เมนู

7. ติสสเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระติสสเถระ


[274] ได้ยินว่า พระติสสเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ภิกษุศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ได้ข้าว น้ำ ผ้า
และที่นอน ที่นั่ง ย่อมชื่อว่าได้ข้าศึกไว้มาก ภิกษุ
รู้โทษในลาภสักการะว่า เป็นภัยอย่างนี้แล้ว ควรเป็น
ผู้มีลาภน้อย มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ มีสติงดเว้นความ
ยินดีในลาภ.


อรรถกถาติสสเถรคาถา


คาถาของท่านพระติสสเถระ เริ่มต้นว่า พหู สปตฺเต ลภติ. เรื่องราว
ของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ
สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้น ๆเกิดในตระกูลพราหมณ์
ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปิยทัสสี บรรลุนิติภาวะแล้ว
ถึงความสำเร็จในศิลปะทั้งหลาย เห็นโทษในกามทั้งหลาย สละฆราวาสวิสัย
บวชเป็นดาบส ให้เขาสร้างอาศรมอยู่ในป่าดงรัง ใกล้ชัฏแห่งป่า. พระผู้มี
พระภาคเจ้า ทรงเข้านิโรธสมาบัติ ประทับนั่งที่ดงรังไม่ไกลอาศรม เพื่อจะ
ทรงอนุเคราะห์ดาบสนั้น. ดาบสออกจากอาศรม เดินไปหาผลาผล เห็น

พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีใจเลื่อมใส ปักเสา 4 เสา ทำปะรำด้วยกิ่งรัง อัน
มีดอกบานสะพรั่ง ไว้เบื้องบนพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยดอกรัง ทั้งใหม่ทั้งสดตลอด 7 วัน ไม่ละปีติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
เลย. พอล่วงไป 7 วัน พระศาสดาเสด็จออกจากนิโรธ ทรงดำริถึงภิกษุสงฆ์
พระขีณาสพประมาณหนึ่งแสน มาแวดล้อมองค์พระศาสดาในทันใดนั้นเอง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศสมบัติ ที่จะเกิดมีแก่ดาบสแล้ว ตรัสอนุโมทนา
แล้วเสด็จหลีกไป.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ อยู่
แต่ในสุคติภพเท่านั้น เกิดในตระกูลพราหมณ์ กรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาท-
กาลนี้ ได้นามว่า ติสสะ เจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพท สอนมนต์กะ
มาณพประมาณ 500 ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ เห็นพุทธานุภาพในคราวที่
พระศาสดาเสด็จไปพระนครราชคฤห์ ได้มีจิตศรัทธาบวชแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนา
บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ใน
อปทานว่า
เราเข้าสู่ป่ารัง สร้างอาศรมอย่างสวยงาม มุงบัง
ด้วยดอกรัง ครั้งนั้น เราอยู่ในป่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้สยัมภู เอกอัครบุคคลตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง พระ-
นามว่า ปิยทัสสี ทรงประสงค์ความสงัด จึงเสด็จ
เข้าสู่ป่ารัง เราออกจากอาศรมไปป่า เที่ยวแสวงหา
มูลผลาผลป่า ในเวลานั้น ณ ที่นั้น เราได้เห็นพระ-
สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปิยทัสสี ผู้มีพระยศ
ใหญ่ ประทับนั่งเข้าสมาบัติ รุ่งโรจน์อยู่ในป่าใหญ่

เราปักเสา 4 เสา ทำปะรำอย่างเรียบร้อย แล้วเอา
ดอกรังมุงเหนือพระพุทธเจ้า เราทรงปะรำซึ่งมุงด้วย
ดอกรังไว้ 7 วัน ยังจิตให้เลื่อมใสในกรรมนั้น ได้
ถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด สมัยนั้น พระ
ผู้มีพระภาคเจ้าผู้อุดมบุรุษ เสด็จออกจากสมาธิ
ประทับนั่ง ทอดพระเนตรดูเพียงชั่วแอก สาวกของ
พระศาสดา พระนามว่า ปิยทัสสี ชื่อว่าวรุณะ กับ
พระอรหันตขีณาสพแสนองค์ ได้มาเฝ้าพระศาสดา
ผู้นำชั้นพิเศษ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้พิชิตมาร
ทรงพระนามว่า ปิยทัสสี เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐ
กว่านรชน ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว
ได้ทรงกระทำการแย้มพระสรวลให้ปรากฏ พระ-
อนุรุทธเถระผู้อุปัฏฐาก ของพระศาสดาทรงพระนาม
ว่า ปิยทัสสี ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถาม
พระมหามุนีว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อะไรเล่า
หนอ เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงแย้มพระสรวลให้
ปรากฏ เพราะมีเหตุ พระศาสดาจึงทรงแย้มพระสรวล
ให้ปรากฏ.
พระศาสดาตรัสว่า มาณพใดธารปะรำที่มุงด้วย
ดอกไม้ให้ตลอด 7 วัน เรานึกถึงกรรมของมาณพนั้น
จึงได้ทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ เราไม่พิจารณาเห็น
ช่องทางที่ไม่ควรที่บุญจะไม่ให้ผล ช่องทางที่ควรใน
เทวโลก หรือมนุษยโลก ย่อมไม่ระงับไปเลย เขาผู้

