เมนู

3. เหรัญญกานิเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระเหรัญญกานิเถระ


[270] ได้ยินว่า พระเหรัญญกานิเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า
วันและคืนย่อมล่วงไป ๆ ชีวิตย่อมดับไป อายุ
ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อย
ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น คนพาลทำบาปกรรมอยู่
ย่อมไม่รู้สึกตัว ต่อภายหลัง เขาจึงได้รับทุกข์อัน
เผ็ดร้อน เพราะบาปกรรมนั้นมีวิบากเลวทราม.


อรรถกถาเหรัญญกานิเถรคาถา


คาถาของท่านพระเหรัญญกานิเถระ เริ่มต้นว่า อจฺจยนฺติ อโห-
รตฺตาว.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า พระเถระนี้เกิดในเรือนแห่งตระกูล พระนครหงสาวดี
ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ บรรลุนิติภาวะแล้ว
รับจ้างผู้อื่นเลี้ยงชีพ วันหนึ่ง บริจาคผ้าครึ่งผืน ถวายสาวกของพระศาสดา
นามว่า สุชาตะ ผู้กำลังแสวงหาผ้าบังสุกุลอยู่.
ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านบังเกิดในดาวดึงส์พิภพท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ
อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของนายโจรโวสาสกะ ผู้เป็น
นายบ้านของพระเจ้าโกศลในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า เหรัญญกานิ.

เขาเจริญวัยแล้ว พอบิดาล่วงลับไป ก็ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนายบ้าน เห็น
พุทธานุภาพ ในคราวที่ทรงรับพระเชตวันมหาวิหาร ได้เป็นผู้มีจิตศรัทธา
มอบตำแหน่งนั้นให้แก่น้องชายของตน ทูลลาพระราชาบวชแล้ว เริ่มตั้งวิปัส-
สนา แล้วบรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่าน
กล่าวไว้ในอปทานว่า
ครั้งนั้น สาวกชื่อว่า สุชาตะ ของพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ แสวงหาผ้าบังสุกุล
อยู่ที่กองหยากเยื่อ ใกล้ทางรก เราเป็นลูกจ้างของ
คนอื่นอยู่ในพระนครหงสาวดี ได้ถวายผ้าครึ่งผืนแล้ว
อภิวาทด้วยเศียรเกล้า ด้วยกรรมที่ทำไว้ดีแล้วนั้นและ
ด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เราละร่างมนุษย์ได้ไปสวรรค์
ชั้นดาวดึงส์ เราเป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติใน
เทวโลก 31 ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 77 ครั้ง
และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณนา-
นับมิได้ เพราะถวายผ้าครึ่งผืนเป็นทาน เราเป็นผู้ไม่มี
ภัยแต่ที่ไหน ๆ เบิกบานอยู่ ทุกวันนี้เราปรารถนาก็พึง
เอาผ้าเปลือกไม้คลุมแผ่นดินนี้ พร้อมทั้งป่าและภูเขา
ได้ นี้เป็นผลแห่งผ้าครึ่งผืน ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้
เราได้ให้ทานใด ในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จัก
ทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งผ้าครึ่งผืน.เราเผากิเลสทั้งหลาย
แล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จ
แล้ว
ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว มีความประสงค์จะให้น้องชาย
ของตน เลิกจากการประกอบการงานนั้น เมื่อจะตักเตือนน้องชาย เพราะเห็นเขา
ยินดีอยู่แต่ในการงานนั้นแหละ จึงได้กล่าวคาถา 2 คาถา ความว่า
วันและคืนย่อมล่วงไป ๆ ชีวิตย่อมดับไป อายุ
ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปเหมือนน้ำในแม่น้ำ
น้อย ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น คนพาลทำบาปกรรมอยู่
ย่อมไม่รู้สึกตัว ต่อภายหลัง เขาจึงได้รับทุกข์อันเผ็ด-
ร้อน เพราะบาปกรรมนั้น มีวิบากเลวทราม
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจฺจยนฺติ แปลว่า ก้าวล่วงไป อธิบายว่า
กำลังจากไปอย่างรวดเร็ว.
บทว่า อโหรตฺตา แปลว่า ทั้งกลางคืนและกลางวัน.
บทว่า ชีวิตํ อุปรุชฺฌติ ความว่า ก็ชีวิตินทรีย์ ย่อมดับด้วย
สามารถแห่งการดับไปทุก ๆ ขณะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ เธอ
ย่อมแก่ ย่อมเจ็บ ย่อมตาย ย่อมจุติ และอุปบัติ ทุก ๆ ขณะดังนี้.
บทว่า อายุ ขียติ มจฺจานํ ความว่า อายุของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้
ที่ได้นามว่า มัจจะ เพราะมีอันจะต้องตายเป็นสภาพ ได้แก่ อายุที่กำหนด
เวลาอย่างสูงไว้ว่า สัตว์ใดมีชีวิตอยู่ได้นาน สัตว์นั้นก็อยู่ได้แค่ร้อยปี น้อยหรือ
มากไปบ้าง ย่อมสิ้นไป คือถึงความสิ้นไปและความแตกดับ เหมือนอะไร ?
เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อย ฉะนั้น ธรรมดาน้ำของแม่น้ำน้อย คือแม่น้ำเล็ก ๆ
ที่ไหลมาจากภูเขา ย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นาน แห้งไปอย่างรวดเร็ว คือพอไหลมา
เท่านั้น ก็ขาดแห้งไป ฉันใด อายุของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมสิ้นไป
เร็วกว่า คือ ถึงความสิ้นไป ก็น้ำนั่นแล ในคาถานี้ ท่านเรียกว่า โอทกัง
เหมือนอย่างใจนั่นแลท่านเรียกว่า มานัส.

