เมนู

[1837] โลกทั้งปวงมีจิตยิ่งด้วยจิตของคนอื่น
โลกทั้งปวงชื่อว่า มีจิตในจิตของตน สัตว์ทั้งปวง
ที่เป็นปุถุชน ต่างก็มีจิตใจต่างกัน สัตว์ทั้งหลายใน
โลกนี้ ไม่พึงเป็นไปในอำนาจแห่งจิตของใคร.

[1838] กินนรพร้อมด้วยกินรีผู้ภรรยา เป็น
ผู้นิ่งไม่พูด เป็นผู้กลัวภัยได้กล่าวแก้แล้วในบัดนี้
กินนรนั้นชื่อว่าพ้นแล้วในบัดนี้ เป็นผู้มีความสุข หา
โรคมิได้ เพราะว่าการเปล่งวาจาดีนำมาซึ่งประโยชน์
แก่นรชนทั้งหลาย.

จบตักการิยชาดกที่ 8

อรรถกถาตักการิยชาดก


พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
พระปรารภภิกษุชื่อโกกาลิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อหเมว
ทุพฺภาสิตํ ภาสิ พาโล
ดังนี้.
ความพิสดารว่า ภายในพรรษาหนึ่ง พระอัครสาวกทั้งสองท่าน
ประสงค์จะละหมู่อยู่อย่างเงียบ ๆ ทูลลาพระศาสดา ไปถึงที่อยู่ของพระโกกาลิกะ
ในโกกาลิกรัฐกล่าวเธออย่างนี้ว่า โกกาลิกะผู้มีอายุ เรากับเธอถ้อยทีถ้อยอาศัย
กัน จักอยู่เป็นผาสุกตลอดไตรมาสนี้ เราขออยู่จำพรรษา ณ ที่นี้แหละ. เธอ
ตอบว่า ผู้มีอายุ ก็ท่านอาศัยผมแล้วจักอยู่สำราญได้ไฉนเล่า. พระอัครสาวก
ตอบว่า ผู้มีอายุ ถ้าเธอไม่บอกแก่ใคร ๆ ว่า พระอัครสาวกอยู่จำพรรษาที่นี้

เราจะพึงอยู่สบาย นี้เราอาศัยเธออยู่เป็นผาสุก. เธอถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้
ผมอาศัยท่าน พึงอยู่เป็นผาสุกได้อย่างไร. ตอบว่า เราจักบอกธรรม จักกล่าว
ธรรมกถาแก่เธอตลอดไตรมาส นี้เธออาศัยเราอยู่เป็นผาสุก. พระโกกาลิกะ
กล่าวว่า ผู้มีอายุ เชิญท่านอยู่ตามอัธยาศัยเถิด และได้ถวายเสนาสนะที่สมควร
แก่ท่านทั้งสอง. พระอัครสาวกทั้งสองพากันอยู่สบายด้วยความสุขในผลสมาบัติ.
ใคร ๆ มิรู้การที่ท่านพากันอยู่ ณ ที่นี้. ท่านทั้งสองจำพรรษาแล้ว ปวารณา
แล้ว ก็พากันบอกพระโกกาลิกะนั้นว่า อาวุโส เราอาศัยเธออยู่กันอย่างสบายแล้ว
จักพากันไปถวายบังคมพระศาสดา เธอรับคำว่า สาธุ แล้วพาพระอัครสาวก
ทั้งสองเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านใกล้ ๆ. พระเถระทั้งหลายกระทำภัตกิจเสร็จ
แล้ว ก็พากันออกจากบ้าน.
พระโกกาลิกะส่งพระเถระเหล่านั้นแล้วกลับไปบอกคนทั้งหลายว่า
อุบาสกทั้งหลาย พวกแกเหมือนเดรัจฉาน ช่างไม่รู้เสียเลยว่าพระอัครสาวก
ทั้งสองอยู่ในวิหารตลอด 3 เดือน บัดนี้เล่า ท่านก็กลับไปเสียแล้ว.
คนทั้งหลายพากันกล่าวว่า เหตุไรเล่า พระผู้เป็นเจ้าจึงไม่แจ้งแก่พวกผม
ให้ทราบ แล้วพากันถือเภสัช มีเนยใสและน้ำมันเป็นต้น และเครื่องนุ่งห่ม
คือผ้าเป็นอันมาก เข้าไปหาพระเถระไหว้แล้วต่างกราบเรียนว่า ข้าแต่พระ-
คุณเจ้าผู้เจริญ โปรดอภัยแก่พวกกระผมเถิด. พระโกกาลิกะดำริว่า พระเถระ
ทั้งสองมักน้อยสันโดษ คงไม่รับผ้าเหล่านี้ด้วยตน คงให้แก่เรา จึงไปสู่พระเถระ
ทั้งหลายกับพวกอุบาสกนั่นเอง. พระเถระทั้งสองมิได้รับอะไร ๆ ไว้เพื่อตน
ทั้งไม่สั่งให้เขาถวายแก่พระโกกาลิกะ เพราะท่านมุ่งอบรมภิกษุอยู่. พวกอุบาสก
พากันอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เมื่อพระคุณเจ้าไม่รับคราวนี้ ก็
นิมนต์มาที่นี้อีกเพื่ออนุเคราะห์พวกกระผม. พระเถระเจ้ารับแล้วพากันไปสู่
สำนักพระศาสดา พระโกกาลิกะผูกอาฆาตว่า พระเถระเหล่านั้น เมื่อตนไม่รับ

