เมนู

10. พันธนโมกขชาดก


ว่าด้วยการหลุดพ้นจากเครื่องจองจำ


[120] "คนพาลแย้มพรายออกมา ณ ที่ใด คน
ไม่น่าจะถูกจองจำย่อมถูกจองจำได้ หมู่บัณฑิต
แย้มพรายออกมา ณ ที่ใด ที่นั้น แม้คนที่ถูก
จองจำแล้ว ก็รอดพ้นได้"

จบ พันธนโมกขชาดกที่ 10

อรรถกถาพันธนโมกขชาดกที่ 10


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภนางจิญจมาณวิกา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า อพทฺธา ตถฺถ พชฺฌนฺติ ดังนี้. เรื่องของนางจักแจ่มแจ้ง
ใน มหาปทุมชาดก ทวาทสนิบาต.
ก็ในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่
แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นางจิญจมาณวิกา กล่าวตู่เราด้วยเรื่อง
ไม่จริง แม้ในกาลก่อน ก็เคยกล่าวตู่แล้วเหมือนกัน ทรงนำเอา
เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในเรือนของท่านปุโรหิต

เจริญวัยแล้วได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต สืบแทนบิดา
ผู้ล่วงลับ พระเจ้าพรหมทัตได้พระราชทานพรแก่พระอัครมเหสี
ไว้ว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เธอต้องการสิ่งใด พึงบอกสิ่งนั้น พระนาง
กราบทูลว่า ขึ้นชื่อว่าพระพรอื่น มิได้เป็นสิ่งที่เกล้ากระหม่อม-
ฉันได้ด้วยยากเลย ขอพระราชทานแต่ว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ทูลกระหม่อมไม่พึงทอดพระเนตรหญิงอื่น ด้วยอำนาจกิเลส.
แม้ท้าวเธอจะทรงห้ามไว้ ก็ถูกพระนางเซ้าซี้บ่อย ๆ จึงไม่อาจ
ปฏิเสธคำของพระนางได้ ก็ทรงรับตั้งแต่บัดนั้น ก็มิได้ทรง
เหลียวแล บรรดานางระบำหมื่นหกพันนาง แม้แต่นางเดียว
ด้วยอำนาจกิเลส.
อยู่มาปัจจันตชนบทของท้าวเธอเกิดกบฎขึ้น พวกโยธา
ที่ตั้งกองอยู่ในปัจจันตชนบท ทำสงครามกับพวกโจร 2-3 ครั้ง
ก็ส่งใบบอกกราบทูลพระราชาว่า ถ้าศึกหนักยิ่งกว่านี้ พวก
ข้าพระองค์ไม่อาจฉลองพระเดชพระคุณได้ พระราชามีพระ-
ประสงค์จะเสด็จไปในที่นั้น ทรงระดมพลนิกายแล้วรับสั่งหา
พระนางมา ตรัสว่า นางผู้เจริญ ฉันต้องไปสู่ปัจจันตชนบท
ที่นั้น การยุทธมีมากมายหลายแบบ จะชนะหรือแพ้ก็ไม่แน่นอน
ในสถานที่เช่นนั้น มาตุคามคุ้มครองได้ยาก เธอจงอยู่ในพระราชวัง
นี้แหละ ดังนี้ ฝ่ายพระนางก็กราบทูลว่า ทูลกระหม่อมเพคะ
เกล้ากระหม่อมฉันไม่สามารถจะอยู่ข้างหลัง ดังพระดำรัสได้
อันพระราชาตรัสทัดทานห้ามอยู่บ่อย ๆ ก็กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น

