลโกว แปลว่า เหมือนรูปหุ่นไม้. บทว่า
โภคชานิญฺจุ เปนฺติ ความว่า ย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์. อธิบายว่า
บุคคลดื่มน้ำใดแล้ว ย่อมทำทุจริตเป็นต้นว่า ปาณาติบาต ถูกลงอาชญาแล้ว
ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์และถึงทุกข์อื่น ๆ มีถูกฆ่าและจองจำเป็นต้น.
บทว่า วนฺตคโต ความว่า จมอยู่ในอาเจียนของตน. บทว่า
พฺยสนฺโน แปลว่า ถึงความพินาศ. ปาฐะว่า วิสนฺโน ดังนี้ก็มี. ความก็ว่า
นอนจมอยู่ในกองอาเจียนนั้น. บทว่า อุกฺกฏฺโฐ ความว่า บุคคลดื่มน้ำ
ชนิดใดแล้วฮึกเหิม คุยโวว่า เรามีทะแกล้วทหารมาก จะมีใครเสมอกับเรา.
บทว่า อาวิลกฺโข แปลว่า มีนัยน์ตาแดง (ตาขวาง). บทว่า สพฺพปฐวี
แปลว่า แผ่นดินทั้งหมด. ปาฐะว่า สพฺพาปฐวี ดังนี้ก็มี. บทว่า จาตุรนฺโต
ความว่า เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร 4 เป็นขอบเขต. บทว่า มานา
แปลว่า ก่อเกิดมานะ. แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็มีนัยนี้.
บทว่า คติ แปลว่า ปฏิปทาเครื่องดำเนินให้เกิดผล. บทว่า นิเกโต
แปลว่า อยู่ (อย่างนักเลง). บทว่า ตสฺสา ปุณฺณํ ความว่า ท่านจงซื้อ
หม้อใบนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยสุราเห็นปานนั้น. บทว่า ยตฺถ วินาสยนฺติ ความว่า
ชนทั้งหลายอาศัยน้ำสุราใด ดำรงตนไว้ในการดื่มน้ำสุราใด ทำลายสมบัติ
มีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้น แม้อย่างเดียว หรือแม้หลายอย่างให้พินาศได้
จนเป็นคนกำพร้า. บทว่า อิทฺธานิ แปลว่า มั่งคั่ง. บทว่า ผีตานิ ความว่า

มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยวัตถาลังการ และเครื่องใช้สอยทั้งหลาย. บทว่า อุจฺฉินฺน-
ทายชฺชกตานิ
ความว่า น้ำสุรานี้ย่อมทำทายาทให้ขาดสูญ พาทรัพย์สมบัติ
ให้พินาศ. บทว่า ทุฏฺฐรูโป เป็นคนกักขฬะหยาบคาย. บทว่า คณฺเหยฺย
ความว่า จับมือถือแขนลูกสะใภ้ ด้วยอำนาจกิเลส โดยสำคัญว่าเป็นภรรยาได้.
บทว่า ทาสํปิ คณฺเห ความว่า จับมือถือแขน แม้ทาสคนรับใช้ของตนได้
ด้วยอำนาจกิเลส โดยสำคัญว่า สามีของตัว. บทว่า ปิตฺวาน แปลว่า ดื่มแล้ว.
บทว่า ทุจฺจริตํ จริตฺวา ความว่า กระทำอกุศลกรรมบถสิบอย่าง
ด้วยไตรทวารอย่างนี้. บทว่า ยาจมานา ความว่า ชนทั้งหลายแม้จะสละ
เงินทอง เป็นสินน้ำใจจำนวนมาก กล่าวอ้อนวอนบุรุษใด ซึ่งไม่เคยดื่มสุรา
มาก่อนว่า ท่านจงพูดเท็จดังนี้ ย่อมไม่ได้. บทว่า ปิตฺวา ความว่า คน
รับใช้ดื่มน้ำชนิดใดแล้ว. บทว่า นปฺปชานาติ วุตฺโต ความว่า ถูกซักถาม
ว่าเจ้ามาเพื่อต้องการอะไร เขาย่อมไม่รู้แม้เรื่องราวนั้น เพราะตนรับข่าวสาสน์
ไปไม่ดี. บทว่า หิริมนาปิ ความว่า แม้จะมีจิตประกอบไปด้วยหิริ. บทว่า
เอกถูปา ความว่า นอนคนเดียวไม่มีเพื่อน คล้ายลูกสุกรนอนเดียวดายด้วย
ชาติกำเนิดอันค่ำฉะนั้น. บทว่า อนาสกา แปลว่า อดอาหาร. บทว่า
ถณฺฑิล ทุกฺขเสยฺยํ ความว่า นอนเป็นทุกข์อยู่บนแผ่นดิน. บทว่า อายสกฺยํ
ได้แก่ คำครหา. บทว่า ปตฺตกฺขนฺธา ความว่า นอนคอตก. บทว่า
กูฏหตาริว ความว่า ย่อมนอนคอพับคล้ายโค อันหม้อน้ำผูกติดอยู่ที่คอ
เบียดเบียน. อธิบายว่า ย่อมนอนแซ่วเหมือนโคที่ไม่กินหญ้า กินน้ำ นอนซม
อยู่ฉะนั้น. บทว่า โฆรสมิว แปลว่า อันเปรียบด้วยงูมีพิษร้าย. บทว่า
วิสสมานํ แปลว่า อันเป็นเช่นกับด้วยยาพิษ. บทว่า อนฺธกเวณฺฑปุตฺตา
ได้แก่ ราชาพี่น้องกันสิบองค์. บทว่า อุปฺกฺกมุํ แปลว่า ประหารกัน

(ด้วยสาก). บทว่า ปุพฺพเทวา ได้แก่ อสูรทั้งหลาย. บทว่า ติทิวา ความว่า
จากดาวดึงสเทวโลก. บทว่า สสฺสติยา ความว่า ยังสำคัญตนว่าเที่ยง โดย
ความเป็นผู้มีอายุยืน อธิบายว่า จากเทวโลก อันสมมติกันว่าเที่ยงเป็นนิรันดร์.
บทว่า สมายา ความว่า เป็นไปกับด้วยอสุรมายา.
บทว่า ชานํ ความว่า บุรุษผู้ฉลาดเช่นกับพระองค์ เมื่อทราบว่า
น้ำดื่มชนิดนี้ เป็นน้ำเมาหาประโยชน์มิได้เช่นนั้น จะพึงดื่มทำไมกัน. บทว่า
กุมฺภคตา มยา ความว่า สิ่งที่อยู่ในหม้ออันข้าพเจ้าบอกแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง
ปาฐะก็อย่างเดียวกันนี้. บทว่า อกฺขาตรูํป ความว่า อันข้าพเจ้าบอกแล้ว
ตามความเป็นจริง.
พระเจ้าสัพพมิตต์ ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงทราบโทษของสุรา ดีพระทัย
เมื่อจะทรงชมเชยท้าวสักกเทวราช ได้ตรัสพระคาถา 2 คาถา ความว่า
ท่านมิใช่เป็นบิดา หรือมารดาของข้าพเจ้า เป็น
คนชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มุ่งเกื้อกูลอนุเคราะห์
ปรารถนาประโยชน์อย่างยิ่งแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจัก
กระทำตามถ้อยคำของท่านในวันนี้.
ข้าพเจ้าจักให้บ้านส่วยห้าตำบล ทาสีหนึ่งร้อย
โคเจ็ดร้อย และรถเทียมด้วยม้าอาชาไนยสิบคันเหล่านี้-
แก่ท่าน ขอท่านผู้ปรารถนาประโยชน์จงเป็นอาจารย์
ของข้าพเจ้าเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คามวรานิ ความว่า พระเจ้าสัพพมิตต์
ตรัสว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ อาจริยภาค คือส่วนของอาจารย์ อันชื่อว่าบุคคล
ผู้เป็นอาจารย์ควรปรารถนา ข้าพเจ้าขอมอบบ้านส่วยห้าตำบล ซึ่งมีรายได้

