เมนู

7. สาลิตตกชาดก


ว่าด้วยคนมีศิลปะ


[107] ขึ้นชื่อว่า ศิลปะแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จโดยแท้ ขอเชิญ
พระองค์ทรงทอดพระเนตรบุรุษง่อยได้บ้านส่วย
ทั้ง 4 ทิศ ก็เพราะการดีดมูลแพะ.

จบ สาลิตตกชาดกที่ 7

อรรถกถาสาลิตตกชาดกที่ 7


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มี
คำเริ่มต้นว่า สาธุ โข สิปฺปกํ นาม ดังนี้.
ได้ยินว่า ภิกษุนั้น เป็นกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง
ถึงความสำเร็จในสาลิตตกศิลป์ ที่เรียกว่า สาสิตตกศิลป์ ได้แก่
ศิลปะในการดีดก้อนกรวด วันหนึ่งเขาฟังธรรมแล้วบวชถวาย
ชีวิตในพระศาสนา ได้อุปสมบทแล้ว แต่มิได้เป็นผู้มุ่งการศึกษา
มิได้เป็นผู้ยังการปฏิบัติให้สำเร็จ วันหนึ่งเธอชวนภิกษุหนุ่ม
รูปหนึ่ง ไปสู่แม่น้ำอจิรวดี อาบน้ำแล้วพักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ ครั้งนั้น
หงส์ขาว 2 ตัวพากันบินมาทางอากาศ เธอจงกล่าวกะภิกษุหนุ่ม

นั้นว่า ผมจะเอาก้อนกรวดประหารหงส์ตัวหลังนี้ที่นัยน์ตา ให้
ตกลงมาแทบเท้าของท่าน อีกรูปหนึ่งกล่าวว่า ท่านจะทำให้มันตก
ได้อย่างไร ท่านไม่อาจประหารมันได้ดอก เธอกล่าวว่า เรื่องนั้น
ยกไว้ก่อนเถิด เราจักประหารมันที่นัยน์ตาข้างโน้น ให้ทะลุถึง
ตาข้างนี้ ภิกษุหนุ่มจึงกล่าวแย้งว่า คราวนี้ ท่านพูดไม่จริงละ !
เธอบอกว่า ถ้าอย่างนั้น คุณคอยดู แล้วหยิบเอาก้อนกรวดคม ๆ
ได้ก้อนหนึ่ง คลึงด้วยนิ้วชี้ แล้วดีดไปข้างหลังของหงส์นั้น ก้อน-
กรวดนั้น ส่งเสียงหึ่ง ๆ หงส์คิดว่า น่าจะมีอันตราย เหลียวกลับมา
หมายจะฟังเสียง ภิกษุนอกนี้ ก็ถือก้อนกรวดก้อนหนึ่งไว้ใน
ขณะนั้น เมื่อมันยังเหลียวดูอยู่ ก็ดีดไปกระทบนัยน์ตาอีกข้างหนึ่ง
ก้อนกรวดเจาะทะลุถึงนัยน์ตาอีกข้างหนึ่ง หงส์ร้องดังสนั่น
ตกลงมาที่ใกล้เท้าทันที พวกภิกษุมาจากที่นั้น ๆ พากันติเตียน
กล่าวว่า คุณทำไม่สมควรเลย แล้วนำเธอไปสำนักพระศาสดา
กราบทูลเรื่องนั้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้กระทำ
กรรมชื่อนี้ พระศาสดาทรงตำหนิภิกษุนั้น ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุนี้ฉลาดในศิลปะนั้น แม้
ครั้งก่อนก็ได้เป็นผู้ฉลาดแล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่อง
ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ของ
พระองค์ ครั้งนั้น ปุโรหิตของพระราชาเป็นคนปากกล้ายิ่งนัก

