เมนู

9. มหาปทุมชาดก



ว่าด้วยมหาปทุมกุมาร



[1698] พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินไม่เห็น
โทษของผู้อื่นว่าน้อยหรือมากโดยประการทั้งปวงไม่
พิจารณาด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว ไม่พึงลงอาชญา.

[1699] กษัตริย์พระองค์ใด ยังไม่ทันพิจารณา
แล้ว ทรงลงพระราชอาชญา กษัตริย์พระองค์นั้นชื่อว่า
ย่อมกลืนกินพระกระยาหารพร้อมด้วยหนาม เหมือน
คนตาบอดกลืนกินอาหารพร้อมด้วยแมลงวัน ฉะนั้น.

[1700] กษัตริย์พระองค์ใด ทรงลงพระราช-
อาชญากับผู้ไม่ควรจะลงพระราชอาญา ไม่ทรงลง
พระราชอาชญากับผู้ที่ควรลงพระราชอาญา กษัตริย์
พระองค์นั้น เป็นเหมือนคนเดินทางไม่ราบเรียบ ไม่
รู้ว่าทางเรียบหรือไม่เรียบ.

[1701] กษัตริย์พระองค์ใด ทรงเห็นเหตุที่
ควรลงอาชญา และไม่ควรลงพระราชอาชญาและทรง
เห็นเหตุนั้น โดยประการทั้งปวงเป็นอย่างดีแล้ว ทรง
ปกครองบ้านเมือง กษัตริย์พระองค์นั้นสมควรปกครอง
ราชสมบัติ.

[1702] กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อนโยนโดยส่วน-
เดียว หรือมีพระทัยกล้าโดยส่วนเดียว ก็ไม่อาจที่จะ
ดำรงพระองค์ไว้ในอิสริยยศที่สูงใหญ่ได้เพราะเหตุนั้น
กษัตริย์ไม่พึงประพฤติเหตุทั้งสอง คือพระทัยอ่อน
เกินไปและกล้าเกินไป.

[1703] กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อน ก็ถูกประชา-
ราฏร์ดูหมิ่น กษัตริย์ผู้มีพระทัยแข็งนักก็มีเวร กษัตริย์
ควรทราบเหตุทั้งสองอย่างแล้วประพฤติเป็นกลาง ๆ.

[1704] ข้าแต่พระราชา คนมีราคะย่อมพูดมาก
แม้คนมีโทสะก็พูดมาก พระองค์ไม่ควรจะให้ปลง
พระชนม์พระราชโอรส เพราะเหตุแห่งหญิงเลย.

[1705] ด้วยเหตุไป ประชาชนทั้งหมดจึงร่วม
กันเป็นพวกพ้องของเจ้าปทุมกุมาร ส่วนพระมเหสีนี้
พระองค์เดียวเท่านั้นไม่มีพวกพ้อง ด้วยเหตุนั้น เราจัก
ปฏิบัติตามคำของพระมเหสี ท่านทั้งหลายจงไป จง
โยนเจ้าปทุมกุมารลงไปในเหวทีเดียว.

[1706] ท่านเป็นผู้อันเราให้โยนลงในเหวอัน
ลึกหลายชั่วลำตาลเหมือนนรกยากที่จะขึ้นได้ เหตุไร
ท่านจึงไม่ตายอยู่ในเหวนั้น.

[1707] พญานาคผู้มีกำลังเรี่ยวแรงเกิดที่ข้าง
ภูเขา รับอาตมภาพในที่นั้นด้วยขนดหาง เพราะเหตุนั้น
อาตมภาพจึงมิได้ตายในที่นั้น.

[1708] ดูก่อนพระราชบุตร มาเถิด เราจักนำเจ้า
กลับไปสู่พระราชวัง จะให้เจ้าครอบครองราชสมบัติ
ขอความเจริญจงมีแก่เจ้าเถิด เจ้าจักมาทำอะไรอยู่ใน
ป่าเล่า.

