เมนู

10. อสาตรูปชาดก


ว่าด้วยสิ่งที่ครอบงำคนประมาท


[100] " สิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจ สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
สิ่งที่เป็นทุกข์ ย่อมครอบงำผู้ประมาทด้วยสิ่ง
เป็นที่พอใจ สิ่งเป็นที่รัก และสิ่งที่เป็นสุข"

จบ อสาตรูปชาดกที่ 10

อรรถกถาอสาตรูปชาดกที่ 10


พระศาสดาทรงอาศัย กุณฑิยนคร ประทับอยู่ ณ กุณฑ-
ธานวัน ทรงปรารภอุบาสิกานามว่า สุปปวาสา ผู้เป็นธิดาแห่ง
โกลิยกษัตริย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อสาตํ
สาตรูเปน
ดังนี้.
ความพิสดารว่า ในสมัยนั้น พระนางสุปปวาสา ต้องทรง
บริหารพระครรภ์ถึง 7 ปี แล้วยังต้องเจ็บพระครรภ์อีก 7 วัน
เวทนาเป็นไปขนาดหนัก พระนางแม้จะถูกเวทนาขนาดหนัก
เสียดแทงถึงอย่างนี้ ก็อดกลั้นทุกข์เสียได้ด้วยวิตก 3 ประการ
เหล่านี้ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดเล่า ทรงแสดงธรรม

เพื่อการละทุกข์เห็นปานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้หนอ หมู่แห่งสาวกของพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น ใดเล่าปฏิบัติแล้วเพื่อการละทุกข์เห็น
ปานนี้ หมู่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น นั้นเป็น
ผู้ปฏิบัติดีแน่หนอ ทุกข์เห็นปานนี้ไม่มีในพระนิพพานใดเล่า
พระนิพพานนั้นเป็นสุขจริงหนอ พระนางตรัสเรียกพระสวามี
มาแล้ว ขอให้ไปเฝ้าพระศาสดา เพื่อกราบทูลความเป็นไปของ
พระนาง และข่าวกราบถวายบังคม พระศาสดาทรงทราบ
ข่าวการถวายบังคมแล้ว ตรัสว่า โกลิยธิดา สุปปวาสา จงมี
ความสุขเถิด จงมีความสุข ไม่มีโรค ตลอดโอรสผู้หาโรคมิได้
เถิด ก็พร้อม ๆ กับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแหละ
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ก็ทรงสำราญ ปราศจากพระ-
โรคาพาธ ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรคแล้ว ครั้นพระสวามีของ
พระนางเสด็จถึงนิเวศน์ ทอดพระเนตรเห็นพระนางประสูติแล้ว
ได้ทรงเกิดอัศจรรย์ หลากพระทัยว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ
อานุภาพของพระตถาคตเหลือประมาณ แม้พระนางสุปปวาสา
ทรงประสูติพระกุมารแล้ว ก็ปรารถนาจะถวายมหาทาน แด่
พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธองค์เป็นประมุข จึงส่งพระสวามี
กลับไป เพื่อนิมนต์ ก็สมัยนั้นเล่า อุปัฏฐากของพระมหาโมค-
คัลลานะ นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขไว้แล้ว
พระศาสดาจึงส่งพระสวามีของพระนางไปสู่สำนักของพระ-

เถระเจ้า ให้ท่านทำให้อุปัฏฐากยอมตกลง เพื่อให้โอกาสแก่ทาน
ของพระนางสุปปวาสาแล้ว ทรงรับทานของพระนางตลอด 7 วัน
กับภิกษุสงฆ์.
ครั้นถึงวันที่ 7 พระนางสุปปวาสาตกแต่งพระสีวลีกุมาร
ผู้โอรส ให้ถวายบังคมพระศาสดา และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อ
พระกุมารถูกนำเข้าไปสู่สำนักของพระเถระเจ้าโดยลำดับ
พระเถระเจ้าได้กระทำปฏิสันถารกับเธอว่า สีวลี เธอยังจะพอ
ทนได้หรือ ? สีวลีกุมาร ตรัสคำเห็นปานนี้กับพระเถระเจ้า
ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมจะมีความสุขที่ไหนได้เล่า
กระผมนั้นต้องอยู่ในโลหกุมภีถึง 7 ปี พระนางสุปปวาสาทรง
สดับถ้อยคำนั้นของพระโอรสแล้ว ทรงโสมนัสว่า ลูกของเรา
เกิดได้ 7 วัน คุยกับพระอนุพุทธรรมเสนาบดีได้ พระศาสดา
ตรัสว่า สุปปวาสา ยังจะปรารถนาบุตรอย่างนี้คนอื่น ๆ อีกไหม
เล่า ? พระนางกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ากระหม่อมฉัน
พึงได้โอรสอื่น ๆ อย่างนี้ 7 คน เกล้ากระหม่อมฉันพึงปรารถนา
ทีเดียวพระเจ้าค่ะ พระศาสดาทรงเปล่งพระอุทาน กระทำ
อนุโมทนาแล้วเสด็จหลีกไป ฝ่ายพระกุมารสีวลี พอมีพระชนม์ได้
7 พรรษาเท่านั้น ก็ทรงบวชถวายชีวิตในพระศาสนา ครั้นมีอายุ
ครบ ก็ได้อุปสมบทเป็นผู้มีบุญ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ
บรรลือลั่นตลอดพื้นปฐพี บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ได้รับฐานะ
เป็นเอตทัคคะในกลุ่มแห่งท่านผู้มีบุญทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง

พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภา ตั้งข้อสนทนากันว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย พระเถระที่มีนามว่า สีวลี มีบุญมาก มีความปรารถนา
อันตั้งไว้แล้ว เป็นสัตว์อุบัติในภพสุดท้าย เห็นปานนี้ ต้องอยู่ในโลก
โลหกุมภีถึง 7 ปี แล้วยังต้องถึงความหลงครรภ์ 7 วัน น่าสงสาร
พระมารดาต้องทรงเสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง ท่านได้กระทำ
กรรมอะไรไว้หนอแล พระศาสดาเสด็จไป ณ ธรรมสภานั้น
ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วย
เรื่องอะไรในบัดนี้ เมื่อพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว
ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การอยู่ในโลหกุมภีถึง 7 ปี และ
การถึงความหลงครรภ์อีก 7 วัน ของสีวลีผู้มีบุญมาก มีกรรม
ที่ตนทำไว้เป็นมูลทีเดียว ความทุกข์ในอันบริหารครรภ์ด้วยการ
อุ้มท้องไว้ถึง 7 ปี และทุกข์เพราะหลงครรภ์ถึง 7 วัน แม้ของ
พระนางสุปปวาสานั้นเล่า ก็มีกรรมที่ตนกระทำไว้เป็นมูลเหมือนกัน
อันภิกษุทั้งหลายกราบทูลอาราธนา แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีต
มาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระอุทรแห่ง
พระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้น ทรงเจริญวัยแล้ว
ทรงศึกษาสรรพศิลปวิทยา ณ เมืองตักกสิลา ครั้นพระชนก
เสด็จทิวงคต ก็ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม สมัยนั้นพระเจ้า-
โกศล ทรงกรีฑาพลเป็นกองทัพใหญ่ เสด็จมายึดพระนคร-

พาราณสีได้ สำเร็จโทษพระราชาเสียแล้ว กระทำอัครมเหสี
ของพระราชานั้นแหละให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ฝ่าย
พระโอรสของพระเจ้าพาราณสี เวลาที่พระราชบิดาเสด็จ
สวรรคต เสด็จหนีไปทางช่องระบายน้ำ ทรงรวบรวมกำลังได้
ยกมาสู่พระนครพาราณสี ประทับพักแรมในที่ไม่ไกล ทรงส่ง
หนังสือไปถึงพระราชานั้นว่า จงมอบราชสมบัติคืน หรือมิฉะนั้น
จงรบกัน พระราชานั้นทรงตอบหนังสือไปว่า เราจะทำการยุทธ
ฝ่ายพระราชมารดาของพระราชกุมาร ทรงสดับสาสน์นั้นแล้ว
ลอบส่งหนังสือไปว่า ไม่ต้องทำการรบดอก จงล้อมพระนคร-
พาราณสี ตัดการไปมาของพระนครเสียให้เด็ดขาดสัก 7 วัน
แต่นั้นก็ยึดพระนครซึ่งผู้คนลำบากแล้วด้วยการสิ้นฟืน น้ำ และ
ภัตต์ โดยไม่ต้องรบเลย พระราชกุมารฟังข่าวของพระมารดา
แล้ว ก็ล้อมพระนครไว้ ตัดการไปมาเด็ดขาดตลอด 7 วัน ชาวเมือง
ไปมาไม่ได้ ก็ตัดเอาเศียรของพระราชานั้นไปถวายพระกุมาร
ในวันที่ 7 พระราชกุมารก็เสด็จเข้าพระนครครองราชสมบัติ
เมื่อสิ้นพระชนมายุ ก็เสด็จไปตามยถากรรม.
ในกาลบัดนี้ พระสีวลีนั้นต้องอยู่ในโลหกุมภีตลอด 7 ปี
ถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ 7 วัน ด้วยกระแสกรรมที่ล้อมพระนคร
ตัดการไปมาเสียเด็ดขาดถึง 7 วัน แล้วยืดเอา ก็แต่ว่าท่านได้
ให้มหาทาน กระทำความปรารถนาไว้แทบพระบาท แห่งพระ-
ปทุมุตตรพุทธเจ้าว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้เลิศกว่าบุคคลผู้มีลาภ

