เมนู

5. วิสาขปัญจาลีปุตตเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระวิสาขปัญจาลีบุตรเถระ

*

[302] ได้ยินว่า พระวิสาขปัญจาลีบุตรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้
อย่างนี้ว่า
พระธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ ดังนี้คือ ไม่พึง
ยกตน 1 ไม่ข่มบุคคลเหล่าอื่น 1 ไม่พึงกระทบกระทั่ง
บุคคลเหล่าอื่น 1 ไม่กล่าวคุณความดีของตนในที่
ชุมนุมชน เพื่อมุ่งลาภผล 1 ไม่มีจิตฟุ้งซ่านกล่าวแต่
พอประมาณ มีวัตร 1 ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก พึงเป็น
ผู้มีปกติเห็นเนื้อความอันสุขุมละเอียด มีปัญญา
เฉลียวฉลาด ประพฤติอ่อนน้อม มีศีลตามเยี่ยงอย่าง
ของพระพุทธเจ้านั้น พึงได้พระนิพพานไม่ยากเลย.

อรรถกถาวิสาขปัญจาลปุตตเถรคาถา


คาถาของท่านพระวิสาขปัญจาลบุตรเถระ เริ่มต้นว่า น อุกฺขิเป โน
จ ปริกฺขิเป ปเร.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ ทั้งหลาย สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้น ๆ
เกิดในตระกูลที่ยากจน ในปัจจันตคาม ในพุทธกัปต่อแต่นี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว
วันหนึ่ง ไปป่า พร้อมกับคนทั้งหลายในปัจจันตคาม ผู้เที่ยวหาผลไม้ เห็น
พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ในป่านั้น มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลวัลลิ.

* อรรถกถาเป็น วิสาขปัญจาลบุตรเถระ

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิด
ในตระกูลของพระเจ้ามัณฑลิกะ แคว้นมคธ ในพุทธุปบาทกาลนี้ได้มีนามว่า
วิสาขะ ภายหลังปรากฏนามว่า ปัญจาลปุตตะ เพราะความเป็นพระโอรส
แห่งราชธิดาของพระเจ้าปัญจาละ เมื่อพระชนกสวรรคตแล้ว เขาก็เสวยราช
สมบัติ เมื่อพระศาสดาเสด็จมาใกล้วังของพระองค์ ก็ไปสู่สำนักของพระศาสดา
ฟังธรรมแล้ว ได้มีจิตศรัทธา บวชแล้ว ไปสู่พระนครสาวัตถีกับพระศาสดา
เริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว ได้เป็นผู้มีอภิญญา 6 ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถา
ประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
ในกาลนั้น ชนทั้งปวงชักชวนกันมาสู่ป่า เขา
เหล่านั้นแสวงหาผลไม้ ก็หาผลไม้ได้ในกาลนั้น ใน
ป่านั้น เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้สยัมภู ผู้ไม่เคย
พ่ายแพ้ เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ถวายผล
วัลลิ ในกัปที่ 31 แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใด
ในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็น
ผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ
คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้.
ก็พระเถระเป็นผู้มีอภิญญา 6 แล้ว ได้กลับไปภูมิลำเนาเดิม เพื่อ
อนุเคราะห์หมู่ญาติ มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้น เข้าไปหาพระเถระแล้ว ฟังธรรม
ตามกาลตามโอกาส วันหนึ่ง ถามพระเถระถึงลักษณะของพระธรรมกถึกว่า ข้า
แต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์คุณเท่าไรหนอแล จึงจะเป็นพระธรรม-
กถึกได้ พระเถระเมื่อจะบอกลักษณะของพระธรรมกถึก แก่เขาเหล่านั้น ได้
กล่าวคาถา 2 คาถา ความว่า

พระธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ ดังนี้คือ ไม่พึง
ยกตน 1 ไม่พึงข่มบุคคลเหล่าอื่น 1 ไม่พึงกระทบ
กระทั่งบุคคลเหล่าอื่น 1 ไม่กล่าวคุณความดีของตน
ในที่ชุมนุมชน เพื่อมุ่งลาภผล 1 ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน
กล่าวแต่พอประมาณ มีวัตร 1 ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก
พึงเป็นผู้มีปกติ เห็นเนื้อความอันสุขุมละเอียด มี
ปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติอ่อนน้อม มีศีลตาม
เยี่ยงอย่างของพระพุทธเจ้านั้น พึงได้นิพพานไม่ยาก
เลย
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น อุกฺขิเป ความว่า ไม่พึงยกขึ้นซึ่ง
ตน คือไม่พึงทำการยกตน ด้วยตระกูลมีชาติเป็นต้น และด้วยคุณสมบัติ มี
พาหุสัจจะเป็นต้น.
บทว่า โน จ ปริกฺขิเป ปเร ความว่า ไม่พึงข่มผู้อื่น คือ
บุคคลอื่น ด้วยชาติเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล คือไม่พึงกดผู้อื่นโดยปกปิดคุณ
หรือไม่พึงกดผู้อื่น ด้วยสามารถแห่งการทำลายคุณความดี. พึงเชื่อมความ
อย่างนี้ว่า ไม่พึงกระทบกระทั่งบุคคลเหล่าอื่น คือไม่กระทบกระทั่งบุคคลอื่น
ด้วยสามารถแห่งการเพ่งโทษ ได้แก่ ไม่พึงมองผู้อื่นอย่างเหยียดหยาม อธิบาย
ว่า น อุกฺขิเป ความก็อย่างนั้นแหละ.
บทว่า ปารคตํ ความว่า ไม่พึงกระทบกระทั่ง คือไม่พึงห้าม
ไม่พึงเสียดสี ได้แก่ ไม่พึงดูหมิ่น ซึ่งพระขีณาสพผู้ถึงฝั่งแห่งวิชชา ดุจถึง
ฝั่งแห่งสงสาร ผู้มีวิชชา 3 หรือมีอภิญญา 6.

บทว่า น จตฺตวณฺณํ ปริสาสุ พฺยาหเร ความว่า ผู้มุ่งลาภ
สักการะและความสรรเสริญ ไม่พึงกล่าวสรรเสริญคุณของตน ในบริษัทของ
กษัตริย์เป็นต้น.
บทว่า อนุทฺธโต ความว่า เว้นจากความฟุ้งซ่าน อธิบายว่า
พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ยินดีด้วยคำของผู้ที่ฟุ้งซ่าน.
บทว่า สมฺมิตภาณี ความว่า กล่าวด้วยคำพอประมาณ โดยชอบ
นั่นเทียว อธิบายว่า มีปกติกล่าวถ้อยคำที่ประกอบไปด้วยประโยชน์เท่านั้น
มีที่อ้างอิง มีที่สุด ตามกาล. ถ้อยคำของผู้ที่กล่าว นอกเหนือไปจากนี้ ย่อม
ไม่เป็นที่เชื่อถือ.
บทว่า สุพฺพโต ผู้มีวัตรอันงาม คือสมบูรณ์ด้วยศีล พึงนำบท
กิริยาว่า สิยา มาประกอบเข้าด้วย.
พระเถระกล่าวลักษณะของพระธรรมกถึก โดยสังเขปเท่านั้น อย่างนี้
แล้ว น้อมใจนึกถึงความที่คุณเหล่านั้น เป็นเหตุให้ตนได้รับความยกย่องนับถือ
รู้ว่า มหาชนมีความเลื่อมใสจนเกินประมาณ เมื่อจะแสดงความว่า พระนิพพาน
ไม่เป็นคุณอันพระธรรมกถึกผู้มีลักษณะอย่างนี้ อาศัยวิมุตตายตนะแล้วจะพึง
ได้โดยยาก คือหาได้ง่ายโดยแท้แล จึงกล่าวคาถาที่ 2 มีอาทิว่า สุสุขุม-
นิปุณตฺถทสฺสินา
ดังนี้.
ความแห่งคาถาที่สองนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังแล้วทั้งนั้น.
จบอรรถกถาวิสาขปัญจาลปุตตเถรคาถา

6. จูฬกเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระจูฬกเถระ


[303] ได้ยินว่า พระจูฬกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
นกยูงทั้งหลาย มีหงอนงาม ปีกก็งาม มีสร้อยคอ
เขียวงาม ปากก็งาม มีเสียงไพเราะ ส่งเสียงร่ำร้อง
รื่นรมย์ใจ อนึ่ง แผ่นดินใหญ่นี้ มีหญ้าเขียวชอุ่มดูงาม
มีน้ำเอิบอาบทั่วไป ท้องฟ้าก็มีวลาหกอันงาม ท่านก็
มีใจเบิกบานควรแก่งาน จงเพ่งฌาน ที่พระโยคาวจร
ผู้มีใจดีเจริญแล้ว มีความบากบั่น ในพระพุทธศาสนา
เป็นอันดี จงบรรลุธรรมอันสูงสุด อันเป็นธรรมขาว
ผุดผ่อง ละเอียด เห็นได้ยาก เป็นธรรมไม่จุติแปรผัน.


อรรถกถาจูฬกเถรคาถา


คาถาของท่านพระจูฬกเถระ เริ่มต้นว่า นทนฺติ โมรา สุสิขา
สุเปขุณา.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ ทั้งหลาย เข้าไปสั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพ
นั้น ๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า
สิขี ในกัปที่ 31 แต่ภัทรกัปนี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่ง เห็นพระศาสดา
มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายผลฉัตตปาณี.