เมนู

เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ 6


1. โคธิกเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระโคธิกเถระ


[188] ได้ยินว่า พระโคธิกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ฝนตกลงมา มีเสียงไพเราะ ดังเสียงเพลงขับ
กุฎีของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้าต่างมิดชิดดี จิตของ
เราก็ตั้งมั่นดีแล้ว ถ้าท่านปรารถนาจะตก ก็เชิญตก
ลงมาเถิดฝน.

วรรควรรณนาที่ 6


อรรถกถาโคธิกาทิจตุเถรคาถา


คาถาของพระเถระทั้ง 4 เหล่านี้ คือ พระโคธิกะ พระสุพาหุ พระ-
วัลลิยะ พระอุตติยะ ทั้ง 4 คาถาเริ่มต้นว่า วสฺสติ เทโว. เรื่องราวของ
ท่านเหล่านั้นเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระเหล่านี้ ก็ได้มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้า
องค์ก่อน ๆ สั่งสมบุญไว้มากในภพนั้น ๆ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงพระนามว่า สิทธัตถะ ในกัปที่ 94 นับแต่ภัทรกัปนี้ ได้เกิดในเรือนมี

ตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว ได้เป็นสหายกันเที่ยวไป. ในบรรดาสหายเหล่านั้น
สหายคนหนึ่ง เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สิทธัตถะ เสด็จเที่ยว
บิณฑบาต ได้ถวายอาหารทัพพี 1. สหายคนที่ 2 มีจิตเลื่อมใส ถวายบังคม
ด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว ประคองอัญชลี. สหายคนที่ 3 มีจิตเลื่อมใส
บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยดอกอุบลกำมือหนึ่ง สหายคนที่ 4 ทำการบูชา
ด้วยดอกมะลิ. สหายเหล่านั้นบังเกิดในเทวโลก ด้วยบุญกรรม ที่ทำจิตให้
เลื่อมใสในพระศาสดา ขวนขวายแล้วอย่างนี้ กระทำบุญไว้มากแล้วท่องเที่ยว
ไป ๆ มา ๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วเกิดในเรือนมีตระกูล
ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ เป็นสหายกัน
บวชในพระศาสนา บำเพ็ญสมณธรรม แล้วเกิดเป็นโอรสของเจ้ามัลละทั้ง 4
ในเมืองปาวา ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย. พวกเจ้ามัลละ
ได้ขนานนามของพระโอรสเหล่านั้นว่า โคธิกะ สุพาหุ วัลลิยะ (และ) อุตติยะ.
พระโอรสทั้ง 4 ได้เป็นสหายรักกัน. พระโอรสเหล่านั้น ได้พากันไปยังเมือง
กบิลพัสดุ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่าง. ก็ในสมัยนั้น พระศาสดาเสด็จไปยังเมือง
กบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ในนิโครธาราม ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทรมานเจ้า
ศากยะ มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นประมุข. ครั้งนั้น แม้โอรสแห่งเจ้ามัลละ
ทั้ง 4 เหล่านั้น เห็นปาฏิหาริย์แล้ว ได้ความเลื่อมใส บวชแล้ว เจริญวิปัสสนา
บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ต่อกาลไม่นานนัก. สมดัง
คาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า พระโคธิกเถระกล่าวคาถานี้ว่า
เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้มีผิวพรรณดังทอง
สมควรรับเครื่องบูชา เสด็จออกจากป่าอันสงัด จาก
ตัณหาเครื่องร้อยรัดมาสู่ความดับ จึงถวายภิกษาทัพพี
หนึ่ง แด่พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สิทธัตถะ ผู้มี

ปัญญา ผู้สงบระงับ ผู้แกล้วกล้ามาก ผู้คงที่ เราตาม
เสด็จพระองค์ ผู้ทรงยังมหาชนให้ดับ เรามีความยินดี
เป็นอันมากในพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
ในกัปที่ 94 แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายทานใดในกาล
นั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่ง
การถวายภิกษา ในกัปที่ 87 แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระ-
เจ้าจักรพรรดิ 7 พระองค์ มีพระนามเหมือนกันว่า
มหาเรณุ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ. เราเผา
กิเลสทั้งหลายแล้ว ฯ ล ฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า
เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

