เมนู

2. จุลลนันทิยาชาดก



ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว


[293] ปาราสริยพราหมณ์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า
ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่ว อันจะทำตัวท่านให้
เดือดร้อนในภายหลังนะ คำนี้นั้น เป็นถ้อยคํา
ของท่านอาจารย์.
[294] บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรม
เหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำ
กรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด
ย่อมได้รับผลเช่นนั้น.

จบ จุลลนันทิยชาดกที่ 2

อรรถกถาจุลลนันทิยชาดกที่ 2



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า
อิทํ ตทาจริยวโจ ดังนี้.
ความย่อมีอยู่ว่า วันหนึ่งพวกภิกษุประชุมสนทนากันใน
โรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าพระเทวทัตเป็นผู้
กักขฬะหยาบช้า โผงผาง ประกอบการมุ่งปลงพระชนม์พระ-

สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กลิ้งศิลา ปล่อยช้างนาฬาคิรี มิได้มีแม้แต่
ขันติเมตตา และความเห็นอกเห็นใจ ในพระตถาคตเลย. พระ-
ศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอ
นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตกักขฬะ หยาบคาย ไร้
กรุณามิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเทวทัตก็กักขฬะ หยาบคาย
ไร้กรุณาเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นวานร ชื่อ นันทิยะ
อยู่ในหิมวันตประเทศ มีน้องชายชื่อว่า จุลลนันทิยะ ทั้งสอง
พี่น้องมีวานร 84,000 เป็นบริวาร ปรนนิบัติมารดาซึ่งตาบอด
อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ. วานรสองพี่น้องให้มารดาพักนอน
ที่พุ่มไม้ เข้าไปป่าหาผลไม้ที่มีรสอร่อยได้แล้ว ส่งไปให้มารดา.
ลิงที่นำมามิได้เอาไปให้มารดา. มารดาถูกความหิวครอบงำ
จนผอมซูบซีดเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์
จึงถามมารดาว่า แม่จ๋า ลูกส่งผลไม้มีรสอร่อยมาให้แม่ ไฉนแม่
จึงซูบผอมนักเล่า. มารดาตอบว่า ลูกเอ๋ย แม่ไม่เคยได้เลย.
พระโพธิสัตว์คิดว่า เมื่อเรายังปกครองฝูงวานรอยู่ แม่ของเรา
คงตายเป็นแน่ เราจะละฝูงวานรไปปรนนิบัติแม่เท่านั้น. พระ-
โพธิสัตว์จึงเรียกจุลลนันทิยะมากล่าวว่า นี่แน่ะ น้อง น้องจง
ปรกครองฝูงวานรเถิด พี่จักปรนนิบัติแม่เอง. ฝ่ายจุลลนันทิยะ

จึงกล่าวว่า พี่จ๋า น้องไม่ต้องการปกครองฝูงวานร น้องก็จะ
ปรนนิบัติแม่บ้าง. พี่น้องทั้งสองนั้นมีความเห็นเป็นอันเดียวกัน
ฉะนี้แล้ว จึงละฝูงวานรพามารดาออกจากหิมวันตประเทศ อาศัย
อยู่ที่ต้นไทรชายแดน ปรนนิบัติมารดา.
ครั้งนั้น มีพราหมณ์มาณพชาวกรุงพาราณสีผู้หนึ่ง เรียน
จบศิลปะทุกประการ ในสํานักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในเมือง
ตักกสิลา อําลาอาจารย์ว่า กระผมจักไป ฝ่ายอาจารย์ก็รู้ด้วยอานุภาพ
วิชชาในตนว่า มาณพนั้นเป็นคนกักขฬะ หยาบช้า โผงผาง จึง
สั่งสอนว่า แน่ะพ่อ เจ้าเป็นคนกักขฬะ หยาบช้า โผงผาง ถ้า
ขืนเป็นอย่างนี้จะไม่มีผลสำเร็จเช่นเดียวกันตลอดกาล ย่อมต้อง
พบความพินาศ ความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ท่านอย่าได้เป็นคน
กักขฬะ หยาบช้า อย่าได้ทำกรรมอันให้เดือดร้อนในภายหลัง
เลย ดังนี้แล้วจึงส่งไป. พราหมณ์มาณพนั้นไหว้อาจารย์แล้วไป
สู่กรุงพาราณสี มีครอบครัวแล้ว เมื่อไม่สามารถจะเลี้ยงชีพด้วย
ศิลปะอย่างอื่น จึงคิดว่า เราจักยึดเอาคันธนูเป็นที่พึ่งเลี้ยงชีวิต
คือจักหากินทางเป็นพราน ออกจากกรุงพาราณสี อยู่ที่บ้าน
ชายแดน ผูกสอดธนูและแล่งธนูเสร็จแล้ว เข้าป่าล่าเนื้อนานา
ชนิด เลี้ยงชีพด้วยการขายเนื้อ. วันหนึ่งเขาหาอะไรในป่าไม่ได้
เลย กำลังเดินกลับพบต้นไทรอยู่ที่ริมเนิน คิดว่าน่าจะมีอะไร
อยู่ที่ต้นไทรนี้บ้าง จึงเดินตรงไปยังต้นไทร. ขณะนั้นวานร
สองพี่น้องนั่งอยู่ระหว่างค่าคบ ให้มารดาเคี้ยวกินผลไม้อยู่ข้างหน้า

