เมนู

อรรถกถาจัมเปยยชาดก



พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ
อุโบสถกรรม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กา นุ วิชฺชุริวาภาสิ
ดังนี้.
ความพิสดารว่า ในกาลนั้น พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก
อุบาสิกาทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายอยู่รักษาอุโบสถกรรมเป็นความดี โบรา-
ณกบัณฑิตทั้งหลาย ละนาคสมบัติแล้ว อยู่รักษาอุโบสถกรรมเหมือนกัน
อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้น ทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าอังคติราช เสวยราช-
สมบัติอยู่ในอังครัฐ ราชธานี. ในระหว่างแคว้นอังคะและมคธะต่อกัน มี
แม่น้ำชื่อจัมปานที ได้มีนาคพิภพอยู่ใต้แม่น้ำจัมปานทีนั้น. พระยานาคราชชื่อ
ว่าจัมเปยยะ ครองราชสมบัติในนาคพิภพนั้น. (โดยปกติ พระราชาแห่งแคว้น
ทั้งสอง เป็นศัตรูกระทำยุทธชิงชัยแก่กันและกันเนือง ๆ ผลัดกันแพ้ ผลัดกัน
ชนะ) บางครั้งพระเจ้ามคธราช ยึดแคว้นอังคะได้ บางครั้งพระเจ้าอังคราช
ยึดแคว้นมคธได้.
อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ามคธราช กระทำยุทธนาการกับพระเจ้าอังคราช
ทรงปราชัยต่อยุทธสงคราม เสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งหลบหนีไป ถึงฝั่งจัมปานที
พวกทหารพระเจ้าอังคราช ติดตามไปทันเข้า จึงทรงพระดำริว่า เราโดดน้ำ
ตายเสียดีกว่าตายในเงื้อมมือของข้าศึกดังนี้แล้ว จึงโจนลงสู่แม่น้ำ พร้อมทั้งม้า
พระที่นั่ง. ครั้งนั้น จัมเปยยนาคราช เนรมิตมณฑปแก้วไว้ภายในห้วงน้ำ
แวดล้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ดื่มมหาปานะอยู่. ม้าพระที่นั่งกับพระเจ้า-

มคธราช จมน้ำดิ่งลงไป เฉพาะพระพักตร์แห่งพระยานาคราช. พระยานาคราช
เห็นพระราชาทรงเครื่องประดับตกแต่งก็บังเกิดความสิเนหา จึงลุกจากอาสนะ
ทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงหวาดกลัวเลย แล้วอัญเชิญให้พระราชา
ประทับนั่งบนบัลลังก์ของตน ทูลถามถึงเหตุที่ดำน้ำลงมา. พระเจ้ามคธราช
ตรัสเล่าความตามเป็นจริง.
ลำดับนั้น จัมเปยยนาคราชปลอบโยนพระเจ้ามคธราชให้เบาพระทัย
ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์อย่าทรงหวาดกลัวเลย ข้าพระพุทธเจ้าจัก
ช่วยจัดการให้พระองค์เป็นเจ้าของทั้งสองรัฐ ดังนี้แล้ว เสวยยศอันยิ่งใหญ่อยู่
7 วัน ในวันที่ 8 จึงออกจากนาคพิภพ พร้อมด้วยพระเจ้ามคธราช. พระเจ้า
มคธราชทรงจับพระเจ้าอังคราชได้ด้วยอานุภาพของพระยานาคราช แล้วตรัส
สั่งให้สำเร็จโทษเสีย เสวยราชสมบัติในสองรัฐสีมามณฑล. นับแต่นั้นมา
ความวิสาสะคุ้นเคยระหว่างพระเจ้ามคธราช กับพระยานาคราชก็ได้กระชับมั่น
คงยิ่งขึ้น. พระเจ้ามคธราชให้สร้างรัตนมณฑปขึ้นที่ฝั่งจัมปานที แล้วเสด็จออก
กระทำพลีกรรมแก่พระยานาคราชด้วยมหาบริจาคทุก ๆ ปี. แม้พระยานาคราช
ก็ออกจากนาคพิภพมารับพลีกรรมพร้อมด้วยมหาบริวาร. มหาชนพากันมาเฝ้า
ดูสมบัติของพระยานาคราช.
กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเข็ญใจ ไปที่ฝั่งน้ำ
พร้อมด้วยราชบริษัท เห็นสมบัติของพระยานาคราชนั้นแล้ว ก็เกิดโลภเจตนา
ปรารถนาจะได้สมบัตินั้น จึงทำบุญให้ทานรักษาศีล พอจัมเปยยนาคราช
ทำกาลกิริยาไปได้ 7 วัน ก็จุติไปบังเกิดเหนือสิริไสยาสน์ ณ ห้องอันมีสิริใน
ปราสาทที่อยู่ของจัมเปยยนาคราชนั้น สรีระร่างกายของพระบรมโพธิสัตว์ได้
ปรากฏใหญ่โต มีวรรณะขาวราวกะพวงดอกมะลิสด. พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น
ก็เกิดวิปฏิสาร คิดไปว่า อิสริยยศในฉกามาวจรสวรรค์ เป็นเสมือนข้าวเปลือก

ที่เขาโกยกองเก็บไว้ในฉาง ได้มีแก่เรา ด้วยผลแห่งกุศลที่เราทำไว้ เราสิกลับมา
ถือปฏิสนธิในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนี้ ประโยชน์อะไรที่เราจะมีชีวิตอยู่ดังนี้แล้ว
เกิดความคิดที่จะตาย. ลำดับนั้น นางนาคมาณวิกา ชื่อว่า สุมนา เห็นพระ-
มหาสัตว์นั้นแล้วดำริว่า ชะรอยจักเป็นสัตว์ผู้มีอานุภาพมากมาเกิดแน่ดังนี้แล้ว
จึงให้สัญญาแก่นางนาคมาณวิกาทั้งหลาย. นางนาคมาณวิกาเหล่านั้นทั้งหมด
ต่างถือนานาดุริยสังคีต มากระทำการบำเรอขับกล่อมพระมหาสัตว์ นาคพิภพ
ที่สถิตของพระมหาสัตว์นั้น ได้ปรากฏเสมือนพิภพแห่งท้าวสักกเทวราช. มรณ-
จิต (คือจิตที่คิดอยากตาย) ของพระมหาสัตว์ก็ดับหายไป. พระมหาสัตว์เจ้า
ละเสียซึ่งสรีระของงู ทรงประดับเครื่องสรรพาลังการ ประทับเหนือพระแท่น
บรรทม. นับจำเดิมแต่นั้นมา พระอิสริยยศก็ปรากฏแก่พระมหาสัตว์เจ้ามากมาย.
เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าเสวยนาคราชสมบัติอยู่ในนาคพิภพนั้น ในเวลาต่อมา
ก็เกิดวิปฏิสาร คิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยกำเนิดดิรัจฉานนี้แก่เรา เราจักอยู่
รักษาอุโบสถกรรม พ้นจากอัตภาพนี้ไปสู่ดินแดนมนุษย์ จักได้แทงตลอด
สัจจธรรม กระทำที่สุดแห่งทุกข์ดังนี้ นับจำเดิมแต่นั้น ก็ทรงรักษาอุโบสถกรรม
อยู่ในปราสาทนั้นทีเดียว. พวกนางมาณวิกา ตกแต่งกายงดงาม พากันไปยัง
สำนักของพระมหาสัตว์นั้น. ศีลของพระมหาสัตว์ ก็วิบัติทำลายอยู่เนือง ๆ.
จำเดิมแต่นั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงออกจากปราสาท ไปสู่พระอุทยาน. นางนาค-
มาณวิถาเหล่านั้น ก็ติดตามไปแม้ในพระอุทยาน อุโบสถศีลของพระมหาสัตว์
ก็แตกทำลายอยู่ร่ำไป. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าทรงจินตนาการว่า ควรที่
เราจะออกจากนาคพิภพนี้ ไปยังมนุษยโลกอยู่รักษาอุโบสถ. นับแต่นั้นมา
เมื่อถึงวันอุโบสถ พระองค์ก็ออกจากนาคพิภพไปยังมนุษยโลก (ทรงประกาศ)
สละร่างกาย ในทานมุขว่าใครจะมีความต้องการอวัยวะของเรามีหนังเป็นต้น
จงถือเอาเถิด ใครต้องการจะทำให้เราเล่นกีฬางู ก็จงกระทำเถิด แล้วคู้ขด-

