เมนู

10. กุททาลชาดก


ว่าด้วยความชนะที่ดี


[70] " ความชนะที่บุคคลชนะแล้วกลับแพ้ได้
นั้น มิใช่ความชนะเด็ดขาด (ส่วน) ความชนะ
ที่บุคคลชนะแล้ว ไม่กลับแพ้นั้นต่างหาก จึงจะ
ชื่อว่า เป็นความชนะเด็ดขาด "

จบ กุททาลชาดกที่ 10

อรรถกถากุททาลชาดกที่ 10


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภพระจิตหัตถสารีบุตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ
เริ่มต้นว่า น ตํ ชิตํ สาธุ ดังนี้.
ได้ยินว่า พระจิตหัตถสารีบุตร เป็นเด็กที่เกิดในตระกูล
ผู้หนึ่งในพระนครสาวัตถี อยู่มาวันหนึ่งไถนาแล้ว ขากลับเข้า
ไปสู่วิหาร ได้โภชนะประณีตอร่อย มีรสสนิทจากบาตรพระเถระ
องค์หนึ่ง คิดว่า ถึงแม้เราจะกระทำงานต่าง ๆ ด้วยมือของตน
ตลอดคืนตลอดวัน ก็ยังไม่ได้อาหารอร่อยอย่างนี้ แม้เราก็สมควร
จะเป็นสมณะ ดังนี้. เขาบวชแล้วอยู่มาได้ประมาณครึ่งเดือน
เมื่อไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ตกไปในอำนาจกิเลส สึกไป พอลำบาก

ด้วยอาหารก็มาบวชอีก เรียนพระอภิธรรม ด้วยอุบายนี้ สึก
แล้วบวชถึง 6 ครั้ง ในความเป็นภิกษุครั้งที่ 7 เป็นผู้ทรง
พระอภิธรรม 7 พระคัมภีร์ ได้บอกธรรมแก่ภิกษุเป็นอันมาก
บำเพ็ญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัตถ์แล้ว. ครั้งนั้นภิกษุผู้เป็น
สหายของท่าน พากันเยาะเย้ยว่า อาวุโส จิตหัตถ์ เดี๋ยวนี้กิเลส.
ทั้งหลายของเธอ ไม่เจริญ เหมือนเมื่อก่อนดอกหรือ ? ท่าน
ตอบว่า ผู้มีอายุ ตั้งแต่บัดนี้ไป ผมไม่เหมาะเพื่อความเป็นคฤหัสถ์
ก็เมื่อท่านบรรลุพระอรหัตอย่างนี้แล้ว เกิดโจทย์กันขึ้น ใน
ธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่ออุปนิสัยแห่งพระอรหัต
เห็นปานนี้มีอยู่ ท่านพระจิตหัตถสารีบุตร ต้องสึกถึง 6 ครั้ง
โอ ! ความเป็นปุถุชน มีโทษมากดังนี้ พระศาสดาเสด็จมาแล้ว
ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอสนทนากันด้วย
เรื่องอะไร ? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าจิตของปุถุชน เมา ข่มได้ยาก
คอยไปติดด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ ลงติดเสียครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่
อาจปลดเปลื้องได้โดยเร็ว การฝึกฝนจิตเห็นปานนี้ เป็นความดี
จิตที่ฝึกฝนดีแล้วเท่านั้น จะนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้
แล้วตรัสพระคาถานี้ ความว่า :-
" การฝึกฝนจิต ที่ข่มได้ยาก เมา มีปกติ
ตกไปตามอารมณ์ที่ปรารถนาเป็นการดี เพราะจิต
ที่ฝึกฝนแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ "
ดังนี้.