ชอบพูดมาก เมื่อตั้งต้นพูดแล้ว คนอื่น ๆ จะไม่มีโอกาสได้พูด
เลยทีเดียว ฝ่ายพระราชาก็ทรงพระดำริว่า เมื่อไรเล่าหนอ เรา
ถึงจักได้ใครช่วยสะกัดถ้อยคำของเขาเสียได้ ตั้งแต่นั้นท้าวเธอ
ก็ทรงใคร่ครวญหาคนอย่างนี้สักคนหนึ่ง ครั้งนั้น ในเมืองพาราณสี
มีบุรุษง่อยคนหนึ่ง ถึงความสำเร็จในศิลปะคือ การดีดก้อนกรวด
พวกเด็กชาวบ้านยกเขาขึ้นสู่รถช่วยกันลากมาไว้ที่ต้นไทรใหญ่
สมบูรณ์ด้วยคาคบต้นหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ใกล้ประตูพระนครพาราณสี
พากันห้อมล้อม ให้เงินมีกากณึกเป็นต้น ร้องบอกว่า จงทำรูปช้าง
จงทำรูปม้า เขาก็ดีดก้อนกรวด เสียงรูปต่าง ๆ ที่ใบไทรทั้งหลาย
ในไทรทั้งมวลล้วนเป็นช่องน้อย ช่องใหญ่ไปทั้งนั้น ครั้งนั้น
พระเจ้าพาราณสี เสด็จพระดำเนินไปสู่พระอุทยาน เสด็จถึง
ตรงนั้น พวกเด็กทั้งหมดพากันหนี เพราะกลัวจะถูกขับไล่ บุรุษง่อย
นอนอยู่ในที่นั้นเอง พระราชาเสด็จถึงโคนต้นไทร ประทับนั่ง
ในราชรถนั่นแล ทอดพระเนตรเห็นเงาต่าง ๆ เพราะใบไม้ทั้งหลาย
ขาดเป็นช่อง ก็ทรงจ้องดู ครั้นเห็นใบไม้ทั้งปวงปรุโปร่งไปหมด
ก็ตรัสถามว่า ใบไม้เหล่านี้ใครทำให้เป็นอย่างนี้ ? ราชบุรุษ
กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุรุษเปลี้ยกระทำพระเจ้าข้า
พระราชทรงพระดำริว่า อาศัยคนผู้นี้เราอาจสะกัดคำของ
พราหมณ์ได้ จึงมีพระดำรัสถามว่า พนาย เจ้าง่อยอยู่ไหนละ ?
ราชบุรุษเที่ยวค้น ก็พบเขานอนอยู่ที่โคนไม้ ก็พากันนำตัวมา
กราบทูลว่า นี่พระเจ้าข้า พระราชารับสั่งให้เข้าเฝ้า แล้วทรง

ขับบริษัทไปเสีย ตรัสถามว่า ในสำนักของเรามีพราหมณ์ปาก
กล้าอยู่คนหนึ่ง เจ้าจักอาจทำให้เขาหมดเสียงได้ไหม ? บุรุษง่อย
กราบทูลว่า เมื่อได้ขี้แพะประมาณทะนานหนึ่ง ข้าพระองค์ก็
อาจจะกระทำได้พระเจ้าข้า พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษพา
บุรุษง่อยเข้าไปสู่พระราชวัง ให้นั่งอยู่ภายในม่านเจาะช่อง
ที่ม่าน รับสั่งให้จัดที่นั่งของพราหมณ์ตรงช่อง แล้วให้วางขี้แพะ
แห้งประมาณหนึ่งทะนานไว้ใกล้ ๆ บุรุษง่อย เวลาพราหมณ์
มาเฝ้า รับสั่งให้นั่งเหนืออาสนะนั้น พลางทรงตั้งเรื่องสนทนาขึ้น.
พราหมณ์ไม่ยอมให้โอกาสแก่คนอื่น ๆ เริ่มกราบทูลแก่พระราชา
ครั้งนั้นบุรุษง่อยก็ดีดขี้แพะไปทีละก้อน ๆ ทางช่องม่าน กะให้ตก
ลงที่พื้นเพดานปากของพราหมณ์นั้นทุกที เหมือนกับโยนใส่กระเช้า
ฉะนั้น พราหมณ์ก็กลืนขี้แพะที่ดีดมาแล้ว ๆ เหมือนกรอกน้ำมัน
ใส่ทะนาน. ขี้แพะถึงความสิ้นไปหมดทั้งทะนาน ขี้แพะประมาณ
ทะนานหนึ่งนั้น เข้าท้องของพราหมณ์ไปได้ประมาณกึ่งอาฬหกะ
พระราชาทรงทราบความที่ขี้แพะหมดสิ้นแล้ว จึงตรัสว่า ท่าน-
อาจารย์ ท่านกลืนขี้แพะเข้าไปตั้งทะนาน เพราะเป็นคนปากมาก
ท่านยังไม่รู้อะไรเลย บัดนี้ท่านจักไม่สามารถให้ขี้แพะมากกว่านี้
ย่อยได้ ไปเถิด จงดื่มน้ำประยงค์ ถ่ายทิ้ง ทำตนให้ปราศจาก
โรคเถิด จำเดิมแต่นั้น พราหมณ์ เหมือนมีปากถูกปิดสนิท แม้
ใครจะพูดก็ไม่ค่อยจะพูดด้วย พระราชาทรงพระดำริว่า บุรุษนี้
ทำความสบายหูให้แก่เรา พระราชทานบ้าน 4 หลัง ในทิศทั้ง 4