ทูลกระหม่อมเสด็จไปทุกระยะโยชน์ โปรดสั่งให้คนมาโยชน์
ละคน ๆ เพื่อทรงทราบสุขทุกข์ของกระหม่อมฉันนะเพคะ
พระราชาทรงรับคำแล้ว ทรงตั้งพระโพธิสัตว์เป็นผู้รักษา
พระนคร ทรงยกกองทัพใหญ่ออกไป เมื่อเสด็จไปได้แต่ละโยชน์
ก็ส่งบุรุษคนหนึ่ง ๆ ไปด้วยพระดำรัสว่า เจ้าจงบอกความ
ไม่มีโรคของข้า แล้วรู้สุขทุกข์ของพระเทวีมาเถิด พระนาง
รับสั่งถามบุรุษที่มาแล้ว ๆ ว่า พระราชาส่งเจ้ามาเพื่ออะไร ?
เมื่อราชบุรุษกราบทูลว่า เพื่อต้องการทราบสุขทุกข์ของฝ่า-
พระบาท ก็รับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นจงมานี้ แล้วทรงสร้องเสพ
อสัทธรรมกับบุรุษนั้น พระราชาเสด็จไปสิ้นหนทาง 32
โยชน์ ทรงส่งคนไป 32 คน พระนางได้กระทำกับคนเหล่านั้น
ทุกคน ทำนองเดียวกันทั้งนั้น.
พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทราบคาบแล้ว
เกลี้ยกล่อมชาวชนบทเป็นอันดีแล้ว เมื่อเสด็จกลับ ก็ทรงส่งคน
ไป 32 คน โดยทำนองเดียวกันนั่นแหละ พระนางก็ปฏิบัติผิด
กับคนแม้เหล่านั้น อย่างนั้นเหมือนกัน พระราชาเสด็จมาถึงที่พัก
เพื่อฉลองชัย ทรงส่งหนังสือถึงพระโพธิสัตว์ว่า จงเกณฑ์กัน
ตกแต่งบ้านเมืองเถิด พระโพธิสัตว์ก็เกณฑ์คนให้ตกแต่งบ้านเมือง
ทั่วไป เมื่อจะให้คนตกแต่งพระราชนิเวศน์ ได้ไปถึงที่ประทับ
ของพระนางเทวี พระนางทอดพระเนตรเห็นร่างกายของพระ-
โพธิสัตว์ ถึงความงามเลิศด้วยรูปสมบัติ ก็มิทรงสามารถดำรง

พระทัยอยู่ได้ รับสั่งว่า มานี่เถิดท่านพราหมณ์ เชิญขึ้นสู่ที่นอน
เถิด พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า อย่าได้ตรัสอย่างนี้เลย พระราชา
เล่า ก็เป็นที่คารวะของข้าพระบาท ข้าพระบาทเล่า ก็กลัวต่อ
อกุศล ข้าพระบาทไม่อาจทำอย่างนั้นได้ รับสั่งว่า พระราชา
ไม่เป็นที่เคารพของข้าบาทมูลทั้ง 64 คน และคนเหล่านั้นก็ไม่
กลัวอกุศล เจ้าคนเดียวเคารพพระราชา เจ้าคนเดียวกลัวอกุศล
กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ถ้าแม้คนเหล่านั้น พึงเป็นอย่างนั้นไซร้
ข้าพระบาทไม่พึงเป็นอย่างนั้น ก็ข้าพระบาทรู้อยู่ จักไม่กระทำ
กรรมอันเลวร้ายอย่างนั้นเลย. รับสั่งว่า เจ้าจะพูดพร่ำให้มากความ
ไปใย ถ้าไม่ทำตามคำของเรา เราจักตัดหัวเจ้าเสีย กราบทูล
ว่า ถูกตัดหัวในอัตภาพเดียว ก็พอทำเนา ยังไม่เท่ากับถูกตัดหัว
ไปถึงพันอัตภาพ ข้าพระบาทไม่อาจทำอย่างนี้ พระนางตรัสว่า
เอาละ จะได้รู้ดีรู้ชั่วกัน แล้วเสด็จเข้าของพระองค์ แสดงรอยเล็บ
ไว้ที่ร่างกาย ชะโลมตั่วด้วยน้ำมัน นุ่งผ้าเก่าทำท่วงทีเป็นไข้
สั่งนางทาสีทั้งหลายว่า เมื่อพระราชารับสั่งว่า พระเทวีไปไหน ?
พึงทูลว่า ประชวรนะ.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ก็ได้ไปรับเสด็จพระราชา พระราชา
ทรงกระทำประทักษิณพระนครแล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาท รับสั่ง
ถามว่า พระเทวีไปไหน ? พวกทาสีกราบทูลว่า พระเทวีทรง
พระประชวร พระเจ้าข้า. ท้าวเธอเสด็จเข้าสู่ห้องอันทรงสิริ
ทรงลูบหลังพระนาง พลางตรัสถามว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เธอ

