เมนู

7. กลัณฑุกชาดก


ว่าด้วยมรรยาทส่อสกุล


[127] "สกุลของเจ้าไม่ใช่สกุลสูง เราผู้เที่ยว
อยู่ในป่า ก็ยังรู้ได้ นายของเจ้าทราบแน่แล้ว ก็
พึงจับเจ้าไป ดูราเจ้ากลัณฑุกะ เจ้าจงดื่มนมเสีย
เถิด"

จบ กลัณฑุกชาดกที่ 7

อรรถกถากลัณฑุกชาดกที่ 7


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า เต เทสา ตานิ วตฺถูนิ ดังนี้.
เรื่องแม้ทั้งสองในชาดกนั้น ก็เช่นเดียวกันกับกฏาหกชาดก
นั้นแหละ แต่ในชาดกนี้ ทาสของพาราณสีเศรษฐีผู้นี้
มีชื่อว่า กลัณฑุกะ ในเวลาที่เขาหนีไปครอบครองธิดาของปัจจันต-
เศรษฐี อยู่ด้วยบริวารเป็นอันมาก พาราณสีเศรษฐี แม้จะให้คน
เที่ยวสืบหา ก็ไม่รู้ที่ที่เขาไป จึงส่งนกแขกเต้าผู้อยู่กับตนไปว่า
ไปเถิด ไปสืบหากลัณฑุกะให้ทีเถิด ลูกนกแขกเต้าเที่ยวไปเรื่อย ๆ
จนถึงนครนั้น ในกาลนั้น กลัณฑุกะประสงค์จะเล่นน้ำ ให้คนถือ
เอาดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้กับขาทนียะ และโภชนียะเป็น

อันมากไปสู่แม่น้ำ นั่งเรือกับเศรษฐีธิดาเล่นน้ำอยู่ ก็ในประเทศ
ถิ่นฐานนั้น เมื่อเจ้านายใหญ่โต เล่นกีฬาในน้ำจะดื่มนมสด แกล้ม
ด้วยเภสัชที่มีรสเข้ม เพราะเหตุนั้น เมื่อพวกนั้นเล่นน้ำตลอดวัน
ความหนาวก็ไม่เบียดเบียนได้ แต่กลัณฑุกะนี้ ถือถ้วยนมสด
บ้วนปาก แล้วถ่มนมสดนั้นทิ้งเสีย แม้เมื่อจะถ่มทิ้ง ก็ไม่ถ่มลง
ในน้ำ ถ่มลงบนหัวของเศรษฐีธิดาอีกด้วย ฝ่ายลูกนกแขกเต้า
บินถึงฝั่งแม่น้ำ ก็เกาะอยู่ที่กิ่งมะเดื่อกิ่งหนึ่ง ค้นดู ก็จำกลัณฑุกะได้
เห็นกำลังถ่มรดศีรษะธิดาเศรษฐีอยู่ ก็กล่าวว่า แนะเจ้าทาส
กลัณฑุกะชาติชั่ว จงสำนึกถึงชาติกำเนิด แลพื้นเพของตนบ้าง
เถิด อย่าเอานมสดมาล้างปากแล้วถ่มรดศีรษะ เศรษฐีธิดา
ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ จำเริญด้วยความสุขเลย ช่างไม่รู้ประมาณ
ตนเลยนะ แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :-
"สกุลของเจ้าไม่ใช่สกุลสูง เราผู้เที่ยว
อยู่ในป่าก็ยังรู้ได้ นายของเจ้าทราบแน่แล้ว ก็
พึงจับเจ้าไป ดูราเจ้ากลัณฑุกะ เจ้าจงดื่มน้ำนม
เสียเถิด"
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ประเทศเหล่านั้น พื้นที่เหล่านั้น
ดังนี้ ลูกนกแขกเต้ากล่าวหมายถึงท้องแห่งมารดา ในข้อนี้มี
อธิบายดังนี้ว่า เจ้าอยู่ประดิษฐานอยู่แล้วในประเทศเหล่าใด
ประเทศเหล่านั้นมิใช่เป็นท้องของอิสระชน มีธิดากษัตริย์เป็นต้น
ดอก ที่แท้เจ้าอยู่แล้ว เจริญเติบโตแล้วในท้องนางทาสีต่างหาก.

ด้วยบทว่า อหญฺจ วนโคจโร นี้ นกแขกเต้าแสดงความว่า
ถึงเราจะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังรู้ความนี้เลย.
บทว่า อนุวิจฺจ โข ตํ คณฺเหยฺยุํ ความว่า เมื่อเราไปบอก
กล่าวถึงการประพฤติมารยาทอันเลวทรามอย่างนี้แล้ว พวก
เจ้านายของเจ้า พิจารณาดูรู้แล้ว พึงจับเจ้าไป คือเกาะกุมตัว
เจ้าไปเฆี่ยน และทำการตีตราเครื่องหมายทาสเป็นแน่ เพราะ
เหตุนั้น เจ้าจงประมาณตัว ดื่มนมสดไม่ถ่มรดศีรษะของธิดา
ท่านเศรษฐี นกแขกเต้าเรียกเขาโดยชื่อว่า "กลัณฑุกะ"
ฝ่ายกลัณฑุกะเล่าก็จำลูกนกแขกเต้าได้ ด้วยความกลัว
ว่า มันพึงเผยเรื่องของเรา จึงเชิญว่า มาเถิดนาย ท่านมาเมื่อไร
เล่า ? แม้นกแขกเต้าเล่าก็รู้ว่า เจ้านี่ไม่ได้เรียกเราด้วยความ
ปรารถนาดี แต่มีความประสงค์จะบิดคอเราให้ตาย จึงกล่าวว่า
เราไม่มีธุระกับเจ้า ดังนี้แล้ว โดดจากที่นั้นไปสู่พระนครพาราณสี
เล่าเรื่องราวตามที่ตนเห็นมาให้ท่านเศรษฐีฟังโดยพิสดาร ท่าน-
เศรษฐีคิดว่า มันทำไม่สมควรเลย จึงลงอาชญาแก่เขา นำตนมาสู่
พระนครพาราณสีตามเดิม แล้วใช้สอยอย่างทาสสืบไป.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดกว่า กลัณฑุกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุนี้ ส่วนพาราณสี
เศรษฐีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถากลัณฑุกะชาดกที่ 7

8. มูสิกชาดก


ความประพฤติของผู้เอาธรรมบังหน้า


[128] ผู้ใดแล เทิดธรรมเป็นธงชัย ให้สัตว์
ทั้งหลายตายใจ ซ่อนตนประพฤติชั่ว ความ
ประพฤติของผู้นั้น ชื่อว่าเป็นความประพฤติ
ของแมว.

จบ มูสิกชาดกที่ 8

อรรถกถามูสิกชาดกที่ 8


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า โย เว ธมฺมทฺธชํ กตฺวา ดังนี้.
ความย่อว่า ในครั้งนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลความ
ที่ภิกษุนั้นเป็นผู้หลอกลวงให้ทรงทราบแล้ว พระศาสดาตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อนภิกษุ
นี้ก็หลอกลวงเหมือนกัน ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดัง
ต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดหนู อาศัย
ความเจริญเติบโต มีร่างกายอ้วนใหญ่คล้ายกับลูกสุกรอ่อน มี
หนูหลายร้อยเป็นบริวาร ท่องเที่ยวอยู่ในป่า ดังนั้น มีหมาจิ้งจอก