พระสุพาหุเถระ กล่าวคาถานี้ว่า
เราได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทอง
ผู้องอาจดุจม้าอาชาไนย ดังช้างมาตังคะ ตกมัน 3
ครั้ง ผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงยังทิศทั้งปวง
ให้สว่างไสวเหมือนพญารัง มีดอกบาน เป็นเชษฐบุรุษ
ของโลก สูงสุดกว่านระ เสด็จดำเนินไปในถนน
จึงยังจิตให้เลื่อมใสในพระญาณ ประนมอัญชลี มีจิต
เลื่อมใส มีใจโสมนัส ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระนามว่า สิทธัตถะ ในกัปที่ 94 แต่ภัทรกัปนี้ เรา
ได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จัก
ทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งสัญญาในพระญาณ ในกัปที่
73 แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 16 พระ-
องค์ มีนามว่า นรุตตมะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7

ประการ มีพลมาก เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯ ล ฯ
คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

พระวัลลิยเถระ กล่าวคาถานี้ว่า
ในกาลนั้น เราเป็นช้างดอกไม้ อาศัยอยู่ในนคร
ติวรา ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี ทรงพระนาม
ว่า สิทธัตถะ อันชาวโลกบูชา มีใจเลื่อมใสโสมนัส
ได้ถวายดอกอุบลกำมือหนึ่ง เราอุบัติในภพใด ๆ
เพราะผลของกรรมนั้น เราได้เสวยผลอันน่าปรารถนา
ที่ตนทำไว้ดีแล้วในปางก่อน แวดล้อมด้วยพวกมัลละ
ชั้นดี นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้ ในกัปที่ 94
แต่ภัทรกัปนี้ เราบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วย
กรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชา
ด้วยดอกไม้ ในกัปใกล้เคียงที่ 94 เว้นกัปปัจจุบัน
ได้เป็นพระราชา 500 พระองค์ มีนามเหมือนกันว่า
นัชชสมะ เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯ ล ฯ คำสอน
ของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

พระอุตติยเถระ กล่าวคาถานี้ว่า
เราได้ถวายดอกมะลิแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรง
พระนามว่า " สิทธัตถะ " ดอกมะลิ 7 ดอกเราโปรย
ลงแทบพระบาท ด้วยความยินดี ด้วยกรรมนั้น วันนี้
เราได้เสวยอมตธรรม เราทรงกายที่สุด อยู่ในศาสนา
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกัปที่ 94 แต่ภัทรกัปนี้
เราบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยกรรมนั้น

เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
ในกัปที่ 5 แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 13
พระองค์ ได้มีนามว่า สมันตคันธะ ครอบครอง
แผ่นดิน มีสมุทรสาคร 4 เป็นที่สุด เป็นจอมประชา.
เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯ ล ฯ คำสอนของพระพุทธ-
เจ้า เราทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้.
ก็พระเถระแม้ทั้ง 4 เหล่านี้ ครั้น บรรลุพระอรหัตแล้ว ปรากฏ
ชื่อเสียงโค่งดังในโลก เป็นผู้อันพระราชามหาอมาตย์แห่งพระราชา สักการะ
เคารพแล้ว อยู่ร่วมกันในป่านั่นแหละ. ครั้นในกาลวันหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร
เข้าไปหาพระเถระทั้ง 4 รูปเหล่านั้น ผู้เข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ ไหว้แล้ว นิมนต์
ให้อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส รับสั่งให้สร้างกุฏิถวายพระเถระเหล่านั้นแยกกัน
(องค์ละหลัง) (แต่) ไม่ได้มุงหลังคาเพราะหลงลืม. พระเถระเหล่านั้นก็อยู่ใน
กุฏิทั้งหลายที่ยังไม่ได้มุง ถึงฤดูฝน ฝนก็ไม่ตก พระราชาทรงพระดำริว่า
เพราะเหตุไรหนอแล ฝนจึงไม่ตก ทรงทราบเหตุนั้น แล้วรับสั่งให้มุงหลังคา
กุฏิเหล่านั้น ให้ฉาบด้วยดินเหนียว และตกแต่งให้งดงาม ทำการฉลองกุฏิ
แล้วได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่.
เพื่อจะอนุเคราะห์พระราชา พระเถระทั้งหลายจึงเข้าไปยังกุฏีทั้งหลาย
แล้วเข้าสมาบัติเมตตาเป็นอารมณ์. ลำดับนั้น มหาเมฆตั้งขึ้นด้านทิศอุดรและ
ทิศปราจีน ตั้งเค้าจะตกในขณะที่พระเถระทั้งหลายออกจากสมาบัติทีเดียว ใน
บรรดาพระเถระเหล่านั้น พระโคธิกเถระออกจากสมาบัติพร้อมกับเมฆร้องคำราม
ได้กล่าวคาถานี้ว่า
ฝนตกลงมา มีเสียงไพเราะดังเสียงเพลงขับ กุฎี
ของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้าต่างมิดชิดดี จิตของเรา

