เมนู

8. วัฏฏกชาดก


ว่าด้วยการใช้ความคิดให้เป็นประโยชน์


[118] "บุรุษเมื่อไม่คิด ก็ย่อมไม่ได้ผลพิเศษ
ท่านจงดูผลแห่งอุบายที่เราคิดเถิด เราพ้นจาก
การถูกฆ่าและจองจำ ก็ด้วยอุบายนั้น"

จบ วัฏฏกชาดกที่ 8

อรรถกถาวัฏฏกชาดกที่ 8


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภบุตรของอุตตรเศรษฐี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มี
คำเริ่มต้นว่า นาจินฺตยนฺโต ปุริโส ดังนี้.
ได้ยินว่า ในพระนครสาวัตถี ได้มีเศรษฐีชื่อว่า อุตตระ
มีสมบัติมาก สัตว์ผู้มีบุญผู้หนึ่ง จุติจากพรหมโลก ถือปฏิสนธิ
ในท้องแห่งภรรยาของท่านเศรษฐี เจริญวัย มีรูปงดงาม แจ่มใส
มีผิวพรรณเพียงดังพรหม อยู่มาวันหนึ่งในพระนครสาวัตถี
เมื่องานนักขัตฤกษ์ประจำเดือน 12 ได้ป่าวร้องไปทั่วแล้ว
โลกทั้งหมดได้เป็นประเทศมีงานนักขัตฤกษ์ บุตรเศรษฐีอื่น ๆ
ผู้เป็นสหายของเศรษฐีบุตรนั้น ได้มีภรรยากันแล้ว แต่เพราะ
เหตุที่บุตรของท่านอุตตรเศรษฐี อยู่ในพรหมโลกตลอดกาลนาน

จิตจึงไม่ชุ่มชื่นในกองกิเลส ครั้งนั้น พวกเพื่อน ๆ ของเขา
ปรึกษากันว่า พวกเราจักนำหญิงคนหนึ่ง มาให้บุตรท่าน-
อุตตรเศรษฐี แล้วชวนกันเล่นนักขัตฤกษ์ เข้าไปหาเขา กล่าวว่า
เพื่อนรัก ในพระนครนี้มีงานมหรสพประจำเดือน 12 เขาป่าวร้อง
กันทั่วแล้ว พวกเราพาหญิงคนหนึ่งมาให้ท่าน จักเล่นนักขัตฤกษ์
กัน แม้เมื่อเขาบอกว่า ผมไม่ต้องการผู้หญิง ก็พากันแค่นได้
กระเซ้าอยู่บ่อย ๆ จนต้องยอมรับ จึงไปแต่งนางวรรณทาสี
คนหนึ่ง ด้วยเครื่องประดับพร้อมสรรพ พาไปเรือนของเขา
กล่าวว่า เธอจงไปสู่สำนักของเศรษฐีบุตรเถิด ดังนี้แล้ว ส่งเข้าไป
สู่ห้องนอน แล้วพากันออกไป แม้นางจะเข้าไปถึงห้องนอน
เศรษฐีบุตรก็ไม่มองดู ไม่พูดจาด้วย นางคิดว่า ชายผู้นี้ไม่มองดู
เรา ผู้สวยงาม สมบูรณ์ด้วยความเพริดพริ้ง แพรวพราว อย่างสูง
เห็นปานนี้เลย ทั้งไม่ยอมพูดจาด้วย บัดนี้ เราจักทำให้เขาจ้อง
มองดูเรา ด้วยกระบวนมายาและการเยื้องกรายของหญิงให้ได้
ดังนี้แล้ว เริ่มแสดงเสน่ห์หญิง เผยปลายฟัน ด้วยการโปรยยิ้ม
ทำชะมดชะม้อยเอียงอาย เศรษฐีบุตรมองดูเลยยึดเอานิมิตรใน
กระดูกฟัน เกิดอัฏฐิกสัญญา ร่างงามนั้นแม้ทั้งหมด ก็ปรากฏ
เป็นเหมือนโครงกระดูก เขาจึงให้รางวัลนาง แล้วส่งตัวกลับไป.
อิสระชนผู้หนึ่งเห็นนางลงมาจากเรือนนั้น ในระหว่างถนน
ก็ให้รางวัลพาไปสู่เรือนของตน ล่วงได้เจ็ดวัน งานนักขัตฤกษ์
ก็ยุติ มารดาของนางวรรณทาสีไม่เห็นกลับมา ก็ไปหาเศรษฐี-