ขนดกายนอนรักษาอุโบสถอยู่ที่ยอดจอมปลวกใกล้มรรคา แถบปัจจันตชนบท
แห่งหนึ่ง. ชนทั้งหลายเดินผ่านไปมา ในหนทางใหญ่เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าแล้ว
พากันบูชาด้วยเครื่องสักการะมีของหอมเป็นต้นแล้วหลีกไป. ชาวปัจจันตชนบท
ไปพบแล้วคิดว่า คงจักเป็นนาคราชผู้มีมหิทธานุภาพ จึงจัดทำมณฑปขึ้น
เบื้องบน ช่วยกันเกลี่ยทรายรอบบริเวณ แล้วบูชาด้วยสักการะมีของหอมเป็นต้น
จำเดิมแต่นั้นมา มนุษย์ทั้งหลายก็เลื่อมใสในพระมหาสัตว์เจ้า ทำการบูชา
ปรารถนาบุตรบ้าง ปรารถนาธิดาบ้าง.
แม้พระมหาสัตว์เจ้า ทรงรักษาอุโบสถกรรม ถึงวันจาตุททสี และ
ปัณณรสี ดิถี 14 ค่ำ 15 ค่ำ ก็มานอนอยู่เหนือจอมปลวก ต่อในวันปาฏิบท
แรมค่ำหนึ่ง จึงกลับไปสู่นาคพิภพ. เมื่อพระมหาสัตว์เจ้ารักษาอุโบสถอยู่อย่างนี้
เวลาล่วงไปเนิ่นนาน. อยู่มาวันหนึ่ง นางสุมนาอัครมเหสี ทูลถามพระมหา-
สัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระองค์เสด็จไปยังมนุษยโลก
เข้าอยู่รักษาอุโบสถศีลนั้น ความจริง มนุษยโลกน่ารังเกียจ มีภัยรอบด้าน หากว่า
ภัยจะพึงบังเกิดแก่พระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกหม่อมฉันจะพึงรู้ได้ด้วย
นิมิตอย่างไร ขอพระองค์จงตรัสบอกนิมิตอย่างนั้น แก่พวกหม่อมฉันด้วย
เถิด. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงนำนางสุมนาเทวีไปยังขอบสระมงคลโบกขรณี
แล้วตรัสว่า ดูก่อนพระนางผู้เจริญ ถ้าหากใคร ๆ จักประหารทำให้เราลำบาก
ไซร้ น้ำในสระโบกขรณีนี้จักขุ่นมัว ถ้าพญาครุฑจับเอาไป น้ำจักเดือดพลุ่ง
ขึ้นมา ถ้าหมองูจับเอาไป น้ำจักมีสีแดงเหมือนโลหิต พระโพธิสัตว์ตรัสบอก
นิมิต 3 ประการ แก่นางสุมนาเทวีอย่างนี้แล้ว ทรงอธิษฐานจาตุททสีอุโบสถ
เสด็จออกจากนาคพิภพไปมนุษยโลก นอนเหนือจอมปลวก ยังจอมปลวกให้
งดงามด้วยรัศมีแห่งสรีรกาย แม้สรีรกายของพระมหาสัตว์นั้น ก็ปรากฏขาวสะอาด

ผุดผาดดังพวงเงิน. ท่อนพระเศียรเบื้องบนคล้ายคลุมไว้ด้วยผ้ากัมพลแดง.
อนึ่ง ในชาดกนี้ สรีรกายของพระโพธิสัตว์มีขนาดเท่าศีรษะคันไถ ในภูริ-
ทัตตชาดก มีขนาดเท่าลำขา. ในสังขปาลชาดก มีขนาดเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง.
กาลครั้งนั้น มีมาณพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง ไปเมืองตักกศิลา
เรียนอาลัมภายนมนต์ ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เดินทางกลับบ้าน
ของตน โดยผ่านมรรคานั้น เห็นพระมหาสัตว์เจ้าแล้วคิดว่า เราจักจับงูนี้
บังคับให้เล่นกีฬา ในคามนิคมราชธานีทั้งหลาย ยังทรัพย์ให้เกิดขึ้นดังนี้แล้ว
จึงหยิบทิพโอสถ ร่ายทิพมนต์ ไปยังสำนักของพระมหาสัตว์เจ้า จำเดิมแต่
พระมหาสัตว์เจ้าสดับทิพมนต์แล้ว เกิดอาการเหมือนซี่เหล็กร้อนยอนเข้าไป
ในพระกรรณทั้งสอง เบื้องพระเศียรปวดร้าวราวกะถูกเหล็กสว่านไช. พระ-
มหาสัตว์เจ้าทรงรำพึงว่า นี่อย่างไรกันหนอ จึงยกพระเศียรขึ้นจากวงภายใน
ขนดแลไป ได้เห็นหมองูแล้วดำริว่า พิษของเรามากมาย ถ้าเราโกรธแล้ว
พ่นลมจมูกออกไป สรีระของหมองูนี้จักย่อยแหลกไปเหมือนกองเถ้า แต่เมื่อ
ทำเช่นนั้น ศีลของเราก็จักด่างพร้อย เราจักไม่แลดูหมองูนั้น ท้าวเธอจึง
หลับพระเนตรทั้งสอง ทอดพระเศียรไว้ภายในขนด พราหมณ์หมองูเคี้ยวโอสถ
แล้วร่ายมนต์พ่นน้ำลาย ลงที่สรีรกายของพระมหาสัตว์. ด้วยอานุภาพแห่ง
โอสถและมนต์ เรือนร่างของพระมหาสัตว์ในที่ซึ่งถูกน้ำลายรดแล้ว ๆ ปรากฏ
เป็นเสมือนพองบวมขึ้น ครั้งนั้นพราหมณ์หมองู จึงฉุดหางพระมหาสัตว์ลาก
ลงมาให้นอนเหยียดยาว บีบตัวด้วยไม้กีบแพะทำให้ทุพพลภาพ จับศีรษะให้มั่น
แล้วบีบเค้น พระมหาสัตว์จึงอ้าปากออก. ทีนั้นพราหมณ์หมองูจึงพ่นน้ำลาย
เข้าไปในปากของพระมหาสัตว์ แล้วจัดการพ่นโอสถและมนต์ ทำลายพระทนต์
จนหลุดถอน ปากของมหาสัตว์เต็มไปด้วยโลหิต. พระมหาสัตว์สู้อดกลั้นทุกข-
เวทนาเห็นปานนี้ เพราะกลัวศีลของตัวจะแตกทำลาย ทรงหลับพระเนตรนิ่ง

