เมนู

9. กุณฑกปูวชาดก


ว่าด้วยมีอย่างไรก็กินอย่างนั้น


[109] บุรุษกินอย่างไร เทวดาของบุรุษก็กิน
อย่างนั้น ท่านจงเอาขนมรำนั้นมา อย่าให้ส่วน
ของเราเสียไปเลย.

จบ กุณฑกปูวชาดกที่ 9

อรรถกถากุณฑกปูวชาดกที่ 9


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระนครสาวัตถี
ทรงปรารภบุรุษผู้เข็ญใจอย่างหนัก ตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า ยถนฺโน ปุริโส โหติ ดังนี้.
ความพิสดารว่า ในพระนครสาวัตถี บางครั้งสกุลเพียง
สกุลเดียวเท่านั้น ถวายทานแต่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็น
ประมุข บางครั้งสาม - สี่ตระกูลรวมกัน บางครั้งด้วยความ
ร่วมมือกันเป็นคณะ บางครั้งด้วยความร่วมใจกันของผู้ที่อยู่
ร่วมถนน บางครั้งรวมคนที่มีฉันทะความพอใจหมดทั้งเมือง ถวาย
ทานแต่พระสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุข ก็ในครั้งนั้น มีภัตร
ที่ชื่อว่า วิถีภัตร (คือการถวายภัตตาหารของผู้ที่อยู่ร่วมถนนกัน)
ได้มีขึ้น. ครั้งนั้นพวกมนุษย์ กล่าวเชิญชวนกันว่า เชิญท่าน

ทั้งหลายถวายข้าวยาคู นำของขบเคี้ยวมาถวายแด่ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธองค์เป็นประมุขกันเถิด. ในกาลนั้น ยังมีลูกจ้างของ
คนเหล่าอื่นผู้หนึ่ง เป็นคนยากจนอยู่ในถนนนั้น คิดว่า เราไม่อาจ
ถวายข้าวยาคูได้ ของขบเคี้ยวพอจัดถวายได้ แล้วนวดรำชนิด
ละเอียด ให้ชุ่มด้วยน้ำ ห่อด้วยใบรัก เผาในกองเถ้า คิดว่า เราจัก
ถวายขนมนี้แด่พระพุทธเจ้า ถือขนมนั้นไปยืนอยู่ในสำนักพระ-
ศาสดา พอพระศาสดาตรัสครั้งเดียวว่า พวกท่านจงนำของขบเคี้ยว
มาเถิด ก็ไปก่อนคนทั้งปวง ใส่ขนมนั้นในบาตรของพระศาสดา
แล้วยืนอยู่ พระศาสดาไม่ทรงรับของขบเคี้ยวที่คนอื่น ๆ ถวาย
ทรงเสวยของขบเคี้ยว คือขนมนั้นเท่านั้น.
ในขณะนั้นเองทั่วทั้งพระนคร ก็ได้มีเสียงลือตลอดไปว่า
ได้ยินว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรังเกียจของขบเคี้ยว
ทำด้วยรำ ของมหาทุคคตบุรุษ ทรงเสวยเหมือนเสวยอมฤต ฉะนั้น
อิสสรชนมีพระราชา และมหาอำมาตย์แห่งพระราชาเป็นต้น
โดยที่สุดตลอดถึงคนเฝ้าประตู ประชุมกันทั้งหมดทีเดียว ถวาย
บังคมพระศาสดาแล้ว เข้าไปหามหาทุคคตบุรุษ พากันกล่าวว่า
พ่อมหาจำเริญ เชิญพ่อรับเอาทรัพย์ร้อยหนึ่ง สองร้อย ห้าร้อย
แล้วให้ส่วนบุญแก่พวกเราเถิด. เขาตอบว่า ต้องกราบทูลสอบถาม
แล้วถึงจะรู้ แล้วไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลเนื้อความ
นั้น พระศาสดาตรัสว่า ท่านจงรับทรัพย์แล้วให้ส่วนบุญ แก่
สรรพสัตว์เถิด เขาเริ่มรับทรัพย์ พวกมนุษย์พากันให้ด้วยการ

ประมูล เป็นทวีคูณ จตุรคูณ และอัฏฐคูณเป็นต้น ได้ให้ทรัพย์
กันถึงเก้าโกฏิ. พระศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จไป
วิหาร เมื่อพวกภิกษุแสดงวัตตปฏิบัตติถวายแล้ว ประทานพระ-
สุคโตวาท เสด็จเข้าพระคันธกุฎี เวลาเย็นวันนั้น พระราชา
รับสั่งให้มหาทุคคตบุรุษเข้าเฝ้า ทรงบูชาด้วยตำแหน่งเศรษฐี.
พวกภิกษุตั้งเรื่องสนทนากันในโรงธรรมว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พระศาสดามิได้ทรงรังเกียจขนมรำ ที่มหาทุคคตบุรุษถวายเลย
ทรงเสวยเหมือนอมฤต ฝ่ายมหาทุคคตบุรุษเล่า ได้ทั้งทรัพย์
จำนวนมาก ได้ทั้งตำแหน่งเศรษฐี ถึงสมบัติอันยิ่งใหญ่แล้ว.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอ
สนทนากันด้วยเรื่องอะไร ? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรง
ทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น
ที่เราไม่รังเกียจ บริโภคขนมรำของเขา ถึงครั้งที่เป็นรุกขเทวดา
ในกาลก่อน ก็เคยบริโภคเหมือนกัน แม้ในครั้งนั้นเล่า เขาก็อาศัย
เราได้ตำแหน่งเศรษฐีเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีต
มาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเทวดา สถิต
ณ ต้นละหุ่งต้นหนึ่ง ครั้งนั้น พวกมนุษย์ในหมู่บ้านนั้น พากัน
ยึดเอารุกขเทวดาเป็นมงคล เมื่อถึงงานมหรสพคราวหนึ่ง พวก
มนุษย์ต่างพากันกระทำพลีกรรมแก่รุกขเทวดาของตน ๆ ครั้งนั้น

