เมนู

2. กัสสปเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระกัสสปเถระ


[219] ได้ยินว่า พระกัสสปเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ทางทิศาภาคใด ๆ มีภิกษาหาได้ง่าย มีความ
เกษม และไม่มีภัย เจ้าจงไปทางทิศาภาคนั้น ๆ เถิด
ลูก ขออย่าให้เจ้า ประสบความเศร้าโศกเสียใจเลย.

อรรถกถากัสสปเถรคาถา


คาถาของท่านพระกัสสปเถระ เริ่มต้นว่า เยน เยน สุภิกฺขานิ.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า พระเถระนี้ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกาลของพระผู้มี
พระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เรียนจบไตรเพท และสำเร็จการ
ศึกษาในศิลปศาสตร์ของพราหมณ์ วันหนึ่ง เขาเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว
มีใจเลื่อมใส ทำการบูชาด้วยดอกมะลิ. และเมื่อทำการบูชา ก็โยนกำดอกไม้
ขึ้นไปบน (อากาศ) รอบ ๆ พระศาสดา. ด้วยพุทธานุภาพ ดอกไม้ทั้งหลาย
ได้ประดิษฐานเป็น (อาสนะ) ของพระศาสดาโดยอาการแห่งอาสนะดอกไม้.
เขาเห็นเหตุอัศจรรย์นั้นแล้ว ได้มีใจเลื่อมใสเป็นล้นพ้น. เขากระทำบุญไว้มาก
ท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ อยู่แต่ในสุคติภพอย่างเดียว ตลอดแสนกัป เป็นบุตร
ของอุทิจจพราหมณ์ คนหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้

มีนามว่า กัสสปะ. บิดาทำกาละ ในเวลาที่เขายังเล็กอยู่ทีเดียว มารดาจึงเลี้ยง
ดูเขาต่อมา.
ในวันหนึ่ง เขาไปยังพระวิหารเชตวัน แล้วฟังพระธรรมเทศนาของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า (สำเร็จ) เป็นพระโสดาบัน บนอาสนะนั้นแล เพราะ
ความที่เขาเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุ กลับไปสู่สำนักมารดา ให้มารดาอนุญาต
แล้วบวช เมื่อพระศาสดา ทรงปวารณาในวันออกพรรษา แล้วเสด็จจาริกไป
ในชนบท ประสงค์จะตามเสด็จไปกับพระศาสดา แม้ด้วยตนเอง ได้ไปยัง
สำนักของมารดา เพื่ออำลา. มารดาเมื่อจะชี้แจ้ง จึงกล่าวเป็นคาถา โดยเป็น
คำสอนว่า
ทางทิศาภาคใด ๆ มีภักษาหาได้ง่าย มีความ
เกษม และไม่มีภัย เจ้าจงไปทางทิศาภาคนั้น ๆ เถิด
ลูก ขออย่าให้เจ้า ประสบความเศร้าโศกเสียใจเลย

ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยน เยน แปลว่า ในที่ใด ๆ. ก็บทว่า
เยน เยน นี้ เป็นตติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. ความก็ว่า ใน
ทิศาภาคใด ๆ. บทว่า สุภิกฺขานิ ความว่า มีอาหารหาได้ง่าย อธิบายว่า
เป็นที่อยู่ของชาวเมือง. บทว่า สิวานิ ความว่า ปลอดภัย ไม่มีโรค.
บทว่า อภยานิ ความว่า ไม่มีภัยที่เกิดจากโจรภัยเป็นต้น ก็โรคภัย
และทุพภิกขภัย ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยบททั้งสอง ว่า สุภิกฺขานิ สิวานิ
แล้วทีเดียว. บทว่า เตน เท่ากับ ตตฺถ ความว่า ในทิศาภาค
นั้น ๆ. มารดาผู้มีความเอ็นดู เรียกพระเถระนั้นว่า ลูก ศัพท์ว่า มา เป็น
นิบาต บ่งถึงความปฏิเสธ. บทว่า โสกาปหโต ความว่า อย่าไปสู่

แคว้นที่ปราศจากคุณดังกล่าวแล้ว อย่าได้ถูกความเศร้าโศก อันเกิดแต่ทุพ-
ภิกขภัยเป็นต้น เข้าไปกำจัดเสียเลย.
พระเถระฟังโอวาทนั้นแล้ว เกิดความอุตสาหะว่า มารดาของเรา
หวังการไปสู่ที่ซึ่งปราศจากความเศร้าโศกแก่เรา เอาเถิด การถึงฐานะที่
ปราศจากความเศร้าโศก ล่วงส่วนโดยประการทั้งปวงนั่นแล ควรแล้วแก่เรา
ดังนี้ แล้วเริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานเลย. สมดังคำที่
ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
เราเป็นพราหมณ์ ผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนต์
รู้จบไตรเพท ยืนอยู่ที่กลางแจ้ง ได้เห็นพระผู้มีพระ
ภาคเจ้า ผู้นำของโลก เสด็จเที่ยวอยู่ในป่า ดังราชสีห์
ไม่ทรงสะดุ้งกลัว ดังพระยาเสือโคร่ง ทรงแสวงหา
คุณอันใหญ่หลวง ดังช้างกุญชรมาตังคะ ซับมัน 3
ครั้ง เราจึงหยิบเอาดอกไม้ซึกโยนขึ้นไป (บูชา) ใน
อากาศ ด้วยพุทธานุภาพ ดอกไม้ซึกทั้งหลายแวดล้อม
อยู่โดยประการทั้งปวง พระสัพพัญญูมหาวีระผู้นำของ
โลก ทรงอธิษฐานว่า จงเป็นหลังคาดอกไม้โดยรอบ
ชนทั้งหลายได้บูชาพระนราสภ ในลำดับนั้น แผ่น
ดอกไม้นั้น มีขั้วข้างใน มีดอกข้างนอก เป็นเพดาน
บังร่มอยู่ตลอด 7 วัน แล้วหายไปจากที่นั้น เราได้
เห็นความอัศจรรย์อันไม่เคยมี น่าขนพองสยองเกล้า
นั้นแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสในพระสุคตเจ้า ผู้เป็นนายก
ของโลก ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราอันกุศลมูลตัก-
เตือนแล้ว ไม่ได้เข้าถึงทุคติเลย ตลอดแสนกปะ ในกัป

ที่ 15,000 ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 25 พระองค์
มีพระนามเหมือนกันว่า วีตมลาสะ มีพลมาก. เรา
เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า
เรากระทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้.
ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว คิดว่า คำสอนของมารดานี้
แหละ เป็นขอสับแห่งการบรรลุพระอรหัต ดังนี้แล้ว ได้กล่าวซ้ำคาถานั้น
แล.
จบอรรถกถากัสสปเถรคาถา

3. สีหเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระสีหเถระ


[220] ได้ยินว่า พระสีหเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ดูก่อนสีหะ ท่านจงอย่าประมาท อย่าเกียจคร้าน
ทั้งกลางคืนและกลางวัน จงอบรมกุศลธรรมให้เกิดขึ้น
จงละฉันทราคะ ในอัตภาพเสียโดยเร็วพลันเถิด.

อรรถกถาสีหเถรคาถา


คาถาของท่านพระสีหเถระ เริ่มต้นว่า สีหปฺปมตฺโต วิหร. เรื่องราว
ของท่านเป็นอย่างไร ?
ได้ยินว่า พระเถระนั้น เป็นผู้มีอธิการอันการทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้า
องค์ก่อน ๆ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า อัตถทัสสี