มิได้ทำการเหลียวมองดู. แม้พราหมณ์หมองูนั้นยังคิดว่า เราจักทํานาคราช
ให้ทุพพลภาพ ดังนี้ จึงขึ้นเหยียบย่ำร่างกายของพระมหาสัตว์ตั้งแต่หางขึ้นไป
คล้ายกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียดไป แล้วม้วนพับอย่างผืนผ้า ขยี้กระดูก
ให้ขยายเช่นอย่างกลายเส้นด้ายให้กระจาย จับหางทบทุบเช่นอย่างทุบผ้า สกล
สรีรกายของพระมหาสัตว์แปดเปื้อนไปด้วยโลหิต พระมหาสัตว์นั้นสู้อดกลั้น
มหาทุกขเวทนาไว้. ครั้นพราหมณ์หมองูรู้ว่า พระมหาสัตว์อ่อนกำลังลงแล้ว
จึงเอาเถาวัลย์มาถักทำเป็นกระโปรง ใส่พระมหาสัตว์ลงไปในกระโปรงนั้นแล้ว
นำไปสู่ปัจจันตคามให้เล่นท่ามกลางมหาชน. พราหมณ์หมองู ปรารถนาจะให้
แสดงท่วงทีอย่างใด ๆ ในประเภทสีมีสีเขียวเป็นต้น และสัณฐานทรวดทรง
กลมหรือสี่เหลี่ยมเป็นต้น หรือขนาดเล็กใหญ่เป็นต้น พระมหาสัตว์เจ้าก็กระทำ
ท่วงทีนั้น ๆ ทุกอย่าง ฟ้อนรำทำพังพานได้ตั้งร้อยอย่าง พันอย่าง. มหาชน
ดูแล้วชอบใจ ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เป็นอันมาก เพียงวันเดียวเท่านั้นได้ทรัพย์
ตั้งพัน และเครื่องบริขารราคานับเป็นพัน แต่ชั้นแรก พราหมณ์หมองูคิด
ไว้ว่า เราได้ทรัพย์สักพันหนึ่งแล้วก็จักปล่อยไป แต่ครั้นได้ทรัพย์จำนวน
เท่านั้นแล้วคิดเสียว่า ในปัจจันตคามแห่งเดียว เรายังได้ทรัพย์ถึงขนาดนี้ ใน
สำนักพระราชาและมหาอำมาตย์ คงจักได้ทรัพย์มากมาย จึงซื้อเกวียนเล่มหนึ่ง
กับยานสำหรับนั่งสบายเล่มหนึ่ง บรรทุกของลงในเกวียนแล้วนั่งบนยานน้อย
พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก บังคับพระมหาสัตว์ให้เล่นในบ้านและนิคม
เป็นต้น โดยลำดับไป แล้วคิดว่า เราจักให้นาคราชเล่นถวายในสำนักของ
พระเจ้าอุคคเสนแล้วก็จักปล่อยดังนี้ แล้วก็เดินทางต่อไป พราหมณ์หมองู
ฆ่ากบนำมาให้นาคราชกินเป็นอาหาร. นาคราชรำพึงว่า พราหมณ์หมองูนี้
ฆ่ากบอยู่บ่อย ๆ เพราะอาศัยเราเป็นเหตุ เราจักไม่บริโภคกบนั้น แล้วไม่ยอม
บริโภค. เมื่อพราหมณ์หมอดูรู้ดังนั้น ได้ให้ข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งแก่พระมหา-

สัตว์ พระมหาสัตว์คิดว่า ถ้าหากเราจักถือเอาอาหารนี้ไซร้ เราคงจักตาย
ภายในกระโปรงเป็นมั่นคง จึงมิได้บริโภคอาหารแม้เหล่านั้น. พราหมณ์หมองู
ไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว ให้พระมหาสัตว์เล่นให้คนดู ที่ใกล้ประตูเมือง
ได้ทรัพย์สินอีกเป็นจำนวนมาก. แม้พระราชา ก็ตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองู
เข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า เจ้าจงให้งูเล่นให้เราดูบ้าง. เขาทูลสนองพระราชโองการ
ว่าได้พะย่ะค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าจักให้เล่นถวายพระองค์ ในวันปัณณรสี พรุ่งนี้.
พระราชาตรัสสั่งให้พนักงานเภรีตีกลองประกาศว่า พรุ่งนี้ นาคราชจักฟ้อนรำ
ที่หน้าชานชาลาหลวง มหาชนจงมาประชุมกันดูเถิด แล้วในวันรุ่งขึ้น ตรัสสั่ง
ให้ประดับตกแต่งชานชาลาหลวง และตรัสสั่งให้พราหมณ์หมองูมาเฝ้า พราหมณ์
หมองู นำพระมหาสัตว์มาด้วยกระโปรงแก้ว ตั้งกระโปรงไว้ที่พื้นลาดอันวิจิตร
นั่งคอยอยู่. ฝ่ายพระราชาเสด็จลงจากปราสาท แวดล้อมด้วยหมู่มหาชน
ประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์. พราหมณ์หมองู นำพระมหาสัตว์ออกมาแล้ว
ให้ฟ้อนรำถวาย. มหาชนพากันดีใจ ไม่อาจดำรงตนอยู่ได้ตามปกติ พากัน
ปรบมือ โบกธงโบกผ้า แสดงความรื่นเริงนับด้วยหมื่นแสน. ฝนรัตนะเจ็ด
ประการ ก็ตกลงมาตรงเบื้องบนพระโพธิสัตว์ เมื่อพระมหาสัตว์ถูกจับมานั้น
ครบหนึ่งเดือนเต็มบริบูรณ์ ตลอดเวลาเหล่านี้ พระมหาสัตว์สู้ทน มิได้
บริโภคอาหารเลย.
ฝ่ายนางสุมนาเทวีระลึกถึงว่า สามีที่รักของเราเสด็จไปนานนักหนา
จนป่านนี้ยังไม่เสด็จมาที่นี่เลย ครบหนึ่งเดือนพอดี จักมีเหตุเภทภัยอะไรหนอ
ดังนี้แล้วจึงไปตรวจดูสระโบกขรณี เห็นมีน้ำสีแดงดังโลหิต ก็ทราบว่าชะรอย
สามีของตนจักถูกหมองูจับเอาไป จึงออกจากนาคพิภพไปตรวจดูใกล้จอมปลวก
เห็นร่องรอยที่พระมหาสัตว์ถูกหมองูจับ และทำให้ลำบาก แล้วทรงกันแสง
ร่ำไห้คร่ำครวญ ดำเนินไปยังปัจจันตคามสอบถามดู สดับข่าวความเป็นไป

นั้นแล้ว ติดตามไปจนถึงเมืองพาราณสี ยืนกันแสงอยู่ที่กลางอากาศ ในท่าม
กลางบริษัท ณ ประตูพระราชวัง. พระมหาสัตว์กำลังฟ้อนรำถวายพระราชา
อยู่นั่นแหละ เหลือบแลดูอากาศ เห็นนางสุมนาเทวีแล้วละอายพระทัยเลื้อย
เข้าไปนอนขดในกระโปรงเสีย. ในเวลาที่พระมหาสัตว์ เลื้อยเข้าไปสู่กระโปรง
แล้ว พระราชาทรงพระดำริว่า นี่เหตุอะไรกันเล่าหนอ ? จึงทอดพระเนตร
แลดูทางโน้นทางนี้ เห็นนางสุมนาเทวียืนอยู่บนอากาศ จึงตรัสคาถาที่ 1
ความว่า
ท่านเป็นใคร งามผ่องใสดุจสายฟ้า และอุปมา
เหมือนดาวประจำรุ่ง เราไม่รู้จักท่านว่า เป็นเทวดา
หรือคนธรรพ์ หรือเป็นหญิงมนุษย์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตํ มญฺญามิ มานุสี ความว่า
เรามิได้เข้าใจว่าท่านเป็นหญิงมนุษย์ ท่านควรจะเป็นนางเทพธิดา หรือหญิง
คนธรรพ์.
บัดนี้ เป็นคาถาโต้ตอบระหว่างราชากับนางสุมนาเทวี (ซึ่งมี
ลำดับดังต่อไปนี้)
(นางสุมนาทูลว่า) ข้าแต่พระมหาราชา หม่อม-
ฉันหาใช่เทพธิดา หรือคนธรรพ์ หรือหญิง-
มนุษย์ไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเป็นนาง
นาคกัญญา อาศัยเหตุอย่างหนึ่ง จึงได้มาในพระนครนี้.

