เมนู

8. กามนีตชาดก



ผู้ถูกโรครักครอบงํารักษายาก


[305] เราปรารถนาระหว่างเมืองทั้ง 3 คือ เมือง
ปัญจาละ 1 เมืองกุรุยะ 1 เมืองเกกกะ 1 ดูก่อน
ท่านพราหมณ์ เราปรารถนาราชสมบัติทั้ง 3
เมืองนั้นมากกว่าสมบัติที่เราได้แล้วนี้ ดูก่อน
พราหมณ์ ขอให้ท่านช่วยรักษาเราผู้ถูกความ
ใคร่ครอบงำด้วยเถิด.
[306] อันที่จริง เมื่อบุคคลถูกงูเห่ากัด หมอ
บางคนก็รักษาได้ อนึ่ง บุคคลถูกผีเข้าสิง หมอ
ผู้ฉลาดก็ไล่ออกได้ แต่บุคคลผู้ถูกความใคร่
ครอบงำแล้ว ใคร ๆ ก็รักษาไม่หาย เพราะว่า
เมื่อบุคคลล่วงเลยธรรมขาวเสียแล้ว จะรักษา
ได้อย่างไร.

จบ กามนีตชาดกที่ 8

อรรถกถากามนีตชาดกที่ 8



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภพราหมณ์ชื่อ กามนีตะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า ตโย คิรึ ดังนี้.

เรื่องราวทั้งปัจจุบันและอดีตจักมีแจ้งในกามชาดก ใน
ทวาทสนิบาต.
พระราชบุตรทั้งสองพระองค์นั้น พระองค์พี่ได้กลับมา
เป็นพระราชาในกรุงพาราณสี. พระองค์น้องได้เป็นอุปราช.
ทั้งสองพระองค์นั้น องค์พี่เป็นพระราชาเป็นผู้ไม่อิ่มในวัตถุกาม
และกิเลสกาม มีพระทัยโลภในทรัพย์สมบัติ. ในคราวนั้นพระ-
โพธิสัตว์เป็นท้าวสักกเทวราช ตรวจดูชมพูทวีป ทรงทราบว่า
พระราชานั้นมิได้ทรงอิ่มในกามทั้งสอง ทรงดําริว่า จักไปข่มขี่
พระราชานี้ให้ละอายพระทัย จึงทรงแปลงเป็นพราหมณ์มาณพ
เข้าเฝ้าพระราชา. เมื่อพระราชาตรัสถามว่า แน่ะมาณพ ท่าน
มาด้วยประสงค์อะไร. กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์
พบนครสามนครน่ารื่นรมย์มีภิกษาหารสมบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วย
ช้าง ม้า รถ พลนิกรและเงินทองเครื่องอลังการ แต่พระองค์
สามารถยึดนครทั้ง 3 นั้นด้วยกำลังเล็กน้อยเท่านั้น ข้าพระองค์
จึงมาเพื่อรับอาสาไปตีเมืองทั้งสามถวายพระองค์. เมื่อตรัสถาม
ว่า เราจะไปกันเมื่อไรเล่ามาณพ. กราบทูลว่า ไปพรุ่งนี้พระ-
เจ้าข้า. ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเราไปด้วยกัน ท่านมาแต่เช้า ๆ หน่อย
ท้าวสักกะตรัสว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า พระองค์จงเตรียมพลไว้
โดยเร็วแล้วเสด็จกลับวิมานของพระองค์.
รุ่งขึ้นพระราชารับสั่งให้เที่ยวตีกลองเรียกชุมนุมพล รับ
สั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า เมื่อวานนี้มีพราหมณ์