ครั้นแล้วตรัสต่อไปว่า ก็เพราะเหตุที่จิตนั้นข่มได้โดยยาก
บัณฑิตทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน อาศัยจอบเล่มเดียว ไม่อาจทิ้ง
มันได้ ต้องสึกถึง 6 ครั้ง ด้วยอำนาจความโลภ ในเพศแห่ง
บรรพชิตครั้งที่ 7 ทำฌานให้เกิดขึ้นแล้ว จึงข่มความโลภนั้นได้
ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุง-
พาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคนปลูกผัก ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา
แล้ว ได้นามว่า " กุททาลบัณฑิต " ท่านกุททาลบัณฑิต กระทำ
การฟื้นดินด้วยจอบ เพาะปลูกพืชพันธ์และผัก มีน้ำเต้า ฟักเขียว
ฟักเหลือง เป็นต้น เก็บผักเหล่านั้นขาย เลี้ยงชีพด้วยการเบียดกรอ.
แท้จริงท่านกุททาลบัณฑิต นอกจากจอบเล่มเดียวเท่านั้น ทรัพย์
สมบัติอย่างอื่นไม่เลย. ครั้นวันหนึ่งท่านดำริว่า จะมีประโยชน์
อะไรด้วยการอยู่ครั้งเรือน เราจักบวช ดังนี้. ครั้นวันหนึ่ง
ท่านซ่อนจอบนั้นไว้ ในที่ซึ่งมิดชิด แล้วบวชเป็นฤาษี ครั้น
หวลนึกถึงจอบเล่มนั้นแล้ว ก็ไม่อาจตัดความโลภเสียได้ เลย
ต้องสึก เพราะอาศัยจอบกุด ๆ เล่มนั้น. แม้ครั้งที่ 2 แม้ครั้ง
ที่ 3 ก็เป็นอย่างนี้ เก็บจอบนั้นไว้ในที่มิดชิด บวช ๆ สึก ๆ
รวมได้ถึง 6 ครั้ง ในครั้งที่ 7 ได้คิดว่า เราอาศัยจอบกุด ๆ
เล่มนี้ ต้องสึกบ่อยครั้ง คราวนี้เราจักขว้างมันทิ้งเสียในแม่น้ำ
ใหญ่ แล้วบวช ดังนี้แล้ว เดินไปสู่ฝั่งแม่น้ำ คิดว่า ถ้าเรายังเห็นที่ตก
ของมัน ก็จักต้องอยากงมมันขึ้นมาอีก แล้วจับจอบที่ด้าม ท่าน

มีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง ควงจอบเหนือศีรษะ
3 รอบ หลับตาขว้างลงไปกลางแม่น้ำ แล้วบรรลือเสียงกึกก้อง
3 ครั้งว่า " เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว".
ในขณะนั้น พระเจ้าพาราณสี ทรงปราบปรามปัจจันตชนบท
ราบคาบแล้ว เสด็จกลับ ทรงสนานพระเศียรในในแม่น้ำนั้น ประดับ
พระองค์ด้วยเครื่องอลังการครบเครื่อง เสด็จพระดำเนินโดย
พระคชาธาร ทรงสดับเสียงของพระโพธิสัตว์นั้น ทรงระแวง
พระทัยว่า บุรุษผู้นี้กล่าวว่า เราชนะแล้ว ใครเล่าที่เขาชนะ
จงเรียกเขามา แล้วมีพระดำรัสสั่งให้เรียกมาเฝ้า แล้วมีพระดำรัส
ถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เรากำลังชนะสงคราม กำความมีชัย
มาเดี๋ยวนี้ ส่วนท่านเล่าชนะอะไร ? พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า
ข้าแต่มหาราช ถึงพระองค์จะทรงชนะสงครามตั้งร้อยครั้ง
ตั้งพันครั้ง แม้ตั้งแสนครั้ง ก็ยังชื่อว่าชนะไม่เด็ดขาดอยู่
นั่นเอง เพราะยังเอาชนะกิเลสทั้งหลายไม่ได้ แต่ข้าพระองค์
ข่มกิเลสในภายในไว้ได้ เอาชนะกิเลสทั้งหลายได้ กราบทูลไป
มองดูแม่น้ำไป ยังฌานมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์ ให้เกิดขึ้นแล้ว
นั่งในอากาศด้วยอำนาจของฌานและสมาบัติ เมื่อจะแสดงธรรม
ถวายพระราชา จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า :-
"ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว กลับแพ้
ได้นั้น มิใช่ความชนะเด็ดขาด (ส่วน) ความชนะ