ไม่สบายเป็นอะไรไป ? พระนางนิ่งเฉยเสีย ในวาระที่ 3 จึง
ชำเลืองมองพระราชา พลางกราบทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม
แม้ว่าพระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ หญิงทั้งหลายแม้เช่นกับ
หม่อมฉัน ก็ยังเป็นหญิงมีสามีเดียวอยู่โดยแท้จริง รับสั่งถามว่า
ก็ข้อนั้นมันเรื่องอะไรเล่า นางผู้เจริญ ? กราบทูลว่า ปุโรหิต
ที่ทูลกระหม่อมทรงแต่งตั้งไว้รักษาพระนคร มาในที่นี้บอกว่า
จักตกแต่งพระนิเวศน์ แล้วข่มขืนกระหม่อมฉันผู้ไม่กระทำตาม
คำของตน ทำเอาสมใจแล้วจึงไปเพคะ พระราชาทรงแผดพระ-
สุรเสียงอยู่ฉาดฉานด้วยทรงกริ้ว ประหนึ่งโยนก้อนเกลือเข้า
กองไฟฉะนั้น เสด็จออกจากห้องอันทรงสิริ รับสั่งให้หานาย-
ประตูและข้าบาทมูลเป็นต้น ตรัสว่า เหวยพนักงาน พวกเจ้า
จงพากันไปจับไอ้ปุโรหิต มัดแขน ไพล่หลัง ทำมันให้สาสมกับ
ความเป็นคนที่ต้องฆ่า พาออกไปจากพระนคร นำตัวไปไปสู่
ตะแลงแกง ตัดหัวมันเสีย พวกราชบุรุษพากันรีบรุดไป จับ
พระโพธิสัตว์มัดไพล่หลัง แล้วเที่ยวตระเวนตีกลองร้องประกาศ
ไป พระโพธิสัตว์ดำริว่า พระราชาคงถูกพระเทวีตัวร้ายนั้น
กราบทูลยุยงเอาก่อนเป็นแน่ คราวนี้เราต้องแก้ต่างเปลื้องตน
ด้วยปรีชาญาณของตนเอง ในวันนี้ให้จงได้ พระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะ
ราชบุรุษเหล่านั้นว่า พ่อคุณทั้งหลาย พวกเธออย่าเพิ่งฆ่าเรา
เลย พาเราเข้าเฝ้าพระราชาแล้วค่อยฆ่าเถิด พวกราชบุรุษ
ถามว่า เพราะเหตุไร ? จึงบอกว่า เราเป็นข้าราชการ การงาน