มาณพผู้หนึ่ง รับอาสาจะตีนครทั้งสามเอาราชสมบัติถวาย คือ
นครอุตตรปัญจาละ นครอินทปัตร นครเกกกะ เราจะพามาณพ
นั้นไปตีเอาราชสมบัติในนครทั้งสามนั้น. พวกท่านจงไปตามตัว
มาณพนั้นมาโดยเร็ว. พวกอำมาตย์ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์
พระองค์พระราชทานที่พักให้มาณพนั้น ณ ที่ไหน. ตรัสว่า
เราไม่ได้ให้ที่พักแก่เขา. กราบทูลถามว่า เสบียงอาหารพระองค์
พระราชทานหรือเปล่า ตรัสว่า เสบียงอาหารก็ไม่ได้ประทาน
ทูลถามว่า ข้าพระองค์จะไปตามตัวได้ที่ไหน. ตรัสว่า พวกท่าน
จงเที่ยวตามหาดูตามถนนในนครเถิด. พวกอำมาตย์เที่ยวตรวจ
ตราดูแล้วไม่พบ จึงกราบทูลว่า ไม่พบตัว พระเจ้าข้า เมื่อพระ-
ราชาไม่ได้ตัวมาณพมาก็เกิดความโศกเสียพระทัยว่า เราเสื่อม
จากอิสสริยสมบัติอันใหญ่หลวงอย่างนี้เสียแล้ว ดวงพระทัยก็
เร่าร้อน โลหิตที่ฉีดเลี้ยงหทัยก็กำเริบ จนเกิดสำรอกโลหิตออก
มา. บรรดาแพทย์ทั้งหลายก็ไม่สามารถจะรักษาได้. ถัดจากนั้น
มา 3-4 วัน ท้าวสักกเทวราชทรงตรวจดู ทรงทราบการประชวร
ของพระราชา ทรงดำริว่า จักช่วยรักษา จึงแปลงเป็นพราหมณ์
มาเยือนประตูพระราชวัง ให้กราบทูลว่ามีหมอพราหมณ์จะมา
รักษาพระองค์. พระราชาทรงสดับดังนั้นตรัสว่า หมอหลวง
ล้วนแต่ใหญ่โต ยังรักษาเราไม่ได้ ท่านจงจ่ายค่าป่วยการให้เขา
กลับไปเถิด. ท้าวสักกเทวราชได้สดับคำอำมาตย์มาบอกแล้ว
ตรัสว่า เราไม่ต้องการที่พักและค่าป่วยการแม้ค่าขวัญข้าวเรา

ก็ไม่ขอรับ เราขออาสารักษาพระองค์. ขอพระราชาจงให้เรา
เฝ้าเถิด. พระราชาทรงสดับดังนั้น แล้วรับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นจง
มาเถิด. ท้าวสักกเทวราชเสด็จเข้าไปแล้ว ถวายบังคมยืน ณ
ส่วนข้างหนึ่ง. พระราชาตรัสถามว่า ท่านจะรักษาเราหรือ.
ทูลว่าอย่างนั้นพระเจ้าข้า. ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นจงรักษาเถิด.
กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอประทานโอกาส ขอพระองค์จง
บอกลักษณะของโรคแก่ข้าพระองค์ว่าเกิดเพราะเหตุอะไร เกิด
เพราะเสวยอะไร หรือได้ทอดพระเนตร หรือทรงสดับอะไร
พระราชาตรัสว่า แน่ะพ่อ โรคของเราเกิดเพราะได้ฟังข่าว
ทูลถามว่า พระองค์สดับข่าวอะไร. ตรัสว่าแน่ะพ่อ มีมาณพคน
หนึ่งมาบอกว่า จักรับอาสาตีเอาราชสมบัติในนครทั้งสามถวาย
เรา เราก็ไม่ได้ให้ที่พักหรือค่ากินอยู่แก่เขา เขาคงโกรธเราจึง
ไปเฝ้าพระราชาองค์อื่น. เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็เฝ้าแต่คิดอยู่ว่า
เราเสื่อมจากอิสสริยสมบัติอันใหญ่หลวงดังนี้ จึงได้เกิดโรคขึ้น
ถ้าท่านสามารถก็จงรักษาโรคอันเกิดเพราะจิตปรารถนาของ
เรา. เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ได้กล่าวคาถาแรกว่า :-
เราปรารถนาระหว่างเมืองทั้งสาม คือ
เมืองปัญจาละ 1 เมืองกุรุยะ 1 เมืองเกกกะ 1
ดูก่อนท่านพราหมณ์ เราปรารถนาราชสมบัติ
ทั้งสามเมืองนั้นมากกว่าราชสมบัติที่เราได้แล้ว

