เมนู

อรรถกถาทวาทสกนิบาต


1. อรรถกถาอุบลวรรณาเถรีคาถา


ใน ทวาทสกนิบาต คาถาว่า อุโภ มาตา จ ธีตา จ เป็นต้น
เป็นคาถาของ พระอุบลวรรณเถรี มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
พระเถรีแม้รูปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ก็
บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี รู้เดียงสาแล้วก็ไปเฝ้าพระศาสดา พร้อมกับ
มหาชนฟังธรรม เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่ง
เอตทัคคะเป็นเลิศของเหล่าภิกษุณีผู้มีฤทธิ์ จึงถวายมหาทานแก่พระภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน 7 วัน ปรารถนาตำแหน่งนั้น นางกระทำกุศลจนตลอด
ชีวิต ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ถือปฏิสนธิ
ในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิกิ กรุงพาราณสี เป็น
พระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง 7 พระองค์ ทรงประพฤติ
พรหมจรรย์อยู่ถึง 20,000 ปี สร้างบริเวณถวายพระภิกษุสงฆ์แล้วบังเกิดใน
เทวโลก.
ครั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ก็กลับมาสู่มนุษยโลกอีก บังเกิดในสถาน
ที่ของคนทำงานด้วยมือตนเองเลี้ยงชีวิต ในหมู่บ้านตำบลหนึ่ง วันหนึ่งนาง
กำลังเดินไปกระท่อมกลางนา ระหว่างทาง เห็นดอกปทุมบานแต่เช้าตรู่ใน
สระแห่งหนึ่ง จึงลงสู่สระนั้น เก็บดอกปทุมนั้นและใบปทุม สำหรับใส่ข้าว
ตอก ตัดรวงข้าวสาลีที่คันนา นั่งในกระท่อมคั่วข้าวตอก จัดวางข้าวตอกไว้
500 ดอก ขณะนั้น ที่ภูเขาคันธมาทน์ พระปัจเจกพุทธเจ้า องค์หนึ่ง

ออกจากนิโรธสมาบัติ มายืนไม่ไกลนาง นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็
ถือเอาดอกปทุมพร้อมด้วยข้าวตอกลงจากกระท่อม ใส่ข้าวตอกลงในบาตรของ
พระปัจเจกพุทธเจ้า เอาดอกปทุมปิดบาตรถวาย ขณะนั้น เมื่อพระปัจเจก-
พุทธเจ้าไปได้หน่อยหนึ่ง นางก็ปริวิตกว่า ธรรมดานักบวชไม่ต้องการดอกไม้
จำเราจะไปถือดอกไม้มาประดับเสียเอง จึงไปถือดอกไม้มาจากมือของพระ-
ปัจเจกพุทธเจ้าแล้วก็คิดอีกว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องการดอกไม้ ก็จักไม่ให้
วางไว้บนบาตร พระผู้เป็นเจ้าคงจักต้องการแน่แท้ จึงไปวางดอกไม้ไว้บน
บาตรอีก ขอขมาพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว การทำความปรารถนาว่า เจ้า-
พระคุณเจ้าข้า ด้วยผลของข้าวตอกเหล่านี้ของข้าพเจ้า ขอบุตรของข้าพเจ้าจงมี
เท่าจำนวนข้าวตอก [500] ด้วยผลของดอกปทุม ขอดอกปทุมจงผุดขึ้นทุก ๆ
ย่างก้าว ในสถานที่ข้าพเจ้าบังเกิดแล้วบังเกิดอีก พระปัจเจกพุทธเจ้าเหาะไป
ยังภูเขาคันธมาทน์ ทั้งที่นางเห็นอยู่นั่นแล แล้วก็วางดอกปทุมนั้นไว้เป็น
เครื่องเช็ดเท้า ใกล้บันใดเหยียบของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ณ เงื้อม
เขานันทมูลกะ.
ด้วยผลของกรรมนั้น แม้นางก็ถือปฏิสนธิในเทวโลก นับแต่นาง
บังเกิดแล้ว ปทุมดอกใหญ่ ก็ผุดทุก ๆ ย่างก้าวของนาง นางจุติจากเทวโลก
นั้นแล้ว ก็บังเกิดในห้องปทุม ในสระปทุมแห่งหนึ่งใกล้เชิงภูเขา ดาบสองค์
หนึ่งอาศัยเชิงภูเขานั้นอยู่ ดาบสนั้นไปสระแต่เช้าตรู่ เพื่อล้างหน้า เห็นดอก
ปทุมนั้น ก็ครุ่นคิดว่า ปทุมดอกนี้ ใหญ่กว่าดอกอื่น ๆ แต่ดอกอื่น ๆ บานแล้ว
ดอกนี้ยังตูมอยู่ น่าที่จะมีเหตุในดอกปทุมนั้น จึงลงน้ำจับปทุมดอกนั้น ปทุม
ดอกนั้น พอดาบสนั้นจับเท่านั้นก็บาน ดาบสก็เห็นเด็กหญิงนอนอยู่ภายใน
ห้องดอกปทุม และนับแต่เห็นแล้ว ก็ได้ความรักประดุจธิดา จึงนำไปบรรณ-
ศาลาพร้อมกับดอกปทุมให้นอนบนเตียง ลำดับนั้น น้ำนมก็เกิดที่หัวนิ้วแม่มือ

ด้วยบุญญานุภาพของนาง เมื่อปทุมดอกนั้นเหี่ยว ดาบสก็นำปทุมดอกอื่นมา
ใหม่ให้นางนอน นับตั้งแต่นางสามารถวิ่งมาวิ่งไปได้ ดอกปทุมก็ผุดขึ้นทุก
ย่างก้าว ผิวพรรณแห่งเรือนร่างของนางก็เหมือนสีทองบัวบก ผิวนางไม่ถึง
ผิวพรรณเทวดา ก็ล้ำผิวพรรณมนุษย์ เมื่อบิดาไปแสวงหาผลาผล นางกถูก
ปล่อยทิ้งไว้ ณ บรรณศาลา.
ต่อมาวันหนึ่ง สมัยนางเจริญวัยแล้ว เมื่อบิดาไปแสวงหาผลาผล
พรานป่าผู้หนึ่งพบนางแล้วคิดว่า ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ทั้งหลาย ที่จะมีรูปอย่างนี้ไม่
น่ามี ดังนั้นจำเราจักทดลองนาง จงนั่งคอยรอให้ดาบสกลับมา เมื่อบิดากลับ
มา นางก็เดินสวนทางไปรับหาบและคนโฑน้ำ และเมื่อบิดามานั่งแล้ว ก็
แสดงธรรมเนียมหน้าที่ของตน. ครั้งนั้น พรานป่านั้นก็รู้ว่านางเป็นมนุษย์
จึงนั่งกราบดาบส. ดาบสจึงเชื้อเชิญพรานป่านั้น ด้วยเผือกมันผลไม้กับน้ำดื่ม
แล้วถามว่า พ่อมหาจำเริญ ท่านจักพักอยู่ที่นี้หรือจักไป เขาตอบว่า จักไป
เจ้าข้า ในที่นี้ จักทำอะไรได้. ดาบสกล่าวว่า เหตุการณ์ที่ท่านเห็นแล้วนี้
ท่านจักไม่พูดในสถานที่ท่านไปแล้วได้ไหม เขาตอบว่า ถ้าพระคุณเจ้าไม่
ประสงค์ เหตุไรข้าจึงจะพูดเล่าเจ้าข้า ไหว้ดาบสกระทำเครื่องหมายไว้ที่กิ่งไม้และ
เครื่องหมายที่ต้นไม้ โดยอาการที่พอจะจำหนทางได้เวลาจะมาอีก แล้วกลับไป
แม้พรานป่านั้น ไปกรุงพาราณสีแล้วก็เฝ้าพระราชา พระราชาตรัส
ถามว่า เจ้ามาทำไม เขากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระบาทเป็นพราน
ป่าของพระองค์พบนางแก้วที่น่าอัศจรรย์ใกล้เชิงเขา จึงมาเฝ้าพระเจ้าข้า
แล้วกราบทูลเรื่องถวายทุกประการ ท้าวเธอทรงสดับคำของพรานป่าแล้ว ก็รีบ
เสด็จไปยังเชิงเขาตั้งค่ายพักพลในที่ไม่ไกลนัก จึงพร้อมด้วยพรานป่ากับเหล่า
ทหารเสด็จไปที่บรรณศาลานั้น ในเวลาที่ดาบสฉันเสร็จแล้วนั่งพักอยู่ ทรง

ไหว้ ทรงทำปฏิสันถารแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง พระราชาทรงวาง
เครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตไว้แทบเท้าของดาบสตรัสว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้า
ทำอะไรบางอย่างในที่นี้แล้วก็จักไป. ดาบสถวายพระพรว่า โปรดแสดงไปเถิด
มหาบพิตร. ตรัสว่า ข้าพเจ้าจักไปเจ้าข้า ได้ยินมาว่า บริษัทที่เป็นข้าศึกมีอยู่
ใกล้พระคุณเจ้า บริษัทนั้นไม่สมควรแก่บรรพชิต จงไปเสียกับข้าพเจ้าเถิดนะ
เจ้าข้า ทูลว่า ขึ้นชื่อว่าจิตใจของมนุษย์ ทำให้พอใจได้ยาก นางจะอยู่ท่าม
กลางผู้คนจำนวนมากได้อย่างไร. ตรัสว่า นับตั้งแต่ข้าพจ้าชอบใจนางข้าพเจ้า
ก็อาจจะตั้งนางไว้ในตำแหน่งสูงสุดของผู้คนทั้งหลาย แล้วทำนุบำรุงนะเจ้าข้า.
ดาบสสดับพระราชดำรัส จึงเรียกธิดาตามนามที่ตั้งไว้ครั้งยังเล็กว่าลูก
ปทุมวดี ด้วยการเรียกครั้งเดียวเท่านั้น นางก็ออกจากบรรณศาลามายืนไหว้
บิดา ขณะนั้น บิดาจึงกล่าวกะนางว่า ลูกเอ๋ย เจ้าก็โตเป็นสาวแล้ว จะอยู่
ในที่นี้นับแต่พระราชาทรงพบแล้ว ไม่ผาสุกดอกนะ จงตามเสด็จไปกับพระ-
ราชาเสียเถิดนะลูกนะ. นางรับคำบิดาว่า ดีละพ่อท่าน ไหว้แล้วก็ยืนร้องไห้
อยู่ พระราชาทรงดำรัสว่า จำเราจักยึดจิตใจบิดาของนางไว้ ทรงวางกอง
กหาปณะไว้ที่ตรงนั้นนั่นเอง แล้วทรงทำอภิเษก ท้าวเธอทรงนำนางไปยัง
พระนครของพระองค์ นับแต่เสด็จกลับมาแล้วก็มิได้ทรงสนพระทัยสตรีอื่น ๆ
ทรงอภิรมย์อยู่กับนาง สตรีเหล่านั้นมีปกติริษยาอยู่แล้ว ประสงค์จะทำนางให้
แตกกันระหว่างพระราชา จึงพากันเพ็ดทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม
สตรีผู้นี้มิใช่มนุษย์ดอกเพคะ ทูลกระหม่อนเคยทอดพระเนตรเห็นดอกปทุมผุด
ขึ้น ในถิ่นที่มนุษย์สัญจรไปที่ไหนเล่าเพคะ นางผู้นี้ต้องเป็นยักษิณีแน่ ขอ
ทูลกระหม่อมโปรดเนรเทศมันไปเสียเถิดเพคะ พระราชาทรงสดับคำของสตรี
เหล่านั้น ก็ได้แต่ทรงนิ่งอึ้ง.

ต่อมา เมืองชายแดนของพระราชาเกิดแข็งเมือง ท้าวเธอทรงพระ-
ดำริว่า พระนางปทุมวดีมีพระครรภ์แก่ จึงทรงพักพระนางไว้ในพระนคร แล้ว
เสด็จไปยังเมืองชายแดน ครั้งนั้น สตรีเหล่านั้นจึงให้สินบนแก่หญิงรับใช้ผู้
ปรนนิบัติพระนาง สั่งว่า พอทารกของพระนางประสูติออกมา เจ้าจงนำออก
ไปแล้วเอาเลือดทาไม้ท่อนหนึ่งวางไว้ใกล้ ๆ ไม่นานนัก พระนางปทุมวดีก็
ประสูติ พระมหาปทุมกุมารพระองค์เดียวเท่านั้นถือปฏิสนธิในพระครรภ์
พระกุมารอีก 499 พระองค์ บังเกิดเป็นสังเสทชกำเนิด ในเวลาที่พระมหา-
ปทุมกุมารบรรทม ประสูติออกจากพระครรภ์ของพระมารดา ขณะนั้น หญิง
รับใช้ของพระนางรู้ว่า พระนางยังไม่ได้พระสติ ก็เอาเลือดทาไม้ท่อนหนึ่ง
แล้ววางไว้ใกล้ ๆ แล้วให้สัญญาณแก่สตรีเหล่านั้น สตรีทั้ง 500 คน ก็รับ
พระกุมารไปคนละองค์ส่งไปสำนักช่างกลึง ให้นำกล่องตลับมาใส่พระกุมารที่แต่
ละคนรับไว้ ให้บรรทมในกล่องตลับนั้น ตีตราข้างนอกกล่องวางไว้.
ฝ่ายพระนางปทุมวดี รู้สึกพระองค์แล้วรับ สั่งถามหญิงรับใช้ว่า ข้า-
คลอดแล้วหรือแม่คุณ หญิงรับใช้พูดตะคอกเอากะพระนางว่า พระแม่เจ้าจะ
ได้ทารกมาแต่ไหนเล่า แล้ววางท่อนไม้ทาเลือดไว้เบื้องพระพักตร์ทูลว่า นี้
ทารกที่ประสูติออกจากพระครรภ์ของพระแม่เจ้าละ พระนางทอดพระเนตรเห็น
ท่อนไม้นั้นก็ทรงโทมนัส ให้ผ่าท่อนไม้นั้นโดยเร็วแล้วตรัสสั่งว่า เจ้าจงนำ
ออกไป ถ้าใครเห็นก็จะอายเขา หญิงรับใช้นั้นรับพระราชเสาวนีย์แล้ว ทำเป็น
เหมือนว่าหวังดี ก็ผ่าท่อนไม้ ใส่เข้าไปในเตาไฟ
ฝ่ายพระราชาเสด็จกลับจากเมืองชายแดน ทรงนับถือฤกษ์ยาม ตรัสสั่ง
ให้จัดค่ายพักพลประทับอยู่ภายนอกพระนคร ขณะนั้น สตรีเหล่านั้นพากัน
ออกไปรับเสด็จพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม พระองค์คงไม่
ทรงเชื่อพวกข้าพระบาท คำที่พวกข้าพระบาทกราบทูล เป็นเหมือนมิใช่เหตุ-

