เมนู

5. ปัญจาวุธชาดก


ว่าด้วยการบรรลุธรรมอันเกษม


[55] นรชนใดมีจิตไม่ท้อถอย มีใจไม่หดหู่
เจริญกุศลธรรม เพื่อบรรลุธรรม อันเป็นแดน
เกษมจากโยคะ นรชนนั้น พึงบรรลุธรรมเป็นที่
สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ.

จบ ปัญจาวุธชาดกที่ 5

อรรถกถาปัญจาวุธชาดกที่ 5


พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหา-
วิหาร ทรงปรารภภิกษุมีความเพียรย่อหย่อนรูปหนึ่ง ตรัส
พระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โย อลีเนน จิตฺเตน ดังนี้.
พระบรมศาสดา ตรัสเรียกภิกษุนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า
ดูก่อนภิกษุ จริงหรือที่เขาว่า เธอเป็นผู้มีความเพียรย่อหย่อน
เมื่อเธอกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลาย กระทำความเพียรในที่ ๆ ควร
ประกอบความเพียร ก็ได้บรรลุถึงราชสมบัติได้ แล้วทรงนำ
เอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุง
พาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในคัพโภทรพระอัครมเหสี
ของพระราชาพระองค์นั้น ในวันที่จะถวายพระนามพระโพธิสัตว์
ราชตระกูลได้เลี้ยงพราหมณ์ 108 ให้อิ่มหนำด้วยของที่น่า
ปรารถนาทุก ๆ ประการ แล้วสอบถามลักษณะของพระกุมาร
พวกพราหมณ์ผู้ฉลาดในการทำนายลักษณะ เห็นความสมบูรณ์
ด้วยลักษณะแล้ว ก็พากันทำนายว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระ-
กุมารสมบูรณ์ด้วยบุญญาธิการ เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว
จักต้องได้ครองราชสมบัติ จักมีชื่อเสียงปรากฏด้วยการใช้
อาวุธ 5 ชนิด เป็นอรรคบุรุษในชมพูทวีปทั้งสิ้น. เพราะเหตุ
ได้ฟังคำทำนายของพราหมณ์ทั้งหลาย เมื่อจะขนานพระนาม
ก็เลยขนานให้ว่า "ปัญจาวุธกุมาร". ครั้นพระกุมารนั้นถึงความเป็น
ผู้รู้เดียงสาแล้ว มีพระชนม์ได้ 16 พรรษา พระราชาตรัสเรียกมา
แล้วรับสั่งว่า ลูกรัก เจ้าจงเรียนศิลปศาสตร์เถิด. พระกุมาร
กราบทูลถามว่า กระหม่อมฉันจะเรียนในสำนักของใครเล่า
พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งว่า ไปเถิดลูก จงไปเรียนในสำนัก
อาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ ตักกสิลานคร แคว้นคันธาระ และ
พึงให้ทรัพย์นี้ เป็นค่าบูชาคุณอาจารย์แก่ท่านด้วย แล้วพระ-
ราชทานทรัพย์หนึ่งพันส่งไปแล้ว. พระราชกุมารเสด็จไปใน
สำนักทิศาปาโมกข์นั้น ทรงศึกษาศิลปะ รับอาวุธ 5 ชนิดที่
อาจารย์ให้ กราบลาอาจารย์ออกจากนครตักกสิลา เหน็บอาวุธ

