เมนู

อรรถกถาอุสภเถรคาถา


คาถาของท่านพระอุสภเถระเริ่มต้นว่า นคา นคคฺเคสุ สุสํวิรุฬฺหา.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ กระทำบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้น ๆ เกิดเป็น
เทพบุตรในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี ในกัปที่ 31
แต่ภัทรกัปนี้ วันหนึ่งเห็นพระศาสดาแล้ว เป็นผู้มีใจเลื่อมใส ได้ทำการบูชา
ด้วยดอกไม้ทิพย์ การบูชาด้วยดอกไม้นั้น ได้ตั้งอยู่โดยอาการดังมณฑปดอกไม้
ตลอด 7 วัน. เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้มีการประชุมเป็นมหาสมาคม.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิด
ในตระกูลของผู้มั่งคั่ง แคว้นโกศลในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า อุสภะ. เขา
ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เป็นผู้มีความเลื่อมใสอันได้แล้วในพระศาสดา ใน
คราวรับมอบพระวิหารชื่อว่า เชตวัน บรรพชาแล้ว กระทำบุรพกิจเสร็จแล้ว
อยู่ที่เชิงเขาในป่า. ก็โดยสมัยนั้น เมื่อเมฆในฤดูฝนพัดผ่านทำให้ฝนตกลงมา
กองใบไม้ที่สุมกันจนหนาทึบ เพราะเครือเถาของกิ่งไม้ จะมี (กองอยู่) ที่ยอดเขา
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระเถระออกจากถ้ำ มองเห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ และภูเขา
ที่น่ารื่นรมย์นั้นแล้ว คิดอยู่โดยโยนิโสมนสิการว่า ธรรมชาติมีต้นไม้เป็น
ชื่อแม้เช่นนี้ หาเจตนามิได้ ย่อมถึงความเจริญงอกงาม เพราะความสมบูรณ์
ของฤดู เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไฉน เราได้ฤดูเป็นที่สบายแล้ว จักไม่เจริญด้วย
คุณธรรมทั้งหลาย ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาว่า

พฤกษชาติทั้งหลายบนยอดเขา ที่ถูกฝนใหม่
ตกรดแล้ว ย่อมงอกงาม จิตอันควรแก่ภาวนา ย่อม
เกิดทวีขึ้นแก่เรา ผู้มีนามว่า " อสภะ " ผู้ใคร่วิเวก
ผู้มีความสำคัญในป่า
ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นคา แปลว่า ต้นไม้. บางอาจารย์
เรียกว่า นาคา หมายถึงต้นกากะทิง.
บทว่า นคคฺเคสุ แปลว่า บนยอดเขา.
บทว่า สุสํวิรุฬฺหา ความว่า เป็นต้นไม้มีรากงอกงามด้วยดี คือ
แผ่ขยายไปโดยรอบ อธิบายว่า แตกกิ่งก้านสาขาทั้งอ่อนทั้งแก่ แลดูสล้างไป
โดยรอบทั้งข้างล่างและข้างบน.
บทว่า อุทคฺคเมเฆน นเวน สิตฺตา ความว่า อันเมฆที่ทำให้
ฝนตก ที่เกิดขึ้นครั้งแรกห่าใหญ่ ตกรดชุ่มโชก.
บทว่า วิเวกกามสฺส ได้แก่ ปรารถนาจิตตวิเวก อันสงัดแล้วจาก
กิเลส คือ ปรารถนาจิตควิเวกนั้นว่า กายวิเวกอันผู้อยู่ในป่าได้แล้วก่อน บัดนี้
เราพึงได้จิตตวิเวก อันเป็นนิสสยปัจจัย แห่งการบรรลุอุปธิวิเวก อธิบายว่า
ได้แก่การหมั่นประกอบเนือง ๆ ซึ่งชาคริยธรรม ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึง
กล่าวว่า อรญฺญสญฺญิโน (ผู้มีความสำคัญในป่า) ดังนี้ อธิบายว่า ผู้มีความ
สำคัญในการอยู่ในป่า คือมากไปด้วยเนกขัมมสังกัปปะ อย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า
การอยู่ป่า อันพระศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว ทรงชมเชยแล้ว ก็และการอยู่ป่า
นั้น ก็เพียงเพื่อทำสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาให้บริบูรณ์ เพราะฉะนั้น
สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานั้น เราควรกระทำให้อยู่ในเงื้อมมือ ดังนี้.

บทว่า ชเนติ เท่ากับ อุปฺปาเทนฺติ แปลว่า ย่อมให้เกิดขึ้น ก็
บทว่า ชเนติ นี้ เป็นเอกวจนะ ใช้ในอรรถแห่งพหุวจนะ. ส่วนอาจารย์
บางพวกกล่าวว่า ชเนนฺติ. บทว่า ภิยฺโย แปลว่า ยิ่ง ๆ ขึ้นไป.
พระเถระเรียกตนเองนั่นแหละ ด้วยบทว่า อุสภสฺส เหมือนเรียก
คนอื่น.
บทว่า กลฺยตํ ความว่า ความที่จิตสมควร คือความที่จิตควรแก่
การงาน ได้แก่ความที่จิตควรแก่ภาวนา. ความข้อนี้นั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ใน
หนหลังแล้วทั้งนั้น. พระเถระกล่าวคาถานี้อยู่อย่างนี้นั่นแล ขวนขวายวิปัสสนา
แล้ว บรรลุพระอรหัต. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
เราเป็นเทพบุตร ได้บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้
เป็นนายก พระนามว่า สิขี ได้น้อมบูชาพระพุทธองค์
ด้วยดอกมณฑารพ พวงมาลัยทิพย์ เป็นหลังคาบังร่ม
ในพระตถาคตตลอด 7 วัน. ชนทั้งปวงมาประชุมกัน
นมัสการพระตถาคต ในกัปที่ 31 แต่ภัทรกัปนี้ เราได้
บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เรา
ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัปที่ 10
แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช พระ-
นามว่า "ชุตินธระ" สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ

มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯ ล ฯ คำสอน
ของพระพุทธเจ้า เรากระทำเสร็จแล้ว
ดังนี้.
ก็คาถานี้แหละได้เป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตผล ของพระเถระ.
จบอรรถกถาอุสภเถรคาถา
จบวรรควรรณนาที่ 11
แห่งอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่า ปรมัตถทีปนี


ในวรรคนี้รวมพระเถระได้ 10 รูปคือ


1. พระเพลัฏฐกานิเถระ 2. พระเสตุจฉเถระ 3. พระพันธุรเถระ
4. พระขิตกเถระ 5. พระมลิตวัมภเถระ 6. พระสุเหมันตเถระ 7.
พระธรรมสังวรเถระ 8. พระธัมมสวปิตุเถระ 9. พระสังฆรักขิตเถระ
10. พระอุสภเถระ และอรรถกถา.