เมนู

5. ราธชาดก


ว่าด้วยการพูดเพ้อเจ้อเพราะความเขลา


[145] "ราธะเอ๋ย เจ้าไม่รู้จักคนทั้งหลายที่ยัง
ไม่มา ในเวลาปฐมยาม เจ้าพูดจาเพ้อเจ้อไปตาม
ความโง่เขลา ในเมื่อแม่โกสิยายนี หมดความ
รักใคร่ในบิดาของเจ้าเสียแล้ว"

จบ ราธชาดกที่ 5

อรรถกถาราธชาดกที่ 5


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภการเล้าโลมของภรรยาเก่า ตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า น ตฺวํ ราธ วิชานาสิ ดังนี้.
เรื่องปัจจุบัน จักมีแจ้งในอินทริยชาดก (ข้อที่แปลกคือ :-) ก็
พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุนั้นมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่า
มาตุคาม เป็นผู้อันใครรักษาไม่ได้ แม้จะระมัดระวังแข็งแรง ก็
ไม่สามารถจะรักษาไว้ได้ ดูก่อนภิกษุ ในครั้งก่อน ถึงเธอก็ตั้งการ
ป้องกันคอยรักษามาตุคามอยู่ แต่ไม่อาจรักษาไว้ได้เลย บัดนี้
เธอจะรักษาไว้ได้อย่างไรกัน แล้วทรงนำเรื่องราวในอดีตมาสาธก
ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกแขกเต้า
พราหมณ์ผู้หนึ่งในแคว้นกาสี เลี้ยงพระโพธิสัตว์และน้องชายไว้
ในฐานะเป็นลูก ในนกทั้งสองนั้น พระโพธิสัตว์ได้นามว่า โปฏฐ-
ปาทะ น้องชายได้นามว่า ราธะ แต่ภรรยาของพราหมณ์เป็นหญิง
ไม่มีมารยาท ทุศีล เมื่อพราหมณ์จะออกเดินทางไปค้าขาย
ก็สั่งเสียนกทั้งสองพี่น้องไว้ว่า ดูก่อนพ่อทั้งสอง ถ้าพราหมณี
แม่ของเจ้า จะประพฤติไม่ดีไม่งาม ละก้อ เจ้าคอยห้ามเขานะ
นกพระโพธิสัตว์กล่าว ครับคุณพ่อ ถ้าสามารถห้ามได้ผมก็จักห้าม
ถ้าห้ามไม่ได้ ก็ต้องนิ่ง พราหมณ์มอบนางพราหมณีแก่นกแขกเต้า
ทั้งสองอย่างนี้แล้ว ก็เดินทางไปค้าขาย ตั้งแต่วันที่พราหมณ์
จากไป พราหมณีก็เริ่มประพฤตินอกใจ ทั้งคนที่เข้าไป และคนที่
ออกมา หาประมาณมิได้ นกราธะเห็นกิริยาของนางก็กล่าวกะ
พระโพธิสัตว์ว่า พี่ครับ คุณพ่อของเราสั่งไว้ก่อนไปว่า ถ้าแม่
ของเจ้าทั้งสอง ประพฤติไม่ดีไม่งามละก็ เจ้าคอยห้ามนะ ดังนี้
แล้วจึงไป บัดนี้เล่า นางกำลังจะประพฤติไม่ดีไม่งาม เราช่วย
กันห้ามนางเถิด พระโพธิสัตว์กล่าวเตือนว่า น้องรัก เจ้าพูดด้วย
ความโง่ เพราะความไม่ฉลาดเฉลียวของตนแท้ ๆ ขึ้นชื่อว่า
มาตุคาม แม้บุคคลจะคอยอุ้มไว้พาไป ก็ยังไม่อาจรักษาไว้ได้เลย
ไม่สมควรที่เราจะทำสิ่งที่ไม่สามารถจะกระทำได้ แล้วกล่าว
คาถานี้ ความว่า :-