การณ์ ขอพระองค์โปรดเรียกหญิงรับใช้ของพระมเหสีมาสอบถามสิเพคะ พระ-
เทวีของพระองค์ประสูติเป็นท่อนไม้ พระราชาไม่ทันทรงสอบสวนเหตุการณ์
นั้น เข้าพระทัยว่าผู้นี้เห็นจะไม่ใช่ชาติมนุษย์แน่ จึงทรงขับไล่พระนางออก
ไปจากพระราชมณเฑียร พร้อมกับพระนางเสด็จออกจากพระราชมณเฑียร
ดอกปทุมก็หายไป แม้แต่พระฉวีวรรณแห่งพระสรีระก็เผือดลงไป พระนาง
ลำพังพระองค์ เสด็จดำเนินไประหว่างถนน ขณะนั้นหญิงวัยแก่ผู้หนึ่งพบ
พระนางก็เกิดรักประดุจว่าลูกสาวคน จึงถามว่าลูกเอ๋ย เจ้าจะไปไหนเล่า
พระนางตรัสตอบว่า ดิฉันเป็นคนจรมากำลังเดินตรวจหาที่อยู่จ้ะ หญิงแก่
กล่าวว่ามาที่นี้สิลูก แล้วพาพระนางไปที่อยู่ จัดแจงอาหารเลี้ยง.
เมื่อพระนางประทับอยู่ ณ ที่นั้น โดยทำนองนี้นั่นแล สตรี 500 คน
นั้น ก็ร่วมใจกันกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม เมื่อพระองค์
เสด็จพักค่ายอยู่ ข้าพระบาทมีความปรารถนาว่า เมื่อพระทูลกระหม่อมของ
พวกข้าพระบาท ชนะสงครามเสด็จกลับมา พวกข้าพระบาทจักทำพลีกรรม
บวงสรวงเล่นกีฬาทางน้ำถวายแก่เทวดาแม่พระคงคา ขอพระทูลกระหม่อม
โปรดประกาศความข้อนี้ด้วยเพคะ พระราชาทรงยินดีตามคำของสตรีเหล่านั้น
ได้เสด็จไปเพื่อทรงเล่นกีฬาทางน้ำ ณ แม่พระคงคา สตรีเหล่านั้นต่างถือกล่อง
ตลับ ที่แต่ละคนรับไว้อย่างปกปิด พากันไปยังแม่น้ำ คลุมผ้าไว้เพื่อปกปิด
กล่องตลับเหล่านั้น กระโดดลงน้ำปล่อยกล่องตลับไป กล่องตลับแม้เหล่านั้น
ไปพร้อมกันคิดอยู่ที่ตาข่ายซึ่งเขาคลี่ไว้ได้กระแสน้ำทั้งหมด ต่อนั้น พวกราช-
บุรุษ ก็ยกตาข่ายขึ้น เวลาที่พระราชาทรงกีฬาทางน้ำแล้วเสด็จขึ้นจากน้ำ ก็
เห็นกล่องตลับเหล่านั้น ก็นำมาเฝ้าพระราชา.
พระราชาทรงตรวจดูกล่องตลับ ตรัสถามว่าพ่อเอ๋ย อะไรอยู่ในกล่อง
ตลับ กราบทูลว่า ไม่ทราบเกล้า พระเจ้าข้า ท้าวเธอโปรดให้เปิดกล่อง

เหล่านั้นตรวจดู ทรงให้เปิดกล่องตลับของพระมหาปทุมกุมารเป็นกล่องแรก
ก็แต่ในวันที่เขาให้พระกุมารเหล่านั้นทุกพระองค์บรรทมในกล่องตลับ น้ำนม
ก็บังเกิดที่หัวพระองคุลี เพราะบุญฤทธิ์ ท้าวสักกเทวราช โปรดให้จารึก
พระอักษรไว้ภายในกล่องตลับ เพื่อให้พระราชานั้นหมดสงสัยว่า พระกุมาร
เหล่านั้น บังเกิดในพระครรภ์ของพระนางปทุมวดีเป็นพระราชโอรสของพระ-
เจ้าพาราณสี ครั้งนั้นสตรี 500 คน เป็นศัตรูของพระนางปทุมวดี ใส่
พระกุมารเหล่านั้นลงในกล่องตลับแล้วโยนลงน้ำ ขอพระราชาโปรดทรงทราบ
เหตุการณ์นี้ พอเปิดกล่องตลับพระราชาทรงอ่านอักษรพบพระกุมาร ทรงยก
พระมหาปทุมกุมารขึ้น รีบเร่งเทียมรถ ตรัสสั่งว่าพวกเจ้าจงจัดม้า วันนี้ เรา
จักเข้าไปภายในพระนครทำให้สะใจสำหรับผู้หญิงบางจำพวก แล้วเสด็จขึ้น
พระมหาปราสาท วางถุงทรัพย์พันกหาปณะบนคอช้าง โปรดให้ตีกลองร้อง
ป่าวไปในพระนครว่า ผู้ใดพบพระนางปทุมวดี ผู้นั้นจงรับทรัพย์พันกหาปณะ
นี้ไป
พระนางปทุมวดี สดับคำประกาศนั้นแล้วได้ให้สัญญาณแก่มารดาว่า
แม่จ๋า จงรับถุงทรัพย์พันกหาปณะจากคอช้างสิจ๊ะ มารดากล่าวว่า แม่รับ
ทรัพย์เช่นนั้นไม่ได้ดอกจ้ะ แม้มารดาเมื่อถูกพระนางบอกครั้งที่สองครั้งที่สาม
จึงถามว่าลูกเอ๋ย แม่จะพูดว่าอย่างไรเล่าจึงจะรับทรัพย์ได้ พระนางจึงตรัสว่า
ลูกสาวฉันเขาพบพระนางปทุมวดีจ้ะ แล้วรับเอา มารดาคิดว่า เรื่องนั้นจะจริง
หรือไม่ก็ช่างเถิด แล้วก็ไปรับเอาถุงทรัพย์พันกหาปณะ ครั้งนั้น ผู้คนทั้งหลาย
ถามนางว่า แม่พบพระนางปทุมวดีหรือจ้ะแม่ นางกล่าวว่าฉันไม่พบดอกจ้ะ
ลูกสาวฉันเขาว่าเขาพบจ้ะ ผู้คนเหล่านั้นถามว่า ก็ลูกสาวของแม่อยู่ที่ไหนเล่าแม่
แล้วก็ไปกับนาง จำพระนางปทุมปวดีได้ ก็หมอบลงแทบเท้าทั้งสอง เวลา
นั้น นางรู้ว่า ผู้นี้คือพระนางปทุมวดีเทวี จึงกล่าวว่า ข้อที่พระมเหสีของ

พระราชาเช่นนี้ อยู่ปราศจากอารักขาเห็นปานนี้เป็นกรรมที่ทำอย่างหนักสำหรับ
สตรีหนอ
ราชบุรุษแม้เหล่านั้น ให้ทำความสะอาดที่ประทับอยู่ของพระนางปทุม-
วดีแล้ว ล้อมไว้ด้วยม่าน ตั้งกองอารักขาไว้ที่ประตู กลับไปกราบทูลพระ-
ราชา พระราชาทรงส่งพระวอทองไป พระนางปทุมวดีรับสั่งว่า หม่อมฉัน
จักไม่ไปโดยวิธีอย่างนี้ ขอได้ทรงโปรดให้ลาดเครื่องอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้
อย่างดี ในระหว่างตั้งแต่ที่อยู่ของหม่อมฉันไปจนถึงกรุงราชคฤห์ ให้คิดเพดาน
ผ้าอันวิจิตรด้วยดาวทองไว้ข้างบน เมื่อเครื่องอลังการทุกอย่างที่โปรดส่งมาเพื่อ
ประดับ ประดับตกแต่งแล้ว หม่อมฉันจักเดินไปด้วยเท้า ชาวพระนครจัก
เห็นสมบัติของหม่อมฉัน ด้วยวิธีอย่างนี้. พระราชารับสั่งว่าพวกเจ้าจงทำให้
ต้องพระทัยของพระนางปทุมวดีเถิด.
ลำดับนั้น พระนางปทุมวดีทรงประดับเครื่องประดับทุกอย่างแล้ว
ทรงพระดำริจักเสด็จไปพระราชนิเวศน์ ก็เริ่มเดินทาง. ครั้งนั้น ดอกปทุมทั้ง
หลายก็ผุดชำแรกเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้อย่างดี ในที่ ๆ พระนาง
ย่างพระบาทเหยียบไป ๆ พระนางครั้นทรงแสดงสมบัติของพระองค์แก่มหาชน
แล้วก็เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ ให้พระราชทานเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเหล่า
นั้นทั้งหมดแก่หญิงแก่นั้นเป็นค่าเลี้ยงดู.
ฝ่ายพระราชา รับสั่งให้เรียกสตรี 500 คนนั้นมาแล้วตรัสว่า ดูก่อน
พระเทวี เราให้ผู้หญิงเหล่านั้นเป็นทาสีของเจ้า พระนางทูลว่า ดีละเพคะทูลกระ-
หม่อม ขอได้โปรดให้ประกาศไปทั่วพระนครว่า พระราชทานหญิงเหล่านี้ให้
เป็นสิทธิ์แก่หม่อมฉันแล้ว พระราชาก็ให้ตีกลองป่าวประกาศว่า หญิง 500
คนที่เป็นศัตรูของพระนางปทุมวดี เราได้มอบให้เป็นทาสีของพระนางแล้ว
พระนางทรงทราบว่า ทั่วพระนครต่างกำหนดรู้ว่า หญิงเหล่านั้นเป็นทาสีกัน

