เมนู

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อคารํ ได้แก่ เรือนชนิดใดชนิดหนึ่ง.
บทว่า ทุจฺฉนฺนํ ได้แก่ มุงไว้ห่าง ๆ คือเป็นช่องน้อยช่องใหญ่. บทว่า
สมติวิชฺฌติ ความว่า ฝนที่ตกย่อมรั่วรดได้.
บทว่า อภาวิตํ ความว่า จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว เพราะเว้นจากภาวนา
เปรียบเหมือนฝนที่รั่วรดเรือนได้.
บทว่า ราโค สมติวิชฺฌติ ความว่า มิใช่ราคะจะรั่วรดได้อย่าง
เดียวเท่านั้น แม้สรรพกิเลสมี โทสะ โมหะ และมานะเป็นต้น ก็ย่อมรั่วรด
จิตเห็นปานนั้นได้เหมือนกัน.
บทว่า สุภาวิตํ ได้แก่ จิตที่อบรมดีแล้ว ด้วยสมถภาวนา และ
วิปัสสนาภาวนา กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ย่อมไม่สามารถจะรั่วรดจิต
เห็นปานนั้นได้ เหมือนเรือนที่มุงดีแล้ว ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ ฉะนั้น.
จบอรรถกถาราธเถรคาถา

8. สุราธเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระสุราธเถระ


[265] ได้ยินว่า พระสุราธเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ชาติของเราสิ้นแล้ว คำสอนของพระชินเจ้า เรา
อยู่จบแล้ว ข่าย คือ ทิฏฐิและอวิชชา เราละได้แล้ว
ตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ เราถอนได้แล้ว เราออกบวช
เป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้
บรรลุแล้ว ความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง เราก็ได้บรรลุ
แล้ว.

อรรถกถาสุราธเถรคาถา


คาถาของท่านพระสุราธเถระ เริ่มต้นว่า ขีณา หิ มยฺหํ ชาติ.
เรื่องราวของท่าน เป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้า
องค์ก่อน ๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้น ๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี บรรลุความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่ง
เห็นพระศาสดา มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลหมากงั่ว.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาไปบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยว
วนไปเวียนมาอยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น เกิดเป็นน้องชายของพระราธเถระ ที่
ข้าพเจ้ากล่าวไว้ติดต่อกันเป็นลำดับมา ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า
สุราธะ. เมื่อพระราธเถระผู้เป็นพี่ชายบวชแล้ว แม้ท่านเองก็ออกบวช เจริญ
วิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่าน
กล่าวไว้ในอปทานว่า
เราได้เห็นสมเด็จพระโลกนาถ ผู้โชติช่วงเหมือน
ต้นกรรณิการ์ รุ่งเรืองดังพระจันทร์ในวันเพ็ญ และ
เหมือนต้นไม้ประจำทวีปที่โพลงอยู่ เราเลื่อมใส ได้
เอาผลหมากงั่วถวาย แด่พระศาสดาผู้เป็นทักขิไณย-
บุคคล เป็นวีรบุรุษ ด้วยมือทั้งสองของตน ในกัปที่
31 แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วย
การถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่ง
การถวายผลไม้ เราเผากิเลสแล้ว ฯ ล ฯ คำสอนของ
พระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้.