เมนู

6. นาคิตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระนาคิตเถระ


[223] ได้ยินว่า พระนาคิตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ในลัทธิแห่งเดียรถีย์ ภายนอกพระศาสนานี้ ย่อม
ไม่มีทางไปสู่พระนิพพาน เหมือนอริยอัฏฐังคิกมรรค
นี้เลย พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระบรมครู ทรง-
พร่ำสอนภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เอง เหมือนดังทรง
แสดงผลมะขามป้อม ในฝ่าพระหัตถ์ ฉะนั้น.

อรรถกถานาคิตเถรคาถา


คาถาของท่านพระนาคิตเถระ เริ่มต้นว่า อิโต พหิทฺธา ปุถุอญฺญ-
วาทินํ.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า พระเถระนี้ เป็นพราหมณ์ชื่อว่า นารทะ ในกาล
ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ วันหนึ่งนั่งอยู่ในโรง
เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้วเสด็จไป มีใจเลื่อมใส
ชมเชยด้วยคาถา 3 คาถา.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยว
ไป ๆ มา ๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ
ในพระนครกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า นาคิตะ เมื่อพระผู้มี
พระภาคเจ้า ประทับอยู่ในพระนครกบิลพัสดุ์ เขาฟังมธุปิณฑิกสูตร ได้มี
ศรัทธาจิตบวชแล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถา
ประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เรานั่งอยู่ในโรงอันกว้างใหญ่ ได้เห็นพระผู้มี
พระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้เป็นนายก
ของโลก ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ผู้บรรลุพลธรรม แวดล้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์. ภิกษุสงฆ์ประมาณหนึ่งแสน ผู้บรรลุ
วิชชา 3 ได้อภิญญา 6 มีฤทธิ์มาก แวดล้อมพระ-
พุทธเจ้า ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส ในมนุษยโลก
พร้อมทั้งเทวโลก ไม่มีอะไรเปรียบ ในพระญาณของ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ใครได้เห็นพระ
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณไม่สิ้นสุด
แล้ว จะไม่เลื่อมใสเล่า ชนทั้งหลายไม่สามารถเพื่อ
กำจัดพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้ทรงแสดง
ธรรมกาย และผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระรัตนตรัยอย่าง
เดียวได้ ใครเล่าเห็นพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้ว
จะไม่เลื่อมใส พราหมณ์นามว่า นารทะ ผู้มีใจภักดี
ชมเชยพระสัมพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ไม่
พ่ายแพ้ ด้วยคาถาทั้ง 3 เหล่านี้ ด้วยจิตที่เลื่อมใส
และด้วยการกล่าวชมเชยพระสัมพุทธเจ้านั้น เราไม่
เข้าถึงทุคติตลอดแสนกัป ในกัปที่ 3,000 แต่ภัทรกัปนี้
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมกษัตริย์ พระนามว่า
สุมิตตะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ มีพลมาก.
เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯ ล ฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า
เรากระทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว อาศัยความที่เทศนาของพระ-
ศาสดาเป็นของจริง และความที่พระธรรมกระทำสัตว์ให้พ้นทุกข์ เป็นผู้มีปีติ
และโสมนัสเกิดแล้ว เมื่อจะเปล่งอุทาน อันแผ่ซ่านไปด้วยกำลังแห่งปีติ ได้
กล่าวคาถาว่า
ในลัทธิแห่งเดียรถีย์ ภายนอกพระศาสนานี้
ย่อมไม่มีทางไปสู่พระนิพพาน เหมือนอริยอัฏฐังคิก-
มรรคนี้เลย พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระบรมครู
ทรงพร่ำสอนภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เอง เหมือนดัง
ทรงแสดงผลมะขามป้อม ในฝ่าพระหัตถ์ ฉะนั้น

ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิโต พหิทฺธา ความว่า ในศาสนาอื่น
จากพระพุทธศาสนานี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า (ในลัทธิ) แห่งเดียรถีย์
ภายนอก อธิบายว่า ได้แก่เดียรถีย์ต่าง ๆ.
บทว่า มคฺโค น นิพฺพานคโม ขถา อยํ ความว่า ทางอัน
ประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐนี้ ชื่อว่าเป็นทางไปสู่พระนิพพาน คือยังสัตว์
ให้ถึงพระนิพพาน เพราะเป็นทางที่ไปพระนิพพานได้ทางเดียว ฉันใด มรรค
ที่จะให้ถึงพระนิพพานก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีในลัทธินอกพระพุทธศาสนา เพราะ
เป็นมรรคที่เจ้าลัทธิอื่น ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้. ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในพระธรรมวินัยนี้
เท่านั้น สมณะที่ 2 สมณะที่ 3 สมณะที่ 4 ก็มีใน
ธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ ดังนี้.
บทว่า อิติ แปลว่า อย่างนี้. บทว่า อสฺสุ เป็นเพียงนิบาต.

บทว่า สงฺฆํ ได้แก่ ภิกษุสงฆ์ นี้เป็นการแสดงอย่างอุกฤษฏ์ เหมือน
อย่างในประโยคว่า สตฺถา เทวมนุสสานํ (เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย). อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สงฺฆํ เป็นสมูหนาม (ชื่อที่กล่าวรวม) อธิบาย
ว่าได้แก่ชนที่เป็นเวไนยสัตว์.
บทว่า ภควา ความว่า ชื่อว่า ภควา ด้วยเหตุทั้งหลาย มีความ
เป็นผู้มีโชคเป็นต้น นี้เป็นความสังเขปในบทว่า ภควา นี้. ส่วนความพิสดาร
พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้ว ในอรรถกถาอิติวุตตกะ ชื่อว่า ปรมัตถทีปนี.
บทว่า สตฺถา ความว่า ชื่อว่า ศาสดา ด้วยอรรถว่า ทรงสั่งสอน
ด้วยประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในสัมปรายิกภพ และประโยชน์อย่างยิ่ง
คือพระนิพพาน ตามสมควร.
บทว่า สยํ แปลว่า ด้วยพระองค์เองทีเดียว. ก็ในคาถานี้มีอธิบายว่า
พระศาสดา คือพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ทรงบันลือพระสีหนาทว่า
อริยมรรคอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่พระนิพพาน มีองค์ 8 ด้วยสามารถแห่งองค์
ทั้งหลาย 8 มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สงเคราะห์ด้วยขันธ์ 3 มีศีลขันธ์เป็นต้น มีอยู่
ในศาสนาของเราฉันใด ขึ้นชื่อว่ามรรค ย่อมไม่มีในลัทธิภายนอก ฉันนั้น
ดังนี้ เป็นผู้รู้ด้วยพระสยัมภูญาณเองทีเดียว หรือเป็นผู้อันพระมหากรุณา
ตักเตือนแล้ว เองทีเดียว ย่อมทรงพร่ำสอน คือกล่าวสอนภิกษุสงฆ์คือชุมนุม
แห่งเวไนยสัตว์ ด้วยสมบัติคือการยักย้ายพระธรรมเทศนาของพระองค์ ดุจ
ทรงแสดงมะขมป้อมในฝ่าพระหัตถ์ ฉะนั้น ฉะนี้แล.
จบอรรถกถานาคิตเถรคาถา

7. ปวิฏฐเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระปวิฏฐเถระ


[224] ได้ยินว่า พระปวิฏฐเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
เราเห็นเบญจขันธ์ ตามเป็นจริงได้แล้ว ทำลาย
ภพทั้งปวงได้แล้ว ชาติสงสารสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่
ไม่มี.

อรรถกถาปวิฏฐเถรคาถา


คาถาของท่านพระปวิฏฐเถระ เริ่มต้นว่า ขนฺธา ทิฏฺฐา ยถาภูตํ.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ กระทำบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ ในภพนั้น ๆ (เกิด)
เป็นดาบสนามว่า เกสวะ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า
อัตถทัสสี วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมแล้ว มีใจเลื่อมใส ถวาย
อภิวาท ประคองอัญชลี กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป.
ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญไว้มาก ท่อง
เที่ยวไป ๆ มา ๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วเกิดในตระกูล
พราหมณ์ ณ มคธรัฐ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถึงความเป็นผู้รู้โดยลำดับ บวช
เป็นปริพาชก เพราะความเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในเนกขัมมะ ศึกษาสิ่งที่