แล้ว จึงกราบทูลถามพระราชาว่า ทูลกระหม่อมเพคะ หม่อมฉันจะทำทาสี
ของหม่อมฉันให้เป็นไทแก่ตัวได้ไหมเพคะ. รับสั่งว่า เทวี เจ้าปรารถนาก็ได้สิ.
จึงทูลว่า เมื่อเป็นดังนั้น ขอได้โปรดให้ตีกลองป่าวประกาศอีกว่าหญิง 500 คน
ที่ทรงให้ตีกลองป่าวประกาศพระราชทานให้เป็นทาสีของปทุมวดี ได้ทรงทำให้
เป็นไทหมดทุกคนแล้ว เมื่อพระราชาทรงทำหญิงเหล่านั้นให้เป็นไทแล้ว พระ-
นางก็ทรงมอบพระราชโอรส 499 พระองค์ไว้ในมือสตรีเหล่านั้น เพื่อให้
เลี้ยงดู พระมหาปทุมราชกุมารพระองค์เดียว ทรงรับเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง-
อยู่ต่อมา เมื่อพระราชกุมารเหล่านั้น ถึงวัยเล่น พระราชาก็โปรดให้
สร้างสถานที่เล่นนานาชนิดไว้ในพระราชอุทยาน คราวมีพระชันษาได้ 16
พรรษา พระราชกุมารเหล่านั้น ทุกพระองค์พร้อมพระทัยกัน ทรงเล่นใน
สระมงคลโบกขรณีที่ดาดาษด้วยดอกปทุมในพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็น
ดอกปทุมใหม่บานและดอกปทุมเก่าร่วงหล่นจากขั้ว ทรงดำริว่า ชราเห็นปานนี้
ยังมาถึงอนุปาทินนกสังขารที่ไม่มีวิญญาณครองนี้หนอ จะป่วยกล่าวไปไยว่าชรา
จะไม่มาถึงสรีระของพวกเราเล่า แม้สรีระนี้ก็คงจักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน ทรง
ยึดถือให้เป็นอารมณ์แล้ว ก็บังเกิดพระปัจเจกโพธิญาณทุกพระองค์ เสด็จลุก
ขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิ ณ กลีบดอกปทุมทั้งหลาย.
ลำดับนั้น พวกราชบุรุษที่ตามเสด็จไปกับพระราชกุมารเหล่านั้น รู้ว่า
วันเวลาล่วงไปมากแล้วจึงทูลว่า พระลูกเจ้าพระเจ้าข้า ขอทรงโปรดทราบเวลาของ
พระองค์เถิด. พระราชกุมารเหล่านั้นก็ทรงนิ่ง. พวกราชบุรุษจึงไปกราบทูล
พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระราชกุมารทั้งหลาย ประทับนั่งเหนือกลีบ
ปทุมทั้งหลาย เมื่อพวกข้าพระบาททูลก็ไม่ยอมเปล่งพระวาจาเลยพระเจ้าข้า.
พระราชารับสั่งว่า พวกเจ้าจงให้พระราชกุมารเหล่านั้นประทับนั่งตามความพอ
พระทัยเถิด. พระราชกุมารเหล่านั้น ได้รับอารักขาตลอดคืนยังรุ่ง จนอรุณขึ้น

ก็ยังคงประทับนั่งเหนือกลีบดอกปทุมอยู่อย่างนั้น. พวกราชบุรุษเข้าเฝ้าวันรุ่งขึ้น
ทูลว่า ข้าแต่เทวะ ขอโปรดทรงทราบเวลาเถิด พระเจ้าข้า. รับสั่งว่า
พวกเราไม่ได้เป็นเทวะ พวกเราชื่อว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างหากเล่า. พวก
ราชบุรุษทูลว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า พระองค์ตรัสคำหนัก ธรรมดาว่า พระปัจเจก.
พุทธเจ้าไม่เป็นอย่างพระองค์ดอก พระเจ้าข้า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นต้อง
ทรงผมและหนวด 2 องคุลี ทรงบริขาร 8 สวมอยู่ที่พระกายสิพระเจ้าข้า. พระ-
ราชกุมารเหล่านั้นทรงลูบพระเศียรด้วยพระหัตถ์เบื้องขวา ทันใดนั้นเอง เพศ
คฤหัสถ์ก็หายไป บริขาร 8 ก็สวมที่พระกาย ต่อนั้นก็เหาะไปยังเงื้อมเขาชื่อ
นันทมูลกะทั้งที่มหาชนเห็น ๆ อยู่นั่นเอง.
ฝ่ายพระนางปทุมวดีเทวี ทรงโศกเศร้าพระทัยว่า เรามีบุตรมาก ก็
กลายเป็นคนไร้บุตรไปเสียแล้ว ด้วยความเศร้าโศกนั้นเอง ก็เสด็จทิวงคต
ไปบังเกิดในสถานที่ของคนทำงานด้วยมือตนเองเลี้ยงชีพ ในหมู่บ้านใกล้ประตู
กรุงราชคฤห์ ต่อมามีสามี วันหนึ่งนำข้าวยาคูไปนาเพื่อให้สามี เห็นพระ-
ปัจเจกพุทธเจ้า 8 องค์ ในจำนวนบุตรของตนเหล่านั้นเอง กำลังเหาะมาเวลา
ภิกษาจาร จึงรีบรุดไปบอกสามีว่า นายเจ้าขา ดูพระปัจเจกพุทธเจ้าสิ เรา
นิมนต์ท่านมาฉันเถิด สามีกล่าวว่า ธรรมดานกสมณะเหล่านั้น ย่อมสัญจรไป
อย่างนี้ แม้ในที่อื่น. นกสมณะเหล่านั้น ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้าดอกจ้ะ.
พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ก็ลงมาในที่ไม่ไกล จากที่คนทั้งสองกำลังพูดกัน.
หญิงคนนั้นก็ถวายโภชนะคือ ข้าวสวยและกับส่วนของตนในวันนั้นแด่พระ-
ปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้วนิมนต์ว่า พรุ่งนี้ขอท่านทั้ง 8 องค์ โปรดรับ
ภิกษาหารของข้าพเจ้านะเจ้าคะ. พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า ดีละ ท่าน
อุบาสิกา, สักการะของท่าน ก็จงมีเท่าวันนี้ อาสนะก็จงมีไว้ 8 ที่ แต่ท่าน
เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าอื่น ๆ มาก ก็พึงทำจิตใจของท่านให้เลื่อมใสไว้นะ.