(พระราชาตรัสถามว่า) ดูก่อนนางนาคกัญญา
ท่านมีอาการเหมือนคนมีจิตฟั่นเฟือน มีอินทรีย์อัน
เศร้าหมอง ดวงเนตรของท่านไหลนองไปด้วยหยาด-

น้ำตา อะไรของท่านหาย หรือว่าท่านปรารถนาอะไร
จึงได้มาในเมืองนี้ เชิญท่านบอกมาเถิด.

(นางสุมนาทูลตอบว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอม
ประชาชน มหาชนชาวโลกเรียกร้องสัตว์ใดว่า
อุรคชาติ ผู้มีเดชอันสูงในมนุษยโลก เขาเรียกสัตว์นั้นว่า
นาค บุรุษคนนี้จับนาคนั้นมา เพื่อต้องการเลี้ยงชีพ
นาคนั้นแหละเป็นสามีของหม่อมฉัน ขอพระองค์ได้
ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคนั้นเสียจากที่คุมขังเถิด
เพค่ะ.

(พระราชาตรัสถามว่า) ดูก่อนนางนาคกัญญา
นาคราชนี้ประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า ไฉนจึงมา
ถึงเงื้อมมือของชายวณิพกได้เล่า เราจะใคร่รู้ถึงการที่
นาคราชถูกกระทำจนถูกจับมาได้ ขอท่านจงบอก
ความข้อนั้นแก่เราเถิด.

(นางสุมนาทูลตอบว่า) แท้จริง นาคราชนั้น
ประกอบด้วยกำลังอันแรงกล้า พึงทำแม้นครให้เป็น
ภัสมธุลีไปได้ แต่เพราะนาคราชนั้น เคารพนบนอบ
ธรรม ฉะนั้น จึงได้บากบั่นบำเพ็ญตบะ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺเถนมฺหิ ความว่า หม่อมฉันอาศัย
เหตุอย่างหนึ่ง จึงได้มาในพระนครนี้. บทว่า กุปิตินฺทฺริยา ได้แก่ เป็นผู้
มีอินทรีย์เศร้าหมอง. บทว่า วาริคณา ได้แก่ หยาดน้ำตา. บทว่า อุรโคติ
จาหุ
ความว่า ก็มหาชนเรียกขานสัตว์ใดว่า อุรคชาติ. บทว่า ตมคฺคหี

ปุริโส ความว่า บุรุษผู้นี้จับพระยานาคนั้นมา เพื่อต้องการเลี้ยงชีวิต. บทว่า
วนิพฺพกสฺส ความว่า พระราชาตรัสถามว่า นาคราชนี้เป็นผู้มีอานุภาพมาก
อย่างไรเล่า จึงตกมาอยู่ในเงื้อมมือของบุรุษวณิพกนี้ได้.
บทว่า ธมฺมญฺจ ความว่า นางสุมนาเทวีกราบทูลว่า นาคราชภัสดา
ของหม่อมฉันนี้ ทำความเคารพพระธรรมคือเบญจศีล และพระธรรมคือการ
อยู่รักษาอุโบสถ เพราะฉะนั้น แม้ถูกบุรุษนี้จับมา ถึงแม้พระยานาค
จะคิดว่า หากเราจะพ่นลมหายใจลงเบื้องบนบุรุษนี้ไซร้ เขาก็จักแหลกละเอียด
ไปเหมือนกองเถ้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ศีลของเราก็จักแตกทำลาย เพราะกลัว
ศีลจะแตกทำลาย จึงสู้อุตส่าห์บากบั่นอดกลั้นความทุกข์นั้นไว้ ตั้งใจทำตบะ
คือกระทำความเพียรอย่างเดียวเท่านั้น.
พระราชาตรัสถามต่อไปอีกว่า ไฉนนาคราชจึงยอมให้บุรุษนี้จับมา
ได้เล่า ลำดับนั้น นางสุมนาเทวีเมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ จึง
กล่าวคาถาความว่า
ข้าแต่องค์ราชันย์ นาคราชนี้ มีปกติรักษา
จาตุททสีอุโบสถ และปัณณรสีอุโบสถ นอนอยู่ใกล้
ทางสี่แพร่ง บุรุษหมองูจับนาคราชนั้นมาด้วยต้องการ
หาเลี้ยงชีพ นาคราชนี้เป็นสามีของหม่อมฉัน ขอ
พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยนาคราชนั้นจาก
ที่คุมขังเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตุปฺปเถ ความว่า นาคราชนี้ตั้งจิต
ปรารถนาอธิษฐานธรรมอันประกอบด้วยองค์ 4 ณ ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง
ในสถานที่ใกล้ทางสี่แพร่ง. บทว่า ตํ พนฺธนา ความว่า ขอพระองค์โปรด

พระราชทานทรัพย์แก่หมองูนี้ แล้วปลดปล่อยนาคราชผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีคุณ
ความดีอย่างนี้นั้น จากที่คุมขังคือกระโปรงเสียเถิด พระเจ้าข้า.
ก็แลครั้นนางนาคกัญญาสุมนาเทวีทูลอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทูลอ้อนวอน
พระราชาซ้ำอีก ได้กล่าวคาถาสองคาถา ความว่า
สนมนารีถึงหมื่นหกพันนาง ล้วนสวมใส่กุณฑล
แก้วมณี บันดาลห้วงวารีทำเป็นห้องไสยาสน์ แม้
สนมนารีเหล่านั้น ก็ยึดถือนาคราชนั้นเป็นที่พึ่ง.

ขอพระองค์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อย
นาคราชนั้นโดยธรรม ปราศจากกรรมอันสาหัส ด้วย
บ้านส่วยร้อยบ้าน ทองร้อยแท่ง และโคร้อยตัว ขอ
นาคราชผู้แสวงบุญ จงเหยียดกายได้ตรงเที่ยวไป จง
พ้นจากที่คุมขังเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสฬสิตฺถีสหสฺสานิ ความว่า นาง
สุมนาเทวีแสดงความว่า ขอพระองค์อย่าทรงสำคัญว่า นาคราชนี้จะเป็นผู้
ขัดสนยากจน เพราะสนมนารีทั้งหลายของนาคราชนี้ ล้วนประดับตกแต่งด้วย
สรรพาลังการ ยังมีประมาณเท่านี้ สมบัติที่เหลือยากที่จะนับหาประมาณมิได้.
บทว่า วาริเคเห สยา ความว่า ทรงบันดาลห้วงวารีทำเป็นห้องไสยาสน์
บรรทมอยู่ ณ ห้วงวารีนั้น. บทว่า โอสฏฺฐกาโย ความว่า จงเป็นผู้มีกาย
เป็นอิสระ. บทว่า จราตุ แปลว่า จงเที่ยวไป.
ลำดับนั้น พระราชาได้ตรัสพระคาถา 3 คาถา ความว่า
เราจะปล่อยนาคราชนี้ไปโดยธรรม ปราศจาก
กรรมอันสาหัส ด้วยบ้านส่วยร้อยบ้าน ทองคำร้อยแท่ง

โคร้อยตัว นาคราชผู้ต้องการบุญ จงเหยียดกายตรง
เที่ยวไป จงพ้นจากที่คุมขัง.