ก็ไม่บอกให้เขาให้แม้แก่เรา. ฝ่ายพระเถระทั้งสองพักอยู่ในสำนักพระศาสดา
หน่อยหนึ่ง ก็พาภิกษุ 500 รูปผู้เป็นบริวารของตน ๆ เที่ยวจาริกไปกับภิกษุ
1,000 รูป จนถึงโกกาลิกรัฐ. พวกอุบาสกเหล่านั้นก็พากันต้อนรับ พาพระ-
เถระไปสู่วิหารนั้นเอง กระทำสักการะใหญ่ทุก ๆ วัน. เภสัชและเครื่องนุ่งห่ม
คือผ้าเกิดขึ้นมามากมาย. พวกภิกษุผู้ที่มากับพระเถระ พากันเลือกจีวรให้แก่
พวกภิกษุที่มากันเท่านั้น ไม่ได้ให้แก่พระโกกาลิกะ. แม้พระเถระก็มิได้บอก
ให้เธอ โกกาลิกะไม่ได้จีวรก็ด่าตัดเพ้อพระเถระว่า สารีบุตรและโมคคัลลานะ
ปรารถนาน้อย เมื่อก่อนเขาให้ลาภไม่รับ บัดนี้รับเสียจนล้นเหลือ ไม่มองดู
ผู้อื่น ๆ เลย พระเถระทั้งหลายดำริว่า โกกาลิกะประสบอกุศลเพราะอาศัย
พวกเรา พร้อมด้วยบริวารพากันออกไป แม้จะถูกหมู่ชนพากันอาราธนาว่า
พระคุณเจ้านิมนต์อยู่อีกสักสองสามวันเถิด ก็มิได้ปรารถนาจะกลับ.
ลำดับนั้นภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า อุบาสกทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายจักอยู่
ได้อย่างไร พระเถระผู้ชิดชอบของพวกท่าน ทนการอยู่ของภิกษุเหล่านั้นไม่ได้.
อุบาสกเหล่านั้นพากันไปสู่สำนักของพระโกกาลิกะนั้น กล่าวว่า พระคุณเจ้าผู้
เจริญ ได้ยินว่า พระคุณเจ้าทนการอยู่ในสำนักของพระเถระไม่ได้ นิมนต์ไปเถิด
ขอรับ จงขอให้พระเถระเจ้าทั้งสองรับขมาแล้วนิมนต์กลับมา หรือไม่เช่นนั้น
พระคุณเจ้าจงหนีไปอยู่ที่อื่นเถิด. พระโกกาลิกะจำไปอ้อนวอนพระเถระทั้งหลาย
ด้วยความกลัวพวกอุบาสก. พระเถระทั้งหลายต่างกล่าวว่า ผู้มีอายุ เธอจงไป
เสียเถิด พวกเราจักไม่กลับละ. เธอเมื่อไม่อาจนิมนต์พระเถระให้กลับได้ ก็
กลับไปวิหารนั่นแล. ลำดับนั้น พวกอุบาสกพากันถามเธอว่า พระคุณเจ้าข้า
พระคุณเจ้านิมนต์พระเถระกลับหรือ ก็กล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่
สามารถนิมนต์ให้กลับได้. ลำดับนั้น พวกอุบาสกต่างคิดว่า เมื่อภิกษุ

ผู้มีบาปกรรมนี้ยังอยู่ในวิหารนี้ พวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักจักไม่อยู่ พวกเราต้อง
ไล่เธอไปเสีย แล้วพากันกล่าวกะเธอว่า พระคุณเจ้าข้า พระคุณเจ้าอย่าอยู่ที่นี้เลย
พระคุณเจ้าจะพึ่งพาอาศัยอะไร ๆ พวกข้าพเจ้าไม่ได้ละ. เธอถูกพวกเหล่านั้น
ชังน้ำหน้าเสียแล้ว ก็ถือบาตรจีวรไปพระเชตวัน เข้าเฝ้าพระศาสดากราบทูล
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระโมคคัลลานะมีความ
ปรารถนาลามก ลุอำนาจความปรารถนาลามกเสียแล้ว. ลำดับนั้น พระศาสดา
รับสั่งกะเธอว่า โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย จงยังจิตให้เลื่อมใสใน
สารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด. ท่านโกกาลิกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระองค์มัวเชื่อพระอัครสาวกของพระองค์ ข้าพระองค์ได้เห็นประจักษ์แล้วว่า
พวกนี้ล้วนเลว ๆ มีลับลมคมในทุศีลทั้งนั้น แม้พระศาสดาจะตรัสห้ามถึง
สามครั้ง ก็คงกล่าวอย่างนั้น แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป.
พอเธอหันไปเท่านั้นทั่วร่างก็เกิดตุ่มประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ค่อย
เจริญโดยลำดับ ถึงขนาดมะตูมสุกแล้วแตกน้ำเหลืองและเลือดไหลโทรมกาย.
เธอต้องระทดเจ็บแสบนอนอยู่ ณ ซุ่มพระทวารพระเชตวัน ถึงพรหมโลกได้
มีเรื่องเกรียวกราวกันว่า พระอัครสาวกทั้งสองถูกพระโกกาลิกะด่า. ลำดับนั้น
ตุทีพรหมอุปัชฌาย์ของเธอทราบเรื่องนั้น จึงมาดำริว่า จักให้เธอขมา
พระเถระทั้งหลายเสีย ยืนในอากาศกล่าวว่า โกกาลิกะ ท่านทำกรรม
หยาบคายนัก ท่านจงให้พระอัครสาวกเลื่อมใสเถิด. เธอถามว่า ผู้มี
อายุ ท่านเป็นใครเล่า เราชื่อว่า ตุทีพรหม เธอกลับเอ็ดเอามหาพรหม
ว่า ผู้มีอายุ ท่านนะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์แล้วว่า เป็นพระอนาคา
มีมิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ธรรมดาว่า พระอนาคามี
มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นสภาวะ ท่านคงเป็นยักษ์ที่กองขยะเป็นแน่.
ท้าวมหาพรหมนั้น เมื่อมิอาจให้เธอเชื่อถือถ้อยคำได้ ก็กล่าวว่า ท่าน
นั้นเองจักปรากฏตามคำของท่าน แล้วไปสู่พรหมโลกชั้นสุทธาวาสทันที.