เห็นพราหมณ์มาณพนั้นเดินมา คิดว่าถึงจะเห็นมารดาเรา ก็คง
จะไม่ทำอะไร จึงแอบอยู่ระหว่างกิ่งไม้. ฝ่ายบุรุษโผงผางผู้นั้น
มาถึงโคนต้นไม้แล้ว เห็นมารดาของวานรนั้นแก่ทุพพลภาพ
ตาบอด คิดว่า เราจะกลับไปมือเปล่าทำไม จักยิงนางลิงตัวนี้
เอาไปด้วย จึงโก่งธนูหมายจะยิงนางลิงแก่ตัวนั้น. พระโพธิสัตว์
เห็นดังนั้นจึงกล่าว พ่อจุลลนันทิยะบุรุษผู้จะยิงมารดาของเรา.
พี่จะสละชีวิตให้แทนมารดา เมื่อพี่ตายไปแล้ว น้องจงเลี้ยงดู
มารดาเถิด จึงออกจากระหว่างกิ่งไม้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญขอ
ท่านอย่าได้ยิงมารดาของเราเลย มารดาของเราตาบอด ทุพพลภาพ
เราจะสละชีวิตให้แทนมารดา ขอท่านอย่าได้ฆ่ามารดาเลย จง
ฆ่าเราเถิด รับปฏิญญาของบุรุษนั้นแล้ว จึงไปนั่งในที่ใกล้ลูกศร.
บุรุษนั้นปราศจากความกรุณา ยิงพระโพธิสัตว์ตกลง แล้วขึ้น
ธนูอีกเพื่อจะยิงมารดาของพระโพธิสัตว์ด้วย. จุลลนันทิยะเห็น
ดังนั้น คิดว่าบุรุษผู้นี้ใคร่จะยิงมารดาของเรา มารดาของเรา
แม้จะมีชีวิตอยู่วันเดียว ก็ยังได้ชื่อว่ารอดชีวิตแล้ว เราจักสละ
ชีวิตให้แทนมารดา จึงออกจากระหว่างกิ่งไม้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ
ท่านอย่ายิงมารดาของเราเลย เราจักสละชีวิตให้แทนมารดา
ท่านยิงเราแล้วเอาเราสองพี่น้องไป จงไว้ชีวิตแก่มารดาของเรา
เถิด รับปฏิญญาของบุรุษนั้นแล้ว นั่งในที่ใกล้ลูกศร. บุรุษนั้นจึง
ยิงจุลลนันทิยะนั้นตกลง แล้วคิดว่าเราจักเอาไปเผื่อเด็ก ๆ ที่บ้าน
จึงยิงมารดาของวานรทั้งสองด้วยตกลง หาบไปทั้ง 3 ตัว มุ่งหน้า