ดูก่อนลุททกพราหมณ์ เราจะให้ทอง 100 แท่ง
กุณฑลแก้วมณีราคามาก บัลลังก์สี่เหลี่ยม สีดังดอก-
ผักตบ ภรรยารูปงามสองคน และโคอุสุภะ 100 ตัว
แก่ท่าน ขอนาคราชผู้ต้องการบุญ จงเหยียดกายตรง
เที่ยวไป จงพ้นจากที่คุมขังเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลุทฺท ความว่า เพื่อจะปลดปล่อยพระยา
นาคราช พระราชาจึงตรัสเรียกพราหมณ์หมองูมา เมื่อจะแสดงไทยธรรมที่
จะพึงพระราชทานแก่เขา จึงตรัสอย่างนี้ ส่วนพระคาถาก็มีอรรถาธิบายดังกล่าว
แล้วในหนหลังนั้นแล.
ลำดับนั้น ลุททกพราหมณ์กราบทูลพระราชาว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน แม้จะมิทรง
พระราชทานสิ่งไรเลย เพียงแต่ตรัสสั่งให้ปล่อยเท่านั้น
ข้าพระพุทธเจ้าก็จะปล่อยนาคราชนั้นจากที่คุมขังทันที
ขอนาคราชผู้ต้องการบุญจงเหยียดกายตรงเที่ยวไป.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตว วจนํ ความว่า ขอเดชะ ข้าแต่
พระมหาราชเจ้า ถึงแม้พระองค์จะมิได้ทรงพระราชทานสิ่งใดเลย เพียงแต่
พระองค์ตรัสสั่งให้ปล่อยเท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าก็จักเคารพ รับเหนือเกล้า.
บทว่า มุญฺเจมิ นํ ความว่า พราหมณ์หมองูกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า
จักปล่อยพระยานาคนี้ทันที.
ก็แลครั้นลุททกพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ก็นำพระมหาสัตว์ออก
จากกระโปรง. นาคราชออกมาแล้ว เลื้อยเข้าไประหว่างกองดอกไม้ ละอัตภาพ

นั้นเสียแล้ว กลายเพศเป็นมาณพน้อย ตบแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับอัน
งดงาม คล้ายกับชำแรกดินออกมายืนอยู่ฉะนั้น. นางสุมนาเทวีลอยลงมาจาก
อากาศ ยืนเคียงข้างพระภัสดาของตน. นาคราชได้ยืนประคองอัญชลี นอบน้อม
พระราชาอยู่.
พระบรมศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ได้ตรัสพระคาถา
2 คาถา ความว่า
จัมเปยยนาคราช หลุดพ้นจากที่คุมขังแล้ว จึง
กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระเจ้ากาสิกราช ข้า-
พระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้าแต่พระองค์
ผู้ทรงผดุงกาสิกรัฐให้รุ่งเรือง ข้าพระพุทธเจ้าขอถวาย
บังคมพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าขอประคองอัญชลี แด่
พระองค์ ขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรนิเวศน์ ของ
ข้าพระพุทธเจ้าเถิด พระเจ้าข้า.

(พระราชาตรัสตอบว่า) ดูก่อนนาคราช แท้จริง
คนทั้งหลายเขากล่าวถึงเหตุที่มนุษย์จะพึงคุ้นเคยกับ
อมนุษย์ว่า พึงคุ้นเคยกันได้ยาก ถ้าท่านขอร้องเราถึง
เรื่องนั้น เราก็อยากจะไปดูนิเวศน์ของท่าน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺเสยฺยํ เม นิเวสนํ ความว่า
จัมเปยยนาคราชทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมนรชน จัมเปยยนาคพิภพ
อันเป็นนิเวศน์ของข้าพระพุทธเจ้าเป็นรมณียสถาน ควรที่จะดูจะเห็น ข้าพระ-
พุทธเจ้าประสงค์จะแสดงพิภพนั้น เพื่อทรงทอดพระเนตร ขอเชิญพระองค์
พร้อมทั้งพลพาหนะ เสด็จไปทอดพระเนตรเถิด. บทว่า ทุพฺพิสฺสาสํ ความว่า

เป็นของคุ้นเคยได้โดยยาก. บทว่า สเจ จ ความว่า พระราชาตรัสตอบว่า
ถ้าหากเธอจะอ้อนวอนเธอเชิญเรา เราก็อยากจะเห็นนิเวศน์ของเธอ ก็แต่เรา
ยังไม่วางใจเชื่อเธอได้
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะทำสัตย์สาบาน เพื่อให้พระราชาทรง
เชื่อถือ ได้ตรัสพระคาถา 2 คาถา ความว่า
ข้าแต่พระราชา แม้ถึงว่า ลมจะพึงพัดภูเขา
ไปได้ก็ดี พระจันทร์และพระอาทิตย์ จะพึงเผาผลาญ
แผ่นดินก็ดี แม่น้ำทุกสายพึงไหลทวนกระแสก็ดี ถึง
กระนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ก็จะไม่กล่าวคำเท็จเลย.

ข้าแต่พระราชา ท้องฟ้าจะทำลายไป ทะเลจะ
เหือดแห้งไป มหาปฐพีมีนามว่า ภูตธราและพสุนธรา
จะพึงม้วนได้ เมรุบรรพตอันหนาแน่นด้วยศิลา จะ
พึงถอนไปทั้งราก ถึงกระนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ก็จะ
ไม่กล่าวคำเท็จเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สํวตฺเตยฺย ภูตธรา พสุนฺธรา ความว่า
มหาปฐพีอันถึงการนับว่า ภูตธรา ก็ดี วสุนธรา ก็ดีนี้ จะพึงม้วนได้ดังเสื่อ
ลำแพน. บทว่า สมูลมุพฺพเห ความว่า มหาสิเนรุบรรพตจะพึงถอนรากปลิว
ไปในอากาศได้ ดังใบไม้แห้งอย่างนี้.
เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาก็มิได้ทรงเชื่อ จึงตรัส
พระคาถานั้นแหละซ้ำอีกว่า
ดูก่อนนาคราช แท้จริง คนทั้งหลายเขากล่าวถึง
เหตุที่มนุษย์จะพึงคุ้นเคยกับอมนุษย์ว่า พึงคุ้นเคยกัน

ได้ยาก ก็ถ้าเธอขอร้องเราถึงเรื่องนั้น เราก็อยากไปดู
นิเวศน์ของเธอ ดังนี้.