ฝ่ายภิกษุโกกาลิกะก็ตายไปบังเกิดในปทุมนรก. ท้าวสหัมบดีพรหมรู้ความที่เธอ
เกิดในที่นั้นแล้ว จึงกราบทูลแด่พระตถาคต. พระศาสดาตรัสเล่าแก่พวกภิกษุ
พวกภิกษุเมื่อกล่าวถึงโทษของเธอ พากันสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ได้ยินว่า โกกาลิกภิกษุด่าพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ
บังเกิดในปทุมนรกเพราะอาศัยปากของตน. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุ
เหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ใน
บัดนี้เท่านั้น ที่โกกาลิกะถูกถ้อยคำกำจัดเสีย เสวยทุกข์เพราะปากของตน แม้
ในกาลก่อน ก็เสวยทุกข์เพราะปากของตนแล้วเหมือนกันดังนี้แล้ว จึงทรงนำ
อดีตนิทานมาเล่าดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี
ปุโรหิตของท้าวเธอเป็นคนตาเหลือง มีเขี้ยวงอกออกมา. นางพราหมณีของเขา
เล่นชู้กับพราหมณ์อื่น. แม้พราหมณ์ผู้เป็นชู้นั้น ก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน.
ปุโรหิตเฝ้าห้ามนางพราหมณีบ่อย ๆ เมื่อไม่อาจห้ามปรามกันได้. ก็คิดว่าเรา
ไม่อาจจะฆ่าไอ้ไพรีของเรานี้ด้วยมือตนได้ ต้องหาอุบายฆ่ามันเสียให้ได้. เขา
ก็เข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช พระนครของพระองค์เป็น
พระนครชั้นเลิศในสกลชมพูทวีป พระองค์เล่าก็เป็นพระอัครราชา ประตู
พระนครด้านทักษิณของพระองค์ผู้ทรงนามว่าอัครราชาเช่นนี้ สร้างไว้ชั่ว
ไม่เป็นมงคลเลยพระเจ้าข้า. พระราชาตรัสสั่งว่า ควรจะได้อะไรเล่า. เขากราบ
ทูลว่า ต้องรื้อประตูเก่าเสียหาไม้ที่ประกอบด้วยมงคลมาให้พลีแก่ฝูงภูตผู้รักษา
พระนคร แล้วตั้งพระทวารใหม่ตามมงคลฤกษ์ พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งว่า
ถ้าเช่นนั้น เชิญท่านทำอย่างนั้นเถิด.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นมาณพ ชื่อว่าตักการิยะ
เรียนศิลปะในสำนักของเขา. ปุโรหิตให้รื้อประตูเก่าตั้งใหม่แล้วกราบทูลพระ-
ราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ประตูสำเร็จแล้ว พรุ่งนี้เป็นวันฤกษ์งาม
ต้องทำพลียกพระทวารมิให้ล่วงพ้นฤกษ์นั้นไปได้ พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งว่า
ถ้าเช่นนั้นท่านอาจารย์ควรจะได้อะไรเพื่อประกอบพิธีพลีกรรม. เขากราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระทวารมีศักดิ์ใหญ่ ต้องเชิญเทพดาผู้มีศักดิ์ให้
เข้าครอบครอง จำต้องฆ่าพราหมณ์ผู้บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย คนหนึ่งมีนัยตาเหลือง
มีเขี้ยวงอกออกมา เอาเนื้อและเลือดของเขาทำพลีกรรม แล้วเอาอ่างฝังลงไป
ใต้พระทวาร ตั้งพระทวารบนนั้น อย่างนี้จึงจักเกิดสวัสดีแก่พระองค์และแก่
พระนครพระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งว่า ดีละท่านอาจารย์ เชิญท่านฆ่าพราหมณ์
เช่นนั้นแล้วยกประตูพระนครเถิด. เขาดีใจเกิดลำพองว่า พรุ่งนี้เป็นได้เห็น
หลังปัจจามิตรละ ครั้นไปถึงเรือนของตนก็ไม่อาจรักษาปากไว้ได้ ละล่ำละลัก
บอกเมียว่า อีคนชั่ว อีคนจัณฑาล ตั้งแต่นี้มึงจะชมชื่นกับใครเล่า พรุ่งนี้
กูจะฆ่าชู้ของมึงพลีกรรมเสีย. ภรรยาเถียงว่า เขาไม่มีผิด จักฆ่าเสียเพราะเหตุ
อะไรเล่า. เขาตอบว่า พระราชารับสั่งให้กูทำพลีกรรมด้วยเนื้อและเลือดของ
พราหมณ์ที่มีเขี้ยวและตาเหลืองตั้งพระทวาร ก็ชู้ของมึงมีเขี้ยวและตาเหลือง
กูจักฆ่ามันทำพลีกรรมเสีย.
นางจึงส่งข่าวไปถึงสำนักของชู้ว่า ข่าวว่าพระราชาทรงประสงค์จะ
ฆ่าพวกพราหมณ์ผู้มีเขี้ยวและตาเหลืองทำพลีกรรม ถ้าเธออยากจะมีชีวิต
อยู่ ก็จงชักชวนพวกพราหมณ์ผู้มีลักษณะเช่นเดียวกับเธอหนีไปเสียให้ทัน
กาลทีเดียวเถิด. เขาทำตามนั้น ข่าวนั้นได้เลื่องลือไปในพระนคร. พวก
พราหมณ์ที่มีเขี้ยวและตาเหลืองทุกคนพากันหนีออกจากพระนครทุกแห่ง.
ปุโรหิตมิได้ล่วงรู้ความศัตรูหนีไปแล้ว เข้าเฝ้าพระราชาแต่เช้าตรู่ กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ที่โน่นมีพวกพราหมณ์ผู้มีเขี้ยวและตาเหลือง โปรด
รับสั่งจับเถิดพระเจ้าข้า. พระราชาทรงส่งพวกอำมาตย์ไป. พวกอำมาตย์เหล่านั้น
ไม่เห็นเขาก็พากันมากราบทูลว่า ข่าวว่าหนีไปเสียแล้วพระเจ้าข้า. พระราชา
ทรงรับสั่งว่า ค้นดูในที่อื่นซี. แม้จะพากันเที่ยวค้นในพระนครทุกแห่งก็มิได้
พบ เมื่อมีพระดำรัสว่า จงค้นผู้อื่นจากคนนั้นซี ก็พากราบทูลว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้สมมติเทพ เว้นท่านปุโรหิตเสียแล้ว คนอื่น ๆ ไม่มีรูปเป็นอย่างนั้น
พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งว่า เราไม่อาจฆ่าปุโรหิตได้. พวกนั้นพากันกราบ
ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์ประสงค์อะไรเช่นนั้น เพราะท่าน
ปุโรหิตเป็นตัวการณ์ แม้นไม่ยกพระทวารในวันนี้แล้ว พระนครก็จักเป็นอัน
ไม่ได้รับคุ้มครอง ท่านอาจารย์ก็บอกอยู่ว่า พ้นวันนี้ไปแล้วต้องรออีกปีหนึ่ง
จึงได้ฤกษ์ เมื่อพระนครไม่มีประตูตั้งปี จักเปิดโอกาสแก่พวกข้าศึกได้ พวกเรา
ต้องฆ่าพราหมณ์นี้ให้พวกพราหมณ์ผู้อื่นที่ฉลาดทำพลีกรรม ยกพระทวารเถิด
พระเจ้าข้า.
พระราชารับสั่งว่า ก็พวกพราหมณ์ผู้อื่นที่ฉลาดเหมือนท่านอาจารย์
ยังจะมีอยู่หรือ. พวกนั้นพากันกราบทูลว่า มีอยู่พระเจ้าข้า อันเตวาสิกของเขา
เองชื่อตักการิยมาณพ โปรดประทานตำแหน่งปุโรหิตแก่เขาแล้วทรงกระทำ
การมงคลเกิดพระเจ้าข้า. พระราชาตรัสเรียกเขามาให้กระทำสัมมานาการแล้ว
ประทานตำแหน่งปุโรหิต ทรงสั่งเพื่อกระทำอย่างนั้น. เราได้ไปสู่ประตูพระนคร
ด้วยบริวารเป็นอันมาก. ราชบุรุษทั้งหลายพากันมัดปุโรหิต พามาด้วยอานุภาพ
แห่งพระราชา. พระมหาสัตว์ให้ขุดหลุมในที่ที่จะตั้งพระทวารให้ลงม่านล้อมรอบ
เข้าอยู่ในม่านกับอาจารย์. อาจารย์มองดูหลุมพลางทอดอาลัย ไม่ได้ใครเป็นที่
พำนักแก่ตน พึงรำพึงว่า เราเป็นผู้จัดแจงความฉิบหายทั้งนั้น เพราะเรามันโง่
ไม่อาจจะคุ้มครองปากของตนได้ รีบไปบอกแก่อีตัวร้าย ตัวของเราเองนำ
การฆ่ามาให้ตน เมื่อจะสนทนากับพระมหาสัตว์ จึงได้กล่าวคาถาที่ 1 ว่า