ทั้ง 5 กับพระกาย เสด็จดำเนินไปทางเมืองพาราณสี. พระองค์
เสด็จมาถึงดงตำบลหนึ่ง เป็นดงที่สิเลสโลมยักษ์สิงสถิตอยู่.
ครั้นนั้นพวกมนุษย์ เห็นพระกุมารที่ปากดง พากันห้ามว่า
พ่อมาณพผู้เจริญ ท่านอย่าเข้าไปสู่ดงนี้ ในดงนั้นมียักษ์ชื่อ
สิเลสโลมะสิงอยู่ มันทำให้คนที่มันพบเห็นตายมามากแล้ว.
พระโพธิสัตว์ ระวังพระองค์ไม่ครั่นคร้ามเลย มุ่งเข้า
ดงถ่ายเดียว เหมือนไกรสรราชสีห์ ผู้ไม่ครั่นคร้ามฉะนั้น. พอ
ไปถึงกลางดง ยักษ์ตนนั้นมันก็แปลงกาย สูงชั่วลำตาล ศีรษะ
เท่าเรือนยอด นัยน์ตาแต่ละข้างขนาดเท่าล้อเกวียน เขี้ยวทั้งสอง
แต่ละข้าง ขนาดเท่าหัวปลีตูม หน้าขาว ท้องด่าง มือเท้าเขียว
แล้วสำแดงตนให้พระโพธิสัตว์เห็น ร้องว่า เจ้าจะไปไหน ?
หยุดนะ เจ้าต้องเป็นอาหารของเรา. ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ ตวาด
มันว่า ไอ้ยักษ์ เราเตรียมตัวแล้วจึงเข้ามาในดง เจ้าอย่าเผลอตัว
เข้ามาใกล้เรา เพราะเราจะยิงเจ้าด้วยลูกศรอาบยาพิษ ให้ล้มลง
ตรงนั้นแหละ แล้วใส่ลูกศรอาบยาพิษอย่างแรงยิงไป. ลูกศรไป
ติดอยู่ที่ขนของยักษ์ทั้งหมด. พระโพธิสัตว์ปล่อยลูกศรไปติด ๆ
กัน ลูกแล้ว ลูกเล่า ทะยอยออกไปด้วยอาการอย่างนี้ สิ้นลูกศร
ถึง 50 ลูก ทุก ๆ ลูกไปติดอยู่ที่ขนของมันเท่านั้น ยักษ์สลัด
ลูกศรทั้งหมด ให้ตกลงที่ใกล้ ๆ เท้าของมันนั่นแหละ แล้วรี่เข้า
หาพระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์กลับตวาดมันอีก แล้วชักพระ-
ขรรค์ออกฟัน. พระขรรค์ยาว 33 นิ้วก็ติดขนมันอีก. ที่นั้นจึง

แทงมันด้วยหอกซัด. แม้หอกซัดก็ติดอยู่ที่ขนนั่นเอง. ครั้นพระ-
โพธิสัตว์ทราบอาการที่มันมีขนเหนียวแล้ว จึงตีด้วยตระบอง
แม้ตระบองก็ไปติดที่ขนของมันอีกนั่นแหละ. พระโพธิสัตว์ทราบ
อาการที่มันมีตัวเหนียวเป็นตัว ก็สำแดงสีหนาทอย่างไม่ครั่นคร้าม
ประกาศก้องร้องว่า เฮ้ยไอ้ยักษ์ เจ้าไม่เคยได้ยินชื่อเรา ผู้ชื่อว่า
ปัญจาวุธกุมารเลยหรือ ? เมื่อเราจะเข้าดงที่เจ้าสิงอยู่ ก็เตรียม
อาวุธมีธนูเป็นต้นเข้ามา เราเตรียมพร้อมเข้ามาแล้วทีเดียว
วันนี้เราจักตีเจ้าให้แหลกเป็นจุณวิจุณไปเลย พลางโถมเข้าต่อย
ด้วยมือข้างขวา มือข้างขวาก็ติดขน ต่อยด้วยมือซ้าย มือซ้ายก็
ติดอีก เตะด้วยเท้าขวา เท้าขวาก็ติด เตะด้วยเท้าซ้าย เท้าซ้าย
ก็ติด คิดว่าต้องกระแทกให้มันแหลกด้วยศีรษะ แล้วก็กระแทก
ด้วยศีรษะ แม้ศีรษะก็ไปติดที่ขนของมันเหมือนกัน. พระโพธิสัตว์
ติดตรึงแล้วในที่ทั้ง 5 แม้จะห้อยโตงเตงอยู่ ก็ไม่กลัว ไม่สะทก-
สะท้านเลย.
ยักษ์จึงคิดว่า บุรุษนี้เป็นเอก เป็นดุจบุรุษสีหะ เป็น
บุรุษอาชาไนย ไม่ใช่บุรุษธรรมดา ถึงจะถูกยักษ์อย่างเรา
จับไว้ แม้มาดว่าความสะดุ้งก็หามีไม่ ในทางนี้เราฆ่าคนมามาก.
ไม่เคยเห็นบุรุษอย่างนี้สักคนหนึ่งเลย เพราะเหตุไรหนอ บุรุษนี้
จึงไม่กลัว ? ยักษ์ไม่อาจจะกินพระโพธิสัตว์ได้ จึงถามว่า ดูก่อน
มาณพ เพราะเหตุไรหนอท่านจึงไม่กลัวตาย. พระโพธิสัตว์ตอบ
ว่า ยักษ์เอ๋ย ทำไมเราจักต้องกลัว เพราะในอัตภาพหนึ่ง ความ

ตายนั้นเป็นของแน่นอนทีเดียว อีกประการหนึ่งในท้องของเรา
มีวชิราวุธ ถ้าเจ้ากินเรา ก็จักไม่สามารถทำให้อาวุธนั้นย่อยได้
อาวุธนั้น จักต้องบาดใส้พุงของเจ้าให้ขาดเป็นชิ้น ๆ เล็กบ้าง
ใหญ่บ้าง ทำให้เจ้าถึงสิ้นชีวิตได้ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ เราก็
ต้องตายกันทั้งสองคน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่กลัวตาย. นัยว่า คำว่า
วชิราวุธนี้ พระโพธิสัตว์ตรัสหมายถึง อาวุธคือญาณ ในภายใน
ของพระองค์. ยักษ์ฟังคำนั้นแล้วคิดว่า มาณพนี้คงพูดจริงทั้งนั้น
ชิ้นเนื้อเเม้ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว จากร่างกายของบุรุษสีหะ
ผู้นี้ ถ้าเรากินเข้าไปในท้องแล้ว จักไม่อาจให้ย่อยได้ เราจัก
ปล่อยเขาไป ดังนี้แล้ว เกิดกลัวตาย จึงปล่อยพระโพธิสัตว์
กล่าวว่า พ่อมาณพ ท่านเป็นบุรุษสีหะ. เราจักไม่กินเนื้อของ
ท่านละ ท่านพ้นจากเงื้อมมือของเรา เหมือนดวงจันทร์พ้นจาก
ปากราหู เชิญท่านไปเถิด มวลญาติมิตรจะได้ดีใจ. ลำดับนั้น
พระโพธิสัตว์จึงตรัสกะยักษ์ว่า ดูก่อนยักษ์ เราต้องไปก่อน
ส่วนท่าน ได้กระทำอกุศลไว้ในครั้งก่อนแล้ว จึงได้เกิดเป็นผู้
ร้ายกาจ มืออาบด้วยเลือด มีเลือดเนื้อของคนอื่นเป็นภักษา
แม้ถ้าท่านดำรงอยู่ในอัตภาพนี้ ยังจักกระทำอกุศลกรรมอยู่อีก
ก็จักไปสู่ความมืดมน จากความมืดมน นับแต่ท่านพบเราแล้ว
เราไม่อาจปล่อยให้ท่านทำอกุศลกรรมอยู่ได้ แล้วจึงตรัสโทษ
ของทุศีลกรรมทั้ง 5 โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่ากรรม
คือการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ย่อมทำสัตว์ให้เกิดในนรก