ที่เราทำไว้มีมาก เราย่อมรู้ที่ตั้งแห่งขุมทรัพย์มากแห่ง ท้อง-
พระคลังหลวงเล่า เราก็ตรวจตรา ถ้าไม่นำเราเข้าเฝ้าพระราชา
แล้ว ทรัพย์เป็นอันมากจักสาบสูญ ขอโอกาสพอเราได้บอกสมบัติ
แด่พระราชาแล้ว พวกท่านค่อยกระทำโทษที่ต้องกระทำภายหลัง
เถิด พวกราชบุรุษจึงพาพระโพธิสัตว์เข้าเฝ้าพระราชา.
พระราชาพอทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์เข้าเท่านั้น
ก็ตรัสว่า เฮ้ย เจ้าพราหมณ์ เหตุไรเล่าจึงมิได้ยำเกรงเราเลย
เหตุไรเล่า เจ้าจึงทำกรรมชั่วช้าสามาลย์ได้ถึงขนาดนี้ ? พระ-
โพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์นั้นเกิดใน
สกุลโสตถิยพราหมณ์ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแม้เพียงมดดำ มดแดง
ข้าพระองค์ก็ไม่เคยกระทำ สิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แม้เพียง
เส้นหญ้า ข้าพระองค์ก็ไม่เคยถือเอาเลย สตรีของผู้อื่น ข้าพระองค์
ก็ไม่เคยแม้จะเพียงลืมตาดูด้วยอำนาจความโลภ คำเท็จ แม้ด้วย
อำนาจแห่งความร่าเริง ข้าพระองค์ก็ไม่เคยกล่าว น้ำเมาเพียง
หยดด้วยอดหญ้า ข้าพระองค์ก็ไม่เคยดื่ม ข้าพระองค์ปราศจาก
ความผิดในพระองค์ แต่นางเป็นพาล จับมือข้าพระองค์ด้วยอำนาจ
แห่งความโลภ ทั้ง ๆ ที่ข้าพระองค์ห้าม กับตวาดข้าพระองค์
เปิดเผยความชั่วที่ตนกระทำไว้ บอกแก่ข้าพระองค์ แล้วเข้าไป
ภายในห้อง ข้าพระองค์ปราศจากความผิด แต่คนทั้ง 64 ที่ถือ
หนังสือมามีความผิด ข้าแต่สมมติเทพ โปรดตรัสเรียกคนเหล่านั้น
มาตรัสถามว่า พวกเหล่านั้นกระทำตามคำของพระนางหรือ

ไม่ได้กระทำเถิดพระเจ้าข้า พระราชารับสั่งให้จองจำคนทั้ง 64
แล้วรับสั่งให้หาพระเทวีมาเฝ้า มีพระดำรัสถามว่า เจ้าทำกรรมชั่ว
กับคนเหล่านี้หรือไม่ได้กระทำ ? ครั้นนางกราบทูลรับว่าทำ
เพคะ รับสั่งให้มัดนางไพล่หลังไว้ แล้วทรงสั่งว่า พวกเจ้า
จงตัดหัวของคน 64 คน เหล่านี้เสีย. ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์
กราบทูลท้าวเธอว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า คนเหล่านี้ก็ไม่มีโทษ
พระเจ้าข้า เทวีบังคับให้กระทำตามใจชอบของตน คนเหล่านี้
ไร้ความผิด เหตุนั้นพระองค์โปรดทรงพระกรุณาอดโทษแก่
คนเหล่านี้เถิดพระเจ้าข้า แม้พระเทวีก็ไม่มีโทษพระเจ้าข้า
ธรรมดาหญิงทั้งหลาย เป็นผู้ไม่อิ่มด้วยเมถุนธรรม แท้จริง
ความไม่อิ่มด้วยเมถุนธรรมนี้ เป็นสภาวธรรมประจำกำเนิด
สิ่งที่ควรจะต้องมี ก็ย่อมมีแก่พวกนางเท่านั้น เพราะเหตุนั้น
จงทรงพระกรุณางดโทษพระนางด้วยเถิดพระเจ้าข้า กราบทูล
ให้พระราชาตกลงพระทัยด้วยประการต่าง ๆ จนทรงปล่อยคน
64 นั้น และเทวีผู้เป็นพาล ให้พระราชทานฐานะตามตำแหน่ง
เดิมของตนก็คนทั้งปวง พระโพธิสัตว์ ครั้นให้พระราชาโปรด
ปล่อยคนทั้งหมดแล้ว ทรงแต่งตั้งในตำแหน่งเดิมของตนอย่างนี้
แล้วเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า หมู่
บัณฑิตผู้ไม่น่าจะถูกจองจำ ถูกมัดไพล่หลังได้ เพราะถ้อยคำ
อันไม่มีหลักของคนที่เรียกกันว่า อันธพาล หมู่บัณฑิตรอดพ้นได้
แม้จากการถูกมัดไพล่หลัง ด้วยถ้อยคำที่ชอบด้วยเหตุ ขึ้นชื่อว่า