" ราธะเอ๋ย เจ้าไม่รู้จักคนทั้งหลายที่ยัง
ไม่มา ในเวลาครึ่งคืนข้างหน้า เจ้าพูดเพ้อเจ้อ
ไปอย่างโง่ ๆ ในเมื่อแม่โกสิยานี หมดความรัก
ในบิดาของเราเสยแล้ว"
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตฺวํ ราธ วิชานาสิ อฑฺฒรตฺเต
อนาคเต
ความว่า พ่อราธะเอ๋ย เจ้าไม่รู้อะไร ? ในครึ่งคืน
ข้างหน้า คือในยามแรกเท่านั้น คนที่ยังไม่มามีถึงเท่านี้ บัดนี้
ใครเล่าจะรู้ว่า คนอีกเท่าไร จักพากันมา.
บทว่า อพฺยายตํ วิลปสิ ความว่า เจ้าอย่าพูดเพ้อเจ้อเพราะความเขลา
บทว่า วิรตฺเต โกสิยาย ความว่า พราหมณีโกสิยายนี
มารดาของเรา หมดรักเสียแล้ว คือไม่มีความรักในบิดาของเรา
เสียแล้ว ถ้าแกยังมีความเยื่อใย หรือความรักในคุณพ่อ ก็ไม่น่า
จะประพฤติไม่ดี ไม่งามอย่างนี้เลย ด้วยพยัญชนะ (ในคาถา)
เหล่านี้ พระโพธิสัตว์ ประกาศความดังพรรณนามานี้.
ครั้นพระโพธิสัตว์ประกาศอย่างนี้แล้ว ไม่ยอมให้นกราธะ
น้องชาย พูดกะนางพราหมณี นางก็ประพฤติชั่วได้ตามใจชอบ
ตราบเท่าเวลาที่พราหมณ์ยังไม่กลับมา พราหมณ์มาแล้ว ถาม
นกโปฏฐปาทะว่า พ่อคุณ แม่ของเจ้าทั้งสองเป็นอย่างไร ?
พระโพธิสัตว์ บอกเรื่องตามเป็นจริงทั้งหมดแก่พราหมณ์ แล้ว
กล่าวว่า คุณพ่อครับ หญิงประพฤติชั่วอย่างนี้ คุณพ่อเลี้ยงไว้
ทำไม แล้วกล่าวต่อไปว่า คุณพ่อครับ นับแต่เวลาที่กระผม

ทั้งสองกล่าวโทษของคุณแม่แล้ว ก็ไม่อาจอยู่ที่นี้ได้ กราบเท้า
พราหมณ์ แล้วก็บินเข้าป่าไป.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประกาศ
สัจจะ เมื่อจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสัน ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
แล้วทรงประชุมชาดกว่า พราหมณ์และพราหมณีในครั้งนั้น ได้
มาเป็นคนทั้งคู่นี้แหละ นกราธะได้มาเป็นอานนท์ ส่วนนกโปฏฐ-
ปาทะ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาราธชาดกที่ 5

6. กากชาดก


ว่าด้วยกาวิดน้ำด้วยปาก


[146] เออหนอ ขาตะไกรของพวกเราล้าเสีย
แล้ว และปากเล่าก็ซีดเซียว พวกเราพากันวิดอยู่
ไม่ทำให้สมุทรเหือดแห้งได้ ดูเถอะ ห้วงน้ำใหญ่
ยังคงเต็มอยู่ตามเดิม.

จบ กากชาดกที่ 6

อรรถกถากากชาดกที่ 6


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภภิกษุแก่ ๆ หลายรูปด้วยกัน ตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า อปิ นุ หนุกา สนฺตา ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้น ครั้งเป็นคฤหัสถ์ เป็นกุฏุมพี
ในเมืองสาวัตถี มั่งมีทรัพย์ เป็นสหายกัน ทำบุญร่วมกัน ฟัง
พระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว พากันดำริว่า พวกเรา
เป็นคนแก่ จะมีประโยชน์อะไรแก่พวกเราด้วยการอยู่
ครองเรือน พวกเราจักบวชในพระพุทธศาสนา อันเป็นที่
น่ายินดีในสำนักของพระศาสดา จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ ดังนี้
แล้วต่างยกสมบัติทั้งปวงให้แก่ลูกหลานเป็นต้น ละหมู่ญาติผู้มี
น้ำตานองหน้าเสีย ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา และครั้นบวช