เมื่อจะประกาศกำชับว่า เธอควรจะรู้จักคุณที่เราทำแล้วแก่เธอ ส่วน
ตัวเราเอง ย่อมรู้สิ่งที่ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อได้ดังนี้ จึงตรัสพระคาถานอกนี้
ความว่า
เธอเป็นผู้มีพิษร้ายแรงยิ่ง มีเดชมาก ทั้งโกรธง่าย
เธอหลุดพ้นจากที่คุมขังไปได้ ก็เพราะเหตุที่เราช่วย
เหลือ เธอควรจะรู้บุญคุณที่เราทำไว้แก่เธอ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุฬารา แปลว่า ร้ายแรงอย่างยิ่ง. บทว่า
ชานิตเว แปลว่า ควรจะรู้.
พระมหาสัตว์ เมื่อจะทำสัตย์สาบาน เพื่อให้พระราชาทรงเชื่อต่อไป
จึงกล่าวคาถา ความว่า
ข้าพระพุทธเจ้าถูกคุมขังอยู่ในกระโปรงเกือบจะ
ถึงความตาย จักไม่รู้จักอุปการคุณที่พระองค์ทรงกระ-
ทำแล้วเช่นนั้น ก็ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าจงหมกไหม้อยู่
ในนรก อันแสนร้ายกาจ อย่าได้รับความสำราญกาย
สักหน่อยหนึ่งเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจตํ แปลว่า จงหมกไหม้. บทว่า
กมฺมกตํ ความว่า นาคราชกราบทูลว่า หากข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้จักอุปการคุณ
ที่บุคคลทำแล้ว เช่นพระองค์อย่างนี้ ขอข้าพระพุทธเจ้า จงมีอันเป็นเห็น
ปานนี้เถิด.
ลำดับนั้น พระราชาทรงเชื่อถ้อยคำของพระมหาสัตว์ เมื่อจะทรงชมเชย
จึงตรัสพระคาถา ความว่า

คำปฏิญาณของเธอนั้น จงเป็นคำสัตย์จริง เธอ
อย่าได้มีความโกรธ อย่าผูกโกรธไว้ อนึ่ง ขอสุบรรณ
ทั้งหลายจงละเว้นนาคสกุลของท่านทั้งมวล เหมือน
ผู้เว้นไฟในฤดูร้อนฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตวเมส โหตุ ความว่า สัจจปฏิญาณ
ของเธอนั้น จงเป็นวาจาสัตย์เที่ยงตรงเถิด. บทว่า คิมฺหาสุ วิวชฺชยนฺตุ
ความว่า มนุษย์ทั้งหลายเมื่อไม่ปรารถนาความร้อนในฤดูคิมหันต์ ย่อมเว้น
ห่างกองไฟอันลุกโพลงอยู่ฉันใด ขอสุบรรณทั้งหลาย จงเว้นว่างหลีกห่างไป
เสียให้ไกลฉันนั้น.
แม้พระมหาสัตว์เจ้า เมื่อจะชมเชยพระราชา จึงกล่าวคาถานอกนี้
ความว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์
ทรงเอ็นดูนาคสกุล เหมือนมารดาผู้เอ็นดูบุตรคนเดียว
ผู้เป็นสุดที่รักฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้ากับ นาคสกุลจะขอ
กระทำเวยยาวฏิกกรรม อย่างโอฬารแด่พระองค์.

พระราชาทรงสดับคำของนาคราชแล้ว มีพระประสงค์จะเสด็จไป
นาคพิภพ เมื่อจะตรัสสั่งให้ทำการตระเตรียมพลเสนาที่จะเสด็จไป จึง
ตรัสพระคาถา ความว่า
เจ้าพนักงานรถ จงตระเตรียมราชรถอันงามวิจิตร
จงเทียมอัสดรอันเกิดในกัมโพชกรัฐ ซึ่งฝึกหัดอย่างดี
แล้ว และเจ้าพนักงานช้างจงผูกช้างตัวประเสริฐทั้ง-
หลาย ให้งามไปด้วยสุวรรณหัตถากรณ์ เราจะไปดู
นิเวศน์แห่งท้าวนาคราช.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺโพชเก อสฺสตเร สุทนฺเต
ความว่า จงเทียมอัศวพาชี อันเกิดในกัมโพชกรัฐ ที่ได้รับการฝึกหัดอย่างดี.
คาถานอกนี้ต่อไป เป็นพระคาถาอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในกาล
เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ความว่า
พนักงานเภรี ตะโพน บัณเฑาะว์ และแตรสังข์
ของพระเจ้าอุคคเสนราช มาพร้อมหน้ากัน พระราชา
ทรงแวดล้อมด้วยสนมนารี เสด็จไปในท่ามกลางหมู่
สนมนารีงามสง่ายิ่งนัก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุ โสภมาโน ความว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย พระเจ้าพาราณสี แวดล้อมด้วยเหล่าสนมนารีหมื่นหกพันนาง เป็น
บริวาร เสด็จไปสู่นาคพิภพ แต่พระนครพาราณสีท่ามกลางหมู่สนมนารีนั้น
เสด็จดำเนินไปงดงามยิ่งนัก.
ในกาลเมื่อพระเจ้าพาราณสี เสด็จออกจากพระนครไป พระมหา-
สัตว์เจ้า ทรงบันดาลนาคพิภพให้ปรากฏมีกำแพงแก้ว 7 ประการ และประตู
ป้อมคู หอรบ แล้วนิรมิตบรรดาที่จะเสด็จไปยังนาคพิภพ ให้ประดับตกแต่ง
ด้วยเครื่องประดับงดงาม ด้วยอานุภาพของตน. พระราชาพร้อมด้วยราชบริพาร
เสด็จเข้าไปยังนาคพิภพโดยมรรคานั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิภาคและ
ปราสาทราชวัง น่ารื่นเริง บันเทิงพระทัย.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเจ้ากรุงกาสีวัฒนราช ได้ทอดพระเนตรเห็น
ภูมิภาคอันงาม วิจิตรลาดแล้วด้วยทรายทอง ทั้งสุวรรณ
ปราสาทก็ปูลาดไปด้วยแผ่นกระดานแก้วไพฑูรย์ พระ-

องค์เสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์ ของจัมเปยยนาคราชมีรัศมี
โอภาสดังแสงอาทิตย์แรกอุทัย รุ่งเรืองไปด้วยรัศมี
ประหนึ่งสายฟ้าในกลุ่มเมฆ.

พระเจ้ากาสิกราช ทรงทอดพระเนตรจนทั่ว
นิเวศน์ ของจัมเปยยนาคราช อันดารดาษไปด้วย
พฤกษชาตินานาชนิด หอมฟุ้งขจรไป ด้วยทิพยสุคนธ์
อบอวลล้วนวิเศษ.

เมื่อพระเจ้ากาสิกราช เสด็จเข้าไปในนิเวศน์ของ
ท้าวจัมเปยยนาคราช เหล่าทิพยดนตรี ก็ประโคมขับ
บรรเลง ทั้งนางนาคกัญญาทั้งหลายก็ฟ้อนรำ ขับร้อง.

พระเจ้ากาสิกราช เสด็จขึ้นนิเวศน์ ซึ่งมีหมู่
นางนาคกัญญาตามเสด็จ ทรงพอพระทัย ประทับนั่ง
ณ พระสุวรรณแท่นทอง อันมีพนักไล้ทาด้วยแก่น-
จันทน์ทิพย์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุวณฺณจิตฺตกํ ความว่า ลาดแล้วด้วย
ทรายทอง. บทว่า พฺยมฺหํ ความว่า สู่นาคพิภพอันประดับตกแต่งแล้ว.
บทว่า จมฺเปยฺยสฺส ความว่า เสด็จไปยังนาคพิภพอันประดับแล้ว ทรง
พระราชดำเนินเข้าสู่นิเวศน์ ของจัมเปยยนาคราช. บทว่า กํสวิชฺชูปภสฺสรํ
ความว่า รุ่งเรืองไปด้วยรัศมีประหนึ่งสายฟ้าในกลุ่มเมฆ. บทว่า นานาคนฺธ-
สมีริตํ
ความว่า หอมฟุ้งขจรไปด้วยทิพยสุคนธ์มีอย่างต่าง ๆ. บทว่า จริตํ
คเณน
ความว่า สู่นิเวศน์นั้นอันนางนาคกัญญา ตามเสด็จไปพร้อมหน้า.
บทว่า จนฺทนสารลิตฺเต ความว่า ไล้ทาแล้วด้วยแก่นจันทน์อันเป็นทิพย์.