เพรียบพร้อมด้วยบุญกรรมอยู่ในเทวโลกมีบริษัทเท่าใด
บริษัทเท่านั้น จักถูกบังด้วยดอกรัง เขาเป็นผู้ประกอบ
ด้วยบุญกรรม จักรื่นเริงอยู่ในเทวโลกนั้น ด้วยการ
ฟ้อน การขับ การประโคม อันเป็นทิพย์ในกาลนั้น
ทุกเมื่อ บริษัทของเขาประมาณเท่าที่มี จักมีกลิ่น
หอมฟุ้ง และฝนดอกรัง จักตกลงทั่วไปในขณะนั้น
มาณพนี้ จุติจากเทวโลกแล้ว จักมาสู่ความเป็นมนุษย์
แม้ในมนุษยโลกนี้ หลังคาดอกรังก็จักทรงอยู่ ตลอด
กาลทั้งปวง ณ มนุษยโลกนี้ การฟ้อนและการขับที่
ประกอบด้วยกังสดาล จักแวดล้อมมาณพนี้อยู่เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา และเมื่อพระอาทิตย์อุทัย ฝน
ดอกรังก็จักตกลง ฝนดอกรังที่บุญกรรมปรุงแต่งแล้ว
จักตกลงทุกเวลา ในกัปที่ 1,800 พระศาสดา มีพระ
นามว่า " โคดม " จึงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราช
จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มาณพนี้จักเป็นทายาทในธรรม
ของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรม
เนรมิต จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะ
ปรินิพพาน เมื่อเขาตรัสรู้ธรรมอยู่ จักมีหลังคาดอกรัง
เมื่อถูกฌาปนกิจอยู่บนเชิงตะกอน ที่เชิงตะกอนนั้น
ก็จักมีหลังคาดอกรัง พระมหามุนี ทรงพระนามว่า
ปิยทัสสี ทรงพยากรณ์วิบากแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่
บริษัท ให้อิ่มหนำด้วยฝนคือธรรม เราได้เสวยราช
สมบัติในเทวโลก ในหมู่เทวดา 30 กัป ได้เป็น

พระเจ้าจักรพรรดิ 67 ครั้ง เราออกจากเทวโลก มา
ในมนุษยโลกนี้ ได้ความสุขอันไพบูลย์ แม้ในมนุษย-
โลกนี้ ก็มีหลังคาดอกรัง นี้เป็นผลแห่งปะรำ นี้เป็น
การบังเกิดครั้งหลังของเรา ภพสุดท้ายกำลังเป็นไป
แม้ในภพนี้หลังคาดอกรัง ก็จักมีตลอดกาลทั้งปวง
เรายังพระมหามุนีพระนามว่า โคดม ผู้ประเสริฐกว่า
ศากยราชให้ทรงยินดี ได้ละความมีชัย และความ
ปราชัยเสียแล้ว บรรลุถึงฐานะที่ไม่หวั่นไหว ในกัป
ที่1,800 เราได้บูชาพระพุทธเจ้าองค์ใด ด้วยพุทธบูชา
นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา. เรา
เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า
เรากระทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้.
ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้เป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วย
ลาภ เลิศด้วยยศเป็นพิเศษ. ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นปุถุชนบางพวก
เห็นลาภสักการะของพระเถระแล้ว แสดงความไม่พอใจออกมาด้วยความเป็น
คนพาล. พระเถระรู้ดังนั้น เมื่อจะประกาศโทษในลาภสักการะ และความที่
ตนเป็นผู้ไม่ข้องอยู่ในลาภสักการะนั้น ได้กล่าวคาถา 2 คาถา ความว่า
ภิกษุศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิได้ข้าว น้ำ ผ้า
และที่นอน ที่นั่ง ย่อมชื่อว่าได้ข้าศึกไว้มาก ภิกษุรู้
โทษในลาภสักการะว่า เป็นภัยอย่างนี้แล้ว ควรเป็นผู้
มีลาภน้อย มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ มีสติงดเว้นความยินดี
ในลาภ
ดังนี้.

