เมนู

10. กปิชาดก



เข้าใจว่าลิงเป็นฤๅษี


[350] ฤๅษีผู้นี้ยินดีแล้วในความสงบและความ
สำรวม ท่านถูกภัยคือ ความหนาวเบียดเบียน
จึงมายืนอยู่ เชิญฤๅษีผู้นี้จงเข้ามายังบรรณศาลา
นี้เถิด จะได้บรรเทาความหนาวและความกระวน
กระวายให้หมดสิ้นไป.
[351] นี้ไม่ใช่ฤๅษีผู้ยินดีในความสงบและความ
สำรวม เป็นลิงเที่ยวโคจรอยู่ตามกิ่งมะเดื่อ มัน
เป็นสัตว์ประทุษร้าย ฉุนเฉียวและมีสันดานลามก
ถ้าเข้ามาอยู่ยังบรรณศาลาหลังนี้ ก็จะพึงประทุษ
ร้ายบรรณศาลา.

จบ กปิชาดกที่ 10

อรรถกถากปิชาดกที่ 10



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภภิกษุโกหกรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้น
ว่า อยํ อิสี อุปสมสญฺญเม รโต ดังนี้.

ได้ยินว่า ข้อที่ภิกษุนั้นเป็นผู้หลอกลวงได้ปรากฏในหมู่
ภิกษุ. ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูก่อน
อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุโน้นบวชในพระพุทธศาสนาอันเป็นที่นำ
สัตว์ออกจากภพ ยังบำเพ็ญวัตรของผู้หลอกลวงอีก. พระศาสดา
เสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนา
กันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นมิใช่เป็นผู้หลอกลวง
แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็เคยเป็นผู้หลอกลวงเหมือนกัน
เกิดเป็นลิงได้ทำการหลอกลวงเพราะเหตุเพียงไฟเท่านั้น แล้ว
ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุง-
พาราณสี พระโพธสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในแคว้นกาสี ครั้น
เจริญวัย ในเวลาที่บุตรเที่ยววิ่งเล่นได้ นางพราหมณีก็ถึงแก่
กรรม จึงอุ้มบุตรเข้าสะเอวไปป่าหิมพานต์บวชเป็นฤๅษี บวชบุตร
เป็นดาบสกุมาร อาศัยอยู่ในบรรณศาลา. ครั้นฤดูฝน ฝนตก
ไม่ขาดสาย มีลิงตัวหนึ่งถูกความหนาวเบียดเบียน เที่ยวเดิน
ตัวสั่นฟันกระทบกัน. พระโพธิสัตว์หาท่อนไม้ใหญ่ ๆ มาก่อไฟ
แล้วนอนบนเตียง. ฝ่ายบุตรชายก็นั่งนวดเท้าอยู่. ลิงนั้นนุ่งห่ม
ผ้าเปลือกไม้ของดาบสที่ตายไปแล้วรูปหนึ่ง ห่มหนังเสือเฉวียงบ่า
ถือหาบและน้ำเต้าปลอมเป็นฤๅษี มายืนหลอกลวงอยู่ที่ประตู
บรรณศาลา เพราะต้องการไฟ. ดาบสกุมารเห็นลิงนั้น จึง