ในกำเนิดดิรัจฉานในเปตวิสัย และในอสุรกาย ครั้นมาเกิด
ในมนุษย์เล่า ก็ทำให้เป็นคนมีอายุสั้น แล้วทรงแสดงอานิสงส์
ของศีลทั้ง 5 ขู่ยักษ์ด้วยเหตุต่าง ๆ ทรงแสดงธรรม ทรมาน
จนหมดพยศร้าย ชักจูงให้ดำรงอยู่ในศีล 5 กระทำยักษ์นั้นให้
เป็นเทวดารับพลีกรรมในดงนั้น แล้วตักเตือนด้วยอัปปมาทธรรม
ออกจากดง บอกแก่มนุษย์ที่ปากดง สอดอาวุธทั้ง 5 ประจำ
พระองค์ เสด็จไปสู่กรุงพาราณสี เฝ้าพระราชบิดา พระราช-
มารดา ภายหลังได้ครองราชย์ ก็ทรงปกครองโดยธรรม ทรง
บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น เสด็จไปตามยถากรรม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ครั้นตรัสรู้
แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ ใจความว่า :-
"นรชนผู้ใด มีจิตไม่ท้อแท้ มีใจไม่หดหู่
บำเพ็ญกุศลธรรม เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนผู้นั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่าง
โดยลำดับ"
ดังนี้.
ในพระคาถานั้น ประมวลความได้ดังนี้ :- บุรุษใดมีใจ
ไม่หดหู่ คือไม่ท้อแท้รวนเร มีใจไม่หดหู่โดยปกติ เป็นผู้มีอัธยาศัย
แน่วแน่มั่นคง จำเริญเพิ่มพูนธรรม ที่ได้ชื่อว่ากุศล ได้แก่
โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ เพราะเป็นธรรมที่ปราศจากโทษ
บำเพ็ญวิปัสสนาด้วยจิตอันกว้างขวาง เพื่อบรรลุความเกษม
จากโยคะทั้ง 4 คือ พระนิพพาน บุรุษนั้นยกขึ้นซึ่งไตรลักษณ์

คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสังขารทั้งมวลอย่างนี้แล้ว ยัง
โพธิปักขิยธรรมที่เกิดขึ้นจำเดิมแต่วิปัสสนายังอ่อนให้เจริญ
พึงบรรลุพระอรหัตผลอันถึงการนั้นว่า ความสิ้นสังโยชน์ทุก
อย่าง เพราะบังเกิดแล้วในที่สุดแห่งมรรคทั้ง 4 อันเป็นเหตุ
สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งหมด มิได้เหลือเลยแม้สักสังโยชน์เดียว
โดยลำดับ.
พระบรมศาสดา ทรงถือเอายอดพระธรรมเทศนา ด้วย
พระอรหัตผลด้วยประการฉะนี้ ในที่สุดทรงประกาศ จตุราริยสัจ
(อริยสัจ 4) ในเวลาจบสัจธรรม ภิกษุนั้นได้บรรลุพระอรหัตผล
แม้พระบรมศาสดา ก็ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า ยักษ์ใน
ครั้งนั้นได้มาเป็นพระองคุลิมาร ส่วนปัญจาวุธกุมาร ได้มาเป็น
เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาปัญจาวุธชาดกที่ 5

6. กัญจนขันธชาดก


ว่าด้วยการบรรลุ ธรรม อันเกษม


[56] " นรชนใด มีจิตร่าเริง มีใจเบิกบาน
เจริญกุศลธรรม เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดน
เกษมจากโยคะ นรชนนั้น พึงบรรลุธรรมเป็น
ที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ"

จบ กัญจนขันธชาดกที่ 6

อรรถกถากาญจนักขันธชาดกที่ 6


พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหา-
วิหาร ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า โย ปหฏฺเฐน จิตฺเตน ดังนี้.
ได้ยินว่า กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง ฟังพระธรรม-
เทศนาของพระคาถาแล้ว บวชถวายชีวิตในพระศาสนา คือ
พระรัตนตรัย. ครั้งนั้นอาจารย์และอุปัชฌาย์ของเธอ กล่าวสอน
ถึงศีลว่า ผู้มีอายุ ที่ชื่อว่าศีล อย่างเดียวก็มี สองอย่างก็มี สาม
อย่างก็มี สี่อย่างก็มี ห้าอย่างก็มี หกอย่างก็มี เจ็ดอย่างก็มี
แปดอย่างก็มี เก้าอย่างก็มี ที่ชื่อว่าศีลมีมากอย่าง นี้เรียกว่า
จุลศีล นี้เรียกว่า มัชฌิมศีล นี้เรียกว่า มหาศีล นี้เรียกว่า
ปาฏิโมกขสังวรศีล นี้เรียกว่า อินทริยสังวรศีล นี้เรียกว่า