พวกพาล แม้คนที่ไม่น่าจะจองจำ ก็ทำให้ต้องจองจำได้ บัณฑิต
ย่อมแก้ไขให้รอดจากการจองจำทั้งหลายได้อย่างนี้ พระเจ้าข้า
แล้วกล่าวคาถานี้ ใจความว่า :-
" คนพาลแย้มพรายออกมา ณ ที่ใด
ณ ที่นั้น คนไม่น่าถูกจองจำ ย่อมถูกจองจำได้
หมู่บัณฑิตแย้มพรายออกมา ณ ที่ใด ณ ที่นั้น
แม้คนที่ถูกจองจำแล้ว ก็รอดพ้นได้ " ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อพทฺธา แปลว่า คนที่น่าจะถูก
จองจำ.
บทว่า ปภาสเร แปลว่า ย่อมแย้มพราย คือย่อมบอก
ย่อมกล่าว.
พระโพธิสัตว์ แสดงธรรมแก่พระราชาด้วยคาถานี้ ด้วย
ประการฉะนี้แล้ว กราบทูลขออนุญาตการบรรพชาว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้สมมติเทพ ทุกข์ทั้งนี้ข้าพระองค์ได้เพราะการอยู่
ครองเรือน บัดนี้ข้าพระองค์ไม่มีกิจด้วยการครองเรือน โปรด
ทรงอนุญาตการบรรพชาเเก่ข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า แล้ว
สละตนที่เป็นญาติ มีน้ำตานองหน้า และสมบัติอันมากมาย
บวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์ ยังฌานและสมาบัติให้เกิดแล้ว
ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดกว่า เทวีตัวร้ายในครั้งนั้น ได้มาเป็นนางจิญจมาณวิกา
ในครั้งนี้ พระราชาได้มาเป็นอานนท์ ส่วนปุโรหิต ได้มาเป็นเรา
ตถาคต ฉะนี้แล.
จบ พันธนโมกขชาดกที่ 10
รวมชาดกที่มาในวรรคนี้คือ :-
1. คัทรภปัญหา 2. อมราเทวีปัญหา 3. สิลาคชาดก
4. มิตจินติชาดก 5. อนุสาสิกชาดก 6. ทุพพจชาดก 7. ติตติร-
ชาดก 8. วัฏฏกชาดก 9. อกาลราวิชาดก 10. พันธนโมกชาดก.
จบ หังสิวรรคที่ 12

13. กุสนาฬิวรรค


1. กุสนาฬิชาดก


ว่าด้วยประโยชน์ของการผูกมิตร


[121] "บุคคลผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากัน หรือ
เลวกว่ากัน ก็ควรคบกันไว้ เพราะมิตรเหล่านั้น
เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์อันอุดม
ให้ได้ ดูเราผู้เป็นรุกขเทวดา และเทวดาผู้เกิด
ที่กอหญ้าคาคบกันฉะนั้น"

จบ กุสนาฬิชาดกที่ 1

อรรถกถากุสนาฬิวรรคที่ 13


อรรถกถากุสนาฬิชาดกที่ 1


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภมิตรผู้ชี้ขาดการงานของท่านอนาถบิณฑิกะ ตรัส
พระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กเร สริกฺโข ดังนี้.
ความโดยย่อมีว่า พวกมิตรผู้คุ้นเคย ญาติพวกพ้องของ
ท่านอนาถบิณฑิกะ ร่วมกันห้ามปรามบ่อย ๆ ว่า ท่านมหาเศรษฐี
คนผู้นี้ไม่ทัดเทียมกับท่าน โดยชาติ โคตร ทรัพย์ และธัญญชาติ
เป็นต้น ทั้งไม่เหมือนท่านไปได้เลย เหตุไรท่านจึงทำความ