มีส่วยขึ้นประมาณแสนกษาปณ์ พระโพธิสัตว์เข้าเฝ้าพระราชา
กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดาศิลปะในโลก บัณฑิต
ทั้งหลายพึงเรียน แม้เพียงดีดก้อนกรวด ก็ยังช่วยให้บุรุษง่อย
ได้สมบัตินี้ แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :-
"ขึ้นชื่อว่าศิลปะ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จโดยแท้ ขอเชิญ
พระองค์ทรงทอดพระเนตรบุรุษง่อย ได้บ้านส่วย
ทั้ง 4 ทิศ ก็ด้วยการดีดมูลแพะ" ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺส ขญฺชปฺปหาเรน ความว่า
พระโพธิสัตว์ กล่าวสรรเสริญคุณของศิลปะว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า
ขอเชิญทรงทอดพระเนตรเถิด บุรุษง่อยผู้นี้ได้รับพระราชทาน
บ้าน 4 หลัง ใน 4 ทิศ ก็ด้วยการดีดขี้แพะ อะไรเป็นข้อขีดคั่น
อานิสงส์แห่งศิลปะอื่น ๆ เล่า ?
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ตรัสประชุม
ชาดกว่า บุรุษง่อยในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุนี้ พระราชาได้
มาเป็นอานนท์ ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคต
ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาสาลิตตชาดกที่ 7

8. พาหิยชาดก


เป็นคนควรศึกษาศิลปะ


[108] บุคคลควรศึกษาศิลปะทั้งหลาย ชน
ทั้งหลายที่พอใจในศิลปะนั้น ก็มีอยู่ แม้แต่หญิง
ที่เกิดในจังหวัดชั้นนอก ก็ยังทำให้พระราชา
ทรงโปรดปรานได้ ด้วยการกระมิดกระเมี้ยน
ของเธอ.

จบ พาหิยชาดกที่ 8

อรรถกถาพาหิยชาดกที่ 8


พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยพระนครเวสาลี ประทับอยู่ ณ
กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ทรงปรารภเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่ง ตรัส
พระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สิกฺเขยฺย สิกฺขิตพฺพานิ ดังนี้.
ได้ยินว่า เจ้าลิจฉวีองค์นั้น ทรงมีศรัทธาเลื่อมใส นิมนต์
พระภิกษุมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ทรงยังมหาทานให้เป็นไป
ในวังของพระองค์ แต่เทวีของพระองค์มีอวัยวะทุกส่วนอ้วนพี
ดูคล้ายนิมิตแห่งซากศพที่ขึ้นพอง ไม่สมบูรณ์ด้วยมารยาท
พระศาสดาทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัตรกิจแล้วเสด็จไป
พระวิหาร ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย เสด็จเข้าพระคันธกุฎี