เมนู

5 กล่าวคือกิเลสมาร และอภิสังขารมาร ด้วยมรรคปัญญา ในบัดนี้ เพราะ
เหตุนั้น พระเถระจึงแสดงว่า เจ้าจักไปไกลไม่ได้ คือเจ้าจะไปสู่อัตภาพที่
สองเป็นต้น ซึ่งไกลกว่าอัตภาพนี้ไม่ได้ ได้แก่การไปของเจ้าจะมีได้เพียงแต่
จริมกจิตเท่านั้น. ปาฐะว่า เนโต ทูรํ ดังนี้ก็มี. ความหมายก็อันนั้น.
จบอรรถกถาวัลลิยเถรคาถา

4. คังคาตีริยเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระคังคาตีริยเถระ


[261] ได้ยินว่า พระคังคาตีริยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
เราทำกระท่อมด้วยใบตาล 3 ใบ ที่ริมฝั่งแม่น้ำ
คงคา บาตรของเราเหมือนดังหม้อ สำหรับตักน้ำรด
ศพ และจีวรของเราเป็นดังผ้าคลุกฝุ่น ในระหว่าง
2 พรรษา เราพูดเพียงคำเดียวเท่านั้น ในภายใน
พรรษาที่ 3 เราทำลายกองความมืดคืออวิชชาได้แล้ว.


อรรถกถาคังคาตีริยเถรคาถา


คาถาของท่านพระคังคาตีริยเถระ เริ่มต้นว่า ติณฺณํ เม ตาลปตฺตานํ.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินมาว่า พระเถระนี้เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มี
พระภาคเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ บรรลุความเป็นผู้รู้แล้วเป็นผู้มี
ความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระศาสนา ได้ถวายน้ำดื่มแด่ภิกษุสงฆ์.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาไปบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยว
ไป ๆ มา ๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของคฤหบดีคนหนึ่ง
ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า ทัตตะ. เขาเจริญวัย
แล้วอยู่ครอบครองเรือน ไม่รู้จักความเป็นอคมนียยัฏฐาน จึงทำการล่วงละเมิด
ต่อมารู้จักความเป็นอคมนียัฏฐานแล้ว จึงเกิดความสลดใจ บวชแล้ว รังเกียจ
กรรมนั้น ดำรงตนตามลูขปฏิปทา (ปฏิบัติอย่างเศร้าหมอง) ถือบังสุกุลจีวร
และบาตรดิน มีลักษณะคล้ายหม้อรดน้ำศพ กระทำกุฎีด้วยใบตาล 3 ใบ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้สมญานามว่า คังคาตีริยะ.
ท่านอธิษฐานจิตว่า เรายังไม่ได้บรรลุพระอรหัต จะไม่สนทนากับใคร ๆ
แล้วเป็นผู้นิ่งอยู่ตลอดปีแรก ไม่ยอมทำวจีเภท (ไม่ยอมพูดจา) เลย อยู่แล้ว.
ในปีที่สอง ถูกหญิงคนหนึ่งในโคจรคาม ประสงค์จะทดลองว่า เป็นใบ้
หรือเปล่า จึงเมื่อจะเทน้ำนมลงในบาตร แกล้งทำเป็นมือพิการเทราดลงไป
เผลอเปล่งวาจาออกไปว่า พอละน้องหญิง แต่ในปีที่ 3 เพียรพยายามอยู่
บรรลุพระอรหัตแล้วในระหว่างพรรษาทีเดียว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าว
ไว้ในอปทานว่า
เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ในภิกษุสงฆ์
ผู้ยอดเยี่ยมของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ
จึงได้ตักน้ำใส่หม้อน้ำฉันจนเต็ม ในเวลาที่เราจะต้อง
การน้ำ จะเป็นยอดภูเขา ยอดไม้ ในอากาศ หรือพื้นดิน
น้ำย่อมเกิดแก่เราทันที ในกัปที่แสน แต่ภัทรกัปนี้
เราได้ให้ทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จัก
ทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการให้น้ำเป็นทาน. เราเผากิเลส
ทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรา
กระทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตผล
ด้วยมุขคือการชี้แจงข้อปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้นของตน ได้กล่าวคาถา 2 คาถา
ความว่า
เราทำกระท่อมด้วยใบตาล 3 ใบ ที่ริมฝั่งแม่น้ำ
คงคา บาตรของเราเหมือนดังหม้อสำหรับรดน้ำศพ
และจีวรของเราเป็นดังผ้าคลุกฝุ่น ในระหว่าง2พรรษา
เราพูดเพียงคำเดียว ในภายในพรรษาที่ 3 เราทำลาย
กองความมืด คืออวิชชาได้แล้ว
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติณฺณํ เม ตาลปตฺตานํ คงฺคาตีเร
กุฏี กตา
ความว่า เราสร้างกุฎีไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อป้องกันฝนด้วย
ใบตาล 3 ใบ ซึ่งหล่นลงมาจากต้นตาล. พระเถระแสดงความสันโดษด้วย
เสนาสนะของตน ด้วยบทนั้น. สมจริงดังคำเป็นคาถาที่พระธรรมเสนาบดี
กล่าวไว้ว่า
สำหรับภิกษุผู้มีความเพียร นั่งขัดสมาธิ ไม่คุก-
เข่า เป็นการเพียงพอที่จะอยู่ได้สบาย.