ที่บุคคลชนะแล้ว ไม่กลับแพ้นั้นต่างหาก จึงชื่อว่า
เป็นความชนะเด็ดขาด " ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ
อวชิยฺยติ
ความว่า การปราบปรามปัจจามิตร ราบคาบชนะ
แว่นแคว้น ตีเอาได้แล้ว ปัจจามิตรเหล่านั้น ยังจะตีกลับคืนได้
ความชนะนั้นจะชื่อว่าเป็นความชนะเด็ดขาดหาได้ไม่
เพราะเหตุไร ?
เพราะยังจะต้องชิงชัยกันบ่อย ๆ.
อีกนัยหนึ่ง ชัยเรียกได้ว่า ความชนะ ชัยที่ได้เพราะรบ
กับปัจจามิตร ต่อมาเมื่อปัจจามิตรเอาชนะคืนได้ ก็กลับเป็น
ปราชัย ชัย นั้นไม่ดีไม่งาม เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุที่ยัง
กลับเป็นปราชัยได้อีก.
บทว่า ตํ โข ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ นาวชิยฺยติ ความว่า
ส่วนการครอบงำมวลปัจจามิตรไว้ได้แล้วชนะ ปัจจามิตรเหล่านั้น
จะกลับชิงชัยไม่ได้อีก ใด ๆ ก็ดี การได้ชัยชนะครั้งเดียวแล้ว
ไม่กลับเป็นปราชัยไปได้ ใด ๆ ก็ดี ความชนะนั้น ๆ เป็นความ
ชนะเด็ดขาด คือชัยชนะนั้นชื่อว่าดี ชื่อว่างาม. เพราะเหตุไร ?
เพราะเหตุที่ไม่ต้องชิงชัยกันอีก. ดูก่อนมหาบพิตร เพราะเหตุนั้น
แม้พระองค์จะทรงชนะ ขุนสงคราม ตั้งพันครั้ง ตั้งแสนครั้ง
ก็ยังจะเฉลิมพระนามว่า จอมทัพ หาได้ไม่.
เพราะเหตุใด ?

เพราะเหตุที่พระองค์ยังทรงชนะกิเลสของพระองค์เอง
ไม่ได้ ส่วนบุคคลใด ชนะกิเลสภายในของตนได้ แม้เพียงครั้งเดียว
บุคคลนี้ จัดเป็นจอมทัพผู้เกรียงไกรได้. พระโพธิสัตว์นั่งใน
อากาศนั่นแล แสดงธรรมถวายพระราชาด้วยพระพุทธลีลา
ก็ในความเป็นจอมทัพผู้สูงสุดนั้น มีพระสูตร์เป็นเครื่องสาธก
ดังนี้ :-
" ผู้ที่ชนะหมู่มนุษย์ในสงคราม ถึงหนึ่ง
ล้านคน ยังสู้ผู้ที่ชนะตนเพียงผู้เดียวไม่ได้ ผู้นั้น
เป็นจอมทัพสูงสุด โดยแท้ " ดังนี้.

ก็เมื่อพระราชาทรงสดับธรรมอยู่นั่นเอง ทรงละกิเลส
ได้ด้วยอำนาจ ตทังคปหาน พระทัยน้อมไปในบรรพชา. ถึงพวก
หมู่โยธาของพระองค์ ก็พากันละได้เช่นนั้นเหมือนกัน. พระ-
ราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า บัดนี้พระคุณเจ้าจักไปไหน
เล่า ? พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์
จักเข้าป่าหิมพานต์บวชเป็นฤๅษี. พระราชารับสั่งว่า ถ้า
เช่นนั้น แม้ข้าพเจ้าก็จะบรรพชา แล้วเสด็จพระราชดำเนิน
ไปพร้อมกับพระโพธิสัตว์. พลนิกายทั้งหมด คือ พราหมณ์
คฤหบดี และทวยหาญ ทุกคนประชุมกันในขณะนั้น เป็นมหาสมาคม
ออกบรรพชา พร้อมกับพระราชาเหมือนกัน. ชาวเมือง
พาราณสี สดับข่าวว่า พระราชาของเราทั้งหลาย ทรงสดับ
พระธรรมเทศนาของกุททาลบัณฑิตแล้ว ทรงบ่ายพระพักตร์