ดูก่อนพ่อตักการิยะ ฉันเองเป็นคนโง่เขลา
กล่าวคำชั่วช้าเหมือนกบในป่า ร้องเรียกงูมาให้กินตน
ฉะนั้น ฉันจะตกลงไปในหลุมนี้ ได้ยินมาว่า บุคคลที่
พูดล่วงเลยขอบเขตไม่ดีเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุพฺภาสิตํ ภาสิ ความว่า เราได้กล่าวคำ
อันเป็นทุพภาษิต. บทว่า ภงฺโกว ความว่า เรานั่นแหละย่อมกล่าวแต่คำชั่ว ๆ
เหมือนกบอยู่ในป่าร้องเรียกงูให้มากัดกินคนฉะนั้น. บทว่า ตกฺการิเย ความว่า
คนโง่เรียกเขาซึ่งเพศหญิงอันเป็นชื่อของเขาจึงกล่าวอย่างนั้น.
พระมหาสัตว์ ได้ฟังดังนั้นแล้ว กล่าวคาถาที่ 2 ว่า
บุคคลผู้กล่าวล่วงเลยขอบเขต ย่อมได้ประสบการ
จองจำ การถูกฆ่า ความเศร้าโศกและความร่ำไห้
ข้าแต่ท่านอาจารย์ ชนทั้งหลายจะฝังท่านลงในหลุม
เพราะเหตุใด ท่านต้องติเตียนตัวท่านเอง เพราะ
เหตุนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติเวลภาณี ความว่า คนที่พูดล่วง
เลยขอบเขต คือพูดล่วงประมาณ ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ อธิบายว่า ไม่ดี.
บทว่า โสกปริเทวญฺจ ความว่า ดูก่อนอาจารย์ คนที่พูดล่วงเลยเวลา
อย่างนี้แหละ ย่อมถูกฆ่าและถูกจองจำ ถึงความเศร้าโศก ร่ำไห้ด้วยเสียงเอ็ดอึง
บทว่า ครหาสิ ความว่า ท่านไม่ต้องติเตียนผู้อื่นดอก พึงติเตียนตนเอง.
บทว่า เอตฺโต แปลว่า ในเพราะเหตุนี้. บทว่า อาจริย ตํ ความว่า
อาจารย์ ชนทั้งหลายกำลังจะฝังท่านในหลุมที่ท่านขุดไว้อยู่นั่นแหละ เพราะ
ฉะนั้น ท่านพึงติเตียนตนเองเท่านั้น.

พระมหาสัตว์ครั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ จึงกล่าวต่อไปว่า ท่านอาจารย์
ท่านไม่รักษาวาจา ถึงความทุกข์ผู้เดียวเท่านั้นก็หาไม่ แม้คนพวกอื่น ก็ถึง
ความทุกข์เหมือนกัน แล้วนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้
เล่ากันมาว่า ในกาลก่อน ในกรุงพาราณสี ได้มีหญิงแพศยาคนหนึ่ง
นามว่า กาลี น้องชายของนางชื่อว่า ตุณฑิละ. วันหนึ่ง นางกาลีรับเงิน
1,000 กระษาปณ์. แต่ตุณฑิละ เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา ทั้งเป็นนักเลง
เล่นการพนัน. นางให้ทรัพย์เขา เขาเอาทรัพย์ที่ได้แล้ว ๆ ไปทำลายฉิบหาย
หมด. ถึงนางจะห้ามปรามเขาก็ไม่สามารถที่จะห้ามได้. วันหนึ่งเขาเล่นการพนัน
แพ้ ต้องจำนำผ้านุ่ง เอาเสื่อลำแพนนุ่งมาสู่เรือนของนาง. ก็พวกสาวใช้ของนาง
ต่างได้รับกำชับไว้ว่า เวลาตุณฑิละมาถึง ไม่ต้องให้อะไร จับคอเขาไล่ออก
ไปเสีย. พวกนั้นจึงพากันทำอย่างนั้น. เขาไปยืนร้องไห้อยู่ใกล้ประตู. ลำดับนั้น
ลูกชายของเศรษฐีคนหนึ่ง นำทรัพย์มาให้นางกาลีครั้งละ 1,000 กระษาปณ์
เป็นนิตย์ วันหนึ่งเห็นเขาก็ถามว่า ตุณฑิละเอ๋ย ร้องไห้ทำไม. ตุณฑิละ
ตอบว่า นายจ๋า ผมแพ้การพนันนั้นมาหาพี่สาวของผม พวกสาวใช้เหล่านั้น
มันพากันจับคอผมไล่ออกมา. เขาบอกว่า ถ้าเช่นนั้นรอก่อน ฉันจะช่วยบอก
พี่สาวของแกให้ แล้วก็ไปบอกนางว่า น้องชายของเธอนุ่งเสื่อลำแพนยืนอยู่ที่
ประตู ทำไมเธอถึงไม่ให้ผ้าผ่อนเขาบ้างละ. นางตอบว่า ฉันไม่ให้ละ ถ้าคุณ
มีแก่ใจ คุณก็ให้เขาซิ. ก็ในเรือนหญิงแพศยานั้นมีธรรมเนียมประพฤติติดต่อกัน
มาดังนี้ จากเงิน 1,000 กระษาปณ์ 500 กระษาปณ์เป็นของหญิงแพศยา 500
กระษาปณ์ เป็นมูลค่าของผ้าของหอมและดอกไม้ ชายที่พากันมา นุ่งผ้าที่ได้
ในเรือนนั้นอยู่ตลอดคืน รุ่งขึ้นเมื่อจะไป ก็ผลัดผ้านั้นไว้ นุ่งผ้าที่ตนนำมา
นั้นแลกลับไป เหตุนั้นลูกชายเศรษฐี จึงนุ่งผ้าที่นางให้แล้วให้ของตนแก่ตุณฑิละ

เขานุ่งผ้าแล้วส่งเสียงตวาดตามประสาคนเข้าโรงเหล้า. ฝ่ายนางกาลีเล่า ก็สั่ง
พวกสาวใช้ไว้ว่า พรุ่งนี้เวลาลูกชายเศรษฐีคนนี้จะไป พวกเจ้าจงช่วยกันแย่ง
เอาไว้ พวกนั้นเวลาลูกชายเศรษฐีนั้นออกมา ก็กรูกันเข้าไปราวกับจะปล้น ช่วย
กันดึงเอาผ้าไว้เสียจนเขาต้องเปลือยกายจึงปล่อยว่า ที่นี้ไปได้ละพ่อหนุ่ม เขา
ต้องเดินออกมาทั้งเปลือย ๆ ฉะนั้นคนพากันยิ้มทั่ว เขาละอายรำพึงรำพันว่า
เราทำมันเองทีเดียว เรานั่นแหละไม่สามารถรักษาปากของตนได้ เมื่อจะแสดง
ความข้อนี้ เขาจึงกล่าวคาถาที่ 3 ว่า
เราจะซักถามตุณฑิละ เพื่อประโยชน์อะไรเล่า
นางกาลีซิควรทำกะน้องชายของเขาเอง เราถูกแย่งผ้า
จนเป็นคนเปลือยกาย แม้เรื่องนี้ ก็เหมือนกับเรื่อง
ของท่านเป็นอันมาก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุ ตาทิโสว ความว่า จริงอยู่ แม้
เศรษฐีบุตร ได้รับทุกข์เพราะกรรมที่ตนทำนั้นเอง. เพราะเหตุนั้น แม้ท่าน
ก็เป็นเสมือนเหตุที่เกิดขึ้นแห่งทุกข์นี้ เพราะเหตุมากมาย.
แม้อีกเรื่องหนึ่ง ในกรุงพาราณสี โดยความเลินเล่อของคนเลี้ยงแพะ
ทั้งหลาย เมื่อแพะสองตัวขวิดกันในที่หากิน นกกะลิงตัวหนึ่ง คิดว่า บัดนี้
เองไอ้สองตัวนี้ต้องหัวแตกตาย เราต้องห้ามมันไว้แล้วห้ามว่า ลุงอย่าขวิดกัน
เลยน่ะ เมื่อมันไม่เชื่อถ้อยคำคงขวิดกันอยู่นั่นเอง ก็โดดเกาะที่หลังบ้าง ที่หน้า
บ้าง อ้อนวอนไป เมื่อไม่สามารถจะห้ามได้ ก็พูดว่า ถ้าอย่างนั้น ก็จงฆ่ากู
เสียก่อนแล้วค่อยขวิดกัน โดดเข้าไประหว่างหัวของมันทั้งสอง มันชนกัน
โผงเดียว นกนั้นเหมือนถูกบดในหินบด ถึงความพินาศด้วยเรื่องที่ตนกระทำ
นั้นเอง เมื่อพระมหาสัตว์จะแสดงเหตุแม้อื่นอีกนี้จึงกล่าวคาถาที่ 4 ว่า

นกกะลิงตัวใด มิได้ชนกับเขาเลย เข้าไปจับอยู่
ในระหว่างศีรษะแพะ ทั้งสองซึ่งกำลังขวิดกันอยู่ นก
กะลิงตัวนั้น ก็ถูกศีรษะแพะบดขยี้แล้ว ณ ที่นั่นเอง
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องของท่านเป็นอันมาก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เมณฺฑนฺตรํ แปลว่า ในระหว่างแพะ
ทั้งสอง. บทว่า ปจฺจุปติ ความว่า โดดเข้าไป คือได้ตั้งอยู่ในระหว่าง คือ
ท่ามกลางแห่งศีรษะแพะทั้งสอง. บทว่า ปึสิโต แปลว่า ถูกแพะขวิดเอาแล้ว.
ฝ่ายพวกนายโคบาล ชาวกรุงพาราณสีอีกพวกหนึ่งเห็นต้นตาลเผล็ดผล
ก็ปีนขึ้นต้นหนึ่งเพื่อจะเอาผล. เมื่อกำลังปลิดผลตาลทิ้งลงมา งูเห่าดำตัวหนึ่ง
เลื้อยออกจากจอมปลวกขึ้นต้นตาล. พวกที่ยืนอยู่ข้างล่าง แม้จะช่วยกันเอาไม้
เป็นต้นตี ก็ไม่อาจห้ามมันได้. พวกนั้นจึงร้องบอกคนที่อยู่บนต้นว่า งูเลื้อย
ขึ้นต้นตาล งูเลื้อยขึ้นต้นตาล คนนั้นกลัวร้องเสียงดังลั่น. คนที่อยู่ข้างล่างเอา
ผ้านุ่งที่เหนียวแน่นมาผืนหนึ่ง ถือไว้คนละมุมทั้งสี่มุมแล้วร้องบอกว่า จงโดด
ลงมาในผ้านี้. ผู้นั้นกลั้นใจโดดลงมากลางผืนผ้าระหว่างคนทั้งสี่. ด้วยอำนาจ
การตกของผู้นั้น คนทั้ง 4 นั้นไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ต่างเอาหัวชนกันหัวแตก
ตายหมด.
พระมหาสัตว์เมื่อแสดงเหตุนี้ จึงกล่าวคาถาที่ 5 ว่า
คน 4 คน จะป้องกันคนเดียว ช่วยกันจับชายผ้า
ไว้คนละชาย ก็เหมือนกับเรื่องของท่านเป็นอันมาก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โปฏฺฐกํ แปลว่า ผ้า. บทว่า สพฺเพว เต
ความว่า คนทั้ง 4 คนนั้น ช่วยกันถือผ้าไว้ พากันศีรษะแตกนอนตายแล้ว.

อีกเรื่องหนึ่ง พวกโจรขโมยแพะชาวกรุงพาราณสี ร่วมกันขโมยแพะ
ได้ตัวหนึ่งในเวลากลางคืน คิดกันว่าจักกินในป่าในเวลากลางวัน แล้วช่วยกัน
มัดปากเพื่อไม่ให้มันร้อง แล้วเอาไปซ่อนไว้ในกอไผ่ รุ่งขึ้นชวนกันไปเพื่อจะ
กินมัน ต่างลืมอาวุธพากันไปแล้ว. พวกนั้นพูดกันว่า จักฆ่าแพะย่างเนื้อกิน
เอาอาวุธมาซิ ไม่เห็นอาวุธในมือแม้สักคนหนึ่ง ต่างก็พูดกันว่า ถึงแม้จะ
ปราศจากอาวุธก็ฆ่ามันได้ แต่ก็ไม่อาจแล่เนื้อได้ ปล่อยมันไปเถิดนะ บุญของมัน
ยังมีอยู่ แล้วก็ปล่อยไป. ครั้งนั้น ช่างสานคนหนึ่งถือเอาไม้ไผ่แล้วคิดว่า
จะกลับมาเอาไม้ไผ่อีก จึงซุกมีดตัดไม้ไผ่ไว้ในกองใบไผ่หลีกไป. แพะดีใจว่า
ข้าพ้นตายแล้ว คะนองเล่นอยู่ที่โคนกอไผ่ ดีดด้วยเท้าหลังทำให้มีดนั้นตกลงมา.
พวกโจรได้ยินเสียงมีด ก็ช่วยกันต้นพบมีดนั้นแล้วต่างดีใจ ฆ่าแพะกินเนื้อเสีย
แพะแม้นั้นก็ตายเพราะเรื่องที่ตนกระทำเองด้วยประการฉะนี้ เมื่อจะแสดง
เหตุนี้ จึงกล่าวคาถาที่ 6 ว่า
นางแพะที่ถูกโจรทั้งหลายผูกมัดไว้ในพุ่มกอไผ่
คึกคะนองเอาเท้าหลังดีดไปกระทบมีดตกลงมา พวก
โจรก็เอามีดนั้นเองเชือดคอนางแพะฉันใด แม้เรื่องนี้
ก็เหมือนกับเรื่องของท่านเป็นอันมาก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเวกฺขิปนฺติ ความว่า แพะที่ถูกมัดไว้
ที่กอไผ่เล่นคะนองดีดเท้าหลัง.
ก็แลครั้น กล่าวอย่างนี้แล้ว พระโพธิสัตว์จึงแสดงว่า ธรรมดา ผู้ที่รักษา
ถ้อยคำของตนไว้พูดพอเหมาะ ย่อมพ้นทุกข์ปางตายได้ นำเรื่องกินนรมาเล่า
ดังต่อไปนี้

ได้ยินว่า บุตรพรานชาวกรุงสาวัตถีผู้หนึ่งไปยังป่าหิมพานต์ ใช้อุบาย
อย่างหนึ่งจับกินนรคู่ผัวเมียมาได้ ถวายแด่พระราชา. พระราชาทอดพระเนตร
เห็นกินนร อันมิเคยทอดพระเนตร ทรงพอพระหทัย ตรัสถามว่า พ่อพราน
พวกนี้มีคุณอะไร นายพรานกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกเหล่านี้
ร้องเพลงไพเราะ ฟ้อนรำยวนใจ พวกมนุษย์ไม่รู้ที่จะร้องรำได้อย่างนี้เลย
พระเจ้าข้า. พระราชาประทานทรัพย์เป็นอันมากแก่นายพราน แล้วตรัสกะ
กินนรทั้งคู่ว่า ร้องรำไปซิ กินนรทั้งคู่คิดกันว่า ถ้าเราจะร้องเพลงคงไม่อาจ
ทำพยัญชนะให้บริบูรณ์ได้ การจับผิดก็จะมี ฝูงคนต้องติเตียนเรา ต้องฆ่าเรา
อนึ่ง เมื่อเรากล่าวมากไป ก็จะเป็นมุสาวาทได้ เพราะเกรงมุสาวาท แม้จะถูก
พระราชาตรัสซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ไม่ยอมร้องรำ พระราชาทรงกริ้ว เมื่อจะทรง
สั่งให้ฆ่าเสียเอาเนื้อย่างมาถวาย จึงตรัสพระคาถาที่ 7 ว่า
พวกนี้มิใช่เทวดา มิใช่บุตรคนธรรพ์ พวกนี้เป็น
เนื้อ พวกนี้ถูกนำมาด้วยอำนาจประโยชน์ เจ้าทั้งหลาย
จงย่างมันตัวหนึ่ง สำหรับอาหารมื้อเย็น อีกตัวหนึ่ง
สำหรับอาหารมื้อเช้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิคา อิเม ความว่า ถ้าพวกเหล่านี้
เป็นเทวดา หรือคนธรรพ์ไซร้ พึงฟ้อนและพึงขับร้องได้ แต่พวกนี้เป็นเนื้อ
เป็นสัตว์เดียรัจฉาน. บทว่า อตฺถวสาภตา อิเม ความว่า พวกนี้ถูกนำ
มาสู่เงื้อมมือของเราด้วยอำนาจแห่งประโยชน์ เพราะถูกพรานผู้หวังประโยชน์
นำมา ในบรรดามันเหล่านั้น สูทั้งหลายจงย่างมันตัวหนึ่งในอาหารมื้อเย็น
อีกตัวหนึ่งในอาหารมื้อเช้าเถิด.
กินรีดำริว่า พระราชากริ้วแล้ว คงจักให้ฆ่าเสียโดยไม่ต้องสงสัย
บัดนี้ เป็นเวลาที่ต้องพูดกันละ จึงกล่าวคาถาต่อไปว่า

คำทุพภาษิตทั้งแสนคำ ก็ไม่ถึงแม้ส่วนเสี้ยวของ
คำสุภาษิต กินนรรังเกียจคำทุพภาษิตจึงเศร้าหมอง
เพราะเหตุนั้น กินนรจึงนิ่งเฉยเสีย ไม่ใช่นิ่งเฉยเพราะ
ความโง่เขลา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺกมโน กิเลโส ความว่า บางคราว
เราเมื่อพูดก็พูดคำอันเป็นทุพภาษิต กินนร เมื่อรังเกียจคำทุพภาษิตย่อมเศร้า-
หมองคือย่อมลำบากด้วยประการฉะนี้. บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะ
เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ขับร้องให้แก่ท่าน หาใช่ขับเพราะความโง่ไม่.
พระราชาทรงโปรดกินรี จึงตรัสพระคาถาต่อไปว่า
กินรีตัวนี้กล่าวแก้เราได้แล้ว เจ้าทั้งหลายจง
ปล่อยกินรีตัวนั้นไป อนึ่ง จงนำไปส่งให้ถึงเขา
หิมพานต์ ส่วนกินนรตัวนี้ เจ้าทั้งหลาย จงส่งไปให้
โรงครัวใหญ่ จงย่างมันสำหรับอาหารเช้า แต่เช้า
ทีเดียว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยา เมสา แก้เป็น ยา เมเอสา. บทว่า
เทนฺตุ ความว่า จงให้เพื่อประโยชน์โรงครัวใหญ่.
กินนรฟังพระดำรัสของพระราชาแล้วคิดว่า ท้าวเธอนี้คงให้ฆ่าเรา
ผู้ไม่กล่าวเสียเป็นแน่ บัดนี้เราควรจะพูด ดังนี้ แล้วจึงกล่าวคาถาต่อไปว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า ฝูงปศุสัตว์พากันพึ่งฝน
ประชาชนนี้เล่าพากันพึ่งปศุสัตว์ พระองค์ทรงเป็นที่
พึ่งแก่ข้าพระบาท ภรรยาก็พึ่งข้าพระองค์ บรรดา
ข้าพระบาททั้งคู่ ตัวหนึ่งรู้ว่าอีกตัวหนึ่งตายแล้ว ตน
เองพ้นแล้วจากความตาย จึงจะไปสู่ภูผาได้พระเจ้าข้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปชฺชุนฺนนาถา ความว่า สัตว์เลี้ยงมีหญ้า
เป็นอาหาร ชื่อว่ามีเมฆฝนเป็นที่พึ่ง. บทว่า ปสุนาถา อยํ ปชา ความว่า
ประชาคือมนุษย์นี้ อาศัยโครส 5 ชื่อว่าผู้มีปศุสัตว์เป็นที่พึ่งเป็นหลักอาศัย. บทว่า
ตฺวํ นาโถสิ ความว่า พระองค์เป็นที่พึ่งของข้าพระองค์. บทว่า อมฺหนาถา
มม ภริยา
ความว่า ข้าพระองค์ก็เป็นที่พึ่งของภรรยานั้น. บทว่า ทวินฺนมญฺญ-
ตรํ ญตฺวา มุตฺโต คจฺเฉยฺย ปพฺพตํ
ความว่า ในระหว่างข้าพระองค์
ทั้งคู่ ตัวหนึ่งต้องรู้ว่าตัวหนึ่งตายแล้ว ตนเองรอดตายแล้ว จึงไปสู่หิมพานต์
ภายหลัง คือเมื่อข้าพระองค์ทั้งคู่ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมไม่ทอดทิ้งกัน เพราะฉะนั้น
แม้มาตรว่าพระองค์ทรงประสงค์จะส่งกินรีนี้ไปสู่หิมพานต์ โปรดฆ่าข้าพระองค์
เสียก่อนส่งนางไปภายหลัง.
ก็แล กินนรครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงว่า ข้าแต่พระ-
มหาราชเจ้า ข้าพระบาททั้งสอง ใช่จะนิ่งเสียเพราะปรารถนาจะขัดพระดำรัส
ของพระองค์ก็หามิได้ แต่เพราะเห็นโทษของการพูดมาก จึงมิได้กราบทูลสนอง
พระบัญชา กล่าวคาถา 2 คาถานี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน ความนินทา
ทั้งหลายมิใช่จะหลีกให้พ้นไปโดยง่ายเลย ชนทั้งหลาย
มีฉันทะต่าง ๆ กัน ซึ่งควรจะส้องเสพ คนหนึ่งได้รับ
การสรรเสริญด้วยธรรมข้อใด คนอื่นได้ความนินทา
ด้วยคุณธรรมข้อนั้นเอง.
โลกทั้งปวงมีจิตยิ่งด้วยจิตของคนอื่น โลกทั้งปวง
ชื่อว่า มีจิตในจิตของตน สัตว์ทั้งปวงที่เป็นปุถุชน
ต่างก็มีจิตใจต่างกัน สัตว์ทั้งปวงในโลกนี้ ไม่พึงเป็น
ไปในอำนาจแห่งจิตของใคร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุปริวชฺชยาถ ความว่า ข้าแต่พระ-
มหาราชเจ้า ชื่อว่า นินทา ใคร ๆ ไม่สามารถจะหลีกเสียได้ง่ายเลย. บทว่า
นานา ชนา ความว่า ฝูงชนมีความพอใจต่าง ๆ กัน. บทว่า เยนว
ความว่า คนหนึ่งได้รับยกย่องด้วยคุณมีศีลเป็นต้น อันใด ด้วยคุณข้อนั้น แหละ
คนอื่นได้รับความนินทา ความจริง เพราะกล่าวในฝูงกินนรข้าพระองค์ย่อมได้
ความยกย่อง เพราะไม่กล่าวในหมู่มนุษย์ ย่อมได้ความนินทา ด้วยอาการ
อย่างนี้ ขึ้นชื่อว่านินทา ย่อมเป็นสิ่งหลีกได้ยาก ข้าพระองค์นั้นคิดว่า เราจัก
ได้ความยกย่องจากสำนักพระองค์อย่างไรเล่า. บทว่า สพฺโพ โลโก ปรจิ-
ตฺเตน อติจิตฺโต
ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ธรรมดาอสัตบุรุษมีจิตยิ่ง
ด้วยจิตมีการฆ่าสัตว์เป็นต้นสัตบุรุษมีจิตยิ่งด้วยจิตมีเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เป็นต้น ชาวโลกทั้งมวล ย่อมมีจิตยิ่งด้วยจิตของคนอื่น ด้วยประการดังนี้.
บทว่า จิตฺตวาสมฺหิ จิตฺเต ความว่า ก็ชาวโลกทั้งมวล ชื่อว่า มีจิตด้วยจิต
ของตนทั้งทรามหรือประณีต. บทว่า ปจฺเจกจิตฺตา ความว่า สัตว์ทั้งหมด
มากประเภทต่างคนต่างมีจิตใจเฉพาะตน ในบรรดาสรรพสัตว์เหล่านั้น กินรี
ก็ดี อย่างข้าพระองค์ก็ดี คนอื่นก็ดี ไม่น่าประพฤติไปในความคิดอ่านของ
ใคร ๆ สักคนหนึ่ง จะเป็นของพระองค์หรือของผู้อื่นก็ตามที เพราะเหตุนั้น
พระองค์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์ว่า ผู้นี้ไม่ประพฤติเป็นไปในอำนาจจิตของ
เรา ด้วยสรรพสัตว์ย่อมไม่ลุอำนาจจิตของตนไปได้พระเจ้าข้า กินนรแสดง
ธรรมแก่พระราชาด้วยประการฉะนี้.
พระราชาทรงโสมนัสว่า กินนรนี้เป็นบัณฑิตกล่าวถูกต้องทีเดียวจึง
ตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า
กินนรพร้อมด้วยกันรีผู้ภรรยา เป็นผู้นิ่งไม่พูด
เป็นผู้กลัวภัย ได้กล่าวแก้แล้วในบัดนี้ กินนรนั้นชื่อว่า
พ้นแล้วในบัดนี้ เป็นผู้มีความสุขหาโรคมิได้ เพราะว่า
การเปล่งวาจาดีนำมาซึ่งประโยชน์แก่นรชนทั้งหลาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาจา คิเรวตฺถวตี นรานํ ความว่า
วาจา คือคำที่ควรเปล่งย่อมมีประประโยชน์ คือนำมาซึ่งประโยชน์แก่สัตว์
เหล่านั้น.
พระราชารับสั่งให้กินนรทั้งคู่จับอยู่ในกรงทอง รับสั่งให้หาพรานคน
นั้น และให้ปล่อยด้วยพระดำรัสว่า เจ้าจงไป ปล่อยกินนรคู่นี้ ณ ที่ที่จับได้
นั้นเถิด. .
ฝ่ายพระมหาสัตว์กล่าวว่า ท่านอาจารย์ ดูเถิด กินนรทั้งคู่รักษาวาจา
ไว้อย่างนี้ เมื่อถึงคราวตายก็รอดตายได้ด้วยสุภาษิตที่ตนกล่าวนั้นเอง ส่วนท่าน
ถึงทุกข์ใหญ่หลวง เพราะพูดชั่ว ครั้นแสดงอุทาหรณ์นี้แล้ว ก็ปลอบว่า ท่าน
อาจารย์อย่ากลัวเลย ผมจักให้ชีวิตแก่ท่าน เมื่อเขาพูดว่า ก็อีกอย่างหนึ่งเล่า พ่อ
คุณช่วยคุ้มครองฉันเถิด ก็บอกว่า ยังไม่ได้ฤกษ์ก่อนครับ รั้งรอจนตลอดวันนั้น
ในระหว่างใกล้มัชฌิมยาม จึงให้คนเอาแพะตายมาแล้วพูดว่า ท่านพราหมณ์เชิญ
ไปทำมาหากินเสียที่ไหน ๆ เถิด ไม่ให้ใคร ๆ รู้เลย ปล่อยพราหมณ์ไปเอา
เนื้อแพะทำพลีกรรมตั้งพระทวาร.
พระศาสดา ครั้นทรงนำธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่โกกาลิกะถูกวาจากำจัดตนเสีย แม้ใน
ครั้งก่อนก็ถูกกำจัดแล้วเหมือนกัน ทรงประชุมชาดกว่า พราหมณ์
เขี้ยวงอกตาเหลือง ในครั้งนั้นได้มาเป็นโกกาลิกะ ส่วนตักการิยบัณฑิต
คือ เราตถาคตแล.
จบอรรถกถาตักการิยชาดก

9. รุรุมิคชาดก



ว่าด้วยน้ำใจของพญาเนื้อรุรุ


[1839] ใครบอกมฤค ซึ่งสูงสุดกว่ามฤคทั้งหลาย
นั้นแก่เราได้ เราจะให้บ้านส่วยและหญิงที่ประดับ
ประดาแล้วแก่ผู้นั้น.

[1840] ขอได้โปรดพระราชทานบ้านส่วย และ
หญิงที่ประดับประดาแล้วแก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระ-
องค์ จะกราบทูลมฤคซึ่งสูงสุดกว่ามฤคทั้งหลายแก่
พระองค์.

[1841] ณ ไพรสณฑ์นั้น มีต้นมะม่วงและต้น
รังทั้งหลาย ดอกบานสะพรั่ง พื้นที่แห่งไพรสณฑ์นั้น
ดารดาษไปด้วยติณชาติมีสีเหมือนแมลงค่อมทอง มฤค
ตัวนั้นอยู่ที่ไพรสณฑ์นั้น.

[1842] พระเจ้าพาราณสี ทรงโก่งธนูสอดใส่
ลูกศรไว้ เสด็จเข้าไปแล้ว ส่วนมฤคเห็นพระราชาแล้ว
ได้ร้องกราบทูลไปแต่ไกลว่า ข้าแต่พระมหาราชาผู้ประ-
เสริฐ โปรดทรงรอก่อน อย่าเพิ่งทรงยิงข้าพระบาท
เสียเลย ใครหนอได้กราบทูลความเรื่องนี้แก่พระองค์ว่า
มฤคตัวนี้อยู่ ณ ไพรสณฑ์นี้.