ก็ตั้งมั่นดีแล้ว ถ้าท่านปรารถนาจะตก ก็เชิญตกลงมา
เถิดฝน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสฺสติ ความว่า ฝนตก คือ ยังสายฝน
ให้โปรยลงมา.
บทว่า เทโว ได้แก่ เมฆ.
บทว่า ยถา สุคีตํ มีอธิบายว่า ส่งเสียงครวญครางเหมือนเสียง
เพลงขับอันเสนาะ ก็ในเวลาฝนจะตก เมฆตั้งขึ้นหนาตั้งร้อยชั้นพันชั้น ทำให้
ฟ้าร้องเปล่งแสงแปลบปลาบไปทั่วทิศ ย่อมงดงาม มิใช่อย่างเดียว เพราะฉะนั้น
พระเถระจึงแสดงว่า ฝนตกส่งเสียงดังสนิทไพเราะกังวานลึก (อีกด้วย). ด้วย
เหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวถึงการที่ไม่ถูกรบกวนด้วยเรียกว่ากุฎีของเรามุงดีแล้ว
มีประตูหน้าต่างมิดชิดดี คือ พระเถระกล่าวว่า กุฏิของเรานี้ มุงด้วยหญ้า
เป็นต้นแล้ว ตราบเท่าที่ฝนยังไม่ตก ด้วยเหตุนั้นจึงไม่ถูกฝนรบกวน. กุฎีชื่อว่า
นำสุขมาให้ เพราะมีสุขในการใช้สอย และมีฤดูเป็นที่สบาย มีฤดูเป็นสุขครบ
ทุกอย่าง ทั้งเว้นจากอันตรายอันเกิดแต่ลม เพราะมีประตูหน้าต่างปิดสนิทดี
พระเถระจึงกล่าวว่า ไม่ถูกเบียดเบียนด้วยสามารถแห่งที่อยู่เป็นสัปปายะครบทั้ง
2 อย่าง.
บทว่า จิตฺตํ สุสมาหิตญฺจ มยฺหํ ความว่า จิตของเราตั้งมั่นแล้ว
ด้วยดี ด้วยอนุตรสมาธิ คือ แนบแน่นดีแล้วในอารมณ์ คือ พระนิพพาน.
ด้วยบทนี้ พระเถระแสดงถึงความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย เพราะไม่มี
อันตรายในภายใน.
บทว่า อถ เจ ปตฺถยสิ ความว่า บัดนี้ ถ้าท่านปรารถนาจะตก
คือ ถ้าท่านอยากจะตก.

บทว่า ปวสฺส ความว่า จงพรมน้ำ คือ หลั่งสายฝนลงมา.
พระเถระเรียกเมฆว่า เทว.
จบอรรถกถาโคธิกาทิจตุเถรคาถา

2. สุพาหุเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระสุพาหุเถระ


[189] ได้ยินว่า พระสุพาหุเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ฝนตกลงมา มีเสียงไพเราะดังเสียงเพลงขับ กุฎี
ของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้าต่างมิดชิดดี จิตของเรา
ก็ตั้งมั่นดีแล้ว ถ้าท่านปรารถนาจะตก ก็เชิญตกลงมา
เถิดฝน.

อรรถกถาสุพาหุเถรคาถา


ในคาถาที่พระเถระอีก 3 องค์นอกนี้กล่าวไว้ แปลกกันเฉพาะใน
บทที่ 3. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิตฺตํ สุสมาหิตญฺจ กาเย ในคาถา
ที่พระสุพาหุเถระกล่าวไว้ ความว่า จิตของเราตั้งมั่นแล้วด้วยดี คือแนบแน่น
อยู่แล้วโดยชอบในกรชกาย ด้วยสามารถแห่งการเจริญกายคตาสติ อธิบายว่า
พระสุพาหุเถระนี้ กระทำฌานที่ตนได้แล้ว ด้วยสามารถแห่งการเจริญ
กายคตาสติ ให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว พระเถระ
หมายถึงการเจริญกายคตาสตินั้น จึงกล่าวว่า จิตฺตํ สุสมาหิตญฺจ กาเย และ
จิตของเราตั้งมั่นดีแล้วในกาย ดังนี้.
จบอรรถกถาสุพาหุเถรคาถา