เมนู

3. หิริชาดก


การกระทำที่ส่อให้รู้ว่ามิตรหรือมิใช่มิตร


[763] ผู้ใดหมดความอาย เกลียดชังความมี
เมตตา กล่าวอยู่ว่าเราเป็นมิตร. สหายของท่าน
ไม่ได้เอื้อเฟื้อทำการงานที่ดีกว่า บัณฑิตรู้จัก
ผู้นั้นได้ดีว่า ผู้นี้มิใช่มิตรสหายของเรา.
[764] เพราะว่าบุคคลทำอย่างไร ก็พึงกล่าว
อย่างนั้น ไม่ทำอย่างไร ก็ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น
บัณฑิตทั้งหลายรู้จักบุคคลนั้นว่า ผู้ไม่ทำให้
สมกับพูด เป็นแต่กล่าวอยู่ว่า เราเป็นมิตร
สหายของท่าน.
[765] ผู้ใดไม่ประมาทอยู่ทุกขณะ มุ่งความ
แตกร้าว คอยแต่จับความผิด ผู้นั้นไม่ชื่อว่า
เป็นมิตร ส่วนผู้ใดอันคนอื่นยุให้แตกกันไม่
ได้ ไม่มีความรังเกียจในมิตร นอนอยู่อย่าง
ปลอดภัย เหมือนบุตรนอนแอบอกมารดา
ฉะนั้น ผู้นั้นนับว่าเป็นมิตรแท้.

[766] กุลบุตรผู้มองเห็นผลและอานิสงส์ เมื่อ
นำธุระของบุรุษไปอยู่ ย่อมทำฐานะ คือ การ
ทำความปราโมทย์ และความสุขอันนำมาซึ่ง
ความสรรเสริญให้เกิดมีขึ้น.
[767] บุคคลได้ดื่มรสอันเกิดจากวิเวก รส
แห่งความสงบ และรสคือธรรมปีติ ย่อมเป็น
ผู้ไม่มีความกระวนกระวาย เป็นผู้หมดบาป.

จบ หิริชาดกที่ 3

อรรถกถาหิริชาดกที่ 3


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ
เศรษฐีชาวปัจจันตคามผู้เป็นสหายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงตรัส
พระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า หิรินฺตรนฺตํ ดังนี้.
เรื่องทั้งสอง คือเรื่องปัจจุบันและเรื่องในอดีต ได้มีพิสดาร
แล้วในชาดกจบสุดท้ายแห่งนวมวรรค เอกนิบาต. แต่ในชาดกนี้ เมื่อ
คนมาบอกแก่พาราณสีเศรษฐีว่า คนของเศรษฐีชาวปัจจันตคามถูก
ชิงทรัพย์สมบัติ ไม่เป็นเจ้าของของที่เป็นของตน พากันหนีไปแล้ว
พาราณสีเศรษฐีจึงกล่าวว่า ธรรมดาคนผู้ไม่กระทำกิจที่จะพึงทำแก่
คนผู้มายังสำนักของตน ย่อมไม่ได้คนผู้กระทำตอบแทนเหมือนกัน
แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-