บทว่า อถ ปาปานิ กมฺมานิ กรํ พาโล น พุชฺฌติ ความว่า
เมื่อสงสารแม้เป็นของไม่เที่ยง มีอยู่อย่างนี้ คนพาลทำกรรมอันลามก ด้วย
สามารถแห่งความโลภหรือด้วยสามารถแห่งความโกรธ แม้เมื่อกระทำก็ไม่รู้ตัว
และกำลังกระทำความชั่วอยู่ จะไม่รู้ว่า เราทำชั่วอยู่ ย่อมไม่มี แต่เพราะไม่รู้ว่า
กรรมนี้ มีทุกข์เป็นวิบากเห็นปานนี้ ดังนี้ ท่านจึงกล่าวว่า น พุชฺฌติ
ย่อมไม่รู้ตัว ดังนี้.
บทว่า ปจฺฉาสฺส กฏุกํ โหติ ความว่า แม้ถ้าในขณะที่สั่งสม
กรรมอันลามกนั้น จะไม่รู้ว่า กรรมนี้มีผลอย่างนี้ แต่ภายหลังจากนั้น ทุกข์
อันเผ็ดร้อน ไม่น่าปรารถนานั่นแหละ จะมีแก่คนพาลนั้น ผู้บังเกิดในอบายภูมิ
มีนรกเป็นต้น.
เพราะบาปกรรมนั้น มีผลเลวทราม คือ เพราะขึ้นชื่อว่ากรรมอัน-
ลามกนั้น มีผลลามก เลวทราม ไม่น่าปรารถนานั่นเอง ก็น้องชายของพระ-
เถระครั้นฟังโอวาทนี้แล้ว ทูลลาพระราชา บวชแล้ว ยังประโยชน์ตนให้
สำเร็จแล้ว ต่อกาลไม่นานนัก.
จบอรรถกถาเหรัญญกานิเถรคาถา

4. โสมมิตตเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระโสมมิตตเถระ


[271] ได้ยินว่า พระโสมมิตตเถระไค้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
เต่าตาบอดเกาะขอนไม้เล็ก ๆ จมลงไปในห้วง-
น้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตรอาศัยคนเกียจคร้านดำรงชีพ
ย่อมจมลงในสังสารวัฏ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น บุคคล
พึงเว้นคนเกียจคร้าน ผู้มีความเพียรเลวทรามเสีย ควร
อยู่กับบัณฑิตทั้งหลายผู้สงัด เป็นอริยะมีใจเด็ดเดี่ยว
เพ่งฌาน มีความเพียรอันปรารภแล้ว เป็นนิตย์.


อรรถกถาโสมมิตตเถรคาถา


คาถาของท่านพระโสมมิตตเถระ เริ่มต้นว่า ปริตฺตํ ทารุํ. เรื่องราว
ของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์-
ก่อน ๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้น ๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูลในกาลของพระผู้มี-
พระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี บรรลุความเป็นผู้รู้แล้ว สดับพระพุทธคุณ
มีใจเลื่อมใส วันหนึ่งเห็นต้นทองกวาวมีดอกบานสะพรั่ง จึงเก็บเอาดอกมา
แล้วเหวี่ยงขึ้นบนอากาศ (ตั้งใจ) บูชาเฉพาะพระศาสดา.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดใน
ตระกูลพราหมณ์ พระนครพาราณสี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า โสม-