เมนู

3. มหาสุวราชชาดก



ว่าด้วยสหายย่อมไม่ละทิ้งสหาย



[1226] เมื่อใด ต้นไม้มีผลบริบูรณ์ เมื่อนั้น ฝูง
วิหคทั้งหลาย ย่อมพากันมามั่วสุมบริโภคผลไม้
ต้นนั้น แต่โดยรู้ว่าต้นไม้สิ้นแล้ว ผลวายแล้ว
ฝูงวิหคทั้งหลายก็พากันจากต้นไม้นั้นบินไปสู่
ทิศน้อยทิศใหญ่.
[1227] ดูก่อนนกแขกเต้าผู้มีจะงอยปากแดง
ท่านจงไปยังที่ที่ควรไปเถิด อย่าได้มาตายเสีย
เลย เหตุไรท่านจึงซบเซาอยู่ที่ต้นไม้แห้ง ดูก่อน
นกแขกเต้า ผู้มีขนเขียวดุจไพรสณฑ์ในฤดูฝน
เชิญเถิด ขอท่านจงบอกเรื่องนั้น เหตุไรท่าน
จึงทิ้งต้นไม้แห้งไม่ได้.
[1228] ข้าแต่พระยาหงส์ ชนเหล่าใดแลเป็น
เพื่อนของพวกเพื่อน ในคราวร่วมสุขทุกข์จน
ตลอดชีวิต ชนเหล่านั้นเป็นสัตบุรุษ ระลึกถึง

ธรรมของสัตบุรุษอยู่ ย่อมละทิ้งเพื่อนผู้สิ้น
ทรัพย์หรือยังไม่สิ้นทรัพย์ไปไม่ได้เลย.
[1229] ข้าแต่พญาหงส์ เราก็เป็นผู้หนึ่งใน
บรรดาสัตบุรุษ ต้นไม้นี้เป็นทั้งญาติเป็นทิ้ง
เพื่อนของเรา เราต้องการเพียงเพื่อเป็นอยู่ จึง
ไม่อาจละทิ้งต้นไม้นั้นไปได้ ก็การที่จะละทิ้ง
ไปเพราะได้ทราบว่า ต้นไม้นี้สิ้นผลแล้ว ดังนี้
นี่ไม่ยุติธรรม.
[1230] ความเป็นเพื่อน ความไมตรี ความสนิท
สนมกัน ท่านได้ทำไว้เป็นพยานดีแล้ว ถ้าท่าน
ชอบใจธรรมนั้น ท่านก็เป็นผู้ควรที่วิญญูชน
ทั้งหลายพึงสรรเสริญ.
[1231] ดูก่อนพญานกแขกเต้า ผู้ชาติวิหคมีปีก
เป็นยาน มีคอโค้งเป็นสง่า เรานั้นจะให้พรแก่
ท่าน ท่านจงเลือกเอาพร ตามที่ใจปรารถนา
เถิด.

[1232 ] ข้าแต่พญาหงส์ ถ้าท่านจะให้พรแก่
ข้าพเจ้าไซร้ ก็ขอให้ต้นไม้นี้พึงได้มีอายุต่อไป
ต้นไม้นั้นจงมีกิ่ง มีผลงอกงามดี มีผลมีรส
หวานเหมือนน้ำผึ้ง ตั้งอยู่อย่างสง่างามเถิด.
[1233] ดูก่อนสหาย ท่านจงดูต้นไม้นั้น ซึ่งมี
ผลมากมาย ขอให้ท่านจงอยู่ร่วมกับต้นมะเดื่อ
ของท่าน ขอให้ต้นมะเดื่อนั้นจงมีกิ่งก้าน มีผล
งอกงามดี มีผลมีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง ตั้งอยู่
อย่างสง่างามเถิด.
[1233] ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้พระองค์ทรง
พระเจริญสุข พร้อมกับพระญาติทั้งปวง เหมือน
ข้าพระบาท มีความสุขเพราะได้เห็นต้นไม้
ผลิตผลในวันนี้ ฉะนั้นเถิด.
[1234] ท้าวสักกเทวราชประทานพร แก่พญา-
นกแขกเต้า ทำต้นไม้ให้มีผลแล้ว พาพระ-
มเหสีเสด็จกลับเทพนันทนวัน.

จบ มหาสุวราชชาดกที่ 3

อรรถกถามหาสุวราชชาดกที่ 3



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทุโม ยถา โหติ ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระศาสดา
แล้วไปอยู่ในป่าอาศัยบ้านชายแดนตำบลหนึ่ง ในแคว้นโกศลชนบท
พวกมนุษย์ช่วยกันปลูกสร้างที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันเป็นต้น แล้ว
ทำเสนาสนะในที่เดินไปมาถวายภิกษุนั้น บำรุงภิกษุนั้น โดยเคารพ
เมื่อภิกษุนั้นจำพรรษา เดือนแรกเกิดเพลิงไหม้บ้านนั้นขึ้น แม้สักว่า
พืชของพวกมนุษย์ก็ไม่มีเหลือ เขาจึงไม่อาจถวายบิณฑบาตที่ประณีต
แก่ภิกษุนั้นได้ เธอแม้จะอยู่ในเสนาสนะที่สบาย แต่ลำบากด้วยบิณฑบาต
จึงไม่สามารถจะให้มรรคหรือผลเกิดขึ้นได้ ครั้นกาลล่วงไปได้สามเดือน
เธอมาเฝ้าพระศาสดา พระองค์ทรงทำปฏิสันถาร แล้วตรัสถามว่า
ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ? เสนาสนะเป็นที่สบายดี
หรือ ? ภิกษุรูปนั้นได้กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบ พระศาสดาครั้น
ทรงทราบว่า เธอมีเสนาสนะเป็นที่สบาย จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
ธรรมดาสมณะ เมื่อมีเสนาสนะเป็นที่สบายแล้ว ก็ควรละความโลภ
อาหารเสีย ยินดีฉันตามที่ได้มานั่นแหละ กระทำสมณธรรมไป โบราณก-
บัณฑิตทั้งหลาย แม้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เคี้ยวผงแห้งในต้นไม้ที่ตน
อยู่อาศัย ยังละความโลภอาหาร มีความสันโดษ ไม่ทำลายมิตรธรรม