ปาฐะว่า ตาลปตฺตีนํปิ ดังนี้ก็มี ความก็อย่างนั้น.
บทว่า ฉวสิตฺโตว เม ปตฺโต ความว่า บาตรของเราเหมือนดัง
หม้อสำหรับตักน้ำรดศพ อธิบายว่า คล้ายหม้อน้ำสำหรับรดน้ำนมให้คนตาย.
บทว่า ปํสุกูลญฺจ จีวรํ ความว่า และจีวรของเรา ก็เป็นดังผ้า
คลุกฝุ่น ที่ทำด้วยเศษผ้า (ผ้าขี้ริ้ว) ที่เขาทิ้งแล้วในที่ทั้งหลาย มีระหว่างทาง
และป่าช้าเป็นต้น. พระเถระแสดงความสันโดษด้วยบริขาร ด้วยบททั้งสอง.
บทว่า ทวินฺนํ อนฺตรวสฺสานํ ความว่า ในระหว่างพรรษาทั้งสอง
คือ ในปีที่บรรลุพระอรหัต นับแต่บวชแล้ว.

บทว่า เอกา วาจา เม ภาสิตา ความว่า เราพูดเพียงคำเดียว
คือ กล่าวห้ามการถวายน้ำนมว่า พอละน้องหญิงเท่านั้น การเปล่งคำพูด
อย่างอื่น มิได้มีเลยในพรรษานั้น พระเถระแสดงการสำรวมกายวาจา อย่าง
อุกฤษฏ์ด้วยบทนั้น.
บทว่า ตติเย อนฺตรวสฺสมฺหิ ความว่า ในระหว่างปีที่ 3 ได้แก่
ยังไม่ทันครบปีที่ 3 นั่นเอง.
บทว่า ตโมขนฺโธ ปทาลิโต ความว่า กองแห่งความมืด อันเรา
ทำลายแล้ว ด้วยมรรคอันเลิศ อธิบายว่า กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ใน
สันดาน คือ อวิชชา อันเราตัดขาดแล้ว. ด้วยบทว่า ตโมขนฺโธ ปทาลิโต
นั้น พระเถระกล่าวถึงการละกิเลสทั้งปวงได้ โดยไม่เหลือ เพราะตั้งอยู่เป็น
อันเดียวกันกับอวิชชานั้น.
จบอรรถกถาคังคาตีริยเถรคาถา

5. อชินเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระอชินเถระ


[262] ได้ยินว่า พระอชินเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ถึงแม้บุคคลจะมีวิชชา 3 ละมัจจุราชแล้ว เป็นผู้
หาอาสวะมิได้ คนพาลทั้งหลายผู้ไม่มีความรู้ ก็ย่อมดู
หมิ่นบุคคลนั้นว่า เป็นผู้ไม่มีชื่อเสียง ส่วนบุคคลใดใน
โลกนี้ เป็นผู้ได้ข้าวและน้ำ ถึงแม้ว่า บุคคลนั้นจะ
เป็นผู้ชั่วช้าเลวทราม ก็เป็นที่สักการะนับถือ ของคน
พาลทั้งหลาย.