เมนู

10. มิตตมิตตชาดก



ว่าด้วยลักษณะของผู้เป็นมิตรและมิใช่มิตร


[1713] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา ได้เห็นและ
ได้ฟังซึ่งบุคคลผู้ทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่าผู้นี้ไม่
ใช่มิตร วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่า
ผู้นี้ไม่ใช่มิตร.

[1714] บุคคลผู้มิใช่มิตรเห็นเพื่อนแล้ว ไม่
ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อนไม่แลดูเพื่อน
กล่าวคำย้อนเพื่อน.

[1715] บุคคลผู้มิใช่มิตร คบหาศัตรูของเพื่อน
ไม่คบหามิตรของเพื่อน ห้ามผู้ที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน
สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน.

[1716] บุคคลผู้มิใช่มิตร ไม่บอกความลับแก่
เพื่อนไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ไม่สรรเสริญ
การงานของเพื่อน ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน.

[1717] บุคคลผู้มิใช่มิตร ยินดีในความฉิบหาย
ของเพื่อน ไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน ได้อาหาร
ที่ดีมีรสอร่อยมาแล้ว ก็มิได้นึกถึงเพื่อน ไม่ยินดี
อนุเคราะห์เพื่อนว่า อย่างไรหนอ เพื่อนของเราพึงได้
ลาภจากที่นี้บ้าง.

[1718] บัณฑิตได้เห็นและได้ฟังแล้วพึงรู้ว่า
ไม่ใช่มิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา 16
ประการนี้มีอยู่ในบุคคลผู้มิใช่มิตร.

[1719] บัณฑิตมีปัญญา ได้เห็นและได้ฟัง
บุคคลผู้กระทำกรรมอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่าผู้นี้เป็นมิตร
วิญญูชนจะพึงพยายามอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่าผู้นี้เป็น
มิตร.

[1720] บุคคลผู้เป็นมิตรนั้น ย่อมระลึกถึง
เพื่อนผู้อยู่ห่างไกล ย่อมยินดีต้อนรับเพื่อนผู้มาหา
ถือว่าเป็นเพื่อนของเราจริง รักใคร่จริงทักทายปราศรัย
ด้วยวาจาอันไพเราะ.

[1721] คนที่เป็นมิตรย่อมคบหาผู้ที่เป็นมิตร
ของเพื่อน ไม่คบหาผู้ที่ไม่ใช่มิตรของเพื่อน ห้ามปราม
ผู้ที่ด่าติเตียนเพื่อน สรรเสริญผู้ที่พรรณนาคุณความดี
ของเพื่อน.

[1722] คนที่เป็นมิตร ย่อมบอกความลับแก่
เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน สรรเสริญการงานของ
เพื่อน สรรเสริญปัญญาของเพื่อน.

[1723] คนที่เป็นมิตรย่อมยินดีในความเจริญ
ของเพื่อน ไม่ยินดีในความเสื่อมของเพื่อน ได้อาหาร
มีรสอร่อยย่อมระลึกถึงเพื่อน ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่า
อย่างไรหนอ เพื่อนของเราจะพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง.

[1724] บัณฑิตได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว พึงรู้
ว่าเป็นมิตรด้วยอาการเหล่าใด อาการดังกล่าวมา 16
ประการนี้ มีอยู่ในบุคคลผู้เป็นมิตร.

จบมิตตามิตตชาดกที่ 10
จบทวาทสนิบาต

อรรถกถามิตตามิตตชาดก


พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
พระปรารภอำมาตย์ผู้ประพฤติประโยชน์ของพระเจ้าโกศล ตรัสพระ-
ธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กานิ กมฺมานิ กุพฺพานํ ดังนี้.
ได้ยินว่า อำมาตย์ผู้นั้นได้มีอุปการะแด่พระราชาเป็นอันมาก พระราชา
ก็ได้ประทานสักการสัมมานะแก่เขาอย่างเหลือเฟือ พวกอำมาตย์ที่เหลือทนดู
อยู่ไม่ได้ จึงพากันทูลยุยงว่า ข้าแต่พระองค์ อำมาตย์คนโน้นจะทำความพินาศ
แก่พระองค์ พระราชาทรงกำหนดพิจารณาดูอำมาตย์นั้น ก็ไม่เห็นโทษอะไร ๆ
ทรงพระดำริว่า เราไม่เห็นโทษอะไร ๆ ของอำมาตย์นี้ ทำอย่างไรหนอ เราจึง
จะสามารถรู้ว่า อำมาตย์นี้เป็นมิตรหรือมิใช่มิตร ทรงคิดได้ว่า เว้นพระตถาคต
เสียแล้ว คนอื่นไม่สามารถรู้ปัญหานี้ได้ เราจักไปทูลถาม พอเสวยพระกระ-
ยาหารเช้าเสร็จแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ทำอย่างไรหนอ คนเราจึงจะสามารถรู้ว่า ใครเป็นมิตรหรือมิใช่มิตรของตน.