มีทุคคตมนุษย์ผู้หนึ่ง เห็นคนเหล่านั้น พากันปรนนิบัติรุกขเทวดา
ก็ปฏิบัติต้นละหุ่งต้นหนึ่ง ผู้คนทั้งหลายพากันถือเอาดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้และของขบเคี่ยวของบริโภคเป็นต้น
นานัปการไป เพื่อเทวดาทั้งหลายของตน ฝ่ายเขามีแต่ขนมรำ
ก็ถือไปพร้อมกระบวยใส่น้ำ หยุดยืนไม่ไกลต้นละหุ่ง คิดว่า
ธรรมดาย่อมเสวยแต่ของขบเคี้ยวอันเป็นทิพย์ เทวดาคงจักไม่เสวย
ขนมรำนี้ของเรา เราจะยอมให้ขนมเสียหายไปด้วยเหตุนี้ทำไม
เรานั่นแหละจักกินขนมนั้นเสียเอง แล้วก็หวลกลับไปจากที่นั้น.
พระโพธิสัตว์ สถิตเหนือค่าคบกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญ หากท่าน
เป็นใหญ่เป็นโต ก็ต้องให้ของขบเคี้ยวที่อร่อยแก่เรา แต่ท่าน
เป็นทุคคตะ เราไม่กินขนมของท่านแล้ว จักกินขนมอื่นได้อย่างไร
อย่าให้ส่วนของเราต้องเสียหายไปเลย แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :-
"บุรุษกินอย่างไร คนของบุรุษก็กิน
อย่างนั้น ท่านจงเอาขนมรำนั้นมา อย่าให้ส่วน
ของเราเสียไปเลย" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถนฺโน ความว่า คนบริโภค
อย่างใด.
บทว่า ตถนฺนา ความว่า แม้เทวดาของคนผู้นั้นก็บริโภค
อย่างนั้นเหมือนกัน.
บทว่า อาหเรตํ กุณฺฑปูวํ ความว่า ท่านจงนำเอาขนมที่
ทำด้วยรำนั้นมาเถิด อย่าทำลายส่วนได้ของเราเสียเลย.

เขาหันกลับมามองพระโพธิสัตว์แล้วกระทำพลีกรรม พระ -
โพธิสัตว์ ก็บริโภคโอชา จากขนมนั้น แล้วกล่าวว่า ดูก่อนบุรุษ
ท่านปฏิบัติเราเพื่อต้องการอะไร ? เขากล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้
เป็นใหญ่ ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ มาปรนนิบัติ ก็ด้วยหมายใจว่า
จะอาศัยท่าน แล้วพ้นจากความเป็นทุคคตะ. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า
ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านอย่าคิดเสียใจไปเลย ท่านทำการบูชา
เราผู้มีกตัญญูกตเวที รอบต้นละหุ่งนี้ มีหม้อใส่ขุมทรัพย์ตั้งไว้
เรียงราย จวบจนจรดถึงคอ ท่านจงกราบทูลพระราชา เอาเกวียน
มาขนทรัพย์ กองไว้ ณ ท้องพระลานหลวง พระราชาก็จัก
โปรดปรานประทานตำแหน่งเศรษฐีแก่ท่าน. ครั้นบอกแล้ว
พระโพธิสัตว์ก็อันตรธานไป เขาได้กระทำตามนั้น แม้พระราชา
ก็โปรดประทานตำแหน่งเศรษฐีแก่เขา. เขาอาศัยพระโพธิสัตว์
ถึงสมบัติอันใหญ่หลวง แล้วไปตามยถากรรมด้วยประการฉะนี้.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดกว่า ทุคคตบุรุษในครั้งนั้น มาเป็นทุคคตบุรุษในครั้งนี้
ส่วนเทวดาผู้สิงอยู่ ณ ต้นละหุ่ง ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถากุณฑกปูวชาดกที่ 9

10. สัพพสังหารกปัญหา


ว่าด้วยการพูดของหญิง 2 ประเภท


[110] "กลิ่นเครื่องอบทั้งปวงไม่มี มีแต่กลิ่น
ดอกประยงค์ ล้วนฟุ้งไป หญิงนักเลงคนนี้ ย่อม
กล่าวคำเหลาะแหละ หญิงผู้ใหญ่กล่าวคำจริง"

จบ สัพพสังหารปัญหาที่ 10

อรรถกถาสัพพสังหารกปัญหาที่ 10


ปัญหาในเรื่องเครื่องประดับ อบด้วยกลิ่นหอมทุกอย่าง
มีคำเริ่มต้นว่า สพฺพสํหารโก นตฺถิ ดังนี้ จักแจ่มแจ้งโดยอาการ
ทั้งปวง ในอุมมัคคชาดก.
จบ อรรถกถาสัพพสังหารปัญหาที่ 10