เมื่อพระเจ้ากาสิกราช ประทับนั่งบนบัลลังก์แล้ว พนักงานชาว
เครื่องวิเศษ ก็เชิญเครื่องทิพย์อันสมบูรณ์ด้วยรสโอชานานาประการ น้อมเข้า
ไปถวาย และเชิญไปเลี้ยงดู เหล่าสนมนารีหมื่นหกพันนาง พร้อมทั้งราชบริษัท
ที่เหลือ. พระเจ้าพาราณสี พร้อมด้วยราชบริษัท ทรงเสวยข้าวน้ำอันเป็น
ทิพย์เป็นต้น เพลิดเพลินเจริญใจด้วยทิพยกามคุณ และประทับ ณ สุขไสยาสน์
ประมาณได้เจ็ดวัน ทรงสรรเสริญอิสริยยศของพระมหาสัตว์ แล้วตรัสถามว่า
ดูก่อนท่านนาคราช ก็เพราะเหตุไรหรือ ท่านจึงละสมบัติเห็นปานนี้ ไปนอน
อยู่รักษาอุโบสถศีล ณ จอมปลวกในมนุษยโลก ฝ่ายพระมหาสัตว์เจ้าก็ทูลเล่า
ถวายให้ทรงทราบ.
พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเจ้ากาสิกราชนั้น ครั้นเสวยสมบัติ และ
ทรงรื่นรมย์ประทับอยู่ ในนาคพิภพนั้นแล้ว ได้ตรัส
ถามจัมเปยยนาคราชว่า วิมานอันประเสริฐของท่าน
เหล่านี้ มีรัศมีดังพระอาทิตย์ งามผุดผาด วิมานเช่นนี้
ไม่มีในมนุษยโลก ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญ
ตบธรรมเพื่อประโยชน์อะไร.

นางนาคกัญญาเหล่านั้น สวมใส่กำไลทองนุ่งห่ม
เรียบร้อย มีนิ้วมือกลมกลึง ฝ่ามือฝ่าเท้าแดงงามยิ่งนัก
ผิวพรรณงดงามไม่ทรามเลย พากันยกทิพยปานะถวาย
ให้พระองค์ทรงเสวย สนมนารีเช่นนี้จะมีอยู่ในมนุษย-
โลกก็หามิได้ ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบ-
ธรรมเพื่อประโยชน์อะไร.

อนึ่ง มหานทีอันชุ่มชื่น ดาษดื่นไปด้วยปลามี
เกล็ดหนานานาชนิด มีอาทาสสกุณปักษีร่ำร้องไพเราะ
จับใจ ทั้งท่าขึ้นลงนทีธารก็ราบรื่นเป็นอันดี แม่น้ำ
เช่นนั้นจะได้มีอยู่ในมนุษยโลกก็หาไม่ ดูก่อนพระยา-
นาคราช ท่านบำเพ็ญตบธรรมเพื่อประโยชน์อะไร.

ฝูงนกกระเรียน ฝูงนกยูง ฝูงหงส์ และฝูงนก
ดุเหว่าทิพย์ ร่ำร้องเสียงไพเราะจับใจ ต่างก็โผผินบิน
จับอยู่บนต้นไม้ ทิพยสกุณาเช่นนี้ จะได้มีในมนุษย-
โลกก็หาไม่ ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบธรรม
เพื่อประโยชน์อะไร.

ต้นมะม่วง ต้นสาละ ทั้งช้างน้าว อ้อยช้างและ
ต้นชมพู่ ต้นคูนและแคฝอย ผลิตดอกออกผลเป็น
พวง ๆ ทิพยรุกขชาติเช่นนี้ จะได้มีอยู่ ในมนุษยโลก
ก็หาไม่ ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญตบะเพื่อ
ประโยชน์อะไร.

อนึ่ง ทิพยสุคนธ์รอบ ๆ สระโบกขรณีเหล่านี้
หอมฟุ้งอยู่เป็นนิตย์ ทิพยสุคนธ์เช่นนี้ จะมีอยู่ใน
มนุษยโลกก็หามิได้ ดูก่อนพระยานาคราช ท่านบำเพ็ญ
ตบธรรมเพื่อประโยชน์อะไร.

(จัมเปยยนาคราช ทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอม
ประชาชน ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบธรรมเพราะ

เหตุแห่งบุตร ทรัพย์ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุก็หาไม่
แต่เพราะข้าพระพุทธเจ้า ปรารถนากำเนิดมนุษย์ ฉะนั้น
จึงได้บากบั่นมุ่งมั่นบำเพ็ญสมณธรรม.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตา พระราชาตรัสหมายถึงนางนาคกัญญา
หมื่นหกพันนางเหล่านั้น. บทว่า กมฺพุกายูรธรา แปลว่า สวมใส่อาภรณ์
อันล้วนด้วยทอง. บทว่า วฏฺฏงฺคุลี แปลว่า มีองคุลีกลมเช่นกันหน่อแก้ว-
ประพาฬ. บทว่า ตมฺพตลูปปนฺนา ความว่า ประกอบไปด้วยฝ่ามือและ
ฝ่าเท้า แดงงดงามยิ่งนัก. บทว่า ปาเยนฺติ ความว่า พากันยกทิพยปานะ
ประคองเข้าถวาย ให้พระองค์ทรงเสวย. บทว่า ปุถุโลมมจฺฉา ความว่า
ประกอบไปด้วยปลานานาชนิด ที่มีเกล็ดหนา. บทว่า อาทาสสกุนฺตาภิสุทา
ความว่า มีนกเงือกร่ำร้องอยู่อึงมี่. บทว่า สุติตฺถา ความว่า มีท่าขึ้นลง
ราบรื่นเรียบร้อย. บทว่า ทิวิยา จ หํสา ได้แก่ ฝูงหงส์ทิพย์. บทว่า
สมฺปตนฺติ ความว่า ร่ำร้องเสียงไพเราะจับใจ ต่างโผผินบินจากต้นโน้น
มาต้นนี้.
บทว่า ทิพฺยา คนฺธา ความว่า อนึ่ง ทิพยสุคนธ์ทั้งหลาย ย่อม
ฟุ้งตลบไปไม่ขาดสาย ในสระโบกขรณีทั้งหลายเหล่านั้น. บทว่า อภิปตฺถยาโน
ความว่า ปรารถนาซึ่งกำเนิดมนุษย์เที่ยวไป. บทว่า ตสฺมา ความว่า ด้วย
เหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้า จึงบากบั่น คือประคองความเพียร กระทำตบะคือ
บำเพ็ญอุโบสถศีล ได้แก่ เข้าอยู่รักษาอุโบสถ.
เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระราชาเมื่อจะทรงทำการ
ชมเชย จึงตรัสพระคาถาความว่า

ท่านมีดวงเนตรแดง มีรัศมีส่องแสงสว่าง
ประดับตกแต่งแล้ว ปลงเกศาและมัสสุแล้ว ประพรม
ด้วยจุรณจันทน์แดง ฉายแสงไปทั่วทิศ ดังคนธรรพ-
ราชฉะนั้น ท่านเป็นผู้ประกอบด้วยเทวฤทธิ์ มีอานุภาพ
มาก เพรียบพร้อมไปด้วยสรรพกามารมณ์ ดูก่อนท่าน
นาคราช เราขอถามเนื้อความนี้กะท่าน มนุษยโลก
ประเสริฐกว่านาคพิภพด้วยเหตุไร.

