เมนู

9. กักกรชาดก



ว่าด้วยผู้ฉลาดเอาตัวรอดได้


[267] ต้นหูกวางและสมอพิเภกทั้งหลายในป่า
เราเคยเห็นแล้วต้นไม้เหล่านั้น ย่อมเดินไปเหมือน
กับท่านไม่ได้.
[268] ไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมานี้ เป็นไก่ฉลาด
ในบ่วงขนสัตว์ ย่อมหลีกไปและยังขันเย้ยเสีย
ด้วย.

จบ กักกรชาดกที่ 9

อรรถกถากักกรชาดกที่ 9



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภภิกษุหนุ่มผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระธรรมเสนาบดี
สารีบุตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทิฏฺฐา มยา
วเน รุกฺขา
ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มรูปนั้น เป็นผู้ฉลาดในการรักษา
ร่างกายของตน. ไม่ฉันของเย็นจัด ร้อนจัด เพราะเกรงว่าร่างกาย
จะไม่สบาย ไม่ออกไปข้างนอก เพราะเกรงว่าร่างกายจะกระทบ
หนาวและร้อน ไม่ฉันจังหันที่แฉะและเป็นท้องเล็น. เพราะภิกษุ

หนุ่มนั้นเป็นผู้ฉลาดในการรักษาร่างกาย จึงปรากฏไปในท่าม
กลางสงฆ์. ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันว่า อาวุโสทั้งหลาย
ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มรูปนั้นเป็นผู้ฉลาด ในการรักษาร่างกาย
เป็นอย่างดี. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุ
ทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุหนุ่มรูปนี้
มิใช่ฉลาดในการรักษาร่างกายในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเธอ
ก็เป็นผู้ฉลาดเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดาอยู่ในราวป่าใหญ่.
ครั้งนั้นมีพรานนกคนหนึ่ง อุ้มไก่ต่อตัวหนึ่ง ถือบ่วงและแร้ว
เที่ยวดักไก่ในป่าอยู่ เริ่มจะดักไก่ตัวหนึ่งซึ่งเป็นไก่ของตนมาก่อน
หนีเข้าป่าไป. ไก่ตัวนั้นเพราะเข้าใจในบ่วงจึงไม่ยอมเข้าติดบ่วง
ถอยหนีไปเรื่อย ๆ. นายพรานจึงเอากิ่งไม้และใบไม้คลุมกำบัง
ตนไว้ เลื่อนคันแร้วและบ่วงตามไปเรื่อย ๆ. ฝ่ายไก่อยากจะ
ให้นายพรานละอายใจ จึงพูดเป็นภาษามนุษย์ กล่าวคาถาแรกว่า :-
ต้นหูกวาง และสมอพิเภกทั้งหลายในป่า
เราเคยเห็นแล้ว ต้นไม้เหล่านั้นย่อมเดินไปเหมือน
กับท่านไม่ได้.

คาถานั้นมีอธิบายว่า ดูก่อนสหายพราน เราเคยเห็นต้น
หูกวางและสมอพิเภกเป็นอันมากเกิดในป่านี้ ต้นไม้เหล่านั้น

ไม่เคลื่อน ไม่ก้าว ไม่เดินเหมือนท่านก้าวเคลื่อนเดินไปทางโน้น
ทางนี้ได้ฉะนั้น.
ก็และครั้นไก่นั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงได้หนีไปเสียที่อื่น.
ในเวลาที่ไก่หนีไป นายพรานจึงกล่าวคาถาที่ 2 ว่า :-
ไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมาได้นี้ เป็นไก่
ฉลาดในบ่วงขนสัตว์ ย่อมหลีกไปและยังขันเย้ย
เสียด้วย.

ในบทเหล่านั้น บทว่า กุสโล วาลปาสานํ ความว่า ไก่
ฉลาดในบ่วงขนสัตว์ ไม่ให้จับตัวได้ย่อมหนีไป และยังขันเย้ย
เสียด้วย ครั้นขันเย้ยแล้วไก่ก็หนีไป.
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พรานก็เที่ยวไปในป่าจับไก่ตาม
ที่ดักได้กลับเรือน.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดก. พรานในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้. ไก่ได้เป็นภิกษุ
หนุ่มผู้ฉลาดในการรักษาร่างกาย ส่วนรุกขเทวดาผู้เห็นเหตุการณ์
อย่างประจักษ์ คือเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถากักกรชาดกที่ 9

10. กันทคลกชาดก



นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น


[269] ดูก่อนผู้เจริญ ต้นไม้ที่มีใบละเอียดมี
หนามนี้เป็นต้นไม้อะไร เราเจาะเพียงครั้งเดียว
ทำให้สมองศีรษะแตกได้.
[270] นกกันทคลกะตัวนี้ เมื่อเจาะหมู่ไม้อยู่ใน
ป่า ได้เคยเที่ยวเจาะแต่ไม้แห้งที่ไม่มีแก่น ภาย
หลังมาพบเอาต้นตะเคียนซึ่งมีกำเนิดเป็นไม้แก่น
อันเป็นที่ทำลายสมองศีรษะ.

จบ กันทคลชาดกที่ 10

อรรถกถากันทคลกชาดกที่ 10



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภภิกษุเลียนเอาอย่างพระสุคต ตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า อมฺโภ โกนามยํ ลุทฺโท ดังนี้.
เรื่องย่อมีอยู่ว่า ในครั้งนั้นพระศาสดาทรงสดับว่า พระ-
เทวทัตได้เลียนเอาอย่างพระสุคต จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เทวทัตเลียนอย่างเรา ถึงความพินาศ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้
เมื่อก่อนเทวทัตก็ได้ถึงความพินาศมาแล้ว ทรงนำเรื่องอดีต
มาตรัสเล่า.