[1709] บุรุษกลืนกินเบ็ดแล้วปลดเบ็ดที่เปื้อน
โลหิตออกได้ แล้วพึงมีความสุข ฉันใด อาตมภาพ
มองเห็นด้วยตนเอง ฉันนั้น.

[1710] เจ้ากล่าวอะไรหนอว่าเป็นเบ็ดเจ้ากล่าว
อะไรหนอว่าเบ็ดเปื้อนโลหิต เจ้ากล่าวอะไรหนอว่าปลด
ออกได้ เราถามแล้วขอเจ้าจงบอกความข้อนั้นแก่เรา.

[1711] ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพกล่าวกาม-
คุณว่าเป็นเบ็ด กล่าวช้างและม้าว่าเบ็ดเปื้อนโลหิต
กล่าวถึงการสละได้ว่าปลดออกได้ ขอมหาบพิตรจง
ทรงทราบอย่างนี้เถิด.

[1712] พระราชมารดา (แม่เลี้ยง) ของเรา คือ
นางจิญจมานวิกา พระราชบิดาของเรา คือ พระเทวทัต
พญานาคผู้บัณฑิตคือ พระอานนท์ เทวดา คือ พระ
สารีบุตร พระราชบุตรในกาลนั้น คือ เราตถาคต
ท่านทั้งหลายจงจำชาดกไว้อย่างนี้เถิด.

จบมหาปทุมชาดกที่ 9

อรรถกถามหาปทุมชาดก



พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงพระปรารภ
นางจิญจมาณวิกา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นาทิฏฺฐา ปรโต
โทสํ
ดังนี้.
ความพิสดารว่า ครั้งปฐมโพธิกาล เมื่อพระสาวกของพระทศพลมี
มากขึ้น เทวดาและมนุษย์หยั่งลงสู่อริยภูมิหาประมาณไม่ได้ คุณสมุทัยของ
พระศาสดาได้แผ่ไปทั่ว ลาภสักการะได้เกิดขึ้นมามากมาย พวกเดียรถีย์เสื่อม
ลาภสักการะ เหมือนหิ่งห้อยเวลาพระอาทิตย์ขึ้น จึงพากันเที่ยวยืนในระหว่าง
ถนน ชักชวนคนทั้งหลายอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นพระพุทธเจ้าผู้เดียว
เมื่อไร แม้พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้า ทานที่ถวายพระสมณโคดมมีผลมาก
แม้ที่ถวายแก่พวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลายจงทำทานแก่พวก
เราบ้าง ดังนี้ ก็ไม่ได้ลาภสักการะ จึงประชุมลับหารือกันว่า พวกเราใช้อุบาย
อย่างไรดีหนอ จึงจะสร้างความผิดของพระสมณโคดมขึ้นในหมู่มนุษย์ แล้ว
ทำลาภสักการะให้ฉิบหายได้.
ครั้งนั้น ในพระนครสาวัตถี มีนางปริพาชิกาคนหนึ่ง ชื่อจิญจมาณ-
วิกา
มีรูปร่างงามเลิศดุจเทพอัปสร มีรัศมีซ่านออกจากร่างของนาง เดียรถีย์
คนหนึ่งมีความคิดกล้า ได้กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราพึงอาศัยนางจิญจมาณวิกา
สร้างความผิดขึ้นแก่พระสมณโคดม ทำลาภสักการะให้ฉิบหาย พวกเดียรถีย์
ต่างรับว่าอุบายของท่านเข้าที ครั้งนั้นนางจิญจมาณวิกามาสู่อารามเดียรถีย์ ไหว้
แล้วยืนอยู่ พวกเดียรถีย์มิได้พูดกับนาง นางจึงคิดว่า เรามีความผิดอย่างไรหนอ
แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ดิฉันไหว้ ดังนี้ถึงสามครั้ง แล้ว