มุ่งบรรพชา เสด็จออกทรงผนวชพร้อมด้วยพลนิกาย พวกเรา
จักทำอะไรกันในเมืองนี้ ดังนี้แล้ว บรรดาผู้อยู่ในพระนครทั้งนั้น
ต่างพากันเดินทางออกจากกรุงพาราณสี อันมีปริมณฑลได้
12 โยชน์. บริษัทก็ได้มีปริมณฑล 12 โยชน์. พระโพธสัตว์
พาบริษัทนั้นเข้าป่าหิมพานต์. ในขณะนั้นอาสนะที่ประทับนั่ง
ของท้าวสักกเทวราช สำแดงอาการร้อน. ท้าวเธอทรงตรวจดู
ทอดพระเนตรเห็นว่า กุททาลบัณฑิต ออกสู่มหาภิเนกษกรม
แล้วทรงพระดำริว่า จักเป็นมหาสมาคม ควรที่ท่านจะได้สถาน
ที่อยู่ แล้วตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมา ตรัสสั่งว่า พ่อ-
วิสสุกรรม กุททาลบัณฑิตกำลังออกสู่มหาภิเนกษกรม ท่าน
ควรจะได้ที่อยู่ ท่านจงไปหิมวันตประเทศ เนรมิตอาศรมบท
ยาว 30 โยชน์ กว้าง 15 โยชน์ ณ ภูมิภาคอันราบรื่น. วิสสุ-
กรรมเทพบุตร รับเทวบัญชาว่า ข้าแต่เทพยเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า
จะกระทำให้สำเร็จดังเทวบัญชา แล้วไปทำตามนั้น นี้เป็นความ
สังเขปในอธิการนี้. ส่วนความพิสดาร จักปรากฏในหัตถิปาลชาดก
แท้จริงเรื่องนี้ และเรื่องนั้น เป็นปริเฉทเดียวกันนั่นเอง.
ฝ่ายวิสสุกรรมเทพบุตร เนรมิตบรรณศาลาในอาศรมบท
แล้ว ก็ขับไล่ เนื้อ นก และอมนุษย์ที่มีเสียงชั่วร้ายไปเสีย แล้ว
เนรมิต หนทางเดินแคบ ๆ ตามทิสาภาคนั้น ๆ เสร็จแล้ว เสด็จ
กลับไปยังวิมานอันเป็นสถานที่อยู่ของตนทันที.

ฝ่ายกุททาลบัณฑิต พาบริษัทเข้าสู่ป่าหิมพานต์ ลุถึง
อาศรมบทที่ท้าวสักกะทรงประทาน ถือเอาเครื่องบริขารแห่ง
บรรพชิต ที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ให้ บวชตนเองก่อน
ให้บริษัทบวชทีหลัง จัดแจงแบ่งอาศรมบทให้อยู่กันตามสมควร
มีพระราชาอีก 7 พระองค์ สละราชสมบัติ 7 พระนคร (ติดตาม
มาทรงผนวชด้วย) อาศรมบท 30 โยชน์ เต็มบริบูรณ์. กุททาล-
บัณฑิต ทำบริกรรมในกสิณที่เหลือ เจริญพรหมวิหารธรรม
บอกกรรมฐานแก่บริษัท. บริษัททั้งปวง ล้วนได้สมาบัติ เจริญ
พรหมวิหารแล้ว พากันไปสู่พรหมโลกทั่วกัน. ส่วนประชาชน
ที่บำรุงพระดาบสเหล่านั้น ก็ล้วนได้ไปสู่เทวโลก.
พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่า
จิตนี้ ติดด้วยอำนาจของกิเลสแล้ว เป็นธรรมชาติปลดเปลื้อง
ได้ยาก โลภธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้ว เป็นสภาวะละได้ยาก
ย่อมกระทำท่านผู้เป็นบัณฑิตเห็นปานฉะนี้ ให้กลายเป็นคน
ไม่มีความรู้ไปได้ ด้วยประการฉะนี้ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนา
นี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย เมื่อจบสัจจะ ภิกษุทั้งหลาย
บางพวก ได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี
บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต แม้
พระบรมศาสดา ทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า พระราชา
ในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ บริษัทในครั้งนั้น ได้มาเป็น
พุทธบริษัท ส่วนกุททาลกบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถากุททาลชาดกที่ 10

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
1. อสาตมันตชาดก 2. อัณฑภูตชาดก 3. ตักกชาดก
4. ทุราชานชาดก 5. อนภิรติชาดก 6. มุทุลักขณชาดก
7. อุจฉังคชาดก 8. สาเกตชาดก 9. วิสวันตชาดก 10. กุท-
ทาลชาดก.
จบ อิตถีวรรคที่ 7

8. วรุณวรรค


1. วรุณชาดก


ว่าด้วยการทำไม่ถูกขั้นตอน


[71] ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อนใน
ตอนหลัง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เหมือน
มาณพหักไม้กุ่ม ฉะนั้น.

จบ วรุณชาดกที่ 1

อรรถกถาวรุณวรรคที่ 8

1

อรรถกถาวรุณชาดกที่ 1


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภพระติสสเถระ บุตรกุฏุมพี ตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า โย ปุพฺเพ กรณียานิ ดังนี้.
ได้ยินว่า ในวันหนึ่ง กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถี เป็นสหาย
กันประมาณ 30 คน ถือของหอม ดอกไม้และผ้าเป็นต้น คิดกัน
ว่า พวกเราจักฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา อันมหาชน
ห้อมล้อม พากันไปสู่วิหารเชตวัน นั่งพักในโรงชื่อ นาคมาฬกะ
1. ในอรรถกถาเป็น วรณ...