ลำดับนั้น พระยานาคราช เมื่อจะกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ จึง
กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน เว้นมนุษย-
โลกเสียแล้ว ความบริสุทธิ์ หรือความสำรวมย่อมไม่มี
เลย ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบธรรม ด้วยตั้งใจว่า
เราได้กำเนิดมนุษย์แล้ว จักทำที่สุดแห่งชาติและ
มรณะได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุทฺธิ วา ความว่า ขอเดชะพระมหาราชเจ้า
เว้นจากมนุษยโลกแล้ว ความบริสุทธิ์กล่าวคืออมตนฤพานก็ดี ความสำรวม
ระวังในศีลก็ดี ไม่มีเลย. บทว่า อนฺตํ ความว่า ข้าพระพุทธเจ้ากระทำตบะ
ด้วยคิดว่า เราได้กำเนิดมนุษย์แล้ว จักกระทำที่สุดแห่งชาติและมรณะได้.
พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสพระคาถาความว่า
ชนเหล่าใด มีปัญญาเป็นพหูสูต ตรึกตรอง
เหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว
ดูก่อนพระยานาคราช เราได้เห็นนางนาคกัญญา
ทั้งหลายของท่านและตัวท่านแล้ว จักทำบุญให้มาก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาริโย จ ความว่า พระราชาตรัสว่า
เราเห็นนางนาคกัญญาทั้งหลายเหล่านั้น ของท่านและตัวท่านแล้ว จักกระทำบุญ
เป็นอันมาก.
ลำดับนั้น พระยานาคราชกราบทูลพระราชาว่า
ชนเหล่าใด มีปัญญาเป็นพหูสูต ตรึกตรอง
เหตุการณ์ถี่ถ้วนมาก ชนเหล่านั้นควรคบหาแท้ทีเดียว
ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็น
นางนาคกัญญา และตัวข้าพระพุทธเจ้าแล้ว ขอจง
บำเพ็ญบุญให้มากเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กโรหิ ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า
พระองค์พึงกระทำ (บุญกุศลให้มาก ๆ เถิด).
ครั้นพระมหาสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอุคคเสนะ ทรงมีพระ
ประสงค์จะเสด็จกลับไปยังมนุษยโลก จึงตรัสอำลาว่า ดูก่อนท่านนาคราช
เรามาอยู่ก็เป็นเวลานาน จำจักต้องลากลับไปยังมนุษยโลก.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เจ้าจึงทูลท้าวเธอว่า ขอเดชะ พระมหาราชเจ้า
ถ้าเช่นนั้นพระองค์โปรดเลือกถือเอาทรัพย์สมบัติไปตามพระประสงค์เถิด เมื่อ
จะทรงแสดงทรัพย์สมบัติ จึงกราบทูลว่า
กองเงินและกองทอง ของข้าพระพุทธเจ้านี้มาก
มาย สูงประมาณเท่าต้นตาล พระองค์จงตรัสสั่งให้
พวกราชบุรุษนี้ไปจากนาคพิภพนี้ แล้วจงตรัสสั่งให้
สร้างพระราชวังด้วยทองคำ ให้สร้างกำแพงด้วยเงิน
เถิด.

นี้กองแก้วมุกดา อันเจือปนด้วยแก้วไพฑูรย์
ห้าพันเล่มเกวียน พระองค์จงตรัสสั่งให้ราชบุรุษขนไป
จากนาคพิภพนี้ แล้วให้ลาดลง ณ ภูมิภาคภายใน
พระราชฐาน ภูมิภาคภายในพระราชฐานก็จักสะอาด
ปราศจากเปลือกตมและละอองธุลี ขอเดชะพระองค์
ผู้เป็นราชาอันประเสริฐ ผู้ทรงพระปรีชาอันล้ำเลิศ
ขอพระองค์โปรดเสวยราชสมบัติ ครอบครองพระ-
นครพาราณสี อันมั่งคั่งสมบูรณ์ สง่างามล้ำเลิศ ดุจ
ทิพยวิมานเห็นปานฉะนี้เถิด พระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราสิ ความว่า กองเงินกองทองประมาณ
ชั่วลำตาล มีอยู่ในที่นั้น ๆ. บทว่า โสวณฺณฆรานิ ได้แก่ พระราชวังทอง.
บทว่า นิกฺกทฺทมา ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภูมิภาคภายในพระราชฐาน
ก็จักสะอาดปราศจากเปลือกตมและละอองธุลี. บทว่า เอตาทิสํ ความว่า
(ครอบครองพระนครพาราณสี) อันมีกำแพงล้อมไปด้วยทองและเงิน มีภูมิภาค
ลาดแล้วด้วยแก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์ เห็นปานฉะนี้. บทว่า ผีตํ ความว่า
ขอพระองค์จงทรงอยู่ครอบครองพระนครพาราณสี อันมั่งคั่งแพร่หลายฉะนี้.
บทว่า อโนมปญฺญา ความว่า มีพระปัญญาอันไม่ทราม
พระราชาทรงสดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์แล้วก็ทรงรับไว้. พระ-
มหาสัตว์จึงให้พนักงานเภรี เที่ยวตีกลองประกาศว่า ราชบุรุษทั้งปวงจงพากัน
ขนเอาทรัพย์สมบัติ มีเงินทองเป็นต้นไปตามปรารถนาเถิด แล้วเอาเกวียน
หลายร้อยเล่มบรรทุกทรัพย์สมบัติ ส่งถวายพระราชา. พระราชาเสด็จออกจาก
นาคพิภพ กลับไปสู่พระนครพาราณสี ด้วยยศบริวารเป็นอันมาก. เล่ากันว่า
นับแต่นั้นมา พื้นชมพูทวีปจึงเกิดมีเงินมีทองขึ้น.

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า
โปราณกบัณฑิททั้งหลาย ละนาคสมบัติแล้ว อยู่รักษาอุโบสถศีล ด้วยอาการ
อย่างนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า หมองูในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัต
ในบัดนี้ นางนาคกัญญาสุมนาเทวี ได้มาเป็นราหุลมารดา พระเจ้าอุคคเสนราช
ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนจัมเปยยนาคราช ได้มาเป็นเราผู้ตถาคตฉะนี้แล.
จบอรรถกถาจัมเปยยชาดก

11. มหาปโลภนชาดก



ว่าด้วยหญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์



[2208] เทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก จุติจากพรหม-
โลกแล้ว มาเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสี ผู้ทรง
ดำรงอยู่ในราชสมบัติ อันเพรียบพร้อมด้วยสรรพกาม.
ความใคร่ก็ดี ความสำคัญในกามก็ดี ไม่มีใน
พรหมโลกเลย พระราชกุมารนั้น จึงทรงรังเกียจกาม
ทั้งหลาย ด้วยฌานสัญญาอันบังเกิดในพรหมโลก
นั้นเอง.
พระราชบิดา ตรัสสั่งให้สร้างฌานาคารไว้ใน
ภายในพระราชฐาน สำหรับพระราชกุมารนั้นทรง
หลีกเร้น บำเพ็ญฌานในอาคารนั้น เพียงพระองค์เดียว.