ตรงไปบ้าน. ครั้งนั้นสายฟ้าได้ตกลงที่บ้านของบุรุษชั่วนั้น ไหม้
ภรรยาและลูกสองคนพร้อมกับบ้าน เหลือแต่เพียงเสากับขื่อ.
ขณะนั้นบุรุษผู้หนึ่ง พบบุรุษชั่วนั้นที่ประตูบ้านนั่นเอง
จึงเล่าความเป็นไปให้ฟัง. บุรุษชั่วผู้นั้นถูกความเศร้าโศกถึง
บุตรและภรรยาครอบงำ ทิ้งหาบเนื้อและธนูกับแล่งไว้ตรงนั้น
เอง ปล่อยผ้า เปลือยกายประคองแขนร่ำไห้เข้าไปที่เรือน ขณะ
นั้น ขื่อหักตกลงมาถูกศีรษะแตก แผ่นดินแยกออกเป็นช่อง
เปลวไฟแลบขึ้นมาจากอเวจีมหานรก. บุรุษชั่วผู้นั้นกำลังถูก
แผ่นดินสูบ ระลึกถึงโอวาทของอาจารย์ได้ คิดว่าท่านปาราสริย-
พราหมณ์เห็นเหตุนี้ จึงได้ให้โอวาทแก่เรา ได้กล่าวคาถาสอง
คาถารำพันว่า :-
ปาราสริยพราหมณ์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า
ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่ว อันจะทำตัวท่านให้
เดือดร้อนในภายหลังนะ คำนี้นั้นเป็นถ้อยคำของ
ท่านอาจารย์.

บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรม
เหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำ
กรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด
ย่อมได้รับผลเช่นนั้น.

อธิบายแห่งคาถานั้นว่า ปาราสริยพราหมณ์ ได้กล่าวคำ
ใดไว้ว่า เจ้าอย่าได้ทำบาปนะ บาปใดเจ้าทำไว้ บาปนั้นจะเผา

ผลาญท่านในภายหลัง นี่เป็นคำของท่านอาจารย์ บุรุษทํากรรม
เหล่าใดไว้ทางกายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร เมื่อเขากลับ
ได้ผลของกรรมนั้น ย่อมพบกรรมเหล่านั้นเองในตน ผู้ทำกรรมดี
ย่อมเสวยผลดี แต่ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมเสวยผลชั่วช้าลามกไม่น่า
ปรารถนา แท้จริงแม้ในทางโลกบุคคลหว่านพืชเช่นใดไว้ ย่อม
นำไปซึ่งพืชนั้น คือย่อมเก็บผล ได้รับผล เสวยผล อันสมควร
แก่พืชนั้นเอง.
บุรุษผู้ชั่วช้านั้นคร่ำครวญอยู่อย่างนั้นเอง เข้าไปสู่แผ่นดิน
เกิดในอเวจีมหานรก.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตกักขฬะ
หยาบช้ามิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็กักขฬะ หยาบช้า
ไร้กรุณาเหมือนกัน แล้วทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาทรงประชุม
ชาดก. บุรุษพรานในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้ อาจารย์
ทิศาปาโมกข์ได้เป็นสารีบุตร จุลลนันทิยวานรได้เป็นอานนท์
มารดาวานรได้เป็นมหาปชาบดีโคตมี ส่วนมหานันทิยวานร คือ
เราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถาจุลลนันทิยชาดกที่ 2

3. ปุฏภัตตชาดก



ว่าด้วยการคบ


[295] บุคคลควรนอบน้อมต่อผู้ที่นอบน้อมตน
ควรคบกับผู้ที่คบตน ควรทำกิจตอบแทนแก่ผู้ที่
ช่วยทำกิจของตน ไม่ควรทำประโยชน์แก่ผู้
ปรารถนาความฉิบหายให้ และไม่ควรคบกับผู้
ที่ไม่คบตน.
[296] บุคคลควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้งตน ไม่ควรทำ
ความอาลัยรักใคร่ในบุคคลเช่นนั้น ไม่ควร
สมาคมกับผู้ที่เขาไม่ใฝ่ใจกับตน นกรู้ว่าต้นไม้
หมดผลแล้วก็ละทิ้งไปหาต้นไม้อื่น เพราะโลก
เป็นของกว้างใหญ่.

จบ ปุฏภัตตชาดกที่ 3

อรรถกถาปุฏภัตตชาดกที่ 3



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภกุฎุมพีคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า
นเม นมนฺตสฺส ดังนี้.
ได้ยินว่า กุฎุมพีชาวกรุงสาวัตถีผู้หนึ่ง ได้ทำการค้าขาย
กับกุฎุมพีชาวชนบทผู้หนึ่ง. กุฎุมพีชาวกรุงนั้นได้พาภรรยาของ