เมนู

10. สัญชีวชาดก


ว่าด้วยโทษที่ยกย่องอสัตบุรุษ


[150] "ผู้ใดยกย่อง และคบหาอสัตบุรุษ อสัต-
บุรุษย่อมทำผู้นั้นแหละให้เป็นเหยื่อ เหมือน
พยัคฆ์ที่สัญชีวมาณพ ชุบขึ้น ย่อมทำเขานั่นแล
ให้เป็นเหยื่อ ฉะนั้น"

จบ สัญชีวชาดกที่ 10

อรรถกถาสัญชีวชาดกที่ 10


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน
ทรงปรารภการยกย่องอสัตบุรุษของพระเจ้าอชาตศัตรู ตรัส
พระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า "อสนฺตํ โย ปคฺคณฺหาติ"
ดังนี้.
ความพิสดารว่า พระเจ้าอชาตศัตรูนั้น ทรงเลื่อมใสใน
พระเทวทัตผู้ทุศีล มีบาปธรรม เป็นเสี้ยนหนามต่อพระพุทธองค์
และพุทธสาวก ทรงยกย่องพระเทวทัตนั้น ผู้ไม่สงบระงับเป็น
อสัตบุรุษ ทรงพระดำริว่า จักทำสักการะแก่เธอ ดังนี้แล้ว ทรง
บริจาคทรัพย์เป็นอันมาก ให้สร้างวิหารที่คยาสีสประเทศ ทรง

เชื่อถ้อยคำของเธอ สำเร็จโทษพระราชบิดา ผู้เป็นพระราชา
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นพระอริยสาวกชั้นพระโสดาบันเสีย ตัดรอน
อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของพระองค์ ถึงความพินาศ
ใหญ่หลวง ครั้นท้าวเธอทรงสดับว่า พระเทวทัต ถูกแผ่นดินสูบ
ก็สะดุ้งตกพระทัยว่า ตัวเราเล่า จักถูกแผ่นดินสูบบ้างไหมหนอ ?
ไม่ได้รับความสุขในราชสมบัติ ไม่ได้ประสบความยินดีบน
พระแท่นบรรทม ทรงหวาดผวาอยู่เที่ยวไป เหมือนเปรตที่ถูกทรมาน
อย่างรุนแรง ท้าวเธอนึกเห็นเป็นเสมือน กำลังถูกแผ่นดินสูบ
เหมือนเปลวเพลิงในอเวจี กำลังแลบออกมา และเหมือนพระองค์
จักบังคับให้บรรทมหงาย เหนือแผ่นดินเหล็กที่ร้อน แล้วถูกแทง
ด้วยหลาวเหล็กฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น ขึ้นชื่อว่า ความสงบพระทัย
แม้ชั่วครู จึงมิได้มีแก่พระองค์ ผู้หวาดผวาเหมือนไก่ที่ถูกเชือด
ท้าวเธอมีพระประสงค์จะเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระ-
ประสงค์จะให้พระพุทธองค์ทรงอดโทษ ทั้งมีพระประสงค์จะ
ทูลถามปัญหา แต่เพราะพระองค์มีความผิดอย่างใหญ่หลวง จึง
มิอาจที่จะเข้าเฝ้าได้.
ครั้งนั้นประจวบกับพระนครราชคฤห์ มีงานราตรีประจำ-
เดือน กัตติกา ประชาชนพากันตกแต่งบ้านเมืองประหนึ่งเทพนคร
พระเจ้าอชาตศัตรู แวดล้อมไปด้วยหมู่อำมาตย์ ประทับนั่งเหนือ
พระราชอาสน์ทองคำ ในท้องพระโรงหลวง ทอดพระเนตรเห็น
หมอชีวกโกมารภัจ นั่งเฝ้าอยู่ไม่ห่าง ได้ทรงมีพระปริวิตกว่า

เราจักชวนหมอชีวกไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราไม่อาจ
ที่จะชวนไปตรง ๆ ทีเดียว ว่า ชีวกผู้สหาย เราไม่สามารถที่
จะไปตามลำพังได้ มาเถิด เธอช่วยพาฉันไปเฝ้าพระศาสดา
ด้วยเถิด ดังนี้ ต้องพรรณาถึงความเพริดพริ้งงดงามแห่ง
ยามราตรี แก่เขาด้วยปริยายเป็นอันมาก แล้วจึงค่อยกล่าวว่า
ไฉนเล่าหนอ วันนี้พวกเราน่าจะเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์
ที่เมื่อพวกเราเข้าไปหาท่าน จะพึงทำจิตใจให้ผ่องใสได้ ฟังคำนั้น
แล้ว พวกอำมาตย์จักพากันพรรณนาคุณศาสดาทั้งหลายของตน
ถึงหมอชีวกเล่า ก็คงจะกล่าวพรรณนาคุณแห่งพระสัมมาสัม-
พุทธเจ้า เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักชวนเขาไปสู่สำนักพระศาสดา
ดังนี้ ท้าวเธอจึงพรรณนาราตรีกาล ด้วยบททั้ง 5 ดังนี้ :-
ชาวเราเอ๋ย คืนวันเพ็ญ เจิดจ้าแท้ หนอ
ชาวเราเอ๋ย คืนวันเพ็ญ งามจริง ยิ่งหนอ
ชาวเราเอ๋ย คืนวันเพ็ญ น่าทัศนา จริงหนอ
ชาวเราเอ๋ย คืนวันเพ็ญ แจ่มใส จริงหนอ
ชาวเราเอ๋ย คืนวันเพ็ญ น่ารื่นรมย์ แท้หนอ

วันนี้ใครเล่าหนอ ที่ชาวเราควรเข้าไปหา ท่านผู้ใดเล่า
ที่พวกเราเข้าไปหา จิตใจจะพึงเลื่อมใสได้ ครั้งนั้น อำมาตย์
ผู้หนึ่ง กล่าวถึงคุณของปูรณกัสสป คนหนึ่งกล่าวถึงคุณของ
มักขลิโคศาล คนหนึ่งกล่าวถึงคุณของอชิตเกสกัมพล คนหนึ่ง
กล่าวคุณปกุทธกัจจายนะ คนหนึ่งกล่าวคุณของสญชัยเวลัฏฐบุตร

คนหนึ่งกล่าวคุณของนิครนถนาฏบุตร พระราชาทรงสดับคำ
ของเขาเหล่านั้นแล้ว ได้ทรงดุษณีภาพด้วยว่า ท้าวเธอทรง
ปรารถนาถ้อยคำของมหาอำมาตย์ชีวกเท่านั้น ฝ่ายหมอชีวก
ดำริว่า เมื่อพระราชาตรัสกับเรานั่นแหละ เราจึงจักกราบทูล
ดังนี้แล้วก็นั่งนิ่งอยู่ในที่ไม่ไกล ครั้งนั้น พระราชาจึงตรัสกะเขา
ว่า ดูก่อนสหายชีวก ท่านเล่าทำไมจึงนิ่งเสีย ? ขณะนั้น ชีวก
ก็ลุกจากอาสนะ ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ประทับอยู่ กราบทูลว่า ขอเดชะ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็น
พระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น กำลังเสด็จ
ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของข้าพระองค์ กับภิกษุสงฆ์ 1,250 รูป
ก็แลกิตติศัพท์อันงามอย่างนี้ เฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์
นั้น ระบือไปแล้ว พลางประกาศปาฏิหาริย์เก้าร้อยประการ
อานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีบุรพนิมิตรตั้งแต่ประสูติ
เป็นต้นเป็นประเภท แล้วกราบทูลว่า ขอเชิญพระองค์ผู้สมมติเทพ
เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงสดับธรรม
ตรัสถามปัญหาเถิดพระเจ้าข้า พระราชาทรงมีพระมโนรถเต็ม
เปี่ยม ตรัสว่า สหายชีวก ถ้าเช่นนั้น เธอจงสั่งให้จัดแจงช้างเถิด
ครั้นรับสั่งให้จัดเตรียมยานพาหนะแล้ว เสด็จดำเนินไปสู่
ชีวกัมพวัน ด้วยราชานุภาพอันใหญ่หลวง ทอดพระเนตรเห็น
พระตถาคตเจ้า แวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุในโรงโถง ณ ชีวกัมพวัน
นั้น ทรงชำเลืองดูหมู่ภิกษุ ผู้ปราศจากการเคลื่อนไหว ประหนึ่ง