บุตรทั้งหลายถามว่า ลูกสาวของฉันไปไหน ? เศรษฐีบุตรเหล่านั้น
ก็พากันไปสู่เรือนของอุตตรเศรษฐีบุตร ถามว่า นางไปไหน ?
เขาบอกว่า ฉันให้รางวัลนางแล้วส่งตัวกับไปขณะนั้นเองทีเดียว
ขณะนั้นมารดาของนางก็ร้องไห้ พลางกล่าวว่า ฉันไม่เห็นลูกสาว
ของฉันที่ไหนเลย พวกท่านต้องพาลูกสาวของฉันมาส่ง แล้วจับ
บุตรอุตตรเศรษฐีไปสู่ราชสำนัก พระราชาเมื่อทรงชำระคดี
รับสั่งถามว่า เศรษฐีบุตรเหล่านี้ พานางไปให้เจ้าหรือ ? เขา
กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ. รับสั่ง
ถามว่า เดี๋ยวนี้นางไปไหนละ ? กราบทูลว่า ไม่ทราบเกล้าฯ
พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ส่งนางกลับไปในขณะนั้นแหละ พระเจ้าข้า.
รับสั่งว่า เดี๋ยวนี้เจ้าอาจพานางส่งคืนได้ไหมเล่า ? กราบทูลว่า
ข้าพระองค์ไม่สามารถพระเจ้าข้า พระราชาตรัสสั่งว่า ถ้าไม่อาจ
นำตัวมาส่งคืนได้ พวกเจ้าจงลงอาญาเขาเถิด ครั้งนั้น พวก
ราชบุรุษพากันมัดแขนเขาไพล่หลัง คุมตัวไปด้วยคิดว่า พวกเรา
จักลงพระอาญา. ได้เล่าลือกันไปทั่วพระนครว่า ได้ยินว่า พระราชา
รับสั่งให้ลงพระราชอาญาเศรษฐีบุตรผู้ไม่สามารถนำนาง-
วรรณทาสีมาส่งคืนได้ มหาชนกอดอกร่ำไห้ว่า นายเอ๋ย. ทำไม
เรื่องเป็นเช่นนี้ ท่านได้สิ่งไม่คู่ควรแก่ตนเลย พากันเดินร่ำไห้
ไปข้างหลังของเศรษฐีบุตร เศรษฐีบุตรคิดว่า ทุกข์ขนาดนี้
นี่เราได้รับเพราะการอยู่ครองเรือน ถ้าเราพ้นจากทุกข์นี้ไปได้
เราจักบวชในสำนักพระมหาโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า.

ฝ่ายนางวรรณทาสีนั้นเล่า ฟังเสียงโกลาหลนั้นแล้ว ก็
ถามว่า นั่นเสียงอะไร ? ครั้นทราบเรื่องราวแล้ว รีบลงมา
โดยเร็ว กล่าวว่า จงหลีกไปเถิดท่านทั้งหลาย จงให้โอกาสเรา
ได้พบราชบุรุษเถิด แล้วแสดงตน พวกราชบุรุษเห็นนางแล้ว
ก็ให้มารดารับตัวไป ปล่อยเศรษฐีบุตรแล้วพากันไป เขาถูก
เพื่อน ๆ แวดล้อมไปสู่แม่น้ำ อาบน้ำ ดำเกล้าแล้ว จึงไปเรือน
บริโภคอาหารเช้า ขอให้มารดาบิดาอนุญาตให้บรรพชา ถือเอา
ผ้าจีวรไปสำนักพระศาสดา ด้วยบริวารเป็นอันมาก ถวายบังคม
แล้วกราบทูลขอบรรพชา ได้บรรพชาอุปสมบท มิได้ทอดทิ้ง
พระกรรมฐาน เจริญวิปัสสนา ไม่ช้าก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตผล
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในธรรมสภา กล่าวถึง
คุณของท่านว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย บุตรของอุตตรเศรษฐี เมื่อภัย
บังเกิดแก่ตน ทราบคุณของพระศาสดา ได้คิดว่า เมื่อเราพ้น
จากทุกข์นี้จักบรรพชา ด้วยความคิดดีนั้น จึงพ้นจากมรณภัย
ด้วย บวชแล้วดำรงในผลอันเลิศด้วย พระศาสดาเสด็จมา
ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนา
กันด้วยเรื่องอะไร ? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบ
แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่แต่บุตรของอุตตรเศรษฐี
เท่านั้น ที่เมื่อภัยบังเกิดแล้ว ได้คิดว่า เราจักพ้นทุกข์นี้ด้วยอุบายนี้
แม้บัณฑิตในอดีตกาล เมื่อภัยบังเกิดแก่ตนแล้ว ก็ได้คิดว่า เรา
จักพ้นจากทุกข์นี้ ดังนี้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ คือมรณภัยได้แล้ว

เหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ เมื่อแรงกรรมผลักดันให้หมุนเวียน
ไปด้วยอำนาจแห่งจุติและปฏิสนธิ บังเกิดในกำเนิดนกกระจาบ
ครั้งนั้น นายพรานนกกระจาบคนหนึ่ง นำนกกระจาบเป็นอันมาก
มาจากป่า ขังไว้ในเรือน เมื่อคนทั้งหลายพากันมาซื้อ ก็ขาย
นกกระจาบส่งให้ถึงมือ เลี้ยงชีวิต พระโพธิสัตว์ได้คิดว่า ถ้าเรา
บริโภคข้าวน้ำที่พรานนี้ให้แล้วไซร้ พรานนี้ก็คงจับเราให้แก่
คนที่มาซื้อ ก็ถ้าเราไม่บริโภคเล่า ก็คงซูบเซียว ครั้นคนทั้งหลาย
เห็นเราซูบเซียว ก็จักไม่รับเอา ความปลอดภัยจักมีแก่เราด้วย
อุบายอย่างนี้ เราจักกระทำอุบายอันนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์กระทำ
อย่างนั้น ก็ซูบเซียวเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก พวกมนุษย์เห็น
พระโพธิสัตว์แล้วไม่แตะต้องเลย นายพรานเมื่อนกกระจาบที่เหลือ
เว้นพระโพธิสัตว์หมดสิ้นไปแล้ว ก็นำออกจากกระเช้ายืนอยู่
ที่ประตู วางพระโพธิสัตว์ไว้ที่ฝ่ามือ ปรารภเพื่อจะตรวจดูว่า
นกกระจาบตัวนี้เป็นอย่างไรเล่านะ ครั้นพระโพธิสัตว์รู้ว่า
นายพรานเผลอ ก็กางปีกบินเข้าป่าไป นกกระจาบเหล่าอื่นเห็น
พระโพธิสัตว์ จึงพากันถามว่า เป็นอย่างไรไปเล่า ท่านจึงไม่ค่อย
ปรากฏ ท่านไปไหนเสียเล่า ? ครั้นพระโพธิสัตว์บอกว่า เราถูก
นายพรานจับไป ต่างก็ชักว่า ทำอย่างไรเล่าถึงรอดมาได้

พระโพธิสัตว์บอกว่า เราไม่กินอาหารที่เขาให้ ไม่ดื่มน้ำ จึงรอด
มาได้ด้วยการคิดอุบาย ดังนี้แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :-
"บุรุษเมื่อไม่คิด ก็ย่อมไม่ได้ผลพิเศษ
ท่านจงดูผลแห่งอุบายที่เราคิดเถิด เราพ้นจาก
การถูกฆ่าและจองจำ ก็ด้วยอุบายนั้น" ดังนี้.

ในคาถานั้นประมวลความได้ดังนี้ :- คนถึงทุกข์แล้ว
เมื่อไม่คิดว่า เราจักพ้นทุกข์นี้ด้วยอุบายชื่อนี้ ก็ไม่ประสบผล
วิเศษ คือความรอดพ้นจากทุกข์ของตนได้ ก็บัดนี้จงดูผลแห่ง
กรรมที่เราคิดแล้ว ด้วยอุบายนี้เท่านั้น ที่เราพ้นจากการถูกฆ่า
และถูกขังได้ คือพ้นจากความตายด้วย จากที่กักขังด้วย.
พระโพธิสัตว์บอกเหตุการณ์ที่ตนกระทำแล้ว ด้วยประการ
ฉะนี้.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดกว่า ก็นกกระจาบผู้รอดพ้นได้ในครั้งนั้น ได้มาเป็นเรา
ตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาวัฏฏกชาดกที่ 8

9. อกาลราวิชาดก


ว่าด้วยไก่ขันไม่เป็นเวลา


[119] "ไก่ตัวนี้มิได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้
อยู่ในสำนักอาจารย์ ย่อมไม่รู้จักกาลที่ควรขัน
และไม่ควรขัน"

จบ อกาลราวิชาดกที่ 9

อรรถกถาอกาลราวิชาดกที่ 9


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภภิกษุผู้ท่องบ่นไม่เป็นเวลารูปหนึ่ง ตรัสพระธรรม-
เทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อมาตาปิตุสํวฑฺโฒ ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุนั้น เป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถี
บรรพชาในพระศาสนาแล้ว ไม่เรียนวัตรหรือสิกขา เธอไม่รู้ว่า
เวลานี้ควรทำวัตร เวลานี้ควรปรนนิบัติ เวลานี้ควรเล่าเรียน
เวลานี้ควรท่องบ่น ส่งเสียงดังในขณะที่ตนตื่นขึ้นทีเดียว ทั้งใน
ปฐมยาม ทั้งในมัชฌิมยาม ทั้งในปัจฉิมยาม ภิกษุทั้งหลายไม่
เป็นอันได้หลับนอน ต่างพากันกล่าวโทษของเธอในธรรมสภาว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุโน้น บรรพชาในพระศาสนาคือ รัตน เห็น
ปานนี้ ยังไม่รู้วัตรหรือสิกขา กาลหรือมิใช่กาล พระศาสดา