นี้ ดูก่อนพราหมณ์ ขอท่านรักษาเราผู้ถูกความ
ใคร่ครอบงำด้วยเถิด.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ตโย คิรึ คือ นครทั้งสาม. เหมือน
สุทัสสนเทพนคร ท่านเรียกว่า สุทัสสคีรี เพราะจะรบยึดเอาได้
ยาก หวั่นไหวได้ยากในประโยคนี้ว่า สุทสฺสนคิริโน ทฺวารํ เหตํ
ปกาสติ
. เพราะฉะนั้น ในคาถานี้จึงมีเนื้อความดังนี้ เราต้องการ
นครสามนคร และแคว้นทั้งสามแคว้นในระหว่างนครเหล่านั้น.
เราต้องการหมดทั้งสามแว่นแคว้น อันมีนามว่า อุตตรปัญจาละ
ซึ่งมีนครชื่อว่า กปิละ แว่นแคว้นหนึ่ง มีนามว่า กุรุยะ ซึ่งมี
นครชื่อว่า อินทปัตร แว่นแคว้นหนึ่ง มีนามว่า เกกกะ ซึ่งมีนคร
ชื่อว่า เกกกะราชธานี แว่นแคว้นหนึ่ง. เราปรารถนาราชสมบัติ
ทั้งสามแว่นแคว้นนั้นยิ่งไปเสียกว่าราชสมบัติกรุงพาราณสี ซึ่ง
เราครองอยู่นี้. บทว่า ติกิจฺฉ มํ พฺรหฺมณ กามนีตํ ความว่า
ท่านพราหมณ์ เราถูกวัตถุกามและกิเลสกามเหล่านั้นชักนำไป
แล้ว ถูกรบกวนประหัตประหารแล้ว ถ้าท่านอาจก็จงรักษาเรา
เถิด.
ลําดับนั้นท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกะพระราชาว่า ข้าแต่
มหาราช พระองค์จะรักษาด้วยโอสถรากไม้เป็นต้นไม่หาย ต้อง
รักษาด้วยโอสถ คือญาณอย่างเดียว ได้กล่าวคาถาที่ 2 ว่า :-
อันที่จริงเมื่อบุคคลถูกงูเห่ากัด หมอบาง
คนก็รักษาได้ อนึ่ง บุคคลถูกผีสิง หมอผู้ฉลาด

ก็ไล่ออกได้ แต่บุคคลผู้ถูกความใคร่ครอบงำแล้ว
ใคร ๆ ก็รักษาไม่หาย เพราะว่าเมื่อบุคคลล่วง
เลยธรรมขาวเสียแล้ว จะรักษาได้อย่างไร.

