เมนู

5. ชนสันธชาดก



ว่าด้วยเหตุที่ทำจิตให้เดือดร้อน


[1649] พระเจ้าชนสันธะได้ตรัสอย่างนี้ว่า
เหตุที่จะทำให้จิตเดือดร้อนนั้นมีอยู่ 10 ประการ บุคคล
ไม่กระทำเสียในกาลก่อนแล้ว ย่อมเดือดร้อนใน
ภายหลัง.

[1640] บุคคลเมื่อยังเป็นหนุ่ม ไม่ทำความ
พยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น ครั้นแก่ลงหาทรัพย์ไม่ได้
ย่อมเดือดร้อนภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหา
ทรัพย์ไว้.

[1651] ศิลปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้
ศึกษาไว้ในกาลก่อน บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนใน
ภายหลังว่า เราไม่ได้ศึกษาศิลปะไว้ก่อน ผู้ไม่มีศิลปะ
ย่อมเลี้ยงชีพลำบาก.

[1652] ผู้ใดเป็นคนโกง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน
ในภายหลังว่า เราเป็นคนโง่ ส่อเสียด กินสินบน
ดุร้าย หยาบคาย ในกาลก่อน.

[1653] ผู้ใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน
ในภายหลังว่า เราเป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้าทุศีล
ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติ เมตตาและเอ็นดูสัตว์
ในกาลก่อน.

[1654] ผู้ใดคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อน
ในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหนมีอยู่เป็นอัน
มาก ไม่ควรที่เราจะคบหาภรรยาผู้อื่นเลย.

[1655] คนตระหนี่ ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
ว่าเมื่อก่อน ข้าวและน้ำของเรามีอยู่มากมาย เราก็มิได้
ให้ทานเลย.

[1656] ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อน
ในภายหลังว่า เราสามารถพอที่จะเลี้ยงดูมารดาและ
บิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ ก็มิได้เลี้ยงดูท่าน.

[1657] ผู้ไม่ทำตามโอวาทบิดา ย่อมเดือดร้อน
ในภายหลังว่า เราได้ดูหมิ่นบิดาผู้เป็นอาจารย์สั่งสอน
ผู้นำรสที่ต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดู.

[1658] ผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อม
เดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนเรามิได้ไปมาหาสู่
สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีศีล เป็นพหูสูตเลย.

[1659] ผู้ใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้า
ไปนั่งใกล้สัตบุรุษ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า
สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และสัตบุรุษอันเราไปมา
หาสู่แล้ว ย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้
ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย.

[1660] ผู้ใดย่อมปฏิบัติเหตุเหล่านี้โดยอุบายอัน
แยบคาย ผู้นั้นเมื่อกระทำกิจที่บุรุษควรทำ ย่อมไม่
เดือดร้อนใจในภายหลังเลย.

จบชนสันธชาดกที่ 5

อรรถกถาชนสันธชาดก



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร มีพระพุทธ-
ประสงค์จะประทานโอวาทแก่พระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า ทส ขลุมานิ ฐานานิ ดังนี้.
ความพิสดารว่า ในกาลครั้งหนึ่ง พระเจ้าโกศลทรงมัวเมาด้วยอิส-
ริยยศหมกมุ่นอยู่ในความสุขที่เกิดแต่กิเลส ไม่ปรารถนาจะตัดสินคดี แม้การ
บำรุงพระพุทธเจ้า ก็ทรงลืมเสีย วันหนึ่ง พระองค์ทรงระลึกถึงพระทศพล
ทรงดำริว่า จักถวายบังคมพระศาสดา พอเสวยกระยาหารเช้าแล้ว เสด็จขึ้น
พระราชยานไปพระวิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้วประทับนั่ง ลำดับนั้น
พระศาสดาตรัสกะพระราชาว่า มหาบพิตร นานมาแล้ว พระองค์มิได้เสด็จมา
เพราะเหตุไร พระเจ้าโกศลทูลว่า เพราะข้าพระองค์มีราชกิจมากพระเจ้าข้า
ไม่มีโอกาสที่จะมาเฝ้าพระองค์ ตรัสว่า มหาบพิตร เมื่อพระพุทธเจ้าผู้สัพพัญญู
ผู้ให้โอวาทเช่นเรา อยู่ในวิหารที่ใกล้ ไม่ควรที่พระองค์จะประมาท วิสัย
พระราชาต้องไม่ประมาทในราชกิจทั้งหลาย ดำรงพระองค์เสมอด้วยมารดาบิดา
ของชาวแว่นแคว้น ละอคติเสียครองราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรมจึงจะควร
เพราะเมื่อพระราชาประพฤติธรรม แม้บริษัทของพระองค์ก็ประพฤติธรรม ข้อที่
เมื่อเราตถาคตสั่งสอนอยู่ พระองค์ครองราชสมบัติโดยธรรม นั้นไม่น่าอัศจรรย์
โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย แม้ไม่มีอาจารย์สั่งสอน ก็ยังตั้งอยู่ในสุจริตธรรม
สามประการ แสดงธรรมแก่มหาชน ตามความรู้ของตน พาบริษัทไปสวรรค์
ได้ พระเจ้าโกศลทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว พระพุทธองค์ทรงนำอดีตนิทาน
มาตรัสเล่า ดังต่อไปนี้