วันรุ่งขึ้น หญิงคนนั้นก็ปูอาสนะไว้ 8 ที่ จัดแจงเครื่องสักการสัมมานะไว้
สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้า 8 องค์แล้วก็นั่งคอย.
พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ได้รับนิมนต์ ก็ให้สัญญาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
อื่นๆ ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย วันนี้ ท่านทั้งหลายอย่าไปที่อื่น ทั้งหมด
จงช่วยกันทำการสงเคราะห์มารดาของท่านเถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ฟังคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า 8 องค์นั้นแล้วร่วมใจกันทุกองค์ เหาะไป
ปรากฏองค์อยู่ใกล้ประตูเรือนของมารดา แม้นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก
องค์ ก็ไม่หวั่นไหว เพราะได้สัญญามาก่อนแล้ว ก็นิมนต์พระปัจเจก-
พุทธเจ้าเหล่านั้นทุกองค์เข้าไปยังเรือนให้นั่งเหนืออาสนะ เมื่อพระปัจเจก-
พุทธเจ้าเหล่านั้นนั่งตามลำดับ องค์ที่ 9 ก็เนรมิตอีก 8 อาสนะ ตนเองก็นั่ง
อาสนะใกล้ เรือนก็ขยายออกไปเท่ากับจำนวนอาสนะที่เพิ่มขึ้น เมื่อพระปัจเจก-
พุทธเจ้าทั้งหมดนั่งเรียบร้อยแล้วอย่างนี้ หญิงนั้นก็ถวายสักการะที่ตนจัดแจง
สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้า 8 องค์ จนเพียงพอแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า 500
องค์ แล้วนำดอกอุบลขาบ 8 กำ มาวางไว้แทบเท้าพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ตน
นิมนต์มาเท่านั้น กล่าวทำความปรารถนาว่า พระคุณเจ้าข้า ขอวรรณะแห่ง
สรีระของข้าพเจ้า จงเป็นเหมือนวรรณะข้างในของดอกอุบลขาบเหล่านี้ ในสถาน
ที่ข้าพเจ้าเกิดแล้วเกิดเล่าด้วยนะเจ้าคะ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย กระทำ
อนุโมทนาแก่มารดาแล้ว ก็พากันไปยังภูเขาคันธมาทน์.
แม้นางก็กระทำกุศลจนตลอดชีวิต จุติจากมนุษยโลกแล้วก็บังเกิดใน
เทวโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ก็ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐี กรุงสาวัตถี บิดา
มารดาก็ตั้งชื่อของนางว่า อุบลวรรณา เพราะมีผิวพรรณเสมอด้วยวรรณะของ
ดอกอุบลขาบ สมัยนั้น เวลาที่นางเติบโตเป็นสาวแล้ว พระราชทั้งหลายทั่วชมพู

ทวีปพากันส่งทูตไปยังสำนักเศรษฐีว่า ขอจงให้ธิดาแก่เราเถิด พระราชาผู้ชื่อ
ว่าไม่ส่งทูตไปไม่มีเลย ดังนั้นเศรษฐีจึงคิดว่า เราไม่อาจจะยึดเหนี่ยวน้ำพระทัย
ของพระราชาได้ทั้งหมด แต่จำเราจักทำอุบายอย่างหนึ่งดังนี้แล้ว จึงเรียกธิดา
มาถามว่า ลูกเอ๋ย บวชเสียได้ไหมลูก คำของบิดาได้เป็นประหนึ่งน้ำมันที่เคี่ยว
แล้วร้อยครั้ง รดลงที่ศรีษะ เพราะนางมีภพสุดท้ายแล้ว เพราะฉะนั้นนางจึง
ตอบบิดาว่า ลูกจักบวชจ้ะพ่อจ๋า. เศรษฐีนั้นก็ทำสักการะแก่นาง นำไปสำนัก
ภิกษุณีแล้วให้บวช เมื่อนางบวชได้ไม่นานนัก วาระตามกาล [เวร] ในโรง
อุโบสถก็มาถึง นางจุดประทีปแล้วกวาดโรงอุโบสถยืนถือนิมิตแห่งเปลวประทีป
ตรวจดูบ่อย ๆ ก็ทำฌานที่มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้บังเกิด กระทำฌานนั้น
นั่นแลให้เป็นบาท ก็บรรลุพระอรหัต แม้อภิญญาและปฏิสัมภิทา ก็สำเร็จ
พร้อมกับพระอรหัตผลนั่นแล.
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์อปทาน1 ว่า
พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ทรงถึงฝั่ง
แห่งธรรมทั้งปวง ผู้เป็นผู้นำ ทรงอุบัติในแสนกัปนับ
แต่กัปนี้ไป.
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในสกุลเศรษฐีที่รุ่งโรจน์ด้วย
รัตนะนานาชนิด ณ กรุงหังสวดีเปี่ยมด้วยความสุข
เป็นอันมาก.
ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้น ฟัง
พระธรรมเทศนา เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเกิดความ
เลื่อมใสถึงพระชินพุทธเจ้าเป็นสรณะ.

1. ขุ. 33/ข้อ 159 อุบลวรรณาเถรีอุปทาน

พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้นำ ทรงยกย่องภิกษุณีผู้มี
ความละอาย ผู้คงที่ ฉลาดในสมาธิและฌานว่าเป็นเลิศ
ของเหล่าภิกษุณีผู้มีฤทธิ์.
ครั้งนั้น ข้าพระองค์มีจิตยินดีตาม จำนงหวัง
ตำแหน่งนั้น จึงนิมนต์พระทศพลผู้นำโลก พร้อมทั้ง
พระสงฆ์ให้เสวย 7 วัน ถวายจีวรแด่พระศาสดา ถือ
พวงมาลัย 7 พวง มีกลิ่นเหมือนดอกอุบล วางไว้
แทบเบื้องพระบาทพระศาสดา บูชาพระญาณ หมอบ
ด้วยเศียรเกล้าลงที่พระบาท ได้กราบทูลคำนี้ว่า
ข้าแต่พระมหาวีระมุนีผู้นำ ภิกษุณีเช่นใด ทรง
ยกย่องแล้ว ในกัปที่ 8 นับแต่กัปนี้ไป ข้าพระองค์
จักเป็นภิกษุณีเช่นนั้น ถ้าความปรารถนาสำเร็จ.
ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะข้าพระองค์ว่า ดูก่อน
แม่นาง เจ้าเป็นคนประเสริฐ ในอนาคตกาลจะได้
มโนรถความปรารถนานั้น.
แสนกัปนับแต่กัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่า
โคดมโดยพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลพระเจ้า-
โอกกากราช จักเป็นศาสดาในโลก.
เจ้าจะมีรูปสวย มียศ มีนามว่าอุบลวรรณา จักเป็น
ทายาทในธรรมของพระองค์ เป็นโอรสถูกเนรมิตโดย
ธรรม จักเป็นผู้ชำนาญในอภิญญา กระทำตามคำสอน
ของพระศาสดา สิ้นอาสวะทุกอย่าง จักเป็นสาวิกา
ของพระศาสดา.

ครั้งนั้น ข้าพระองค์มีจิตยินดี มีจิตประกอบ
ด้วยเมตตา บำรุงพระชินพุทธเจ้าผู้นำโลก พร้อมทั้ง
พระสงฆ์จนตลอดชีวิต.
ด้วยกรรมที่ทำมาดีนั้น และด้วยการตั้งใจไว้ชอบ
ข้าพระองค์ละกายมนุษย์แล้วก็ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
จุติจากนั้นแล้วข้าพระองค์ก็เกิดในหมู่มนุษย์ ได้ถวาย
บิณฑบาตที่ปิดด้วยดอกปทุม แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า.
ในกัปที่ 91 นับแต่กัปนี้ไป พระพุทธเจ้า พระ-
นามว่าวิปัสสี ผู้นำ ผู้มีพระเนตรงาม ผู้มีพระจักษุ
ในธรรมทั้งปวง ทรงอุบัติ.
ครั้งนั้น ข้าพระองค์เป็นธิดาเศรษฐีในกรุงพา-
ราณสี ราชธานีแห่งแคว้นกาสี นิมนต์พระสัมพุทธเจ้า
ผู้นำโลกพร้อมทั้งพระสงฆ์ถวายมหาทาน บูชาพระผู้
นำพิเศษด้วยดอกอุบล ได้ปรารถนาความงามแห่ง
ผิวพรรณด้วยใจ.
ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
เป็นพราหมณ์มียศมาก เป็นยอดของศาสดาทั้งหลาย
อุบัติแล้ว.
ครั้งนั้น พระเจ้ากาสี พระนามว่ากิกิ เป็นจอม
นรชน ในกรุงพาราณสีราชธานีแห่งแคว้นกาสี ทรง
เป็นอุปฐากบำรุงพระกัสสปพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงคุณ
ยิ่งใหญ่.

ข้าพระองค์เป็นราชธิดาองค์ที่สองของพระเจ้า
กิกินั้น พระนามว่าสมณคุตตา ฟังธรรมของพระชิน-
พุทธเจ้าผู้เลิศแล้ว ชอบพระทัยการบรรพชา แต่พระ-
ชนกของพวกข้าพระองค์ไม่ทรงอนุญาต ครั้งนั้น พวก
ข้าพระองค์ อยู่แต่ในพระราชมณเฑียร ไม่เกียจคร้าน
ท่องเที่ยวอยู่ถึงสองหมื่นปี.
พระราชธิดา ทรงเข้าอยู่โกมาริพรหมจรรย์ [ไม่
มีพระสวามี] เสวยสุข ยินดีเนืองนิตย์ในการบำรุง
พระพุทธเจ้า ทรงมีมุทิตาจิต พระธิดา 7 พระองค์
คือ สมณี สมณคุตตา ภิกขุนี ภิกขุทาสิกา ธัมมา
สุธัมมา สังฆทาสิกา ครบ 7 ปัจจุบันคือข้าพระองค์
[อุบลวรรณา] เขมาผู้มีปัญญา ปฏาจารา กุณฑลา
[กุณฑลเกสา] กีสาโคตมี ธัมมทินนา วิสาขาครบ 7.
ด้วยกรรมที่ทำมาดีเหล่านั้น และด้วยการตั้งใจ
ไว้ชอบ ข้าพระองค์ละกายมนุษย์แล้วก็ไปสู่สวรรค์
ชั้นดาวดึงส์ จุติจากนั้นแล้วข้าพระองค์ก็เกิดในสกุล
ใหญ่ในหมู่มนุษย์ ได้ถวายผ้าอย่างดีเนื้อเกลี้ยงสีเหลือง
แด่พระอรหันต์.
ข้าพระองค์จุติจากนั้นแล้ว ก็เกิดในสกุลพราหมณ์
กรุงอริฏฐบุรี เป็นธิดาของติริฏิวัจฉพราหมณ์ ชื่อว่า
อุมมาทันตี งามจับใจ จุติจากนั้นแล้ว ข้าพระองค์
เกิดในสกุลหนึ่งในชนบท เฝ้าไร่ข้าวสาลี ซึ่งไม่กว้าง
นัก ครั้งนั้น ข้าพระองค์พบพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ถวาย


ข้าวตอก 500 ดอก ซึ่งปิดด้วยปทุม ปรารถนาบุตร
500 คน แม้บุตรเหล่านั้นก็ปรารถนา ข้าพระองค์
ครั้นถวายของอร่อย ๆ แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว จุติ
จากนั้น ก็ไปเกิดในดอกปทุมขนาดใหญ่ในป่าได้เป็น
พระมเหสีของพระเจ้ากาสี อันมหาชนสักการะบูชา
แล้ว ให้กำเนิดพระราชโอรส 500 พระองค์.
คราวที่พระราชโอรสเหล่านั้น เจริญพระชันษา
แล้ว ทรงเป็นกีฬาในน้ำ ทรงเห็นดอกปทุมมีกลีบหล่น
ก็ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า.
ข้าพระองค์นั้น ต้องพลัดพรากจากพระโอรส
เปล่านั้น ซึ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า [สุตวีระ] ก็
เศร้าโศก จุติแล้ว ก็ไปเกิดในหมู่บ้านใกล้ข้างภูเขา
อิสิคิลิ.
เมื่อใด พระสุตพุทธะทั้งหลายรับข้าวยาคูของ
พวกบุตรและแม้ของตนเองแล้วไป ข้าพระองค์พบ
พระปัจเจกพุทธเจ้า 8 องค์ เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต ก็
รำลึกถึงบุตรทั้งหลาย เมื่อนั้น ท่อน้ำมันของข้าพระ-
องค์ก็คัด เพราะความรักบุตร.
แต่นั้น ข้าพระองค์เลื่อมใสแล้วก็ได้ถวายข้าว
ยาคู แก่พระสุตพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่า
นั้น ด้วยมือตนเอง.

ข้าพระองค์จุติจากนั้นแล้ว ก็มาถึงนันทนวัน
อุทยานสวรรค์ชั้นไตรทศ [ดาวดึงส์] ข้าแต่พระมหา
วีระ ข้าพระองค์เสวยสุขและทุกข์ ท่องเที่ยวไปในภพ
น้อยใหญ่ ยอมสละชีวิต ก็เพื่อประโยชน์ของพระองค์.
ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีปัญญา ผู้ทรงความรุ่ง-
โรจน์ ข้าพระองค์เป็นธิดาของพระองค์ กรรมที่ทำ
ยากเป็นอันมาก และกรรมที่ทำได้แสนยาก ข้าพระ-
องค์ก็ทรงทำแล้ว.
พระราหุลและข้าพระองค์เกิดในสมภพเดียวกัน
มีใจประกอบด้วยสมานฉันท์ตลอดหลายร้อยชาติเป็น
อันมาก บังเกิดร่วมกัน และแม้แต่ชาติเดียวกัน
เมื่อถึงภพสุดท้าย แม้เราทั้งสองก็มีสมภพต่างกัน
ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ทรงชี้แจงความ
ประชุมของพระชินพุทธเจ้าผู้เลิศพระองค์ก่อน ๆ ทรง
ชี้แจงกุศลบารมีเป็นอันมากของข้าพระองค์ ก็เพื่อ
ประโยชน์ของพระองค์
ข้าแต่พระมหามุนี กุศลกรรมอันใด ข้าพระองค์
บำเพ็ญแล้ว ขอโปรดทรงระลึกถึงกุศลธรรมอันนั้น
งดเว้นอภัพพฐาน ห้ามกันอนาจารได้ ข้าแต่พระมหา
วีระ ข้าพระองค์ยอมสละชีวิตก็เพื่อประโยชน์ของ
พระองค์ ทุกข์มีมากอย่าง และสมบัติก็มีมากอย่าง
อย่างนี้.

เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพระองค์เกิดในสกุลเศรษฐี
ทรัพย์มาก ประสบสุข ที่จัดไว้เสร็จแล้วอย่างนั้น
รุ่งโรจน์ด้วยรัตนะนานาชนิด มั่งคั่งด้วยกามสมบัติทุก
อย่าง ในกรุงสาวัตถี.
ข้าพระองค์ พรั่งพร้อมด้วยความงดงามแห่งรูป
ได้รับยกย่องในตระกูลทั้งหลาย อันมหาชนสักการะ
บูชา นับถือและยำเกรงแล้ว.
ข้าพระองค์ ล้ำคนทั้งหลายด้วยความงามแห่ง
รูปและสิริ อันบุตรเศรษฐีหลายร้อยปรารถนาอยากได้.
ข้าพระองค์ละเรือนบวชไม่มีเรือนยังไม่ทันถึง
ครึ่งเดือน ก็บรรลุ สัจจะ 4.
ข้าพระองค์จักเนรมิตรถเทียมม้า 4 ตัว ด้วยฤทธิ์
มาถวายบังคมพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นที่
พึ่งของโลก เป็นผู้มีสิริ.
ข้าพระองค์เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ในทิพโสต
ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์ชำนาญเจโตปริยญาณ.
ข้าพระองค์รู้ปุพเพนิวาสญาณ ชำระทิพยจักษุ
สิ้นอาสวะทุกอย่าง บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก.
ญาณในอรรถ ธรรม นิรุตติ และปฏิภาณของ
ข้าพระองค์บริสุทธิ์ไร้มลทิน เพราะอานุภาพของ
พระผู้ทรงแสวงคุณอันยิ่งใหญ่.
ชั่วขณะ ชนจำนวนนับพัน ก็น้อมเอาจีวร
บิณฑบาต คิลานปัจจัยและเสนาสนะ เข้ามาโดยรอบ.