ในบทเหล่านั้น บทว่า กณฺหาหิ ทุฏฺฐสฺส กโรนฺติ เหเก
ความว่า อันที่จริงเมื่อบุคคลถูกงูเห่ามีพิษร้ายกัด หมอบางคน
ก็รักษาด้วยมนต์และด้วยโอสถให้หายได้. บทว่า อมนุสฺสวิฏฺฐสฺส
กโรนฺติ ปณฺฑิตา
ความว่า หมอผีผู้ฉลาดจำพวกหนึ่ง เมื่อคนถูก
อมนุษย์มีผีและยักษ์เป็นต้น เข้าสิงแล้วย่อมทำการรักษาได้
ด้วยวิธีต่าง ๆ มีการเซ่นสรวง สวดพระปริตรและวางยาเป็นต้น
ให้หายได้. บทว่า น กามนีตสฺส กโรติ โกจิ ความว่า แต่คนที่
ถูกกามชักนำไปแล้ว คืออยู่ในอำนาจของกามเว้นบัณฑิตเสีย
ใคร ๆ อื่นก็ทำการรักษาไม่ได้ แม้จะรักษาก็ไม่สามารถจะ
รักษาให้หายได้. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะบุคคลที่
ก้าวล่วงเขตแดนสุกกธรรม คือ กุศลธรรม ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม
เสียแล้ว จะรักษาด้วยมนต์และโอสถ เป็นต้นอย่างไรไหว คือ
ไม่อาจรักษาได้ด้วยมนต์และโอสถเป็นต้นนั้น.
พระมหาสัตว์แสดงเหตุนี้แด่พระราชาฉะนี้แล้ว ได้ตรัส
ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าพระองค์จักได้
ราชสมบัติทั้งสามแคว้นนั้น เมื่อพระองค์เสวยราชทั้ง 4 นคร
จะฉลองพระองค์ด้วยผ้าสาฎกทั้ง 4 คู่ คราวเดียวกันได้อย่างไร
เล่าหนอ. จะเสวยทั้ง 4 ถาดทอง จะบรรทมทั้ง 4 พระแท่น

สิริไสยาสน์คราวเดียวกันได้อย่างไร. ข้าแต่มหาราช พระองค์
ไม่พึงเป็นไปในอำนาจตัณหา. ชื่อว่าตัณหานี้เป็นมูลรากของ
ความวิบัติ. เมื่อเจริญขึ้นผู้ใดทําให้งอกงาม ย่อมซัดบุคคลนั้น
ลงนรกทั้ง 8 ขุม อุสสทนรก 16 ขุม และอบายภูมิที่เหลือมี
ประเภทนานาประการ. พระมหาสัตว์แสดงธรรมขู่พระราชา
ด้วยภัยในนรกเป็นต้นอย่างนี้. ฝ่ายพระราชาฟังธรรมของพระ-
มหาสัตว์แล้วก็สร่างโศก หายพระโรคทันใดนั้นเอง. แม้ท้าว-
สักกะประทานโอวาทแด่พระราชาให้ดำรงอยู่ในศีลแล้วเสด็จ
กลับเทวโลก. ฝ่ายพระราชาตั้งแต่นั้นทรงบำเพ็ญบุญมีทาน
เป็นต้น เสด็จไปตามยถากรรม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุม
ชาดก. พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นพราหมณ์ชื่อ กามนีตะ ใน
ครั้งนี้ ส่วนท้าวสักกเทวราช คือ เราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถากามนีตชาดกที่ 8

9. ปลายิชาดก



ว่าด้วยขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบ


[307] เมืองตักกสิลาถูกเขาล้อมไว้ทุกด้านแล้ว
ด้วยกองพลช้างตัวประเสริฐ ซึ่งร้องคำรนอยู่
ด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพม้าตัวประเสริฐซึ่งคลุม
มาลาเครื่องครบอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองพลรถ ดุจ
คลื่นในมหาสมุทรอันยังฝนคือลูกศรให้ตกลง
ด้านหนึ่ง ด้วยกองพลเดินเท้าถือธนูมั่นมีฝีมือยิง
แม่นอยู่ด้านหนึ่ง.
[308] ท่านทั้งหลายจงรีบรุกเข้าไป และจงรีบ
บุกเข้าไป จงไสช้างให้หนุนเนื่องกันเข้าไปเลย
จงโห่ร้องให้สนั่นหวั่นไหวในวันนี้ ดุจสายฟ้า
อันซ่านออกจากกลีบเมฆคำรนอยู่ ฉะนั้น.

จบ ปลายิชาดกที่ 9

อรรถกถาปลายิชาดกที่ 9



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภปลายิปริพาชก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า
คชคฺคเมเฆภิ ดังนี้.