ทั้งหลาย และในครั้งพระวิปัสสีพุทธเจ้า ร่วมกับชาวเมืองถวาย
เนยแข็ง มีมูลค่าราคาหนึ่งพัน แล้วได้กระทำความปรารถนา
ไว้ ด้วยอานุภาพแห่งทานนั้น จึงได้เป็นผู้เลิศกว่าผู้มีลาภทั้งหลาย
ส่วนพระนางสุปปวาสาเล่า เพราะส่งข่าวไปว่า จงล้อมพระนคร
ยึดเอาเถิดพ่อ จึงต้องทรงบริหารครรภ์อุ้มพระอุทรตลอด 7 ปี
แล้วยังต้องเกิดครรภ์หลงอีกถึง 7 วัน ดังนี้แล. พระศาสดาทรง
นำเอาเรื่องในอดีตนี้มาสาธกแล้ว ตรัสพระคาถานี้ เป็นอภิสัม-
พุทธคาถา ความว่า :-
" สิ่งที่ไม่น่าชื่นชม ข่มผู้ประมาทไว้
ด้วยทีท่าอันน่าชื่นชม ส่งที่ไม่น่ารัก ข่มผู้
ประมาทไว้ ด้วยทีท่าอันน่ารัก ทุกข์ข่มผู้ประมาท
ไว้ด้วยทีท่าของความสุข"
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสาตํ สาตรูเปน ความว่า
สิ่งที่ไม่น่าชื่นชม คือไม่มีรสหวานเลย ย่อมข่มผู้ประมาทด้วย
ทีท่าเหมือนมีรสอร่อย.
บทว่า ปมตฺตมติวตฺตติ มีอธิบายว่า สิ่งทั้ง 3 อย่างนี้คือ
สิ่งที่ไม่น่าชื่นชม สิ่งที่ไม่น่ารัก และ ทุกข์ ย่อมข่ม คือครอบงำ
บุคคลผู้ประมาทแล้ว ด้วยสามารถแห่งการอยู่ปราศจากสติ
ด้วยอาการมีทีท่าอันน่าชื่นชมเป็นต้นนี้ เรื่องนี้พึงทราบว่า ข้อที่
มารดาและบุตรเหล่านั้น ถูกสิ่งที่ไม่น่าชื่นชม กล่าวคือ การบริหาร
ครรภ์ และการอยู่ในครรภ์เป็นต้นนี้ ครอบงำแล้ว ด้วยการ

เปรียบให้เห็น การปิดล้อมพระนครไว้ในครั้งก่อนเป็นต้น อันใด
ก็ดี ข้อที่บัดนี้อุบาสิกานั้น ยอมให้สิ่งที่ไม่น่าชื่นชม ไม่น่ารัก
เป็นทุกข์เห็นปานนี้ ครอบงำซ้ำอีกถึง 7 ครั้ง ด้วยรูปเทียม
อันชวนให้เข้าใจผิดว่าน่าชื่นชม กล่าวคือบุตร อันเป็นที่ตั้งแห่ง
ความรักเป็นต้น จึงกราบทูลอย่างนั้น อันใดก็ดีพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงหมายเอาสิ่งนั้น ๆ ทั้งหมด ตรัสแล้ว.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดกว่า ราชกุมารผู้ล้อมพระนคร แล้วสืบราชสมบัติในครั้งนั้น
ได้มาเป็นสีวลีในครั้งนี้ พระมารดาได้มาเป็นพระนางสุปปวาสา
ส่วนพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นพระราชบิดา ได้มาเป็นเราตถาคต
ฉะนี้แล.
จบ อสาตรูปชาดกที่ 10
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
1. ลิตตชาดก 2. มหาสารชาดก 3. วิสสาสโภชนาชาดก
4. โลมหังสชาดก 5. มหาสุทัสสนชาดก 6. เตลปัตตชาดก
7. นามสิทธิชาดก 8. กูฏวาณิชชาดก 9. ปโรสทัสสนชาดก
10. อสาตรูปชาดก
จบ ลิตตวรรคที่ 10
จบ มัชฌิมปัณณาสก์

11. ปโรสตวรรค


1. ปโรสตชาดก


คนมีปัญญาคนเดียวกว่าคนโง่เขลาตั้งร้อย


[ 101 ] คนโง่เขลามาประชุมกัน แม้ตั้งร้อยคน
ขึ้นไป พวกเขาไม่มีปัญญา พึงเพ่งดูอยู่ตั้งร้อยปี
ผู้ใดรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิต ผู้นั้นเป็นบุรุษมี
ปัญญา คนเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่า.

จบ ปโรสตชาดกที่ 1

อรรถกถาปโรสตวรรคที่ 11


อรรถกถาปโรสตชาดกที่ 1


ชาดกเรื่องนี้ มีคาถา ความว่า :-
"คนโง่เขลามาประชุมกัน แม้ตั้งร้อยคน
ขึ้นไป พวกเขาไม่มีปัญญา พึงเพ่งดูอยู่ตั้งร้อยปี
ผู้ใดรู้แจ้งเนื้อความแห่งภาษิต ผู้นั้นเป็นบุรุษมี
ปัญญา คนเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่า"
ดังนี้.
เหมือนกันกับปโรสหัสสชาดก โดยเนื้อเรื่อง โดยไวยากรณ์
และโดยประชุมชาดก แต่ในชาดกนี้ มีแปลกเพียงบท ฌาเยยฺยุ