พระชินพุทธเจ้า ทรงยินดีในคุณข้อนั้น ทรง
เป็นผู้นำพิเศษในบริษัททั้งหลาย ทรงสถาปนาข้าพระ-
องค์ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นเลิศของเหล่า
ภิกษุณีผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย.
พระศาสดาข้าพระองค์ก็ปรนนิบัติแล้ว คำสอน
ของพระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ก็กระทำเสร็จแล้ว
ภาระหนัก ข้าพระองค์ก็ปลงลงแล้ว ตัณหาที่
นำไปในภพ ข้าพระองค์ก็ถอนเสียแล้ว.
ข้าพระองค์ออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน เพื่อ
ประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้น ธรรมเป็นที่สิ้น
สังโยชน์ทุกอย่าง ข้าพระองค์ก็บรรลุตามลำดับแล้ว.
กิเลสทั้งหลาย ข้าพระองค์ก็เผาเสียแล้ว ฯลฯ
คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ก็กระทำเสร็จ
แล้ว.

ก็พระเถรีรูปนี้ คราวใด พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังโคนต้น
มะม่วงของนายคัณฑะ เพื่อทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี
คราวนั้น ก็เข้าเผ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ก็กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักกระทำปาฏิหาริย์ ผิว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต
แล้วบันลือสีหนาท.
พระศาสดาทรงทำเหตุนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง ประทับ
นั่งท่ามกลางบริษัทพระอริยะ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงสถาปนาพระภิกษุณีทั้ง
หลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีรูปนี้ไว้ใน
ตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศของเหล่าภิกษุณีผู้มีฤทธิ์ พระอุบลวรรณาเถรี

นั้น ยับยั้งอยู่ด้วยสุขในฌาน สุขในผล และสุขในพระนิพพาน วันหนึ่ง
พิจารณาถึงโทษ ความทราม และความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย เมื่อ
กล่าวย้ำคาถาที่พระเถรีเกิดความสลดใจ เฉพาะการอยู่ร่วมสามี ระหว่างมารดา
กับธิดาที่กล่าวไว้แล้ว แก่ท่านพระคงคาตีริยเถระ จึงได้กล่าวคาถา 3 คาถา
นี้ว่า
เราทั้งสองคือมารดาและธิดาเป็นหญิงร่วนสามี
กัน เรานั้นมีความสลดใจ ขนลุก ที่ไม่เคยมี.
น่าตำหนิจริง ๆ ฉานทั้งหลาย ไม่สะอาด กลิ่น
เหม็น มีหนามมาก ที่เราทั้งสองคือมารดากับธิดา
เป็นภริยาร่วม (สามี) กัน.
เรานั้น เห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นเนกขัมมะ
การบวชเป็นทางเกษมปลอดโปร่ง จึงออกจากเรือน
บวชไม่มีเรือน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโภ มาตา จ ธีตา จ มยํ อาสุํ
สปตฺติโย
ความว่า เราทั้งสองคือมารดาและธิดา ได้เป็นหญิงร่วมสามีกัน
และกัน.
เล่ากันว่า ภริยาของพ่อค้าคนหนึ่ง ในกรุงสาวัตถีตั้งครรภ์ขึ้นมาใน
เวลาใกล้รุ่ง นางก็ไม่รู้เรื่องการตั้งครรภ์นั้น. พอสว่าง พ่อค้าก็บรรทุกสินค้า
ลงในเกวียนเดินทางมุ่งไปกรุงราชคฤห์ เมื่อเวลาล่วงไป ครรภ์ของนางก็เติบ
โต จนแก่เต็มที่. ครั้งนั้น แม่ผัวพูดกะนางว่า ลูกชายเราก็จากไปเสียนาน
และเจ้าก็มีครรภ์ เจ้าไปทำชั่วมาหรือ. นางก็กล่าวว่า นอกจากลูกชายของแม่
ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักชายอื่น. แม่ผัวฟังนางแล้วไม่เชื่อ จึงขับไล่นางออกไปจากเรือน

นางก็ไปตามหาสามี ไปถึงกรุงราชคฤห์ตามลำดับ ขณะนั้น ลมกัมมัชวาตก็
ปั่นป่วน นางก็เข้าไปยังศาลาหลังหนึ่งใกล้ ๆ ทางแล้วก็คลอดลูก นางคลอด
ลูกชายคล้ายรูปทอง ให้นอนบนศาลาอนาถา แล้วออกไปหาน้ำข้างนอกศาลา
ขณะนั้นนายกองเกวียนคนหนึ่ง เป็นคนไม่มีลูกเดินมาทางนั้น คิดว่าทารกของ
หญิงไม่มีสามี จักเป็นลูกของเรา จึงเอาทารกนั้นมอบไว้ในมือนางนม ต่อมา
มารดาของทารกนั้น ทำกิจเรื่องน้ำแล้ว กลับมาไม่เห็นลูกก็เศร้าโศกคร่ำครวญ
ไม่เข้าไปกรุงราชคฤห์แต่เดินทางต่อไป หัวหน้าโจรคนหนึ่ง พบนางในระหว่าง
ทางเกิดจิตปฏิพัทธ์ จึงเอานางทำเป็นภริยาของตน นางอยู่ในเรือนโจรนั้น ก็
คลอดลูกหญิงออกมาคนหนึ่ง วันหนึ่ง นางยืนอุ้มลูกหญิงอยู่ทะเลาะกับสามี
ก็โยนลูกลงบนเตียง ศีรษะของเด็กหญิงแตกหน่อยหนึ่ง ต่อนั้น นางกลัวสามี
ก็กลับไปกรุงราชคฤห์ท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจ ลูกชายของนางโตเป็นหนุ่มไม่
รู้ว่าเป็นมารดา ก็เอามารดาเป็นภริยาของตน.
ต่อมา เขาไม่รู้ว่าลูกสาวหัวหน้าโจรนั้นเป็นน้องสาว ก็แต่งงานนำมา
เรือน เขานำมารดาและน้องสาวมาเป็นภริยาของตนอยู่กันมาอย่างนี้ ด้วยเหตุนั้น
คนแม้ทั้งสองนั้นจึงอยู่กันอย่างพร้อมเพรียง ต่อมาวันหนึ่ง มารดาแก้มวยผม
ของลูกสาวหาเหาเห็นแผลเป็นที่ศีรษะ คิดว่าหญิงคนนี้คงเป็นลูกสาวเราแน่
แล้วก็ถาม เกิดความสลดใจจึงไปสำนักภิกษุณีแล้วบวช กระทำกิจเบื้องต้น
เสร็จแล้ว อยู่อย่างสงัด พิจารณาทบทวนถึงการปฏิบัติแต่ก่อนของตน ก็ได้
กล่าวคาถาว่า อุโภ มาตา จ ธีตา จ เป็นต้น ก็พระเถรีนี้ กล่าวย้ำคาถา
ที่หญิงนั้นกล่าวไว้แล้วเหล่านั้น โดยเห็นโทษในกามทั้งหลาย จึงกล่าวว่า
อุโภ มาตา จ ธีตา จ เป็นอาทิ. ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า พระเถรี
นั้น ยับยั้งอยู่ด้วยสุขในฌาน สุขในผลและสุขในพระนิพพาน จึงได้กล่าว
สามคาถาเหล่านี้

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสุจี ได้แก่ ชื่อว่า อสุจี เพราะกิเลส
และของไม่สะอาดไหลออก. บทว่า ทุคฺคนฺธา ได้แก่ กลิ่นเน่า เพราะกลิ่น
เหม็นคลุ้งไป. บทว่า พหุกณฺฏถา ได้แก่ ชื่อว่า มีกิเลสดุจหนาม
มากอย่าง เพราะอรรถว่าทิ่มแทงสุจริต โดยเป็นข้าศึก จริงอย่างนั้น
กิเลสเหล่านั้น ท่านกล่าวว่า กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว. บทว่า
ยตฺถ ได้แก่ ในกามเหล่าใดที่บุคคลพึงบริโภค. บทว่า สหภริยา ได้แก่
เป็นภริยาเสมอกัน อธิบายว่าร่วมสามีเดียวกัน. สองคาถาว่า ปฺพฺเพนิวาสํ
เป็นต้น พระเถรีซึ่งพิจารณาคุณวิเศษที่ตนบรรลุแล้ว เกิดปีติโสมนัส จึงกล่าว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เจโตปริจฺจญาณํ ได้แก่ เจโตปริยญาณ ก็ทำ
ให้แจ้งแล้ว หรือเชื่อมความว่า บรรลุแล้ว.
ข้าพระองค์ จักเนรมิตรถเทียมม้า 4 ตัวมาถวาย
บังคมพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของ
โลกผู้มีสิริ.