เรือใหญ่ในท่ามกลางทะเล ยามมีคลื่นลมสงบแล้ว ฉะนั้น โดย
ถ้วนทั่ว ทรงเลื่อมใสในอิริยาบถนั้นแล ด้วยทรงพระดำริว่า
บริษัทเห็นปานดังนี้ เราไม่เคยเห็นเลย พลางประคองอัญชลี
แด่พระสงฆ์ ตรัสชมเชย ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ
นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลถามปัญหาในสามัญญผล
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงสามัญญผลสูตร ประดับ
ด้วยภาณวาร 2 ภาณวาร แก่ท้าวเธอ ในเวลาจบพระสูตร
ท้าวเธอดีพระทัย ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอดโทษ เสด็จ
ลุกจากอาสนะ ทรงกระทำปทักษิณ แล้วเสด็จหลีกไป.
เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้วไม่นาน พระศาสดาตรัสเรียก
ภิกษุทั้งหลาย มาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาองค์นี้
ถูกขุดเสียแล้ว ถูกโค่นเสียแล้ว ถ้าท้าวเธอจักไม่ปลงพระชนม์
พระราชบิดา ผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นราชาโดยธรรมเสีย
เพราะมุ่งความเป็นใหญ่ไซร้ ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก
มลทิน จักบังเกิดในขณะประทับนั่งนี้ทีเดียว แต่ท้าวเธออาศัย
พระเทวทัต ทำการยกย่องอสัตบุรุษ จึงเสื่อมเสียจากโสดา-
ปัตติผล ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลาย ยกเรื่องขึ้นสนทนากันใน
ธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ได้ยินว่า พระเจ้าอชาตศัตรู
เสื่อมเสียจากโสดาปัตติผล เพราะทำการยกย่องอสัตบุรุษ
อาศัยพระเทวทัตผู้ทุศีล มีบาปธรรม ทรงกระทำปิตุฆาตกรรม
เป็นพระราชาที่พระเทวทัตให้ฉิบหายแล้ว พระศาสดาเสด็จมา

ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนา
กันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อชาตศัตรู
ทำการยกย่องอสัตบุรุษ ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง แม้ใน
กาลก่อน เธอก็ทำลายตนเสียด้วยการยกย่องอสัตบุรุษเหมือนกัน
ทรงนำเรื่องราวในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์ มีสมบัติ
มาก เจริญวัยแล้วไปสู่เมืองตักกสิลา เรียนสรรพศิลปวิทยา
เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในพระนครพาราณสี บอกศิลปะแก่
มาณพ 500 คน ในมาณพเหล่านั้น มีมาณพคนหนึ่งชื่อ "สัญชีวะ"
พระโพธิสัตว์ได้ให้มนต์ทำคนตายให้ฟื้นแก่เขา เขาเรียนแต่มนต์
ทำคนตายให้ฟื้นอย่างเดียว ไม่ได้เรียนมนต์สำหรับป้องกัน
วันหนึ่งไปป่าหาฟืนกับพวกเพื่อน เห็นเสือตายตัวหนึ่ง ก็พูดกะ
พวกมาณพว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราจักทำเสือตายตัวนี้ให้
ฟื้นขึ้น มาณพทั้งหลาย กล่าวแย้งว่า ท่านจักไม่สามารถดอก
เขากล่าวว่า เราจักทำให้มันฟื้นขึ้น ให้พวกท่านเห็นกันทุกคน
ทีเดียว พวกมาณพเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ถ้าท่านสามารถ ก็จง
ปลุกให้มันตื่นขึ้นเถิด ครั้นกล่าวแล้ว ต่างรีบปีนขึ้นต้นไม้ สัญชีว-
มาณพ ร่ายมนต์แล้วขว้างเสือตายด้วยก้อนกรวด เสือลุกขึ้น
โดดกัดสัญชีวมาณพที่ก้านคอ ทำให้สิ้นชีวิต ล้มลงตรงนั้นเอง