คาถาทั้งสองนั้น มีอธิบายว่า ภิกษุแม้ถึงจะแสดงปลายผมก็ชื่อว่า
เป็นคนโล้น เพราะความเป็นผู้มีผมอันโกนแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ครองผ้าสังฆาฏิ
เพราะความเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ที่เขาตัดแล้ว เอามาเย็บติดกันไว้
บรรพชิตผู้เข้าถึงความเป็นผู้มีเพศแตกต่างจากคฤหัสถ์อย่างนี้ มีความเป็นอยู่
เนื่องด้วยผู้อื่น ถ้าผู้ใดยังอยากได้ข้าวและน้ำเป็นต้น แม้ผู้นั้นย่อมชื่อว่าได้ข้าศึก
ไว้มาก ภิกษุเป็นอันมาก จะพากันริษยาภิกษุนั้น.
เพราะเหตุนั้น ภิกษุรู้อาทีนพคือโทษ ในลาภสักการะทั้งหลายว่ามี
กำลังมากคือเป็นภัยอย่างใหญ่หลวง นี้ คือเห็นปานนี้ พึงตั้งความเป็นผู้มีความ
ปรารถนาน้อย และความสันโดษไว้ในหทัยแล้วพึงเป็นผู้มีลาภน้อย โดยเว้น
ลาภแม้ที่ให้เกิดขึ้นโดยความเป็นของหาโทษมิได้ อันเกิดขึ้นแล้ว ต่อจากนั้น
ก็จะชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีจิตชุ่มด้วยราคะ เพราะไม่มีความชุ่ม คือ ความอยากใน
ลาภนั้น ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะเห็นภัยในสงสาร หรือเพราะความเป็นผู้มีกิเลส
อันทำลายแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ด้วยสามารถแห่งสติและสัมปชัญญะ อันเป็น
ที่ตั้งแห่งความสันโดษ พึงเว้นรอบคือเที่ยวไปอยู่ (ตามสบาย) ภิกษุทั้งหลาย
เหล่านั้น ฟังคำเป็นคาถานั้นแล้ว ยังพระเถระให้อดโทษในขณะนั้นเอง.
จบอรรถกถาติสสเถระ

8. กิมพิลเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระกิมพิลเถระ


[275] ได้ยินว่า พระกิมพิลเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
พระศากยบุตรทั้งหลาย ผู้เป็นสหายกันในปาจีน-
วังสทายวัน ได้พากันละโภคะไม่น้อย มายินดีในการ
เที่ยวบิณฑบาต ปรารภความเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว
มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ละความยินดีในโลก มา
ยินดีอยู่ในธรรม.


อรรถกถากิมพิลเถรคาถา


คาถาของท่านพระกิมพิลเถระ เริ่มต้นว่า ปาจีนวํสทายมฺหิ. เรื่องราว
ของท่านเป็นอย่างไร ?
เหตุเกิดความสังเวช และบรรพชา อันเป็นบุรพภาคของเรื่องราวที่
เกิดขึ้นนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในอรรถกถาแห่งคาถามีอาทิว่า อภิสตฺโต ใน
เอกนิบาตแล้วทั้งนั้น และด้วยคาถานั้น พระเถระแสดงเหตุแห่งการบรรลุคุณ
วิเศษของตนไว้ด้วย. แต่ในคาถานั้น พึงทราบว่า พระเถระแสดงการอยู่ร่วม
โดยความพร้อมเพรียงของตนผู้บรรลุคุณวิเศษแล้ว กับท่านพระอนุรุทธะและ
ท่านพระนันทิยะ. ก็พระเถระเมื่อจะแสดงถึงการที่พระเถระเหล่านั้นอยู่ร่วมกัน
โดยความพร้อมเพรียงจึงได้กล่าวคาถา 2 คาถา ความว่า