คาถานี้ คราวใด พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังโคนต้นมะม่วงของ
นายคัณฑะ เพื่อทรงทำยมกปาฏิหาริย์คราวนั้น พระเถรีนี้เนรมิตรถเห็นปานนั้น
เข้าไปเฝ้าพร้อมกับรถนั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์
จักทำปาฏิหาริย์ เพื่อทำลายความมัวเมาของเดียรถีย์ขอทรงโปรดอนุญาตเถิด
พระเจ้าข้า แล้วยืนในสำนักพระศาสดา พระเถรีกล่าวหมายถึงเรื่องปาฏิหาริย์
นั้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทฺธิยา อภินิมฺมิตฺวา จตุรสฺสํ รถํ
อหํ
อธิบายว่า ข้าพระองค์เนรมิตรถเทียมม้า 4 ตัว ด้วยฤทธิ์แล้ว ถวาย
บังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
มารถามเชิงขู่พระเถรีว่า

ท่านเข้าไปยังต้นไม้ ที่ออกดอกบานถึงยอด ยืน
อยู่ผู้เดียวที่โคนไม้ เพื่อนไร ๆ ของท่าน ก็ไม่มีเลย
ท่านไม่กลัวความสามหาวของพวกนักเลงเจ้าชู้หรือ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุปุปฺผิตคฺคํ ความว่า มียอดออกดอก
บานดี คือบานสะพรั่งทั่วทั้งต้นแต่ยอด. บทว่า ปาทปํ แปลว่าต้นไม้ ในที่
นี้ท่านหมายเอาต้นสาละ. บทว่า เอกา ตุวํ ความว่า ท่านยืนอยู่ผู้เดียวใน
ที่นี้. บทว่า น จาปิ ตุยฺหํ ทุติยตฺถิ โกจิ ความว่า แม้ใคร ๆ ที่เป็น
สหายของท่าน เป็นผู้อารักขาไม่มี อีกอย่างหนึ่ง โดยรูปสมบัติ เพื่อนแม้ไร ๆ
ของท่านก็ไม่มี หญิงที่มีรูปสวยไม่มีใครเสมอ ยืนอยู่ลำพังคนเดียวในที่สงัดจาก
ชนนี้. บทว่า น ตฺวํ พาเล ภายสิ ธุตฺตกานํ ความว่า ดูก่อนแม่
สาวรุ่น ท่านไม่กลัวถ้อยคำของพวกชายเจ้าชู้ อธิบายว่า พวกนักเลง ที่ทำ
การเกี้ยว. เขาว่า วันหนึ่ง มารเห็นพระเถรีนั่งพักผ่อนกลางวัน ณ ป่าสาละ
ที่ออกดอกบาน ต้องการจะตัดพระเถรีให้ขาดจากวิเวก เมื่อทดลองจึงกล่าว
คาถานี้ ลำดับนั้น พระเถรีเมื่อจะคุกคามมารนั้น จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้
โดยอานุภาพของตนว่า
ต่อให้นักเลงนับจำนวนแสนเช่นนี้ มารุมล้อม
ขนของเราก็ไม่หวั่นไม่ไหว มารเอย ท่านผู้เดียวจักทำ
อะไรเราได้ เรานั้นหายตัวได้ เข้าท้องท่านก็ได้ ยืน
ระหว่างคิ้ว ท่านก็ไม่เห็นเราได้ เราเป็นผู้ชำนาญใน
จิต อบรมอิทธิบาทอย่างดีแล้ว อภิญญา 6 เราก็ทำให้
แจ้งแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็ทำเสร็จแล้ว.

กามทั้งหลาย เปรียบด้วยหอกและหลาวเป็น
เครื่องบีบคั้นขันธ์ทั้งหลาย ท่านเอ่ยถึงความยินดีใน
กามอันใด บัดนี้เราไม่มีความยินดีอันนั้น.
ความเพลิดเพลินในกามทั้งปวง เราขจัดเสียแล้ว
กองแห่งความมืด [อวิชชา] เราก็ทำลายเสียแล้ว ดูก่อน
มารผู้มีบาป ท่านจงรู้ไว้เถิด ดูก่อนมารผู้กระทำที่สุด
ถึงตัวท่านเราก็ขจัดเสียแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ สหสฺสานิปิ ธุตฺตกานํ สมาคตา
เอทิสกา ภเวยฺยุํ
ความว่า ท่านเป็นเช่นใด เหล่านักเลง แม้จำนวนหลาย
แสนเช่นนั้น คือเห็นปานนั้น พึงมาชุมนุมกัน บทว่า โลมํ น อิญฺเช
นปิ สมฺปเวเธ
ความว่า แม้มาตรว่าขนไม่พึงหวั่นไม่พึงไหว. บทว่า กึ เม
ตุวํ มาร กริสฺสเสโก
ความว่า ดูก่อนมาร ท่านผู้เดียวจักทำอะไรเราได้
บัดนี้ พระเถรีเมื่อจะชี้แจงว่า มารไม่สามารถทำอะไร ๆ แก่ตนได้
จึงกล่าวคาถาว่า เอสา อนฺตรธายามิ เป็นต้น. คาถานั้น มีความว่า ดู
ก่อนมาร เรานั้นยืนอยู่ต่อหน้าท่าน ก็หายตัวได้ ท่านมองไม่เห็น เราเข้า
ท้องท่าน ทั้งที่ไม่รู้นั่นแหละก็ได้ ยืนอยู่ระหว่างคิ้วก็ได้ และเรายืนอยู่อย่างนั้น
ท่านก็ไม่เห็น.
หากจะถามว่า เพราะเหตุไร ก็ตอบได้ว่า เพราะเราชำนาญในจิต
อบรมอิทธิบาทดีแล้ว. อธิบายว่า ดูก่อนมาร เราเป็นได้ เพราะจิตของเรา
ชำนาญแล้ว แม้อิทธิบาท 4 เราก็อบรมดีแล้ว ทำให้มากแล้ว เพราะฉะนั้น
เราจึงสามารถ เพราะอยู่ในอิทธิวิสัยตามที่กล่าวมาแล้ว. ข้อนอกนั้นทั้งหมด
ง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยที่กล่าวมาแล้วในหนหลัง.
จบ อรรถกถาอุบลวรรณาเถรีคาถา
จบ อรรถกถาทวาทสกนิบาต

โสฬสกนิบาต


1. ปุณริกาเถรีคาถา


[446] พระปุณณิกาเถรีได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า
ข้าพเจ้าถามพราหมณ์ว่า
ข้าพเจ้าเป็นหญิงแบกหม้อน้ำ กลัวเจ้านายลงโทษ
กลัววาจาและโทสะเจ้านายคุกคาม จึงลงตักน้ำเป็น
ประจำ แม้แต่หน้าหนาว.
ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวอะไร จึงลงอาบน้ำทุก
เมื่อ ท่านมีตัวสั่นเทา ประสบความหนาวเย็นอย่างหนัก

พราหมณ์ตอบว่า
ดูก่อนแม่ปุณณิกาผู้เจริญ เจ้ารู้ว่าเรากำลังทำกุศล-
กรรม อันปิดเสียซึ่งบาปกรรม ยังจะสอบถามอยู่หรือ
หนอ ผู้ใดไม่ว่าแก่หรือหนุ่ม ประกอบกรรมที่เป็นบาป
แต่ผู้นั้น ก็จะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการ
อาบน้ำ.

ข้าพเจ้ากล่าวว่า
ใครหนอ ช่างไม่รู้ มาบอกแก่ท่าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่า
คนจะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ
พวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์อื่นใดที่สัญจรอยู่
ในน้ำ ทั้งหมด ก็คงจะพากันไปสวรรค์แน่แท้.