อ้อนวอนบิดาว่า ข้าแต่พ่อ มีดาบสผู้หนึ่งถูกความหนาวเบียดเบียน
ยืนสั่นอยู่ พ่อเรียกดาบสนั้นเข้ามา ณ ที่นี้เถิด เขาจะได้ผิงไฟ
ได้กล่าวคาถาแรกว่า :-
ฤๅษีผู้นี้ยินดีแล้วในความสงบและความ
สำรวม ท่านถูกภัยคือความหนาวเบียดเบียน จึง
มายืนอยู่ เชิญฤๅษีผู้นี้จงเข้ามายังบรรณศาลานี้
เถิด จะได้บรรเทาความหนาวและความกระวน
กระวายให้หมดสิ้นไป.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อุปสมสญฺญเม รโต คือ ยินดีใน
ความสงบจากกิเลสมีราคะเป็นต้น และในความสำรวมด้วยศีล. บทว่า
ส ติฏฺฐติ คือเขายืนอยู่. บทว่า สิสิรภเยน ได้แก่ เพราะกลัวความ
หนาวที่เกิดแต่ลมและฝน. บทว่า อทฺธิโต ความว่า เบียดเบียน
แล้ว. บทว่า ปวิสตุมํ ตัดบทเป็น ปวิสตุ อิมํ คือ เชิญเข้ามายัง
บรรณศาลานี้. บทว่า เกวลํ ได้แก่ ทั้งสิ้น คือ ไม่มีเหลือ.
พระโพธิสัตว์ฟังคำของบุตรจึงลุกขึ้นมอง รู้ว่าเป็นลิง
จึงกล่าวคาถาที่ 2 ว่า :-
นี่ไม่ใช่ฤๅษีผู้ยินดีในความสงบและความ
สำรวม เป็นลิงที่เที่ยวโคจรอยู่ตามกิ่งมะเดื่อ มัน
เป็นสัตว์ประทุษร้าย ฉุนเฉียว และมีสันดาน

ลามก ถ้าเข้ามาอยู่ยังบรรณศาลาหลังนี้ ก็จะพึง
ประทุษร้ายบรรณศาลา.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ทุมฺพรสาขโคจโร ได้แก่ เที่ยวอยู่
ตามกิ่งมะเดื่อ. บทว่า โส ทูสโก โรสโก จาปิ ชมฺโม ความว่า
ลิงเป็นสัตว์ชื่อว่า ประทุษร้ายเพราะประทุษร้ายที่ที่มันไปแล้ว ๆ
ชื่อว่า เป็นสัตว์ฉุนเฉียว เพราะกระทบกระทั่ง ชื่อว่า เป็นสัตว์
เลวทรามเพราะความเป็นผู้ลามก. บทว่า สเจ วเช ความว่า
หากลิงนั้นเข้ามาอยู่ยังบรรณศาลานี้ ก็จะพึงประทุษร้ายบรรณ.
ศาลาทั้งหมด ด้วยการถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดและด้วยการเผา.
พระโพธิสัตว์ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงคว้าดุ้นฟืนติดไฟ
ออกมาขู่ให้ลิงตกใจกลัวแล้วให้หนีไป. ลิงกระโดดหนีเข้าป่าไป
ไม่ได้ม้าที่นั้นอีก. พระโพธิสัตว์ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด
สอนการบริกรรมกสิณแก่ดาบสกุมาร. ดาบสกุมารทำอภิญญาและ
สมาบัติให้เกิดขึ้นแล้ว. ดาบสทั้งสองนั้นมีฌานมิได้เสื่อม ได้มี
พรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น ตั้งแต่ครั้งก่อนภิกษุนี้ก็เป็นผู้
หลอกลวงเหมือนกัน แล้วทรงประกาศสัจจธรรม ทรงประชุม
ชาดก. ครั้นจบสัจจธรรม บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บาง

พวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี. ลิงใน
ครั้งนั้นได้เป็นภิกษุหลอกลวงในครั้งนี้ บุตรได้เป็นราหุล ส่วน
บิดา คือเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถากปิชาดกที่ 10

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ


1. สัพพทาฐชาดก 2. สุนขชาดก 3. คุตติลชาดก
4. วิคติจฉชาดก 5. มูลปริยายชาดก 6. พาโลวาทชาดก
7. ปาทัญชีลชาดก 8. กิงสุโกปมชาดก 9. สาลกชาดก
10. กปิชาดก.
จบ สิคาลวรรคที่ 10

รวมวรรคที่มีในทุกนิบาตนี้ คือ


1. ทัฬหวรรค 2. สันถววรร 3. กัลยาณธรรมวรรค
4. อสทิสวรรค 5. รุหกวรรค 6. นตังทัฬหวรรค 7. พีรณัต-
ถัมภกวรรค 8. กาสาววรรค 9. อุปาหนวรรค 10. สิคาลวรรค.
จบ ทุกนิบาต