เมนู

3. มหากัปปินเถรคาถา



ว่าด้วยคาถาของพระมหากัปปินเถระ


[372] ผู้ใดพิจารณาเห็นแจ้งหรือแสวงหาประโยชน์ ย่อม
พิจารณาเห็นกิจทั้งสอง คือที่เป็นประโยชน์และไม่เป็น
ประโยชน์ อันยังไม่มาถึง ได้ก่อนอมิตรหรือศัตรูของผู้นั้น
ซึ่งคอยแสวงหาช่องอยู่ไม่ทันเห็น ผู้นั้นเรียกว่า ผู้มีปัญญา
ผู้ใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ด้วยดีแล้ว อบรมแล้ว
โดยลำดับตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้นั้นย่อมยัง
โลกนี้ให้สว่างไสวเหมือนพระจันทร์เพ็ญพ้นออกจากกลีบ
เมฆฉะนั้น จิตของเราผ่องใสแล้วหนอ อบรมดีแล้ว หา
ประมาณมิได้ เป็นจิตประคองไว้แล้วเป็นนิตย์ ย่อมยังทิศ
ทั้งปวงให้สว่างไสวบุคคลผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังมี
ชีวิตอยู่ได้เป็นแน่แท้ ส่วนบุคคลผู้ไม่มีปัญญาถึงจะมี
ทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้ ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่ตนฟัง
มาแล้ว เป็นเครื่องเจริญชื่อเสียงและความสรรเสริญ.
นรชนในโลกนี้ ผู้ประกอบด้วยปัญญา แม้ในเวลาที่
ตนตกทุกข์ ก็ย่อมได้รับความสุข ธรรมนี้มิใช่มีในวันนี้
ไม่ใช่น่าอัศจรรย์ และไม่ใช่เคยมีมาแล้ว แต่ดูเหมือน
เป็นของที่ไม่เคยมีในโลก ซึ่งเป็นที่เกิดที่ตาย เมื่อสัตว์
เกิดมาแล้ว ก็มีความเป็นอยู่กับความตายแน่แท้ สัตว์ที่
เกิดมาแล้ว ๆ ในโลกนี้ ย่อมตายไปทั้งนั้น เพราะสัตว์

ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ชีวิตอันใดเป็นประโยชน์
แก่บุรุษเหล่าอื่น ชีวิตอันนั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้
ที่ตายไปแล้ว อันการร้องไห้ถึงผู้ตายไปแล้ว ย่อมไม่ทำ
ให้เกิดผล ไม่ทำให้เกิดความสรรเสริญ สมณะและ
พราหมณ์ไม่สรรเสริญเลย การร้องไห้ย่อมเบียดเบียน
จักษุและร่างกาย ทำให้เสื่อมวรรณะ กำลัง และความ
คิด ชนทั้งหลายผู้เป็นข้าศึกย่อมมีจิตยินดี ส่วนชนผู้
เป็นมิตรก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย เพราะฉะนั้น บุคคล
พึงปรารถนาท่านผู้เป็นนักปราชญ์ เป็นพหูสูต ให้อยู่ใน
สกุลของตน เพราะกิจทุกอย่างจะสำเร็จได้ ก็ด้วยกำลัง
ปัญญาของท่านที่เป็นนักปราชญ์ และเป็นพหูสูตเท่านั้น
เหมือนบุคคลข้ามแม่น้ำอันเต็มฝั่งด้วยเรือฉะนั้น.

จบมหากัปปินเถรคาถา

อรรถกถามหากัปปินเถรคาถาที่ 3


คาถาของท่านพระมหากัปปินเถระ มีเริ่มต้นว่า อนาคตํ โย
ปฏิกจฺจ ปสฺสติ
ดังนี้เป็นต้น. เรื่องนั้นมีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร ?
ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่าน
พระมหากัปปินเถระนี้ บังเกิดในเรือนมีสกุล ในนครหังสาวดี รู้เดียงสา
แล้ว ฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้