ปีละหนึ่งแสนแก่ท่าน. บทว่า ทสา อิเม ความว่า และเมื่อพระเจ้าสัพพ-
มิตต์จะทรงชี้รถอันวิจิตรด้วยทอง ซึ่งจอดอยู่เฉพาะพระพักตร์สิบคัน จึงตรัส
อย่างนี้.
ท้าวสักกเทวราช ทรงสดับเช่นนั้น เมื่อจะทรงแสดงอัตภาพของ
เทพยดาให้พระเจ้าสัพพมิตต์ทรงรู้จักพระองค์ จึงประทับยืนบนอากาศ
ได้ตรัสพระคาถา 2 คาถา ความว่า
ดูก่อนพระราชา ทาสี บ้านส่วย โค และรถ
อันเทียมด้วยม้าอาชาไนย จงเป็นของพระองค์ตามเดิม
เถิด เราเป็นท้าวสักกะจอมเทพ ของชาวไตรทิพย์.
พระองค์จงเสวยพระกระยาหาร เนยใส และ
ข้าวปายาส พึงเสวยขนมกุมมาสอันโอชารส ดูก่อน
พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์จงทรงยินดีใน
ธรรม ใคร ๆ ไม่ติเตียนด้วยอาการอย่างนี้แล้ว จงเข้า
ถึงสวรรคสถาน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ ตุวํ ธมฺมรโต ความว่า เมื่อ
ท่านเสวยโภชนะมีรสเลิศต่าง ๆ อย่างนี้ จะเว้นการดื่มสุรา ละทุจริต 3 อย่าง
เป็นผู้ยินดีในสุจริตธรรม 3 ประการ อันใคร ๆ ไม่ติเตียนแล้ว จงเข้าถึง
สวรรคสถานเถิด.
ท้าวสักกะครั้นทรงประทานโอวาทแก่พระเจ้าสัพพมิตต์ ด้วยประการ
ฉะนี้แล้ว ก็เสด็จไปยังสถานวิมานของพระองค์ทันที. ฝ่ายพระเจ้าสัพพมิตต์

ก็ไม่ทรงดื่มสุรา ตรัสสั่งให้ทำลายภาชนะสุราสิ้น แล้วทรงสมาทานศีล
บริจาคทาน ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. การดื่มสุรา เกิดนิยม
กันอย่างกว้างขวาง แม้ในชมพูทวีป (ติดต่อสืบเนื่องมาจนบัดนี้).
พระบรมศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุม
ชาดกว่าพระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนท้าวสักกเทวราช
ได้มาเป็นเราผู้ตถาคต ฉะนี้แล.
จบอรรถกถากุมภชาดก

3. ชัยทิสชาดก



ว่าด้วยโปริสาทกับพระเจ้าชัยทิส



[2296] เป็นเวลานานนักหนา นับแต่เวลาที่
เราอดอาหารมาครบ 7วัน อาหารมากมายพึงเกิดขึ้น
แก่เราวันนี้ ท่านเป็นใคร มาจากไหน ขอเชิญท่านบอก
ชาติสกุล ตามที่รู้กันมาเถิด.
[2297] เราคือพระเจ้าปัญจาลราช มีนามว่า
ชัยทิส ถ้าท่านได้ยินชื่อก็คงรู้จัก เราออกมาล่าเนื้อ
เที่ยวมาตามข้างภูเขาและป่า ท่านจงกินเนื้อกวางนี้เถิด
วันนี้จงปล่อยเราไป.
[2298] พระองค์ถูกข้าพเจ้าเบียดเบียน กลับ
เอาของที่ตกเป็นของข้าพเจ้านั่นเอง มาแลกเปลี่ยน