ทั้งคู่นอนตายอยู่ในที่เดียวกัน พวกมาณพพากันขนฟืนไปแล้ว
แจ้งความเป็นไปนั้นแก่อาจารย์ อาจารย์จึงเรียกมาณพทั้งหลาย
มากล่าวว่า พ่อคุณทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า ผู้ที่ยกย่อง อสัตบุรุษ
กระทำสักการะและสัมมานะ ในที่อันไม่สมควร ย่อมกลับได้รับ
ทุกข์เห็นปานนี้ ทั้งนั้น แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า : -
"ผู้ใดยกย่อง และคบหาอสัตบุรุษ อสัต-
บุรุษย่อมทำผู้นั้นแหละให้เป็นเหยื่อ เหมือนพยัคฆ์
ที่สัญชีวมาณพ ชุบขึ้น ย่อมทำเขานั่นแลให้เป็น
เหยื่อ ฉะนั้น"
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสนฺตํ ได้แก่ผู้ทุศีลมีบาปธรรม
ประกอบด้วยทุจริตทั้ง 3 ประการ.
บทว่า โย ปคฺคณฺหาติ ความว่า บรรดาขนมีกษัตริย์
เป็นต้น ผู้ใดผู้หนึ่งยกย่อง คือทำสักการะ สัมมานะ อสัตบุรุษ
ผู้ทุศีลเห็นปานนี้ ที่เป็นบรรพชิต ด้วยการถวายปัจจัยมีจีวร
เป็นต้น ที่เป็นคฤหัสถ์ด้วยการให้ครอบครองตำแหน่ง อุปราช
และเสนาบดี เป็นต้น.
บทว่า อสนฺตํ จูปเสวติ ความว่า อนึ่งเล่าผู้ใดย่อมเข้าไป
สร้องเสพ คบหา สนิทสนม อสัตบุรุษ ผู้ทุศีล เห็นปานนี้.
บทว่า ตเมว ฆาสํ กุรุเต ความว่า บุคคลชั่วผู้ทุศีลนั้น
ย่อมกัดผู้นั้น คือผู้ที่ยกย่องอสัตบุรุษนั้นแล กินเสีย ได้แก่ทำผู้นั้น
ให้ถึงความพินาศ.

เช่นไรเล่า ?
เหมือนพยัคฆ์ที่คืนชีพ เพราะมาณพชุบขึ้น อธิบายว่า
พยัคฆ์ที่ตายคืนชีพได้ โดยที่สัญชีวมาณพ ร่ายมนต์ยกย่องด้วย
การมอบชีวิตให้ กลับปลงชีพ สัญชีวมาณพผู้ให้ชีวิตแก่มัน
ให้ล้มลงตรงนั้นเอง ฉันใด แม้ผู้อื่นก็ฉันนั้น ผู้ใดทำการยกย่อง
อสัตบุรุษ อสัตบุรุษทุศีลนั้น ย่อมทำลายล้าง ผู้ที่ยกย่องตนนั้น
เสียทีเดียว พวกชนที่ยกย่องอสัตบุรุษ ย่อมพากันถึงความ
พินาศ ด้วยประการฉะนี้.
พระโพธิสัตว์ แสดงธรรมแก่มาณพทั้งหลาย ด้วยคาถานี้
การทำบุญมีให้ทานเป็นต้น แล้วก็ไปตามยถากรรม.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรง
ประชุมชาดกว่า มาณพผู้ทำเสือตายให้ฟื้นในครั้งนั้น ได้มาเป็น
พระเจ้าอชาตศัตรูในบัดนี้ ส่วนอาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้มาเป็น
เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ สัญชีวชาดกที่ 10

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
1. โคธชาดก 2. สิคาลชาดก 3. วิโรจนชาดก 4. นัง-
คุฏฐชาดก 5. ราธชาดก 6. กากชาดก 7. ปุปผรัตตชาดก
8. สิคาลชาดก 9. เอกปัณณชาดก 10. สัญชีวชาดก.
จบ กกัณฏกวรรคที่ 15
รวมชาดกที่มีในเอกนิบาตนี้ คือ
5. อัตถกกามวรรค 6. อาสิงสวรรค 7. อิตถีวรรค 8. วรุณวรรค
9. อปายิมหวรรค 10. ลิตตวรรค 11. ปโรสตวรรค 12. หังสิวรรค
13. กุสินาฬิวรรค 14. อสัมปทานวรรค 15. กกัณฏกวรรค
จบ เอกนิบาต